วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2550

'ทองปาน' ภาพยนตร์ประหลาดของไทย : 30 ปี ที่ผ่านไปของ ‘ทองปาน’




'ทองปาน' ภาพยนตร์ประหลาดของไทย

30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวและชะตากรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างทองปานที่ถูกกระหน่ำด้วยการพัฒนากระแสหลักของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศนั้น
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทยของเรา และแทนที่จะลดลงและได้รับการแก้ไขเยียวยา กลับดูเหมือนว่าได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง จากเหนือสุดในทิเบต ยูนนาน (ที่จีนได้ไล่ผู้คนออกไปเพื่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 'ล้านช้างเจียง' เสร็จไปแล้ว 3 เขื่อน และกำลังสร้างอีก 5 เขื่อน) ไล่ลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) พม่า ไทย ลาว สู่สามเหลี่ยมมรกต และใต้ลงไปถึงกัมพูชากับเวียดนาม

ทองปาน เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดีขาวดำ (พูดภาษาไทย/ลาว พร้อมอักษรบรรยายอังกฤษ) ความยาว 60 นาที ที่สร้างขึ้นในสมัยของ 'มรสุมการเมืองไทย' เมื่อปี 2519 โดยทีมงานสมัครเล่น ที่เป็นอาจารย์/นักศึกษาทั้งไทยและเทศรุ่น 14 ตุลา มี คนดังๆ เป็นทั้งผู้สร้าง/ผู้กำกับ/ถ่ายทำ/ตัดต่อ/และผู้แสดงกิตติมศักดิ์คับคั่ง

ผู้รักความเป็นธรรมและชนชั้นกลางในเมืองนี้มีอาทิ Mike Morrow Frank Green ไพจง ไหลสกุล สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) ยุทธนา มุกดาสนิท รัศมี เผ่าเหลืองทอง คำสิงห์ ศรีนอก วิทยากร เชียงกูล เรืองยศ จันทคีรี เสน่ห์ จามริก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พัทยา สายหู Peter F.Bel เทพศิริ สุขโสภา ทรงยศ แววหงษ์ รวมไปจนถึงชาวบ้านจริงๆ อย่างเช่นทองปาน-องอาจ โพนทอง ผมหอม พิลาสมบัติ ชาวบ้านอำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา และภารโรงธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทองปาน เป็นเรื่องของชาวนาผู้ยากจนในอีสาน ที่ทั้งลูกและเมียถูกบีบบังคับให้ต้องทิ้งที่นาซ้ำสอง ทั้งนี้ด้วยข้ออ้างจำยอมของการสร้างเขื่อนเพื่อการพัฒนากระแสหลัก ตามนโยบายของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่นักวิชาการและนักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองและรักความเป็นธรรมดังกล่าวข้างต้น ต่างก็ถกเถียง สัมมนาถึง 'ผลดีผลเสีย' ของการพัฒนาของการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างเขื่อนผามองที่จังหวัดเลย หนองคาย เวียงจันทน์ ไชยะบุรี และทองปานก็กลายเป็นเพียงชาวบ้าน ผู้นั่งฟัง ถูกกระทำ และก็สูญหายไปตามประสาของคนตัวเล็กตัวน้อย

เขื่อนผามอง เป็นหนึ่งในบรรดาเขื่อนขนาดใหญ่ๆ ที่สหรัฐอเมริกานำมาเสนอสร้างขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและแม่น้ำสาขาทั้งหลายทั้งปวง ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม (ใต้) นี่เป็นยุคสมัยของสงครามเย็นของ 'สวรรค์ของนักสร้างเขื่อน/วิศวกร' ของธนาคารโลก (ที่ Asian Development Bank จะเป็นผู้สืบมรดก) และถ้าหากสร้างได้สำเร็จเมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย กับด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ไชยะบุรี หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ก็คงจะจมอยู่ใต้น้ำไปเรียบร้อยแล้ว

ภาพยนตร์เรื่องทองปานนี้อาภัพ เมื่อสร้างเกือบจะเสร็จหลังการถ่ายทำเป็นเวลา 2 เดือนที่ชนบทอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และหนึ่งสัปดาห์ของฉากการสัมมนาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดและรัฐประหาร 6 ตุลา (2519) ทำให้กลายเป็น 'หนังต้องห้าม' (เป็นหัวแดง หรือคอมมิวนิสต์) ทีมงานและนักแสดงต้องระหกระเหิน บ้างไปอยู่ต่างประเทศ บ้าง gone to the jungle for justice แต่ทองปานก็โชคดีได้ไปเปิดตัวที่ London Film Festival ภายหลังการตัดต่อเสร็จ และได้รางวัลเกียรติยศ Outstanding Film of Southeast Asia

น่าสนใจที่ว่านักมวยจริงนามองอาจที่แสดงเป็นทองปานนั้น ไปไกลถึงได้แสดงเป็น 'ลูกอีสาน' จากบทประพันธ์ของคำพูน บุญทวี (ที่ตีพิมพ์ 2518 ได้รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2519 และซีไรต์ 2522) องอาจกลายเป็น 'ทองปาน โพนทอง' ในภาพยนตร์อมตะ ของวิจิตร คุณาวุฒิ (2525)

คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ดู (แบบที่ก็ไม่ได้ดู 'สัตว์ประหลาด' ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล หนังไทยที่ได้รับรางวัลสูงสุดในระดับสากล Jury Prize จากเมืองคานส์ ฝรั่งเศส 2547) แต่ในวงการอุษาคเนย์ศึกษานอกบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย ทองปานกลายเป็นหนังที่ must see 'ต้องดู' ของอาจารย์และนักศึกษา ทองปานถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (และก็เรียกความใจหายและความเจ็บปวดจากผู้ดูได้ทุกครั้ง)

30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวและชะตากรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างทองปานที่ถูกกระหน่ำด้วยการพัฒนากระแสหลักของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศนั้น จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทยของเรา และแทนที่จะลดลงและได้รับการแก้ไขเยียวยา

กลับดูเหมือนว่าได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง จากเหนือสุดในทิเบต ยูนนาน (ที่จีนได้ไล่ผู้คนออกไปเพื่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 'ล้านช้างเจียง' เสร็จไปแล้ว 3 เขื่อน และกำลังสร้างอีก 5 เขื่อน) ไล่ลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) พม่า ไทย ลาว สู่สามเหลี่ยมมรกต และใต้ลงไปถึงกัมพูชากับเวียดนาม และเขื่อนผามองก็อาจจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกก็เป็นได้

ถ้าหากอดีตจะเป็นบทเรียนได้ ภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตและความเป็นจริงของผู้คนเช่นทองปานนี้ ก็น่าจะเป็นแสงสว่าง (แม้จะริบหรี่เพียงใด) ก็ยังอาจจะพอส่องทางให้กับเราได้บ้าง

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ก่อตั้งและดำเนินงานมาโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับผู้คนเช่นทองปาน ก็ต้องขอแสดงความยินดีและขอบคุณต่อโอกาสของการครบรอบ 30 ปีของทองปาน ในการได้รับอนุญาตให้นำ 'ทองปาน' กลับมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพุทธวจนะที่ว่า 'นตถิ ปญญาสมา อาภา' หรือ 'แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี'


นสพ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ “จุดประกาย” วันที่ 16 มกราคม 2549

ที่มา : http://www.ldinet.org/autopage/show_page.php?t=9&s_id=53&d_id=54



30 ปี ที่ผ่านไปของ ‘ทองปาน’
โดย ซาเสียวเอี้ย

เมื่อราวๆ ปี 2520 นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งประเทศอังกฤษเยินยอหนังไทยเรื่องหนึ่งว่าเป็น

‘ภาพยนตร์จากประเทศโลกที่ 3 ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา’

หนังไทยเรื่องนั้นมีชื่อแสนสั้นและบ้านๆ ว่า ‘ทองปาน’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวบ้านธรรมดาๆ ชื่อว่า ‘ทองปาน โพนทอง’ ผู้อาศัยอยู่ในเขตอีสานบ้านเฮา (ณ ประเทศไทย) และเขาต้องเอาตัวเข้าไปปะทะกับ ‘การพัฒนา’ ด้วยการเผชิญหน้ากับโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ ‘เพื่อความเจริญของภูมิภาค ให้สามารถกักเก็บและจัดสรรทรัพยากรน้ำได้อย่างมีระบบ’ ตามวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกๆ

แม้จะถูกขึ้นป้ายโชว์หราว่า ‘ยอดเยี่ยม’ แต่คนไทยหลายคนอาจตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างกับคำว่า ‘ประเทศโลกที่สาม’ ที่ถูกจัดประเภทให้ ซึ่งถ้าจะมองกันอย่างพยายามเข้าอกเข้าใจนักวิจารณ์หนังเมืองผู้ดี เราคงต้องยอมรับว่าหนังไทยที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 และพูดถึงเรื่องราวของประเทศที่อยากจะพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของตัวเองให้ศิวิไลซ์ในทุกๆ ด้าน ก็พอจะกล้อมแกล้มอนุมานได้ว่า ‘ประเทศโลกที่ 3’ คงไม่มีนัยยะแห่งการดูถูกอะไรมากนักหรอก...

ถึงหน้าหนังจะดูเก่าไปสักหน่อย แต่ความเก๋าของหนังไทยอย่าง ‘ทองปาน’ ยังคงอยู่ครบถ้วน แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 30 ปี ก็ตาม

ยิ่งถ้าพูดถึงประวัติความเป็นมาของหนังเรื่องนี้ เด็กรุ่นหลังคงต้องยกให้ ‘ทองปาน’ เป็นหนังอินดี้ยุคบุกเบิกที่กลุ่มหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วร่วมแรงร่วมใจกันทำจนเสร็จสิ้น ด้วยความรู้เชิงภาพยนตร์ที่มีจำกัดแบบมือสมัครเล่น แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจจริงซึ่งทะลุขีดมืออาชีพไปแล้ว

นักแสดงแต่ละคนที่มีชื่อเสียงเรียงนามปรากฏอยู่ยาวเป็นหางว่าวล้วนแต่เป็นคนดังๆ ระดับชาติในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปินระดับปรมาจารย์อย่าง เทพศิริ สุขโสภา, หงา คาราวาน ไม่เว้นแม้แต่นักคิด นักวิชาการนักกิจกรรม และนักเขียนคนสำคัญ อย่าง ส.ศิวรักษ์, อาจารย์เสน่ห์ จามริก และ คำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) รวมถึง และนักแสดงนำผู้เล่นเป็นทองปาน ก็คือชาวบ้านจากอีสานตัวจริงเสียงจริง ผู้มีชื่อจริงๆ ตามสำเนาทะเบียนบ้านว่า ‘องอาจ โพนทอง’ ที่ร่วมแสดงในหนังเรื่อง ‘ลูกอีสาน’ ด้วยในเวลาต่อมา

ความเป็นธรรมชาติของนักแสดงและเนื้อหาที่พูดถึงชะตากรรมของชาวบ้านที่ถูกโครงการพัฒนาบุกเข้าไปเยี่ยมเยือนถึงที่ กลายเป็นประเด็นปัญหาระดับ ‘คลาสสิก’ ทำให้ความสำคัญของหนังเรื่องทองปานไม่ได้มีแค่การเป็นผู้บุกเบิกในวงการหนังอินดี้บ้านเราเท่านั้น (เพราะนั่นอาจเป็นประเด็นที่เล็กน้อยที่สุดแล้ว) แต่คุณค่าของทองปานคือการเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพสังคมไทยเมื่อสมัย 30 ปีก่อน และบ่งบอกให้รู้ว่าการมองปัญหาและวิธีที่รัฐใช้จัดการกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ ‘การพัฒนา’ เป็นอย่างไร

โดยเฉพาะฉากที่ทำให้สะเทือนใจจนอึ้งกันไปถ้วนหน้าก็คือเหตุการณ์ที่ทองปานต้องเข้าร่วมเสวนากับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งต้องการ ‘หยั่งเสียง’ ชาวบ้านเรื่องการสร้างเขื่อน แต่ทองปานถึงกับต้องใช้เงินก้อนสุดท้ายของเขาเพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการนี้

ในขณะที่นักวิชาการและตัวแทนภาครัฐกำลังถกเถียงกันถึงข้อดี – ข้อเสียของโครงการสร้างเขื่อนอย่างเมามัน ทองปานและชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่มีปากไม่มีเสียงอะไร (เพราะไม่มีโอกาสแทรกเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้)

และในที่สุดก็ดูเหมือนว่าเขาและชาวบ้านคนอื่นๆ จะถูกกลืนหายไปกับฉากหลังโดยไม่มีใครรู้ตัว...

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือโศกนาฏกรรมที่ทองปานต้องประสบหลังการเสวนา เพราะมันต้องแลกมาด้วยการจากไปโดยไม่ทันล่ำลาของผู้เป็นที่รักในครอบครัวของเขา

ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ว่าหนังไทยที่อุดมไปด้วยความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการพัฒนาประเทศในยุคที่รัฐบาลทหารครองเมืองจะมีชะตากรรมแบบไหน

หลังจากที่ถ่ายทำกันเสร็จไม่นานเท่าไหร่ การรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2519 ก็อุบัติขึ้น นักคิด นักเขียนนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และศิลปินที่ต่อต้านเผด็จการพลอยถูกกวาดล้างไปด้วย หนังเรื่องทองปานจึงต้องระหกระเหเร่ร่อนลี้ภัยตามผู้กำกับ ‘ไพจง ไหลสกุล’ ไปถึงลอนดอน เพื่อจะได้รับการตัดต่อและถูกนำออกฉายเป็นครั้งแรกที่ต่างบ้านต่างเมือง

การ ‘โกอินเตอร์’ อย่างไม่ได้ตั้งใจของทองปาน ทำให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ก่อนคนไทย เป็นเหตุให้นักวิจารณ์หนังในอังกฤษโปรยยาหอมให้ชื่นใจ ‘ชาวประเทศโลกที่สาม’ และมีการเก็บรักษาฟิล์มของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ช่วยให้หนังไทยเรื่องสำคัญไม่ถูกเผาทำลายไปตั้งแต่สมัยที่มีการรัฐประหารครั้งกระโน้น

จนเมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นเจอฟิล์มต้นฉบับ 16 ม.ม. ของทองปานซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

‘ทองปาน’ จึงได้กลับบ้าน หลังจากต้องเดินทางไกลไปนานหลายสิบปี

และอาจเป็นความประจวบเหมาะพอดีก็ได้ ที่วาระครบรอบ 30 ปีให้หลังของทองปาน ตรงกับการเริ่มต้นรัฐประหารครั้งใหม่ในบ้านเราอีกครั้ง...

นอกจากนี้...ข่าวคราวน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากก็ยังมีมาให้รับรู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย ภาพชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาและการสร้างเขื่อนต่างๆ ที่ออกมาประท้วง ก็ยังไม่ลบเลือนหายไป

เช่นเดียวกับความคิดว่า: ชาวบ้านที่มาประท้วงทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาลคือม็อบจัดตั้งของคนไม่รู้จักพอ และถูกเสี้ยมสอนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย

หากคนมากมายไม่เคยคิดแม้แต่จะค้นหาว่า - ความจริงที่แท้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่...

ถึงวันนี้ ‘ทองปาน โพนทอง’ จะได้กลับบ้าน แต่ทองปานคนอื่นๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ยังไม่มีบ้านให้กลับ

อย่าได้แปลกใจไปเลย ถ้าคำนิยมของ ‘ทองปาน’ ที่ปรากฏอยู่ตามสถาบันภาพยนตร์ต่างๆ ของประเทศในโลกที่ ‘เจริญแล้ว’ จะยังใช้ประโยคเดิมๆ ว่านี่คือ

“ภาพยนตร์จากประเทศโลกที่ 3 ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา”


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5209&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


หมายเหตุ
ดูข้อมูลภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน เพิ่มเติมได้อีกจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%99



เพิ่มเติม

รูปจากเพื่อนผู้ไม่ประสงค์ออกนามส่งมาให้ดู


ภาพจากอดีต ภาพนี้เป็นภาพระหว่างการถ่ายทำ ทองปานด้านซ้านมือเสื้อสีขาวกับสคริบอยู่ในมือคือ หงา คาราวาน ตรงกลางสะพายเทปบันทึกเสียงมีheadsetอยู่ที่คอ คือ Joe Gordon(ช่างเสียง) ด้านซ้ายที่ช่วยยกไมโครโฟนคือ ไพจง

8 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ช่วงที่ถ่ายหนังเรื่องนี้ที่อำเภอสูงเนินนั้น อากาศร้อนมาก พอตกกลางคืน Frank Green บริจาคเลือดให้ยุงไทยไปเยอะแต่ไม่ถึงกับเป็น west nile virus เพราะบ้านพักไม้ที่พักรวมกันไม่มีหน้าต่างกันยุง ตอนกลางวันระหว่างการถ่ายทำ เมียของ Mike มาช่วยทำเรื่องการบันทึกเสียง วันหนึ่งเสนอทำอาหารกลางวันคือทำแซนด์วิชปลากระป๋องไทยให้กิน คนไทยกินไม่ค่อยจะเป็นกันเพราะเธอไม่ใส่ mayonaise หาซื้อไม่ได้ ชาวบ้านไม่รู้จักหรอก และในระหว่างการถ่ายแทบทุกวัน จะมีตำรวจพร้อมอาวุธปืนขับรถมาก่อกวน เพราะมีอคติกับนักศึกษา หาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ต้องขอยอมรับว่า ไพจง ไหลสกุล เป็นผู้หญิงที่เก่งมีความสามารถและมีน้ำใจอย่างยิ่ง การถ่ายทำที่สูงเนินกำกับโดย หงา คาราวาน และ รัศมี เผ่าเหลืองทอง มาช่วยในภายหลังด้วย ยังมีทีมงานที่ไม่มีใครกล่าวถีงเช่น ช่างไฟฟ้าชื่อ ตู่ และนักศึกษาชื่อโจ ที่เป็นลูกมือให้ Frank และช่วยบันทึกเสียง จนกระทั่งตามมาทำให้ต่อที่ฉากในห้องประชุมเล็กที่ ม.ธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นทุกคนก็แยกตัวหายจากกันไป ขอแสดงความยินดีกับพี่ผู้แสดงเป็นทองปาน และหนังเรื่องนี้ วันเวลาได้ผ่านไป แต่เราเองแม้นจะมีโอกาสร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ก็ยังไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ ใครมีCDส่งไปให้ด้วย

เจ้าน้อย ณ สยาม กล่าวว่า...

สวัสดีครับคุณ izu ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมที่น้อยคนนักจะได้รู้ ผู้ที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้เท่านั้น ถึงจะบอกเล่าเรื่องราวแห่งความภาคภูมิของคนไทย ได้อย่างน่าฟังและงดงาม

ยินดีที่ได้รู้จักครับ
สวัสดี

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ต้องขอโทษด้วยที่อ้างอำเภอผิดพลาดไป เพราะมันหลายปีล่วงมาแล้ว อำเภอที่ถ่ายหนังคืออำเภอบ้วใหญ่ การกำกับฉากทองปานไปต่อยมวยหาเงิน รวมทั้งหลายฉากในร้านกาแฟ ฉากคุณยายแก่ๆที่เดินมาบ้านและเมียทองปานที่มีอาการป่วย ฯลฯ กำกับโดย หงา คาราวาน ส่วนที่แอ่งน้ำมี รัศมี เผ่าเหลืองทอง มาช่วยเพิ่มเติม สำหรับฉากที่ห้องประชุม(มี ดร.ป๋วย-จำไม่ได้ว่าอยู่ในการแสดงด้วยหรือเปล่า แต่เห็น ดร.ป๋วยที่ห้องประชุม, พี่คำสิงห์, สุลักษณ์, และคนอื่นที่จำไม่ได้แล้ว)ฉากนี้ ยุทธนา มุกดาสนิท ก้บ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง กำกับ)คิดว่าช่วงนั้น หงา เริ่มตะเวณเล่นดนตรีร่วมวงเป็นคาราวาน กับ อืด หว่อง และ แดง

เจ้าน้อย ณ สยาม กล่าวว่า...

เวลา อาจทำให้เราหลงลืมถึงรายละเอียดของเหตุการณ์
ไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่มันคงไม่สามารถขโมยความทรงจำที่ดีไปจากเราได้ทั้งหมด..ผมว่า

แล้วคุณละคิดเช่นนั้นหรือเปล่า ?

สวัสดีครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

[img]http://image64.webshots.com/164/6/40/23/2656640230099262329nKbryh_ph.jpg[/img]
ภาพจากอดีต ภาพนี้เป็นภาพระหว่างการถ่ายทำ ทองปาน
ด้านซ้านมือเสื้อสีขาวกับสคริบอยู่ในมือคือ หงา คาราวาน ตรงกลางสะพายเทปบันทึกเสียงมีheadsetอยู่ที่คอ คือ Joe Gordon(ช่างเสียง) ด้านซ้ายที่ช่วยยกไมโครโฟนคือ ไพจง

เจ้าน้อย ณ สยาม กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับสำหรับรูปที่ส่งมา..

Double Standard กล่าวว่า...

http://www.prachatai3.info/journal/2011/10/37320

ทวีศักดิ์ กล่าวว่า...

30 กว่าปีผ่านไปรวดเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ความทรงจำในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ยังคงแจ่มชัดในความรู้สึก มีหลายเรื่องที่เกิดขึ้น อันตรายแต่เราก็ผ่านกันมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกลอบยิงที่สถานีรถไฟบัวใหญ่ในคืนวันหนึ่ง ขณะกำลังรอรถไฟกลับกรุงเทพ โดยตำรวจเมาคนหนึ่ง หรือฉากที่กำกับลำบากมาก ตอนที่ถ่ายกันกลางคืน เมื่อทองปานเมากลับมาไล่ไก่ที่ รับจ้างนายทุนเลี้ยงที่บ้าน ที่เซตแสงยังไงก็ไม่เหมือนจริง
หนังเรื่องนี้ ถ่ายทำกันอย่างอนาถา เพราะเราประหยัดกันทุกอย่าง เพื่อให้หนังเสร็จ ระหว่างการถ่ายทำไช้รถสามล้อถีบ ขนอุปกรณ์ไปยังสถานที่ถ่ายทำ บ้านหลังนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เป้นจริงอย่างที่สุด
แต่ก็ดีใจที่หนังเสร็จสมบูรณ์ บันทึก นำเสนอชีวิตคนชายขอบได้อย่างตรงไป ตรงมาอย่างที่สุด
ถึงตอนนี้ Frank กับผมก็ยังงงกันไม่หายว่า เราถ่ายกันสำเร็จได้อย่างไร ทั้งๆที่อุปสรรค์มากมายขนาดนั้น
ความเป็นจริงของชาวบ้าน ความยากจน ยังคงเป้นเพื่อนแท้ ของคนรากหญ้าตลอดมา มันไม่ได้ราบรื่น สวยงาม เหมือนคนเมืองที่มีทุกอย่างหรอกครับ