ภายหลังการรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการสุรยุทธ์ ประกาศแนวนโยบายการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการใช้หลักคุณธรรมกำกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี มุ่งเน้นในภาคเกษตรกรรม สนับสนุนให้มีการพัฒนาการเกษตร ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ เป็นทางเลือกสำคัญสำหรับเกษตรกรรายย่อย ส่วนภาคแรงงาน เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือภาครัฐ เอกชน แรงงาน ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาคุณภาพและฝีมือของแรงงาน ตลอดจนส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่มมีงานทำ มีอาชีพเสริม ได้รับการคุ้มครองและดูแลด้านสุขอนามัย
รัฐบาลได้เสนอนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต่อสภานิติบัญญัติ โดยที่บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนกว่า 239 คน หลับหูหลับตายอมรับแนวนโยบายดังกล่าวโดยปราศจากข้อกังขา ทั้งๆที่เป็นแนวนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกยุคสมัยปัจจุบัน และเป็นแนวความคิดที่เป็นเพียงวาทะกรรมมากกว่ามีผลงานรูปธรรมในภาคปฏิบัติและไม่อาจแก้ไขปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจสังคมไทยได้แม้แต่น้อยเพราะมีฐานะเป็นเพียงแนวความคิดที่นำมาใช้เพื่อการครอบงำ มอมเมา คนยากจนที่มีชีวิตอย่างขาดแคลนให้ยอมรับสภาพชีวิตที่ยากจนข้นแค้นต่อไป
การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลสุรยุทธ์ ทำให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิขาการ ออกมาขานรับกันอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น
นายนิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยแผนการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ว่า ในปี2550 ตั้งเป้าดำเนินการจำนวน 38,000 หมู่บ้านมีตัวชี้วัดระดับครัวเรือนและชุมชุนที่สำคัญ 6 ด้านคือ การลดค่าใช้จ่าย การมีรายได้ การประหยัด การเรียนรู้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการเอื้ออารีต่อกัน
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แถลงผลการประชุม คมช. ว่า กองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเรียนรู้เพื่อเป็นแกนนำในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง และยังมีความลึกซึ้ง ก้าวหน้า และเหมาะสมสำหรับสังคมมากที่สุด
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความอ่อนด้อยทางทฤษฎีเนื่องจากไม่ปรากฎเป็นทฤษฎีหรืออยู่ในตำราทางเศรษฐศาสตร์มาก่อน และมีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาตีความหรือขยายความตามความต้องการของกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มนักวิชาการบางกลุ่มที่มีวาระซ่อนเร้นเสียมากกว่ามีความศรัทธาต่อหลักการเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีคู่ต่อสู้ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้เกิดความสับสนในสังคมเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง
การหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ถอยกลับ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการอธิบายไว้แต่เพียงกว้างๆว่าหมายถึง การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ รศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่เน้นความพอประมาณ ไม่มุ่งไปในด้านใดด้านหนึ่งมากหรือน้อยจนเกินไป ดร.เอก เศรษฐศาสตร์ ได้นำเสนอว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต เราก็ควรใช้จ่ายอย่างพอประมาณ ไม่โลภ ไม่ฟุ่มเฟือย มีการแบ่งปันส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน และมีการตัดสินใจดำรงชีวิตด้วยเหตุด้วยผล ต้องเข้าใจตนเองว่ามีข้อจำกัดอย่างไร เช่น มีรายได้เท่าไร ควรใช้จ่ายเท่าไรให้พอดีกับความสามารถในการหารายได้ของตัวเอง
การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ดีโดยความหมายของคำดังกล่าว หากเศรษฐกิจมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การพึ่งตนเองภายใต้บริบทของสังคมที่มีความแตกต่างทางชนชั้นจึงไม่สอดคล้องกับความจริง เพราะ ถ้าหากพิจารณากลับไปสู่สังคมไทยแต่โบราณกาลในช่วงสมัยอยุธยา (พศ.1893) เป็นต้นมา จะพบว่า แต่เดิมเศรษฐกิจสังคมไทยเป็นแบบศักดินา หรือนายปกครองบ่าวไพร่ มีลักษณะสำคัญคือ กษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ ถือเป็นเจ้าที่ดินที่ครอบครองผืนดินทุกตารางนิ้ว กษัตริย์มีอำนาจเหนือชีวิตราษฎรที่ถูกทำให้กลายเป็นไพร่ทาส กษัตริย์ใช้อำนาจผ่านระบบศักดินา ซึ่งกำหนดฐานะช่วงชั้นตามยศฐาบรรดาศักดิ์และตามจำนวนการถือครองที่ดินและการควบคุมทาส-ไพร่
ฐานะของกษัตริย์และความรุ่งเรืองของสังคมในยุคนั้นขึ้นอยู่กับการเกณฑ์แรงงาน การบีบบังคับให้พวกทาส-ไพร่ ทำงานให้กับขุนนางและกษัตริย์ ไพร่ทุกคนต้องสังกัดมูลนาย เช่น ไพร่สมมีหน้าที่รับใช้ขุนนาง ส่วนไพร่หลวงเป็นไพร่ของกษัตริย์ที่ปกครองและควบคุมโดยผ่านขุนนาง ในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมื่อมีการค้ากับต่างประเทศทำให้เกิดไพร่ส่วย ซึ่งเป็นไพร่หลวงที่อยู่ไกลราชธานี เกณฑ์แรงงานลำบาก จึงให้ไพร่หลวงเหล่านี้ส่งสิ่งของแทนจึงได้ชื่อว่า ไพร่ส่วยสิ่งของ ส่วนไพร่หลวงที่ส่งเงินแทนสิ่งของในอัตรา 2 บาทต่อเดือน เรียกว่า ไพร่ส่วยเงิน
ความมั่งคั่งของกษัตริย์และขุนนาง โดยเนื้อแท้นั้นมาจากการกดขี่ขูดรีดพวกไพร่-ทาสเหล่านี้ ทั้งในรูปแบบการบังคับเกณฑ์แรงงานและการเก็บส่วย ทำให้พวกทาส-ไพร่เหล่านี้ก่อการกบถ ด้วยการหลบหนีการเกณฑ์แรงงาน การก่อกบถ ดังนั้นจึงต้องยอมให้ทาสและไพร่เหล่านี้มีเวลาเพื่อทำการผลิตในระดับครัวเรือนได้บ้าง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในระดับต่ำของสังคมแบบเกษตรกรรม เป็นเศรษฐกิจที่เรียกว่า การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ หรือแบบยังชีพ (Self –Sufficient) นักเศรษฐศาสตร์ไทยระบุว่า เศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ก่อนสุโขทัยจนสิ้นสุดในต้นรัชกาลที่ 4 หรือราวศตวรรษที่ 19เป็นเศรษฐฏิจแบบพอยังชีพหรือเลี้ยงตัวเอง คือเป็นการผลิตเครื่องอุปโภค บริโภคเพื่อการเลี้ยงตัวเอง ไม่ได้ผลิตเพื่อการขาย ในระดับชุมชนหมู่บ้านเป็นชุมชนหน่วยเล็กที่สุดที่สามารถพึ่งตนเองในแต่ละชุมชนหมู่บ้านจะผลิตสิ่งของทุกอย่างด้วยตนเอง
สังคมแบบศักดินาโบราณยุคเก่านั้นพวกกษัตริย์และขุนนางคือชนชั้นอภิสิทธิชน มีชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เกินความพอดี ไม่ต้องประมาณตนเอง เพราะใช้จ่ายเท่าไรก็ไม่มีวันหมดไป เพราะคอยแต่สูบเอาส่วนเกินจากสังคมที่พวกไพร่-ทาสทำการผลิตให้ ส่วนพวกไพร่นั้นนอกเหนือไปจากชีวิตที่ถูกบีบบังคับอันเป็นชีวิตที่ไร้สิทธิเสรีภาพทุกประการแล้ว ที่พอมีชีวิตเหลืออยู่ได้ในระดับครัวเรือนและในชุมชนก็เพื่อการพึ่งตนเองให้อยู่รอดได้ โดยที่ความต้องการในการบริโภคนั้นยังต่ำอยู่มากเพราะ สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีทีวี ตู้เย็น โทรศัพท์ ดังนั้นจึงต้องต้องยอมรับสภาพชีวิตที่มีความสุขในระดับต่ำสุดของสังคมสมัยนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสมัยก่อนจึงหมายถึง ความพอเพียงในระดับของความเป็นทาส – ไพร่ ที่ทุกข์ยากแสนสาหัส
จวบจนกระทั่งมีการทำสนธิสัญญาบาวริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 เศรษฐกิจแบบเลี้ยงตนเอง เปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบพาณิชยกรรม หรือเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) เป็นการผลิตสินค้า นำมาแลกเป็นเงิน แล้วไปซื้อสินค้าที่ตนเองผลิตไม่ได้ พลังการผลิตยกระดับขึ้นด้วยการนำเครื่องจักรเข้ามาทำการผลิต เศรษฐกิจเงินตราเริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้า เป็นหน่ออ่อนของระบบทุนนิยมในสังคมไทย แรงผลักดันจากการล่าเมืองขึ้นของทุนนิยมนำมาสู่การยอมรับกรรมสิทธิ์เอกชน เช่นการถือครองที่ดินโดยเอกชนมีมากขึ้นตามลำดับ การพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานรับจ้างมากขึ้นในที่สุดจึงจำเป็นต้องยกเลิกระบบทาส-ไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 บรรดากษัตริย์ ขุนนาง และ ชาวจีนที่เคยทำหน้าที่เก็บภาษีให้กับกษัตริย์ ได้หันมาทำธุรกิจการผลิต การค้าอย่างชาวตะวันตกมากขึ้น เศรษฐกิจไทยกลายมาเป็น ทุนนิยมพึ่งพาเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมครอบโลกตราบจนทุกวันนี้
แอลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) แบ่งสังคมโลกออกเป็นสามช่วงคลื่นของยุคสมัยคือ พลังการผลิตของสังคมยกระดับจากคลื่นลูกที่หนึ่งคือสังคมเกษตรกรรม เป็นคลื่นลูกที่สองคือสังคมอุตสาหกรรมและคลื่นลูกที่สาม สังคมเทคโนโลยีข่าวสาร ปัจจุบันโลกก้าวสู่คลื่นลูกที่สามกันแล้ว เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ หรือโลกยุคไร้พรมแดน เพราะ เศรษฐกิจการตลาดในยุคทุนนิยมครอบโลก ขยายตัวไปทุกหย่อมหญ้า บรรษัทข้ามชาติเคลื่อนย้ายการลงทุนไปทุกหนแห่ง ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยี มีระดับการบริโภคที่สูงขึ้น ด้วยมาตรฐานชีวิตแบบใหม่
การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย
สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมกันแล้ว โครงสร้างการผลิตเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิงจากสังคมเกษตรกรรม กลายมาเป็นเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ขึ้นต่อพึ่งพาทุนนิยมโลก และกำลังเข้าสู่สังคมการผลิตเทคโนโลยีข่าวสารสมัยใหม่
อย่างไรก็ตามทุนนิยมอุตสาหกรรมของสังคมไทยนั้น ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือ ปรัชญาสูงสุดของระบบทุนนิยมอยู่ที่การแสวงหากำไรสูงสุดและการสะสมทุนให้มากที่สุด ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจึงกระตุ้นการบริโภคอย่างบ้าคลั่ง ในขณะเดียวกันก็กดขี่ขูดรีดกรรมกรด้วยการกดค่าจ้างให้ต่ำมากที่สุด นำมาสู่ภาวะหนี้สินอันเกิดจาการบริโภคเกินตัวและเกินความจำเป็น ในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้เปลี่ยนการผลิตเกษตรกรรมแบบยังชีพมาเป็นเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ มีการปลูกพืชเดี่ยวเชิงพาณิชย์ การเร่งรัดผลผลิตด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี ในที่สุดเกษตรกรรมต้องล้มละลายลงเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงแต่นำไปขายได้ราคาต่ำ ส่วนหนึ่งต้องอพยพไปขายแรงงานกลายเป็นแรงงานราคาถูกป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมและที่ต้องอพยพไปขายแรงงานในต่างประเทศ ทำให้ภาคเกษตรกรรมขาดกำลังแรงงานหนุ่มสาว เกษตรกรจำนวนมากต้องขายที่ดิน ถูกยึดที่ดิน มีการบุกรุกเขตป่าสงวนอย่างกว้างขวาง ทำให้เนื้อที่ป่าไม้ของไทยเหลือเพียง 80 ล้านไร่ หรือร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ และมีพื้นที่เป็นป่าเสื่อมสภาพและถูกยึดครองโดยประชาชนทั่วไปอีกไม่ต่ำกว่า 80 ล้านไร่เช่นกัน จากเนื้อที่ทั้งประเทศประมาณ 320 ล้านไร่
ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ยังก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเช่น ในปี 2540 เศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ การเก็งกำไรของการค้าที่ดิน การผลิตล้นเกินในอสังหาริมทรัพย์ การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยธนาคาร เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ มีการเลิกจ้างแรงงานและอัตราการว่างงานสูงขึ้น อำนาจซื้อและการบริโภคตกต่ำ ในที่สุดจึงมีการเสนอในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้หันกลับไปสู่วิถีการผลิตในภาคเกษตรกรรมอย่างน้อยที่สุดรองรับในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ข้อเสนอดังกล่าว เป็นเพียงปัดภาระความรับผิดชอบของรัฐไปสู่คนว่างงานโดยปกปิดพวกฉ้อฉลหรืออาชญากรทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตามแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่สามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาได้เนื่องจาก
1.
เกษตรกรส่วนใหญ่ไร้ที่ดินทำกิน จำนวนมากเช่าที่ดินทำกิน และ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีเงินลงทุนพัฒนาที่ดินเพื่อการผลิตแบบพอเพียง (ครอบครัวหนึ่งต้องใช้เงินประมาณ 6 ล้านบาทบนพื้นที่ 15 ไร่ ในการขุดบ่อน้ำ เตรียามดิน พันธ์พืช สัตว์ )จึงขาดแรงจูงใจในกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ ที่ปรากฏเป็นเกษตรกรตัวอย่างตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนั้นได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและต้องทำเป็นเพียงตัวอย่างของการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่
หากนำเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรจำนวน 132 ไร่ทั้งประเทศ หารด้วยจำนวนกำลังแรงงานในภาคเกษตรจำนวน 14 ล้านคน จะได้จำนวนการถือครองที่ดินเพียง 9.42 ไร่ ย่อมไม่พอเพียงตามทฤษฎีใหม่ ตัวเลขในปี 2540 ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศมีอัตราการถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ ขณะที่มีผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่มีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์และในระดับหมู่บ้านมีประชากรกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ไม่มีเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินและมีจำนวนกว่า 500000 ครอบครัวที่เช่าที่ดินทำกิน ประมาณได้ว่าในปี 2550 เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกินมากกว่าปี 2540 เมื่อเป็นดังนี้แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่อาจนำไปใช้ได้จริงเพราะเกษตรกรถือครองที่ดินมีจำนวนน้อยลงทุกที
2
ภาวะทางภูมิธรรมชาติในภาคเกษตรกรรมนั้นมีความแตกต่างกันและยังประสพกับปัญหาความผันผวนทางธรรมชาติ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ขาดความสมดุลย์เช่นภาคเหนือ เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ฝนตกน้อย พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย เก็บน้ำไม่ได้ ภาคกลาง มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ แต่ฤดูน้ำหลาก มีปัญหาน้ำท่วมขัง ทำลายไร่นาของเกษตรกร ภาคใต้ฝนตกชุก มีทะเลสองฝั่ง เป็นการผลิตของเกษตรกรรายย่อยที่เกี่ยวโยงกับพืชเศรษฐกิจอย่างเช่น การทำสวนยาง และการประมง ดังนั้นการนำทฤษฎีใหม่ไปใช้ในทุกพื้นที่จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่อาจนำไปใช้ในทุกพื้นที่ได้ การอนุมัติเงินนับหมื่น นับแสนล้านบาทของรัฐบาลสุรยุทธ์จึงเป็นสิ้นเปลือง สูญเหล่า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
3
โครงสร้างประชากรและกำลังแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวเลขประชากรไทยทั้งหมด 65.34 ล้านคน เป็นประชากรวัยทำงาน หรืออยู่ในกำลังแรงงาน 33.8 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเกษตรกรรม 14.03 ล้านคน ติดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ นอกภาคเกษตร 19.77 ล้านคน หรือคิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมกันแล้ว กำลังแรงงานที่เหลือจริงๆในภาคเกษตรกรรม เป็นกำลังแรงงานของคนสูงอายุ แรงงานหนุ่มสาวเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยมาก ดังนั้น หากมีการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภาคเกษตรกันจริงๆแล้ว ชาวนาแบบพอเพียงคนหนึ่งจะมีภาระหน้าที่การทำงานที่หนักหน่วงเป็นอย่างมากตั้งแต่เตรียมทำคันดิน การไถพรวนแปลงนา การทดน้ำ เตรียมเมล็ดพันธ์พืช เพาะข้าวกล้า ไถหว่าน ดำนา เตรียมปุ๋ยหมักชีวภาพ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ฯลฯ นับได้ว่าเป็นภาระที่หนักหน่วง ยิ่งปฏิเสธที่จะใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรทันสมัยแล้ว ย่อมเชื่องช้าไม่ทันทำกินเป็นแน่
ในเศรษฐกิจทุนนิยม ยังมีระดับการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น มีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร และความสะดวกสบายด้านต่างๆ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี ตู้เย็น เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ทุกคนในสังคมแล้ว ดังนั้นการนำเสนอหลักเศรษฐกิจพอเพียง กลับหลังหันไปสู่ชีวิตเกษตรกรรมพึ่งตนเอง จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เหลวไหล ไร้สาระสิ้นดี
แท้ที่จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสังคมชนบทในภาคเกษตรกรรมทุกวันนี้นั้นส่วนหนึ่งมาจากการที่แรงงงานหนุ่มสาวนั้นอพยพมาทำงานในเมือง เป็นกรรมกรในโรงงาน หาบเร่ แท็กซี่ ก่อสร้าง เป็นโสเภณีเร่ขายเรือนร่างกันกลาดเกลื่อน เป็นเมียน้อยเมียเช่าปรนเปรอให้พวกฝรั่ง แขกและเจ๊กจากต่างแดน กันมากมายนับหมื่นนับแสนคน บุคคลเหล่านี้สามารถหาเงิน มีรายได้ไปจุนเจือครอบครัวในชนบท ลำพังงบประมาณของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่อาจไปยกระดับฐานะของครอบครัวประชากรในภาคเกษตรกรรมได้อย่างแน่นอน
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นจะดี ไม่มีปัญหา ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์นั้นมีข้อดีอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความสะดวกสบายด้านต่างๆ การรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็ว แต่โดยตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม นั้น ได้ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง ได้สร้างความวิบัติหายนะในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่วิวัฒนาการสังคมนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงเส้นทางไปสู่ความเป็นทุนนิยมได้เนื่องจากกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์นั้นได้มีอิทธิพลเหนือรัฐชาติ เหนือพรมแดนของแต่ละประเทศ รวมทั้งวิถีชีวิตและลักษณะทางDNA ของประชากรไทยนั้นกลายเป็นมนุษย์พันธ์ทุนนิยมไปเรียบร้อยแล้ว แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ทุนนิยมของคนไทยในขณะนี้
แนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงจะมีคุณค่าอยู่บ้างก็ตรงที่ เป็นแนวความคิดที่ต่อต้านการบริโภคที่เกินความพอดี หรือเป็นการบริโภคอย่างขาดเหตุผล ทำให้การดำรงชีวิตของเรามีเหตุมีผลได้เช่นกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม คุณค่าอีกประการหนึ่งก็คือ มันทำให้ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งหลงไหลได้ปลื้มไปกับแนวความคิดดังกล่าว มีการสร้างแบบทางเลือกเศรษฐกิจแบบใหม่ เช่นมีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผลิตเป็นสินค้าทางเลือกออกมาต่อต้านสินค้าของทุนนิยม เรียกร้องให้มาการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่คำนึงถึงผลกำไรแต่เพียงประการเดียว แต่แนวความคิดนี้ไม่อาจเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศหรืออาจกล่าวได้อีกประการหนึ่งว่า แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่สามารถแก้ไขความยากจนในสังคมไทยให้หมดไปได้ ในทางตรงกันข้ามแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นกำลังทำหน้าที่ปิดบังอำพรางความแตกต่างทางชนชั้นและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม โยนภาระความอดอยาก ความยากจน ขาดแคลนให้กับคนยากจน สร้างแนวความคิดให้คนยากจนยอมจำนนต่อมีชีวิตอย่างอดอยาก ยากจน ด้วยความเชื่อที่ว่า ดำรงชีวิตพอประมาณ ใช้จ่ายบริโภคตามฐานะรายได้ของตนเอง
แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ละเลยความจริงของความแตกต่างทางชนชั้น ได้ละเลยความจริงของการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม เพราะในรอบทศวรรษที่ผ่านนั้น ผลพวงของการพัฒนาประเทศนั้น ประเทศไทยมีเงินฝากธนาคาร 5 ล้านล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 5.8 ล้านล้านบาท ส่งออกได้ประมาณ 2.4-2.8แสนล้านบาท มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ราว 4.47 ล้านบาท แต่เงินและทรัพยากรส่วนใหญ่ราว 58 เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือของคนรวยและคนชั้นกลางเพียง 12 ล้านคน หรือแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ (ตัวเลขปี 2546)ไม่ได้กระจายให้คนส่วนใหญ่ในสังคมอย่างทั่วถึง ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยถี่ห่างถึง 20 เท่าตัว ซึ่งหมายถึงยิ่งพัฒนามากขึ้น คนรวยจะยิ่งรวยมากขึ้น ส่วนคนจนจะจนมากขึ้นไปกว่าเดิม
ในทางความเป็นจริงผู้ที่ออกมายัดเยียดแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพวกที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ร่ำรวย เป็นพวกอภิสิทธิ์ชนในสังคมทั้งสิ้น ตัวอย่างเฉพาะ คณะรัฐมนตรี 29 คนของรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่ประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มี่ทรัพย์สินที่แสดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีจำนวนทั้งสิ้น 6066,793,928 ล้านบาท เฉพาะในส่วนของ พล.อ.สุรยุทธ์ และพ.อ.หญิงคุณหญิง จิตรวดี จุลานนท์ ภริยา มีทรัพย์สินรวม 90.8 ล้านบาท โดยมีเครื่องเพชร และเครื่องประดับมูลค่ารวม 14.1 ล้านบาท มีคฤหัสถ์หลังใหญ่อยู่ในบ้านพักหมู่บ้านเดอะรอยัลกอล์ฟคลับ และครอบครองบ้านพักตากอากาศส่วนตัวที่เขายายเที่ยง นครราชสีมา หากพิจารณาจากวิถีชีวิตในระดับปัจเจกชนของบุคคลเหล่านี้จะพบได้ว่า มีทรัพย์สินส่วนเกินเกิดขึ้น การใช้ชีวิตพักอยู่ในสนามกอล์ฟ ย่อมเป็นชีวิตที่เบียดเบียนคนอื่น เพราะสนามกอล์ฟ มีการใช้น้ำและไฟฟ้าสิ้นเปลือง ตอบสนองให้กับคนจำนวนน้อยในสังคม ในขณะที่บ้านพักตากอากาศนั้น เป็นที่ดินทำกินของเกษตรกร แต่กลับถือครองอย่างไม่ถูกต้อง นำมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว สภาพความจริงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นลักษณะมือถือสาก ปากถือศีล ของชนชั้นปกครองเผด็จการที่ยึดนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงในขณะนี้
ยิ่งให้สามเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแกนนำของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งเลอะเทอะไปกันใหญ่ทีเดียว เพราะพวกเขาเหล่านั้นเรียนรู้กันมาก็แต่ในเรื่องการรบ การใช้อาวุธ ย่อมไม่อาจเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจได้ และยิ่งไม่มีความสามารถแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียวในการผลักดันเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาทุนนิยมไทย มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ เป็นทุนนิยมเชิงซ้อน ระหว่างฝ่ายแรก เป็นการดำรงอยู่ของการสะสมทุนแบบจารีตนิยม ด้วยการอาศัยอิทธิพลทางการเมืองและระบบอุปถัมภ์ให้เกื้อกูลในการสะสมทุน เช่น การส่งนายทหารเข้าไปครอบครองรัฐวิสาหกิจหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับฝ่ายที่สองการดำรงอยู่ของทุนนิยมสมัยใหม่ ที่สะสมทุนโดยการเชื่อมโยงเข้ากับกระแสทุนนิยมครอบโลก ทั้งสองฝ่ายอยู่ในโลกเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วยกัน แต่มีการกล่าวหาและโจมตี ด้วยการตั้งชื่อเรียกที่แตกต่างกันอย่างเช่น ทุนนิยมฝ่ายแรก เรียกทุนนิยมสมัยใหม่ว่าเป็นทุนนิยมสามานต์ เพราะ มักจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือนิยมชมชอบในการค้าเสรี ยอมให้นายทุนต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจ สะสมทุนขึ้นมาจากการเข้าสู่การยึดครองอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ทุนนิยมฝ่ายที่สอง เรียกฝ่ายแรกว่าเป็นทุนนิยมด้อยพัฒนาหรือทุนนิยมแบบพอเพียง เป็นทุนนิยมที่ถูกข้าราชการทหาร และกลุ่มทุนขุนนางและคนชั้นสูงครอบงำ สะสมทุนกันแบบอภิสิทธิ์ชน เช่นเบียดบังงบประมาณแผ่นดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ในโครงการส่วนตัว ใช้อำนาจบารมีเรียกเก็บเงินค่าตำแหน่งและผูกขาดการดำเนินการทางธุรกิจ ครอบครองที่ดินและเรียกเก็บค่าเช่า ใช้อำนาจเผด็จการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องในการรับสัมปทานโครงการของรัฐ
ด้วยเหตุนี้โดยเนื้อแท้แล้ว การนำเสนอหลักเศรษฐกิจพอเพียงจากทุนนิยมฝ่ายแรกนั้น มีเป้าหมายเพียงต้องการที่จะต่อต้านการเข้ามาของทุนนิยมครอบโลก และยับยั้งการเจริญเติบโตของทุนนิยมผูกขาดสมัยใหม่ และใช้แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องครอบงำคนยากจน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเป็นอภิสิทธิชนทางเศรษฐกิจทุนนิยมจารีต
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจแบบจารีตนิยมและขั้วอำนาจเศรษฐกิจของทุนสมัยใหม่ ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มาตรการกันเงินสำรอง 30% ในการนำเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นเข้ามาลงทุนและ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นส่วนหนึ่งที่ทุนนิยมแบบจารีตนำมาใช้ในการสกัดกั้นอิทธิพลจากทุนนิยมภายนอกที่ไหลบ่าเข้ามาครอบงำสังคมไทย
วัฒนธรรมเผด็จการของระบบศักดินา สร้างอุดมการณ์จารีตนิยมสุดขั้ว ทำให้สังคมไทยไทยมืดบอดทางปัญญาครั้งใหญ่ ปัญญาชนที่โกรธแค้นเอากับทุนนิยมครอบโลกหรือกระแสโลกาภิวัฒน์หันไปเอาดีและยกย่องสรรเสริญกับทุนนิยมจารีตแบบเก่า สืบทอดประเพณีและผลิตซ้ำอุดมการของสังคมศักดินาดั้งเดิม ทำให้ปัญญาชนจำนวนมากก้มหัวให้กับเผด็จการทหาร ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งๆที่เป็นแนวความคิดล้าหลัง เฉยและเฉิ่ม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง
มีความพยายามของปัญญาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าไปกว่าระบบทุนนิยมทั้งสองฝ่าย เช่น การแก้ไขกฎหมายแรงงานให้ค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึงค่าจ้างที่พอเพียงต่อการดำรงชีพของคนงานหนึ่งคนและสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน การนำเสนอแนวความคิดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เพื่อกระจายรายได้ให้เป็นธรรม รัฐบาลมีเงินทุนจำนวนมากพอในการจัดรัฐสวัสดิการ ดูแลสวัสดิการสังคมตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เช่น การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม การกีฬา การรักษาพยาบาลฟรี การศึกษาฟรี เป็นต้น การนำเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจแทนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการให้ข้าราชการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีอำนาจการจัดการระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่มีเกษตรกรสามารถจัดการและวางแผนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน
การเสนอลัทธิสังคมนิยมประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ข้อเสนอที่ข้ามพ้นระบบทุนนิยมสุดขั้วดังกล่าว ยังเป็นเพียงหน่ออ่อนที่ต้องยกระดับให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในกระแสธารของการเคลื่อนไหวต่อสู้ในยุคปัจจุบันนี้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
ที่มา : สยามปริทัศน์ : บทความ
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
เศรษฐกิจพอเพียง : นวัตกรรมกับดักของศักดินา
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:12 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
7 ความคิดเห็น:
ไม่ใช้กับดักศักดินา แต่เป็น ท.บ. ใช้สร้างผลงาน ในเวอร์ชั้นที่เชย และล้าสมัยของศักดินา จงต่อยอดให้เข้ากับวิถีชีวิตของประชาชนไทย ที่ต้องปากกัด ตีนถีบ หาเช้า กินค่ำ ประหยัดแล้ว ประหยัดอีก ภาษีก็ต้องเสีย ประกันรถก็ต้องจ่าย ให้จงได้เข้าใจไหม???้ี
กรุงเก่า อ.ย.
16 ก.ค. 2551
ดูเหมือนคุณจะพยายามพูดโน้มน้าวให้คนอ่านเชื่อว่า คุณเป็นพวกไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด แต่ขอบอกว่ามันฟังดูไม่น่าเชื่อเลย ขอร้องอย่าพยายามเลย หลอกคนโง่บางคนอาจจะได้ แต่ยังไงคุณก็รู้ตัวเองดีว่าคุณคิดทำอะไรเพื่อใคร
ข้อความที่เห็นทั้งหมดน่าจะมาจากคนที่ฝักใฝ่พวกทุนนิยมเห็นแก่ตัว ก่อนจะมาเป็นบทความที่เห็นหน้าจะนึกย้อนไปว่าตอนที่คุณเกิด หรือเริ่มจำความได้ คุณเคยเห็นหรือได้รับข้อมูลทางใดลือ ว่าพ่อหลวงเอาเปรียบประชาชน ดิฉันอายุจะ50แล้วจำความได้ก็เห็นแต่พระองค์ทรงให้ทุกอย่างกับคนไทย พระองค์มีทรัพย์ตั้งมากมาย แต่พระองค์ไม่เคยแม้แต่จะคิดที่ทิ้งประเทศไปซื้อบ้านหรือเกาะ หรือ ที่ดินที่ต่างประเทศเหมือนใตรบางคนที่โกงชาติโกงภาษีแล้วเอาเงินไปซื้อเกาะส่วนตัวพ่อหลวงเติบโตที่ต่างประเทศใครๆก็รู้แต่พระองค์มีความรักประเทศรักประชาชนอย่างแท้จริง พระองค์ทรงรักแผ่นดินนี้มากกว่าคนที่บอกว่าตนเองสัญชาติไทยเสียอีก หยุดเขียนบทความที่จะบ่งบอกถึงความอกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด รู้จักมียางอายบ้างก่อนที่แผ่นดินจะกลบหน้า ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้นอกจากความดี เกิดมาถามตัวเองซิว่าเคยพบกับความสุขบ้างหรือเปล่า ความสุขไม่ใช่เงิน ความสุขที่ออกจากใจ การเป็นผู้ให้ รอยยิ้ม และมีสติ ชาติหน้าขออวยพรให้คุณเกิดที่ใดในโลกก็ได้ที่ไม่ใช่แผ่นดินไทย
สมยศ พฤกษาเกษมสุข ก่อนจะเขียนบทความที่แย่มากออกมาได้อย่างนี้ คุณใช้ส่วนไหนคิด(น่าจะเป็นหัวแม่เท้า)คุณเข้าใจว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของชาวไร่ชาวนาหรือการทำเกษตรเท่านั้นหรือ คุณเข้าใจว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจของชาวนาชาวสวนหรือ ดิฉันจะขอสละเวลาอันมีค่ายิ่งเพื่อแนะนำคุณให้เป็นบัวพ้นน้ำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เปรียบได้ดังคำสอนให้ประชาชนได้ไตร่ตรองในทุกๆด้าน ทุกๆคนที่มีสัญชาติไทยเชื้อชาติไทย ทุกสาขาอาชีพ แล้วแต่ความเป็นอยู่ของคนๆนั้น ครอบครัวนั้นมีอาชีพอะไร อยู่อย่างไร สั้นๆว่าความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรโดยมีเงื่อนไขสำคัญคือมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต แบ่งปัน ใช้ความรอบรู้รอบคอบ ระมัดระวังดำเนินชีวิตด้วยความเพียร ความอดทน มีสติ ปัญญาและรู้รักสามัคคี @ เสียดายจริงๆที่คุณเกิดมาและได้สิทธิการถือครองบัตรประชาชนทีมีเลขกำกับ13หลัก ดิฉันว่าคุณน่าจะเป็นประเภทฝั่งไมโครชิพมากกว่า เพราะคุณไม่มีความกตัญญู
ผู้เขียนบทความ คุณศึกษาแนวคิด ปรัชญาศก.พอเพียงมากแค่ไหน หรือคุณรู้จักแนวคิดนี้แบบปิดตาหนึ่งข้างปิดหูหนึ่งข้าง ขอแสดงความเห็นว่าบทความนี้ไร้สำนึกสิ้นดี (เขียนตอนอยู่เขมรรึเปล่าครับ) ปรัชญาศก.พอเพียง มุ่งเน้นความพอประมาณ พอดี ไม่ประมาท ซึ่งนำไปสู่ความสมดุล ไม่ว่าคุณจะไปประยุกต์ใช้กับเรื่องใด ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม (ยกเว้นเรื่องการเมือง)
ในโลกใบนี้ ความสงบสุข ความสมบูรณ์ ความยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความสมดุล
คุณชื่นชมทุนนิยมนั้นเป็นสิทธิของคุณ
ผมศรัทธาในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิทธิของผม
หวังว่าคงมีโอกาสพบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบางทีผมอาจยอมเสีย500บาท(ค่าปรับ)
ตกลงแค่ไม่เห็นด้วยนี่ถึงกับไล่ไปอยู่ประเทศอื่นกันเลยเหรอครับ วาทกรรมเสียชาติเกิดนี่ใช้ซ้ำกันไปซ้ำกันมาสุดจะเอือม
The King can do wrong นะครับ ในหลวงทรงพูดเอง เห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไปตามสมควร ไม่จำเป็นต้องแดกดัน หรือขู่จะทำร้ายกันหรอกนะครับ อย่ามาอวดอีโก้กันแบบนี้เลยครับ
ขอบคุณมาก ๆ นะค่ะสำหรับบทความดีๆ
แสดงความคิดเห็น