วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คำให้การเรื่องสถาบันกษัตริย์กับวัฒนธรรมเซ็นเซอร์


- 1 -

บทความ “Stop messing with Internet access and free debate” ของกวี จงกิจถาวร ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น วันที่ 20 พ.ย. 2549 พูดถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทำนองว่า กฎหมายนี้เก่ากรุ (“archaic”) เพราะโทษสูงสุดของผู้กระทำผิดนั้นรุนแรงถึงจำคุก 15 ปี ผู้ให้การเห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น แต่ก็รู้สึกช็อกเมื่อกวีเขียนต่อไปว่า กฎหมายนี้ไม่จำเป็นเพราะ“มันชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีใครในประเทศไทยที่จะมีเจตนา [วิพากษ์วิจารณ์หรือหมิ่นสถาบันกษัตริย์]”ไม่มีใครต้องการวิพากษ์วิจารณ์หรืออย่างน้อยพูดอะไรอย่างเท่าทันในพื้นที่สาธารณะจริงหรือ

ถ้าเช่นนั้นเราจะอธิบายความเห็นและคำพูดที่เท่าทันและวิพากษ์ต่อสถาบันในพื้นที่ส่วนตัว (private sphere) ที่มีอยู่ดาษดื่นนี้อย่างไร และแม้แต่ผู้ให้การคนนี้ก็เคยได้ยินใครต่อใครวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเองกับหูอยู่บ่อยครั้ง (ทั้งๆ ที่ต่อหน้าพวกเขาต่างแสดงความจงรักภักดี) ในขณะเดียวกัน ขณะที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่ยอมพูดหรือเขียนความจริงเรื่องนี้ อย่างมากก็แค่เสนอความจริงครึ่งๆ กลางๆ จึงทำให้เกิดสภาวะที่การซุบซิบนินทาและวิพากษ์สถาบันในพื้นที่ส่วนตัวแพร่หลายอย่างกว้างขวาง

พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ผู้เขียนหนังสือ The King Never Smiles กษัตริย์ผู้ไม่ทรงสรวล (New Haven: Yale University Press, 2006) ซึ่งกลายเป็นหนังสือต้องห้ามผิดกฎหมายในเมืองไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องนี้ไว้ในหนังสือว่า “จะจริงหรือไม่ก็ตาม คำเล่าลือมีผลกระทบอย่างมากในการหล่อหลอมความเห็นของสาธารณะเกี่ยวกับพระราชวงศ์” (น.402) ทว่าแม้แต่แฮนด์ลีย์เองซึ่งเป็นอดีตนักข่าวนิตยสาร Far Eastern Economics Review ประจำกรุงเทพฯ ก็ยังต้องพึ่งข่าวลือและข้อมูลจากการซุบซิบนินทาเพื่อเขียนหนังสือ โดยเริ่มอ้างข้อมูลเหล่านั้นในหนังสือของเขาด้วยคำขึ้นต้นว่า “the stories had it…” (เรื่องมีอยู่ว่า…) และนี่คือผลลัพธ์ของวัฒนธรรมถูกเซ็นเซอร์และวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง

ท่านทั้งหลายอาจทราบว่า สมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หนังสือพิมพ์ไทยสามารถวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และสถาบันอย่างเปิดเผย เดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไทยคดีศึกษาชาวอเมริกัน ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วโทษสูงสุดของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นได้ถูกเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีเป็น 15 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นี่เอง

ในคำให้การนี้จะมิขอพูดถึงสภาพวิทยุโทรทัศน์ไทยเพราะกดไปช่องใดก็จะเจอแต่รายการเทิดทูนสถาบันอย่างไม่รู้จบ และแม้แต่ทีวีเอกชนที่ต้องเสียเงินของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (ซึ่งเป็นของอาณาจักรธุรกิจบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ [ซีพี]) ก็มีรายการเทิดทูนสถาบันตลอด 24 ชั่วโมงในช่อง 40 ในส่วนสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลักนั้น ประสบการณ์ของผู้ให้การอาจสรุปได้ว่า แทบไม่มีที่ทางที่จะเขียนหรือพิมพ์ข้อความใดๆ ที่เท่าทันต่อสถาบัน

ยกตัวอย่างแรก หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” สำนักข่าวต่างประเทศอย่างเอพีได้เสนอข่าวโดยตั้งข้อสังเกตว่า ทางวังอาจมีบทบาทในการสนับสนุนผู้ก่อการ แต่ก็ไม่มีสื่อสิ่งพิมพ์ไทยใดรายงานข่าวดังกล่าวในปี 2549 รูปธรรมนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในบทความ “รัฐประหารไทยในสายตาสื่อเทศ” ของภัควดี วีระภาสพงษ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ รัฐประหาร 19 กันยาฯ โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อต้นปี 2550

ผู้ให้การยังได้เคยสัมภาษณ์ อ.วรเจตน์ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปีที่แล้ว (ดู.“WE FACE MORE COUPS.: Worachet,” The Nation, 4 December 2006) ว่าด้วยสถานการณ์หลังรัฐประหารและเริ่มร่างรัฐธรรมนูญโดยหนึ่งในคำถามคือเราจะผลักดันให้รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมือง และมีความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ถูกฉีกเป็นประจำได้อย่างไร (โดยเฉลี่ย 4 ปี 1 ฉบับ)

อ.วรเจตน์ตอบว่า “All parties must contribute, starting from the highest institution in the land. His Majesty the King must play a part but it’s risky to make such a suggestion in Thai society.” (“ทุกส่วนในสังคมคงต้องช่วยกันตั้งแต่คนธรรมดาสามัญจนถึงสถาบันสูงสุด พระองค์คงต้องมีบทบาท แต่ว่ามันเป็นการเสี่ยงที่จะเสนอแนะเช่นนี้ในสังคมไทย”)

อ.วรเจตน์หมายถึงสภาพความเป็นจริงที่ว่าทุกวันนี้เมื่อเกิดรัฐประหารทีไร รัฐธรรมนูญที่ลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์จะถูกฉีก และหลังจากนั้นไม่นานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างหรือได้รับการสนับสนุนโดยทหารก็จะได้รับการลงพระปรมาภิไธย

โปรดสังเกตคำว่า “เสี่ยง” นั้นมีนัยยะที่บ่งบอกถึงบรรยากาศแห่งความกลัวและการเซ็นเซอร์ตัวเองกระทั่งในหมู่ปัญญาชน แม้แต่ ศ.ดร..นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะนักประวัติศาสตร์และปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญยังต้องพูดแบบเลี่ยงบาลีเมื่อต้องกล่าวถึงสถาบันอย่างเท่าทัน ดังเช่นในการอภิปรายสาธารณะทางวิชาการ โครงการวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปัญหาหลักการพื้นฐานในร่างรัฐธรรมนูญฯ” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 เวลา 13.00-16.00 น. ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าทุกคนทุกกลุ่มในสังคมย่อมมีผลประโยชน์ทางการเมือง และกล่าวต่อไปว่า “บางสถาบันชัดเจน ผมไม่กล้าพูด อันนี้ก็การเมือง” ซึ่งผู้ให้การมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากนิธิหมายถึงสถาบันนั้น

วันที่ 18 พฤษภาคม ผู้ให้การเผอิญพบ อ.ใจ สอึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้พบว่าอาจารย์ใจเพิ่งพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ขึ้นมาใหม่ชื่อ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(WD Press) ซึ่งมีข้อความเชิงวิพากษ์และเท่าทันสถาบัน ผู้ให้การจึงบอกว่าน่าสนใจเอาไปวิจารณ์ลงเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ www.prachatai.com ก็ได้รับคำตอบจากอาจารย์ใจว่า “มันจะเสี่ยงเกินไปที่จะรีวิวเพราะเขาจะถูกเพ่งเล็ง”

อีกตัวอย่างหนึ่งคือข่าวที่ไม่ได้ลงตีพิมพ์ ได้แก่ ข่าวที่กล่าวถึง.ศรีราชา.เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้อภิปรายในช่วงต้นเดือนเมษายนก่อนร่างแรกของรัฐธรรมนูญจะจัดทำเสร็จว่า ควรมีการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 23 ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่พูดไปได้ไม่นานก็ถูก ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเบรกว่าหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์อย่าไปแตะเลย ซึ่งผู้ให้การได้เขียนเป็นข่าวส่งไปยังหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น แต่ในวันรุ่งขึ้นข่าวส่วนนี้กลับหายไปเฉยๆ โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ซึ่งผู้ให้การตีความว่าคงเป็นเรื่องปรกติธรรมดาจนกระทั่งการเซ็นเซอร์นั้นมิจำเป็นต้องให้คำอธิบายเพราะ “ทุกคนคงเข้าใจ”


- 2 -

แม้กระทั่ง อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็มักถูกละเลย โดยสื่อกระแสหลักเมื่อเขาพูดพาดพิงวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน (และ ณ ปัจจุบัน อ.สุลักษณ์ และ.บ.ก..ฟ้าเดียวกัน.ก็ถูกฟ้องร่วมในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) กล่าวได้ว่า อ.สุลักษณ์เป็นคนไทยคนเดียวที่โดนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้วหลายครั้งซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ความผิดของอาจารย์ หากจะมี (ในครั้งล่าสุด) ก็เป็นเพียงการพูดให้สัมภาษณ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม–ธันวาคม 2548, หน้า 82-93) ทำนองว่าสถาบันนั้นควรตรวจสอบได้เหมือนสถาบันอื่นๆ ในสังคม

อย่างไรก็ตาม อ.สุลักษณ์มีกลยุทธ์ที่ว่าตัวเขานั้นมีชื่อเสียงในฐานะ “แฟนพันธุ์แท้สถาบัน” (บทสัมภาษณ์ที่ถูกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพาดหัวว่า.“การมีสถาบันกษัตริย์ถูกกว่ามีประธานาธิบดี” คือข้อยืนยันอย่างชัดเจนที่สุดว่าจุดยืนของ อ.สุลักษณ์คือการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์) เพียงแต่ตัวอาจารย์เชื่อว่า สถาบันจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อโปร่งใส ตรวจสอบได้ และดีงาม ดังจะพบว่าหลังจากถูกฟ้องคดีนี้เมื่อกลางปีที่แล้ว ต่อมาไม่นานอาจารย์ก็ได้พิมพ์ซ้ำรูปตนเองระหว่างเข้าเฝ้าหรือรับเสด็จฯ สมาชิกราชวงศ์พระองค์ต่างๆ ถึง 4 รูป ซึ่งรวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงในนิตยสารภาษาอังกฤษชื่อ Seeds of Peace ของอาจารย์เอง (ฉบับกันยายน-ธันวาคม 2549)

ในนิตยสารฉบับเดียวกันนี้ เดวิด สเตร็คฟัสส์ ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์สังคมไทยเกี่ยวกับกฎหมายนี้ว่า “ใครหรือจะกล้า แม้กระทั่งเสนอว่า [กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ] ควรจะถูกยกเลิกหรือปรับปรุงโดยไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ...สิ่งที่เป็นการถกเถียงปรกติในสังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับกลายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ดูเหมือนสังคมไทยเองเดินมาถึงทางตัน ไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้ และไม่สามารถกระทั่งที่จะจัดการกับสภาพที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งของกฎหมายนี้” เป็นที่แน่นอนว่า คนไทยทุกคนคงทราบดีว่าสิ่งที่สเตร็คฟัสส์พูดนั้นช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่ในหลวงตรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า “พระเจ้าอยู่หัวนี่ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิดพระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี”(จากเว็บไซต์กาญจนาภิเษก www.kanchanapisek.or.th ) ถึงอย่างไร ณ ปัจจุบันกฎหมายนี้ก็ยังมีสภาพคงเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ผู้ให้การจึงมิกล้าแม้กระทั่งนึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคนแก่ๆ อย่าง อ.สุลักษณ์ไม่ใช่พวก “เอาเจ้า”

ในขณะเดียวกัน มุมมองเชิงวิพากษ์วิจารณ์และเท่าทันต่อสถาบันของอาจารย์คนอื่นที่มีชื่อเสียงด้านนี้อย่าง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มักถูกเพิกเฉยจากหนังสือพิมพ์แทบทุกครั้งก็ว่าได้ ไม่ว่า อ.สมศักดิ์จะไปพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเวทีวิชาการ ณ แห่งหนใด หรือไม่ว่าความเห็นนั้นจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หนักแน่นเพียงใดก็ตาม



- 3 -

คำให้การนี้ในแง่หนึ่งถือได้ว่าเปรียบเสมือนการบำบัดสภาพจิตใจของผู้ให้การเอง (อัตตบำบัด) ในฐานะนักข่าวผู้มิสามารถเขียนรายงานหรือแสดงความเห็นอย่างเท่าทัน (โดยมิต้องพูดถึงความเป็นไปได้ว่าจะวิพากษ์ได้หรือไม่) ทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อกระแสหลักได้ ผู้ให้การเชื่อว่าหากกฎหมายนี้ถูกล้มเลิกจะมีผลดีต่อสังคม ดังต่อไปนี้

1. ประชาชนจะสามารถเข้าใจสภาพการเมืองและสังคมดีกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเข้าใจบทบาทอันแท้จริงของสถาบัน คงไม่มีใครปฏิเสธว่าสถาบัน มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเมืองและบ้านเมือง เราจะเข้าใจสภาพความเป็นจริงได้อย่างไร หากประชาชนไม่สามารถถกเถียงเรื่องสถาบันอย่างเปิดเผย หนังสืออย่างของแฮนด์ลีย์นั้นมิได้มีเพียงบทวิพากษ์สถาบัน หากมีข้อคิดเห็นและคำแนะนำที่ฝรั่งผู้นี้เขียนเพื่อเสนอแนะสถาบันและสังคมไทยด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่หนังสือเล่มนี้กลับกลายเป็นหนังสือต้องห้าม ทำให้คนไทยจำนวนมากมิสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่นักข่าวและนักวิชาการไทยส่วนใหญ่ หากพูดถึงสถาบันเมื่อใดก็มักเสนอความจริงครึ่งๆ กลางๆ พูดแต่ด้านดีจนเกินเลย จนอาจสร้างความสับสนเข้าใจผิดเสียมากกว่าด้วยซ้ำ

2. สังคมไทยและประชาธิปไตยจะเติบโต มีวุฒิภาวะกว่าที่เป็นอยู่หากเกิดวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์และคิดอย่างเท่าทันซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเปิด ที่ไม่มีหัวข้อใดเป็นข้อยกเว้นอีกต่อไป สังคมจะโปร่งใสและตรวจสอบได้ และผู้คนไม่จำเป็นต้องคิดอย่างเขียนอีกอย่างหรือคิดอย่างพูดอีกอย่างอีกต่อไป

อนึ่ง คนไทยจำนวนหนึ่งมักชอบเปรียบเปรยว่ากษัตริย์ถือเป็นบิดาของคนทั้งประเทศ ซึ่งแม้กระทั่งคนที่เชื่อเช่นนี้ก็ควรตั้งคำถามว่าแล้วเมื่อไหร่ลูกจะโต เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง และมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีวุฒิภาวะเสียที

3. ระดับความแพร่หลายของข่าวลือและการซุบซิบนินทาเกี่ยวกับสถาบันน่าจะลดลง สภาพปัจจุบันนั้นออกจะน่าสมเพชเพราะประชาชนไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะตรวจสอบได้ว่าข่าวลือหรือสิ่งที่ซุบซิบนินทาในใบปลิวหรือทางอินเทอร์เน็ตนั้นถูกต้องเท็จจริงหรือไม่เพียงไร และสื่อที่อ้างว่าสังคมไทยมีเสรีภาพก็มักมองข้ามเรื่องนี้ไป แต่ในขณะเดียวกัน ความแพร่หลายของข่าวลือและการซุบซิบนินทาก็เป็นบทพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการที่จะพูดถึงสถาบันนี้อย่างเท่าทันเช่นเดียวกัน ทว่าเพียงแค่การซุบซิบนินทา หรือแจกใบปลิวเท่านั้นดีพอแล้วหรือ เพราะข่าวลือที่เป็นผลร้ายต่อสถาบันก็มีจำนวนไม่น้อย เมื่อเทียบกับสภาพที่สังคมจะสามารถพูดคุยขีดเขียนเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องประจบเทิดทูนแต่ถ่ายเดียว มุมมองมานุษยวิทยาการซุบนินทาอาจเป็นกลไกการควบคุมผู้มีอำนาจได้ไม่มากก็น้อย ใน Palgrave Dictionary of Anthropology (1987).กล่าวไว้ว่า “ควรชั่งน้ำหนักระหว่างบทบาทด้านบวกของการซุบซิบนินทา กับพลังที่จะนำสังคมไปสู่ความขัดแย้งกระทั่งกลายเป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะในสังคมจารีตนิยมขนาดเล็กและกลุ่มทางสังคมที่ถูกจำกัดสิทธิในสังคมขนาดใหญ่”

ระดับและความถี่ของการสรรเสริญเยินยอกษัตริย์ผ่านสื่อต่างๆ นั้นมหาศาลนัก จนสามารถตั้งคำถามได้ว่า เป็นสิ่งเกินความพอเพียงมากน้อยเพียงใด เพราะดูเหมือนพระองค์ท่านจะกลายเป็นอัจฉริยะในทุกด้าน ยกตัวอย่างเช่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์มีสติ๊กเกอร์ขนาดยักษ์ติดหน้าตึกด้วยข้อความทั้งภาษาไทยและอังกฤษว่า “80 พรรษามหาราชันย์ของโลก” และ “Long Live the Great King of the World” หรือเนื้อเพลงของแกรมมี่ที่มีคำร้องว่า “King of Kings” หรือการจัดงานสารพัดอย่างเพื่อ “ถวายในหลวง” ที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลปัจจุบันที่ไร้ความชอบธรรมซึ่งมาจากคณะรัฐประหารชุดนี้ก็ยิ่งโหมการจัดงานเฉลิมฉลองมากยิ่งขึ้น

ทุกๆ ที่ แทบทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในโรงหนัง รถเมล์ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน สนามบิน อินเทอร์เน็ต สื่อกระแสหลัก หรือแม้แต่ที่บ้านผู้ให้การหนีไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ที่หนังสือพิมพ์ลงให้ทุกปีในวันพิเศษก็ดูจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ข้อความเทิดทูนและประจบประแจง ไม่รู้จักพอเพียง อาจทำให้ผู้คนแยกไม่ออก ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) หรือมิเช่นนั้นคุณก็อาจเรียนรู้ที่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คำประจบเหล่านั้นไม่ว่าจะมีเจตนาดีเช่นไร สุดท้ายแล้วก็อาจเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณต่อสถาบันดังกล่าวเพราะมีแต่ผู้คนห้อมล้อมพูดแต่สิ่งดีๆ ให้ฟังด้านเดียว

หลายครั้งที่ผู้ให้การถูกเบรกโดยเพื่อนร่วมวง ในยามที่พูดถึงสถาบันอย่างเท่าทันระหว่างรับประทานอาหารในร้านอาหาร ซึ่งพวกเขาจะบอกให้พูดเบาลงหรือไม่ก็ให้หยุดพูดเสีย บางครั้งสิ่งเหล่านี้ทำให้นึกถึงนักข่าวหญิงต่างชาติผู้หนึ่งที่เคยกล่าวกับผู้ให้การว่า หากคุณพูดเรื่องนี้กับเอ็นจีโอหรือนักสิทธิมนุษยชนไทย ต้องระวัง เพราะเขาอาจดูเป็นคน “ก้าวหน้า” ในด้านต่างๆ แต่เมื่อคุยเรื่องกษัตริย์ คุณไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความคิดเห็นที่เท่าทันสถาบัน (อาจแบ่งกลุ่มคนที่ “เทิดทูน” สถาบันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) แฟนพันธุ์แท้ตัวจริง 2) กลุ่มที่อยากและได้ผลประโยชน์จากการแสดงตัวว่าใกล้ชิดและเทิดทูนสถาบัน ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้รู้สึกอย่างที่แสดงออก ยกตัวอย่างเช่นนักเคลื่อนไหว “เพื่อประชาธิปไตย” ที่มักอ้างกับผู้ให้การเสมอว่าการชูธงเหลืองเป็นเพียงยุทธวิธี 3) กลุ่มเล่นตามกระแสที่อาจได้รับอิทธิพลจากปริมาณวาทกรรมเทิดทูนอันมหาศาล และ 4) ลูกผสมระหว่าง 2-3 กลุ่มข้างต้น ซึ่งสำหรับผู้ให้การแล้ว กลุ่มที่ 2 น่ารังเกียจ เพราะนอกจากจะหลอกสาธารณะแล้วยังหลอกตนเองอีกต่างหาก)


- 4 -

วัฒนธรรมเทิดทูนมหาบุรุษอย่างไม่รู้จัก “พอเพียง” น่าจะเป็นหัวข้อที่น่าพิศวงสำหรับนักวิชาการนักประวัติศาสตร์ไทยในอนาคตอีกสักร้อยปีหลังจากนี้ พวกเขาอาจไม่เชื่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับสยาม ณ ปี พ.ศ. 2550 สถานการณ์ในตอนนี้ก็อย่างที่เพื่อนนักข่าวคนหนึ่งเคยกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “คนส่วนใหญ่ต่างมีส่วนในการสนับสนุนและธำรงไว้ซึ่งลัทธิบูชาบุคคล” สังคมไทยปี 2550 มีพื้นที่ในสาธารณะสำหรับคนใส่เสื้อเหลืองเป็นแสนเป็นล้านทั่วประเทศ แต่สำหรับคนเห็นต่างในสาธารณะและในสื่อกระแสหลัก แทบไม่มีที่ทางให้แม้สำหรับคนเพียงคนเดียวยืน แท้จริงแล้วสังคมเช่นนี้เรียกว่าสังคมอะไร ที่คนเห็นต่างต้องซุบซิบนินทา ทำใต้ดิน สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแบล็กลิสต์ อาจติดตะรางหรือต้องลี้ภัยต่างแดน

ผู้ให้การต้องขอสารภาพว่าบางครั้งตนเองรู้สึกต้องการหลบหลีกจากข้อความประจบอย่างไม่พอเพียงโดยการหนีไปต่างประเทศเป็นบางระยะหรืออย่างน้อยก็ปิดสวิตช์การรับรู้เป็นครั้งคราว มิเช่นนั้น ............ (ผู้ให้การขอเซ็นเซอร์ตัวเอง) เราอาจพบข้อความมากมายเกี่ยวกับสถาบันที่ตีพิมพ์ ถ่ายทอดตามสื่อต่างๆ ทว่าบางครั้งสิ่งที่ไม่ได้ถูกเขียนถึงหรือถูกนำมาออกอากาศกลับมีความสำคัญกว่า

ปัญหาคงมิได้อยู่ที่เพียงกฎหมาย แต่อยู่ที่คนไทยทุกคนรวมถึงผู้ให้การ ที่แสดงบทบาทในการช่วยธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเซ็นเซอร์โดยการเซ็นเซอร์คนอื่นและ/หรือเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือโดยการพูด-เขียนแต่ข้อความเทิดทูนอย่างมิรู้จักพอเพียง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม และนี่คือโศกนาฏกรรมสยาม ประเทศที่ติดบ่วงวัฏจักรเซ็นเซอร์ตัวเองและถูกเซ็นเซอร์ ในนามของความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

ผู้ให้การคงทำได้เพียงเท่านี้...


บทความจากหนังสือฟ้าเดียวกัน

โดย : ประวิตร โรจนพฤกษ์

ที่มา : http://www.suanboard.net/view.php?p=view&kid=40733

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางข้อความมิได้มีอยู่ในต้นฉบับ แต่มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: