วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550

๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรคนแรก


อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญในสังคมสยามในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๖๐ คือการที่ราษฎรเสื่อมความนิยมต่อราชสำนักมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บันทึกของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล พูดถึงบรรยากาศในช่วงเวลานั้นไว้ว่า "ฝ่ายพระราชวงศ์อ่อนแอลงเพราะการแข่งดีกันเอง โดยไม่ทำดีอะไรให้คนนับถือ" และผลที่ตามมาก็คือ "เสียงเกลียดเจ้าค่อยๆ เริ่มขึ้น จนถึงแสดงกิริยาเปิดเผยขึ้นทุกที"

ความตกต่ำของราชสำนักส่งผลให้ราษฎรมีความรู้สึกนึกคิดต่อราชวงศ์เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" เขียนบทความสะท้อนความรู้สึกเช่นนี้เอาไว้ว่า "พระราชวงศ์อาจมีทั้งที่ฉลาดและที่โง่ บางพระองค์อาจเปนได้ทั้งโง่และทั้งหยิ่ง นี่แหละเปนเหตุที่ทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินดำเนิรไปในทางผิดหวัง ทำให้ประชาชนเห็นตระหนักยิ่งขึ้นทุกขณะว่า ชาติกำเนิดของบุคคลไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกถึงความดีของมนุษย์ต่อไป"

พัฒนาการของความเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์แบบนี้ ส่งผลให้ราษฎรมีความรู้สึกนึกคิดต่อระบอบราชาธิปไตยเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนแม้แต่เมื่อพระองค์เจ้าธานีนิวัต ในฐานะเสนาบดีกระทรวงธรรมการ กราบบังคมทูลเสนอโครงการศึกษาของมุสโสลินีในประเทศอิตาลี เพื่อนำมาเป็นข้อคิดในการจัดการศึกษาให้คนสยามนิยมการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสตอบไปว่า "ความนิยมและนับถือในองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ฉันเห็นว่าจะกลับฟื้นขึ้นอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว"

ความเติบโตของโลกทัศน์แบบนี้เป็นสาเหตุโดยตรงที่นำไปสู่จุดจบของการเมืองแบบราชาธิปไตย และการสถาปนาระบอบการปกครองแบบใหม่ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ทำให้ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ขยายตัวได้อย่างเปิดเผยยิ่งขึ้นไปอีก สยามในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักมีฐานะทางการเมืองตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยบรรยากาศเช่นนี้จะดำรงอยู่ไปจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง

ความพยายามฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในแทบทุกด้านของฝ่ายนิยมเจ้า เริ่มต้นจากความพ่ายแพ้ทางการทหารในปี ๒๔๗๖ เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นฝ่ายปราชัยในการกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร, การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นปีแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๘ โดยพระองค์ทรงครองราชย์โดยพำนักอยู่ในต่างประเทศ ก่อนที่จะเสด็จนิวัติกลับพระนครเป็นเวลาสั้นๆ ในปี ๒๔๘๑

อวสานของราชาธิปไตยนำมาซึ่งบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่ และบรรยากาศทางการเมืองแบบใหม่ก็เปิดโอกาสให้ราษฎรแสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาได้อิสระอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผลก็คือ "การเมืองของพลเมือง" กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคสมัยนี้ และก็เป็นช่วงเวลาแบบนี้เองที่ราษฎรผู้ทุกข์ยากได้ฉวยไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการขจัดความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ภายใต้ห้วงเวลานี้เองที่ ถวัติ ฤทธิเดช แสดงบทบาททางประวัติศาสตร์ของเขาออกมาให้ปรากฏ! เป็นบทบาททางประวัติศาสตร์ที่หลายเรื่องก็เป็นหลักไมล์ของการเมืองไทยสมัยใหม่มาจวบจนปัจจุบัน

ถวัติเป็นผู้นำในการสไตรก์ครั้งแรกของคนงานในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เขาเป็นตัวแทนของคนยากจนในการต่อสู้กับความอยุติธรรมภายใต้ระบอบราชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้ชื่อว่าเป็นสามัญชนคนแรกที่ฟ้องร้องพระเจ้าอยู่หัวว่าดูหมิ่นประชาชน


ปลุกพวกกรรมกรให้ตื่น

ถวัติเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ในครอบครัวของชาวสวนแห่งอำเภอบางช้าง และได้รับการศึกษาจากการบวชเรียนกับธรรมยุติกนิกายแห่งสำนักเทพศิรินทร์ เขาเริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งเสมียนแห่งกรมอู่ทหารเรือใน พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ แล้วหันเหวิถีชีวิตมาสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ และเริ่มต้นบทบาททางสังคมและการเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ถวัติเริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์สยามสักขี แต่บทบาททางสังคมและการเมืองของเขาจะเริ่มปรากฏก็ต่อเมื่อเข้าไปรับหน้าที่บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ "กรรมกร" ในปี ๒๔๖๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "ผจญต่อต้านเหล่าอำมาตย์ทุจริตซึ่งคิดมิชอบ" และ "ปลุกให้พวกกรรมกรตื่นขึ้นจากหลับ...ประหารสภาพของพวกกรรมกรให้พ้นจากความเปนทาษ"และเมื่อคนงานรถรางจำนวน ๓๐๐ คนเศษ ทำการนัดหยุดงาน หนังสือพิมพ์กรรมกรก็แสดงจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานอย่างเต็มที่ ในรูปของการรายงานข่าวและตีพิมพ์บทความที่ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการเคลื่อนไหวของฝ่ายแรงงาน

อุดมคติของรัฐราชสำนักคือความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระบรมเดชานุภาพที่จะปกป้องราษฎรให้พ้นจากความทุกข์ยาก ถึงแม้พระราชอำนาจของพระองค์จะเป็นอิสระและอยู่เหนือปวงชน ภายใต้อุดมคติแบบนี้ "ความเปนทาษ" ย่อมชี้ให้เห็นว่าพระบรมเดชานุภาพอยู่ในสภาพอ่อนแอ ส่วนรัฐบาลของพระองค์ก็ปราศจากประสิทธิภาพ และเพราะเป็นเช่นนี้ ผู้นำทางการเมืองในรัฐราชสำนักจึงไม่อาจยอมรับว่าราษฎรมีความทุกข์และตกอยู่ในสภาพของ "ความเปนทาษ" ได้ ดังปรากฏตัวอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสว่า คนงานนั้น "หาได้เดือดร้อนจริงจังอันใดไม่"และเมื่อกรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในฐานะเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายตรวจตราโรงงานเพื่อคุ้มครองคนงาน พระองค์ก็มีพระบรมราชวินิจฉัยกลับไปว่า "เปนของควรคิดอย่างยิ่ง แต่ว่าไม่ใช่ทำกฎหมายเพื่อป้องกันคนงาน"

ถวัติอาศัยหนังสือพิมพ์กรรมกรพูดถึงความจริงของราษฎร ซึ่งแตกต่างไปจากความจริงของราชสำนัก ผลก็คือกรมราชเลขาธิการจับตามองหนังสือพิมพ์ของเขาอย่างไม่ไว้วางใจ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่สามารถจับกุมเขาได้ เพราะถวัติทำหนังสือพิมพ์กรรมกรโดยอาศัยชื่อบุคคลในบังคับต่างชาติบางรายสมอ้างเป็นบรรณาธิการตามกฎหมาย และเมื่อจับกุมไม่ได้ เจ้าพระยายมราช ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงใช้อำนาจและอิทธิพลต่างๆ กดดันจนหนังสือพิมพ์กรรมกรต้องปิดฉากลงไป หลังจากวางแผงจำหน่ายได้เป็นเวลา ๓ ปี

น่าสนใจว่าภัยจากอำนาจรัฐไม่ได้ทำให้ถวัติย่อท้อในการต่อสู้เพื่อสัจจะ ซ้ำการคุกคามของอำนาจอสัตย์ยังเป็นแรงกระตุ้นให้ถวัติพูดความจริงตามอาชีวปฏิญาณยิ่งขึ้นไปอีก เขาเปิดหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ โดยเปิดเผยตัวเองในฐานะบรรณาธิการตามกฎหมายของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เจตนารมณ์เช่นนี้ทำให้หนังสือพิมพ์ "ปากกาไทย" วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ถูกต้องของรัฐบาลในระบอบราชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับพระคลังข้างที่ ซึ่งเก็บค่าเช่าห้องแถวอย่าง "ขูดเอาเลือดเนื้อ" จากประชาชน หรือการตีพิมพ์บทความที่ตั้งคำถามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า "ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แยกออกจากกันได้ไหม มีผลอย่างไร"

อดทนกับถวัติได้ไม่นาน รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีคำสั่งให้จับกุมเขาด้วยข้อหาหมิ่นประมาท เขาถูกคุมขังในสภาพห้ามเยี่ยมห้ามประกันเป็นเวลา ๓ วัน โดยทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะสร้างหลักฐานว่าถวัติมีความผิด แต่เมื่อไม่สามารถหาพยานมายืนยันความผิดได้ ฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องคืนอิสรภาพให้แก่ถวัติไป


ฎีกาและกรรมกร

หนังสือพิมพ์ต้องอาศัยทุน และถึงแม้ปากกาไทยจะมียอดขายสูงถึง ๑๐,๐๐๐ ฉบับ ต่อเดือน ถวัติก็ไม่มีเงินทุนมากพอจะดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์ต่อไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงหันไปอาศัยช่องทางอื่นเพื่อประหัตประหาร "สภาพของความเปนทาษ" โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านฎีกา

ฎีกาเป็นจารีตทางการเมืองที่ถือว่าราษฎรสามารถร้องทุกข์ความเดือดร้อนให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบได้โดยตรง เพื่ออาศัยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปลงโทษมูลนายหรือขุนนางอำมาตย์ที่ปฏิบัติราชกิจผิดไปจากพระบรมราโชบาย แต่ราษฎรในระบอบราชาธิปไตยนั้น อาจประสบทุกข์ภัยจากความฉ้อฉลของขุนนางอำมาตย์ได้เท่าๆ กับรัฐประศาสนศาสตร์ที่ผิดพลาดขององค์พระประมุข และยิ่งการเมืองการปกครองรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์มากเท่าไร พระองค์ก็ยิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อรัฐประศาสโนบายที่ผิดพลาดได้มากขึ้นเท่านั้น

กล่าวในแง่นี้แล้ว แม้ฎีกาจะแสดงถึงความยอมรับในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ฎีกาก็เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นความหย่อนประสิทธิภาพในการว่าราชการแผ่นดินของพระองค์ไปได้พร้อมๆ กัน

พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๔๗๕ คือช่วงเวลาที่ถวัติเขียนฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้หลายฉบับ บางฉบับก็เขียนขึ้นจากคำร้องขอของราษฎรที่ประสบทุกขภัยจากรัฐประศาสโนบายที่ผิดพลาด เช่นฎีกาเรื่อง "การแก้ไขฐานะของชาวนา" ที่ถวัติเขียนตามคำร้องขอของชาวนาอำเภอหนองจอกและบางน้ำเปรี้ยวราว ๑,๐๐๐ ราย เพื่อถวายความเห็นว่า "แม้รัฐบาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะพยายามแก้ไขความเดือดร้อนทุกข์ยากของพวกเขาอย่างไร ประชาชนก็ยังมองไม่เห็นผล"๑๐ และหลายฉบับก็เขียนขึ้นเพื่อเสนอความคิดเห็นของเขาเอง เช่นฎีกาเสนอความเห็นเพื่อช่วยผู้ที่ไม่มีงานทำและชาวนา หรือฎีกาที่ตั้งคำถามกับรัชกาลที่ ๗ หลังจากเสด็จกลับจากการพระราชดำเนินไปต่างประเทศในปี ๒๔๗๔ ว่า "หนังสือพิมพ์ปีนังกาเซตต์ลงข่าวว่า การที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จรักษาพระเนตร์ ต้องเสียพระราชทรัพย์แพงที่สุดในประวัติการ คือใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทต้องใช้พระราชทรัพย์สินไปประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์ (ราวสองล้านห้าแสนบาท) ความจริงมีเพียงไร แลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงใช้จ่ายไปจริงเท่าไร"๑๑

ชื่อเสียงจากการเคลื่อนไหวในระบอบราชาธิปไตยทำให้ราษฎรผู้ถูกกดขี่ยอมรับอุดมคติและปฏิญาณของถวัติ และเมื่อคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นผลสำเร็จ คนแทบทุกหมู่เหล่าก็ได้รับโอกาสให้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มองค์กรทางการเมืองได้อย่างเสรี จังหวะนี้เองที่ถวัติร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเคียงบ่าเคียงไหล่กับกรรมกรรถราง จนได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม (ส.ร.ส.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรจัดตั้งแห่งแรกของผู้ใช้แรงงานไทย จากนั้นเขาก็เข้าไปมีบทบาทอย่างสูงในการนัดหยุดงานของคนงานรถราง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และการนัดหยุดงานของกุลีโรงสีข้าว ๓๒ แห่ง ในเขตพระนครและธนบุรี ในอีกหนึ่งปีถัดมา

ราษฎรไทยมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ทุกข์ยากมาตั้งแต่ระบอบราชาธิปไตย และภายใต้ระบอบการเมืองใหม่ที่เชิดชูคุณค่าเรื่องเสรีภาพมากกว่าระบอบการเมืองโบราณ การต่อสู้ของถวัติและกรรมกรรถรางเป็นแรงบันดาลใจให้ราษฎรกลุ่มอื่นลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความอารยะในชีวิต ดังที่ในเดือนธันวาคม ๒๔๗๗ คนขับแท็กซี่ในพระนครชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันให้เจ้าของอู่รถยอมเพิ่มค่าแรง เดือนมิถุนายน ๒๔๗๘ คนขับรถเมล์สายเชียงใหม่-ลำปาง นัดหยุดงานด้วยเหตุผลเดียวกัน เดือนสิงหาคม ๒๔๗๙ คนงานเหมืองแร่ที่ยะลาก่อการสไตรก์เพื่อประท้วงสภาพการทำงานที่โหดร้าย๑๒ ฯลฯ

ประสบการณ์ในการเรียกร้องความยุติธรรมร่วมกับกรรมกรรถรางและกุลีโรงสีข้าว ทำให้ถวัติเข้าใจปัญหาของคนยากไร้ในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เขาเริ่มมองเห็นว่าแม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะทำให้ประชาชนชาวไทยมีอิสรภาพและเสรีภาพ แต่ "กรรมกรสยามยังมิได้พ้นจากความกดขี่ ยังคงเป็นทาษน้ำเงินนายจ้างอยู่"๑๓ และเมื่อการเคลื่อนไหวของคนงานถูกฝ่ายพ่อค้าและนายจ้างประทุษร้ายถึงขั้นหว่านล้อมให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุลีจีนโรงสีข้าว ๓๐ ราย ถวัติก็ตระหนักในทันทีว่า อำนาจของ "เงิน" จะปกครองประเทศ เขากล่าวว่า "ธนานุภาพจะครอบคลุมสยาม"๑๔

จริงอยู่ว่าถวัติแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเขาสนับสนุนคณะราษฎร ไม่ว่าจะโดยการนำกรรมกรรถรางไปสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลในช่วงสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ หรือนำกรรมกรเข้าร่วมกองกำลังรักษาความสงบภายในพระนครและกองทหารอาสา เพื่อทำสงครามปราบกบฏบวรเดช แต่การต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับคนงาน ทำให้ถวัติได้บทเรียนว่าแม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ลำพังการเปลี่ยนแปลงในสถาบันการเมืองนั้นไม่เพียงพอที่จะนำชีวิตที่ดีมาสู่ผู้ใช้แรงงาน



ฟ้องพระปกเกล้าฯ

ถึงพลังฝ่ายนิยมเจ้าจะไม่พอใจถวัติมาตั้งแต่คราวทำหนังสือพิมพ์และถวายฎีกาในสมัยราชาธิปไตย คนเหล่านี้ก็ปีติที่เห็นถวัติเคลื่อนไหวร่วมกับกรรมกรภายใต้ระบอบการเมืองแบบใหม่ พลังฝ่ายนิยมเจ้าอาศัยประเด็นแรงงานไปโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโจมตีคณะราษฎร แต่เมื่อถวัติและฝ่ายคนงานแสดงให้เห็นว่ามีไมตรีกับผู้นำพลเรือนในระบอบใหม่ พวกเขาก็พลอยตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายนิยมเจ้าไปด้วย ดังปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสพาดพิงถึงถวัติเอาไว้ใน "พระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ว่า "ยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะได้เป็นโอกาสตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไป" ส่วนคนงานรถรางที่นัดหยุดงานนั้น "หาได้เดือดร้อนจริงจังอันใดไม่"๑๕

พระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นเอกสารทางการเมืองที่สัมพันธ์โดยตรงกับการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎร และพลังฝ่ายอนุรักษนิยมในระบอบใหม่ โดยเฉพาะการต่อสู้ระหว่างฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ตัวถวัติไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมืองเหล่านี้ แต่ก็มีพระราชกระแสพาดพิงถึงถวัติ เพื่อที่จะต่อต้านความคิดของนายปรีดีเรื่องความระส่ำระสายและความทุกข์ยากของราษฎรในระบอบราชาธิปไตย

สงครามทางการเมืองที่ชนชั้นนำในระบอบเก่ากระทำต่อผู้นำพลเรือนของระบอบใหม่ ทำให้ถวัติถูกกล่าวหาอย่างปราศจากความยุติธรรม ว่าเป็นพวก "ยุ" เพื่อให้ "ได้รับเงินเดือนกินสบาย" และเมื่อตัวเขาและพวกกรรมกรรถรางถูกกล่าวถึงในทางเสื่อมเสียเช่นนี้ ถวัติจึงมอบหมายให้ ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร เป็นทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎร ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๖ ๑๖

ศาลสถิตยุติธรรมปฏิเสธที่จะพิจารณาคำฟ้องร้องของถวัติ โดยอ้างมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีใจความว่า "องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาก็สั่งการให้อัยการฟ้องว่าถวัติมีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยได้ทำโทรเลขแจ้งสำนักพระราชวังให้รับทราบเรื่องนี้ในทันที

ผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีไปก็ด้วยเหตุฉะนี้ และถึงตอนนี้ หนทางเดียวที่ถวัติจะต่อสู้เพื่อปกป้องเกียรติยศและชื่อเสียงของเขา ก็คือการอาศัยกฎหมายและกลไกของกระบวนการยุติธรรม โดยถวัติได้เสนอคำแถลงการณ์เปิดคดีฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยอาศัยความในมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ซึ่งระบุว่า "กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย"

คำแถลงเปิดฟ้องคดีของถวัติทำให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเผชิญปัญหาซึ่งจัดการได้ไม่ง่าย คำอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนฯ หลายรายสะท้อนให้เห็นความลังเลและไม่สามารถตัดสินใจ ระหว่างหลักนิติธรรมและความเสมอภาคตามอุดมคติของประชาธิปไตยสมัยใหม่ กับจารีตทางการเมืองแบบไทยๆ ที่ตกค้างมาตั้งแต่รัฐโบราณ ความอึมครึมทำให้สภาในวันนั้นเต็มไปด้วยการแสดงโวหารทางการเมืองที่ซุกซ่อนไปด้วยเป้าหมายหลายชนิด การประชุมดำเนินไปด้วยไหวพริบปัญญามากพอๆ กับการช่วงชิงเหลี่ยมคูทางการเมือง ในขณะที่นอกสภาผู้แทนราษฎรออกไป พลังการเมืองเกือบทุกฝ่ายก็จ้องจะใช้ความเคลื่อนไหวของถวัติไปเพื่อประโยชน์สูงสุดทางการเมืองของฝ่ายตัวเอง


ประเมินค่า

ถวัติมีชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เขาเติบโตในช่วงที่ "การเมืองพลเมือง" ท้าทายการเมืองแบบราชสำนัก เขาสัมพันธ์กับราษฎรกลุ่มซึ่งอยู่ในจุดมืดมิดที่สุดในพัฒนาการทางเศรษฐกิจของรัฐไทย เขาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่จารีตทางการเมืองแบบโบราณเสื่อมความนิยมอย่างเต็มที่ และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองที่ถวัติค่อยๆ กำหนดบทบาท และนิยามตัวตนของเขาขึ้นมา

โดยปกติของมนุษย์ที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมหวาดกลัว บ้างก็กลัวเพราะความไม่รู้อนาคตในวันหน้า บ้างก็กลัวว่าจะเสียความมั่นคงที่มีมาแต่อดีต แต่ถวัติทำอะไรหลายอย่างซึ่งส่อให้เห็นว่าเขาปราศจากความกลัวแบบนี้ โลกที่เปลี่ยนแปลงทำให้ถวัตินิยามอัตลักษณ์ของความเป็นประชาชนเปลี่ยนไป และความเป็นประชาชนแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างถึงที่สุดในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ถวัติพูดความจริงว่าสยามกดขี่ผู้คนให้ตกอยู่ในสภาพความเป็นทาส ถวัติพูดความจริงว่าราษฎรมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีที่พึงภูมิใจ ถวัติยืนยันว่าแกนกลางของการเมืองสมัยใหม่คือความเสมอภาคระหว่างบุคคลอย่างถ่องแท้ ความจริงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง และเพราะเป็นเรื่องจริงเช่นนี้ ถวัติจึงกลายเป็นคนที่ "แปลกแยก" และ "เป็นอื่น" จากประชาชนในอุดมคติของรัฐไทย

ถวัติเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ และคงมีบุคคลในประวัติศาสตร์อีกมากที่เป็นอย่างถวัตินี้ คนแบบนี้ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ไทย เพราะประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับอำนาจในปัจจุบันเกินกว่าจะปล่อยให้อดีตและความจริงเป็นอิสระได้

เชื่อกันว่าอดีตทำให้รู้จักปัจจุบัน และเมื่อเข้าใจปัจจุบันก็ย่อมเท่าทันอนาคต แต่ปัจจุบันต่างหากเขียนอดีต สัมฤทธิผลในการควบคุมอดีตจึงแสดงให้เห็นสัมฤทธิผลในการควบคุมปัจจุบัน


บทความพิเศษ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


เชิงอรรถ

๑. พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น : ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔), หน้า ๘๗.

๒. กุหลาบ สายประดิษฐ์. ศรีกรุง. ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๕.

๓. หจช. ร.๗ ศ.๗/๑ เรื่อง พระราชกระแส ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๕

๔. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก, ๒๕๔๔).

๕. "กรรมกรกับการเมือง", หนังสือพิมพ์กรรมกร. ๒๒ มีนาคม ๒๔๖๖.

๖. เดือน บุนนาค, ศาสตราจารย์. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์สามัคคีธรรม, ๒๕๑๗), หน้า ๒๙๔.

๗. หจช. ร.๗ พ.๑๓/๑ เรื่อง กรรมกร

๘. "กรมพระคลังข้างที่กับมนุษย์น่าเลือด", ปากกาไทย. ๙ กันยายน ๒๔๖๙.

๙. "ข้อปัญหาของเถรตรง", ปากกาไทย. ๘ มกราคม ๒๔๖๘.

๑๐. หจช. ร.๗ รล.๒๐/๑๘๓ เรื่อง นายถวัติ ฤทธิเดช แสดงความเห็นวิธีแก้ไขฐานะของชาวนา

๑๑. หจช. ร.๗ ม.๒.๑/๕๙ เรื่อง ขอพระราชทานอินเตอร์วิวข่าว

๑๒. Thompson, Virginia. Labor Problems in Southeast Asia. (New Haven : Yale University Press, 1947), p.240.

๑๓. หจช. (๒) สร.๐๒๐๑.๗๕/๓ เรื่อง กรรมกรรถรางและสมาคมกรรมกรรถราง (จดหมายจากนายกสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม ถึงนายกรัฐมนตรี วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๗๕)

๑๔. หจช. (๒) สร.๐๒๐๑.๗๕/๑๘ เรื่อง กรรมกรโรงสีไฟ (จดหมายจาก นายถวัติ ฤทธิเดช ถึงนายกรัฐมนตรี วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖)

๑๕. เดือน บุนนาค, ศาสตราจารย์. ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามัคคีธรรม, ๒๕๑๗), หน้า ๑๑๕-๑๑๖.

๑๖. หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๗๖, และ นายหนหวย (นามแฝง), เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ. (กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏผู้จัดพิมพ์, ๒๕๓๑), หน้า ๔๕๖.


หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางข้อความมิได้มีอยู่ในต้นฉบับ แต่มาจากความสนใจบางประการของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