30 มีนาคม 2550 ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร มีปาฐกถาพิเศษ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เรื่อง อนาคตของการศึกษาเรื่อง ‘รัฐ’ อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปี ครั้งที่ 6 ‘รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน’ ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2550
การปาฐกถานี้เป็นเวทีวิชาการ กระนั้นเรื่องราวก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตวันๆ ของเราๆ ท่านๆ ที่ชวนให้ได้ทบทวนตัวเอง
วันนั้น ธงชัย วินิจจะกูล ใส่ ‘เสื้อเหลือง’ ขึ้นเวที
นี่ไม่ใช่การแนะนำวิทยากร แต่เป็นการแนะนำงานวิชาการชิ้นนี้ซึ่ง ‘ประชาไท’ ถอดความจากการปาฐกถา โดยพยายามรักษาอรรถรสนั้นไว้ให้ได้มากที่สุด
0 0 0
ผมขอใช้โอกาสนี้นำเสนอประเด็นสำคัญ 2-3 ประเด็น หวังว่าจะเชิญชวนให้เราท่านคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘รัฐกับชีวิตประจำวัน’ ในแง่มุมที่ต่างออกไป และตั้งคำถามกับหลายอย่างรอบตัวเราด้วยจิตใจที่ช่างสงสัยอยู่ตลอดเวลา
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ครูของผม เคยบอกกับผมมาหลายปีแล้วว่า ผมเป็นคนชอบ ‘หาเรื่อง’
ผมตีความเอาเองว่า อาจารย์ชาญวิทย์หมายความว่า ผมชอบมองหาเรื่องที่ต่างออกไปมาเล่า เพื่อเชิญชวนให้เราสงสัย คิดต่างออกไปจากที่เคยเห็นเป็นปกติ
วันนี้ผมยังไม่พร้อมจะเล่าเรื่อง แต่ประเด็นที่จะเสนอต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ผมกำลังคิด กำลังเขียน กำลังพยายามเล่า เผอิญมันเข้ากันพอดีกับหัวข้อเรื่องรัฐในชีวิตประจำวันที่เป็นประเด็นหลักของการจัดการประชุมในครั้งนี้
ปีสองปีที่ผ่านมา ผมมาเมืองไทยแต่ละครั้งเพียงสั้นๆ แต่ว่าผมได้ทำงานบางอย่าง นั่นคือ ผมตระเวนคุยกับ ‘ศัตรูเก่า’ ผมหมายถึง พลพรรคฝ่ายขวาที่เข้ากระทำการเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมตระเวนสัมภาษณ์เขาหลายคน คุยกับเขาหลายคน พวกคุณอาจจะนึกไม่ถึง ผมคุยกับหัวหน้ากระทิงแดงมาหลายคน คุยกับคนที่คุมสถานีวิทยุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์วันนั้น บางคนเป็นตัวการใหญ่ แต่ส่วนมากที่ผมคุยด้วยเป็นพลพรรคเล็กๆ ที่ทำมาหากินปกติ คนที่ขึ้นรถโดยสารประจำทางที่พุ่งเข้าชนประตูรั้วธรรมศาสตร์ก็เป็นคนที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่เคยรู้จัก ผมก็ได้คุยกับเขา
คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม?
เขาเป็นคนธรรมดาทำมาหากิน แต่วันนั้นเขาลงมือปฏิบัติการ
คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม?
เช่นเดียวกับบรรดาลูกเสือชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่ง Katherine Bowie ศึกษาไว้ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นประชาชนเดินถนนทำมาหากินปกติธรรมดา ทว่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม?
เราจะบอกว่าเขาเป็นกลไกรัฐหรือเปล่า หรือเราจะต้องคิดเสียใหม่ว่า รัฐไม่ได้หมายถึงเพียงกลไกรัฐเหล่านั้นเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนธรรมดาด้วยกันนี่แหละ คนชั้นกลางมีการศึกษาจำนวนมากที่คิดว่าตัวเองรู้ดีนี่แหละ ทำตัวเป็นตัวแทน (agent) ของรัฐอยู่ตลอดเวลาด้วยรึไม่
คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม? หรือว่าเราจะต้องคิดกับเรื่องรัฐเสียใหม่
เวลาเราพูดถึงรัฐในชีวิตประจำวัน หมายความว่า เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘ประชาชน’ ท่ามกลางการใช้ชีวิตปกติ
ปกติคนเรามีความคาดหวังเกี่ยวกับรัฐที่สวนทางกัน แต่อยู่ควบคู่กันตลอดเวลา ด้านหนึ่ง เราไม่อยากให้รัฐมายุ่งกับชีวิตของเรา ขออยู่ห่างๆ กลัว ไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากวุ่นวาย ขอให้แต่ละวันผ่านไปโดยที่ชีวิตเราไม่มีความจำเป็นต้องเจอตำรวจได้เป็นดีที่สุด
ในเวลาเดียวกัน เราเรียกร้องทุกวี่ทุกวันว่า รัฐน่าจะทำโน่นทำนี่ รัฐน่าจะเข้ามาจัดการจิปาถะในชีวิตของเราเต็มไปหมด ตั้งแต่ตำรวจจราจร การปรับปรุงถนน ซ่อมซอย บริการสาธารณะต่างๆ
เราคุ้นเคยกันดีกับการบ่นเรียกร้องรัฐ รวมทั้งบ่นเรียกร้องให้รัฐควรมาทำหน้าที่ที่รัฐไม่ควรมาเกี่ยวข้อง เอะอะก็โยนบาปให้รัฐอยู่เรื่อย ทั้งที่หลายเรื่องควรเป็นเรื่องที่ประชาชนทำกันเอง เราก็กลับรู้สึก “แหม ทำไมรัฐบาลไม่ทำ” “แหม ทำไมตำรวจไม่จับ” ทั้งที่ในเวลาเดียวกัน เราก็ขอว่าอย่ายุ่งกับตำรวจได้จะเป็นดีที่สุดในแต่ละวัน ขออยู่ไปวันๆ โดยที่ไม่ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับตำรวจ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับโรงกับศาลเป็นดีที่สุด
ตำรวจเป็นตัวแทนของความเป็นรัฐในชีวิตประจำวันที่ดีที่สุด เราจึงไม่อยากเจอตำรวจเลยในแต่ละวัน แต่เราบ่นอยากให้ตำรวจทำโน่นทำนี่บ่อยเกินไป
โรงเรียนก็เช่นกัน การจัดการศึกษาของรัฐเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราแทบทุกวัน ในทางวิชาการ เราบ่นอยู่เรื่อยว่า โรงเรียนมีพลังหล่อหลอม ครอบงำอุดมการณ์สำเร็จเสียจนน่ากลัว เราเชื่อว่าแบบเรียนและระบบการศึกษา ทำให้คนฝังหัวดักดานกับความคิดที่เราไม่ชอบหลายๆ อย่าง เช่น ความคิดชาตินิยมที่คับแคบ แต่ในเวลาเดียวกัน เราบ่นตลอดเวลาว่าโรงเรียนล้มเหลว ไม่เคยสอนให้ลูกเราเป็นคนดีพอ ทำให้เด็กวัยรุ่น เด็กรุ่นปัจจุบันเสียผู้เสียคนหมด
ตกลงโรงเรียนสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ตกลงว่าอยากให้รัฐทำให้ดีกว่านี้ หรืออยากให้โรงเรียนทำให้น้อยกว่านี้
หรือเราจะเอาทั้งสองอย่าง
สวนทางกัน แต่เราเอาทั้งคู่
เรามักคิดว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐ เพราะว่า ‘รัฐ’ ตามที่เราเข้าใจ หมายถึงกลไกการใช้อำนาจของทางการเพื่อควบคุมบังคับปราบปราม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
ต่อให้เราหลายท่านในที่นี้เป็นข้าราชการในสถาบันการศึกษาของรัฐ ความรู้สึกของเราแต่ละคนก็มักจะเห็นตัวเองเป็นประชาชนเดินถนนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่ใช่กลไกรัฐที่ใช้อำนาจต่อประชาชน
แต่แล้วประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละที่ช่วยกันทำให้อุดมการณ์ โครงการหลายอย่างของรัฐ กลายเป็นมาตรฐานของสังคม โดยที่กลไกรัฐไม่ต้องลงมาควบคุมบงการอย่างใกล้ชิด
เราแทบทุกคน มีส่วนในการวางมาตรฐาน มีส่วนในการที่จะเที่ยวบอกเที่ยวชี้ว่าใครบ้างเป็นผู้ที่ละเมิด แหกออกนอกกรอบความเป็นปกติ จนกระทั่งผู้คนหลายคนไม่กล้าที่จะแหกกรอบ ไม่กล้าที่จะทำอะไร เพราะเกิดความกลัว
กลัวอะไร ก็กลัวประชาชนด้วยกันนี่แหละจนเราต้องทำตาม จนเราต้อง self censor ความกลัวและการ self censor แผ่ขยายไป แผ่ซ่านไปหมดจนเราไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง ปกติที่เราไม่กล้าทำ เพราะมีตำรวจมายืนใกล้ๆ หรือเปล่า.. ส่วนใหญ่ไม่ใช่
แต่ที่เรากลัวคือ ประชาชนรอบๆ ข้างเรา
กลไกรัฐไม่มีทางแผ่ขยายมาควบคุมบงการได้ขนาดนั้น แต่เพราะประชาชนกันเองจำนวนไม่น้อยทำตัวเป็น เอเยนต์ของรัฐนี่เอง การควบคุมบงการของรัฐจึงสามารถแผ่ซ่านได้ขนาดนั้น
ประชาชนเหล่านั้นที่เรากลัวเป็นกลไกรัฐไหม
ประเด็นสำคัญที่จะพูดถึงเกี่ยวกับ ‘รัฐในชีวิตประจำวัน’ ในวันนี้ คือเรื่องนี้ เรื่องที่เราพบปะอยู่ทุกวี่ทุกวัน เป็นปรากฏการณ์ใกล้ชิดเรามากเสียจนถูกมองข้ามเหมือนปลายจมูกของเราเอง
นั่นก็คือ เมื่อรัฐคือตัวเรา ประชาชนอย่างเราทุกท่านทำตัวเป็นกลไกรัฐเสียเอง แล้วไม่เคยมองดูตัวเองว่าเรากำลังกระทำตัวเป็นกลไกรัฐอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัวอย่างไร...ในชีวิตประจำวัน
ขออนุญาตนะครับ...
(ถอดเสื้อสูทที่สวมอยู่ชั้นนอกสุดออก แล้วโยนไปที่พื้นเวทีข้างตัว)
มันร้อนครับ..
(เสียงฮือฮาจากผู้ที่อยู่ในห้องประชุม)
(ถอดเสื้อยืด ‘สีเหลือง’ ที่สวมทับอยู่บนเสื้อเชิ๊ตออกมาเช็ดเหงื่อบนหัว เช็ดไปทั่วใบหน้า แล้วขยำขว้างไปไว้ที่เดียวกับเสื้อสูท)
(เสียงปรบมือ)
ทำไมครับ.. ทำไมต้องตบมือด้วยครับ..
ถ้ามีใครลุกขึ้นมาประท้วงผม ก็เพราะคุณคิดว่า ‘เสื้อเหลือง’ ตัวนี้ หมายถึงเสื้อที่มีความหมายบางอย่าง คนที่ตบมือเมื่อกี๊ เขาก็ชอบใจ เพราะเขาก็คิดว่า ‘เสื้อเหลือง’ ตัวนี้มีความหมายบางอย่าง ที่จริงมันเสื้อโฆษณาโรงเรียนภาษาครับ (ชูเสื้อขึ้นมาโชว์ลายสกรีน)
ใครเป็นคนบอกว่า ‘เสื้อเหลือง’ มีความหมายอย่างหนึ่ง และเห็นร่วมกันจำนวนไม่น้อยจึงได้ตบมือ หรือหลายคนอาจจะกำลังไม่สบายใจ ใครเป็นคนบอกคุณว่า ‘เสื้อตัวนี้’ มีหมายความว่าอย่างไร
มีตำรวจไหมฮะ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมมาระบุไหมครับ ว่าเสื้อตัวนี้ ‘สีเหลือง’ นี้ หมายความว่าอะไร ใครเป็นคนบอกคุณว่า ‘สีเหลือง’ ตัวนี้มีความหมายว่าอย่างนั้นหรืออย่างนี้ จึงเกิดอาการไม่สบายใจ หรือจึงเกิดอาการชอบใจ
พวกคุณเป็นกลไกรัฐหรือเปล่า
ทำไมคุณจึงใช้มาตรฐานใช้ความหมายเดียวกับที่รัฐได้โฆษณาอยู่ในระยะนี้ มาทำให้ไม่สบายใจ หรือมาปรบมือชอบใจ ทั้งๆ ที่เสื้อตัวนี้คือเสื้อโรงเรียนสอนภาษาที่ Madison
นั่นเพราะเราแต่ละคนเป็นคนแบกเอาความหมายบางอย่างไว้กับตัวเราตลอดเวลา ทั้งที่ไม่มีตำรวจ ไม่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมอยู่ข้างๆ คอยบงการให้เราคิดไปในแบบนั้น แต่เราก็คิดไปเรียบร้อยแล้ว
0 0 0
ผมจะขอแบ่งประเด็นสำคัญที่เสนอถัดจากนี้ไปเป็นสามประเด็น เมื่อเราพูดว่า เมื่อประชาชนคือรัฐ เมื่อประชาชนทำตัวเป็นรัฐ เมื่อประชาชนเป็นกลไกรัฐเสียเอง
1. คอนเซ็ปต์หรือแนวคิดทั่วๆ ไปที่เรามีอยู่เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องรัฐ ถือว่ารัฐเป็นองค์กร เป็นสถาบันที่ควบคุมการใช้อาวุธ ใช้อำนาจควบคุม และบงการความเป็นไปในสังคม
2. คอนเซ็ปต์ที่เสนอว่า การใช้อำนาจควบคุมบงการความเป็นไปในสังคม อยู่เลยพ้นจากรัฐแบบที่หนึ่ง แบบที่พูดไปเมื่อสักครู่นี้ แต่อยู่กับเราๆ ท่านๆ นี่แหละ
3. จะพยายามอธิบายสภาวะดังกล่าวในสังคมไทยว่า มีเงื่อนไข มีสภาวะอย่างไรในทางประวัติศาสตร์ จึงเอื้ออำนวยต่อปรากฏการณ์ที่พวกเรากลายเป็นตัวแทนหรือกลายเป็นเอเยนต์ของรัฐ ปรากฏการณ์ที่ว่า รัฐคือเราๆ ท่านๆ นี่แหละ และจะเข้าใจภาวะเช่นนี้ในประวัติศาสตร์สังคมไทยเองได้อย่างไร นั่นคือ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก ความเข้าใจทั่วไปในการศึกษาเรื่องรัฐ แบบที่เห็นรัฐเป็นกลไก เป็นสถาบัน เป็นองค์กร ที่ใช้อำนาจในการควบคุมบงการชีวิตเรา
‘รัฐ’ ในความหมายทั่วไปของเราท่านโดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการ หมายถึงสถาบันทางการเมือง สถาบันในสังคมที่มีอำนาจผูกขาดกลไกการใช้ความรุนแรง เพื่อการใช้อำนาจทางกฎหมาย เพื่อรักษากฎระเบียบของสังคม รักษาความสงบราบเรียบ ขจัดลงโทษ ทำลายผู้คน หรือปัจจัยแปลกปลอมที่ผิดเพี้ยนเป็นอันตรายต่อสังคม
โดยทั่วไป เมื่อเราพูดถึงรัฐ เราจึงพูดถึงกลไกหรืออำนาจที่ผูกขาดกลไกการใช้ความรุนแรงเหล่านั้น เช่น
ระบบราชการ ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมบงการแง่มุมต่างๆ ในการใช้อำนาจ เราพูดถึงขอบข่ายของอำนาจที่อยู่ภายใต้ดินแดนที่แน่นอนของรัฐ เราพูดถึงผู้ที่พิทักษ์รักษาปกป้องผลประโยชน์ และผลักดันความเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ของสังคม ของประชาชน คือ รัฐ ทำในนามของประชาชน
กับอีกอย่างหนึ่ง ทฤษฏีโดยพื้นฐานปกติ เราได้ยินมาตั้งแต่เราเรียนหนังสือว่า ‘รัฐ’ คือสถาบันที่เป็น ‘องค์อธิปัตย์’ มีความชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้เพื่อทำหน้าที่องค์อธิปัตย์ในการที่จะสร้างกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย เก็บภาษี ใช้ภาษี และอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็น มาร์กซิสต์ นีโอมาร์กซิสต์ หรือไม่ใช่พวกมาร์กซิสต์ ความเข้าใจเรื่องรัฐอย่างที่เพิ่งกล่าวมาเหล่านี้เป็นความเข้าใจร่วมโดยพื้นฐานของหลายสกุลความคิด ซึ่งถ้าใครฟังอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ตั้งแต่วันแรก (การปาฐกถานำของ ศ.ดร.ยศ สันติสมบัติ หัวข้อ “มานุษยวิทยาการเมือง รัฐ และพลังของมานุษยวิทยา”) คงจะพอจำได้ อาจารย์ยศไล่มาหลายสกุล กลุ่มใหญ่ที่อาจารย์พูดถึงในวันแรก คือกลุ่มที่เห็น ‘รัฐ’ เท่ากับ ‘กลไกรัฐ’ ในการใช้อำนาจโดยมีกฎหมายค้ำจุนสร้างความชอบธรรมให้
กลุ่มเหล่านี้เห็นตรงกันว่า รัฐเป็นสถาบันหรือองค์กร เป็น entity เป็นสิ่งที่มีตัวมีตน มีตำแหน่งแห่งที่ ไม่ใช่ลอยๆ คลุมๆ เครือๆ มีกลไกรัฐให้เห็นได้ เข้าใจได้ รับรู้ได้เป็นรูปธรรม เช่น ทหาร ตำรวจ ระบบศาล ระบบราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น
การศึกษาเรื่องรัฐตามปกติแทบทั้งหมด เป็นการศึกษาตามคอนเซ็ปต์นี้ และศึกษาว่า กลไกรัฐทำงานอย่างไร ใช้อำนาจอย่างไร ใช้อำนาจถูก ใช้อำนาจผิดอย่างไร
ตามคอนเซ็ปต์แบบนี้ จึงมีการพูดถึงการต่อสู้ต่อต้านรัฐ โดยกลุ่มพลังทางการเมืองฝ่ายอื่น
ที่สำคัญก็คือฝ่ายประชาชน ผู้ถูกกดขี่จากรัฐ ตามแนวคอนเซ็ปต์กลุ่มนี้ มักจะเห็นประชาชนไม่ใช่รัฐ
เป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐ เป็นพลังฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะสมัยโบราณ เป็นกบฏชาวนา ต่อมาเป็นขบวนการต่อต้านรัฐในแบบต่างๆ หรือการอ้างในหมู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมว่าเป็นฝ่ายประชาชน ต่อสู้เพื่อประชาชน อิงมวลชน เป็นแนวร่วมกับประชาชน พวกนี้ทั้งหมดวางอยู่บนพื้นฐานความคิดที่คิดว่า รัฐ คือกลไกรัฐ ประชาชนคือฝ่ายตรงข้าม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกัน และจะมีการปะทะต่อสู้เป็นระยะๆ
นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดแบบที่หนึ่งทั้งหมด ประชาชนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐ และนี่คือฐานของความคิดที่พวกเรามักจะคุ้นเคยกันอยู่ นี่คือฐานของความคิดที่ทำให้เรามักจะไม่ค่อยเห็นว่า ประชาชนด้วยกันนี่แหละคือตัวแทนของรัฐ
แนวคิดในทำนองนี้มีหลายอย่าง หลายทฤษฎี รวมถึงการพูดถึง ‘ประชาสังคม’ หรือ ‘civil society’
เรามักจะชี้ให้เห็นว่า ประชาสังคม หรือ civil society เป็นคู่ตรงข้าม หรือเป็นพลังทางสังคมที่แตกต่าง และขัดแย้งกับรัฐ
ปัญหาใหญ่มากๆ ของคอนเซ็ปต์ว่าด้วยรัฐแบบนี้มีหลายปัญหา แต่ผมขอพูดปัญหาเดียวเพื่อให้เข้ากับประเด็นในวันนี้ คือในสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนหลายต่อหลายแห่งในโลกรวมทั้งสังคมไทยด้วย ผู้ที่ใช้อำนาจในการควบคุมบงการจัดระเบียบสังคม ใช้อำนาจความรุนแรงเหนือประชาชน ก็คือสถาบันองค์กรทางสังคมของประชาชนด้วยกันเองด้วย คือเราๆ ท่านๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่ด้วย ไม่ใช่แค่ทหาร ตำรวจ หรือกลไกรัฐในความหมายมาตรฐานอย่างที่เราคิดกัน
ดังนั้นแนวคิดที่อธิบายรัฐอีกกลุ่มอีกแนวใหญ่ๆ ที่มองว่า รัฐเป็นสัญลักษณ์ รัฐเป็นนามธรรม ดังที่อาจารย์ยศเล่าตัวอย่างของ Michael Taussig ให้ฟัง บทความของเขาที่ว่า รัฐก็คือการหลอกกัน เป็นพิธีกรรม จึงเกิดแนวคิดอธิบายรัฐอีกแนวหนึ่งใหญ่ๆ คือแนวที่เห็นว่า รัฐมีสภาวะคลุมเครือ ไม่แน่ชัด และลื่นไหล
มีนักคิด นักทฤษฎี อีกกลุ่มหนึ่งที่พยามยามชี้ว่า รัฐเป็นนามธรรมกว่านั้น ลื่นไหลกว่านั้น เป็นตัวแทนของปฏิบัติการการใช้อำนาจทางสังคมจำนวนมากที่เราๆ ท่านๆ ก็มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ แต่มีรัฐในแง่ที่เป็นความหมายเดิมเป็นสถาบันกลางคอยควบคุมกฎ เพื่อเอื้ออำนวยให้การใช้อำนาจของเราๆ ท่านๆ ประจำวันเป็นการใช้อย่างถูกต้องชอบธรรม หมายถึงว่ายังต้องมีกลไก มีสถาบันที่เป็นกลไกรัฐเป็นตัวค้ำจุนการที่เราๆ ท่านๆ ทำตัวเป็นตัวแทนของรัฐ ไม่ใช่ว่าตัดทิ้งว่ารัฐไม่มีอยู่ แต่แบบที่สองนี้ชี้ให้เห็นว่า โดยปกติในชีวิตประจำวัน กลไกรัฐที่เป็นรูปธรรมเหล่านั้น เขาไม่ลงมายุ่ง เขามีไว้ค้ำจุนการที่เราๆ ท่านๆ ต่างทำตัวเป็นกลไกของรัฐ
พูดกลับกันก็คือ ‘รัฐ’ เป็นสภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นองค์รวมของการที่พวกเราใช้อำนาจกระทำต่อประชาชนด้วยกันเอง ภายใต้นามและกฎหมายที่มีสถาบันรองรับอยู่
ถ้าหากจะเทียบให้ใกล้เคียง และเข้าใจให้ง่ายขึ้นเรื่องรัฐในแนวคิดแบบที่สอง คือ ‘รัฐ’ ก็ทำนองเดียวกับ ‘ตลาด’ ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
เราจะบอกว่าตลาดไม่มีอยู่ไม่ได้ แต่เราจะบอกว่า ตลาดมีสภาวะเป็นรูปธรรมเหมือนอย่าง ตำรวจ ทหาร ก็พูดไม่ได้ เพราะว่าในทางเศรษฐกิจ ตลาดมีอยู่จริง แต่เป็นสภาวะมีอยู่จริงในแง่ที่เป็นสื่อกลางของพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมหาศาล
ตลาดเป็นความเป็นจริงตรงที่มันคือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมหาศาลขึ้นไปสัมพันธ์กันในระดับนามธรรม
รัฐก็เช่นเดียวกันในแนวคิดแบบที่สองนี้ พฤติกรรมที่แต่ละคนใช้อำนาจซึ่งกันและกัน ควบคุมบงการซึ่งกันและกัน คนแต่ละคนอาจจะพูดไม่ได้เต็มปากว่า เขาคือกลไกรัฐ แต่ได้ประมวลกันขึ้นไปกลายเป็นสภาพนามธรรม ทำนองเดียวกับตลาด และเราเรียกสภาพนามธรรมนั้นซึ่งมีตัวมีตนว่า ‘รัฐ’
‘รัฐ’ ก็คือตัวสื่อกลาง การใช้อำนาจต่อกันและกันของผู้คนจำนวนมหาศาลในสังคม ไม่ได้แปลว่าคนจำนวนมหาศาลในสังคมเหล่านั้นมีอำนาจเท่ากัน ทำนองเดียวกับ ‘ตลาด’ ที่เป็นสื่อกลางพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนจำนวนมหาศาล ไม่ได้แปลว่าคนจำนวนมหาศาลที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นมีอำนาจเท่ากัน ตลาดและรัฐก็ทำนองเดียวกัน ในปริมณฑลทางการเมืองกับในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ
เรามักคิดว่าเฉพาะกลไกรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจบังคับควบคุมบงการ แต่ในสังคมสมัยใหม่อำนาจกลับกระจายเป็นจุดย่อยๆ กระจายไปในอาณาบริเวณ ในปริมณฑลต่างๆ ของชีวิตประจำวัน เป็นวาทกรรม เป็นแบบแผน เป็นมาตรฐานความคาดหวังให้คนคิดและทำตัวคล้ายๆ กัน หรืออย่างน้อยที่สุด ถึงจะคิดและทำตัวต่างกัน แต่อยู่ในกรอบจำนวนหนึ่ง กรอบที่แน่นอนอันหนึ่ง และก็หวาดกลัวต่อการละเมิด หวาดกลัวต่อการแหกคอก เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นคนนอกคอก กลัวถูกหาว่าเป็นคนไม่เคารพ ไม่ทำตามแบบแผน
สังคมสมัยใหม่ยิ่งซับซ้อน หน่วยของอำนาจที่ควบคุมหรือจำกัดการกระทำและพฤติกรรมของเรายิ่งกระจายเป็นจุดย่อยๆ และปฏิบัติการหรือลงมือกระทำการด้วยคนที่ไม่ใช่กลไกรัฐในความหมายอย่างที่เรารู้จักกัน แต่ด้วยคนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ
อำนาจควบคุมบงการชนิดนี้มักไม่ได้อาศัย ตำรวจ ทหาร ศาล หรือโรงเรียน หรือส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมอยู่ทุกหัวมุมถนน แต่มีพลเมืองดีทุกหัวระแหงที่พร้อมจะทำตัวเป็นผู้จงรักภักดีต่อรัฐ เข้าลงมือ และใช้อำนาจต่อผู้ที่ละเมิดเสียเองโดยไม่ต้องอาศัยกลไกรัฐเลย
ประชาชนด้วยกันนี่แหละกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐไปด้วยแล้ว
ประชาชนด้วยกันนี่แหละเป็นผู้สอดส่องดูแลประชาชนด้วยกันเอง ตำรวจ ศาล เป็นมาตรการการควบคุมอย่างท้ายๆ ที่ผู้คนจะใช้ก็ต่อเมื่อการควบคุมกันเองไม่สำเร็จ
อย่าคิดว่านี่คือสังคมนาซี อย่าคิดว่าที่ผมกำลังพูดถึงนี่คือฟาสซิสต์ สังคมปกติธรรมดานี่แหละเป็นอย่างนี้ ในดีกรีที่มากน้อยก็แล้วแต่ แล้วเดี๋ยวผมจะกลับมาพูดถึงสังคมไทย...
แต่นี่คือสังคมสมัยใหม่ symptom หรืออาการป่วยของภาวะที่เราทำตัวเป็นรัฐควบคุมกันเอง ซึ่งเกิดเป็นเรื่องปกติ คือเรื่อง self censorship หรือการเซ็นเซอร์ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกสังคม มากหรือน้อยแล้วแต่
เดี๋ยวจะมาหาว่าผมมาจากอเมริกามาดูถูกสังคมไทย ผมดูถูกสังคมอเมริกันให้ฟังก็ได้
ระยะแรกๆ ที่เขาส่งทหารไปอิรัก และผู้คนก็แห่กันเชียร์บุช คนที่ค้านสงครามแต่แรก self censor กันเป็นแถว เพราะถ้าพูดไม่ดีก็ถูกเล่นงาน ถูกด่า
พูดง่ายๆ คือ self censor มันก็มีภาษาที่สุภาพกว่านี้ คนอย่างผมอย่างเพื่อนผมหลายคนที่ค้านตั้งแต่ต้นเราก็รู้จัก ‘กาลเทศะ’ ก็คือ ‘หุบปาก’ ซะ
กลับมาสังคมไทย เวลาเรา self censor ที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เรากลัวใคร เราจะ censor ตัวเอง ต่อเมื่อมีตำรวจมายืนใกล้ๆ หรือ.. ใช่แน่นอน แต่โดยปกติการ censor ตัวเองเกิดขึ้น เพราะเรากลัวคนรอบๆ ข้างเรา
เรากลัวประชาชนด้วยกันเอง
เมื่อไรเราไม่แน่ใจว่าความคิดของเรานอกรีตนอกรอยรึเปล่า แบบแผนอยู่ตรงไหน เราชักไม่แน่ใจว่าเกณฑ์ที่ตั้งบังคับไว้ว่า เราควรมีพฤติกรรมอย่างไร มันอยู่ประมาณไหน พอเราไม่แน่ใจ เราก็ self censor ตัวเองขึ้นมา เพื่อความปลอดภัย มีชีวิตปกติสุข
ในแง่นี้ ในเรื่อง self censor ผมถามหน่อยว่า รัฐอยู่ที่ไหน? ที่บอกว่าอยู่ที่ประชาชนรอบข้างเรา นั่นคือคำตอบหนึ่ง
‘รัฐ’ อยู่ใน ‘จินตนาการ’ ของเราเอง
เวลาเราไม่แน่ใจว่า ทำแค่ไหนถึงจะอยู่รอดปลอดภัย เรา censor ตัวเองไว้ก่อนดีกว่า ทั้งที่คนรอบข้างบางทีเขายังไม่ได้บอกเลยว่า คุณห้ามพูด คนรอบข้างก็ยืนยิ้มปกติ แต่เราไม่แน่ใจ จนเราต้อง censor ตัวเอง
ภาวะอย่างนั้นรัฐอยู่ที่ไหน..
รัฐอยู่ในหัวเราเอง รัฐอยู่ในจินตนาการของเราเอง
เราคิดว่าแค่นี้ไม่น่าพูดนะ เพราะเดี๋ยวคนรอบข้างจะว่าโน่นว่านี่ ทั้งที่คนรอบข้างไม่เคยว่าอะไรเลย หรืออาจจะเห็นด้วยกับเราก็ได้
ตอนผมเตรียมใส่เสื้อเหลืองมา ผมก็นึกอยู่เหมือนกันว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ผมจึงเตรียมไว้หลาย plan plan A , plan B , plan C plan A คนประท้วงหนัก, plan B คนเฉยไม่มีปฏิกิริยา, plan C คนตบมือชอบใจ
ไม่ว่าคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ผมต่อได้ทั้งนั้น..ผมต้องจินตนาการเอาเอง.. เพราะผมไม่รู้ว่าคนรอบข้างจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
ผมต้องจินตนาการเอาเองว่า ‘รัฐ’ เข้ามาอยู่ท่ามกลางพวกเราในแบบไหนบ้าง ในกรณี self censor ทั้งหลาย.. ‘รัฐ’ อยู่ใน ‘หัว’ เราเอง
รัฐชนิดที่ประชาชนรอบข้างเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ รัฐชนิดที่สามารถเข้ามาอยู่ในหัวเราเองได้
จึงเป็นรัฐที่ทรงพลังอย่างมาก ไม่มีตัวตนชัดเจนอย่างที่คิด แต่กลับกลายเป็นอำนาจที่แฝงอยู่ทุกอณูของชีวิตประจำวัน
รัฐที่เป็นกลไกรูปธรรมมีตัวตนจึงอาจลดความสำคัญลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องทำงานอย่างที่เราคิด กินเงินเดือนสบายเลย มีพวกเราช่วยคุมกันเอง แต่เขาจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อเตือนเราว่า การใช้อำนาจรุนแรง การบังคับบงการเราอย่างเป็นรูปธรรมนั้นมีอยู่จริง เพื่อเตือนเราว่า มีกลไกที่เป็นมาตรการท้ายๆ ที่รัฐลงมือใช้ สังคมลงมือใช้ เมื่อประชาชนจัดการกันเองไม่สำเร็จ
รัฐที่อยู่กับเราในชีวิตประจำวันเป็น ‘Articulation of discursive control’ คือเป็นการประมวลอย่างเป็นนามธรรมของการควบคุมโดยวาทกรรม ไม่ใช่กลไกรัฐอย่างที่เราคิดกัน
ทำไมจึงเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นได้?
ส่วนมากนักมานุษยวิทยาจะอธิบายว่า รัฐชนิดแรก คือแบบที่มีกลไกรัฐเป็นตัวเป็นตน มีตำรวจ ศาล ทหาร โรงเรียน คอยควบคุมบงการเราอย่างเป็นรูปธรรม วิวัฒนาการมาสู่รัฐชนิดหลังซึ่งเป็น Articulation of discursive control อย่างแรกนำมาสู่ระยะหลัง สังคมอย่างแรกวิวัฒนาการมาสู่สังคมอย่างที่สอง ผมไม่ค่อยเชื่อเต็มที่เท่าไร แต่ผมไม่มีความสามารถจะไปแย้ง และในเมื่อจุดมุ่งหมายสำหรับการประชุมแบบนี้ไม่ใช่การที่เราจะมีคำตอบชัดเจน ดังนั้น ทั้งหมดคือคุณต้องคิดเอา
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ จะขอย้อนกลับไปในอดีตอีกสักนิด และจะเล่าวิวัฒนาการในทำนองนี้ครับ...
รัฐในยุคก่อนสมัยใหม่ไม่ว่าที่ไหนในโลก ‘รัฐ’ มี ‘องค์อธิปัตย์’ เป็น ‘รูปธรรม’ หมายถึงว่า มีตัวบุคคล กุมอาวุธ เป็นเจ้าพ่อ เป็นลูกพี่ใหญ่ หรือเป็นเจ้าพ่อของกองกำลังที่กุมอาวุธ องค์อธิปัตย์เป็นบุคคลรูปธรรมที่กุมตำรวจ ศาล ทหาร กุมพระคลัง กุมที่ดิน ฯลฯ
สังคมก่อนสมัยใหม่เป็นอย่างนี้ องค์อธิปัตย์เป็นรูปธรรม เป็นบุคคลรูปธรรม
รัฐก่อนสมัยใหม่ขีดจำกัดในการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดน้อยในความหมายว่า ถ้าเขาจะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด องค์อธิปัตย์ที่เป็นรูปธรรมของก่อนสมัยใหม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือความเชื่ออื่นๆ มักจะให้ความชอบธรรมกับการที่องค์อธิปัตย์ในยุคก่อนสมัยใหม่จะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด รวมทั้งปลิดชีวิตผู้คนก็ทำได้
แต่ว่าในรัฐก่อนสมัยใหม่ โดยทั่วไปไม่มีเทคโนโลยีพอที่จะใช้อำนาจที่เหลือล้นคณาไปยุ่มย่ามในชีวิตของผู้คนทุกวี่วัน หรือแทรกซึมลงไปในชีวิตประจำวัน
ผมกำลังจะบอกว่า รัฐก่อนสมัยใหม่ที่มีองค์อธิปัตย์เป็นรูปธรรมนี้มีอำนาจในการใช้ความรุนแรงได้ล้นฟ้าแต่จำกัดในวงเล็กนิดเดียว เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่จะเข้าไปควบคุมบงการประชาชนทั่วทั้งอาณาเขต อาณาจักร ไม่มีเทคโนโลยีที่ทำได้ขนาดนั้น
อย่างมากไกลออกไปก็เป็นเรื่อง ideology อย่างมากผ่านระบบการเก็บภาษี เกณฑ์แรง หรือเก็บส่วย นั่นหมายถึงว่า ขอบข่ายที่จะใช้อำนาจรัฐที่ล้นฟ้าได้จริงมีจำกัด โดยทั่วไป รัฐชนิดนี้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตผู้คน คนสามารถอยู่ได้ประจำวัน ประจำปี โดยที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับรัฐเลยก็ได้ แต่ในความจริงก็เผชิญ คือถูกเกณฑ์แรงงาน เกณฑ์ส่วย ถูกเกณฑ์ไปรบ ฯลฯ เป็นประจำ
ต่อมา รัฐสมัยใหม่ในระยะแรก องค์อธิปัตย์มักจะเริ่มกลายเป็น ‘impersonal’ คือไม่กลายเป็นตัวบุคคลอีกต่อไป กล่าวคือมีผู้นำรัฐ ผู้นำรัฐไม่ใช่ตัวรัฐเอง แต่ผู้นำรัฐได้รับมอบหมายให้มีอำนาจอันชอบธรรมในการควบคุมอาวุธ ใช้อำนาจคุมอาวุธ คุมคลัง เป็นอำนาจที่ผูกติดอยู่กับตำแหน่งในระบบราชการที่รองรับด้วยกฎหมาย
Impersonal ในที่นี้หมายความว่า จะเป็นลูกพี่ใหญ่ เจ้าพ่อมาจากไหน คุณต้องพยายามเข้าครอบครองตำแหน่งนั้นจึงจะมีอำนาจที่ถูกต้องชอบธรรม ถ้าหากครองตำแหน่งในระบบราชการหรือในระบบกลไกของรัฐไม่ได้ คุณก็เป็นแค่นักเลงที่เที่ยวเกะกะระรานคน แต่คุณไม่ได้มีอำนาจอันชอบธรรมในการควบคุมกลไกของรัฐ อันนี้คือการที่รัฐกลายเป็น impersonal คือไม่ได้ขึ้นต่อตัวบุคคลอีกต่อไป
รัฐแบบนี้มีเทคโนโลยีในการแทรกแซงชีวิตผู้คนไปทั่วทุกหัวระแหงมากกว่ารัฐก่อนหน้านั้น ระบบตำรวจ ทหาร ศาล การเก็บภาษี ระบบการศึกษา และอีกหลายระบบ สามารถเข้าใกล้ชิดสัมผัสกับชีวิตผู้คนได้มากกว่ารัฐแบบโบราณ แต่ในขอบข่ายที่กว้างขวางขนาดนั้น รัฐแบบนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมกับประชาชนที่เริ่มมีสิทธิมีเสียง เริ่มกลายเป็นพลเมือง เป็น citizen รัฐมักจะมีอำนาจไม่ล้นฟ้าอีกต่อไป จะทำอะไรต้องทำตามกฎหมาย ในหลายสังคมไม่มีอำนาจแม้กระทั่งจะปลิดชีวิตคน เว้นเสียแต่ว่าจะมีคำสั่งศาล เว้นเสียแต่ว่ามีระบบอื่นๆ มาสั่งให้รัฐสามารถที่จะประหารชีวิตได้
รัฐที่มีเทคโนโลยีแผ่อำนาจตัวเองไปทั่วอาณาเขตของประเทศหนึ่งๆ กลับมีอำนาจจำกัดในแง่ของ ‘ดีกรี’ และรัฐจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้
มีหลายรัฐในโลกนี้ที่เก่าก็ไม่เก่า ใหม่ก็ไม่ใหม่ เป็นรัฐที่เป็นมาเฟียแบบสมัยใหม่ องค์อธิปัตย์ค่อนข้างจะเป็น personal เป็นรูปธรรมและใช้อำนาจด้วย และแถมยังมีเทคโนโลยีมากกว่ารัฐสมัยเก่า ยกตัวอย่างเช่นรัฐเผด็จการทหาร รัฐเผด็จการที่มีขุนศึกผู้นำบางคน ผมไม่ได้พูดถึงสังคมไทย พูดถึงทั่วไป รัฐชนิดนี้กึ่งเก่ากึ่งใหม่ หรือพูดง่ายๆ ว่าองค์อธิปัตย์มีอำนาจมากไปหน่อย แถมมีเทคโนโลยีด้วย มีหลายรัฐเป็นเช่นนี้ คือผสมสองแบบเข้าด้วยกัน
แต่ผมอยากจะยกตัวอย่างที่ไม่ใช่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหรือที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ ผมอยากจะยกตัวอย่างรัฐชนิดที่ขึ้นตรงกับตัวบุคคลและมีเทคโนโลยีที่น่ากลัว ทั้งนี้เพียงเพื่อความเข้าใจ นั่นคือรัฐจากนิยาย คือรัฐในวรรณกรรมเรื่อง ‘1984’ ของ George Orwell ซึ่งเป็นรัฐที่มีอำนาจล้นฟ้า แถมมีเทคโนโลยีมากมาย
ถ้าเราเชื่อว่า รัฐชนิดนั้นมีอยู่จริงในโลกมนุษย์ คือรัฐ authoritarian หรือ totalitarian ทั้งหลาย ก็นึกเอาเองละกันว่าตัวอย่างของรัฐเหล่านั้นคืออะไรบ้าง
คราวนี้รัฐสมัยใหม่ที่เติบโตไปกว่านี้อีก เติบโตไปกว่ากรณีที่ผ่านมา เป็นรัฐที่มีวุฒิภาวะ หรือบางคนเรียกว่ารัฐแบบหลังสมัยใหม่ คงพอนึกออกแล้วว่า พอผมพูดถึงรัฐที่เป็นนามธรรม อาศัยหน่วยอำนาจย่อยๆ ที่พวกเราควบคุมบงการกันเอง บางคนอาจนึกว่า ผมกำลังพูดถึง Foucault แต่คนที่พูดเรื่องนี้มีหลายคน เช่น Taussig เป็นต้น ส่วน Foucault เป็นแค่หนึ่งในคนที่พูดเรื่องนี้เท่านั้น
รัฐหลังสมัยใหม่ หรือรัฐสมัยใหม่ที่เติบโตจนมีวุฒิภาวะยิ่งไปกว่านั้น จะเหมือนกับรัฐสมัยใหม่ช่วงแรกอย่างหนึ่งก็คือ องค์อธิปัตย์เป็นนามธรรม
Foucault เรียกรัฐแบบหลังสมัยใหม่ หรือรัฐที่มีวุฒิภาวะขนาดนี้ว่าเป็น sovereign without head หรือก็คือเป็น... ผมไม่แปล เดี๋ยวยุ่ง
เขาพูดถึงว่า รัฐไม่เป็น personal อีกต่อไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราคิดอีกต่อไปแล้ว
ไม่ต้องมีระบบราชการแบบมีเทคโนโลยี แบบแทรกซึม หรือระบบที่เข้าไปยุ่มย่ามชีวิตคนด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าหน่วยของอำนาจอยู่ในกลุ่มองค์กรของประชาชนกันเอง
ความแตกต่างระหว่างรัฐชนิดนี้ รัฐที่วุฒิภาวะสูงขึ้นไปอีก หรือบางคนเรียกว่ารัฐหลังสมัยใหม่ ต่างจากรัฐสมัยใหม่ตรงที่ว่า รัฐสมัยใหม่ในระยะแรก มักยังมีจุดหมายคล้ายกับรัฐโบราณก่อนหน้า นั่นคือการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ปกป้องทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน แก้ไขความขัดแย้งในสังคม เพื่อรักษาสถานะเดิมเอาไว้ รัฐทำหน้าที่เป็นลูกพี่ ผู้ใช้อำนาจให้ประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างสงบเรียบร้อย
แต่รัฐสมัยใหม่ที่มีวุฒิภาวะหรือรัฐหลังสมัยใหม่ มีจุดหมายต่างออกไป กล่าวคือ มีจุดหมายในการสร้างและหล่อหลอมประชากรให้มีผลิตภาพสูงที่สุด การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อสังคมพอจะอยู่กันได้โดยที่ไม่มีวิกฤติขนาดใหญ่แล้ว หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐแบบหลังสมัยใหม่ หรือที่มีวุฒิภาวะ คือการพยายามหล่อหลอมให้ประชาชนรู้จักทำตัวให้มีประโยชน์ในความหมายว่า มีศักยภาพในการมี productivity หรือมีผลิตภาพสูงสุด
เวลา Foucault พูดถึงรัฐควบคุมร่างกาย เขาไม่ใช่คนเดียวที่พูดถึงแนวคิดทำนองนี้ แต่ผมยกขึ้นมาให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า เขาเห็นว่ารัฐหลังสมัยใหม่หรือที่มีวุฒิภาวะ ใช้การควบคุมบงการร่างกายเป็นเครื่องมือ เป็นช่องทางในการสร้างประชากรที่มีผลิตภาพสูงที่สุด ตำรวจ ทหาร เป็นกลไกรักษาความสงบ ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งของระบบระเบียบสังคม แต่การควบคุมและสร้างกรอบ สร้างกลไกของความเป็นปกติของสังคมสมัยใหม่มาจากอำนาจย่อยๆ จำนวนมหาศาล ที่ใช้อำนาจโดยกลุ่มองค์กรทางสังคม โดยประชาสังคมกันเอง โดยประชาชนด้วยกันเองที่สมัครใจเป็นเจ้าของรัฐ เจ้าของสังคมมาตรฐานด้วยกัน ดังนั้นจึงลงมือใช้อำนาจควบคุมกันเอง โดยมีกลไกรัฐแบบเดิมๆ อย่างที่เรารู้จักกันคือ ตำรวจ ศาล ทหาร โรงเรียน เป็นเครื่องมือในขั้นสุดท้ายเท่านั้น
ตรงข้าม รัฐแบบที่มีวุฒิภาวะ หรือเป็นรัฐหลังสมัยใหม่ อำนาจในการควบคุมบงการกันเองนั้นมักจะมาจาก ทีวี สื่อมวลชน นักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ ผู้นำทางสังคม ราษฎรอาวุโส คนเหล่านี้เป็นกลไกของรัฐในสังคมชนิดนี้ทั้งสิ้น
การควบคุมบงการไม่ใช่แค่อาศัยกฎหมายเป็นกรอบที่จำกัดและห้ามละเมิด แต่อาศัยวัฒนธรรม อาศัยแบบแผนการใช้ชีวิต อาศัยการสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ว่า พฤติกรรมการใช้ความคิดการพูดการจาควรเป็นอย่างไร แล้วอาศัยเราๆ ท่านๆ สื่อมวลชน และผู้นำทางปัญญา เป็นผู้สร้างมาตรฐานกฎเกณฑ์ที่เราก็เชื่อตามๆ กัน แล้วก็ช่วยกันทำตัวเป็นตัวแทนของการสถาปนามาตรฐานกฎเกณฑ์เหล่านั้น พยายามและก็ไม่อยากให้คนรอบข้างเราละเมิด
กรณีที่ผมกำลังพูดถึงจึงต่างกับ George Orwell ใน ‘1984’ ตรงที่ว่า ผู้เฝ้ามองเราไม่ใช่ ‘big brother’ แต่เป็น ‘little brother’ ที่อยู่ทั่วทุกหัวระแหง
ประชากรใน ‘1984’ กลัว จึงสยบยอมกับ ‘big brother’ ประชากรในรัฐแบบที่มี ‘little brother’ ไม่ได้กลัว แต่ยินดีทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐในกลไกรัฐโดยสมัครใจ ยินดีปรีดา ปราโมทย์ในความจงรักภักดีต่อรัฐ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในความกลัว เว้นเสียแต่คนที่จะ self censor ตัวเอง เวลาไม่แน่ใจเวลาจะพูดหรือละเมิดกรอบที่มีอยู่ในสังคมรึไม่
แต่โดยปกติประชาชนส่วนใหญ่จะชื่นชมยินดีที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเบ็ดเสร็จที่กลไกรัฐไม่ต้องกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง เพราะประชาชนทำตัวเป็นส่วนหนึ่งกลไกรัฐในการสอดส่องควบคุมกันเองเรียบร้อยแล้ว
นี่ไง ‘มานุษยวิทยา’ เรื่องใหญ่ในสังคม ในมนุษย์ปกติ ชีวิตปกติในชีวิตประจำวันนี่แหละ
เราได้กลายมาทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐคนละไม่มากก็น้อยอยู่ตลอดเวลา
แล้วสังคมไทยจะอยู่ตรงไหนในแบบแผนหรือแนวโน้มทั่วไปอย่างที่ผมว่านี้..สังคมไทยอยู่ตรงไหน
ผมขออนุญาตไม่ตอบ … ผมเองก็ไม่ทราบ
ที่ว่ามาเมื่อครู่นี้เป็นเพียงแนวความคิดที่เป็นแบบแผน อย่าว่าแต่สังคมไทยเลย ทุกสังคมอาจจะมีลักษณะเหล่านั้นปนๆ กันอยู่ก็เป็นไปได้
เรายังเป็นสังคมโบราณที่มีองค์อธิปัตย์เป็น personal อยู่รึไม่ หรือเราเป็นสังคมสมัยใหม่ในระยะแรกที่อำนาจอยู่กับอมาตยาธิปไตย (bureaucratic polity) อยู่กับระบบราชการ หรือเราเป็นสังคมแบบ ‘1984’ ที่มีองค์อธิปัตย์ ที่เป็น personal เป็นมาเฟีย เป็น ‘big brother’ แถมมีเทคโนโลยีอย่างที่มีประสิทธิภาพอย่างมากหรือเราเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีวุฒิภาวะ เป็นสังคมหลังสมัยใหม่ ที่มีอำนาจการควบคุมบงการกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง โดยประชาชนด้วยกันเอง หรือเราเป็นอย่างละนิดอย่างละหน่อยของบรรดาสามสี่อย่างที่กล่าวมา
ส่วนจะผสมกันอย่างไรระหว่างคุณสมบัติต่างๆ ในกรอบทั่วๆ ไป ผมตอบไม่ได้ และผมไม่คิดจะตอบด้วย แต่ผมเสนอให้ฟังเพื่อให้ลองคิดเอาเอง
ผมไม่คิดว่าเราเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ mature สมมติว่า ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยเป็นกันอยู่ จนกระทั่งทำให้ผมและคุณต่าง self censor กันเยอะแยะเพราะกลัวคนรอบข้าง ผมก็ไม่คิดว่าเหตุที่สังคมไทยเป็นอย่างนี้เป็นเพราะเราเป็นสังคมหลังสมัยใหม่ หรือเป็นเพราะเราเป็นสมัยใหม่ที่ mature อย่างที่ Foucault ว่า ผมว่าไม่ใช่
ผมคิดว่าเรายังมีลักษณะของสังคมแบบรัฐก่อนสมัยใหม่กับแบบสมัยใหม่ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะพอในหลายแง่ ผมว่าเรายังเป็นรัฐเผด็จการ หรือใครจะเถียง ผมจะลองอธิบายว่า ทำไมสังคมไทยจึงมีปรากฏการณ์ที่ดูราวกับคล้ายสังคมที่มีวุฒิภาวะ คล้ายกับเป็นรัฐหลังสมัยใหม่ ทั้งที่สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่มีวุฒิภาวะหรือหลังสมัยใหม่
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องซึ่งเป็นประเด็นใหญ่สุดท้ายของวันนี้ ผมขอย้อนอีกครั้งหนึ่งว่า ความเข้าใจทั่วไปในหมู่นักวิชาการ หรือแอคติวิสต์ หรือเอ็นจีโอ คือมักจะเห็นว่าประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือแยกออกจากรัฐ
ความเข้าใจอันนี้มีที่มาจากแนวคิดที่อิงแอบกับประสบการณ์รัฐสมัยใหม่ของยุโรป ที่ผมต้องพูด เพราะบรรดาปัญญาชนสาธารณะฝ่ายประชาชนที่ชอบว่าผมว่า ตามฝรั่ง คนเหล่านั้นทำตัวรังเกียจฝรั่ง แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่เขาคิดว่า รัฐและประชาชนแยกจากกันนั่นต่างหากที่เป็นฐานมาจากประสบการณ์ฝรั่ง คนเหล่านั้นไม่รู้ตัวเองว่ากำลังคิดแบบฝรั่ง คนที่ชอบแอบอ้างความเป็นไทยทั้งหลาย ชอบกล่าวหาว่าคนอื่นตามฝรั่ง มักไม่ค่อยรู้ตัวเองอย่างนี้แหละ
ถ้าหากจะวิจารณ์และโต้แย้งกันว่า ใครรู้จักไม่รู้จักสังคมไทย ควรว่ากันตามเนื้อผ้า ผมคิดว่าเราท่านทุกคนฉลาดและโง่พอกัน เป็นไทยและเป็นฝรั่งไม่มากไม่น้อยกว่ากัน เหมือนๆกัน ผมไม่ได้วิเศษกว่าใคร ไม่มีใครวิเศษกว่าใคร ถ้าใครจะเถียงว่าตัวเองเป็นไทยนัก...... ไม่อธิบายดีกว่า
ประเด็นใหญ่สุดท้ายก็คือ จารีตของรัฐไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นอย่างไร แทนที่จะบอกว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะเป็นหลังสมัยใหม่ ผมกลับคิดว่าสภาวะที่สังคมไทยมีประชาชนคอยสอดส่องควบคุมดูแลกันเองนั้น ไม่ได้มาเพราะการที่เราเป็นสังคมหลังสมัยใหม่ แต่มาจากจารีตความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนแบบที่เป็นอยู่ในสังคมไทยมาแต่โบราณ บางอย่างยังขจัดไม่หมด หรือสังคมไทยไม่คิดจะขจัดด้วยซ้ำ และผมบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าสังคมไทยต้องการจะขจัดหรือไม่ และถ้าสังคมไทยไม่ต้องการจะขจัด ผมก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน เพราะสังคมก็คือสังคม มีวิวัฒนาการของตัวเอง
รัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตก คือผลผลิตของประสบการณ์สองสามร้อยปีของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลายอย่าง ทั้งความคิด ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ทางการเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิวัติศาสนา การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ผ่านการปฏิวัติ 3 อย่างในระหว่างศตวรรษที่ 15-19
กล่าวอย่างสั้นๆ รัฐอย่างที่เราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตะวันตกที่ว่ากลไกรัฐตรงข้ามกับประชาชน อยู่บนฐานของประสบการณ์โลกตะวันตก อยู่บนฐานของบริบทยุโรปตะวันตกที่ผ่านการปฏิวัติ 3 ประการ
สังคมอื่นนอกจากยุโรปตะวันตกในโลกนี้ ไม่มีสังคมใดอีกเลย แม้แต่ยุโรปตะวันออกที่ผ่านการปฏิวัติทั้ง 3 นี้
แต่ทว่าแทบทั้งโลกเปลี่ยนแปลงต่อมาจนกลายเป็นสมัยใหม่ก็ด้วยกระบวนการปะทะสังสรรค์ เลือก รับ ดัดแปลง อิทธิพลจากสังคมยุโรปตะวันตกที่ผ่านการปฏิวัติทั้ง 3 มา ที่สำคัญคือผ่านการตกเป็นอาณานิคมทั้งโดยตรง โดยอ้อม โดยการยึดครองและโดยระบบโลก
สังคมไทยสร้างรัฐสมัยใหม่ในปลายศตวรรษที่ 19 คือสมัยรัชกาลที่ 5 ท่ามกลางเงื่อนไขทางสังคมคนละชนิด คนละเรื่องคนละราวกับสังคมยุโรปตะวันตกศตวรรษที่ 15-19
สังคมไทยนำเอาโมเดลของระบบราชการมาปลูกในเนื้อดินของเราเอง อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพิ่งใช้คำนี้ ซึ่งแทบจะเหมือนกับรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงเขียนไว้ใน ‘พระบรมราชาภิบายว่าด้วยความสามัคคี’ เมื่อปี 1906 ก็คือ ‘ต้องทำสิ่งที่งอกในเนื้อดินของเราเอง’
ผมอยากจะบอกให้ว่า สิ่งที่งอกในเนื้อดินของเราเองนั้น ที่จริงก็เอาจากฝรั่งมางอกนั่นแหละ
จะเข้าใจรัฐไทยปัจจุบันได้ ต้องเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ไม่ได้แปลว่าต้องเข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ เพราะมันไม่มี แต่เข้าใจเงื่อนไขว่า สิ่งเหล่านั้นเติบโตมาในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ของเราเองอย่างไร จึงเป็นรากฐานสำคัญของรัฐในระหว่างนั้นและต่อมาจนถึงบัดนี้
ท่ามกลางเงื่อนไขรากฐานนานาประการ ผมขอเน้นเงื่อนไขเพียงแค่บางด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในวันนี้ นั่นก็คือ มีเงื่อนไขอะไรบ้างจึงทำให้ประชาชนไทย ทำตัวเป็นเอเยนต์ เป็นตัวแทนของรัฐอยู่บ่อยๆ
เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ สังคมไทย รัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ โดยชนชั้นนำสยาม เพื่อรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่รัฐาธิปัตย์เข้มข้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย การเสริมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่เพิ่งกล่าวนี้ ไม่ได้มากับการขุดรากถอนโคนระบบเก่า ไม่ได้มากับการขุดรากถอนโคนค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่าที่ค้ำจุนระบบก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงกลายเป็นการต่อตาต่อกิ่งออกจากต้นเดิม กลายพันธุ์กลายเป็นระบอบอำนาจเดิมที่ยังมีลักษณะวัฒนธรรมหลายอย่างเหมือนเดิมอยู่
ชนชั้นนำสยามฉลาดในการเลือกรับดัดแปลง รับส่วนดี ทิ้งส่วนเสีย แต่เป็นส่วนดีและส่วนเสียตามทรรศนะและผลประโยชน์ของชนชั้นนำสยามในสมัยนั้น
รัฐสมัยใหม่ของไทยจึงมีเชื้อมูลของความเป็นระบบความคิดและวัฒนธรรมเดิมๆ อยู่มากน้อย กลายมากกลายน้อยต่างๆ กัน ซึ่งยังรอการศึกษาอีกมาก
การศึกษาทั้งหลายที่พยายามบอกว่า เราเป็น ‘ไทย’ หรือ เราเป็น ‘ฝรั่ง’ เป็นไทยจึงดีและเลว ตามก้นฝรั่งจึงดีและเลว ผมคิดว่าหลงทางหมด เพราะเราไม่มีทางเป็นไทยหรือเป็นฝรั่งอย่างเต็มตัวอีกต่อไป ต่อให้อยากเป็นฝรั่งแทบตายหรืออยากจะเป็นใจจะขาดก็เป็นไม่ได้ ต่อให้อยากจะเป็นไทยเหมือนเดิมแทบตายใจจะขาดก็ไม่มีทางเป็นไปได้
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่ผสมผสานเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรายังเข้าใจไม่มากพอ
ผมเห็นว่ามีคุณสมบัติ 3 อย่างที่สืบทอดกลายพันธุ์มาจากความคิดวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิม ไม่ได้ถูกขจัดรากถอนโคน แล้วมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีผลมาถึงรัฐในชีวิตประจำวันของคนไทยปัจจุบัน
ผมกำลังจะเสนอ 3 อย่างต่อไปนี้ ว่าเป็นแกนหรือเป็นกระดูกสันหลัง หรือจะเรียกว่าเป็น ‘สเต็มเซล’ (stem cell เซลต้นกำเนิด) ของรัฐไทยแต่โบราณก็ได้ และยังอยู่ในดีเอ็นเอของรัฐไทยจนถึงปัจจุบัน การเป็นสเต็มเซลหรือเป็น ‘ดีเอ็นเอ’ เป็นอุปลักษณ์ที่ดี คือว่ามีการแตกลูกออกดอกออกพันธุ์เป็นเซลต่างๆ ไม่ได้คงอยู่เป็นรูปเดิม แต่ว่าเป็นเชื้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเป็นฐานของรัฐไทย
คุณสมบัติ 3 ประการที่เป็นสเต็มเซลหรือเป็นฐานของรัฐไทยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ได้แก่
1. คอนเซ็ปต์เรื่องแบบอำนาจจาก ‘บารมี’
2. ระเบียบสังคมที่ถือเอา ‘hierarchy of power’ (ลำดับชั้นของอำนาจ) เป็นแกนหลักของการจัดลำดับชั้นทางสังคม และ
3.ความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน หรือสังคมแบบ ‘organic’ อาจจะแปลว่าแบบ ‘ชีวภาพ’ หรือถ้าหากผมจะทะลึ่งหน่อยก็ขอแปลว่าแบบ ‘องค์รวม’
คอนเซ็ปต์เรื่อง ‘บารมี’ หมายความว่าอย่างไร เอาเข้าจริงผมเรียกแบบนี้ก็ไม่ถูก เพราะความคิดเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของสังคมไทยมีมาเก่าแก่ก่อนพุทธศาสนา แต่ขอเรียกแบบนี้ไปก่อน
อำนาจแบบสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยกันโดยเฉพาะที่เอามาจากฝรั่ง เป็นอำนาจที่ ‘impersonal’ มากับ office มากับตำแหน่งแห่งที่ตามกฎหมาย
แต่อำนาจแบบ ‘บารมี’ ผูกติดกับคุณสมบัติของตัวบุคคล ยังคงอยู่กับสังคมไทยตลอดเวลา นั่นหมายถึงว่าวิธีที่เราดีลกับอำนาจ มันไม่ใช่อำนาจแบบที่มาพร้อมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นอำนาจที่ผูกติดกับบุคคล อยู่กับคุณสมบัติของบุคคล อยู่กับคุณธรรม อยู่กับพลังหรือคุณสมบัติเชิงบุคคลบางอย่าง เป็นอำนาจแบบ ‘บารมี’ ไม่ใช่แบบฝรั่ง
เอาเป็นว่า เวลาเราคิดถึงอำนาจในการเมืองรัฐสมัยใหม่ เอาเข้าจริง เราคิดตามความเข้าใจเรื่อง ‘บารมี’ อยู่บ่อยๆ แต่เราไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันพวกเราก็สมัยใหม่พอที่จะไม่คิดแบบนั้นเช่นกันด้วย
บ่อยครั้งหรือตลอดเวลา ความคิดเรื่องอำนาจแบบฝรั่งหรือแบบสมัยใหม่จึงปะทะปะปนกับอำนาจแบบบารมี แบบผิดฝาผิดตัวกันเกือบหมด ความคาดหวังที่เรามีต่อพฤติกรรมทางการเมืองจึงลักลั่นปนเปกันอยู่ระหว่างอำนาจสองชนิด
ในระยะหนึ่ง นักวิชาการไทย รวมทั้งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พยายามอธิบายเรื่องอำนาจในสังคมไทยด้วย คอนเซ็ปต์ของคุณ Tamada คือแยกกันระหว่าง ‘อำนาจ’ กับ ‘อิทธิพล’ ว่าเป็นคนละประเภทกัน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าการพยายามเข้าใจแบบนี้เป็นการหลงทาง
ผมอยากจะแนะนำว่า ใครสนใจเรื่องอำนาจ ให้ศึกษาเรื่องบารมี ไม่ต้องแยกระหว่างอำนาจกับอิทธิพล ศึกษาว่า ‘บารมี’ แปลว่าอะไร บารมีมันทำงานยังไง อันนี้ตรงประเด็นกว่า และเป็นไทยกว่า
คุณสมบัติข้อที่ 2 ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ก็คือระเบียบสังคมที่ถือเอา ‘hierarchy of power’ เป็นแกนกลาง หรือระเบียบสังคมที่ถือเอา ‘ลำดับชั้นของบารมี’ เป็นแกนกลางในการจัดระเบียบทางสังคม
รัฐทุกยุคทุกสมัย คืออำนาจที่ปกป้องรักษาค้ำจุนระเบียบสังคมที่เชื่อว่าเป็นปกติซึ่งชนชั้นปกครองต้องการธำรงรักษา แต่ระเบียบสังคมที่รัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตกค้ำจุนรักษา เป็นระเบียบสังคมที่ผ่านการปฏิวัติศาสนา อุตสาหกรรม และประชาธิปไตยมาแล้ว กลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ไม่ไว้ใจให้ใครมีอำนาจเหนือตัวเอง และเริ่มเกิดปัจเจกชน กลายเป็นอะตอม กลายเป็นหน่วยย่อยที่สุดของระเบียบทางสังคม แต่ระเบียบสังคมอย่างที่พูดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ระเบียบสังคมไทยที่รัฐไทยค้ำจุนรักษาไม่ได้มีประวัติศาสตร์มาแบบเดียวกัน จึงกลับเป็นระเบียบสังคมแบบ hierarchy กลุ่มผลประโยชน์และปัจเจกชนที่เกิดขึ้นเป็นหน่วยทางการเมืองในระยะหลัง ดำรงอยู่ท่ามกลางระเบียบสังคมแบบลำดับชั้นที่ยังฝังรากลึกและไม่เคยถูกถอนรากถอนโคน
รัฐสมัยใหม่ในระยะแรกก็เป็นรัฐสมัยใหม่ที่ค้ำจุนระเบียบสังคมของ ‘ลำดับชั้นของบารมี’ อย่างที่กล่าวมา
พยายามจะสถาปนา หรือ institutionalize คือทำให้ระเบียบสังคมที่ถือลำดับชั้นของบารมีกลายเป็นสถาบันทางสังคม
‘ลำดับชั้นของบารมี’ หมายความว่าอะไร ผมใช้วิธียกตัวอย่าง และผมคิดว่า พวกเราทุกคนรู้จักเรื่องนี้ดี
hierarchy ของบารมีมีหลายประเภท เวลาเราพูดถึงคนมีบารมีก็มีปัจจัยหลายประการ แต่เราเรียกรวมๆ ได้ว่า ‘บารมี’ ทั้งนั้น เช่น เวลาจะประชุมเครือญาติจัดการกิจกรรมบางอย่างในครอบครัว อาวุโสมาทันทีเลย เพราะผู้อาวุโสเป็นผู้มีบารมี แต่ทันทีที่ออกนอกการประชุมของเครือญาติไปอยู่ในการประชุมศูนย์มานุษยวิทยา ความอาวุโสไม่ใช่จุดตัดสินบารมีเสมอไป อาจจะเป็นเครื่องแบบ อาจจะเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ อาจจะเป็นความอาวุโสของความเป็นนักวิชาการ แต่บารมีกลับไม่ได้ตัดสินกันด้วย ความอาวุโสหรืออายุ
เรารู้ทันทีว่า เรามีจุดหนึ่งมาตัดสินบารมี รู้ได้อย่างไร..ผมไม่ทราบ.. ซึ่งคุณอธิบายให้ฝรั่งฟังได้ยากมาก
บารมีมีปัจจัยหลายอย่างมาตัดสิน และสังคมไทยจัดลำดับชั้นของบารมีอยู่ตลอดเวลา
ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยกล่าวเอาไว้ใน ‘ลักษณะการปกครองสยามแต่โบราณ’ เมื่อปี 2470 ว่า คุณสมบัติ 3 ประการของสังคมไทย ก็คือ
1. ความรักเอกราช
2. ความปราศจากวิหิงสา
3. การรู้จักประสานประโยชน์
สิ่งที่พวกเราลืมก็คือ พระองค์ท่านได้ให้ภาษาอังกฤษเอาไว้หลัง 3 คำนี้ ภาษาอังกฤษของคำว่า ‘รู้จักประสานประโยชน์’ ที่พระองค์ท่านทรงนิพนธ์ไว้เองก็คือ power assimilation[1]
power assimilation แปลว่า ‘ประสานประโยชน์’ หรือ? หรือคุณจะบอกว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯภาษาอังกฤษห่วยมาก หรือเรากำลังจะบอกว่า เอาเข้าจริงพระองค์ท่านนึกถึงภาษาอังกฤษ แล้วย้อนกลับมาหาภาษาไทยที่ฟังดูแล้วรื่นหู จึงใช้คำว่าประสานประโยชน์ ทั้งที่สิ่งพระองค์ท่านต้องการจะบอกเกี่ยวกับคุณสมบัติสังคมไทยก็คือ รู้จัก power assimilation ซึ่งผมอยากจะตีความว่า คำๆ นี้เอาเข้าจริง หมายถึงการรู้จักลำดับชั้น รู้จักที่ต่ำที่สูงของบารมีนั่นเอง
คุณสมบัติประการที่ 3 ของสังคมไทยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน แบบที่ประชาชนยินดีที่จะทำตัวเป็นตัวแทนของรัฐอยู่ตลอดเวลาก็คือ เราเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม หรือระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นแบบ ‘organic’ เป็นแบบชีวภาพ
เราได้ยินบ่อยๆ “คนเราต่างกัน นิ้วห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลย ขอให้แต่ละคนรู้ว่าทำหน้าของตัวเองให้เหมาะสม เราก็จะผสานกันเป็นสังคมที่มีความปกติสุข นี่คือความคิดเรื่องสังคมอยู่ร่วมกันแบบ organic คือแต่ละคนรู้ตำแหน่งแห่งที่ รู้ที่ต่ำที่สูง ทำของตัวเองให้ดี แล้วมือหนึ่งมือที่มีห้านิ้วก็จะทำงานไปด้วยกันได้เป็นปกติ เปรียบได้กับร่างกาย ซึ่งมีอวัยวะเยอะแยะไม่เหมือนกัน แต่ต่อเมื่ออวัยวะต่างๆ เหล่านั้น ต่างหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ชีวิตก็จะเป็นปกติ”
ความเชื่อแบบนี้เชื่อว่า สังคมก็เหมือนกับชีวภาพ แล้วชีวภาพที่จะมีสุขภาพดี คือเป็นชีวภาพที่องค์รวมต่างๆ สอดคล้องกัน หมายความว่า เราเชื่อว่าทั้งรัฐ คนมีอำนาจ ทั้งประชาชนส่วนต่างๆ ต่างมีตำแหน่งแห่งที่ของตนในองค์รวมชีวภาพ สำหรับยุคปัจจุบันประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว ‘องค์รวม’ นี้ เราเรียกว่า ‘ชาติ’ แต่ก่อนหน้านั้นที่จะมี ‘ชาติ’ ความคิดเรื่องสังคมเป็นองค์รวมก็มีมานานแล้ว แต่ตอนนั้นไม่เรียกว่าชาติ
ความคิดที่ว่าสังคมเป็น organic คือความคิดที่ว่า ‘ชาติ’ ประกอบด้วยคนหลายๆ ส่วน ถ้าต่างคนต่างรู้จักหน้าที่ตัวเอง คนมีอำนาจรู้จักหน้าที่ตัวเอง ทำตัวมีคุณธรรม อย่าไปขายหุ้นแล้วไม่จ่ายภาษี หรือประชาชนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองให้ดี สังคมก็จะอยู่กันอย่างเป็นสุข
นั่นหมายความว่า เชื่อว่าสังคมจะสมบูรณ์มีความสุขดีก็ต่อเมื่อประสานกลมกลืนกันดี การประสานกลมกลืนกันดี ตัดสินกันตรงที่รู้จักทำหน้าที่ตามตำแหน่งแห่งที่หรือองคาพยพที่ตนเองเป็น
ทรรศนะนี้ฟังดูดีและคุ้นมาก ทรรศนะนี้มีอยู่อย่างเข้มแข็งในสังคมไทย นี่ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย หลายสังคมเป็นอย่างนี้ แต่สังคมไทยมีลักษณะอย่างนี้เข้มแข็งมาก รวมทั้ง ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ที่เป็นผู้นำทางความคิดของฝ่ายประชาชนก็เผยแพร่ทรรศนะทางสังคมแบบนี้ตลอดเวลา
อย่าลืม! คนเป็น ‘หมอ’ ต้องคิดแบบนี้
ความสัมพันธ์แบบ organic เป็นทรรศนะหลักอันหนึ่งในโลก ไม่ใช่แค่ของสังคมไทย ไม่ใช่แค่เอเชีย
แต่ผมอยากฝากไว้ว่า ระบบฟาสซิสต์ และนาซี อยู่บนทรรศนะสังคมในแบบ organic นี้
เวลาเรามองสังคมเป็น organic จึงเห็นความแตกต่างของชนชั้น และผลประโยชน์ต่างๆ ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างพลังต่างๆ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นแค่ความต่างที่แต่ละส่วนมีบทบาทหน้าที่เพื่อความสมบูรณ์ขององค์รวม
แทนที่จะมองว่า ความแตกต่างเหล่านั้นคือความขัดแย้ง แทนที่จะมองว่าสังคมเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน และหลายจุดประนีประนอมกันไม่ได้ แทนที่จะมองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่ผลักดันสังคมไปข้างหน้าซึ่งต้องการสถาบันทางการเมืองมาจัดการความขัดแย้งนั้น เช่น การเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตย เรากลับมองว่าการประสานกันให้ได้ลงตัวต่างหากคือความจำเป็นเพื่อรักษาระเบียบสังคมไว้
ความขัดแย้งที่ลงรากลึกรุนแรงแก้ไม่ตก เรามักเรียกว่าเป็นอันตรายต่อสังคม แทนที่จะมองว่าความขัดแย้งชนิดนั้นเป็นสิ่งปกติในสังคม
แทนที่จะมองว่ารัฐเป็นตัวแทนผลประโยชน์หนึ่งของความขัดแย้ง หรือมองว่ารัฐเป็นกรรมการเพื่อแก้ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เป็นผู้ตัดสินเรื่องนโยบายที่เหมาะ ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งย่อมต้องอยู่กับความขัดแย้ง ไม่ใช่ขจัดความขัดแย้ง เพราะเป็นไปไม่ได้ เรากลับมองว่ารัฐเป็น ‘หัว’ เป็น ‘ผู้นำ’ ขององคาพยพที่ต้องสอดคล้องสมานฉันท์กัน และก็มองว่า ผู้ใช้อำนาจจึงต้องทรงคุณธรรม เป็นที่ยอมรับขององคาพยพต่างๆ
วัฒนธรรมทางการเมืองที่อยู่บนฐานของสังคมแบบ organic เพื่อค้ำจุน hierarchy หรือค้ำจุนลำดับชั้นของบารมี จึงคาดหวังประชาชนที่รู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตน ประชาชนที่สมควรจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งขององค์รวม เป็นอวัยวะของชีวภาพที่ควรรู้จักทำตัวให้ดี ไม่ใช่มองว่าประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งของการใช้อำนาจ
สังคม organic สังคมแบบชีวภาพ เพื่อรักษาลำดับชั้นของบารมี จึงเน้นการรู้จักประสานประโยชน์ อย่างที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระองค์ท่านได้กล่าวไว้
ภายในรัฐแบบนี้ ภายใต้ทรรศนะเรื่องรัฐประชาชนแบบนี้ ประชาชนจึงยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ประชาชนจึงสมัครใจที่จะทำตัวเป็นเอเยนต์หรือตัวแทนของรัฐเสียเอง ร่วมด้วยช่วยกันใช้อำนาจบังคับคนอื่น เพื่อรักษาระเบียบสังคมที่อวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสงบราบคาบและเรียบร้อย
ผมเห็นว่านี่คือภูมิหลังและเงื่อนไขของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในสังคมไทยภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ภายใต้การนำของผู้มีบารมีนำรัฐ นำสังคม นำชาติ ทั้งที่อยู่ใน อยู่นอก อยู่เหนือ อยู่ใต้ และไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ
ประชาชนไม่ว่าที่ไหนก็กลัวอาญาหลวงทั้งนั้น แต่ประชาชนจัดความสัมพันธ์ของตัวเองกับอาญาหลวงอย่างไรต่างหาก ประชาชนไทยจัดความสัมพันธ์ของตัวเองกับอาญาหลวงด้วยการทำตัวให้สอดคล้อง เป็นส่วนหนึ่งของชีวภาพ อาญาหลวงจะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนกับเรา
เราไม่ได้เชื่อว่า รัฐเป็นผู้กดขี่ เราไม่ชอบรัฐ แต่ถึงที่สุดสังคมโดยรวมก็คิดว่า ถ้าเขาดี เราก็ยินดีร่วมมือ
ประชาชนไทยจึงยินดีทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐในแง่แบบนี้
ทั้งหมดที่กล่าวมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า เวลาเราคิดถึงรัฐว่าเป็นกลไกการใช้อำนาจบังคับประชาชน ประชาชนคือคู่ขัดแย้ง นั่นคือเรายึดกับทฤษฎีฝรั่ง แต่ลึกๆ สังคมไทยในแง่นั้นเป็นความเป็นจริงทางสังคม (sociological fact) เป็นความคิดของคนที่รู้ดีมีการศึกษา เช่น พวกบรรดานักวิชาการ หรือเอ็นจีโอทั้งหลาย แต่กล่าวในแง่ คอนเซ็ปต์หลักที่อยู่ครอบงำในสังคมไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมคิดว่าสังคมไทยเชื่อและคิดอยู่ตลอดว่า เราเป็นสังคม organic และยอมรับที่จะ ‘รู้จักประสานประโยชน์’ ซึ่งผมอยากจะแปลอีกอย่างว่า ‘รู้จักลำดับชั้นของบารมี’
ภายใต้ concept ว่าด้วยอำนาจแบบบารมี ภายใต้ระเบียบสังคมที่เน้นลำดับชั้นของบารมี และความสัมพันธ์รัฐกับสังคมแบบชีวภาพ ประชาชนจึงเป็นเอเยนต์ของรัฐ
แต่ทว่าที่สุด สังคมหนึ่งๆ เอาเข้าจริงหนีไม่พ้นความขัดแย้งที่ไม่มีทางลงรอยกันได้
สังคมหนึ่งๆ รวมทั้งสังคมไทยด้วย ไม่มีทางหนีพ้นการที่จะกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนคอนเซ็ปต์แบบเดิมๆ ดำรงอยู่ต่อไป แต่จะถูกปะทะขัดแย้งกับความเป็นอื่นที่ละเมิดคอนเซ็ปต์ที่เราคุ้นเคยกัน
การปะทะระหว่างคอนเซ็ปต์ที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง กับความเป็นจริงที่ไม่มีวันหยุดยั้ง จะดำรงอยู่ต่อไป
ถ้าหากเราอยากจะศึกษาเรื่องรัฐในชีวิตประจำวัน ผมอยากฝากว่า ลองเพ่งมองดูการปะทะกันระหว่างความคิดของสังคมแบบเดิมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เดินหน้าไปไม่หยุดยั้ง เราอาจจะเห็นอะไรดีๆ เกี่ยวกับเรื่องรัฐในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น
[1] ขอบคุณอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่ชี้ให้เห็นปัญหาของคำนี้ การตีความเป็นของผมเอง
ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7752&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550
‘เสื้อเหลือง’ กับ อนาคตของการศึกษาเรื่อง ‘รัฐ’
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 1:00 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น