วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2550

2475 การตัดสินพระทัยของ ร.7 อันชาญฉลาด


ผมจะเสนอเรื่องพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในการที่ทรงตัดสินพระทัยที่ชาญฉลาดในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ก่อนที่จะเสนอนั้น ผมมีข้อสังเกตในเรื่องเกี่ยวกับอายุสองประการ

ประการที่หนึ่ง ในเหตุการณ์ ร.ศ.130 หรือ พ.ศ.2454 กบฏโดยทหารหนุ่มซึ่งมีอายุน้อยที่สุดคืออายุ 19 ปี คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเหตุการณ์นั้นอายุระหว่าง 19-25 ปี หัวหน้าของคณะทหารหนุ่มอายุ 30 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุ 31 พรรษา นั่นหมายความว่าประเทศกำลังปกครองด้วยคนหนุ่ม

คณะราษฎร เมื่อเขาเริ่มต้นคิดที่จะปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น คนเจ็ดคนนั้นอายุต่ำสุดคือ 26 ปี สูงสุดคือ จอมพล ป. 29 ปี ปรีดี 26 และอีกแปดปีต่อมาเมื่อปฏิวัติสำเร็จ หัวหน้าคณะอายุ 45 ปี ในขณะที่ จอมพล ป. 35 ปี ปรีดี อายุ 32 และมีเด็กๆ อายุ 27, 25 เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลง

75 ปีผ่านไป เมื่อมีการรัฐประหารของ คมช.หัวหน้าคณะทหาร คมช.อายุ 59 ปี (ผู้ฟังหัวเราะ) เมื่อเปลี่ยนแปลงเสร็จ กลุ่มที่ขี้นมาปกครองประเทศอายุ 60-70 ปี (ผู้ฟังหัวเราะ) มันช่างเป็นความก้าวหน้าของประเทศเสียนี่กระไร..

ข้อสังเกตประการที่สอง ในขณะที่วิทยากรกำลังเสนอนั้น ก็มีนักศึกษาสองท่านนำขนม อาหาร นมเนย มาให้คณาจารย์ที่อยู่ด้านหน้า พอมาถึงพื้นนักศึกษาสาวสองท่านนั้นก็คุกเข่าลง คลานเข้ามาวางอาหาร มันทำให้ผมนึกถึงประกาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ.2416 เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างมีอำนาจสมบูรณ์โดยที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทรงประกาศให้ราษฎรชาวไทยและขุนนางข้าราชการทั้งมวลจงเลิกหมอบคลาน (ผู้ฟังหัวเราะ) แต่แล้ว 134 ปีผ่านไปช่างก้าวหน้าอะไรเช่นนี้

ประเด็นนำเสนอของ 24 มิถุนายน หากเราย้อนอดีตได้ เราไปนับที่รุ่งอรุณของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในค่ำคืนนั้นจำนวนพล 102 คนของคณะราษฎร.. ขอให้จดจำนะครับ เรียกว่า ‘คณะราษฎร’ (ราด-สะ-ดอน) ห้ามใส่การันต์ตรง ร เรือ เพราะจะกลายเป็นคณะ ‘ราช’ ไปได้ เพราะพวกเขาคือ People’s party พรรคของประชาชนที่ไม่เอา ‘คณะเจ้านาย’

ในค่ำคืนวันนั้น พวกเขาเคลื่อนขบวนและทำการยึดกุมสองสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ สถานที่สำคัญที่ต้องยึดให้ได้ คือสถานีชุมสายโทรศัพท์เพื่อตัดระบบการสื่อสารของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหมด ถัดจากนั้นเขายึดสถานีไฟฟ้า และไปจับกุมบุคคลสำคัญเพียงไม่กี่คน

ในขณะที่เช้ากำลังเผยตัว ก็มีการบอกว่าให้ทหารที่กำลังฝึกกันอยู่ ให้ไประดมพลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เช้าวันนี้อาจารย์จะมีอะไรสอนให้ดูว่าด้วยการประกอบรถถัง ทหารผู้บังคับกรมกองพันต่างก็เป็นลูกศิษย์ของคณะราษฎร ก็พาทหารของตัวเองไประดมพลอยู่ที่นั่น พอได้เวลาก็จับตัวผู้บังคับบัญชาไว้ที่หนึ่ง ส่วนพลทหารก็เอาไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ชายผิวคล้ำไม่สูงมากนัก พุงพลุ้ยหน่อย เดินออกมา และอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 บรรทัดแรกของเอกสารระบุว่า

“ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้น ราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร..”

ในอีกย่อหน้าหนึ่งที่สำคัญกล่าวว่า

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิบและกวาดรวบรวมทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง..”

ในขณะที่รุ่งอรุณของเช้าวันที่ 24 มิถุนา กำลังยึดอำนาจในกรุงเทพฯ แต่องค์ประมุขของประเทศไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯทรงกำลังทำอะไรในเช้าวันนั้น จากบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงกอล์ฟ และกำลังทรงกอล์ฟเข้าหลุมที่ 8 และพระองค์ทรงคิดว่า พระองค์ไม่เคยทรงกอล์ฟเข้าหลุมที่ 8 ได้สวยอย่างนี้มาก่อนเลย และก็มีมหาดเล็กมากระซิบที่ข้างหูบอกว่า พระองค์ถูกยึดอำนาจเสียแล้ว พระองค์จึงกลับไปที่ประทับ

นายทหารทั้งหมดที่เป็นชนชั้นนำภายใต้รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯพากันกระเจิดกระเจิงทั้งโดยรถไฟและเครื่องบินไปชุมนุมกันที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และมีการประชุมกัน เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมของคณะทหารและพระญาติของพระองค์ให้พระองค์ต่อสู้เพื่อรักษาสถานะของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ เสียงส่วนน้อยในที่ประชุมสามเสียงคือ พระมเหสี พระราชบิดาของพระมเหสี และพระราชมารดาของพระมเหสีบอกว่า ให้ยอมรับการยึดอำนาจ และกลับไปเป็นกษัตริย์ที่กรุงเทพฯ พระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นประชาธิปไตย จึงยอมรับฟังเสียงส่วนน้อยกลับไปเป็นพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ

นี่คือการตัดสินใจที่ชาญฉลาดที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เพราะพระองค์ต้องตระหนักว่า ปัญหาของพระองค์เป็นปัญหาสองประการด้วยกัน ประการที่หนึ่งก็คือ ในฐานะประมุขของราชวงศ์พระมหากษัตริย์ ประการที่สองก็คือ ในฐานะประมุขของประเทศ สองปัญหานี้เป็นความสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดาของพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ทรงรับรู้ถึงเรื่องของ รัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตย, สภา, การเลือกตั้ง, ส.ส. เลยใช่ไหม... ไม่ใช่... ทั้งสามพระองค์เหล่านี้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีชาญาณ และทรงมีองค์ความรู้อย่างเต็มเปี่ยมว่าด้วยระบอบทางการเมืองของประเทศตะวันตก

หลังการเสด็จประพาสอินเดียในปี 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชอำนาจสมบูรณ์ และสิ่งแรกที่พระองค์ทรงกระทำเมื่อพระองค์ทรงมีอำนาจคือการจัดตั้งสภาสองสภาขึ้นมาที่เรียกว่า council of state หรือที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และ อีกสภาหนึ่งก็คือ privy council หรือที่ปรึกษาส่วนพระองค์

Council of state เป็นการแต่งตั้งขุนนางต่างๆ เพื่อมาประชุมปรึกษาหารือว่า พระองค์จะทรงบริหารโดยมีที่ประชุมชั้นสูง มิได้บริหารตามใจปรารถนา แต่ภายใต้ภาวการณ์ขณะนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางอำนาจกับขุนนางคนสำคัญ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะที่พระองค์ยังทรงไม่มีอำนาจสมบูรณ์ในฐานะพระมหากษัตริย์

การต่อสู้เพื่อขับเคี่ยวกับขุนนางและกระชับอำนาจเข้าสู่พระองค์นั้น พระองค์จึงใช้รูปแบบของสภาจากโลกตะวันตกที่รับทราบมาจากอินเดียเข้ามาใช้ในการกำจัดอำนาจขุนนางออกไปจากแผ่นดินนี้ และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สิ้นชีพ council of state ก็ถูกปล่อยให้ดำรงชีพ แต่ไร้ชีวิต ไม่มีการประชุมอีกต่อไป จบสิ้นรูปแบบสภาในยุคสมัยของพระองค์

เมื่อพระองค์เริ่มมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่เรียกว่า ยุคสมัยการปฏิรูป 2435 พระองค์ก็รื้อฟื้นสภาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบสภาของตะวันตกที่เรียกว่า รัฐมนตรีสภา หรือ legislative council เพื่อออกกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติ และพระองค์ก็ออกพระราชบัญญัติกำจัดอำนาจขุนนางทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ออกพระราชบัญญัติอย่างนู้นอย่างนี้ นี่เป็นการกระทำตามกฎหมายทุกประการ และทำให้ขุนนางทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนั้นเสื่อมสลายทางอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าเมืองที่เคยสืบทอดอำนาจตามสายโลหิต ก็ถูกทำลายลงโดยการส่งผู้ว่าฯจากกรุงเทพฯไปปกครองแทน เหตุนี้เราจึงเห็นการกบฏทั่วแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น กบฏผีบุญในอีสาน กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏแขกเจ็ดหัวเมือง เพราะด้านหนึ่งคือการพิทักษ์อำนาจของตนเอง จากนั้นมากรุงเทพฯก็สามารถปราบปรามกบฏเหล่านั้นได้ โดยการมีกองทหารที่มีอาวุธปืนไฟสมัยใหม่ พร้อมกับทางรถไฟ บุกเข้าถึงและทำลายฝ่ายกบฏอย่างสิ้นซาก และนี่ก็คือกระบวนการกระชับอำนาจเข้าสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ในนามของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หลังจากปราบปรามสำเร็จ กระชับอำนาจอย่างเรียบร้อย รัฐมนตรีสภาดำรงชีพ แต่ไร้ชีวิต เพราะจะไม่มีการประชุม

เมื่อเปลี่ยนไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระอนุชาของพระองค์คือกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท) ซึ่งเป็นพระอนุชาคนรอง เรียกร้องให้พระเชษฐาของพระองค์ทรงตั้งรัฐมนตรีสภาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไม่ให้องค์พระมหากษัตริย์ดำรงการบริหารเพียงคนเดียว.. แต่การตั้งรัฐมนตรีสภามีความหมายว่า ตั้งคนมาคุมพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจึงบอกว่า เอางี้แล้วกัน เดี๋ยวจะตั้งดุสิตธานีให้ พระองค์จึงสร้างดุสิตธานีบนพื้นที่ 2 ไร่ครึ่ง มีบ้านเรือนของประชาราษฎรเท่ากับศาลเพียงตาจำนวนมากมาย.. mini-siam และนั่นคือที่มาที่เราอ่านและส่งเสริมกันว่า พระองค์ทรงส่งเสริมประชาธิปไตย.. ในพื้นที่สองไร่ครึ่ง..นั่นคือ ข้อเรียกร้องของ กรมหลวงพิษณุโลกฯ.. ไม่บรรลุความสำเร็จ

กบฏ ร.ศ.130 ซึ่งเป็นการวางแผนในปีที่ขึ้นปีที่สองของสมัยรัชกาลที่6 ถูกปราบปราม ทำให้กองทัพสงบเงียบตลอดรัชสมัยของ ร.6

เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 7 ใครๆ ก็ทราบว่า พระองค์ทรงเป็น “ม้ามืด” เพราะพระองค์ก็ไม่เคยทรงคิดว่าพระองค์จะกลายมาเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะพระองค์เป็นพระอนุชาองค์เล็กสุดในสายของรัชกาลที่ 6 แต่บุญเป็นเรื่องที่แข่งกันไม่ได้ เพราะพระเชษฐาของพระองค์สามสี่พระองค์ต่อจากรัชกาลที่ 6 ทรงทิวงคตหมด ดังนั้น พระองค์จึงกลายเป็นผู้ที่เหลืออยู่พระองค์เดียวที่จะต้องขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

เมื่อพระองค์ได้เป็นพระมหากษัตริย์ สิ่งแรกที่พระองค์ทรงตั้งคืออภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งคือที่รวมผู้อาวุโสแห่งราชวงศ์ เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นพระองค์ทรงขจัดเจ้านายออกไปจากการบริหารแผ่นดิน เจ้านายที่รอคอยมา 15 ปีนั้นจึงได้โอกาสสนับสนุนรัชกาลที่ 7 และได้กลับมามีอำนาจในฐานะอภิรัฐมนตรีสภา รัชกาลที่ 7 ก็ได้ประโยชน์จากการมีอภิรัฐมนตรีสภา เพราะว่าเป็นการแสดงว่าพระองค์จะไม่บริหารประเทศเพียงคนเดียว แต่เมื่ออภิรัฐมนตรีสภาไม่เป็นเพียงที่ประชุมเท่านั้น แต่เรียกประชุมทุกสัปดาห์ พระมหากษัตริย์จะต้องมานั่งหน้าอภิรัฐมนตรีสภา และถูกถามว่า.. เช่น คนที่มีพระชนมายุสูงสุดคือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถามว่า เรื่องนั้นเป็นยังไง เรื่องนี้เป็นยังไง พระองค์จะต้องทรงตอบว่า ทำไมเรื่องนั้นเป็นยังไง และเรื่องนี้เป็นยังไง เรื่องนี้ทำได้ไหม อภิรัฐมนตรีสภาบอกว่าทำไม่ได้ เรื่องนั้นทำได้ไหม อภิรัฐมนตรีสภาบอกว่าทำไม่ได้ พระองค์ทรงบอกว่า อยากให้มีรัฐธรรมนูญ อภิรัฐมนตรีสภาตอบว่าต้องคิดให้รอบคอบ เหมาะสมกับประเทศหรือยัง การศึกษาของไพร่ฟ้าอาจไม่ดีพอ ดังนั้นความคิดที่จะมีรัฐธรรมนูญในปีแรกๆ ของสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงไม่บรรลุ เพราะการยับยั้งของอภิรัฐมนตรีสภา ในปีสุดท้ายของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็พยายามที่จะผลักดันรัฐธรรมนูญของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่บรรลุเพราะอภิรัฐมนตรีสภา ..นี่คือสถานะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯจะต้องคิด

การผลักดันรัฐธรรมนูญของพระองค์นั้น ถ้ารัฐธรรมนูญออกได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มาตรา 1 จะต้องระบุว่าอำนาจของประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญก็คือกลไกที่จะกำจัดอภิรัฐมนตรีสภาออกจากการเป็นเครื่องกีดขวางในการบริหารแผ่นดินโดยมีคณะเสนาบดีเข้ามาแทน

กระบวนการใช้กฎหมายเพื่อกำจัดอีกกลุ่มหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงเรียนรู้ ดังนั้น ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน และการประชุมของคณะทหารทั้งหมดที่วังไกลกังวลหัวหินนั้น เรียกร้องให้พระองค์ทรงต่อสู้ เพราะพวก “แก๊ง” ที่กำลังยึดอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯนั้น “เด็กๆ” และ “สามัญชน”

จริงหรือ..ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจในครั้งนี้
จริงหรือ..ไม่มีเจ้านายพระองค์อื่นอยากได้อำนาจเป็นกษัตริย์
หรือว่าจริงหรือจะไม่มีความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข

เหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 หรือ 21 ปีก่อนหน้านั้น คณะทหารหนุ่มซึ่งอายุ 19 ปีขึ้นมา ต่างคิดว่าการปกครองประเทศมีสองวิธีคือ หนึ่ง มีรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และ สอง เป็นการปกครองแบบประธานาธิบดีที่เลือกคนขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศ 21 ปีผ่านไปกระแสนี้ยังครอบคลุมทั่วโลก คือกระแส democracy ในสองรูปแบบ ที่เราเรียกว่า ประชาธิปไตย หนึ่ง มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สอง มีคนธรรมดาสามัญขึ้นเป็นประมุขของประเทศในนามของประธานาธิบดี

ดังนั้นในฐานะของเจ้าแผ่นดิน พระองค์ต้องคิดว่า ในฐานะของพระมหากษัตริย์ประมุขของราชวงศ์ ทำยังไงถึงจะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ สืบทอดสถานะของพระมหากษัตริย์ต่อไปได้ แต่ใครจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป นี่คือสิ่งที่พระองค์จะต้องคำนึงถึง.. เราคงเคยได้ยินถึงพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระองค์ท่านเป็นพระโอรสของกรมหลวงพิษณุโลกฯ กับหม่อมซึ่งเป็นชาวรัสเซียน รัชกาลที่ 7 จะต้องบอกกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสมอว่า “สายเลือดของท่านจะนำมาสู่ปัญหาของการปกครองของราชวงศ์ดังนั้นอย่ากระทำอะไรเด็ดขาด” นี่คือสิ่งที่บันทึกอยู่ในเอกสารที่รัชกาลที่ 7 จะต้องเตือนเจ้านายต่างๆ ว่า ใครพึงเคลื่อนไหว และใครพึงไม่เคลื่อนไหว

ในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ในฐานะประมุขของประเทศ ปัญหาของพระองค์คือทำไงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงสืบทอดต่อไป หลังจากสืบมาแล้ว 150 ปี

ถ้าคณะราษฎรที่กำลังยึดอำนาจที่กรุงเทพฯนั้นมีความคิด republic มีประธานาธิบดี ถ้าพระองค์ไม่ยอมเป็นกษัตริย์ตามที่คณะราษฎรเรียกร้อง คณะราษฎรจะเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือไม่ ในปัจจุบันเรารู้ว่าไม่ได้เปลี่ยน แต่ในขณะนั้น ในช่วงแห่งการตัดสินใจจังหวะหนึ่งๆ นั้นมันสำคัญมาก เพราะอย่าลืมนะครับว่ายังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ระบบชุมสายโทรศัพท์ถูกตัดขาด ดังนั้นพระองค์จึงยอมรับคำขู่ของคณะราษฎรและเสด็จกลับเป็นพระมหากษัตริย์

ในการเสด็จกลับนั้น สิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงมี คือพระราชอำนาจตามพฤตินัย แม้ว่าคณะราษฎรจะให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ซึ่งจะประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แต่พระองค์ทรงใช้การเมืองของพระองค์ เขียนต่อชื่อของรัฐธรรมนูญว่า วงเล็บ “ชั่วคราว” ก็ในเมื่อพระองค์ยอมกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ก็ทรงมีอำนาจที่จะเขียนคำเล็กน้อย “ชั่วคราว” แต่คำเล็กน้อยชั่วคราวนี้ คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงรัฐธรรมนูญจนถึงทุกวันนี้เลย

ชั่วคราวของพระองค์คืออะไร ก่อให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สองที่เราคิดว่าจะเป็นฉบับถาวร ฉบับที่สองประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งคนในยุคนั้นเชื่อกันว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่ชั่วกัปชั่วกัลปาวสาน แต่ถ้าคนยุคนั้นเกิดขึ้นมาใหม่ได้ก็จะพบว่า ประเทศนี้กินเนสบุ๊คยังไม่ยอมเรคคอร์ดเลย

สาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ในประเด็นรัฐธรรมนูญที่ร่างเป็นฉบับที่สองคือ ใครที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสองที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือวุฒิสภานั่นเอง ใครคือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง พระมหากษัตริย์ หรือคณะราษฎร ข้าราชการประจำเป็นวุฒิสภานี้ได้หรือไม่ ข้าราชการประจำเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ และรัฐบาลรับผิดชอบต่อใครระหว่างพระมหากษัตริย์ กับสภาผู้แทนราษฎร

และนี่คือปัญหาจาก 2475


โดย : ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

หมายเหตุ
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 50 มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ ‘เบื้องแรกประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญสยาม : กบฏ ร.ศ.130 และปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475’

‘ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์’ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอเรื่องราวบางแง่มุมของเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ว่าการตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นการตัดสินพระทัยที่ชาญฉลาดยิ่ง ทั้งในฐานะประมุขของสถาบันกษัตริย์และประมุขของประเทศ ซึ่งผลในวันนั้นก็ยังส่งผลถึงสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันด้วย

ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9581&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

ไม่มีความคิดเห็น: