วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550

แกะรอย: สมเด็จพระนเรศวรมหาราช : จากตำนานสู่ ‘ความเป็นจริง’


กระแสพระนเรศวรฟีเวอร์ที่มาแรงมากอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราอยากแกะรอยเส้นทางการ ‘ปรากฏตัว’ ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของไทยพระองค์นี้ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรในความรับรู้ของคนไทยทั่วไป

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ อ. ทรงยศ แววหงษ์

พระประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยฉบับใดบ้าง

วีรกรรมของพระนเรศวรนั้นแต่ก่อนมีปรากฏอยู่ในพงศาวดารอย่างสั้นมาก เพิ่งมีการขยายความให้มากขึ้นในสมัย ร.3 นี้เอง แต่ตอนนั้น เรื่องราวของพระองค์ยังไปไม่ถึงผู้คนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ประวัติของพระนเรศวรเป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้นในสมัย ร.5 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างภาพชุดเรื่องสมเด็จพระนเรศวรขึ้นเป็นครั้งแรกจำนวน 94 ภาพ ซึ่งเป็นฝีมือการวาดของกลุ่มช่างหลวงหลายคน และยังมีการเขียนโคลงภาพพระราชพงศาวดารกำกับภาพด้วย 376 บท ก่อนจะนำไปแสดงที่ท้องสนามหลวงในงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายหลายพระองค์เมื่อปี 2430 และยังพิมพ์เป็นสมุดพระราชทานแจกด้วย การทำเป็นภาพและการเลือกจัดแสดงที่ท้องสนามหลวงแสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะให้เรื่องราวได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างแท้จริง

ความจริงรูปวาดในสมัย ร.5 นั้นไม่ใหญ่โตเท่าไรนัก แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญก็เพราะว่านั่นเป็นครั้งแรกที่พระนเรศวรปรากฏเป็น 'รูปร่าง' ชัดเจนแทนที่จะมีแต่ชื่ออยู่ในตำนาน ผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการ 'เห็น' นี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการที่สาธารณชนได้เห็นหน้าตาของกษัตริย์สยามเป็นครั้งแรกผ่านทางรูปถ่ายซึ่งเข้ามาในสมัย ร.4 ปรากฏการณ์ image popularization แบบนี้ทำเป็นครั้งแรกในสมัยควีนวิคตอเรีย รูปของควีนถูกใส่เข้าไปในแสตมป์ ธนบัตรและเหรียญสำหรับใช้กันทั่วไป ความจริงกลวิธีแบบนี้เคยถูกใช้มาแล้วในสมัยกรีกและโรมัน เช่น เหรียญรูปจูเลียสซีซ่าร์ ฯลฯ แต่มีลักษณะเป็นรูปในอุดมคติหรือชวนให้คิดไปทำนองนั้นมากกว่าจะทำให้เหมือนจริง

การถ่ายรูปเป็นสิ่งที่ ร.4 ทรงสนใจและ ร.5 ทรงสนใจอย่างที่สุด ร.4 ทรงฉายพระองค์เองและพระราชินีตลอดจนพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์ ส่วน ร.5 นั้น เราคงนึกกันออกว่าได้เห็นพระฉายาลักษณ์มากมายในอิริยาบถและรูปลักษณ์ต่างๆ (น่าสนใจที่คนจำนวนมากในปัจจุบันจำ image ของพระองค์ตอนนั่งทอดอาหารอยู่ข้างพระที่นั่งวิมานเมฆได้มากที่สุด)

ต่อมาในช่วงปลาย ร.7 ก็เกิดปรากฏการณ์การจารึกเรื่องราวของกษัตริย์ไว้ในวัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยโปรดให้วาดเรื่องราวของพระนเรศวรรวม 16 ภาพไว้ที่พระวิหารวัดสุวรรณดาราราม อยุธยาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2473 วัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญของราชวงศ์จักรีเพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยปลายอยุธยาโดยพระอักษรสุนทรซึ่งเป็นพระชนกของรัชกาลที่ 1 แต่เดิมวัดนี้ชื่อว่าวัดทอง เมื่อกลายเป็นวัดต้นราชสกุล จึงมีการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่โดยรวมชื่อฝ่ายพระชนก (ทองดี) และพระชนนี (ดาวเรือง) เข้าด้วยกันเป็นสุวรรณดาราราม

ภาพวาดที่วัดสุวรรณดารารามมีความสำคัญอย่างไรในสายตาของอาจารย์

ก่อนอื่น ผมขอเกริ่นถึงจารีตในการวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์หรือวิหารทั่วไปก่อน เรามักจะเห็นภาพวาดแบบอุดมคติ เช่น เทวดาหน้าไข่ปอก เกลี้ยงเกลาไร้ความรู้สึก ทุกคนหน้าตาเหมือนกันหมด และส่วนใหญ่จะบอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่นั่งเป็นองค์ประธานอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้า

เรื่องราวมักดำเนินจากทางซ้ายมือของพระประธาน โดยเน้นไปที่พุทธประวัติและทศชาติ โดยเฉพาะในชาติสุดท้ายที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ครบทุกบารมีจนชาตินี้มักเรียกกันว่า 'มหาชาติ'

ธรรมเนียมการวาดภาพพุทธประวัตินั้นจะเริ่มจากการที่พระอินทร์และชาวสวรรค์มาเฝ้าเพื่อทูลเชิญพระโพธิสัตว์ไปจุติเป็นพระพุทธเจ้า หลังจากนั้น ก็จะดำเนินเรื่องพุทธประวัติไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ประสูติไปจนออกผนวช-บำเพ็ญเพียรจนทรงตรัสรู้-แสดงธรรมเทศนา-เสด็จสู่มหาปรินิพพาน ในบรรดาเรื่องราวทั้งหมดนั้น ภาพที่สำคัญที่สุดคือภาพกองทัพ (ซึ่งมักจะเป็นทัพช้าง) ที่พญามารยกมาผจญพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตรัสรู้ที่เรียกกันว่าภาพมารผจญหรือมารวิชัย คือการได้ชัยชนะเหนือมารทั้งหลาย ซึ่งโดยปกติ ช่างจะวาดเต็มฝาผนังด้านตรงข้ามกับพระประธาน

เมื่อเราลองเทียบเคียงการลำดับภาพพุทธประวัติตามจารีตกับภาพจิตรกรรมที่วัดสุวรรณดาราม จะเห็นความใกล้เคียงกันอย่างมาก เริ่มต้นด้วยการที่พระสยามเทวาธิราชได้อัญเชิญพระศิวะลงมาจุติเป็นพระนเรศวร (มาจาก คำว่า 'นร' รวมกับ 'อิศวร' แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ทั้งปวง)-ทรงถูกนำไปเป็นตัวประกัน-ออกรบ-ประกาศ 'เอกราช' (คำที่ถูกใช้และฝังหัวเด็กทุกคน)-ทรงกระทำยุทธหัตถี-ปราบเขมร-แล้วจบลงด้วยการสวรรคต (การเดินทางกลับสู่สวรรค์)

กรมพระยาดำรงฯ ผู้เป็นแม่งานทรงให้เพิ่มตอนพระสยามเทวาธิราช (ทั้งๆ ที่พระสยามฯ เพิ่งถูกสร้างขึ้นในสมัย ร.4 นี้เอง!) ภารกิจสำคัญของการจุติลงมาเป็นพระนเรศวรของพระอิศวรคือการเอาชัยชนะเหนือพระยามาร และพระยามารในที่นี้ก็คือพระมหาอุปราชา จอมทัพใหญ่แห่งกองทัพพม่าดังปรากฏในภาพยุทธหัตถีซึ่งดูเผินๆ คล้ายกับภาพมารผจญมาก (เป็นกองทัพช้างเหมือนกันและยังกินพื้นที่เต็มฝาผนังในตำแหน่งเดียวกันด้วยคืออยู่ตรงข้ามพระประธานซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดตามจารีต) แสดงให้เห็นความตั้งใจของผู้ออกแบบว่าต้องการเทียบเคียงลำดับของภาพจิตรกรรมชุดนี้กับพุทธประวัติอย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ในพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรฉบับกรมพระยาดำรงฯ ยังเล่าถึงสมเด็จพระพนรัตน์ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ทูลขอชีวิตไพร่พลทหารที่ปล่อยให้พระนเรศวรสู้รบกับทหารพม่าเพียงลำพัง โดยกล่าวว่าการที่ช้างทรงวิ่งตะลุยไปข้างหน้าจนพระองค์ต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมศัตรูนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้เห็นกฤษดาภินิหารของพระองค์ เช่นเดียวกับชัยชนะของพระพุทธเจ้าต่อพระยามาร ถ้าหากชนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยศก็จะไม่เป็นมหัศจรรย์เหมือนที่มีชัยด้วยการทรงทำยุทธหัตถีโดยลำพังพระองค์เอง เมื่อพระนเรศวรได้ยินดังนั้น ก็ทรงปีติ เลิกพิโรธและไว้ชีวิตข้าราชการทั้งหมด

นี่ยิ่งเป็นการตอกย้ำความตั้งใจของกรมพระยาดำรงฯ ที่จะเปรียบฐานะอันสูงส่งของพระนเรศวรกับพระพุทธเจ้า และแสดงฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ทางการศึกของพระองค์

อีกเรื่องที่ผมว่าสำคัญก็คือนี่เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดว่ากษัตริย์ที่เป็นมนุษย์นั้นมีหน้าตาอย่างไร รวมถึงการวาดภาพผู้คนที่เห็นรายละเอียดรูปร่างหน้าตาที่สมจริงมากขึ้น ไม่เป็นหน้าหุ่นแบบเดียวกันหมดเหมือนแต่ก่อน ในบันทึกของฝรั่งเขียนไว้ว่าพระนเรศวรคือ The Black Prince กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงตีความว่าพระนเรศวรต้องเป็นคนผิวคล้ำ เป็นต้น องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ดูสามารถรู้ได้ทันทีว่าคนไหนในรูปคือพระนเรศวร

ที่น่าสนใจก็คือกรมพระยาดำรงฯ ทรงให้ความสำคัญกับการวาดภาพประวัติของพระนเรศวรที่วัดนี้มาก จะเห็นได้จากการที่ทรงติดตามกำกับรายละเอียดของภาพอย่างใกล้ชิดที่สุด เช่น ฉากตีไก่ ท่านจะกำหนดว่าพระนเรศในขณะนั้นอายุเท่าไร ควรแต่งตัวอย่างไร จุดที่ท่านยืน ตลอดไปจนถึงกิริยาท่าทาง แล้วให้ช่างวาดตามนั้น โดยรวมแล้ว ภาพวาดทั้งหมดจะมุ่งเน้นกิจกรรมของสมเด็จพระนเรศวรทางการทหารที่แสดงถึงการต่อสู้ที่เก่งกล้าจนได้รับชัยชนะต่อศัตรูทั้งหลาย

รายละเอียดที่ทำให้ภาพดูเหมือนจริงเหล่านี้ทำให้จิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันชุดนี้กลายเป็นต้นแบบในการผลิตซ้ำเมื่อมีการอ้างถึงพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรในสมัยต่อมา แม้แต่ตอนที่คนแห่ไหว้ลัทธิบูชาสมเด็จพระนเรศวรที่ต้องมีการถวายไก่ ไก่หน้าตาเป็นอย่างไร พันธุ์ไหน ก็ล้วนมาดูจากภาพจิตรกรรมชุดนี้กันทั้งนั้น

อาจารย์คิดว่าทำไมกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงให้ความสำคัญกับการวาดภาพชุดนี้มาก

บริบททางสังคมตอนนั้นคือปี 2473-2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียงปีเดียว ผมคิดว่าภาพความเสื่อมถอยของราชสำนักอาจเกิดขึ้นทั่วไปในขณะนั้น การสร้างภาพสมเด็จพระนเรศวรจึงอาจจะเกี่ยวข้องกับการสร้างกระแสกษัตริย์นิยม และนอกจากภาพเขียนที่นี่แล้ว ท่านยังทรงเขียนประวัติสมเด็จพระนเรศวรให้มีรายละเอียดเยอะมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย

ผมเชื่อว่าหลังเหตุการณ์ รศ.130 ในสมัย ร. 6 ที่มีกรณีขัดแย้งกันระหว่างมหาดเล็กกับทหาร ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์สืบเนื่องมาเรื่อยๆ ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสมัย ร.7 ก็มีหลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลค่อนข้างขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา บรรยากาศทางสังคมการเมืองในขณะนั้นจึงเป็นช่วงที่ 'เจ้า' กำลังถูกท้าทายจากพลังของชนกลุ่มใหม่คือชนชั้นกลางมากขึ้นทุกที

ดังนั้น การสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้จึงอาจจะเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะกอบกู้ image ของระบอบกษัตริย์ในช่วงนั้นในฐานะที่ท่านเป็นฝ่ายพระราชวงศ์ ต้องไม่ลืมว่า ร.6 มาพร้อมกับความเชื่อเรื่องกษัตริย์วีรบุรุษ ท่านทรงไปบวงสรวงอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่หนองสาหร่าย ดอนเจดีย์ ท่านสั่งให้หาเลยว่าตรงไหนคือเจดีย์ที่รำลึกยุทธหัตถี พอพบ ก็มีการเฉลิมฉลองใหญ่ ร.6 ทรงมีสปีชยืดยาวมาก สุดท้ายพระองค์ก็ทรงเปล่งเสียงว่าไชโย คำว่า 'ไชโย' ที่เราใช้กันทุกวันนี้นั้นเป็นคำที่ ร.6 ทรงสร้างขึ้นมาจากคำว่าชัยในภาษาสันสกฤต คนฮินดูจะกล่าวคำที่เป็นมงคลที่สุดคือคำว่าชัย ร.6 ท่านโปรดภาษาสันสกฤต ท่านจึงทรงประดิษฐ์คำนี้ขึ้น

อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับหนังเรื่องสมเด็จพระนเรศวรของท่านมุ้ย

แม้ภาพยนตร์เรื่องตำนานพระนเรศวรจะไม่ใช่ครั้งแรกของการอัพเดทภาพของพระนเรศวรให้มีตัวตนและสมจริงมากขึ้น (พิศาล อัครเศรณีเคยทำเรื่อง 'มหาราชดำ' มาแล้ว) แต่คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพระนเรศวรของท่านมุ้ยมีความสมจริงมากจนหลายคนพากันถกเถียงถึง 'ความสมจริง' ในหลายๆ ประเด็นเช่น พระนเรศวรมีคนรักไหม หากมีเธอคือใคร มีคนเดียวหรือหลายคน ปืนยาวจะยิงข้ามแม่น้ำสะโตงได้จริงไหมฯลฯ จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นข้อถกเถียงเรื่องความสมจริงทั้งสิ้น ผมคิดว่าหนังของท่านมุ้ยทำให้ 'ภาพ' ในมโนภาพของคนไทยเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรเป็นจริงเป็นจังและเป็น 'มาตรฐาน' เดียวกันมากขึ้น (เหมือนที่จิตรกรรมวัดสุวรรณฯ เคยทำหน้าที่และมีบทบาทในเรื่องนี้มาแล้ว) ต่อไปนี้ เวลาใครๆ คิดถึงพระนเรศวร หลายคนก็คงอดมีภาพพระเอกของเรื่องนี้แว่บขึ้นมาไม่ได้

แต่ในทางตรงกันข้าม การที่ท่านมุ้ยเลือกใช้คำว่า 'ตำนาน' ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้ตีความประวัติศาสตร์จากการค้นคว้าด้วยตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนในการตีความเช่นกัน เป็นครั้งแรกที่ผมคิดว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงถูกประชาพิจารณ์ และผมคิดว่านี่จะยิ่งทรงพลังกว่าตอนเป็นภาพจิตรกรรมนิ่งๆ เป็นไหนๆ

อาจารย์มีอะไรที่อยากฝากถึงคนอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ไหมคะ

ผมอยากให้เราทบทวนไถ่ถามตัวเองดูว่าสังคมกำลังเกิดอะไรขึ้นถึงได้มีการฟื้นฟูตำนานสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาในขณะนี้ มันเป็นเพียงกระแสของหนังจริงๆ หรือ หรือว่าเรากำลังอยู่ในบริบทอะไรสักอย่างที่ทำให้คนรู้สึกตอบรับกับเรื่องราวของพระองค์ท่าน เราสามารถเทียบเคียงเรียนรู้ได้ไหมว่าตอนที่ ร.5 ท่านสร้างภาพชุดประวัติพระนเรศวรขึ้นนั้น สังคมไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำไมในปี 2473 จึงได้มีการสร้างภาพชุดลัทธิสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาอีก ที่ผมใช้คำว่า 'ลัทธิ' ก็เพราะมีการสร้างตำนานเกี่ยวกับผู้ที่มีชื่อว่า 'สมเด็จพระนเรศวร' ให้เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป มีพิธีกรรมเพื่อสนับสนุนความคิดเหล่านี้ แล้วก็มีการสร้างสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้ที่พบเห็นสามารถเชื่อมโยงไปถึงพระองค์ได้ (เช่น ไก่ชน เป็นต้น)

ผมคิดว่าลำพังการเป็นหนังไม่น่าจะทำให้เกิดฟีเวอร์ได้ขนาดนี้ จึงอยากฝากให้คิดว่าปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่กำลังบอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับบริบทของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน


ที่มา : http://203.185.130.76/downtoearthsocsc/modules.php?name=News&file=article&sid=11

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนในบทความนี้ มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความเอง

ไม่มีความคิดเห็น: