หลังสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกท้าทายอย่างหนักและหนักขึ้นเสมอมาว่ายังสามารถทำหน้าที่ได้สอดคล้องและรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของยุคสมัยได้หรือไม่ เพราะสังคมมีความเชื่อในเรื่องเสรีภาพประชาธิปไตยมากขึ้นและมากขึ้น
ทั้งนี้ มีคำถามสำคัญว่า การคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น สวนทางกับเสรีภาพหรือไม่ โดยเฉพาะภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันเป็นเครื่องมือชั้นดีของผู้มีอำนาจในการทำลายศัตรู ภายใต้ภาวะดังกล่าวทำให้ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกซ่อนเร้นเพราะไม่มีผู้ใดกล้าพูดถึง จนกลายเป็นความมืดบอดและอาจจะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการกัดกร่อนการคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เอง
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามผู้อาวุโส จึงสวนกระแสผู้มีอำนาจด้วยการพูดสถาบันในเชิงวิพากษ์ด้วยเจตนาทำลายความมืดบอดนั้น แต่หลายครั้งความคิดของสุลักษณ์ไปยอกอกการใช้อำนาจของบางกลุ่มบางคน สุลักษณ์จึงมักโดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสมอๆ ในช่วงที่มีการสั่นคลอนผู้มีอำนาจอย่างหนักโดยเฉพาะทางการเมือง และในครั้งนี้ก็เช่นกัน
สุลักษณ์ วิพากษ์การบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี อย่างรุนแรงหลายครั้ง รวมทั้งขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม้เบื่อไม้เมาของนายกฯ ในที่สุดแนวคิดของสุลักษณ์ที่ถ่ายทอดลง ‘ฟ้าเดียวกัน’ ก็กลายเป็นคดีหมิ่นฯ
อย่างไรก็ตาม สุลักษณ์ ยังยืนยันที่จะพูดถึงเพื่อธำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวิถีความรักที่ออกแบบไม่ได้ของเขา
28 เมษายน 2549 สุลักษณ์ ยังคงรับคำเชิญกล่าวปิดงานวิชาการ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ’ โดยสถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับสถาบันสันติประชาธรรมมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
‘ประชาไท’ ขอนำเสนอเนื้อความตามต้นฉบับดังนี้
คำกล่าวปิดการอภิปรายทางวิชาการว่าด้วยพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ครบ ๕๐ ปี ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับอนาคตของประเทศไทย* เนื่องในวโรกาสอันวิเศษนั้น ก็วันที่ ๙ มิถุนายน ที่จะถึงนี้ จะครบ ๖๐ ปีแห่งการเถลิงราชไอสวรรย์ นับเป็นมงคลกาลโดยแท้ ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวปิดงานวันนี้ ซึ่งตรงกับวันอภิเษกสมรสอีกด้วย
ก็คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญนั้น ส่อเค้าถึงต้นตอที่มาจากฝรั่ง เพราะคำว่า “สถาบัน” เราก็เพิ่งบัญญัติขึ้นใช้เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง ยังคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเกิดการปกครองในแนวทางของประชาธิปไตยใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นี่เอง
ประเทศในเอเชียแห่งแรกที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ พ.ศ. ๒๔๒๒ เพื่อแสดงความทันสมัยอย่างไม่แพ้ฝรั่งคือญี่ปุ่น ในรัชสมัยเมจิ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแสดงความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่สุด ยกพระจักรพรรดิ (ซึ่งเคยอยู่ในอำนาจของโชกุน) ให้ศักดิ์สิทธิ์ เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ แม้จนปรัมปราคติที่ว่าต้นราชตระกูลเป็นองค์อาทิตย์เทพธิดา ก็ตั้งข้อกังขาไม่ได้ โดยที่ใครๆ ก็ต้องยอมตายถวายชีวิต จะในการพระราชสงครามหรือไม่ก็ตาม
ผลก็คือรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร ทั้งในญี่ปุ่นเอง และในประเทศอื่นๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกรุกเข้าไป ไม่ว่าจะจีน เกาหลี ฯลฯ รวมถึงเมืองไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกแล้วเมื่อ ๖๐ ปีมานี้ ที่สหรัฐเขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นใหม่ ในฐานะผู้ชนะสงคราม กำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ให้หมดความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ อย่างให้องค์พระประมุขเป็นสามัญมนุษย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดุจดังชาวญี่ปุ่นทั้งหลาย
รัชสมัยเมจิเกิดขึ้นไล่ๆ กับการเสวยราชสมบัติของรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๔๑๑) ซึ่งก็ต้องพระราชประสงค์จะใช้สถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลางในการปกครองบ้านเมืองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน ดังที่เป็นสมัยนิยมเช่นนั้นกันแทบทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะก็อภิมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ปรัสเซีย และรัสเซีย รวมถึงจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ออสเตรียอีกด้วย ทั้งๆ ที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นๆ จักปลาสนาการไปเป็นลำดับๆ แต่ก็ยากที่ชนชั้นปกครองจะแลเห็นได้ชัด**
รัชกาลที่ ๕ ต้องพระราชประสงค์จะทรงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างฝรั่ง ให้ฝรั่งยกย่องนับถือ คือไม่ต้องการเป็นอย่างขัตติยราชในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ซึ่งถ้าไม่เสียเอกราชไปอย่างพม่าและเวียดนาม ก็ล้าสมัยอย่างปรับตัวได้ไม่ทันกับความทันสมัยของโลกสันนิวาส เช่นพระเจ้ากรุงจีน
ทรงหารือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระองค์ และทรงเห็นว่ามีความทันสมัยยิ่งกว่าพระองค์ หรืออย่างน้อยก็มีการศึกษาในต่างประเทศ ในขณะที่พระองค์ท่านขาดมิติทางด้านนี้ พร้อมๆ กันนั้นก็ทรงเชื่อว่าพระเจ้าปฤษฎางค์จะถวายความเห็นให้ได้อย่างน่ารับฟัง ในเรื่องการปรับสถานะพระมหากษัตริย์ของไทยให้อารยประเทศรับรองอย่างไม่น้อยหน้าไปกว่าพระราชาธิราชนั้นๆ ในยุโรป โดยมีความชอบธรรมทางด้านการปกครองบ้านเมืองให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อไปพ้นการเป็นอาณานิคมของฝรั่ง
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทำความผิดเป็นข้อฉกรรจ์ ตรงที่ไม่ได้กราบทูลตอบพระราชปุจฉาอย่างเป็นการส่วนพระองค์ หากนำเอาเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองอันละเอียดอ่อน ที่เนื่องด้วยสถาบันอันสูงสุด ไปเปิดเผยกันอย่างเป็นวงกว้าง แม้จนขุนนางข้าราชการก็พลอยมีโอกาสได้ออกความเห็นด้วย ทั้งบุคคลต่างๆ เหล่านี้ยังมีข้อเสนอให้มีรัฐธรรมนูญชนิดที่ลดทอนพระราชอำนาจลงอีกด้วย ความเห็นดังกล่าวนี้ มีขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญของเมจิถึง ๓ ปี
พระราชหัตถเลขาที่ทรงตอบคำกราบบังคมทูลของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์และท่านอื่นๆ ยืนยันอย่างชัดเจนว่าทรงปฏิเสธรัฐธรรมนูญ หรือการจำกัดพระราชอำนาจ ทั้งๆ ที่ทางอังกฤษเองเริ่มปฏิรูปการเมืองอย่างสำคัญมาแต่ พ.ศ. ๒๓๗๕ นั้นแล้ว แม้อังกฤษจะไม่มีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลายลักอักษร แต่ปีที่ว่านี้นับเป็นการบั่นทอนพระราชอำนาจและอำนาจของอภิชนลงเป็นอย่างมาก โดยที่สภาสามัญเริ่มมีความสำคัญเหนือสภาขุนนางยิ่งๆ ขึ้นทุกที เสียดายที่ชนชั้นปกครองของไทยแทบมองไม่เห็นประเด็นนี้ (เว้นบุคคลที่ทำหนังสือกราบบังคมทูลในปี ร.ศ. ๑๐๓ กระมัง)
ที่ในเมืองไทย อาจมีเพียงกรมหลวงพิชิตปรีชากรพระองค์เดียวก็ได้ ที่ทรงมีพระมติค่อนข้างชัดเจนถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ควรตีกรอบพระราชอำนาจไว้ในแนวทางของประชาธิปไตย (ทั้งนี้โดยไม่รวมสามัญชนเช่นเทียนวรรณ) ในขณะที่กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงแสดงพระมติทางด้านความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มที่เลยทีเดียว
กุลธิดา เกษบุญชู มิค ได้อธิบายไว้ค่อนข้างชัดเจนในเรื่อง The Rise and Decline of Thai Absolutism จึงไม่จำต้องขยายความซ้ำถึงการเสื่อมสลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย ดังที่นายเบน แบตสันก็เขียนไว้แล้วถึงช่วงสุดท้ายของสถาบันดังกล่าวในเรื่อง The End of the Absolute Monarchy in Siam (OUP Singapore 1984) ซึ่งมีแปลเป็นไทยแล้ว
ดังได้กล่าวถึงไว้แต่แรกว่า เวลาเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญนั้น อดเสียมิได้
ที่ต้องโยงไปถึงความคิดของฝรั่ง ดังรัฐธรรมนูญของเมจิที่ญี่ปุ่นนั้น ก็คือการเอาอย่างฝรั่งในทางเผด็จการอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผนวกกับอำนาจทหารในทางการเมืองการปกครอง ตามแบบเยอรมันในสมัยนั้น ด้วยการริดรอนเสรีภาพต่างๆ จนแทบหมดสิ้น
อีกนัยหนึ่งก็คือชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นในสมัยนั้น อ้างว่าการปกครองดังกล่าวเป็นการคืนพระราชอำนาจ (Restoration) จากโชกุน มาไว้ที่พระราชาธิบดี โดยนำเอาราชประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มาสร้างความโอฬาริกให้กับสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบของพระราชาธิราชอย่างฝรั่ง ทั้งๆ ที่พระจักรพรรดิเองก็ทรงอ่อนแอ แม้จะทรงทีท่าว่าโอ่อ่าน่าเกรงขาม ยิ่งรัชกาลถัดไปด้วยแล้ว (ไต้โฉ) ถึงกับมีพระสติวิปลาสเอาเลย และพระราชนัดดานั้นเล่า (โชว่า) ก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเลวร้ายต่างๆ ทางการเมืองการทหาร ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนญี่ปุ่นต้องปราชัยไปในที่สุด ถ้าอเมริกันไม่ช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ ย่อมจะต้องทรงถูกถอด และเป็นอาชญากรสงครามด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้สืบมาแต่รัฐธรรมนูญเมจิมีความรุนแรงเป็นที่ตั้ง สถาบันพระมหากษัตริย์รับใช้ความรุนแรงนั้นติดต่อกันมาถึงสามรัชกาล ทั้งทางการเมือง การทหาร ซึ่งโยงไปยังทุนนิยม อำนาจนิยม และความรุดหน้าทางวิทยาการต่างๆ ซึ่งรวมเรียกว่า ความทันสมัย โดยที่ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในฝ่ายอธรรมแทบทั้งสิ้น*
เปรียบกับสถาบันกษัตริย์ของไทย อย่างน้อยก็แต่รับกาลที่ ๔ เป็นต้นมา เราเป็นไปในทางธรรม ยิ่งกว่าอธรรม เพราะสมัยเมจิ ทำลายศาสนาพุทธและชนชั้นนำรุ่นใหม่ต้องการใช้ความรุนแรงอย่างฝรั่ง บวกกับความรุนแรงเดิมของระบบโชกุน ในขณะที่อภิชนไทยใช้ศาสนาพุทธและความรอมชอมเป็นแกนกลาง ดังพระปฐมวาจาภาษิตของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ที่ตรัสเนื่องในงานบรมราชาภิเษกว่า เราจะปกครองโดยธรรม เพื่อความผาสุกของมหาชนชาวสยาม นั้น ไม่เป็นเพียงรูปแบบ หากออกมาจากสาระของความเป็นพุทธ ที่ปรากฎชัดอยู่ในทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร ซึ่งมีข้อใหญ่ใจความว่า
๑) พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย
๒) มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน
๓) ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์
๔) ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ
(พจนานุกรมพุทธศาส์น ของ ป.อ. ปยุตโต พ.ศ. ๒๕๒๒ หน้า ๓๒)
จะถือว่าทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรเป็นรัฐธรรมนูญที่ควบคู่ไปกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายพุทธศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร จะได้หรือไม่ แม้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณย่อมประกอบไปด้วยสินธูธรรมของพราหมณ์เข้ามาควบเกี่ยวด้วยมิใช่น้อยก็ตามที
เนื้อหาสาระของสินธูธรรมหรือจะว่ารัฐธรรมนูญตามแนวทางของพราหมณ์ก็คือ กษัตริย์ทรงรักษาธรรมะไว้ได้ก็โดยราชอำนาจ ซึ่งย่อมเป็นไปตามราชธรรม กล่าวคือ พระราชาทรงลงราชทัณฑ์ได้ แต่ถ้าลงทัณฑ์เกินเลยไป หรือใช้ราชอคติในการลงทัณฑ์ หรือไม่ใช้การลงทัณฑ์เอาเลย ก็ถือว่าพระราชาไม่ได้ทรงปฏิบัติตามราชธรรม กล่าวคือ การใช้พระราชอำนาจ พระราชาต้องเที่ยงธรรม ไม่โอนเอนไปตามอคติต่างๆ หากยึดมั่นใน ธรรมศาสตร์ และธรรมสูตร หากไม่ทรงปฏิบัติตามราชธรรม ย่อมทรงถูกถอดทอนออกจากราชบัลลังก์ได้
(สินธูธรรม ของ ส. ศิวรักษ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๒๔)
จะกล่าวว่าธรรมศาสตร์เป็นรัฐธรรมนูญเดิมของเราที่ถือตามคติพราหมณ์มาก่อนก็ได้ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ แห่งพระราชวงศ์จักรีโปรดให้เขียนภาพรามเกียรติไว้ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังนั้น ก็เพื่อยืนยันถึงความเป็นธรรมราชา ที่มีพระรามเป็นแบบอย่าง และพระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์ก็ทรงเป็นพระรามาธิบดีด้วยกันทุกพระองค์ ดังในพระราชนิพนธ์รามเกียรติของพระองค์ท่าน ก็มีข้อความปรากฏอยู่ดังนี้คือ
อันพระนครทั้งหลาย ก็เหมือนกับกายสังขาร
กษัตริย์คือจิตวิญญาณ เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์
มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์ บาทาคือพลทั้งสี่
อาการพร้อมสามสิบสองมี ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย
ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์ คือศาสตราวุธทั้งหลาย
ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย แม้นจิตจากกายก็บรรลัย*
รามเกียรติ์ ร.๑ สำนักพิมพ์ศิลปบรรณาคาร พ.ศ. ๒๕๑๐ หน้า ๘๓๑
สรุปได้ง่ายๆ ว่า อาณาประชาราษฎรนั้นคืออาวุธ หรือพลังแรงที่สำคัญยิ่งของอาณาจักร ซึ่งย่อมต้องมีใจ (กษัตริย์) และกาย (ราษฎร) อยู่ควบคู่กันไปอย่างบรรสานสอดคล้องกันถ้าตัดขาดจากกัน “ก็บรรลัย”
ทางฝ่ายพุทธนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามก็ตรัสว่า พระองค์ทรงได้รับเชิญเสด็จให้เสวยราชย์ โดย ‘เอนกนิกรสโมสรสมมติ’ ก็ย่อมต้องทรงปกครองโดยธรรม เพื่อความผาสุกของมหาชนชาวสยาม และจะไม่ทรงประกอบพระราชกิจอันใดที่สำคัญ เว้นแต่จะได้ทรงหารือและได้รับความเห็นชอบแล้วจากมุขมนตรี แต่ถ้าไม่ทรงปกครองโดยธรรม ‘เอนกนิกรสโมสรสมมติ’ ก็สามารถถอดถอนพระองค์ท่านออกจากสิริราชสมบัติได้
