วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2550

รัฐอยู่ที่ไหนในเศรษฐกิจพอเพียง


นิยามใหม่ของเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมได้ยินมา ประกอบด้วยคุณลักษณะสี่ข้อดังนี้คือ

ความมีเหตุผล

การทำอะไรพอกับกำลังของตน

ความรอบรู้

ความไม่ฟุ้งเฟ้อ

ว่ากันว่าสามารถนำไปใช้กับคนในทุกวิถีชีวิต นับตั้งแต่กรรมกรไปจนถึงเจ้าของบริษัทเบียร์

นับเป็นการขยายความจากพระราชดำรัส ซึ่งอาจมีนัยยะไปในทางวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพียงด้านเดียว ถือว่าดีนะครับ คือช่วยกันขยายความและตีความให้ข้อเสนอของใครก็ตามที่เห็นว่ามีส่วนดี สามารถใช้ได้กว้างขวางขึ้น ... แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมจะเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะที่จริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอซึ่งมีส่วนดีนั้นนั่นเอง

ผมก็เห็นพ้องว่า หากขยายความอย่างที่เขาทำกันอยู่เวลานี้ (ซึ่งน่าสังเกตว่าล้วนทำโดยคนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ นับตั้งแต่ รมต.คลังไปจนถึงนักธุรกิจ) อาจนำไปเป็นหลักในการประกอบการของคนได้หลายกลุ่มจริง

เหมือนคำสอนในการบริหารธุรกิจทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นหลักอันปลอดภัยในการประกอบการแก่คนที่อยู่ในตลาด
แต่ที่ผมสงสัยก็คือ แล้วรัฐอยู่ที่ไหนล่ะครับ หรือศีลธรรม (เช่น ความรู้จักประมาณตนและความไม่ฟุ้งเฟ้อ) จะเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ

ถ้าอย่างนั้น เศรษฐกิจพอเพียงคือการจัดการบริหารรัฐโดยไม่ต้องมีการเมืองใช่หรือไม่?

ในประเทศอื่นๆ รัฐมีบทบาทในการเสริมหลักการบริหารธุรกิจอย่างไม่สุ่มเสี่ยงและงอกงามอย่างมั่นคงมากทีเดียว ความรอบรู้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องแสวงหาเพียงฝ่ายเดียว

รัฐจะร่วมลงทุนกับการแสวงหาความรู้ดังกล่าวอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัย, อุดหนุนการวิจัย, หรือปรามการใช้ความรู้ในทางที่ผิด (เช่น การใช้ยาฆ่าแมลงเกินขนาดซึ่งย่อมทำลายตลาดของตนเองในระยะยาว) มีระบบภาษีและการยกเว้นภาษี (ไม้เรียวและขนม) ที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ไม่ลงทุนเกินกำลัง หรือเฉื่อยแฉะไม่หมุนกำไรมาสู่การลงทุนเลย ความมีเหตุมีผลในการประกอบการ มาจากศีลธรรมของผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง แต่รัฐก็มีส่วนช่วยอย่างมาก ในการป้องกันความโลภมิให้ครอบงำได้ เพราะรัฐสามารถเข้าไปทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประกอบการ รัฐจึงสามารถทำให้การดำเนินการที่ไม่มีเหตุผลกลับเป็นการเสียเปรียบ

รัฐไทยทำอะไรบ้างกับหลักการกว้างๆ ของการบริหารธุรกิจ ผมคิดว่าไม่ได้ทำหรือทำน้อยมาก เราอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดใน 2540 มาจากความไม่รู้จัก "พอเพียง" ของผู้ประกอบการ แต่ความไม่ "พอเพียง" นี้ปรากฏมาก่อนหน้าเป็นเวลานานแล้ว รัฐก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อยับยั้ง หรือเสริมให้เกิดความ "พอเพียง" เลย เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นคำตอบ แต่ก็เป็นคำตอบเชิงศีลธรรมด้านเดียว จะเรียกว่าเป็นปรัชญาหรือไม่ใช่ก็ตาม แต่คงไม่ใช่ "ศาสนา" นะครับ

ยิ่งกว่าการประกอบการ เศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นไปได้แก่คนส่วนใหญ่เพราะมีสภาพที่เอื้ออำนวยด้วย เช่น มีสวัสดิการพื้นฐานที่มั่นคงแน่นอน ซึ่งรัฐจัดให้ และจัดให้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถได้รับการรักษาพยาบาลในราคาที่ใครๆ ก็เข้าถึง ถึงอย่างไร บุตรหลานก็ได้เรียนหนังสือฟรีพอที่จะมีอาชีพเลี้ยงตัวได้, มีที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงยั่งยืนพอสมควร, มีสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมที่ทำให้ชีวิตสงบสุข, ฯลฯ ศีลธรรมประจำใจก็ยังต้องมีนะครับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อสันตุฏฐีธรรมด้วย ไม่รู้จะโลภโมโทสันไปทำไมให้ร้อนใจตัวเอง พอเพียงครับ พอเพียงแล้วเป็นสุขกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ใช่แต่ระบบสวัสดิการที่ดีเท่านั้น เงื่อนไขทางสังคมที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจพอเพียงยังมีด้านอื่นๆ อีกมาก จะให้เกษตรกรกว่า 30% ของประเทศซึ่งไม่มีที่ทำกิน "พอเพียง" กับอะไรครับ ตราบเท่าที่ไม่มีและไม่พยายามจะปฏิรูปที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม "พอเพียง" ก็เป็นเพียงคำปลอบใจแก่ท้องที่หิวโหยเท่านั้น

แรงงานต้องอยู่ในสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, ได้รับค่าจ้างในอัตราที่ไม่พอจะรักษาครอบครัวให้อบอุ่นได้ (พ่อไปทางแม่ไปทาง พี่ไปอีกทาง ในขณะที่ตายายกลายเป็นขอทาน), แม้แต่จะรวมตัวกันต่อรองก็ยังถูกขัดขวางทั้งด้วยกฎหมาย และสภาพของตลาดแรงงานที่รัฐไม่ยอมแทรกแซงให้เกิดอำนาจแก่แรงงาน, ฐานะการงานไม่มีความมั่นคง เพราะโรงงานหันไปใช้แรงงานนอกระบบซึ่งไม่ต้องถูกผูกมัดด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน, ทักษะที่ไม่มีก็คงไม่มีตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน จนถึงวันสุดท้าย เพราะไม่มีระบบที่จะทำให้เกิดการเพิ่มทักษะของแรงงาน

ปราศจากรัฐที่จะเข้ามาแก้ไขความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายอะไรแก่คนส่วนใหญ่ ถึงอยากฟุ้งเฟ้อก็ไม่มีกำลังจะฟุ้งเฟ้อได้มากนัก ในวันจ่ายค่าแรงครบวิก ขอกินลูกชิ้นปิ้งที่มีเนื้อมากกว่าแป้งสักหนหนึ่ง จะเป็นการฟุ้งเฟ้อหรือไม่... ก็ท้องมันหิวโปรตีนจริงๆ สักทีนี่ครับ ในเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวยเหล่านี้ ผมคิดว่าเขาก็มีเหตุผล/รอบรู้/และประมาณตนที่สุดอยู่แล้วนะครับ โดยไม่มีรัฐ เขาจึงอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว และถ้ายอมรับแค่นี้ได้ เศรษฐกิจพอเพียง ก็จะตรงกับความหมายที่บางคนเย้ยหยันว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือที่จนก็ทนจนต่อไป ที่รวยก็ทนรวยให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ผมไม่ทราบว่า "นักเทศน์" ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีกลาดเกลื่อนเวลานี้เคยได้ยินคำเย้ยหยันเหล่านี้หรือไม่ และเขาตอบสนองต่อคำเย้ยหยันเหล่านี้อย่างไร แม้พวกเขามีส่วนแบ่งในอำนาจรัฐอยู่สูง เขาคิดว่าจะใช้รัฐทำอะไรให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงได้จริงบ้าง หรือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียง "กัณฑ์เทศน์" เพื่อให้นักเทศน์แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอุดมการณ์ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

คือประชาธิปไตยที่ไม่มี "การเมือง" และพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ "เหนือ" การเมือง


นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา : มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1384

ไม่มีความคิดเห็น: