พระราชดำรัสวันนี้ บางช่วงก็พอเดาๆได้บ้างว่าหมายถึงอะไร แต่ก็อีกนั่นแหละ ทุกฝ่ายก็ตีความเข้าข้างตนเองหมด ก็ในเมื่อพระราชดำรัสศักดิ์สิทธิ์ออกปานนั้น ใครๆก็อยากให้เข้าทางตนเอง เลยไม่รู้ว่าฝ่ายไหนกันแน่ที่เข้าใจถูก
ได้แต่หวังว่า หลังจากพระราชดำรัสนี้แล้ว จะไม่เกิดปรากฏการณ์แต่ละกลุ่ม “ผูกขาดความเป็นเจ้าของพระราชดำรัส” ว่าพระราชดำรัสนี้เป็นคุณแก่ฝ่ายตนเอง และหวังอีกเช่นกันว่า จะไม่เกิดปรากฏการณ์ “สภาวะแตะต้องมิได้ของพระราชดำรัส”
มีข้อสังเกตให้เก็บไปคิดกันต่อ (ถ้าเกรงภัย ไม่ต้องคิดดังก็ได้)
๑. หมายกำหนดการศาลปกครองสูงสุดเข้าเฝ้าฯถวายเสื้อครุย ทำไมถึงประจวบเหมาะเช่นนี้ ?
๒. เนื้อความในพระราชดำรัส ชัดเจนหรือไม่? ถ้าชัดเจน หมายถึงอะไร? ถ้าไม่ชัดเจน ทำไมไม่ชัดเจน แล้วไม่ชัดเจน จะเกิดปัญหาตามมาอีกหรือเปล่า ใครจะเป็นคนบอกได้ในท้ายที่สุด ?
๓. “ข้าพเจ้าเองก็ในใจมีคำตัดสินอยู่ แต่บอกท่านไม่ได้ เพราะไม่มีสิทธิ์ที่จะบอก ท่านเองก็ไม่มีสิทธิ์ แต่ท่านต้องมีการตัดสินอยู่ในใจว่าที่เขา เพื่อนของศาลรัฐธรรมนูญเขาจะตัดสินถูกหรือไม่ถูก ต้องมีอยู่ในใจ
แต่ว่า เขาจะตัดสินอย่างไรก็ตาม เดือดร้อนทั้งนั้น เสียหายทั้งนั้นคำตัดสินของเขาจะเดือดร้อน และเสียหายสำหรับท่านเองทั้งนั้น ข้าพเจ้าก็เดือดร้อน แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเดือดร้อน ไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเขาทำถูกหรือไม่ถูก แต่รู้ในใจว่า เขาจะตัดสินอย่างไรก็ตาม รู้ในใจว่าเขาทำถูกหรือผิด ส่วนใหญ่ก็นึกว่าคงต้องทำผิดแน่ เมื่อเขารู้สึกว่าถ้าเขาทำผิดเรามีหน้าที่ที่จะวิจารณ์ในใจ แต่ละท่านต้องวิจารณ์ว่า ที่เพื่อนศาลอื่นทำถูกหรือผิดต้องมี ต้องวิจารณ์ อย่างน้อยในใจของท่าน หรือนอกจากนั้นก็ มีความเห็นบ้างเพราะถ้าหากว่าเขาตัดสินมาอย่างไร จะเสื่อมเสียกับบ้านเมืองทั้งนั้น จะตัดสินทางไหนก็ตาม ก็เป็นคำตัดสินที่จะผิด ผิดพลาดทั้งนั้น ฉะนั้นจะต้องมีการวิจารณ์ แต่ท่านวิจารณ์เป็นทางการไม่ได้ท่านต้องวิจารณ์เป็นส่วนตัว อาจจะไม่เปล่งออกมา”
พระราชดำรัสท่อนนี้ หมายความว่าอย่างไร ? หมายความว่า ศาลปกครองไม่เกี่ยวเรื่องยุบพรรคก็จริง แต่ก็ไปกระซิบบอกศาลรัฐธรรมนูญเสียหน่อย ไหนๆประธานศาลปกครองสูงสุดก็เป็นหนึ่งในองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างนั้นหรือ?
๔. คุณเห็นด้วยหรือไม่กับ Intervention ทางตุลาการ ? ภายใน ๑ ปี มีปรากฏการณ์ทำนองนี้สองครั้งแล้ว เมษาปีที่แล้วหนหนึ่ง (เพิกถอนเลือกตั้ง) พฤษภาปีนี้ อีกรอบ (ยุบพรรค) ก่อนหน้านั้น แทบไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ Intervention ทางตุลาการเลย (ผมคิดว่าสองครั้งนี้น่าจะเป็นสองครั้งแรกเลยทีเดียว) Intervention ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นไปในทางตรง เช่น เรียกคู่กรณีมาสงบศึก เป็นต้น หรือนี่เป็นรูปแบบใหม่ของการ Intervention การเมือง โดยยืมมืออำนาจตุลาการ ?
........
มีเรื่องเล่าให้ฟังเล่นๆ
สหราชอาณาจักร พระราชินีอลิซาเบธไม่สามารถออกมากล่าวสุนทรพจน์ได้พร่ำเพรื่อ ในทางปฏิบัติสุนทรพจน์ที่ออกสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ มีปีละครั้ง คือ คริสต์มาส และต้องให้คณะรัฐมนตรีตรวจดูก่อนด้วย นอกจากนี้พระราชินีอลิซาเบ็ธจะกล่าวสุนทรพจน์โดยอ่านตามโพย ไม่ได้พูดสดๆโดยไม่มีสคริปต์
ในเบลเยียม รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ไม่มีกรณีใดที่พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาจะหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบของรัฐมนตรี
.............
นับแต่นี้ การเมืองไทยน่าจับตาทุกฝีก้าว โปรดอย่ากระพริบตา
ประชามติรัฐธรรมนูญจะมีหรือไม่มี
แล้วจะมีรัฐประหารอีกรอบเพื่อล้างไพ่ใหม่หมด แบบถอยคนละก้าว หรือไม่
ผมเดาเอาเองว่า ไม่เกินปลายปีนี้ ปัญหาน่าจะจบ
แต่จบที่ว่า...
เกรงว่าจะจบแบบแนวเป่านกหวีดแบบเดิมๆ
เป่าแล้ว ประชาชนก็เป็นไพร่แบบเดิม
posted by Etat de droit
วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 24, 2007
ที่มา : http://etatdedroit.blogspot.com/2007_05_01_archive.html
วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ไม่เข้าใจ – โปรดจับตา : พระราชดำรัสวันนี้....
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 11:52 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น