วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550

‘สเปน’ และความสั่นคลอนของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่าเป็น ‘บิดาแห่งสเปนสมัยใหม่’ ตั้งแต่ครั้งที่พระองค์ทรงปฏิเสธการสนับสนุนคณะทหารซึ่งเตรียมรัฐประหารในปี ค.ศ.1981 เพื่อยึดอำนาจการปกครอง หลังจากจอมพลฟรานซิสโก ฟรังโก ซึ่งปกครองสเปนด้วยระบอบเผด็จการเสียชีวิตลง

การตัดสินพระทัยของกษัตริย์คาร์ลอสในครั้งนั้นเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญจากประชาชนชาวสเปนที่ถูกปลดปล่อยจากการกดขี่โดยระบอบเผด็จการ และนำพาสเปนไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ช่วยให้สเปนผ่านพ้นยุคสงครามเย็นมาได้ด้วยดี

ปัจจุบัน สเปนถูกปกครองในระบอบรัฐสภา แบ่งเขตการปกครองเป็นแคว้นอิสระ 17 แคว้น (Autonomous Communities) และ 2 จังหวัดโดยรัฐธรรมนูญสเปนจะเปิดโอกาสให้แคว้นต่างๆ มีสิทธิในการปกครองตนเองได้ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังการปกครองตนเองของแต่ละแคว้น และสถาบันกษัตริย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งประเทศ

ผลการสำรวจคะแนนความนิยมที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของสเปนจัดทำขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2550 ปรากฏว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 ทรงครองตำแหน่งขวัญใจชาวสเปนตลอดกาล และทรงเอาชนะ ‘มิเกล เซอร์บันเตส’ นักเขียนวรรณกรรมทรงอิทธิพลเรื่อง ดอน กิโฆเต้ รวมถึงศิลปินชื่อดังระดับโลก ‘ปาโบล ปิกัสโซ’ ด้วยคะแนนนำท่วมทัน

ถึงกระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อพระราชบัลลังก์ของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส มากขึ้นทุกที...


‘การวิพากษ์วิจารณ์’ และ ‘การล่าแม่มด’

ในขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอส ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟีย เสด็จเยือนเมืองเจโรนา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแคว้นกาตาลุนยา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 เหตุการณ์ซึ่งกลายเป็นที่โจษจันอย่างมากในสเปนก็เกิดขึ้น

‘โจเม รูร่า’ (Jaume Roura) และ ‘เอนริก สเติร์น’ (Enric Stern) ชายหนุ่ม 2 นายได้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ของพระราชาและพระราชินี เพื่อเรียกร้องให้มีการมอบสิทธิการปกครองตนเองที่มากกว่าเดิมให้แก่ชาวกาตาลุนยา

ข่าวการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ถูกรายงานไปทั่วสเปนและทั่วโลก ทำให้ผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์คาร์ลอสที่ 1 ไม่พอใจอย่างยิ่ง รูร่าและสเติร์นจึงถูกจับกุมตัวด้วยข้อหา ‘ล่วงละเมิด’ ประมุขสูงสุดของประเทศผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และเมื่อมีผู้รายงานในภายหลังว่าทั้งรูร่าและสเติร์นเป็นสมาชิกกลุ่มเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุนยา กระแสความไม่พอใจยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมที่รออยู่เบื้องหน้าของทั้งสองคนจะเป็นอย่างไร และบทลงโทษสำหรับผู้ล่วงละเมิดหรือให้ร้ายประมุขแห่งสเปนหมายถึงการจำคุก ตั้งแต่ 15 เดือน ไปจนถึง 2 ปี ตามแต่ความผิดที่ก่อ หรือไม่ก็เสียค่าปรับเป็นเงินจำนวนไม่น้อย

ถึงตอนนี้ศาลจะยังไม่นัดวันตัดสินคดีที่แน่นอน แต่เชื่อได้เลยว่าประชาชนชาวสเปนกำลังใจจดใจจ่ออยากให้วันนั้นมาถึงเร็วๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนผู้เรียกตัวเองว่า ‘Juancarlistas’ หรือ ผู้สนับสนุนกษัตริย์คาร์ลอส

แต่ก็ใช่ว่ารูร่าและสเติร์นจะเผชิญกับคำพิพากษาของศาล (และสังคม) โดยลำพัง พวกเขาก็มีเสียงสนับสนุนที่เข้มแข็งไม่แพ้กัน

ในระหว่างที่รูร่าและสเติร์นกำลังรอการตัดสินคดี กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการปกครองตนเองในแคว้นกาตาลุนยาและบาสก์ รวมตัวกันเดินขบวนในเมืองต่างๆ เช่น มาดริด และบาร์เซโลน่า เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการจับกุมตัวผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสองราย

นักศึกษาหลายร้อยคนรวมตัวกันที่มหาวิทยาัลัยบาร์เซโลนา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวรูร่าและสเิติร์น โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองคนเพียงแค่แสดงความคิดเห็นโดยใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเท่านั้น เพียงแต่ว่ามันอาจจะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่

จากกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจากเอเอฟพีได้สัมภาษณ์ ‘เอเดรีย คาสเตลวี’ สมาชิกสมาพันธ์นักศึกษาสเปน ซึ่งให้เหตุผลว่า นักศึกษาออกมาประท้วงให้ปล่อยตัวรูร่าและสเติร์น เพราะไม่ต้องการให้ผู้ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับยุคที่มีการล่าแม่มด ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าผู้ไม่เห็นด้วยกับศาสนจักรจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด จากนั้นก็จะถูกนำตัวไปทรมานจนกว่าจะยอมรับอำนาจของศาสนจักร หรือไม่ก็อาจจะถูกเผาทั้งเป็น


เหตุการณ์ประท้วงตึงเครียดขึ้นในวันที่ 22 กันยายน เมื่อนักศึกษาอีก 9 คนถูกจับตัวไปหลังจากที่พวกเขาเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชาและพระราชินีแห่งสเปนอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวรูร่าและสเติร์น
ผู้ชุมนุมประท้วงที่ยังเหลืออยู่ไม่มีใครเผาพระบรมฉายาลักษณ์อีก แต่มีการเผาไพ่คิงและควีนในสำรับไพ่แทน

อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษาทั้ง 9 คนถูกปล่อยตัวแล้ว โดยศาลให้เหตุผลว่าพวกเขายังเป็นเพียงวัยรุ่นที่ถูกปลุกปั่นโดยสื่อมวลชน และกระทำความผิดเนื่องจากสถานการณ์ำพาไป บทลงโทษจึงไม่ร้ายแรงเท่ากับสิ่งที่รูร่าและสเติร์นทำ


คลื่นใต้น้ำและวาระซ่อนเร้น

หลังจากเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์เกิดขึ้นได้ไม่นาน ตัวแทนพรรคอีอาร์ซี (ERC - Esquerra Republicana de Catalunya) ได้ออกมากล่าวว่า

“เราเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชาเพื่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องระบบการเมืองของสเปนอย่างเปิดเผย หลังจากที่อำนาจถูกส่งผ่านจากเผด็จการมาสู่ระบอบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้”

นอกจากนี้ พรรคอีอาร์ซียังเคลื่อนไหวในรัฐสภา เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณปี 2008 ที่จะต้องนำไปถวายให้แก่พระราชา พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วย

ขณะเดียวกัน เฟเดอริโก จิเมเนซ โลซันโตส ผู้จัดรายการประจำสถานีวิทยุ COPE ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ออกอากาศว่า กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ที่ 1 น่าจะสละราชบัลลังก์ให้แก่ มกุฎราชกุมารเฟลิปเป เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้แก่สเปน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ผู้บริหารของสถานีดังกล่าวได้ออกมาให้ข่าวว่า คำพูดของโลซันโตสเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล และทางสถานีพร้อมจะให้การสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อย่างเต็มที่

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่ว่ามา ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ความคิดของประชาชนชาวสเปนกำลังแบ่งแยกออกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย โดยกลุ่มผู้สนับสนุนกษัตริย์คาร์ลอสที่ 1 และกลุ่มผู้สนับสนุนการปกครองตนเองซึ่งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอำนาจของสถาบันกษิตริย์กำลังรอเวลาที่จะปะทะกันเองอยู่

ความขัดแย้งปั่นป่วนเช่นนี้ ส่งผลให้กษัตริย์คาร์ลอส ที่ 1 ทรงมีพระราชดำรัสโดยตรงแก่ประชาชนชาวสเปน เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ระบุว่า พระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศเป็นเวลานาน ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นผู้ธำรงรักษาเสถียรภาพของสเปนเอาไว้ด้วย

พระราชดำรัสดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการถูกโจมตีโดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ต้องการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง และประชาชนสเปนที่สนับสนุนกษัตริย์คาร์ลอสที่ 1 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับพระราชดำรัสครั้งนี้

“การต่อต้านพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ก็แค่พวกอันธพาลไม่กี่คนที่ถูกปั่นหัวโดยสื่อ แต่ชาวสเปนส่วนใหญ่ต่างก็รักและสนับสนุนพระมหากษัตริย์ของพวกเขา”

มิเกล แองเกล มอราติโนส (Miguel Angel Moratinos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสเปน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ก่อนจะปิดท้ายว่า “การประท้วงพวกนี้จะยิ่งทำให้ราชวงศ์ทวีความเข้มแข็งมากขึ้น”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี โฆเซ่ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ยังกล่าวอีกด้วยว่า การเรียกร้องให้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงเรื่องชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ไม่นานก็จะผ่านพ้นไป และไม่สามารถสร้างผลกระทบใดๆ ให้กับสถาบันผู้ให้การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอดนี้ได้

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวประท้วงเพื่อปล่อยตัวรูร่าและสเติร์นยังเกิดขึ้นอยู่ประปรายในแต่ละแคว้นของสเปน เช่นเดียวกับที่รายงานข่าวเรื่องการเผาไพ่คิงและควีนยังดังมาให้ชาวโลกได้ยินเป็นระยะๆ

ข่าวและบทความอ้างอิง
Spain seeks to defuse protests over monarchy
Spanish King Juan Carlos defends monarchy
Spanish judge lets youths who burned king's pictures go free
Spain king defends monarchy role
Spain's king defends monarchy
Jail terms for duo who burned photos of Spanish king

ที่มา : ประชาไท วันที่ : 8/10/2550

หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางข้อความมิได้มีอยู่ในต้นฉบับ แต่มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความ


ไม่มีความคิดเห็น: