-1-
วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกทิ้งไปแล้ว วันรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นวันหยุดราชการ และมีงานพระราชพิธี อย่างน้อยก็เพื่อถวายบังคมพระบรมรูป พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญเมี่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475
เราต้องไม่ลืมว่าปี 2475 เรามีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับแรกพระราชทานเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งประกาศถึงความเป็นใหญ่ของราษฎร ผู้เป็นเจ้าของประเทศ หากถูกสกัดลงไว้ให้เป็นเพียงฉบับชั่วคราว ในขณะที่ฉบับวันที่10 ธันวาคม เป็นฉบับถาวร แต่ในทางพุทธศาสนานั้นไม่มีอะไรที่จะคงทนถาวร พ้นพระอนิจลักษณะไปได้ แต่ฉบับดังกล่าวก็อยู่มาได้ โดยไม่มีการล้มล้างจากคณะปฏิวัติรัฐประหารใดๆ หากเปลี่ยนไปเป็นฉบับ พ.ศ. 2489 ด้วยวิถีทางของประชาธิปไตย คืออภิวัตน์ให้ดีขึ้น อย่างสันติวิธี แต่จะเป็นเพราะฉบับ พ.ศ. 2489 เป็นประชาธิปไตยมากไปหรือมิใช่ จึงถูกพวกเผด็จการและศักดินาขัตติยาธิปไตยทำลายล้างลงภายในเวลาอันสั้น แล้วเราก็ปฏิวัติรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญกันเรื่อยมา จนตราบเท่าทุกวันนี้
ที่เรามาเคารพรูปอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญนั้น ออกจะเป็นการเหมาะสม เท่ากับว่าเรามาบูชาบุคคลที่ควรแก่การบูชา ซึ่งนับว่าเป็นอุดมมงคล การที่ไม่มีรูปท่านอยู่ที่หน้ารัฐสภานั้น ก็ออกจะเป็นการสมควร เพราะสภาที่ปราศจากสัตบุรุษ หาชื่อว่าสภาไม่ ก็รัฐสภาที่ท่านปลุกปั้นขึ้นมาแต่ต้นและประคับประคองมาถึง 15 ปี ยังลืมบุญคุณท่านได้ โดยที่เมื่อรู้ว่าท่านตายจากไป ด้วยการเนรคุณของชนชั้นปกครองที่บริหารบ้านเมืองอยู่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่แม้ยืนไว้อาลัยให้ท่านเพียงหนึ่งนาที โดยที่นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเสียใจ (และนายกรัฐมนตรีคนที่ว่านี้ก็คือประธานองคมนตรีในเวลานี้) อย่างน้อยนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสยังส่งพวงมาลาไปเคารพศพท่านที่นอกกรุงปารีส ยิ่งสภานิติบัญญัติในบัดนี้ด้วยแล้ว ใครบ้างที่แลเห็นคุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่แต่เป็นผู้นำประชาธิปไตยมาหยิบยื่นให้สยาม ในนามของคณะราษฎร หากยังเป็นผู้ซึ่งปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงคงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสมศักดิ์ศรีอีกด้วย มิใยต้องเอ่ยถึงคุณูปการอื่นๆ ของท่านทางด้านธำรงรักษาไว้ ซึ่งอิสรภาพของบ้านเมือง และถ้าท่านไม่ถูกขจัดไปโดยอำนาจของอธรรม ตามวิถีทางของรัฐประหาร ตามจิตสำนึกของพวกเผด็จการ บ้านเมืองเราคงเดินหน้าไปในทางความเสมอภาค อย่างมีภราดรภาพ โดยอาจเข้าถึงเสรีภาพจากการครอบงำของจักรวรรดินิยมและบรรษัทข้ามชาติอีกก็ยังได้ มิใยต้องเอ่ยถึงการไปพ้นอุ้งมืออุ้งเท้าของขัตติยาธิปไตย
จะกล่าวว่าระบอบทักษิณธนาธิปไตย เป็นศัตรูกับระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ได้ โดยที่รัฐประหารคราวที่แล้ว เป็นการกำจัดทักษิณ ซึ่งเป็นเผด็จการที่ใช้รูปแบบของประชาธิปไตยมารับใช้เขา และพวกเขา ด้วยวิธีการนอกเหนือรัฐธรรมนูญ การกำจัดทักษิณนอกเหนือครรลองของรัฐธรรมนูญนั้น ชอบแล้วละหรือ ไม่มีวิธีอื่นใดภายในกรอบของรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะเอาชนะเขาตามทำนองคลองนิติธรรม ไม่ได้เจียวหรือ ข้าพเจ้าเกรงว่าความข้อนี้ คงไม่มีใครวิเคราะห์กันจริงๆ จังๆ และเมื่อล้มศัตรูของประชาธิปไตยในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปได้แล้ว ได้มีมาตรการใดบ้าง ที่จะสร้างสรรค์ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กุมอำนาจอยู่ในเวลานี้ เคยใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยซ้ำ อยากทราบว่ามีใครเข้าใจลึกซึ้งเพียงใดถึงการปกครองในระบอบดังกล่าว ซึ่งต้องการความลุ่มลึก อย่างสุขุมคัมภีรภาพ มิใช่น้อย
ข้าพเจ้าจะไม่ขอเอ่ยถึงผู้ที่มีภาระในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มาในอดีตและในปัจจุบัน โดยยังไม่เห็นจะมีสักกี่คนเลย ที่ชัดเจนในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญ
แม้รัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 17 กันยายนนี้ จะถือว่าสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของผู้คนในจังหวัดต่างๆ เป็นอย่างมาก และยกย่องกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของเรา แต่จุดอ่อนที่สุด อยู่ตรงที่ไม่ได้ตีบริบทไว้ให้ชัดเจนเอาเลยถึงสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือจะพูดให้เกินเลยไปก็ได้ว่า สถาบันดังกล่าวดูจะอยู่นอกเหนือรัฐสภาไปเอาเลยด้วยซ้ำ
ก็การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ต้องการความละเมียด ละเอียดอ่อน และการดำเนินงานด้านนี้ก็ต้องใช้อุปายโกศลเกินกว่าที่นักการทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจการค้าทั่วๆ ไป จะเข้าใจได้ ยิ่งนักวิชาการที่อาจแม่นในทางนิติศาสตร์ต่างประเทศ โดยแทบไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไทยเอาเลย จะซาบซึ้งถึงระบอบดังกล่าวกระไรได้
ขอย้ำถึงคุณภาพที่กล่าวมาแล้วอีกครั้ง คือความละเมียด ละเอียดอ่อน และสุขุมคัมภีรภาพ ซึ่งจำต้องผนวกไปกับความกล้าหาญทางจริยธรรม การกล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ให้ทุกสถาบันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่แต่ในแวดวงของสถาบันกษัตริย์ และในแวดวงของชนชั้นนำ หากต้องกระจายไปยังทวยราษฎร์ทุกหมู่เหล่าด้วย
ถ้าไม่เข้าใจความข้อนี้ ผู้คนจะพอใจกับระบบเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หาไม่ก็หันไปหามหาชนรัฐ ซึ่งอ้างว่ามีความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกๆ คนเสมอกันหมด แม้จนประธานาธิบดีก็เป็นสามัญมนุษย์ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี
-2-
เมื่อพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 5 ต้องพระราชประสงค์จะนำความทันสมัยหรือศรีวิไลมาให้สยามตามแบบฝรั่งนั้น ทรงหันไปที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของยุโรปเป็นแบบอย่าง แม้จะมีผู้คนทักท้วงว่า ประมุขของประเทศ ควรมีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบ ควรกำหนดพระราชอำนาจไว้ภายในขอบเขตของกฎหมายให้ชัดเจน ก็ไม่ทรงนำพา เพราะทรงเห็นความสำเร็จ โดยไม่เห็นความล้มเหลวหรือจุดบกพร่องของการปกครองในระบอบราชาธิราช ไม่ว่าจะออสเตรีย – ฮังการี เยอรมนี หรือรัสเซีย แม้อังกฤษจะมีวิวัฒนาการไปในทางประชาธิปไตยยิ่งกว่าอภิมหาอำนาจทั้งสามนี้ แต่สหราชอาณาจักรก็ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมยากที่คนนอกจะเข้าใจได้ แม้ไปเรียนอังกฤษกันมาคนละนานๆ จะหาเนติบัณฑิตอังกฤษคนใดที่เข้าใจถึงเนื้อหาสาระของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ย่อมยากเป็นอย่างยิ่ง อย่าว่าแต่ในรัชกาลที่ 5 เลย หากรวมถึงรัชกาลปัจจุบันด้วย ดังนายกรัฐมนตรีพระราชทานที่เลวร้ายอย่างสุดๆ ในทางเผด็จการ ก็คือผลผลิตจากเนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษนั้นแล ทั้งนี้โดยไม่ต้องเอ่ยถึงนายกรัฐมนตรีคนแรกในปี 2475 ก็ได้ว่านั่นก็เนติบัณฑิตอังกฤษ ที่ไม่แลเห็นคุณของประชาธิปไตยเช่นกัน
ในรัชกาลที่ 5 ประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นราชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงฝรั่งเศส โปรตุเกส กับสวิสเซอร์แลนด์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 เท่านั้น ราชาธิปไตยปลอดไปจากยุโรปเกือบหมด ดังแฮรอลด์ นิโกลสัน เอ่ยไว้ในพระราชประวัติพระเจ้ายอชที่ 5 แห่งอังกฤษ ว่าในรัชกาลดังกล่าว “โลกได้แลเห็นว่าพระจักรพรรดิสิ้นไป 5 พระมหากษัตริย์สิ้นไป 8 ราชวงศ์ต่างๆ ก็ปลาสนาการไปอีก 18”
สาระสำคัญที่สถาบันกษัตริย์ในยุโรปปลาสนาการไป เพราะแพ้สงคราม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็ตรงที่สถาบันกษัตริย์ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของรัฐธรรมนูญ มหาชน
รัฐไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอุดมคติ แต่เกิดขึ้นเพราะระบบกษัตริย์ไม่อาจคงทนอยู่ได้
ในเอเชีย สถาบันกษัตริย์ปลาสนาการไปเพราะเสียเอกราชไปกับจักรวรรดิฝรั่ง เว้นเสียแต่ว่าฝรั่งจะต้องการรักษาสถาบันดังกล่าวไว้ภายในอารักขาของตน เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม้เมื่อลาวเป็นประเทศคอมมูนิสต์แล้ว แรกทีเดียวก็ไม่คิดจะล้มสถาบันเดิม แต่เจ้ามหาชีวิตไม่คิดถึงหัวอกของชนชั้นปกครองอย่างใหม่ ทั้งยังฝังพระทัยไปทางอาณานิคมฝรั่งมาโดยตลอดอีกด้วย สำหรับเวียดนาม จักรพรรดิ์เบาได๋ก็เป็นตัวเชิดให้ฝรั่งอย่างปราศจากจิตสำนึกในทางอิสรภาพ จึงต้องถูกถอดไป สำหรับกัมพูชานั้น สถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับสมเด็จพระสีหนุยิ่งกว่าอะไรอื่น แม้จะโปรดให้พระราชโอรสสืบราชสมบัติแทนแล้ว ก็ไม่แน่ว่าสถาบันดังกล่าวจะไปรอดหรือไม่ เพราะการเอาสถาบันกษัตริย์ไปผูกไว้กับความเป็นผู้นำของพระราชาพระองค์เดียว ย่อมเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง ส่วนจีน ไทย กับญี่ปุ่น ที่ไม่เสียเอกราชให้ฝรั่งไปนั้น ระบบกษัตริย์จีนถูกโค่นล้มลงโดยขบวนการชาตินิยม ซึ่งถือว่าราชวงศ์แมนจูไม่ใช่จีน และสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นดำรงอยู่ได้ แม้จะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพราะอเมริกันต้องการประคับประคองเอาไว้ให้เป็นเจว็ด โดยจะไม่ขอเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์ไทยในที่นี้
อีกสองประเทศในเอเชียใต้ที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ ก็เพราะอังกฤษปล่อยให้มีไว้ในสมัยปกครองอินเดีย เช่น เนปาล ซึ่งคงถึงกาลอวสานในเร็วๆ นี้ ส่วนภูฐานนั้น พระราชาต้องการถางทางให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยภายในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีๆ นี่ก็อาจเป็นโทษได้ยิ่งกว่าเป็นคุณ สำหรับมาเลเซียนั่นเล่า เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ผลัดกันเป็นพระราชาธิบดีทุกๆ 5 ปี และเมื่อนายมหาเธียร์ โมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลดพระราชอำนาจลงจนเกือบหมด ในทางบูรไน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เฉกเช่นทางซาอุดิอารเบียนั้นแล ดังที่กษัตริย์เปอร์เซียก็เป็นเช่นนี้มาก่อน แล้วก็ต้องถูกขับไล่ไสส่งไป อนึ่ง พระเจ้าฟารุคแห่งอียิปต์เคยตรัสว่า ในอนาคตจะมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่เพียง 5 องค์ คืออังกฤษองค์หนึ่ง ส่วนอีกสี่องค์นั้นอยู่ในไพ่ป๊อก
การล้มเลิกระบบกษัตริย์ เพื่อเอาระบบมหาชานรัฐมาแทนที่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเปลี่ยนตัวประมุขจากการสืบทอดสันตติวงศ์มาเป็นประมุขที่รับเลือกมาเท่านั้น แต่ถ้ามองจากอดีตให้จะๆ แล้ว จะเห็นได้ว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน หรือไม่ก่อให้เกิดเสรีภาพ เพราะมักจะเปลี่ยนไปในทางเผด็จการ ซึ่งก่อให้เกิดเสถียรภาพกับชนชั้นบนจำนวนน้อย อย่างไม่ต่างกันไปมากนักกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ระบบกษัตริย์มักเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ด้วยเสมอไป เพราะพระราชพิธีมักโยงไปในทางลัทธิศาสนาด้วย แม้รัชกาลของพระนางเอลิซเบธที่ 2 ของอังกฤษนี่เอง เมื่อเสวยราชย์แล้วได้ 4 ปี (คือปี ค.ศ. 1956) ประชามติยังออกมาว่าคนอังกฤษถึงร้อยละ 35 เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกพระนางเธอให้เสวยราชย์ แต่ในปัจจุบัน ความเชื่อในเรื่องพระสภาวะอันพิเศษของพระบรมราชินีนาถปลาสนาการไปจากคนอังกฤษเกือบหมดแล้ว ยิ่งสมัยที่นางมากาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แต่ปี 1979 ถึง 1990 ด้วยแล้ว นางถึงกับประกาศว่า สถาบันอันเก่าแก่ทั้งหลายของอังกฤษต้องได้รับการท้าทาย หาไม่จะไม่เกิดความทันสมัย ดูทักษิณ ชินวัตร ก็จะได้กระเส็นกระสายความคิดในเรื่องนี้มามิใช่น้อย นางมากาเร็ต แทตเชอร์ท้าทายระบบข้าราชการ ศาล ศาสนจักร มหาวิทยาลัย รวมถึงบีบีซี แต่สถาบันกษัตริย์กลับปลอดไปจากความสั่นสะเทือนเอาเลยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่นางมีพฤติกรรมและแสดงอาการกิริยาท้าทายสถาบันดังกล่าวมิใช่น้อย ทั้งนี้ก็เพราะสถาบันสามารถปรับตัวเองได้ มิใยว่าเสรีภาพจะมีมากขนาดไหน ในทางสื่อสารมวลชนถึงขนาดล่วงละเมิดไปยังวิถีชีวิตส่วนพระองค์ขององค์พระประมุขและราชตระกูลอย่างจังๆ แต่ก็ทรงไว้ซึ่งพระขันติธรรม และปรับปรุงสถาบัน แม้จะไม่ถึงกับทันสมัย ก็ไม่ล้าหลังไปเสียเลยทีเดียว ถึงจะล่าช้าไปบ้างหรือขัดขืนประชามติไปบ้าง แต่พอรู้พระองค์ ก็ยอมเปลี่ยนท่าทีอย่างงามสง่า ดังใครที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Queen ที่นำออกแสดงเมื่อเร็วๆ นี้ จะเข้าใจความข้อนี้ได้
บทเรียนประการหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่องนี้ มีอยู่ว่าถ้าเจ้านายในพระราชวงศ์ต้องการประชานิยมมากเกินพอดีไป ให้โทษต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมักมองไม่เห็นกันในระยะสั้นอีกด้วย
-3-
ดุ๊กออฟเอดินเบอเร่อ พระสวามีของพระบรมราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรในปัจจุบันเคยตรัสว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของพระราชา หากมีไว้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของราษฎร
ถ้าเข้าใจข้อความนี้ได้ชัดและทำตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์ในยุโรปที่ดำรงคงอยู่ได้ ก็เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในแนวทางของประชาธิปไตย ทุกประเทศ แม้ประเทศที่เคยเป็นเผด็จการมาอย่าง สเปน พอหันมาหาระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศนั้นก็หันเหไปทางเสรีภาพและภราดรภาพ ยิ่งๆ ขึ้น แม้จะมีปัญหาของชนชาติที่ต่างกันอย่างฉกรรจ์ เช่นพวกบาสค์ แต่ก็หาทางหันหน้าเข้าหากันได้อย่างสันติวิธี เพราะพระราชาธิบดี ทรงวางพระองค์เป็นกลาง อย่างเข้าใจเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย
สำหรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสแกนดิเนเวีย องค์พระประมุขอาจมีความเป็นผู้นำน้อย แต่ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรม ที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งพระราชาธิบดีของประเทศเบลเยี่ยมด้วยแล้ว ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ผู้คนในประเทศยอมรับความเป็นกลาง เพราะครึ่งประเทศเป็นพวกเฟลมิช อีกครึ่งเป็นพวกวัลลูน พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงเป็น The King of Belgium แต่ทรงเป็น The King of the Belgians ความละเอียดอ่อนเช่นนี้ ยากที่จะมีได้นอกสถาบันดังกล่าว
ส่วนสุลต่านทางอาหรับนั้น มุ่งใช้สถาบันกษัตริย์ไปเพื่อรับใช้ชนชั้นตนและราชวงศ์ของตนยิ่งกว่าอะไรอื่น จึงจำต้องเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเผด็จการอยู่แม้จนบัดนี้ โดยที่สถาบันดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหน ก็ขอให้คอยดูกันต่อไป
ทราบกันทั่วไปว่า หนังสือของ Walter Bagehot เรื่อง The English Constitution ที่ตีพิมพ์แต่ ค.ศ. 1867 นั้น พระราชาธิบดีของอังกฤษแทบทุกพระองค์ ตลอดจนมงกุฏราชกุมารองค์ปัจจุบัน ย่อมทรงศึกษาดังกับว่าเป็นคัมภีร์เลยทีเดียว
Bangehot เขียนไว้ชัดเจน ว่าพระราชาทรงสิทธิ 3 ประการ กับรัฐบาลของพระองค์คือ
1) รัฐบาลต้องปรึกษาหารือองค์พระประมุข 2) ทรงอุดหนุนหรือประทานกำลังใจ และ 3) ทรงตักเตือน ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ปรากฏต่อมหาชน พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีของพระองค์ ก็อาจทูลแนะนำองค์พระประมุขได้ แม้พระราชดำรัส ต่อมหาชนหรือรัฐสภา ก็เกิดจากคำแนะนำของรัฐบาล คือไม่ต้องทรงรับผิดชอบต่อถ้อยคำนั้นๆ หากรัฐบาลต้องรับผิดชอบ คือต้องเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการทั้งหลาย สมกับคำที่ว่า The King can do no wrong เพราะรัฐบาลรับผิดชอบแทนพระองค์อยู่แล้ว
ในระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้น ประมุขของประเทศแตกต่างจากประมุขของรัฐบาล ประมุขของประเทศประกอบพระราชกรณียกิจ 3 ประการที่สำคัญ คือ 1) หน้าที่อย่างเป็นทางราชการ เช่น ตั้งนายกรัฐมนตรี และออกพระราชกำหนด ปิดรัฐสภา (ถ้าพระราชาไม่เป็นเพียงเจว็ดหรือเป็นเผด็จการแล้วไซร้ ย่อมทรงใช้พระราชอำนาจทั้งสองประการนี้อย่างแยบคาย) 2) หน้าที่ในทางพิธีกรรม รวมถึงกิจการงานทางสังคม 3) ที่สำคัญสุด คือสัญลักษณ์ของประชาชาติ ถ้าพระราชาขาดความเป็นกลาง หรือไม่เป็นที่ยอมรับอย่างจริงใจในหมู่ชนชั้นนำหรือในบรรดาทวยราษฎร์ ไม่อาจทรงเป็นสัญลักษณ์ของประชาชาติได้ การสดุดีพระราชาอย่างสุดๆ ไม่ได้หมายความว่า นั่นคือสัญลักษณ์ที่แท้ของประชาชาติ หากประโยชน์ดังกล่าวได้กับพวกสอพลอปอปั้นต่างหาก และการเยินยออย่างเกินเลยไปนั้น อาจเป็นไปดังนิทานที่ว่า The King and the new cloth ก็ได้
Bagahot เน้นไว้ในเรื่อง The English Constitution ถึงข้อแตกต่างระหว่าง Efficient กับ dignified elements อย่างแรกคือความสามารถในการปกครอง ในการดำเนินตามนโยบาย ซึ่งน่าจะได้แก่นายกรัฐมนตรี ส่วนอย่างหลังนั้น คือการกระทำที่มีศักดิ์ศรี เพื่อความสมานฉันท์ของทวยราษฎร์ แม้จะต่างพรรคการเมือง ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา กรณียกิจอย่างนี้สถาบันกษัตริย์ที่ปรับตนได้อย่างสมสมัย ทำได้ดีกว่าประธานาธิบดี แม้ที่เป็นเพียงประมุขอย่างอินเดีย เป็นต้น
ปี 1802 Sir William Anson ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงกับเขียนข้อความว่า “ในเรื่องของรัฐ พระราชาย่อมไม่รับคำแนะนำจากคนอื่น ที่ไม่ใช่คนของรัฐบาล พระองค์ย่อมไม่ทรงแสดงทัศนะทางการเมือง โดยไม่ได้ทรงหารือรัฐบาลก่อน และย่อมทรงรับทัศนะของรัฐบาลและสนับสนุนคณะรัฐมนตรี ตลอดเวลาที่เขาเหล่านั้นเป็นรัฐบาลของพระองค์”
แม้ทัศนคติของพระราชาในทางส่วนพระองค์ ก็ย่อมต้องระวังพระองค์ ไม่ให้กระทบกระเทือนรัฐบาลของพระองค์ และที่สำคัญเหนืออื่นใดสำหรับสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญนั้นก็คือ พระราชาและพระราชินีต้องไม่ข้องแวะกับขุนพลทั้งหลายทั้งปวง ทหารมีหน้าที่เพียงรักษาพระราชอิสริยยศ หากนอกเหนือไปจากนี้ ในระยะยาวจักเป็นอันตรายกับสถาบันกษัตริย์อย่างร้ายแรงที่สุด แม้พระราชาของสเปนจะเคยเป็นนักเรียนนายเรือมาก่อน ครั้นพวกทหารต้องการล้มล้างรัฐบาลพลเรือนนอกเหนือรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ทรงอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่หันเหพระองค์ไปในทางทหารเอาเลย นี่แลที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ของสเปนได้รับความเคารพนับถือจากทุกๆ คน ที่เห็นว่าประชาธิปไตยสำคัญเหนือความสำเร็จทางเผด็จการในระยะสั้น
การที่ทรงวางพระองค์เป็นกลางได้อย่างเคร่งครัด ย่อมเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในระบอบรัฐธรรมนูญ และจะทรงทำเช่นนั้นได้ ต้องมีราชเลขานุการที่สามารถ และเป็นกลาง อย่างมีความกล้าหาญทาง จริยธรรม ที่จะขัดพระราชหฤทัยด้วย พร้อมกันนั้น ราชเลขานุการก็ต้องไม่ฝักใฝ่ในทางการเมือง หรือธุรกิจการค้าอีกด้วย โดยต้องอุทิศเวลาทั้งหมดเพียงเพื่อพระราชาเท่านั้น
บทบาทของราชเลขานุการนั้นเป็นไปเพื่อรักษาพระสถานะทางรัฐธรรมนูญของพระราชา โดยที่พระราชาย่อมต้องทรงทราบเรื่องต่างๆ ที่เจ้ากระทรวงต่างๆ ทูลเสนอขึ้นมา เพื่อไม่ให้ทรงทราบความข้างเดียว เพื่อจะได้ตัดสินพระทัยถูก ทางด้านการใช้พระราชอำนาจ พระราชาองค์เดียวจะทรงรอบรู้ทุกๆ เรื่องกระไรได้ จำต้องมีคนกล้าทูล กล้าท้วง แต่ไม่ใช่เพื่อมาชี้แนะพระองค์ท่าน
ระบบองคมนตรีของอังกฤษเป็นเพียงสัญลักษณ์ในทางนิตินัยและพิธีกรรมเท่านั้น ดังระบบองคมนตรีและอภิรัฐมนตรีของไทยในสมัยราชาธิปไตยก็เริ่มมาด้วยดี แล้วก็กลายสภาพไปจากสาระที่แท้อย่างน่าเสียดาย
ดังกล่าวแล้วว่า Bagehot บ่งว่า พระราชาทรงไว้ซึ่งสิทธิที่รัฐบาลจำต้องหารือ เพื่อจะได้ทรงอุดหนุนให้กระทำการ หรือทรงเตือนให้ระวัง แต่ก่อนที่จะทรงกระทำเช่นนั้นได้ จำต้องทรงสามารถใช้พระราชวินิจฉัย นอกเหนือไปจากคำกราบทูลของรัฐบาล ราชเลขาฯ มีหน้าที่กราบทูลให้ได้ทรงทราบข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวางออกไป แต่ราชเลขาฯไม่มีหน้าที่เพ็ดทูล เสนอแนะ ซึ่งมาได้เพียงจากรัฐบาลเท่านั้น
ที่ว่ามานี้เป็นของอังกฤษ ของเราเองเป็นไปเช่นไร จักยังไม่ขอเอ่ยถึงในที่นี้ แต่บทบาทของราชเลขาฯ นั้นสำคัญยิ่งนัก ในอดีต ม.จ. นิกรเทวัญ เทวกุล ก็ดี ม.จ. วงศานุวัตร เทวกุลก็ดี และ ม.ล. ทวีสันต์ ลาดาวัลย์ ก็ดี ล้วนมีบทบาทอย่างควรแก่การก้มศีรษะให้ทุกท่าน แม้ในสมัยราชาธิปไตย เราก็มีกรมหลวงปาจิณ- กิติบดี และเจ้าพระยามหิธร ซึ่งทำหน้าที่ ที่รักษาความเป็นกลางของตำแหน่งอย่างน่าชื่นชม ทุกท่านอุทิศตนในการรับใช้พระมหากษัตริย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย แม้รองราชเลขาธิการอย่างนายภาวาส บุนนาค ก็เช่นกัน
ไม่แต่ราชเลขาฯ เท่านั้น หากนักการเมืองและประชาราษฎรทั่วๆ ไป ถ้าเห็นคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ จำต้องช่วยกันทำให้ความเป็นกลางและความโปร่งใสของสถาบันดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่ให้สถาบันสูงสุดไปพัวพันกับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร หรือในทางอื่นใด นอกเหนือวิถีทางของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐาน
ถ้าสถาบันกษัตริย์ขัดกับรัฐธรรมนูญเมื่อใด สถาบันนั้นก็จะคลอนแคลนไป โดยยากที่จะรับรู้ได้อย่างผิวเผิน และถ้าไม่ตระหนักให้ชัด สถาบันกษัตริย์ก็จะเป็นไปเพื่อพระราชา ยิ่งกว่าเพื่อราษฎร ถ้าความจริงข้อนี้เข้าใจกันชัดเจนและกว้างขวางเพียงใด หายนภัยของสถาบันกษัตริย์ก็จะมีมากและเร็วขึ้นเพียงนั้น
นอกจากบทบาทของราชเลขาฯ ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง ทางด้านการปิดทองหลังพระแล้ว การใช้จ่ายพระราชทรัพย์ก็สำคัญยิ่งนัก ความข้อนี้จำต้องโปร่งใสในทุกๆ ทาง ทางอังกฤษประเด็นนี้เป็นที่ท้าทายมาก มาแทบทุกรัชสมัย แม้จนบัดนี้ ก็ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร แต่ยิ่งมีเสียงเรียกร้อง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ มากขึ้นเท่าไร องค์พระราชาและมกุฏราชกุมารก็พยายามปรับปรุงสถานะทางด้านนี้กันยิ่งๆ ขึ้น อย่างน่าสำเหนียก
การไม่ฟังคำเรียกร้อง คำวิพากษ์วิจารณ์ คือการขัดขืนประชามติ ซึ่งผิดก็ได้ ถูกก็ได้ แต่ถ้ารับฟังคำติชม และหาทางอธิบายให้เข้าใจกันได้ สถาบันนั้นๆ ย่อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองไปได้ ตามจังหวะจะโคน และขั้นตอนทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ทุกสังคม ทุกสถาบัน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพระอนิจลักษณะ จะขัดขืนอยู่หาได้ไม่
ที่แสดงบรรยายมานี้ คงเป็นแสงสว่างได้รางๆ สำหรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งไม่ต้องการความมืดมิด ผิดกับมหาวิทยาลัยในกระแสหลักทั้งหลาย ซึ่งดูจะติดยึดอยู่กับความมืด หรือความกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริง กึ่งเท็จ ยิ่งกว่าที่จะกล้าแสวงหาสัจธรรม หรืออย่างน้อยก็ไม่กล้าพูดความจริงอย่างจังๆ ในเรื่องสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ อธิการบดีบางมหาวิทยาลัยถึงกับยอมเข้าข้างทรราชอย่างเชื่องๆ ซึ่งบางทีถึงกับอ้างว่าทรราชเป็นองค์อธิปัตย์เอาเลยก็มี จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพวกนี้ต้องการออกจากกำกับของรัฐ เพื่อมุ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐทรัพย์สำหรับเขาและพวกเขา ยิ่งกว่าจะเข้าใจถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ
.......................................................................
ส. ศิวรักษ์ พูดที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2549 ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
[เอกสารที่ใช้ประกอบการเตรียมปาฐกถานี้อาศัย The Monarchy and the Constitution by Vernon Bogdonar (OUP 1997) มากกว่าอะไรอื่น]
ที่มา : http://www.semsikkha.org/paca/index.php?option=com_content&task=view&id=241&Itemid=1
หมายเหตุ
เน้นข้อความโดยผู้จัดเก็บบทความ
ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6194&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ปาฐกถา ส. ศิวรักษ์ คิดอย่างไทย : สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:16 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆที่นำมาแบ่งปันให้กัน
แสดงความคิดเห็น