วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน


วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติครบ ๖๐ ปี นับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัตินานที่สุดในบัดนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีพระเจ้าหิโรหิโตแห่งญี่ปุ่นที่ครองราชนานที่สุด

เดิมทีเดียวทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนคนญี่ปุ่นเชื่อกันหรือถูกล้างสมองให้เชื่อกันว่าทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ในทุกๆ ทาง ที่พลเมืองควรตายถวายชีวิต และวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่านไม่ได้ แม้ตั้งคำถามในเรื่องอันเหลือชื่อก็ไม่ได้ อย่างน้อยก็แต่สมัยเมจิเป็นต้นมา (พ.ศ. ๒๔๑๑)

ขอชมพระนิกายเซนรูปหนึ่งซึ่งประกาศข้อเท็จจริงแต่สมัยเมจิว่า

“โคถึกตัวใหญ่ของรัฐบาลปัจจุบันคือจักรพรรดิ ซึ่งไม่ใช่โอรสของเทพเจ้า ดังหนังสือเรียนแต่ชั้นประถมศึกษาและคนอื่นๆ ชวนให้เราเชื่อ บรรพบุรุษของจักรพรรดิองค์นี้มาจากมุมหนึ่งของเกาะกิวชิว ได้ฆ่าผู้คนและทำโจรกรรม แล้วประหารพวกโจรด้วยกันจนหมด แล้วก็ตั้งราชวงศ์ขึ้น โดยอ้างว่าราชวงศ์นี้เก่าแก่ถึง ๒๕๐๐ ปี จนถือว่าจักรพรรดิองค์ปัจจุบันเป็นเทวราช แต่ตลอดมาจากอดีตนั้น จักรพรรดิถูกอำนาจนอกประเทศบีบบังคับเอย อำนาจภายในประเทศตั้งให้เป็นเจว็ดเอย…ทั้งๆ ที่นี่คือความจริง แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาของเขาล้วนเป็นคนอ่อนแอจนไม่กล้าปฏิเสธสิ่งซึ่งถูกยัดเยียดให้ ไม่กล้าพูดหรือเขียนความจริง หากทั้งอาจารย์และนักศึกษาพากันหลอกลวงตัวเองและหลอกลวงคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่เขาย่อมรู้ดีว่า ที่สอนๆ กันนั้นเต็มไปด้วยความเท็จ”

แน่ละ พระคุณเจ้ารูปนี้ได้รับโทษทัณฑ์อย่างแสนสาหัส โดยที่ตั้งแต่สมัยเมจิเป็นต้นมา ศาสนาพุทธได้ปลาสนาการไปจากราชสำนักเอาเลย ให้มีแต่ลัทธิชินโตอย่างชาตินิยมเท่านั้น ครั้นพุทธศาสนิกนิกายนิชิเรน ประกาศสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ บรรพชิตพวกนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างน่าสนใจนัก

ต่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกแล้วเมื่อ ๖๐ ปีมานี้ ที่สหรัฐเขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นใหม่ ในฐานะผู้ชนะสงคราม กำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ให้หมดความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ อย่างให้องค์พระประมุขเป็นสามัญมนุษย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดุจดังชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย

นอกไปจากนี้แล้ว สหรัฐยังจัดการให้มกุฏราชกุมารญี่ปุ่นได้ทรงศึกษากับหญิงอเมริกันนิกายเควเก้อ ซึ่งไม่ต้องการให้ใครๆ ไปถือคริสต์ หากอาจน้อมนำใจศิษย์หาให้สนใจในทางสันติวิธี และให้เห็นคุณค่าของสามัญมนุษย์ ว่าไม่ด้อยไปกว่าสมาชิกของราชตระกูล ผลก็คือมกุฏราชกุมารพระองค์นี้ทรงเสกสมรสกับผู้หญิงนอกราชตระกูล นับเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น ทั้งคู่นี้คือพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดเสด็จมาเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวของเรา เนื่องในงานวชิรสมโภชแห่งการเสวยราชสมบัติครบ ๖๐ ปีด้วย

สำหรับอังกฤษนั้น สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซะเบธที่สอง ทรงพระชนมายุครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน คือทรงแก่พระชันษากว่าพระเจ้าอยู่หัวของเรา หากเสวยราชย์ภายหลัง ๗ ปี ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นขัตติยราช ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยที่พระราชบิดาของพระนางเจ้าแห่งอังกฤษนั้น คือพระเจ้ายอชที่ ๖ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษด้วย และทรงเป็นพระจักรพรรดิของอินเดียด้วย เมื่ออินเดียได้เอกราชแล้ว ตำแหน่งดังกล่าว ก็เป็นอันยกเลิกไป ตำแหน่งที่ว่านี้ มีมาแต่สมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ซึ่งเป็นเทียดของพระนางเจ้าองค์ปัจจุบันและรัชกาลของพระนางวิกตอเรียนั้นแล ที่สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ ผันแปรไปในทางประชาธิปไตยยิ่งๆ ขึ้นทุกที

สำหรับประเทศสวีเดน เพิ่งจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา พระเจ้าคาลที่ ๑๖ พระมหากษัตริย์ของเขาไปเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน นับว่าทรงเป็นพระราชาที่เป็นกันเองกับราษฎรอย่างแทบไม่มีช่องว่างใดๆ เอาเลย เฉกเช่นพระเจ้าแผ่นดินของนอร์เวย์และเดนมาร์ก (ซึ่งเป็นพระนางเจ้า) ยังประเทศวิลันดา ก็มีพระมหากษัตริย์เป็นสมเด็จพระนางเจ้าด้วยเช่นกัน

นอกไปจากนี้แล้ว ที่ยุโรปยังมีอีกสองประเทศที่มีพระราชามหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยคือสเปนและเบลเยี่ยม

ทุกประเทศเปิดโอกาสให้ใครๆ วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์และสมาชิกในราชตระกูลได้อย่างเปิดเผย ไม่มีประประเทศไหนออกหมายจับใครในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ส่วนในเอเชียนั้น นอกจากไทยกับญี่ปุ่นแล้ว ก็มีกัมพูชา โดยที่สถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนโรดมสีหนุโดยตรงเอาเลยก็ว่าได้ เพราะพระองค์ท่านเคยสละราชสมบัติให้พระราชบิดาเสวยราชแทน

เมื่อพระบิดาสุรคตแล้ว พระองค์ท่านจึงทรงรับราชบัลลังก์ต่อมา แต่แล้วก็ทรงถูกรัฐประหารโดยพวกฝ่ายขวา เมื่อเสด็จออกนอกราชอาณาจักร แล้วกัมพูชากลับเป็นซ้ายจัดไป ในสมัยเขมรแดงเป็นใหญ่ คือกัมพูชาเป็นสาธารณรัฐในช่วงดังกล่าว แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จกลับมากัมพูชา จากที่เสด็จลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนเสียนาน จนสถาปนาระบบกษัตริย์ขึ้นได้ใหม่ แม้จะยังคงเสด็จไปๆ มาๆ อยู่กับจีนก็ตามที จนในที่สุดจึงสละราชสมบัติพระราชทานพระราชโอรส ทั้งๆ ที่สมเด็จสีหนุยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ เมื่อสิ้นพระองค์ท่านไปแล้ว สถาบันกษัตริย์จะยังคงอยู่ต่อไปที่กัมพูชาหรือไม่ น่าสงสัย

กษัตริย์ในเอเชียมีอีกสองประเทศ คือ เนปาลและภูฐาน ประเทศแรกสถาบันกษัตริย์เผชิญสภาวะวิกฤตกับทางการเมือง อย่างลูกผีลูกคน โดยที่สถาบันดังกล่าวจะดำรงคงอยู่ได้หรือไม่ ก็น่าสงสัยเช่นกัน ส่วนภูฐานนั้น มีข่าวว่าพระราชาต้องประสงค์จะให้บ้านเมืองเป็นไปในทางประชาธิปไตย จริงเท็จแค่ไหน ก็คงต้องสดับตรับฟังกันต่อไป

ที่ว่ามานี้ ไม่ได้เอ่ยถึงกษัตริย์ทางแถบอ่าวเปอร์เซียเอาเลย ซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งนั้น หากในกลุ่มประเทศอาเซียนนี้เอง ก็มีพระราชาธิบดีที่บรูไนอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นไปในทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน ส่วนกษัตริย์มาเลเซียนั้น เลือกจากสุลต่านของรัฐต่างๆ ผลัดกันเป็นราชาธิบดีคราวละ ๕ ปี

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจสรุปได้ว่า สถาบันกษัตริย์แห่งใดเป็นประชาธิปไตยมาก มีพระราชอำนาจน้อย คล้อยตามไปกับโลกสันนิวาสอย่างทันกาลสมัย ยอมยกให้ราษฎรเป็นใหญ่ แม้ราษฎรจะผิดพลาดไปบ้าง สถาบันกษัตริย์ก็ดำรงอยู่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพระราชาธิราชประกาศความแข็งกร้าว ใกล้ชิดกับกองทัพ ยืนหยัดอยู่เหนือราษฎร ดูถูกประชาชน รังเกียจปัญญาชนที่มีความคิดในทางสร้างสรรค์อย่างก้าวหน้า แม้พวกนี้จะผิดไปบ้างอย่างไร อำนาจราชาธิปไตยไปกระทบหรือขัดขืนกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไร ก็รังแต่เป็นภัยกับสถาบันกษัตริย์ จนปลาสนาการไปได้

ท่านจะเห็นด้วยกับบทสรุปดังกล่าวหรือไม่ ขอให้พิจารณากันเอาเอง


เขียนโดย ส.ศิวรักษ์

ที่มา : http://review.semsikkha.org/content/view/33/69/

หมายเหตุ
การเน้นข้อความในบทความนี้ มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความเอง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆที่นำมาแบ่งปันให้กัน