วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ถ้าคนไทยแยก "สถาบันกษัตริย์" กับ "องค์กษัตริย์" ออกจากกันอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ว่า . . .


ในบทความล่าสุดในมติชนรายวัน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้หยิบบางประเด็นที่ไม่เกี่ยวโดยตรง จากบทความหนึ่งของบวรศักดิ์ อุวรรโณ มาอภิปราย ในทีนี้ ผมหยิบประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวโดยตรงจากบทความของนิธิ มาอภิปราย กล่าวคือ ข้อเสนอของนิธิ ที่ว่า เราต้องแยก (หรือ "ไม่สับสน") ระหว่าง องค์พระมหากษัตริย์ กับ สถาบันพระมหากษัตริย์ความจริง เมื่อประมาณ ปี ๒ ปีก่อน ในบทความชิ้นหนึ่ง ในศิลปวัฒนธรรม (เกี่ยวกับการประหารด้วยท่อนจันทร์) นิธิ เคยเสนอไอเดียนี้มาแล้วว่า คนไทยตั้งแต่โบราณแยก ความเป็น สถาบันพระมหากษัตริย์ กับ องค์พระมหากษัตริย์ ออกจากกัน ครั้งนั้น ผมเคยคิดจะโต้แย้งมาแล้ว แต่ไม่ได้ทำ เมื่อเห็นบทความนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า นิธิ ถือไอเดียนี้ ("สถาบัน" แยกจาก "บุคคล") เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่าผิดอย่างมาก ข้อโต้แย้งโดยตรงของผมอยู่ในข้อ (๕) ข้างล่าง ส่วน ๔ ข้อแรก เป็นเหมือน backgrounds ของเหตุผลโต้แย้ง ความจริง ผมเชื่อว่าข้อ (๕) นั้นยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และยากจะโต้แย้งได้ ใครที่ไม่อยากอ่าน ๔ ข้อแรก หรือรู้สึกอ่านไม่รู้เรื่อง สามารถข้ามไปอ่านข้อ (๕) ได้ ซึ่งผมเชื่อว่า สามารถมองเห็นได้ง่ายๆตรงๆ

(๑) ความจริง ทั้งในบทความศิลปวัฒนธรรม และบทความมติชนรายวันล่าสุดนี้ นิธิ เพียงแต่ยืนกราน (assertion) ว่า คนไทยแยก หรือควรแยก "สถาบัน" กับ "บุคคล" ในกรณี สถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่ได้ให้เหตุผลอภิปราย (argumentation) แต่อย่างใด ในบทความมติชน นั้น มีการอ้างรัฐธรรมนูญบางมาตรามา แต่ขอให้สังเกตว่า ตัวบทรัฐธรรมนูญที่อ้างมาจริงๆนั้น ไม่มีคำว่า "สถาบัน" อยู่เลย มีแต่คำว่า "พระมหากษัตริย์" นิธิ เพียงแต่ยืนกราน (ไม่อธิบายให้เหตุผล) ว่า ทำไม เราจึงควรตีความ การเขียนว่า "พระมหากษัตริย์" ว่าหมายถึง "สถาบัน" ไม่ใช่ "บุคคล"ในบทความศิลปวัฒนธรรม ก็เป็นการยืนกราน ไม่อภิปรายให้เหตุผลเช่นกัน

(๒) ไอเดียเรื่อง "สถาบัน" และ "บุคคล" นี้ ความจริงมาจากฝรั่งมากกว่าไทย แน่นอน เป็นไปได้ว่า ในระบบคิดของคนไทยแต่ไหนแต่ไร หรือในรัฐธรรมนูญไทยเอง (ซึ่งร่างในสมัยที่ความคิดฝรั่งปนกับความคิดไทยอย่างแยกจะแยกออกแล้ว) อาจจะมีการบรรยาย ถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง บางอย่าง กับ บางอย่าง ในลักษณะที่คล้าย กับการบรรยาย ในเชิง contrast ของฝรั่ง เรื่อง "สถาบัน" กับ "บุคคล" ก็ได้ (แต่การที่ไม่มี "วาทกรรม" แบบนี้โดยตรง ในภาษาไทยสมัยก่อน ก็มีความสำคัญเช่นกัน) แต่นั่น หมายความว่า ถ้าจะพูดว่า ไทยเราเคยเชื่อเรื่องการแยกแบบนี้ หรือ เชื่อแบบนี้ เมื่อมีการเขียนรัฐธรรมนูญ สิ่งที่นักวิชาการควรทำ ควรเป็นมากกว่าการยืนกรานอย่างเดียว

(๓) คำว่า "สถาบัน" และ "บุคคล" และไอเดีย เชิง contrast ระหว่าง ๒ คำนี้ อันที่จริง ไม่ใช่สิ่งที่เห็น "มีอยู่จริง" ในเชิงประจักษ์ (empirical) แน่นอนว่า ในทัศนะของความคิดแบบ Textualism (หรือที่บางคนอาจจะรู้จักในนามประเภท Postmodernism) คำอะไรทุกชนิด ก็ล้วนเป็น สิ่งที่ "ไม่มีอยู่จริง" (หรือ "โดยตรง") เชิงประจักษ์ทั้งสิ้น (คือจะเข้าถึงได้ ล้วนต้องผ่าน text อื่นอีก) แต่ผมเชื่อว่า แม้แต่นัก textualists ก็คงพอจะยอมรับได้ว่า มี "ระดับ" ของการที่เราพูดได้ว่า บางคำ มีลักษณะเชิง "เห็นๆ" มากกว่า คำอื่นๆ (หรือเป็น "นามธรรม" น้อยกว่าอื่นๆ) แต่เฉพาะในกรณีนี้ คือเรื่องของ "สถาบัน" และ "บุคคล" นี้ เห็นได้ชัดว่า เป็นเรื่องของ "นามธรรม" มากๆ เป็นเรื่องเชิง concept อย่างมาก เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ "เห็นๆ" ("self-evident", "self-revelatory", "self-explainatory") ใครจะยกไอเดียนี้ขึ้นมาอ้าง จะต้องอภิปรายให้เหตุผล หรือ "ก่อจินตภาพ" (conceptualisation) ของสิ่งนี้ ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆเฉยๆ ราวกับว่าเป็นอะไรบางอย่างที่ "เห็นๆ"

(๔) ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ในงานนิธิ โดยเฉพาะตามสื่อมวลชนต่างๆในหลายปีนี้ มีลักษณะการเสนออะไรโดยการยืนกราน แต่ไม่อภิปรายเหตุผลอย่างนี้บ่อย และการยืนกรานเหล่านั้น ถ้าผ่านการพิเคราะห์อภิปรายแล้ว จะพบว่า มีช่องโหว่ทางเหตุผล ทางตรรกะ ทางข้อมูล เต็มไปหมด (will not hold up to scrutiny) แต่คนอ่าน โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนจำนวนไม่น้อย กลับถือว่าเป็นงานที่มี "พลัง" ผมอยากเสนอว่า สิ่งที่เป็น "พลัง" ของงานนิธิ ความจริง ไม่ใช่ในแง่ คุณภาพของงาน แต่เป็นในแง่สะท้อน ยุคสมัย ที่ไม่สนใจเรื่องไอเดียต่างๆอย่างจริงจังมากกว่า แม้แต่ในหมู่ปัญญาชน

ผมขอเสนอด้วยว่า "พลัง" ของงานนิธิ ส่วนใหญ่ เป็น "พลัง" ของโวหาร (rhetoric) มากกว่าของการให้เหตุผล (rational argument) แต่ที่ทำให้คนรู้สึกว่ามี "พลัง" และเป็นที่นิยมนั้น เพราะ โวหารของนิธิ มีลักษณะ เป็นการผสมผสาน ของโวหาร ๓ แบบ ซึ่งหาได้ยากในนักเขียนคนอื่น คือ โวหารแบบ "สะใจ" (ผมขอแปลว่า playful หมายถึงพวก "เสียดสี" "ด่า" "อุปมาอุปมัย" ฯลฯ), โวหารแบบ "คงแก่เรียน" (learned) และโวหารแบบ "ถึงราก" (radical) ยากจะหานักเขียนคนไหนที่ผสมผสาน โวหาร ๓ แบบนี้ ไว้ในคนเดียวแบบนิธิ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ "ชาวบ้าน" (พวก "คอลัมนิสต์" แบบเดิมๆ) อย่างมากก็เพียงเขียนได้ "สะใจ" คือ มีคำเสียดสี ล้อเลียน "ลูกเล่น" ฯลฯ แต่มักจะไม่มีไอเดีย (หรือโวหารที่ชวนให้คิดว่ามีไอเดีย) อยู่ด้วย ขณะเดียวกัน นักวิชาการทั่วไป

แม้จะมีโวหารที่ชวนให้รู้สึกว่า "คงแก่เรียน" (learned) ก็ยากจะหาคนที่เขียนได้ "สะใจ" เป็นต้น โวหารแบบ radical ประเภท เชื่อมโยงปัญหาทุกอย่าง เข้ากับสิ่งที่เรียกว่า "โครงสร้าง" (นิธิไม่เคยอธิบายเหมือนกันว่า "โครงสร้าง" ที่นิธิใช้บ่อยๆนั้น มีลักษณะอย่างไรจริงๆ หรือ "โครงสร้าง" ใหม่ที่ ไม่ใช่อย่างทีว่า เป็น "โครงสร้าง" เดิมนั้น จะเป็นแบบใดได้จริงๆ . . คือเป็นเพียงโวหารนั่นเอง) ลักษณะผสมผสานระหว่างโวหาร ๓ แบบนี้ playful, learned, radical ไม่จำเป็นว่าอยู่ในงานชิ้นเดียว หรือแม้แต่สื่อแบบเดียว เช่น รายวันอาจจะมีเชิง playful มากกว่ารายสัปดาห์ - คือ "เคล็ดลับ" ความเป็นที่นิยมของนิธิ ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับ "ชาวบ้าน" ไปจนถึงระดับ "ด๊อกเตอร์" แต่ความจริง ในที่สุดแล้ว เป็นการสะท้อนความอ่อนแอด้านอุดมการณ์และภูมิปัญญาของยุคสมัยมากกว่าอย่างอื่น

(๕) ถ้าคนไทยแยก "สถาบัน" จาก "บุคคล" กรณีสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ หรือในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อย่างที่นิธิว่า เหตุใด จึงต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา ๘ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๒ ประมวลอาญา) ทำไมต้องมี "อุตสาหกรรมอาเศียรวาทสดุดี"?

เพื่อให้เข้าใจคำถามเชิงโต้แย้งนี้ชัดเจนขึ้น (ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง "ความปลอดภัย") ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบดังนี้ในประเทศฝรั่ง อย่างอเมริกา (หรืออื่นๆ) ไอเดียเรื่องการแยกระหว่าง ตัวประธานาธิบดี (precident) กับ "สถาบันประธานาธิบดี" (presidency) เป็นสิ่งที่ยอมรับทั่วไป ไม่มีใครห้ามการวิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วย โจมตี กระทั่งล้อเลียน ตัวประธานาธิบดี แต่อย่างใด (ใครที่ดูรายการตลกทีวีอเมริกัน จะเห็นว่า กรณี จอร์จ W บุช ล้อเลียนกันตรงๆว่า "งี่เง่า" ด้วยซ้ำ พูดจาไม่เป็นภาษา ต้องมีคนคอยบอกบท ฯลฯ ซึ่งดูท่าจะจริง)แน่นอน

บรรดาขบวนการอนุรักษนิยม มักจะแสดงความกังวลว่า การวิจารณ์ประธานาธิบดี ไม่แสดงความเคารพเช่นนี้ เป็นการทำให้เสื่อมเสียต่อ presidency แต่แม้แต่คนเหล่านี้เอง ก็ไม่มีใครคิดจะเสนอว่า ถ้าเช่นนั้น ต้องมีกฎหมายห้ามการวิจารณ์ตัวประธานาธิบดี ใครวิจารณ์ต้องถูกลงโทษ (หรือให้จับนักตลกที่ล้อเลียนแรงๆแบบนั้นเข้าคุกไป)ทำไม? คำตอบชัดเจน เพราะเขาแยก "บุคคล" กับ "สถาบัน" นั่นเอง (หรืออีกกรณีหนึ่งที่สำคัญมาก คือ Nixon ซึ่งเป็น a crook, a criminal สมัยนั้น ก็มีคนแสดงความวิตกว่า จะกระทบ presidency แต่จริงๆ ก็ไม่มีใครคิดว่า จะต้องห้ามการวิจารณ์โจมตี . . หรือกรณีคลินตัน ฯลฯ ฯลฯ ตัวอย่างแบนี้ยกได้ไม่มีหมด)เพราะแยก "บุคคล" กับ "สถาบัน" จึงสามารถวิจารณ์ ฯลฯ "บุคคล" ได้ . . กระทั่งเรียกร้องให้เปลี่ยนบุคคลนั้นได้ (และเปลี่ยนได้ในการเลือกตั้ง เป็นต้น)

ถ้ามีการแยกระหว่างบุคคลกับสถาบัน เหตุใดจึงต้องมีการยกย่องเชิดชูบุคคลในลักษณะนี้ ("อาเศียรวาทสดุดี")ไม่มีใครคิดว่าจะต้องเชิดชู ตัวประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

ความจริง ในประเทศไทย ในวงการเมือง ที่อาจกล่าวได้ว่ามีการแยก "บุคคล" กับ "สถาบัน" คือระดับ รัฐสภา กับนักการเมือง ขอให้นึกถึงกรณีที่รังสรรค์ชอบด่านักการเมืองบางคนด้วยคำประเภท "อัปรีย์" แน่นอนอาจจะมีคนเห็นว่า ด่าแบบนี้ หรือ การมีคนที่สมควรถูกด่าแบบนี้มากๆในสภา ก็ทำให้ "สถาบันรัฐสภา" เสื่อมเสีย แต่โดยทั่วไป เรา "โอเค" กับการด่าแบบนี้ เพราะเห็นว่า นั่นเป็นเรื่อง "ตัวบุคคล" ไม่เกี่ยวกับ "สถาบัน" การอนุญาตให้ด่าแบบนี้ได้ สะท้อนการแยกระหว่าง "บุคคล" กับ "สถาบัน"ในที่ที่ มีการแยกระหว่าง "สถาบัน" กับ "บุคคล" จะต้อง อนุญาตให้วิจารณ์หรือกระทั่งโจมตีบุคคลได้ เปลี่ยนบุคคลได้ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมีกระบวนการเชิดชู

เท่าที่พูดมา ผมยังจำกัดเฉพาะกรณีทางกฎหมายหรือวัฒนธรรม ("หมิ่นพระบรม" กับ "อาเศียรวาท") ความจริง ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากที่สะท้อนว่า เป็นสิ่งไม่เพียง meaningless เท่านั้น ยัง misleading ด้วยที่จะพูดถึงการแยกระหว่าง "สถาบัน" กับ "บุคคล" ในกรณีสถาบันกษัตริย์ไทย โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับ "ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์" เรื่องนี้ ผมอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลค้นคว้าวิจัยอยู่ จะไม่ขอลงไปในรายละเอียดในที่นี้ แต่อยากจะยกตัวอย่างเล็กๆ กรณีเดียว คือ

ในระหว่างการอภิปรายในสภา พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สิน ปี 2491 ซึ่งรัฐบาล royalist ประชาธิปัตย์ (ที่ขึ้นมาจากการโค่นปรีดี) เป็นผู้เสนอนั้น มีมาตราหนึ่ง ที่ระบุว่า ทรัพย์สิน "ส่วนพระองค์" คือ ทรัพย์สินที่ทรงได้มา ไม่ใช่ในฐานะพระมหากษัตริย์ (หรือในภาษากฎหมายจริงๆคือ "นอกจากที่ทรงได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์") มีสมาชิกสภาผู้หนึ่ง ตั้งข้อสงสัยอย่างตรงเป้าว่า สมมุติถ้าราษฎรคนหนึ่ง ถวายสิ่งของสักชิ้นหนึ่ง (เช่น ผ้าแพร) จะถือว่าเป็น "ส่วนพระองค์" หรือ "ส่วนพระมหากษัตริย์" นัยยะคือ ไม่มีใครถวาย "ส่วนพระองค์" จริงๆ (ในลักษณะ for Mister X เป็นต้น) ราษฎรถวายเพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงได้รับการนับถือ as such

(๖) ความจริง ในประวัติศาสตร์หลัง ๒๔๗๕ มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่เกือบจะเรียกได้ว่า มีการแยกทำนองคล้ายๆ "สถาบัน" กับ "บุคคล" อยู่ ในสมัยนั้น กิจการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ความจริง เป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี แม้แต่เรื่องอย่าง "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" ก็อยู่ในมือรัฐบาล (สำนักพระราชวัง ซึ่งอยู่ในบัญชาของนายกฯ เป็นผู้ดูแล ในส่วนที่เป็น "ส่วนพระมหากษัตริย์" ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตอนแรกอยู่ในกรมพระคลังข้างที่ สังกัดกระทรวงการคลัง ต่อมาเมื่อมีการตั้ง "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษ้ตริย์" สำนักงานนี้ก็เป็นเพียงกองหนึ่งในกรมคลัง กระทรวงการคลัง) แต่ปัจจุบัน ตามกฎหมายปี 2491 ของพวก royalist ประชาธิปัตย์ที่กล่าวข้างต้น "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" เป็นของ "ส่วนพระองค์" โดยสิ้นเชิง)

ในรายงานประชุมครม.ที่ผมอ่าน ในช่วงปีเหล่านี้ วาระแล้ววาระเล่าของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่เรื่องทรัพย์สิน (ส่วนพระองค์หรือไม่ส่วนพระองค์, การให้เงินปีบาทบริจาริกา เป็นต้น) ไปถึงเรื่อง "นักโทษฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษ" ไปถึง "ร่างพระราชดำรัส" ฯลฯ เป็นเรื่องที่ ครม.ตัดสินใจทั้งนั้น ผมใช้คำว่าภาวะนี้ "คล้าย" การแยก "สถาบัน" กับ "บุคคล" เพราะความจริงผมยังยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ขอไม่อภิปรายอย่างละเอียดในที่นี้ เพราะจะยาวมาก และนิธิเองไม่ใช่พูดเจาะจง ถึงกรณีนี้แต่อย่างใด (ความจริงไม่ใช่การ "แยก" แต่เป็นเรื่องการ "ไม่มี" มากกว่า องค์กษัตริย์อยู่เมืองนอก "สถาบัน" มีแต่ชื่อ แม้แต่คณะผู้สำเร็จราชการ ก็เป็นคนที่รัฐบาลคุม นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตว่า สมัยนั้นยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ คือ มาตรา ๑๐๔ ของประมวลอาญา เพียงแต่เป็นมาตราที่รวมการ "หมิ่น" ต่อ "รัฐบาล หรือราชการแผ่นดิน" ไว้ด้วย กรณีหลัง มีข้อยกเว้นว่า )

(๗) ประเด็นอื่นๆในบทความของนิธิ เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากไอเดีย ("แยกสถาบันกับบุคคล") ซึ่งไม่มีเหตุผลและข้อเท็จจริงรองรับ นี้หรือในบางกรณี เช่นที่เขียนว่า"ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์แนบแน่น [which is what?] อยู่กับประชาชน ก็เท่ากับว่าพระราชอำนาจตรงนี้เป็นอำนาจของประชาชนด้วย[?] พระราชอำนาจในมาตรานี้จึงช่วยเสริมบทบาทและอำนาจของประชาชน[?]ในการตรวจสอบทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ"หรือ"แต่พระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันกำลังทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น คือถ่วงดุลอำนาจของรัฐสภาโดยอาศัยประสบการณ์ทางการเมืองการปกครอง ที่สั่งสมมานานกับสถาบัน. . ." (such as the experience of รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร?)

ต้องนับว่าไม่มีความเป็นประวัติศาสตร์เลย (แม้จะเขียนโดย "ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์") เสียจนผมคิดว่าเป็นการฟุ้งซ่านไม่คู่ควรให้อภิปรายแต่อย่างใด

สำหรับนักวิชาการที่ยืนกรานว่าปัญหาทุกอย่างในสังคมไทยเป็นปัญหา "เชิงโครงสร้าง"ๆๆ อ่านบทความนี้แล้ว ชวนให้คิดว่า สงสัยไม่ใช่หมายถึง โครงสร้างของสังคม และของรัฐ แต่ โครงสร้างของศาลาวัดข้างหมู่บ้านมากกว่ากระมัง?

อันที่จริง บทความลักษณะนี้ พวก functionary ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เขียนได้ โดยไม่ต้องได้ค่าเรื่องแพงๆจากหนังสือพิมพ์ด้วย


บทความโดย : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อ : 7/01/2004

ที่มา : http://thaingo.org/webboard/view.php?id=1688

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พยายามอ่านแต่ยังไม่เห็น การอธิบายการโต้แย้งกรอบความคิดของ อ. นิธิ อย่างเป็นกระบวนการ เลื่อนลอยไร้จุดหมาย เหมือนผู้เขียนจะยังไม่เข้าใจความแตกต่าง ระหว่างตัวบุคคล และสถาบันอย่างถ่องแท้ด้วยซ้ำไม่เข้าใจความหมายของสถาบันในแง่เครือข่าย
และ ความหมายของตัวบุคคลของสัญลักษณ์กษัตริย์ในวัฒนธรรมไทย ในแต่ละสมัย การให้ความหมาย(แบบมีภาษาอังกฤษประกอบ)หรือยกตัวอย่าง ไอเดียเรื่อง สถาบัน และ บุคคล ของฝรั่งประกอบ ยกมาเพื่อโต้แย้งกรอบความคิดในมิติใด ไม่เห็นทั้ง จุดประสงค์ แนวความคิด และวิธีการที่ใช้โต้แย้ง บอกได้ว่าควรทำการบ้าน และหาข้อมูลอีกมากมาก เพราะอ่านแล้ว กระดูกคนละเบอร์จริงจริง