วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เรากำลังเดินกลับไปนับหนึ่งใหม่กับระบอบประชาธิปไตย...และอาจเดินทางกลับไปก่อนหน้า 2475!!

ในวาระ 75 ปี 24 มิถุนายน 2475 สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง นักคิดนักเขียนคนสำคัญ ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘การอภิวัฒน์ไทย 24 มิถุนายน 2475 กับบริบทสังคมในรอบ 75 ปี’ ในโครงการเสวนา 75 ปี 24 มิถุนายน 2475: 75 ปีของอะไร? ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา

สุชาติ ช่วยทวนความจำถึงเหตุการณ์ทางการเมือง ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น 7 ยุค พร้อมบทกวี 3 บรรทัด ซึ่งสรุปให้เห็นภาพเหตุการณ์แต่ละยุคได้แจ่มชัดขึ้น รวมถึงตั้งข้อสังเกต เราเดินทางกลับไปนับหนึ่งใหม่กับระบอบประชาธิปไตย และอาจเดินทางกลับไปก่อนหน้า 2475!!


000

ถ้าหากว่าเราถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้น นับมาถึงปีนี้ก็ 75 ปี 75 ปีของการเริ่มต้นคำว่า ระบอบประชาธิปไตย คิดว่า มีรายละเอียดมากมาย แต่เมื่อมองในแง่ของสังคม โดยบริบทของคำว่า ‘สังคม’ ไม่แยกตัวออกมาโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับบริบททางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม

75 ปีที่ผ่านไปเป็น 75 ปีของอะไร เรามีรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ระบุว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย อยู่ในหมวด 1 มาตรา 1 ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว และมีการแก้ไขและประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 หลังจากนั้น เราก็มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่ละฉบับมีความเป็นมาต่างๆ กัน

แต่สำหรับผม เมื่อพูดถึงคำว่าระบอบประชาธิปไตยซึ่งเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม ต้องย้อนกลับไปดูหมวด 1 มาตรา 1 ของการปกครองแผ่นดินสยามที่บอกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เพราะว่าเป็นการให้ภาพเชิงกลับ แต่ก่อนสังคมไทยเป็นสังคมเชิงปิรามิด เป็นสังคมแบบชนชั้น ยอดสูงสุดของปิรามิดคือพระเจ้าแผ่นดิน ลดหลั่นกันลงมา ขุนนาง ขุนศึก พ่อค้าวานิชย์ จนถึงฐานราก ที่ถือว่าเป็นทวยราษฎรทั้งหลาย

เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นครั้งแรกที่ฐานปิรามิดกลับ คือ ทวยราษฎรมาอยู่ข้างบน ส่วนยอดสุดของปิรามิดนั้นกลับหัวลงมา ดูได้จากการที่บอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย และหากจะดูพิจารณาตามบริบทของคณะราษฎรที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นหัวใจของอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร เพราะจะเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญหรือการบริหารประเทศในเวลาต่อมา

หลัก 6 ประกาศ ข้อแรก คือต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งทางการเมือง ทางศาล ทางเศรษฐกิจให้มั่นคง เห็นความชัดเจนในฐานะที่เป็นบริบททางสังคมว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง ศาล เศรษฐกิจ คือเน้นความเป็นเอกราช

ข้อ 2 คือต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้มีการประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก หมายถึงสันติภาพ หรือที่ใช้กันว่า สมานฉันท์ ในทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นหลักการนโยบายบริหารจัดการ การใช้อำนาจรัฐ ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ

ส่วนข้อ 3 คือต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า ต้องมีหลักประกันให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ประกันความอดอยาก หรือคือการประกันสังคมในสมัยใหม่ โดยต้องวางแผน วางโครงการเศรษฐกิจเป็นวาระแห่งชาติ ตรงนี้เองจะกลายเป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง เมื่อมีสมุดปกเหลือง มีการโต้แย้งทฤษฎีความเป็นไปได้ระหว่างคณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

ข้อ 4 ต้องให้ราษฎรได้รับสิทธิเสมอภาคกัน และมีคำขยายว่า ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิมากกว่าราษฎร เป็นครั้งแรกที่มีการพูดว่า ราษฎรต้องมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของปิรามิด และความคิดปรัชญาการเมืองที่พูดถึงทางเศรษฐกิจ

ข้อ 5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ โดยไม่ขัดกับหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นครั้งแรกที่คณะราษฎรให้ความสำคัญในเรื่องมนุษยชน ว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี

ถ้าอ่านความคิดความเห็นของนักคิดนักเขียนในช่วงใกล้เคียง 2475 หรือปลายรัชกาลที่ 6 จะมีแนวคิดแบบนี้เยอะ เช่น บทความ มนุษยภาพ (2474) ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่พูดเรื่องสถานะของความเป็นมนุษย์ว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี มีความเป็นบุคคล ที่ต้องได้รับเกียรติโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งงานนี้ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งผู้มีอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รับไม่ได้ จึงมีการล่ามโซ่แท่นพิมพ์ขึ้น

ส่วนข้อสุดท้ายนั้น บอกว่า จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในอีก 2 ปีต่อมา เนื่องจากก่อนหน้านั้น มีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว คือ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกที่ประกันว่า รัฐต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เพื่อช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมต่างๆ ในสังคม เพราะฉะนั้นการประกันเรื่องการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร แม้อยู่ข้อสุดท้ายแต่คิดว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกันทุกข้อ

หัวใจของหลัก 6 ประการ ได้ปรากฎตามมาในร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม แม้ถูกแก้และเปลี่ยนตลอด แต่สิ่งสำคัญคือรัฐธรรมนูญที่น่าจะเป็นต้นแบบของหลัก 6 ประการ ได้อย่างเห็นภาพรูปธรรมที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับที่รัชกาลที่ 8 ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะรัฐบาล คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2489 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2488 เมื่อขบวนการเสรีไทยสลายตัวไปแล้ว และอาจารย์ปรีดี เป็นนายกฯ อีกครั้งและดำรงรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งผมคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนค่อนข้างกว้างขวาง

แต่ 1 เดือนต่อมาคือวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ก็เกิดกรณีสวรรคตและจากนี้บริบททางสังคมก็เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารที่ลดบทบาทของคณะราษฎรสายทหารเรือและอาจารย์ปรีดี เพราะเหตุผลของรัฐประหารที่นำโดย ‘ผิน ชุณหะวัณ’ อ้างว่าเพราะความไม่ชอบมาพากลเรื่องคดีสวรรคต หรือพูดง่ายๆ ว่า จะหาเรื่องอาจารย์ปรีดี

การยึดอำนาจครั้งนี้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คือการร่วมมือระหว่างทหารฝ่ายนิยมเจ้ากับพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค

ในบริบทสังคมไทยที่ผ่านมา 75 ปี เคยทำหนังทดลอง ซึ่งคงไม่มีโอกาสฉายในวันนี้ แต่จะฉายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 23 มิถุนายน โดยทำคล้ายมิวสิควิดิโอ เอาภาพประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 และมียุคต่างๆ 7 ยุค แต่ละช่วงเป็นภาพทางประวัติศาสตร์ และมีเพลงประจำแต่ละยุคประกอบ

ยุคแรก เริ่มต้นตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 โดยได้เขียนบทกวี/จินตนาการ 3 บรรทัดว่า

ทางลึกลับ อ้าวว้าง
ทางเบื้องหน้า
อีกไกล


คล้ายกับอยากสรุปว่าจุดเริ่มต้นของหมุดหมายของ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นเหมือนทางลึกลับ เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดต่อ ตัดตอน คลุมเครือ ใครจะมองก็ใช้ทัศนคติของตัวเองตัดสิน แทนที่จะเป็นภาพทั้งหมดในแง่ของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้ว 75 ปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นทางลึกลับที่อ้างว้าง มาถึงวันนี้ที่ต้องทอดยาวออกไปอีกข้างหน้า เรายังเห็นทางข้ามหน้าอีกไกล เหมือนกับตั้งคำถามกับตัวเองว่า 75 ปีของอะไร มันใช่รึเปล่าที่เป็น 75 ปีของการกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ 75 ปีของการเริ่มต้นย้อนกลับที่เดิม

ประวัติศาสตร์นั้นไม่ซ้ำรอยหรอก แต่มีรายละเอียดบางอย่างที่ทำให้มองกลับไปแล้วคล้ายกับกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จาก 24 มิถุนายน 2475 มาจนกระทั่งเป็นทางลึกลับ อ้างว้างและมีรอยต่อของประวัติศาสตร์ที่ไม่แจ่มชัด อันเนื่องมาจากวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ก็นำไปสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเขียนไว้ว่า

เลือดใคร
ไม่เหมือนใคร
บนร่องรอยแห้งกระ

เพราะยุคนี้ถือได้ว่ามีฆาตกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น ฆาตกรรมนักการเมืองอย่างเช่น เตียง สิริขันธ์ คงไม่ลงรายละเอียด

จนกระทั่ง 20 ตุลาคม 2501 หรือ 2500 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ใครบ้า
ใครตาย
ใครกับใครสูญหายมิทราบ


ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นของคำว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นยุคเริ่มต้นของการต่อสู้ทางความคิด มีนักคิดนักเขียนหลายคนถูกจับเข้าคุก หลายคนหายเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่บอกไว้ว่า ‘ใครบ้า ใครตาย ใครกับใครสูญหายมิทราบ’ ก็คือไม่ทราบจริงๆ เป็นยุคที่มีคำขวัญว่าจะนำสังคมไทยเข้าสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เกิดคำขวัญ เช่น ‘งานคือเงิน เงินคืองาน’

จากนั้น ถึงยุคที่ถือว่า เป็นยุคต่อกับ 24 มิถุนายน 2475 คือยุคที่นักศึกษา ประชาชนร่วมกันขับไล่ทรราช ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บางท่านให้ความเห็นว่า ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐประหาร แต่เป็นการอภิวัฒน์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่มาจากระดับของมวลชน นิสิตนักศึกษา ปัญญาชน หรือประชาชนทั่วไป ที่ร่วมมือกันบอกสังคมว่า ไม่ไหวแล้ว ซึ่งหากมองภาพรวม ได้ว่า

ส่วนแบ่งความเศร้า
มอบให้เจ้ากับไพร่
เท่ากัน


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นเหตุการณ์ที่สั้นมาก ทั้งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะต่อเนื่องจาก 24 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 แต่ต่อมา 3 ปีก็เกิดเหตุการณ์ “นองเลือดที่เป็นการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ 6 ตุลาคม 2519

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
เด็กๆ ในแบบฝึกหัด
ทะเลาะกัน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีการพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุดก็คือการใช้กำลัง นำไปสู่การนองเลือด และการที่ทหารเข้ามาตัดสินบ้านเมืองโดยทำการยึดอำนาจ-รัฐประหาร

ต่อมาเป็นยุคของทหารเล่นหุ้น ยุคของ ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่บรรดาขุนศึกพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกาภิวัตน์ แปรสภาพจากสนามรบเป็นสนามการค้า จากทหารที่กินหุ้นลมตามบริษัทและธนาคารกลายเป็นทหารที่เก็งกำไรจากการเล่นหุ้น เกิดความขัดแย้งกันนำสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535 เมื่อแบ่งสรรหาอำนาจกันไม่ลงตัว ทหารก็เข้ามายึดอำนาจรัฐประหาร สิ่งที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง และม็อบมือถือ เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่มีความรู้สึกต่างจาก 14 ตุลาคม 2516

ปลาสูญเสียห้วงหาว
นกสูญเสียดวงดาว
กวีสูญเสียวรรคทอง


ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 เรายังมีความรู้สึกมองเห็นภาพว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน กวียังรู้สึกมีวรรคทองในแง่ของการแต่งบทกวีของตัวเอง แต่ในช่วง 17 พฤษภาคม 2535 บรรดานักคิดนักเขียน บรรดากวีสูญเสียวรรคทองของตัวเองไป เพราะว่าพวกเขากลายเป็นคนพันธุ์ใหม่ ไม่เข้าสู่ระบบ หลังจากคนป่าคืนเมือง หลังจากสภาพสังคมแปลงสภาพไปเป็นทุนนิยม นักอุดมคติหลายคนก็แปลงสภาพไปเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ตำนานกลายเป็นตาปลา นั่นสายสีมานั่งนับเงิน’ ใครอ่าน นวนิยายปีศาจ (ของเสนีย์ เสาวพงศ์--ประชาไท) นึกว่าสายสีมาเป็นบุคคลในอุดมคติ ซึ่งมีอิทธิพลกับนิสิตนักศึกษาช่วง 14 ตุลาคมมากๆ จนกระทั่งยอมเสียสละตนเองเพื่ออุดมการณ์นั้น แต่เมื่อหวนกลับมาหลังจากที่กลับคืนสู่เมือง หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าระดับของในประเทศหรือสากล กำแพงเบอร์ลินพัง โซเวียตล่มสลาย สาธารณรัฐประชาชนจีนเปลี่ยนนโยบาย กลายเป็นแมวสีไหนก็ได้ ถ้าจับหนูเป็นก็ใช้ได้ทั้งนั้น แต่สมัยก่อนหน้านี้ต้องแมวสีแดงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เมื่อโลกรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป บรรดากวี บรรดานักคิดนักเขียนก็สูญเสียวรรคทองของตัวเองไปอย่างที่ผมรู้สึก เพราะว่าถ้าเขาไม่ปรับตัวเองกลายมาเป็นพันธุ์ใหม่ เขาก็อยู่ในความแปลกแยกบางอย่างที่ตัวเองก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร บางคนก็ยังคงสถานะเดิมของตัวเองไว้ได้ บางคนก็เปลี่ยนแปลงไป สภาพสังคมในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ หรือในช่วงกวีสูญเสียวรรคทอง ผมคิดว่าสภาพสังคมแทบล่มสลายเมื่อฟองสบู่แตก และตรงนี้นี่เองที่ผมคิดว่า ที่ทำให้สังคมไทยเดินทางต่อมาจนกระทั่งถึงรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมเขียนไว้สามบรรทัดบอกว่า

ไม่มีอะไรให้ดู
นอกจากมีรู
กับความเปลี่ยนแปลง


คือสรุปได้ในลักษณะนี้ว่ามันก็ไม่มีอะไรให้ดู เพราะมันไม่มีอะไรให้ดูจริงๆ เพราะเมื่อเริ่มต้น 19 กันยายนนั้น เราก็พบว่าทุกคนก็เอาดอกไม้ไปให้ทหาร ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางเคยต่อต้านทหารเมื่อพฤษภาทมิฬ แต่คนชั้นกลางกลับเอาดอกไม้ไปให้ทหารเมื่อ 19 กันยา มันเกิดอะไรขึ้น โดยหลักการแล้ว มันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะการที่จะใช้ทหารเข้ามาตัดสินปัญหาของประเทศ ผมคิดว่าสภาพอย่างนี้แหละทำให้เราตั้งคำถามทำนองว่า สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่เรากำลังกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ใช่หรือไม่ และขณะนี้เรากำลังทำตรงนี้อยู่มิใช่หรือ เพราะเรากำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ในขณะนี้

อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่า สภาพสังคมที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัยที่กินเวลา 75 ปี มันมีรายละเอียดของมัน แต่เมื่อสรุปแล้วผมคิดว่า ถ้าหากจะพูดถึงระบอบประชาธิปไตย เราต้องย้อนกลับไปมองว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นต้องเป็นของราษฎร อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่ารายละเอียดจะตีความอย่างไร คำว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฏรทั้งหลายยังเป็นหัวใจหลักหัวใจสำคัญ

แต่ในแง่ของความขัดแย้งทางความคิด ในแง่วิชาการ จะพบว่า สิ่งที่เรียกว่า 75 ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘การกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่’ นั้น บางทีมันอาจจะกลับไปเริ่มต้นก่อนหน้าปี 2475 ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เขาประกาศเลิกทาสแล้ว แต่เราก็ยังเป็นทาสอยู่ รัชกาลที่ 4 ประกาศไม่ให้หมอบคลานเข้าเฝ้าฯ เรายังหมอบคลานเข้าเฝ้าฯ อยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในแง่ของความขัดแย้งทางความคิด ไม่ทราบว่าผมจะพูดในเรื่องนี้ได้หรือเปล่า มีคนเขียนบทความ คือคุณสุพจน์ ด่านตระกูล พูดถึงบทความชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้คือหัวหน้าพรรคความหวังใหม่คนปัจจุบัน (ชิงชัย มงคลธรรม--ประชาไท) เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนชื่อ ‘ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นบทความที่เห็นว่าความเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะคณะราษฏร เพราะการโค่นล้มรัชกาลที่ 7 เป็นต้นเหตุสำคัญ

ที่ผู้เขียนบทความเขียนถึงภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ คือว่า เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เริ่มต้นมาจากปี 2475 มีการรัฐประหาร มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มันเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตย กลับไปมองย้อนว่า จุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย มันเริ่มต้นมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 บริบทของมันก็คือบอกว่า กษัตริย์คือผู้ริเริ่มสถาปนาระบอบประชาธิปไตย แต่คณะราษฏรนั้นชิงสุกก่อนห่าม เมื่อมองดูเนื้อหาของการมองประวัติศาสตร์สังคม เท่าที่ผ่านมาจะมีสองขั้วนี้ถกเถียงกันอยู่เสมอ แล้วก็ให้เหตุผลทำนองว่า รัชกาลที่ 7 เตรียมมอบประชาธิปไตยให้กับราษฏรอยู่แล้ว แต่ว่าคณะราษฏรนั้นชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งเรื่องนี้ถ้ามองดูกันไปแล้ว มันจริงหรือเปล่า

ถ้าท่านศึกษาและมีข้อมูลด้านประวัติศาสตร์อยู่บ้างก็จะรู้ว่า ความคิดในเรื่องของการเตรียมสร้างระบอบประชาธิปไตย มันไม่ได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 มันเริ่มก่อนหน้านั้น อย่างเช่นในปี พ.ศ.2428 หรือ ร.ศ. 103 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในอังกฤษทูลเร่งให้รัชกาลที่ 5 ยกเลิกการปกครองระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เร่งปูทางระบอบรัฐสภา บรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในอังกฤษนั้นก็ทูลความเห็นนี้ให้รัชกาลที่ 5 ทราบ แต่ว่าก็ไม่สำเร็จ หรือแม้แต่ ‘เทียนวรรณ’ นักคิดนักเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เขียนบทความทูลขอการปกครองระบอบ Parliament คือระบอบรัฐสภา คือระบอบที่มีรัฐธรรมนูญนี่แหละ แต่ผลของการเขียนบทความของเทียนวรรณคือการถูกจำคุก 16 ปี

แล้วต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี 2454 ร.ศ.130 ก็มีคณะทหารหนุ่มชั้นผู้น้อย อย่าง ร.ต.เหรียญ สีจันทร์ ร.ต.เมธ ปุญวิวัฒน์ ร.ต.หลวย บุณยรัตพันธ์ ก็ร่วมมือกันทำปฏิวัติ ถือว่าเป็นการทำปฏิวัติครั้งแรก คือมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กษัตริย์มาอยู่ใต้กฏหมาย แต่ว่าทำไม่สำเร็จถูกจับขังคุกตลอดชีวิต

จาก ร.ศ. 130 เมื่อปฏิวัติไม่สำเร็จเขาก็เรียกว่าเป็น ‘กบฎ’ ชื่อทั่วไปก็คือ ‘กบฎเจ๊กเหม็ง’ ก็ถือว่าเป็นแบบครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมสยามนั้นเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แล้วสิ่งนี้ผมคิดว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งการเริ่มต้นของ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นบทบาทที่เห็นชัด และถ้าหากนึกย้อนกลับไปแล้ว ก็ไม่แน่ว่า ถ้าไม่มีวันที่ 24 มิถุนายน เราจะได้สิ่งที่เรียกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลายในรูปแบบไหน

ด้วยเหตุผลอันนี้ สิ่งที่เรียกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้น ยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยผ่านการปฏิวัติรัฐประหารหลายรูปแบบหลายครั้งหลายครา ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพหลายอย่างของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็เห็นว่า ทุกๆ 14-15 ปี ทหารจะเข้ามามีบทบาทในการใช้กำลังยึดอำนาจ มีคนประมาณดูแล้วพบว่า อยู่ในช่วง 14-15 ปี จะเป็นวงจรที่ทหารเข้ามามีความสัมพันธ์กับการเมืองไทยในลักษณะของการยึดอำนาจ

ผมอยากจะพูดถึงประเด็นเรื่องทหารกับการเมืองไทย ในบริบทเกี่ยวข้องมาถึงจุดสำคัญ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะบริบทของสังคมไทยนั้น แน่นอนที่สุดเราต้องมองถึงบริบทความสัมพันธ์ของทหารกับราษฎร แล้วหลังจากนั้นคงต้องมองไปถึงส่วนอื่นๆ ด้วย ในแง่วิชาการเราก็จะพบว่า คำว่าทหารนั้นมักจะถูกตีความเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากคำว่า ‘รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ มาจนถึงคำว่า ‘ทหารของพระราชา’ ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของสังคมไทย คือเรายังมีคนเป็นราชา ยิ่งกว่าพระราชา นี่ก็เป็นมาตั้งแต่หลังปี 2475 แล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะราษฎรจึงล้มไป คือไม่มีชื่อปรากฏในตำราประวัติศาสตร์ หรือไม่ได้รับการยกย่อง หรือแม้แต่ขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นคณะกู้ชาติไทย ก็ไม่ได้รับการยกย่อง เพิ่งจะมาได้รับการเชิดชูยกย่องมาเมื่อไม่นานนี้เอง รวมตลอดทั้งประวัติชีวิตและงานของนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย ก็เพิ่งได้รับการยกย่องเมื่อไม่นานมานี้เอง

สภาพของสังคมไทย เป็นสภาพสังคมที่ถ้ามองในแง่ของประวัตศาสตร์ที่มันควรจะต้องเดินไปอย่างมีข้อเท็จจริงรอบด้าน จะเห็นชัดเจนว่า สภาพประวัติศาสตร์ของไทยมักจะถูกตัดตอนโดยบุคคลผู้มีอำนาจ การตัดต่อตัดตอนความทรงจำของคนในสังคมไทยนั้นมีผลต่อความรับรู้และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อย่างกรณีเรื่องของเหตุการณ์สวรรคต หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ในช่วง 6 ตุลาคม คือราษฎรไทยควรจะได้รับรู้เหตุการณ์จริง ความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างบิดเบือน

เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมเกรงว่า ต่อไปในอนาคต ถ้าสังคมไทยเป็นลักษณะนี้ คือยังเป็นลักษณะของความคลุมเครือมันก็จะส่งผลต่อจิตวิทยามวลชน ในแง่ของความเข้าใจผิดได้ และความเข้าใจผิดนั้นจะนำไปสู่การนองเลือด เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากลักษณะตรงนี้ แล้วตรงนี้ผมคิดว่า เราต้องรู้เท่าทัน ในฐานะของคนที่พยายามเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ของประวัติศาสตร์ ก็พยายามหาจิ๊กซอว์ต่างๆ ที่ขาดหายไปมาต่อให้เต็ม และต้องทำความเข้าใจ เมื่อพูดถึงคำว่าอภิวัฒน์ไทย 2475 มันเริ่มต้นมาจากตรงไหน มันเริ่มต้นมาเมื่อปิระมิดได้กลับหัวลง อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฏรทั้งหลาย เพราะเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ หรือว่ามีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือว่าไม่มีอะไรก็ตามแต่ มันก็จะควรจะต้องสนใจ เพราะมันเป็นหลักการ

..........................
อ่านเพิ่มเติม
ประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ 1
บทความ ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศไทย


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8397&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

ไม่มีความคิดเห็น: