วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เจ้าพระยารามราฆพ และ เจ้าพระยาอนิรุทธเทวา


สองพี่น้องตระกูลพึ่งบุญ สืบเชื้อสายมาจาก พระองค์เจ้าไกรสอน พระโอรสองค์ที่33 ของ ร.1กับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ครั้งสุดท้ายทรงกรมเป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศ ถึงรัชกาลที่3 ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ด้วยข้อหา

1. รับสินบนในการตัดสินคดีความ รีดไถเงิน และยักยอกทรัพย์หลวง

2. มีความประพฤติผิดเพศ กับผู้ชายในวงละคร

3. ซ่องสุมกำลังเตรียมก่อการกบฏ

๑. เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดเล็ก และสมุหราชองครักษ์

๒. พระยาอนิรุธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา) อธิบดีกรมมหาดเล็ก

เป็นบุตรพระนมทัด ซึ่งเป็นพระนมของ ร.6 มีบุตรสาวอีกคน ชื่อ เชื้อ ภายหลังได้เป็น คุณท้าวอินทรสุริยา เป็นนางพนักงานพระภูษากับคุมห้องเครื่องต้น ทรงโปรดปรานให้ใกล้ชิดพระองค์ โดยเฉพาะเจ้าคุณรามฯ ถึงทรงเรียกว่าลูก และโปรดให้ร่วมโต๊ะเสวยทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดรัชกาล งานในหน้าที่เจ้าคุณรามฯคือ ปกครองข้าราชบริพารมหาดเล็กที่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด อำนวยความสะดวกแก่พระองค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ฝึกฝนโขนละครและการแสดงต่างๆที่ทรงโปรดและคอยอารักขา ส่วนหน้าที่ของเจ้าคุณอนิรุธฯคือราชการกรมมหาดเล็กและ”ต้องทำหน้าที่เป็นบาทบริจาริกาไปนอนออยู่ชิดห้องพระบรรทมเพื่อถวายอารักขาบุคคลทั้งสองเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุดและตลอดเวลา

แทบทุกพระฉายาลักษณ์ที่ไม่เป็นทางการและไม่ใช่พระรูปเดี่ยว จะมีเจ้าคุณรามฯปรากฏในรูปร่วมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ใด รู้พระทัยและจัดการให้ได้ตามพระราชประสงค์โดยที่ไม่ต้องรอให้มีพระบรมราชโองการ มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่เป็นพระราชดำริ พระองค์จึงรักใคร่มากมายมหาศาลเป็นพิเศษกว่าผู้ใดในแผ่นดินก็ว่าได้ อวยยศอวยตำแหน่งให้จนถึงขนาด พระราชทานทรัพย์สมบัติที่ดินบ้านช่องให้จนเกินหน้าเกินตาเจ้านายเจ้าคุณทั้งสองเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและความสำคัญในการพิจารณาอนุญาตให้หรือไม่ให้ผู้ใดได้เข้าเฝ้า ผู้ที่ต้องการเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลทั้งสองแล้ว ยากที่มีโอกาส

เรื่องราวอะไรที่ใครอยากให้สำเร็จ ถ้าได้ผ่านทางท่านเจ้าคุณแล้วเป็นอันแน่ใจได้ว่าจะสำเร็จตามความต้องการ เช่น ครั้งหนึ่ง มจ.ชัชวลิต เกษมสันต์ คนใกล้ชิดของเจ้าคุณรามฯ จะสมรสแต่ยังไม่มีวังเป็นส่วนตัว ไม่มีเงินปลูกใหม่ ไม่มีเงินซื้อเครื่องตกแต่งวัง เจ้าคุณรามฯนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลของพระราชทานเงินสองหมื่นบาท(สมัยนั้น) มีบาทบริจาฯคนหนึ่งคัดค้าน แต่เจ้าคุณรามฯ”กราบบังคมทูลปัดเป่าอุปสรรคนั้นให้พ้นไปจนได้รับพระราชทานตามประสงค์”

ขุนนาง เจ้านาย ข้าราชการคนใด แม้ขยัดขันแข็ง ฉลาดเฉลียว ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบรรดามหาดเล็กแล้ว ก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ข้างบนทั้งหมดผมไม่ได้เป็นคนพูด คนพูดคือ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) พอจะสิ้นรัชกาลก็ยังทรงห่วงมหาดเล็กของพระองค์ โดยเฉพาะเจ้าคุณทั้งสอง ทรงอุตส่าห์ดำรัสให้มอบเงินเบี้ยเลี้ยงบำนาญเท่านั้นเท่านี้ แม้หลังสวรรคตแล้ว พอถึงยุคเศรษฐกิจอับจนสมัยร.7 พระองค์ทรงเพิกเฉยกับเงินก้อนนี้ เพราะประเทศต้องประหยัดสุดชีวิต เจ้าคุณรามฯก็เลยเก็บความรู้สึกไว้จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านเจ้าคุณกับพวกเป็นโจทย์ยื่นฟ้องร้องต่อศาล ให้ร.7ชดใช้ด้วยเรื่องอันนี้ แต่ศาลท่านคงเห็นว่าเรื่องที่เกิดครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถือการตัดสินใจของพระมหากษัตริย์เป็นเด็ดขาด ในเมื่อตอนที่ร.6ออกกฎนี้มาด้วยฐานะกษัตริย์ ร.7ท่านก็เลิกกฎนี้ด้วยฐานะกษัตริย์เหมือนกัน ก็เลยยกฟ้องหลังจากนั้นเป็นไงต่อ ผมก็ไม่ค่อยรู้แล้ว ตอนตายก็ตายในเมืองไทยนี่แหละ ตอนแก่ยังเห็นไปถือหุ้นแบงค์กรุงเทพของเจ้าสัวชินอยู่นี่

เจ้าพระยารามราฆพ(ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นบุตรพระยาประสิทธิ์ศุภการ(ม.ร.ว.ละม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัด สำเร็จการศึกษาชั้นต้น ที่ร.ร.บพิตรพิมุข และถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่ออายุ 13ปีเศษ สมเด็จพระบรมฯได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯส่งไปศึกษาที่ร.ร.มหาดเล็กหลวง จนกระทั่งพ.ศ.2451จึงได้เข้ารับราชการในพระองค์ ตำแหน่งสำรองข้าราชการนายเวรขวา ทำหน้าที่ดูแลเครื่องเสวยและปฏิบัติราชกิจทั่วไป ต่อมาได้เลื่อนตำแห่งเป็นสมุหราชองครักษ์ เจ้าหน้าที่ตามเสด็จทุกแห่ง เรียกได้ว่าปฏิบัติหน้าที่ใกล้เชิดพระองค์มากกว่าผู้อื่น ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกีฬา ทรงละคร หรือกิจกรรม อื่นใด ท่านจะเข้าร่วมด้วยทุกคราวไป

ในชีวิตการรับราชการของเจ้าพระยารามราฆพดูจะรุ่งโรจน์เกินกว่าผู้อื่นใดในสมัยเดียวกัน ตำแหน่งที่ท่านผู้นี้ได้รับเมื่อรัชกาลที่หกขึ้นครองราชย์ คือ จางวางห้องที่พระบรรทม อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กในที่สุด งานในหน้าที่ท่านอาจสรุปได้ดังนี้

1 ปกครองข้าราชบริพารทั้งหมดที่ล้วนเป็นกรมขนาดใหญ่
2. อำนวยความสะดวกสบายทุกอย่างทำนองทนายหน้าหอ
3. ฝึกฝนเอาใจใส่วิชานาฏศิลป์ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมแสดงโขน ละคร
4. ถวายอารักขาความปลอดภัยในฐานะสมุหราชองครักษ์

นอกจากราชการโดยตรงในกรมมหาดเล็กแล้ว เจ้าคุณรามฯยังได้รับตำแหน่งอื่นอีก ได้แก่ ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้บัญชาการกรมมหรสพ ผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็นต้น นับว่าเป็นผู้ทีได้รับพระมหากรุณาธิคุณทั้งทางด้านการงานและเรื่องส่วนตัว ด้านการงาน นอกจากจะได้รับการเลื่อนยศ ตำแหน่ง ตลอดจนบรรดาศักดิ์เร็วกว่าคนหนุ่มที่รับราชการรุ่นเดียวกัน ยังเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลราชการต่างๆที่เนื่องด้วยราชการในพระองค์ อิทธิพลของเจ้าคุณรามฯเป็นที่ทราบกันที่ของหมู่ข้าราชการทั่วไป โดยตำแหน่งหน้าที่และความใกล้ชิด

ท่านผู้นี้มีสิทธิที่จะอนุญาตให้หรือไม่ให้ผู้ใดเข้าเฝ้าฯ ผู้ที่ต้องการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ถ้าไม้ได้รับความช่วยเหลือกจากเจ้าคุณทั้งสองแล้วก็ยากที่จะมีโอกาส ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลทั้งสองจะทำหน้าที่กรองเรื่องราวต่างๆก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูล เรื่องใดที่ผ่านบุคคลทั้งสองแล้วย่อมแน่ใจได้ว่าจะสำเร็จตามความประสงค์ ความเป็น”คนโปรด”ของพระเจ้าแผ่นดิน มิได้ทำให้เจ้าคุณรามฯเป็นที่ยำเกรงเฉพาะข้าราชการภายนอกเท่านั้น แม้แต่ข้าราชการกระทรวงวังที่มีอาวุโสมากกว่าก็ยังต้องเกรงใจ

ดังจะเห็นได้จากการใช้คำนำในการร่างหนังสือราชการ ซึ่งโดยปกติถ้ามียศสูงกว่าและตำแหน่งสูงกว่า ให้ใช้คำว่า”เรียนท่าน” แต่ถ้ามียศและตำแหน่งเท่ากันให้ใช้คำว่า”เรียน”เฉย ไม่ต้องมีคำว่าท่าน ระเบียบนี้ยกเว้นเฉพาะพระยาประสิทธิ์ศุภการ(ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยารามราฆพ)คนเดียวเป็นพิเศษ ให้ใช้คำว่า เรียนท่านพระยาประสิทธิ์ศุภการ(อันนี้ปรากฏในหนังสือคำสั่งกรมราชเลขาธิการไม่ปรากฏวันที่) ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการเอง ยังต้องขอคำปรึกษาเรื่อเกี่ยวกับหนังสือราชการต่างๆที่จะทูลเกล้าฯถวายเพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวได้ว่าอิทธิพลของเจ้าพระยารามฯนั้นครอบคลุมไปทั่วราชการแผ่นดิน
นอกจากจะได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยในด้านการงานแล้ว

รัชกาลที่หกยังโปรดเจ้าคุณรามฯเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย ทรงถือว่าเป็น”ศุภมิตร” และพระราชทานความเมตตาประดุจบิดาที่มีต่อบุตร ทรงเรียกว่า”ลูก”และโปรดให้ร่วมโต๊ะเสวยทั้งมื้อกลางวันและกลางคืนตลอดรัชกาล พระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้าคุณฯนั้น นอกจากจะพระราชทานยศศักดิ์ให้สูงเกินกว่ามหาดเล็กคนอื่นๆ ยังพระราชทานความสนิทสนมเป็นส่วนพระองค์ เช่น พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้เป็นที่ระลึกมากมาย แต่ละภาพจะมีลายพระราชหัตถ์แสดงพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ยิ่ง เช่น “ให้ไว้แก่เฟื้อผู้รับใช้ใกล้ตัว เป็นอุปถากมาหลายปีและมิได้กระทำให้เป็นที่ขุ่นเคืองขัดใจเลยแม้แต่น้อย” หรือในพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายคู่กับเจ้าพระยารามราฆพมีลายพระหัตถ์กำกับไว้ว่า”ให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นพยานแห่งความเสน่หา” นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราโชวาทอยู่เนืองๆ พระราชหัตถเลขาฉบับที่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ฉบับที่ทรงอวยพรวันเกิดของเจ้าคุณรามฯเมื่ออายุครบ 21 ปี

พระราชหัตถเลขาฉบับนี้มีถึงเจ้าคุณรามฯ เมื่อก่อนเกิดกบฏร.ศ.130 ประมาณ4เดือนเศษ ทรงเขียนที่พิษณุโลกเมื่อวันที่ 16ตุลาคม ร.ศ.130 ใจความในพระราชหัตถเลขาเป็นการยกย่องชมเชยเจ้าพระยารามราฆพ ในฐานะที่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดี ประพฤติตนเหมาะสมแก่กาลเทศะ สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงชุบเลี้ยง ทรงถือว่าเจ้าพระยารามฯ”เป็นอุปถากอันถูกใจหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก...เป็นคนหนุ่มที่อัศจรรย์ไม่เหมือนคนหนุ่มทั้งหลาย” เป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในโอวาทของพระองค์เปรียบประดุจบุตรเชื่อฟังและรักใคร่บิดา ตอนท้ายเป็นการพระราชทานพรวันเกิด พร้อมทั้งเงินทำขวัญ 100ชั่ง พระราชหัตถเลขาฉบับนี้เป็นที่สนใจของบรรดาทหาร ถึงขนาดคัดลอกสำเนาแจกจ่ายกัน

เนื้อหาของพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ทำให้กลุ่มนายทหารร.ศ.130ได้แสดงความกังขาในความเป็น“คนดี” “คนโปรด”ของเจ้าคุณรามฯ ดังที่ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง ได้เขียนข้อความในเชิงประชดประชันไว้ที่ส่วนบนของสำเนาพระราชหัตถเลขา ซึ่งเขาได้เก็บไว้ว่า “อ่านแล้วคิดให้ตลอดแล้วประพฤติตามดีไหม? เรื่องของเจ้าคุณฯที่ได้รับพระราชทานเงิน100ชั่ง นับเป็นหัวข้อในการสนทนาระหว่างกลุ่มทหาร พระราชปฏิบัติของรัชกาลที่หก ในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจแก่ทหารส่วนใหญ่ ต่างเห็นกันว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแต่กับมหาดเล็กซึ่งป็นเพียงคนรับใช้ใกล้ชิด ร่วมเล่นโขนละครเท่านี้ ในขณะที่ทหารซึ่งทำหน้าที่ เพื่อประเทศชาติกลับมิได้รับการเหลียวแลแต่ประการใด ดังที่ ร.ต.เจือได้กล่าวกับเพื่อนสมาชิกคนหนึ่งว่า “พวกเราทำการเหนื่อยแทบตายไม่เห็นได้อะไร อ้ายมันเต้นๆรำๆเท่านั้น ได้ตั้งร้อยชั่งพันชั่ง” สำหรับร.ต.เจือ ดูจะเป็นผู้ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อพระราชจริยาวัตรต่างๆมากเกินกว่าผู้ใด ในสมุดบันทึกส่วนตัวของนายทหารผู้นี้มีโน้ตคำถามที่เกี่ยวกับพระราชจริยาวัตรหลายเรื่อง เช่น

...พระเจ้าแผ่นดินรักคนใช้มากดีไหม...ให้เงินทีตั้ง100ชั่ง หมายความว่ากระไร พระเจ้าแผ่นดินเอาแต่เล่นโขน เอาเงินสร้างบ้านซื้อรถให้มหาดเล็กดีไหม...ทำไมพระราชาพระองค์นี้จึงโปรดมหาดเล็ก แต่ผู้หญิงไม่ชอบเลย...

หลักฐานฐานต่างๆดังกล่าวมานี้นับเป็นการแสดงถึงความรู้สึกเคลือบแคลงในความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่หกกับเจ้าพระยารามราฆพ หากแต่งสิ่งเหล่านี้ก็มิได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชจริยาวัตรแต่ประการใด เจ้าพระยารามราฆพยังคงได้รับความไว้วางพระทัย และมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นหลังเหตุการณ์ร.ศ.130 สองพี่น้องแห่งตระกูลพึ่งบุญ ณ อยุธยา ได้กว่าขึ้นสู่ความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่หก และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นผู้กว้างขาวและมีอิทธิพลในราชสำนัก อิทธิพลของเจ้าพระยารามราฆพนั้นมีมาก จนไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่หนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่หก ซึ่งได้ชื่อว่ามีเสรีภาพมากก็ยังไม่กล้าลงเรื่องราวของท่านผู้นี้ จวบจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการเขียนบทความโจมตีเจ้าพระยารามราฆพอย่างเปิดเผย ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของท่านผู้นี้ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการสวรรคตของรัชกาลที่หก

บทความที่ลงโจมตีเจ้าพระยารามราฆพอย่างรุนแรงที่สุด คือ บทความเรื่อง“ผู้มีบุญ”และ“จดหมายจากเรา”โดยผู้ใช้นามปากกาว่า“แว่นตาหินสิเมนต์” ได้กล่าวถึงความมั่งคั่งของเจ้าพระยารามราฆพว่าไม่มีผู้ใดเทียบ ทั้งยังมีอิทธิพลมาก แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไป ความสามารถของเจ้าพระยารามราฆพดูจะไม่มีคุณค่า ยศและตำแหน่งต่างๆ จึงควรจะเรียกคืนได้ บทความเกี่ยวกับเจ้าพระยารามราฆพปรากฏมากในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง(ธันวาคม2468)

เรื่องความไม่พอใจของพระบรมวงศานุวงศ์ คงเห็นได้จากความขัดแย้งของรัชกาลที่หกกับเจ้านายระดับสูงหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องระเบียบการพระศพพระราชวงศ์

แต่นี้ต่อไปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงรับเป็นพระธุระในการรักษาพระศพเจ้านายองค์ใดๆนอกจาที่เปนพระญาติสนิทโดยตรง เช่น สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี และพระราชโอรสธิดาในพระองค์เปนต้นไป ฉนั้นต่อไปเมื่อมีการสิ้นพระชนม์ลง กระทรวงวังฯจะมีน่าที่จัดแต่พระโกษฐ์ ชั้นรอง ฉัตร และภูษาโยงไปตั้งและแต่งตามประเพณีที่วัง จัดผ้าไตร และผ้าขาวสำหรับถวายทรงทอดสดัปกรณ์ในวันต้นวันเดียว และนิมนต์พระสำหรับสดัปกรณ์จำเพาะในวันต้นวันเดียวเท่านั้น ส่วนพระพิธีธรรมก็ดี กลองชนะ จ่าปี่ จ่ากลอง และแตรสังข์ก็ดี ถ้าเจ้าภาพปรารถนาให้มีก็ต้องเรียกเอาเงินค่าจ้างคนนั้นล่วงหน้า หาไม่อย่าจัดให้เลย เพราะพระจ้าอยู่หัว ไม่ยอมออกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกต่อไปแล้ว

ด้วยทรงเห็นว่า

...หากข้าพเจ้าต้องสละเงินส่วนตัวสำหรับบำรุงรักษาพระเกียรติยศแห่งเจ้านายทั้งรัชกาลที่๔และที่๕ ซึ่งยังมีจำนวนเหลืออยู่อีกเปนหลายพระองค์ทั้งต้องอุปถัมภ์บำรุงพระโอรสธิดาของเจ้านายนั้นที่มีองค์ละมากๆฉนั้นแล้ว บุตรภรรยาข้าพเจ้าเองจะมีอะไรกินเข้าไป...

เมื่อพิจารณาเหตุผลของเพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็น่าเห็นในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการจัดงานศพแต่ละครั้งในสมัยโบราณสิ้นเปลืองเงินทองเป็นจำนวนมาก ยิ่งพระศพหรือศพเจ้านายข้าราชการชั้นสูงยิ่งสิ้นเปลืองทรัพย์สินมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาพระเกียรติยศ โดยเฉพาะงานพระบรมศพจนชาวต่างประเทศออกปากว่า “ทำการพระบรมศพใหญ่เช่นนี้ ไม่มีประเทศใดๆที่จะได้ทำการเหมือนประเทศสยามนี้ไม่มีเลย” ทำให้พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ต้องเป็นหนี้ ซึ่งพรองค์ก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ คือทรงมีหนี้สินเป็นจำนวนไม่น้อยจากการจัดงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพระพันปีหลวง

แต่เมื่อพิจารณากลับถึงความรู้สึกของเจ้านายในพระราชวงศ์ ประกาศกระแสพระบรมราชโองการฉบับนี้ คงกระทบกระเทือนความรู้สึกของพระบรมวงศานุวงศ์บ้าง เนื่องจาก“การพระศพแต่ไรๆมาก็เคยเปนน่าที่จองพระจ้าแผ่นดิน” ในฐานะทรงเป็นกุลเชษฐ์ คือประมุขของพระราชวงศ์ และการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์แก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดที่กราบบังคมทูลขอพระองค์อย่างไม่มีขอบเขต จึงอาจทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงหมางพระทัยในพระองค์ที่เห็นข้าราชบริพารดีกว่าพระญาติพระวงศ์

ไม่เพียงแต่เจ้าคุณรามฯเท่านั้นที่เป็นที่ชิงชังของบุคคลภายนอกราชสำนักซึ่งรวมทั้งประชาชน ข้าราชการ หรือพระราชวงศ์เอง แต่รวมไปถึงบรรดามหาดเล็กทั้งหมดของพระองค์ด้วย มหาดเล็กของรัชกาลที่หก รับใช้ใกล้ชิดมากกว่ามหาดเล็กของรัชกาลที่ห้า สมัยรัชกาลที่ห้า จะทรงใช้มหาดเล็กแต่การฝ่ายหน้าเท่านั้น เมื่อเป็นการฝ่ายในจะทรงใช้ข้าราชบริพารผู้หญิง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม)

...มหาดเล็กทูลกระหม่อมท่านทรงใช้อย่างข้าราชการนอกๆ เพราะฉะนั้นใครมาเป็นเจ้าแผ่นดินก็พอจะใช้ต่อไปได้ โดยให้ทำหน้าที่อย่างที่เคยมา แต่มหาดเล็กฉันไม่เป็นเช่นนั้น มหาดเล็กฉันเหมือนทนายขุนนางมากกว่า เพราะฉันไม่ได้ใช้ผู้หญิงอย่างทูลกระหม่อม มหาดเล็กฉันจึงมีอยู่บางคน ซึ่งมีน่าที่รับใช้อย่างสนิทสนาม และเป็นของฉันแท้ๆ เหลือที่จะหวังได้ว่าจะนิยมบุคคลผู้อื่นยิ่งกว่าฉัน เหลือที่จะวังได้ว่าจะยอมปฏิบัติคนอื่นอย่างที่เขาปฏิบัติฉัน...

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไม่ทรงเข้ากับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงคุมราชการแผ่นดินได้ จึงย่อมจะหันไปหาขุนนางข้าราชการสามัญชนแทน อาศัยน้ำพระทัยที่กว้างขวางโปรดการพระราชทานตามคำกราบบังคมทูลขอเช่น พระเวชสันดร พระองค์ประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมในพระองค์ให้มีในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิด ข้าราชบริพารสามัญชนของพระองค์มีจำนวนมากมาย แต่ละคนได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ และทรัพย์สินจนมั่งคั่งร่ำรวยอย่างเห็นได้ชัด การพระราชทานอย่างไม่มีขอบเขตแก่ข้าราชสำนักของพระองค์มีอยู่ตลอดรัชสมัย จนเจ้านายเชื้อพระวงศ์เองต่างก็รู้สึก เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงกล่าวถึงหนี้สินของเพระองค์ที่ทรงกู้จากพระคลังข้างที่เพื่อนำไปใช้ลงทุนประกอบธุรกิจการค้าว่า

...จริงอยู่ เมื่อทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงวงศ์วรวรรณมีบุญขึ้นพักหนึ่งกว่าปี ถ้าฉันจะกระตือรือร้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอหายกันหรือแย้มพรายแก่ผู้สนับสนุนซึ่งประจบประแจงอยู่รอบข้าง อนันตโดยกุศลโลบาย หรือแม้แต่กระซิบบอกลูกก็คงล้างลุล่วงไปหมดแล้ว ฉันไม่อยากขอเหมือนเขาคุยขอกันรอบด้าน ให้เปนเยี่ยงไม่งาม มิใช่จะไม่อยากได้ แต่ลอายใจ...ทั้งส่วนตัวลูกๆก็ถูกฉันกำชับห้ามมิให้ขออไรเลย จนพากันบ่นในบัดนี้ว่า ถ้ารู้มิจัดฉลองคุณพ่อเสียเรียบร้อยหมดแล้วหรือ...

ทรงแต่งตั้งข้าราชบริพารใกล้ชิดของพระองค์ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆทางการเมืองแทนทีละเล็กละน้อยจนในตอนกลางและตอนปลายรัชกาล คณะเสนาบดีตลอดจนตำแหน่งสำคัญอื่นๆส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชบริพารสามัญชนที่ใกล้ชิดของพระองค์ ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทและความชำนาญในงานราชการมาแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงเช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงมีบทบาทร่วมด้วย ข้าราชสำนักที่ทรงโปรดปรานใกล้ชิด เช่น เจ้าพระยารามราฆพถูกเพ่งเล็งด้วยความไม่พอใจจากประชาชนทั่วไป และจากพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์มักจะทรงเพิกเฉยไม่นำพาและไม่ทรงเห็นด้วยกับคำกราบบังคมทูลทักท้วง หรือเสนอแนะใดๆที่มาจากพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งในด้านการคลังของประเทศ และในด้านการเมือง เช่น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิษณุโลกฯ เสนาธิการทหารทรงกราบบังคมทูลเตือนว่าภาพพจน์ของพระเจ้าแผ่นดินในสายตาประชาชนกำลังเปลี่ยนไปจากเดิม ประชาชนเริ่มมีทัศนะใหม่ และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วยกับพระบรมราโชบายหลายประการ

เวอร์จิเนีย ทอมป์สัน ได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือ Thailand the New Siam ว่า ความใกล้ชิดและพระเมตตากรุณาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อข้าราชบริพารของพระองค์กลายเป็นเครื่องมือในการแวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องของข้าราชบริพารและยังความเสียหายให้แก่ประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างกว้างขวาง สร้างความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการอื่นๆที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเลวจากข้าราชบริพารที่เพิ่งได้มีใหม่ๆเหล่านี้ ให้แพร่หลาย ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง ทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น และถูกล้อเลียนเยาะเย้ยตำหนิติเตียนทั่วไปในขณะนั้น ในด้านความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และมีแต่ข้าราชบริพารที่ประจบสอพลอ ข้าราชสำนักที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคือ กลุ่มมหาดเล็ก

ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงแต่งตั้งมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ให้ไปรับราชการแผ่นดิน บางครั้งจึงมีปัญหาเนื่องจากไม่รู้งานในความรับผิดชอบเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขอุปสรรค และวางนโยบายที่ดีได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าข้าราชบริพารของพระองค์“ถูกด่าถูกว่าอยู่ทุกวัน”เป็นที่เกลียดชังของประชาชน ทรงแน่พระทัยว่าหากสิ้นพระองค์แล้ว ข้าราชบริพารของพระองค์ต้องตกอยู่ในภาวะลำบาก แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เองก็คงไม่อยากจะเลี้ยงไว้ พระองค์จึงทรงฝากฝังข้าราชบริพารของพระองค์ไว้แก่เจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขม) ว่า

...ฉันขอให้เจ้าพระยายมราชช่วยอนุเคราะห์บ้างตามที่ควรจะกระทำได้ ไม่ใช่จะขอให้ช่วยเหลือในทางทุนทรัพย์ เพราะในส่วนทุนทรัพย์ ฉันจะได้คิดเตรียมไว้เผื่อมาทั้งหลายแล้ว ขอแต่ว่าให้ได้รับความอุดหนุนเพียงให้ได้มีอำนาจอันชอบธรรมเสมอพลเมืองไทยทั้งหลายเท่านั้น ขออย่าให้เขาต้องได้รับความลำบาก ฤาความข่มเหงเพราะเขาทั้งหลายมีความจงรักภักดีต่อฉันผู้เป็นเจ้านาย และเป็นมิตรของเขานั้นเลย ฉันรู้สึกว่าเจ้าพระยายมราชเป็นมิตรของฉันผู้๑ ซึ่งกล้าขอมาเช่นนี้ หวังใจว่าคอพอรับรองได้ เพื่อให้ฉันมีความเบาใจป้างเล็กน้อย...

ลางสังหรณ์ของพระองค์ ปรากฏเป็นความจริงทันทีภายหลังพระองค์เสด็จสววรคต คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ข้าราชบริพารที่เป็นคนโปรดปรานของสมเด็จพระเชษฐาธิราช ออกจากราชการเป็นสิ่งแรก


โดย. สุริยวรมัน

หมายเหตุ

๑. (เอกสารที่คุณสุริยวรมันมีนี่หายากมากนะครับ ขนาดบันทึกส่วนพระองค์เล่มที่ สนพ มติชนเอามาพิมพ์นี่อ่านแล้วยังอึ้ง ผมว่าเล่มสองหาไม่เจอแน่ เพราะคงถูกเก็บ หลายๆ เรื่องนี่ส่วนพระองค์มากๆ คิดว่าเล่มหลังอาจมีเรื่องพระวรกัญญา และเรื่องข้างในฝ่ายหญิงของท่านด้วยรัชกาลที่ 6 ท่านรักเจ้าคุณรามมาก เห็นได่ชัดจากคำพูดที่ท่านกล่าวถึงเจ้าคุณรามในบันทึกส่วนพระองค์ท่านแต่ท้ายที่สุดเจ้าคุณท่านก็ไม่เหลืออะไร )

๒. จากหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ไม่ทรงโปรดฝ่ายในเอามากๆ โดยเฉพาะในวันที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงสวรรคต ขอขอบคุณคุณสุริยวรมันที่เอื้อเฟื้อให้ได้อ่าน เหมือนอย่างเช่นที่คุณนิรนามกล่าวไว้เป็นเอกสารที่หาอ่านยาก ขนาดในหนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของ ม.จ.พูนพิศมัย อ่านแล้วยังต้องให้สงสัยต่อว่าเป็นใคร ทำอะไร เพราะเจอแต่จุดไข่ปลา อยากทราบว่าในหนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ฯ มีการกล่าวถึงท่านหนึ่งที่หวังจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยา และเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้พวกที่ได้รับมรดกช่วยการลดค่าใช้จ่ายที่หลวงจะต้องเป็นผู้ออกให้แต่ก็มีคำตอบจากเจ้าคุณยมราชว่าไม่สามารถลดได้ และได้มีการลดทอนเรื่องมรดกโดยที่รัชกาลที่ 7 ทรงตรัสว่ารัชกาลที่ 6 เป็นหนี้เยอะก็ต้องช่วยกันใช้ซึ่งนำมาสู่การฟ้องร้องหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากที่คุณกริชกล่าวว่าหนังสือประวัติต้นฯ มี 6 เล่ม นอกจากเล่มแรกแล้วไม่ทราบว่าเคยมีการพิมพ์ออกมาบ้างหรือเปล่า

๓. ที่มาของข้อเขียนข้างต้น เปนเมล์ที่ส่งมาจากเพื่อนผู้ไม่ได้พบกันมานานแสนนาน.. ( เจ้าน้อย ณ สยาม )

ไม่มีความคิดเห็น: