วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทสรุป: ถวัติ ฤทธิเดช ในกระแสการเมืองราษฎร


ปูมิหลังของชีวิตและการต่อสู้ของถวัติเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศทางการเมืองและสภาพสังคมในช่วง พ.ศ.2466-2480 ซึ่งให้กำเนิดคนกลุ่มใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์, ความคิด และความต้องการทางการเมืองแบบใหม่ๆ ในขณะที่โครงสร้างการเมืองการปกครองเต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากอวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และกำเนิดประชาธิปไตยรัฐสภา

โดยปกติของการเมืองในสภาวะนี้มักอ่อนแอและเปราะบางต่อการแตกสลาย จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะควบคุมหรือต่อต้านการท้าทายพลังกลุ่มใหม่ๆ ได้มากนัก บรรยากาศทางการเมืองแบบนี้เปิดโอกาสให้คนแทบทุกกลุ่มต่อสู้ ต่อต้าน และต่อรองกับ “อำนาจ” ได้โดยเปิดเผยและแทบเป็นอิสระ และผลที่ตามมาก็คือสภาวะที่การเมืองแบบใหม่ของพลเมืองเติบโตขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ภายใต้เงื่อนไขดังที่กล่าวมา สามารถสรุปและประเมินผลบทบาทของถวัติในแง่มุมต่างๆ ได้ดังนี้ี้


ประการที่หนึ่ง ผลสะเทือนต่อ “การเมืองของพลเมือง”

ถวัติมีบทบาทในสังคมไทยในช่วงที่ระบบคุณค่าแบบเก่าเริ่มที่จะล่มสลาย บทบาทของ ถวัติในช่วงต้นจึงเป็น “ปัญญาชนสาธารณะ” ที่โจมตีระบบคุณค่าแบบเก่า พร้อมกับยกย่องเชิดชูระบบคุณค่าแบบใหม่ เช่น ความสามารถสำคัญกว่าชาติกำเนิด การแบ่งแยกระหว่างราชการกับราชวงศ์ โดยอาศัยหนังสือพิมพ์เป็น “ตัวกลาง” ในการเผยแพร่ความคิดเห็นไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม [1]

น่าสนใจว่าในขณะที่ปัญญาชนคนอื่นๆ ในรุ่นก่อนนั้น เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ, เทียนวรรณ , นรินทร์ ภาษิต เผยแพร่ความคิดเห็นด้วยสื่อซึ่งเข้าถึงผู้อ่านได้จำกัด ได้แก่ จดหมายเหตุคำกลอน หนังสือเล่ม ใบแจ้งความ และแถลงการณ์ ถวัติกลับเผยแพร่ความคิดผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้าถึงผู้อ่านได้มากกว่า จึงมีผลสะเทือนมากกว่าด้วยเช่นกัน

ถวัติเป็นบรรพบุรุษคนแรกๆ ของวงการหนังสือพิมพ์ไทย เช่นเดียวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์, มานิต วสุวัติ และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การสื่อสารมวลชนไทยคนอื่นๆ จึงเป็นหนึ่งในปัญญาชนรุ่นแรกๆ ที่มีส่วนสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” ให้พลเมืองตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

ปรากฎการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายพลเมืองมีอำนาจสูงขึ้น ขณะที่รัฐเริ่มเป็นอิสระจากสังคมน้อยลง จนแม้แต่องค์อธิปัตย์เองก็ไม่ได้เป็นอิสระจากสังคมอีกต่อไป ซ้ำยังสามารถถูกตรวจสอบได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์


ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์เกี่ยวกับสังคม

ถวัติแถลงเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ของเขาทุกฉบับถึงจุดมุ่งหมายในการปกป้องผลประโยชน์ของกรรมกร รวมทั้งคนชั้นล่างกลุ่มอื่นๆ คำแถลงแบบนี้เป็นผลผลิตของโลกทัศน์ที่มองเห็นว่าคนแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์ขั้นมูลฐานที่แตกต่างกัน สังคมจึงไม่ได้เป็นเอกภาพและเต็มไปด้วยความผสมกลมกลืน แต่สังคมคือหน่วยรวมของคนหลากกลุ่มที่มีผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซ้ำยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งซึ่งกันและกัน

โลกทัศน์ของถวัติข้อนี้ลึกซึ้งกว่าปัญญาชนในสมัยเดียวกัน เพราะขณะที่ปัญญาชนส่วนใหญ่คิดถึงพลเมืองในความหมายกว้างๆ จนพลเมืองมีความหมายใกล้เคียงกับ “กระฎุมพี” ถวัติกลับมองเห็นกำเนิดของคนกลุ่มใหม่ซึ่งมีคุณลักษณะและอัตลักษณ์แตกต่างจากคนกลุ่มอื่น รวมทั้งตระหนักในการกดขี่ขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบที่ “ธนานุภาพ” กระทำต่อคนเหล่านี้

กล่าวในแง่นี้ ถวัติจึงเป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่มีความรู้เท่าทันพลวัตและความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรม และทุนนิยม

อนึ่ง ควรระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าถวัติได้กล่าวโจมตี “ธนานุภาพ” อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่กรรมกรโรงสีข้าว 3,000 คน ก่อการนัดหยุดงานใน ปี 2477 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถวัติในเวลานั้นเริ่มตระหนักถึง “อำนาจ” ของพ่อค้านายทุนอย่างเป็นระบบมากขึ้น ถึงขั้นที่มองเห็นว่าความร่ำรวยทางเศรษฐกิจเป็นรากฐานของอิทธิพลทางการเมือง และมีทรรศนะคติในแง่ลบต่อพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของพ่อค้านายทุนมากขึ้นทุกที


ประการที่สาม ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความคิด

ถวัติเป็นบุคคลที่มีความรู้สึกเชิงมนุษยธรรมและความยุติธรรมอย่างแรงกล้า และประสบการณ์จากการทำหนังสือพิมพ์ก็ช่วยให้เขามองเห็นว่าความยุติธรรมสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม ชาติกำเนิดและเวรกรรมจึงไม่ได้เป็นต้นเหตุของความทุกข์อีกต่อไป แต่ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่ปราศจากความยุติธรรม

หากยอมรับว่าความเชื่อเรื่องชาติกำเนิดและบุญทำกรรมแต่ง เป็นผลผลิตของจักรวาลทัศน์แบบพุทธศาสนา / ศักดินา ความคิดเรื่องเรื่องความยุติธรรมของถวัติ ก็เป็นประจักษ์พยานถึงการเสื่อมสลายของจักรวาลทัศน์แบบนี้ ธรรมชาติของการเสื่อมสลายคือ “อาการ” ที่แสดงให้เห็นว่าคำอธิบายโลกแบบเดิมๆ ไม่มีพลังอีกต่อไป และปรากฎการณ์เช่นนี้ก็จะพบได้แต่ในสังคมที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว

น่าสังเกตว่าความคิดเห็นของถวัตินั้นแทบไม่ปรากฎร่องรอยของจักรวาลทัศน์แบบพุทธศาสนา และตัวถวัติเองก็แทบไม่ได้อาศัยคำทางพุทธศาสนามาอธิบายความคิดทางสังคมและการเมืองของตนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับปัญญาชนสามัญชนรายอื่นๆ เช่น เทียนวรรณ ซึ่งมักอาศัยคำ ความคิด หรือไวยากรณ์ทางพุทธศาสนา ไปอธิบายเรื่องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา [2]

ถวัติมีทรรศนะคติเรื่องความยุติธรรมแบบนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับที่กรรมกรบางกลุ่มก่อการรวมตัวกันมาบ้างแล้ว จึงประสบกับเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้เขาสัมพันธ์กับคนงานในอุตสาหกรรมต่างๆ จนกระทั่งตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มและการมีข้อตกลงในการทำงานที่ชัดเจน เช่น ชั่วโมงการทำงาน อัตราค่าตอบแทน สวัสดิการ ฯลฯ ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การนัดหยุดงาน การเจรจาต่อรองกับนายจ้าง การกดดันรัฐบาล และกำเนิดองค์กรจัดตั้งของผู้ใช้แรงงาน

ในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยนั้น การรวมกลุ่มของกรรมกรที่ใกล้ชิดกับถวัติ เป็นความพยายามครั้งแรกๆ ในฝ่ายคนชั้นล่างที่จะมี “ปฏิบัติการทางอำนาจ” เพื่อควบคุม “ธนานุภาพ” ของผู้มีทุน เพื่อไม่ให้นายทุนอาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจไปเอารัดเอาเปรียบคนชั้นล่างได้ตามอำเภอใจ

เมื่อถึงจุดนี้ จึงไม่ได้มีแต่รัฐและองค์อธิปัตย์เท่านั้นที่สูญเสียความเป็นอิสระจากสังคม เพราะแม้กระทั่ง “ธนานุภาพ” ก็ถูกท้าทายและเหนี่ยวรั้งให้อยู่ภายใต้การกำกับของสังคมด้วยเช่นกัน

น่าสนใจว่าภายใต้ประสบการณ์และวัฒนธรรมในสังคมไทย การต่อสู้ด้วยการรวมกลุ่มไม่มีรากสักเท่าไร ความคิดเรื่องการรวมกลุ่มและต่อรองแบบนี้เกิดขึ้นมาจากไหน หรือเราอาจต้องการทบทวนเสียแล้วว่าวัฒนธรรมไทยเดิมไม่รู้จักการรวมกลุ่มตัวเองจริงๆ


ประการที่สี่ บทบาทต่อกระบวนการสร้างอัตลักษณ์และ "ชนชั้น" ของกรรมกร

ถวัติเป็นปัญญาชนที่มีความสำคัญต่อการสร้างและเผยแพร่อัตลักษณ์ใหม่ขึ้นในหมู่คนงาน เพราะงานเขียนของถวัติแทบทุกชิ้นแสดงให้เห็นว่าคนงานไม่ได้เป็นคนต่ำต้อยด้อยค่า ซ้ำยังเป็นมนุษย์ที่มีวิจารญาณ มีความคิดความสามารถ มีเกียรติยศ และมีศักดิ์ศรี สามารถรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจและสังคมได้ และมีศักยภาพที่จะเข้มแข็งถึงขั้นแสดงพลานุภาพทางการเมืองออกมา

“คดีพระปกเกล้า” เกิดขึ้นบนโลกทัศน์ที่ถวัติมีต่อผู้ใช้แรงงานอย่างนี้เอง

ถวัติคิดถึง “ความเป็นคนงาน” จากสถานะทางเศรษฐกิจ แต่เพราะอัตลักษณ์นี้เป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อระบบอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงให้นิยามที่ชัดเจนไม่ได้ และต้องอาศัยการเทียบเคียงกับสิ่งอื่นๆ เช่น ความยากจน, ความเป็นทาส, การถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อเข้าใจว่าคนงานคืออะไร

ภายใต้โลกทัศน์แบบถวัติ ความเป็นคนงานเป็นอัตลักษณ์ที่มีความสำคัญกว่าอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ทุกคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจแบบคนงานจึงถือว่าเป็นคนงานด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีคุณลักษณะทางเชื้อชาติอย่างไร

วิธีคิดแบบนี้ทำให้เขาเป็นหนึ่งในปัญญาชนน้อยรายที่เห็นอกเห็นใจและต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคนจีนที่ทำงานเป็นรับจ้างหรือขนข้าวสารตามโรงงานต่างๆ

นอกจากจะมีบทบาทอย่างสูงในการสร้างอัตลักษณ์ของคนงานแล้ว ถวัติยังเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างชนชั้นแรงงานในสังคมไทย

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญของถวัติในการสร้างความรู้สึกร่วมทางชนชั้น เพราะเหตุนี้ งานเขียนแทบทุกชิ้นจึงสอดแทรกไว้ด้วย “ภาษาทางชนชั้น” เช่น ธนานุภาพ , พวกเราเหล่ากรรมกร, นายทุน, ความเป็นทาส, นายจ้างหน้าเลือด ฯลฯ ที่แตกต่างจากคำและภาษาของชนชั้นอื่น จนทำให้คนงานมองเห็นการแบ่งชั้นในระดับปัจเจก (individual gradation) ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการมองเห็นชนชั้นในฐานะความสัมพันธ์ทางสังคม [3]

งานเขียนและความเคลื่อนไหวของถวัติทำให้คนงานรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มเป็นก้อนกับคนงานอื่นๆ จนกลายเป็น “พวกเราเหล่ากรรมกร” ที่มีความคิด มีปฏิบัติการทางอำนาจ และในที่สุดก็มี “ตำแหน่งแห่งที่” ทางสังคม ผ่านสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์กรรมกร) ปัญญาชน (ถวัติและคณะกรรมกร) องค์กร (สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม) การรวมกลุ่มที่ต่อเนื่อง (การนัดหยุดงานของกรรมกรโรงสี) กิจกรรมทางการเมือง (การสนับสนุนคณะราษฎร) ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชนชั้นกรรมกร [4]

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ถวัติสร้างความรู้สึกแบบนี้ได้สำเร็จก็คือกรรมกรได้มีการรวมกลุ่มกันอยู่ก่อนแล้ว ความสำเร็จของถวัติจึงเกิดขึ้นบนเงื่อนไขของความตื่นตัวในหมู่ผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตทางภูมิปัญญาของฝ่ายผู้ใช้แรงงาน [5]

นับตั้งแต่เริ่มมีบทบาทต่อสังคม ถวัติได้ทำการต่อสู้ทางการเมืองและความคิดด้วยวิธีการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เป็นการต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นในเงื่อนไขที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ๆ จนไม่สามารถควบคุมหรืออธิบายโลกด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ได้ต่อไป จนในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นการยุติยุคสมัยที่รัฐและองค์อธิปัตย์เป็นอิสระจากสังคมอย่างสมบูรณ์

ยุคสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้เกิดขึ้น โดยยึดเอาระบบคุณค่าและอุดมคติแบบกระฎุมพีเป็นบรรทัดฐาน แต่ก็มีช่องว่างให้คนกลุ่มอื่นๆ ต่อสู้ดิ้นรน ต่อต้าน และต่อรองความหมายมาตั้งแต่ต้น สภาวะทางการเมืองแบบใหม่จึงไม่ใช่สภาวะที่หยุดนิ่งตายตัว แต่พร้อมจะพัฒนาไปตามความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โลกทัศน์ การเมือง ของสังคมในเวลานั้นเอง

การผสมผสานระหว่างความตื่นตัวของ “พลเมือง” กับสภาพปัญหาที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เป็นการปูพื้นฐานแก่การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนซึ่งจะบังเกิดขึ้นตามมา

แม้ว่าในตอนต้นของระบอบการเมืองใหม่ในช่วงหลัง 2475 นั้น คนแต่ละกลุ่มจะยังไม่สามารถสถาปนา “สัมพันธภาพทางอำนาจ” ที่ชัดเจนได้ จนส่งผลใหัความสัมพันธ์ระหว่าพลังแต่ละฝ่ายเป็นไปอย่างสลับซับซ้อนและปรวนแปร แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาวะที่เป็นจริงของพลังแต่ละฝ่ายก็ให้กำเนิดระบอบอำนาจที่ชัดเจนขึ้นทุกที ความคิดและการต่อสู้ของถวัติ ฤทธิเดช เป็นภาพสะท้อนของปัญญาชนสามัญชน ที่พยายามทำความเข้าใจกับสภาวะแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสยามประเทศ มองหาวิถีทางที่จะทำให้สามัญชนคนชั้นล่างมีสิทธิมีเสียงได้มากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการต่อสู้ทางความคิดในพื้นที่สาธารณะ การสร้างความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนของคนยากจน หรือการแสดงจุดยืนทางการเมืองในระดับประเทศโดยตรง

ถวัติมีคุณสมบัติหลายประการที่แตกต่างจากปัญญาชนสามัญชนรายอื่นๆ กล่าวคือ เขาไม่มีความผูกพันกับระบบราชการมากเท่ารัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จึงไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงภายในระบบมากเท่ากับปรีดี , เขาไม่ใช่คนนอกคอกที่ต่อสู้ด้วยวิธีแปลกประหลาดอย่างนรินทร์ ภาษิต จึงไม่ได้ทำการต่อสู้แบบปัจเจกไปตลอดเวลา, เขาเป็นปัญญาชนที่ไม่ได้ทำตัวเป็นนักคิดนักเขียนมากเท่า ก.ศ.ร.กุหลาบ และเทียนวรรณ จึงไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่การมีกิจกรรมทางภูมิปัญญาล้วนๆ

ความแตกต่างนี้ทำให้ถวัติเป็นหนึ่งในปัญญาชนสามัญชนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย เพราะถวัติเป็นปัญญาชนสามัญชนคนแรกๆ ที่อาศัยอาวุธทางปัญญาเป็นหนทางในการเปลี่ยนแปลงระบบ ขยายพรมแดนของการต่อสู้ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมกับนำพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่เหยียดหยาม แล้วค่อยๆ ทำการต่อสู้จนคนกลุ่มนี้มีความหมายและสามารถต่อรองกับระบบได้โดยตรง

กล่าวในแง่นี้ ถวัติจึงเป็น “ปัญญาชนของชนชั้น” ที่ให้กำเนิดการเมืองซึ่งมีความเป็น “การเมืองของชนชั้น” และมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยน “ระบบ” หรือ “ระบอบอำนาจ” แบบใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานและคนยากจน

ประเด็นก็คือ “ระบบ” หรือ “ระบอบอำนาจ” แบบใหม่ วางอยู่บนความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศ กล่าวคือแม้ระบบทุนนิยมจะยังไม่เติบโตขึ้นเต็มที่ แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มคนและชนชั้นทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการควบคุมรัฐได้ในระดับหนึ่ง อันส่งผลให้สัมพันธภาพทางอำนาจแบบใหม่เป็นไปเพื่อความสะดวกในการผลิตและการสะสมทุนของพ่อค้านายทุน ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่ชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่าแนวโน้มใหม่ของรัฐใหม่ในช่วงหลัง 2475 ได้พัฒนาขึ้นในทันทีที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชถึงกาลอวสาน การประสานประโยชน์ระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมืองพลเมือง” ส่งผลให้ “การเมืองของชนชั้น” ที่ดำรงอยู่ในเวลาสั้นๆ ต้องปิดฉากลงไป พร้อมกับที่รัฐใหม่แสดงตัวปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกระฎุมพี

สภาวะทางเศรษฐกิจการเมืองแบบใหม่ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานรวมตัวในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น กลายเป็นปฐมบทของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่คนชั้นล่างจะจัดตั้งองค์กรที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีลักษณะเผชิญหน้ากับรัฐและพันธมิตรทางอำนาจโดยตรง ตัวอย่างเช่นการสไตรค์ของคนงานราวสามพันคน จาก 50 โรงสี ในปี 2488 , การจัดตั้งสมาคมกรรมกรในกิจการต่างๆ เช่น รถไฟ สามล้อ โรงสี โรงเลื่อย ในปี 2489 รวมทั้งการก่อตั้งองค์การสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ในปี 2490 [6]

ในการชุมนุมใหญ่ของผู้ใช้แรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม 2490 เพื่อเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล ถวัติ ฤทธิเดช ซึ่งในขณะนั้นมีอายุราว 54 ปี ได้ปรากฎกายขึ้นต่อหน้าผู้ชุมนุมราวแสนคนเศษ ในฐานะผู้นำแรงงานอาวุโส ที่มาเป็นประจักษ์พยานของดอกผลอันยิ่งใหญ่ที่คนชั้นล่างและกรรมกรในรุ่นก่อนหน้านั้นได้เพียรต่อสู้มาเป็นเวลานาน


สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ประสบกับพลังอันยิ่งใหญ่ก็ในช่วงเวลาแบบนี้เอง


เชิงอรรถ

[1] การเติบโตของตลาดและระบบการศึกษามีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางความคิดของถวัติ เพราะตลาดคือช่องทางในการถ่ายทอด เผยแพร่ และกระจายความคิดเห็นของถวัติไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ส่วนระบบการศึกษานั้นก็ทำให้การอ่านออกเขียนได้ขยายตัวขึ้น และการเพิ่มปริมาณการอ่านออกเขียนได้นั้นย่อมมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวของตลาดหนังสือพิมพ์

หากยอมรับว่าตลาดและระบบการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ ก็หมายความว่าความเป็นสมัยใหม่คือเงื่อนไขทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้ถวัติต่อต้านรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชได้โดยตรง

[2] ความเรียงเรื่อง “วินิจฉัยกะถา” และ “อรรถปัณหา” เป็นตัวอย่างของวิธีการแบบเทียนวรรณในเรื่องนี้ สนใจเพิ่มเติม โปรดดู เทียนวรรณ, รวมงานเขียนของเทียนวรรณ (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ต้นฉบับ , 2544)

[3] นอกเหนือจากการอาศัยภาษาทางชนชั้นไปสร้างความรู้สึกทางชนชั้นแล้ว ถวัติยังใช้ภาษาของกระฎุมพี เช่น สิทธิ อิสรภาพ ความยุติธรรม เพื่อสร้างความรู้สึกแบบนี้ด้วยเช่นกัน ปฏิบัติการทางภาษาของถวัติจึงแปรคำที่เป็นผลผลิตของโลกทัศน์แบบกระฎุมพี ขจัดความเป็นกระฎุมพีออกไป แล้วสอดใส่ความหมายใหม่ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แบบกดขี่ขูดรีดที่กระฎุมพีกระทำต่อผู้ใช้แรงงาน

[4] จะเข้าใจความสำคัญของถวัติต่อการสร้างความเป็นชนชั้นแรงงานข้อนี้ได้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่ากระบวนการสร้างชนชั้นไม่ใช่กระบวนการม้วนเดียวจบ เพราะชนชั้นมีองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน จึงถูกสร้างให้สมบูรณ์และเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ แต่ความเป็นชนชั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับยุคสมัย (epoch) จึงต้องพิจารณาเวลาและบริบทของชนชั้น เพื่อที่จะมองเห็นความเป็นชนชั้นที่เริ่มต้นจากกลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรม แล้วค่อยๆ เติบโตไปสู่การมีอัตลักษณ์ทางการเมือง

สำหรับการพิจารณาชนชั้นตามทรรศนะแบบนี้ โปรดดู E.P. Thompson, The Making of English Working Class (New York : Penguin Books, 1963), p.11

[5] สำหรับตัวอย่างของงานศึกษาที่พิจารณาความสำคัญของชีวิตทางภูมิปัญญามีต่อจิตสำนึกทางชนชั้นและการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน โปรดดู Jonathan Rose, The Intellectual Life of British Working Classes (New Haven and London : Yale University Press, 2001)

[6] รายละเอียดของการเคลื่อนไหวแรงงานในช่วงนี้ โปรดดู ดำริห์ เรืองสุธรรม, “ปัญญาชนปฏิวัติของชนชั้นกรรมกรไทย ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร,” ใน ฉลอง สุนทราวาณิชย์, สุวิมล รุ่งเจริญ, ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา และ สมาน แจ่มบุรี , ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร (กรุงเทพ : พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท, 2542), หน้า 255-6.


โดย : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ที่มา : http://www.geocities.com/thaifriendforum/sirotesbook.html

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

There are so many ways to use brick, block, slabs, rocks,
gravel and other stone formations. The more vulnerable the global economy looks,
the greater the demand for gold and silver. One particular of the primary regions within
the mining market in Australia which has observed the fantastic boost in the employment of ladies is dump trucking.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Natural remedies help the body's immunity system by assisting in the regeneration of good bacteria in the body. It needs to be rushed to a medical facility which is capable of handling emergencies. Pick out ideal food for our daily lifestyle may be the basis to remedy the root in the yeast. If you suspect that your method has become infected there are a number of points you can do yourself to try to get rid of the offending application. o - Strike a equilibrium between viewing 2-4 patients per hour.

Feel free to surf to my blog: Troxell