ชาดกทางฝ่ายพุทธแสดงเรื่องในอดีตไว้ชัดเจนว่า ถ้าพระราชาไม่ทรงธรรม ย่อมต้องทรงถูกท้าทายจากอำนาจที่อยู่นอกเหนือสถาบันกษัตริย์ อย่างกรณีของท้าวสามล (ซึ่งมาจากสุวรรณสังข์ชาดก) ที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่เจ้าเงาะ เพราะเห็นว่าเป็นคนป่าเถื่อนนั้น พระอินทร์ก็ต้องเสด็จลงมาท้าทายให้ตีคลี และอย่างกรณีของเวสสันดรชาดกนั้น แม้พระยุพราชจะทรงธรรม แต่ราษฎรเห็นว่าทรงมีพระทัยดีเกินไป ก็รวมพลังมวลชนมาขับไล่พระองค์ให้ออกจากราชธานีไป
ตามทางของฝ่ายพุทธศาสนานั้น พระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนของอาณาจักร (คือกลไกในการปกครองที่ใช้อำนาจ) ในขณะที่คณะสงฆ์เป็นตัวแทนของธรรมจักร ที่คอยเตือนสติฝ่ายอาณาจักร ให้ใช้อำนาจไปในขอบเขตของความชอบธรรม
ถ้าคณะสงฆ์ทรงไว้ซึ่งศีลาจารวัตร อย่างรู้เท่าทันสังคมและการเมือง ย่อมเป็นห้ามล้อให้วงล้อของอำนาจไม่หมุนออกนอกลู่นอกทาง เช่น กรณีของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว ในสมัยพระนเรศวร ที่เตือนสติพระเจ้าแผ่นดินไม่ให้ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองผู้จงรักภักดี หรือในกรณีของสมเด็จพระสังฆราช พระพิมลธรรม และพระพุฒาจารย์ ที่ถูกจองจำจนเป็นเหตุให้สิ้นรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีภายในเวลาอันไม่ช้าหลังจากนั้น ตราบจนกรณีที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง จุดตะเกียงทั้งๆ ที่เป็นกลางวันแสกๆ เข้าไปในจวนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ นี่ก็เป็นการเตือนสติท่านผู้นั้น ให้พิจารณาตนเอง เพื่อไม่ให้กำเริบเสิบสานเกินเลยพระราชอำนาจของยุวกษัตริย์ เป็นต้น
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา เกิดคำว่าชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ขึ้นมา จากจิตสำนึกที่เอาอย่างอังกฤษในเรื่อง God King and Country โดยที่อังกฤษเอาคำทั้งสามนี้มาใช้มอมเมาคนให้ยอมตายเพื่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อพระราชามหากษัตริย์และเพื่อแผ่นดินเกิด โดยที่ฝรั่งได้ทำสงครามทางศาสนากันมานักต่อนัก ทั้งๆ ที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน พระราชาในยุโรปที่ประกาศสงครามกันและกัน เช่น เยอรมันกับอังกฤษนั้นเล่า ก็เป็นพระญาติกันอย่างสนิท แม้ประเทศชาติที่เป็นคู่สงครามกันนั้น ก็ปรากฏว่านายทุนค้าขายกันอย่างร่ำรวยขึ้นมามหาศาลจากการสงคราม แม้จะอยู่ต่างฝ่ายกัน ก็อุดหนุนจุนเจือกันในทางทุนทรัพย์เพื่อผลกำไร โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสรับรู้ด้วย
การที่นายคริสมัส ฮัมเฟรส์ มาถือพุทธจนเป็นนายกพุทธสมาคมคนแรกของอังกฤษนั้น ก็เพราะเขาเห็นว่าพี่ชายเขาต้องไปตายในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพราะถูกรัฐบาลหลอกลวง ให้หลงเชื่อและบังคับขับไสให้ไปตายเพื่อชาติ เพื่อศาสนา และเพื่อพระมหากษัตริย์
ถ้าเราแปลเสียใหม่ว่าชาติไม่ใช่เพียงคนที่พูดภาษาเดียวกัน อาศัยแผ่นดินเกิดอยู่ด้วยกัน โดยอ้างไปในทางสัญชาติและเชื้อชาติ ซึ่งเป็นของปลอมทั้งนั้น หากหมายถึงทุกคนที่เกิดมาอย่างร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเป็นมนุษยชาติทั้งหมด เราก็ย่อมจะเกื้อกูลกันและกัน และอุทิศตนเพื่อรับใช้ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและด้อยโอกาส แม้เขาจะต่างสัญชาติต่างเชื้อชาติจากเรา
ศาสนาก็ไม่ได้หมายความว่าของเราดีที่สุด เราเป็นคนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน ศาสนาของเราต้องเป็นศาสนาประจำชาติ ท่านอาจารย์พุทธทาสเตือนเรา ให้ไม่หลงไปกับลัทธิศาสนาที่นำเราไปสู่ความเห็นแก่ตัว นำเราไปสู่ความเป็นชาตินิยม อำนาจนิยม ทุนนิยม หากให้เห็นว่าศาสนาของเพื่อนเราก็ไม่จำต้องด้อยไปกว่าของเรา ให้เคารพนับถือศาสนาของเพื่อนเรา แม้คนไม่มีศาสนา ก็ควรเคารพนับถือเขา แล้วร่วมมือกัน หาทางขจัดความโลภโกรธหลง ซึ่งแสดงออกทางทุนนิยม อำนาจนิยม และนิยมนับถือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีโมหจิตเป็นเจ้าเรือน
พระมหากษัตริย์ก็ควรเป็นสมมติเทพที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ในทางเทวราช โดยที่มนุษย์ก็เป็นเทพได้ ถ้าทรงไว้ซึ่งเทวธรรม คือหิริ ความละอายใจ และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ยิ่งถ้าพระราชมหากษัตริย์ทรงประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตรด้วยแล้ว ท่านย่อมมีค่าแห่งความเป็นมนุษย์ชั้นนำที่ทุกคนควรเอาเยี่ยง ดังพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระราชปรารภไว้อย่างชัดเจนว่าทรงเป็นสามัญมนุษย์ ที่พูดผิด ทำผิดได้ ถ้าใครจงรักภักดี ก็ควรวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่าน
ไม่ควรที่ใครจะเอาพระองค์ท่านหรือสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการโจมตีใคร เพื่อสร้างลัทธิอัตตนิยมให้ตนเอง หรือเพื่อสร้างความเขื่องให้ตนเองในนามของคำว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์อย่างมืดบอดอีกต่อไป ตรัสว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกรายเป็นการทำร้ายพระองค์ท่าน ดังมีพระราชกระแสว่า “ถ้าแตะต้องพระราชมติไม่ได้ เมืองไทยก็ไม่มีทางเจริญ”*
น่าเสียดายที่ผู้ซึ่งทำตนเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา ยังหาเรื่องร้องเรียนให้มีการจับกุมในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ตลอดมา โดยไม่ฟังพระบรมราโชวาทเอาเลย เป็นเหตุให้หน่วยงานทางด้านสิทธิมนุษยชนสากลต้องเข้ามาประท้วงคำสั่งที่ให้เก็บนิตยสารฟ้าเดียวกัน และดำเนินคดีกับบรรณาธิการนิตยสารนั้นในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ**
แม้หนังสือที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในต่างประเทศ เพียงเอ่ยถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ ก็มีคำสั่งห้ามนำหนังสือนั้นๆ เข้ามาสู่ราชอาณาจักรเอาเลย โดยเฉพาะก็เรื่อง (๑) The Devil’s Discus by Rayne Kruger (1964) และ (๒) The Revolutionary King by William Stevenson (1999) รวมถึงเล่มล่าสุด (๓) The King Never Smiles by Paul M. Handley (2006) แล้วนี่มิเป็นการกระทำอันแสดงความอัปยศออกไปในนานาชาติละหรือ และนี่ไม่ขัดพระราชปรารภดอกหรือ โดยที่ในระบบโลกาภิวัตน์ในบัดนั้น การห้าปรามดังกล่าว เป็นไปได้ละหรือ
แม้รัฐธรรมนูญของไทยในฐานกฎหมายสูงสุดจะเพิ่งมีมาแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่เราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระแห่งธรรม ที่ควรจะควบคุมอำนาจรัฐ ให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ เราจึงฉีกรัฐธรรมนูญกันทิ้ง อย่างปราศจากความเคารพธรรมหรือความถูกต้องด้วยประการทั้งปวง
ที่ร้ายอย่างสุดๆ ก็คือการทำลายล้างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังหนึ่งว่าสถาบันดังกล่าวอยู่ตรงข้ามกับธรรมะ จนเผด็จการบางคนเสแสร้งและสรรสร้างให้สถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่นั่นคือไสยศาสตร์ ศาสตร์แห่งความหลับไหล ในขณะที่พุทธศาสตร์ คือศาสตร์แห่งการตื่น ซึ่งย่อมเป็นไปตามทางของอหิงสธรรม ที่ปราศจากความรุนแรง อันเป็นเนื้อหาของศีล คือความเป็นปกติทั้งของแต่ละคนและสังคม
สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ จึงควรเกื้อกูลกันและกัน เพื่อความปกติของสังคม อย่างไปพ้นความโลภ ซึ่งแสดงออกทางทุนนิยม โดยที่บัดนี้ทุนนิยมมาในคราบของบรรษัทข้ามชาติและสยบยอมกับอภิมหาอำนาจอีกด้วย กล่าวคือทุนนิยมกับอำนาจนิยมผนวกกำลังกันทำให้โลภะและโทสะแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น โดยใช้วิธีมอมเมาในทางโมหะอีกด้วย
เราจึงจำต้องตื่นขึ้นด้วยการยึดเอาสถาบันกษัตริย์เป็นแนวทางของสมมติเทพ ซึ่งมีเทวธรรมเป็นแกน และสถาบันนี้ต้องควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญที่มีธรรมาธิปไตยเป็นหัวใจของการเมืองการปกครอง ที่มีความชอบธรรมอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ วิพากษ์ วิจารณ์ได้
อนึ่ง พึงตราไว้ด้วยว่ายุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์นั้น บรรษัททุนข้ามชาติและอภิมหาอำนาจจะมีอิทธิพลเข้ามาก้าวก่ายภายในราชอาณาจักรต่างๆ ยิ่งขึ้น พูดภาษาอย่างเก่าก็คือประเทศชาติจะเป็นดังปเทศราชาหรือประเทศราชในทางเศรษฐกิจ โดยมีจักรวรรดิอย่างใหม่ เช่นสหรัฐและจีนเข้ามาครอบงำ ถ้าเรารู้จักปรับให้สถาบันกษัตริย์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างไม่สยบยอมอยู่กับทุนและอำนาจอันปราศจากความชอบธรรม มาประยุกต์ใช้ ให้สถาบันกษัตริย์เป็นไปตามสาระของจักรวรรดิวัตรร่วมสมัย โดยมีธรรมเป็นอำนาจ อย่างรู้จักวางท่าทีอย่างสมกับยุคสมัย ให้ถูกต้อง ย่อมสะกดลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมลงได้ สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญก็จะเป็นดังธรรมจักร ที่นำอาณาจักรให้ปลอดพ้นไปจากโลกาภิวัตน์ หรือจักรวรรดินิยมอย่างใหม่
ในขณะที่ธรรมจักรเดิมที่มีผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยนั้น หมดสภาพความเป็นห้ามล้อ หรือความเป็นผู้นำในทางธรรมไปเสียแล้ว เพราะไปสยบยอมกับสถาบันกษัตริย์และลัทธิบริโภคนิยมอย่างเกินเลยไป แต่ถ้าสถาบันกษัตริย์เป็นร่มเงาให้คฤหัสถ์ชนชั้นนำช่วยกันหันมาให้ความสำคัญกับสถาบันสงฆ์ ดังกับเป็นการสังคายนาอย่างใหม่ สถาบันนี้ก็อาจมีพระธรรมวินัยเป็นดังธรรมนูญ และธรรมจักรที่มีคณะสงฆ์เป็นแกนกลางก็อาจร่วมกับสถาบันกษัตริย์และพศกนิกรที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม นำรัฐสีมาอาณาจักรให้ไปสู่ความตื่นจากอวิชชาร่วมสมัย ก็ยังได้
ที่สุดนี้ ขอยืนยันถึงถ้อยคำของตนเองที่แสดงไว้เมื่อทศวรรษก่อนว่า สถาบันกษัตริย์แห่งใดเป็นประชาธิปไตยมาก มีพระราชอำนาจน้อย คล้อยตามไปกับโลกสันนิวาสอย่างทันกาลสมัย ยอมยกให้ราษฎรเป็นใหญ่ แม้ราษฎรจะผิดพลาดไปบ้าง สถาบันกษัตริย์ก็ดำรงอยู่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพระราชาธิราชประกาศความแข็งกร้าว ใกล้ชิดกับกองทัพ ยืนหยัดอยู่เหนือราษฎร ดูถูกประชาชน รังเกียจปัญญาชนที่มีความคิดในทางสร้างสรรค์อย่างก้าวหน้า แม้พวกนี้จะผิดไปบ้างอย่างไร อำนาจราชาธิปไตยไปกระทบหรือขัดขืนกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงไร ก็รังแต่เป็นภัยกับสถาบันกษัตริย์ จนปลาสนาการไปได้ แม้จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่อย่างออสเตรีย เยอรมัน รัสเซีย และออตโตมาน ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ *
ขอเสริมอีกประเด็นหนึ่งว่า ถ้าสถาบันกษัตริย์ตีตัวออกห่างจากบรรษัทข้ามชาติ โดยไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจลัทธิทุนนิยมมากเพียงไร นี่ก็จะเป็นปัจจัยในทางเพิ่มพระบรมเดชานุภาพยิ่งๆ ขึ้นเพียงนั้น ดังขอปิดท้ายรายการอภิปรายด้วยพระอมตพจน์ของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร พระองค์แรกที่ว่า “การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดใครแล้ว จะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้ว มีสองทางคือ บวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดิน สำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎร ซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้”*
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เช่นนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วไซร้ ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่ดี และมีผู้คนซึ่งประกอบไปด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรมประกอบกัน ไม่ว่าพระราชาในอนาคตจะเป็นใคร เราย่อมอาจรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ได้ดังพระราชปณิธานของพระปิยมหาราช
..............................................................
* ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สำหรับฉบับภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในโอกาสนั้นคือ Modern Thai Monarchy and Cultural Politics edited by David Streckfuss (1996)
** ดูเรื่อง ความเข้าใจในเรื่องราชาธิปไตย ของข้าพเจ้า (พ.ศ. ๒๕๓๖)
* ดู Hirohito by Herbert P. Bix (Harper Perenial) 2001 และคำวิจารณ์ของข้าพเจ้าใน ฉีกจีวร ย้อนดูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (พ.ศ. ๒๕๔๖) หน้า ๑๘๓–๑๘๘
* ขอให้เปรียบความข้อนี้กับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ว่าด้วยตำแหน่งขุนนางแต่สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งนำมาลงพิมพ์ไว้ในเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับอนาคตของประเทศไทย (๒๕๓๙) หน้า ๔๙–๕๐
* ดู King Bhumibol: Strength of the Land ฉบับสำนักนายกรัฐมนตรี ค.ศ. ๒๐๐๐ หน้า ๑๕๐ และปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ
** Asian Human Rights Commission, Publisher charged with lese majeste, 10 April 2006 (www.ahrchk.net/ua/mainfule.php/2006/1651)
* จาก สถาบันพระมหากษัตริย์กับอนาคตของประเทศไทย (๒๕๓๙) หน้า ๒๐–๒๑
* จาก สถาบันพระมหากษัตริย์กับอนาคตของประเทศไทย (๒๕๓๙) หน้า ๓๙
โดย : ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง วันที่ : 29/4/2549
ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=3498&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางข้อความมิได้มีอยู่ในต้นฉบับ แต่มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความ
วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 2:17 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น