วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550

คำตาม ในบทความเรื่อง "ศึกษารัฐไทย : วิพากษ์ไทยศึกษา"


ศึกษารัฐไทย : วิพากษ์ไทยศึกษา

โดย เบเนดิคท์ อาร์. โอ จี. แอนเดอร์สัน
แปลโดย ดาริน อินททร์เหมือน
บรรณาธิการแปล มุกหอม วงษ์เทศ ในฟ้าเดียวกัน 1:3 http://www.sameskybooks.org/ssmagshow.php?id=3

อ่านบทความที่เป็น PDF ได้ที่นี่ : http://www.sameskybooks.org/upload/file/3-38aw_98-147.pdf

( เน้นคำ-ขีดเส้นใต้เป็นของผมเอง ( สหายสิกขา ) )


คำตาม

ในวงวิชาการไทยศึกษาทั้งในและต่างประเทศ งานวรรณกรรมปริทัศน์ (literature review) ขนาดยาวของอาจารย์ เบน แอนเดอร์สันชิ้นนี้ เป็นต้นธารของการศึกษารัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามและชาตินิยมราชการไทยทั้งหมด งานที่เกี่ยวกับรัฐ-ชาติไทยไม่ว่าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ ฯลฯ ล้วนได้รับอิทธิพลหรืออยู่ในกรอบครรลองมุมมองแนวคิดของงานแม่บทของอาจารย์ เบน แอนเดอร์สัน นี้ทั้งสิ้น

โดยตัวมันเอง นี่เป็นงานที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน คิดบัญชีรวบยอดอย่างกว้างขวางครอบคลุม ละเอียดพิสดารกับงานวิชาการที่ศึกษาเมืองไทย ในโลกภาษาอังกฤษเท่าที่มีมาถึงตอนนั้น (ค.ศ. 1979) ทั้งหมด การคิดบัญชีครั้งนี้มีลักษณะเป็นการวิพากษ์แบบกลับตาลปัตรถอนรากถอนโคน หรือลัทธิแก้ต่อบทสรุปหลักของงานเหล่านั้นทั้งสิ้น ข้อวิจารณ์คืองานเหล่านี้มีข้อมูลดีๆ น่าสนใจมาก แต่มักค้นพบแบบหนึ่ง ดันสรุปไปอีกแบบหนึ่ง โดยข้อสรุปเหล่านั้นล้วนตกอยู่ใต้กรอบการมองทางอุดมการณ์ หรือสวมแว่นทรรศนะของเจ้านายผู้เป็นชนชั้นปกครองไทยทั้งสิ้น

อาจารย์เบน แอนเดอร์สันเสนอข้อสมมุติสันนิษฐานอีกแบบ ที่ตรงข้ามกับเดิมอย่างสิ้นเชิงในการมองเมืองไทย และในกระบวนการแสดงข้อมูลหลักฐาน (ซึ่งก็ดึงเอามาจากงานศึกษาทั้งหลายที่เขาวิจารณ์นั่นเอง) บรรยายข้อถกเถียง สนับสนุนข้อสมมุติสันนิษฐานใหม่ของเขานั้น เขาได้นำเสนอมติใหม่ที่ท้าทายวงวิชาการไทยศึกษา แบบพลิกกลับถอนรากหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ :-

1) แยกชาติไทย/สถาบันกษัตริย์ ในการมองและศึกษาเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย ไม่เพียงแต่เป็นคนละสิ่งและมีผลประโยชน์ต่างกันเท่านั้น แต่ในหลายกรณีมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันด้วย

2) รัฐที่ราชวงศ์จักรีสร้างขึ้นสมัย ร.5 - ร.7 ไม่ใช่รัฐชาติสมัยใหม่ (modern nation-state) แต่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่สร้างความทันสมัยบางอย่าง บางระดับขึ้นมา (modernizing absolutist state) ขณะขัดขวางกีดกันความทันสมัยอย่างอื่นระดับอื่นไว้ การปรากฎขึ้นของรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ มิใช่การบรรลุความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของไทย ตรงกันข้าม รัฐนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ และการมาถึงของความเป็นชาติด้วยซ้ำไป

3) เปรียบกับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ฝรั่งในยุโรป รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามอายุสั้นเกินไปและอำนาจหยั่งรากไม่ลึกพอ มิได้เปลี่ยนสังคมไทยอย่างกว้างขวางทั่วถึงถึงรากพอ ทำให้ปฏิกิริยาตอบกลับในรูปการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น เป็นได้แค่กบฎลี้ลับครึ่งๆ กลางๆ ของระบบราชการซึ่งมีพลังพลวัตจำกัดมากในการเปลี่ยนรัฐและสังคมไทย มิใช่การปฏิวัติของมวลชนอย่างแท้จริง กล่าวคือมีมวลชนเข้าร่วมจำกัด และไม่อาจปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรัฐและสังคมไทย อย่างถอนรากถอนโคนได้

4) ลักษณะอันเป็นปัญหานานัปการของรัฐราชการไทย (bureucratic polity) ที่เรารู้ๆ กันอยู่ ก็เกิดจากสภาวะอิหลักอิเหลื่อของระยะผ่านยืดเยื้อเรื้อรัง จากรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ที่ตายไม่สนิทดีไปยังชาตินิยมของประชาชน ที่ยังไม่ทันเติบกล้านั่นเอง ในความหมายที่ว่า รัฐราชการเหมือนรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ ตรงมันเป็นรัฐที่ดำรงอยู่เพื่อผลประโยชน์ตัวรัฐเอง และผู้กุมอำนาจรัฐ ทว่าความต่างอยู่ตรงผู้ปกครอง ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์โดยตรงอีกต่อไป หากเป็นชนชั้นนำข้าราชการ

ดังนั้นอำนาจรัฐราชการจึงบกพร่องพิการความชอบธรรม ที่รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์เคยมีเคยได้ โดยอัตโมนัติจากความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์

ในทางกลับกัน หากจะแก้ปัญหาคามชอบธรรมพร่องพิการ โดยไม่กลับไปเป็นรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ ก็ต้องย้ายฐานความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ไปเป็นชาตินิยมของประชาชน แต่ถ้าทำดังนั้นก็หมายความว่า รัฐจะต้องเป็นของ ขึ้นต่อ และถูกควบคุมโดยประชาชาติ ดำรงอยู่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชาติด้วย ซึ่งขัดกับเนื้อแท้ และผลประโยชน์ของรัฐราชการและมิใช่สิ่งที่ชนชั้นนำข้าราชการจะยอมโดยง่าย สภาวะจึงลงเอยด้วยการที่รัฐราชการซึ่งพร่องพิการความชอบธรรม กับสถาบันกษัตริย์ซึ่งปราศจากอำนาจปกครองโดยตรง ดำรงอยู่ร่วมกันแบบ symbiosis ทางการเมือง โดยรัฐราชการยืมความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ ให้เป็นเสมือนเจว็ดหรือรูปเทพารักษ์ (Palladium) แก่อำนาจรัฐเพื่อตัวเองของตน ขณะกระแสชาติยมของประชาชนกลายเป็นทางออกที่ถูกทำหมัน กดปราบ และเลื่อนออกไปตลอดกาล

5) ภายใต้สภาพเงื่อนไขเช่นนี้ จึงเปิดทางให้รัฐราชการย้อนกลับไปเป็นรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ได้ง่ายๆ ดังกรณีเผด็จการ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วก็คือรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ หรือเผด็จการอาญาสิทธิ์ของทหารที่มีจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส กุมอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์เหนือกฎหมาย ขณะที่สถาบันกษัตริย์เล่นบทเป็นสถาบันศาสนานั่นเอง, และด้วยแรงหนุนช่วย ของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ-การทหาร และการลงทุนมหาศาลของอเมริกา บวกแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติอย่างจงใจ เผด็จการอาญาสิทธิ์ของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ก็ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมไทย ไปอย่างกว้างขวางทั่วถึงถึงรากจริงๆ ทำให้ชาวชนบทล้มละลายไร้ที่ดินอพยพเข้าเมือง เกิดชนชั้นใหม่ทั้งในเมืองและชนบท อันได้แก่ชนชั้นกลางระดับต่างๆ ในความหมายนี้ รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์จักรี สมัย ร.5 - ร.7 ทำไปไม่ถึง) ที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับทางการเมือง ที่มีลักษณะมวลชนอย่างรุนแรง นั่นคือการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อันเทียบได้กับ "การปฏิวัติ ค.ศ. 1789" ของไทย อันนับเป็นการปรากฎขึ้น ของขบวนการชาตินิยมของประชาชนไทยอย่างแท้จริง

6) บทสรุปสุดท้ายของอาจารย์เบน แอนเดอร์สันคือ "ปัญหาการเมืองที่แท้จริงของสยามแต่เดิมมา จึงเป็นและยังคงเป็นประเด็นนี้แน่แท้คือ ไม่มีการแตกหักอย่างเด็ดขาดจาก 'ระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์' อันหมายถึงการแตกหัก แบบที่ประชาชนลุกฮือเข้าร่วมและขับเคลื่อน ด้วยแนวคิดที่มุ่งเปลี่ยนสังคม อย่างขุดรากถอนโคนและลัทธิชาตินิยมของมวลชน"

คำถามที่น่าคิดคือ 24 ปีให้หลังถึงระบอบทักษิณแล้ว ปัญหาการเมืองของไทยข้างต้นนี้ แก้ตกหรือยัง? หรือยังไม่แก้? และถ้ายัง มันได้กลายตัวเปลี่ยนรูปการแสดงออกไปบ้างหรือไม่อย่างไร?


เกษียร เตชะพีระ

ฟ้าเดียวกัน ปีที่1 ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2546 , pp. 138 - 139


ถ้าตั้งต้นด้วยกรอบวิเคราะห์แบบนี้ แล้วใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจาก 19 กันยา 2549 การวิคราะห์ในข้อ 4 จะเปลี่ยนไปแล้วไหม? โอเค, รัฐราชการยังยืมความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ ให้เป็นเสมือนเจว็ดหรือรูปเทพารักษ์ (Palladium) แก่อำนาจรัฐเพื่อตัวเองของตน แต่คำถามคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐราชการและสถาบันกษัตริย์ยังเป็นไปในแบบ symbiosis อีกไหม? เอาเข้าจริงๆแล้ว ใครมีบทบาทในการนำใครกันแน่?

หรือมีอุดมการณ์ใหม่ ที่เข้ามาท้าทายและเป็นอันตรายต่ออุดมการณ์ที่ค้ำยัน รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ที่ตายไม่สนิทดี? จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 19 กันยา 49 (ที่มีการเตรียมการก่อนหน้าการปฏิบัติการนั้นเป็นเวลานาน)...


โดย : สหายสิกขา

ที่มา : http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=273

หมายเหตุ
จากข้อเขียนข้างต้นนี้ ผมได้ทำสำเนามาแต่ในบางส่วนจากกระทู้ที่ คุณสหายสิขา เขียนลงในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ( เจ้าน้อย ณ สยาม )

ไม่มีความคิดเห็น: