วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สองร้อยปีวัฒนธรรมไทย และความยุติธรรม


ดิฉันอยากจะเริ่มต้นการพูดในวันนี้ด้วยการกล่าวว่า ในวัฒนธรรมไทยนั้นถือว่าผู้หญิงมีสติปัญญาน้อยและมีอคติสูง จึงไม่รู้จัก "ความยุติธรรม" (ซึ่งทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเป็นนักปกครองหรือผู้พิพากษาได้) เว้นแต่ผู้หญิงบางคนจะมีคุณสมบัติของผู้ชายอยู่ในตัวมากเป็นพิเศษเท่านั้นจึงจะรู้จัก "ความยุติธรรม" ดังนั้น เมื่อผู้หญิงไทยอย่างดิฉันมาพูดเรื่อง "ความยุติธรรม" ท่านทั้งหลายก็คงจะคาดคะเนได้แล้วว่า ดิฉันกำลังจะพูดในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงเลย และเมื่อดิฉันพูดจบแล้ว ท่านก็คงจะเชื่อมั่นได้เต็มที่ยิ่งกว่าเดิม ว่า "ความยุติธรรม" เป็นเรื่องของ "ลูกผู้ชาย" เท่านั้น

อะไรคือวัฒนธรรมไทย? ดิฉันขอใช้คำนิยามของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า วัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์ (ระหว่างคนกับคน คนกับสถาบัน คนกับธรรมชาติ) ซึ่งดำรงอยู่ในเมืองไทย โดยในวันนี้ดิฉันจะเน้นวัฒนธรรมไทยในช่วงตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงเทพฯ ขึ้น จนกระทั่งเมื่อกรุงเทพฯ มีอายุครบสองร้อยปี คือระหว่างพ.ศ.2325-2525 ในระยะสองร้อยปีนี้วัฒนธรรมไทยมีความเปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้นความคิดว่าอะไรคือความยุติธรรมจึงเปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน

โดยภูมิหลังทางวิชาการแล้วดิฉันสนใจประวัติศาสตร์ความคิด ดังนั้น เรื่องที่จะพูดในวันนี้จึงขอเน้นไปที่วัฒนธรรมทางความคิดของไทย และเน้นวัฒนธรรมของรัฐหรือชนชั้นนำ มิใช่วัฒนธรรมชาวบ้าน แต่อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมของรัฐนี้มีอิทธิพลเหนือชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสี่สิบปีที่ผ่านมา เมื่อการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐมีผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสื่อสารคมนาคมและการศึกษา ตลอดจนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบราชการที่เข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลเหนือชาวบ้านในแทบทุกมิติของชีวิต ดังนั้น การมองวัฒนธรรมทางความคิดในระดับของรัฐจึงน่าจะมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย

วัฒนธรรมทางความคิดในระดับรัฐนี้มิได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ แต่ได้ถูกสร้าง ถูกเลือกสรร และถูกปรับเปลี่ยนโดยปัญญาชนของรัฐเป็นระยะ ๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นดิฉันจึงเน้นความคิดของปัญญาชนที่สำคัญ ๆ ของรัฐที่มีอิทธิพลสูงต่อวัฒนธรรมของรัฐหรือวัฒนธรรมกระแสหลักของไทยมากเป็นพิเศษ และพยายามแสดงให้เห็นโดยสังเขปว่า วัฒนธรรมทางความคิดที่ปัญญาชนของรัฐสถาปนาขึ้นนี้มีผลต่อแนวความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" อย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายของรัฐภายใต้วัฒนธรรมทางความคิดดังกล่าว

คำว่า "ความยุติธรรม" แปลตามตัวอักษรได้ว่าถูกต้องตามหลักธรรม คนจะได้รับผลดีจากการทำตามหลักธรรม และจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษจากการกระทำผิดหลักธรรมะ สิ่งที่ดิฉันอยากเน้นในการพูดวันนี้ก็คือ ในระบบความสัมพันธ์แบบไทยในช่วงเวลาสองร้อยปีที่ผ่านมา ความหมายของคำว่า "ธรรม" นั้นเปลี่ยน และกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินว่าอะไรถูกต้องตามหลักธรรมและอะไรผิดตามหลักธรรมก็เปลี่ยน (คำว่า "ธรรม" ในสังคมไทยไม่ได้หมายถึงเฉพาะธรรมะของพุทธศาสนาเท่านั้น อาจนิยามกว้าง ๆ ไว้เพื่อความเข้าใจร่วมกันว่า ธรรมคือกฎเกณฑ์อันถูกต้อง ซึ่ง"กฎเกณฑ์อันถูกต้อง" นี้สมัยต้นกรุงเทพฯ เคยมีพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญที่สุด แต่ในระยะหลังหลัง"กฎเกณฑ์อันถูกต้อง"มีแหล่งที่มาใหม่ซึ่งดิฉันจะกล่าวต่อไปข้างหน้า)

วัตถุประสงค์ในการนำเสนอเรื่องนี้ก็คือ พยายามแสดงให้เห็นว่าในวัฒนธรรมไทยนั้น ความคิดเรื่อง"ความยุติธรรม"เป็นเรื่องของความไม่เสมอภาค และยังเป็นฐานทางความคิดของรัฐไทยสมัยใหม่ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ตลอดจนการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดมา


วัฒนธรรมไทยในสมัยต้นกรุงเทพฯ
และ "ความยุติธรรม"

ในสมัยต้นกรุงเทพฯ วัฒนธรรมไทยผูกพันกับพุทธศาสนามากเป็นพิเศษ เนื่องจากชนชั้นนำได้นำเอาแนวความคิดสำคัญ ๆ ของพุทธศาสนามานิยามความหมายใหม่เพื่อเป็นอุดมการณ์ของรัฐ ระบบความสัมพันธ์ในรัฐไทยเวลานั้นมีแนวความคิดทางพุทธศาสนาเป็นรากฐาน กล่าวคือคนทำกรรมดี/กรรมชั่วมาไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน จึงมีสถานภาพ อำนาจ หน้าที่ และสิทธิแตกต่างกัน ผู้ที่ทำกรรมดีมามากที่สุดก็คือพระมหากษัตริย์เพราะทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงมีฐานะเป็นธรรมิกราชาธิราชซึ่งทำหน้าที่จรรโลงธรรมะด้วยการสอนให้คนทั้งหลายในรัฐได้เข้าใจธรรมะ จะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรมะ หากผู้ใดทำผิดหลักธรรมะพระองค์จะทรงพิจารณาลงทัณฑ์อย่างยุติธรรมเพื่อให้บุคคลนั้นรู้ตัวว่าตนได้กระทำผิด จะได้ไม่กระทำเช่นนั้นอีก ในภายภาคหน้าชีวิตจะได้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ ทั้งนี้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนในเมืองไทยเท่านั้น เพราะธรรมิกราชาธิราชทรงปกครองรัฐแบบจักรวาล จึงทรงทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นนี้ในประเทศราชทั้งหลาย เช่น ลาว กัมพูชา ล้านนา รวมทั้งในพม่าด้วย (ในการทำสงครามกับพม่านั้นมีการสร้างคำอธิบายขึ้นมาว่าเป็นการทำสงครามเพื่อช่วยคนทั้งหลายในกองทัพพม่าให้ยุติการกระทำอันผิดหลักธรรมะ เพราะการยกทัพมาตีไทยเป็นการประกอบอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้ชีวิตของคนทั้งหลายในกองทัพพม่าต้องตกไปสู่อบายภูมิ)

เมื่อธรรมิกราชาธิราชได้ทรงทำหน้าที่จรรโลงธรรมะ อันทำให้คนทั้งหลายมีโอกาสประพฤติธรรมและสร้างกองการกุศลเพื่อบรรลุนิพพานซึ่งเป็นอุดมคติของชีวิตเช่นนี้แล้ว คนทั้งหลายก็จะต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ นั่นคือ"ใช้เรี่ยวแรงเป็นแดนแทนพระเดชพระคุณจึ่งจะชอบ" หรือจึงจะ "ยุติธรรม"(2)

จะเห็นได้ว่าในสมัยต้นกรุงเทพฯ "ยุติธรรม" หมายถึงถูกต้องตามหลักธรรมะของพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรม เพราะทรงเป็นพระโพธิสัตว์และธรรมมิกราชาธิราช (คือเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่เหนือราชาทั้งหลายเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประธานในการจรรโลงธรรมะ) พระองค์ทรงรู้ดีว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรเลว และทรงเมตตาสอนให้คนทั้งหลายได้เข้าใจในธรรมะเหล่านี้ด้วย ไพร่ทั้งหลายจึงต้องใช้แรงงานทำงานให้พระองค์เป็นการตอบแทนบุญคุณ กล่าวโดยสรุปก็คือ ความยุติธรรมในยุคนี้มาจากพุทธศาสนาและเป็นฐานทางความคิดให้แก่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน


วัฒนธรรมไทยและ "ความยุติธรรม"
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (2430-2475)

ระบบความสัมพันธ์ของคนไทยเปลี่ยนแปลงมากในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาริงและการเกิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุคนี้ระบบมูลนาย-ไพร่-ทาสสิ้นสุดลง พุทธศาสนามิใช่แหล่งที่มาสำคัญที่สุดของอุดมกาณ์รัฐไทยอีกต่อไป เป็นเพียงส่วนประกอบ และได้รับการเน้นเฉพาะส่วนที่เป็นโลกียธรรมและพิธีกรรมอันไม่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ของตะวันตกเท่านั้น ความหมายของ "ธรรมะ"เปลี่ยนมาเป็นกฏเกณฑ์อันถูกต้องที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ได้ทรงตราขึ้น พระองค์ทรงรู้ดีว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่ใช่เพราะทรงเป็นพระโพธิสัตว์และธรรมิกราชาธิราชดังเช่นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เพราะทรงเป็น "เจ้า" (Royalty) และการเป็น"เจ้า"นี้เป็นเรื่องของชาติกำเนิด สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้แจงว่าเฉพาะคนที่เกิดมาเป็น "เจ้า" เท่านั้นที่มี "Ideal" ซึ่งทรงแปลว่า "ศีลธรรม" แน่นอนว่าผู้นำของเจ้าคือพระมหากษัตริย์ย่อมทรงมี "ศีลธรรม"เหนือผู้อื่น ส่วนประชาชนคือคนที่ยังโง่อยู่ ย่อมไม่รู้ว่าอะไรคือความยุติธรรม ต้องรอคอยให้พระมหากษัตริย์ทรงอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดแก่ชีวิตของทุกคนในรัฐ(3)

กล่าวได้ว่า ความยุติธรรมในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มิได้มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน แต่มีพระปัญญาบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นมนุษย์เป็นรากฐาน ขณะเดียวกันความยุติธรรมก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ การกระทำใดที่ทำให้พระมหากษัตริย์มั่นคง (ซึ่งหมายถึงชาติไทยมั่นคง) ถือว่าถูกต้อง เพราะหากปราศจากพระมหากษัตริย์และชาติไทยแล้วไซร้ ชีวิตของคนแต่ละคนก็เปรียบเสมือนภัสมธุลีอันไร้ค่าและปราศจากความหมาย

ชาติในจินตนาการของคนในยุคนี้เป็นชาติที่ประกอบด้วยคนชั้นต่าง ๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งทำให้ได้รับผลดีจากการทำหน้าที่ไม่เท่ากัน เพราะหน้าที่ต่าง ๆ นั้น สำคัญต่อชาติและต่อพระมหากษัตริย์มากน้อยต่างกันไป หน้าที่ของเจ้าสำคัญที่สุด ดังนั้นเจ้าย่อมได้รับผลดีมากที่สุด รองลงมาคือข้าราชการซึ่งเป็นผู้ "ทำการของพระราชา" ข้าราชการจึงมีสถานะสำคัญรองจากเจ้า ส่วนประชาชนคือผู้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และรอคอยความเมตตากรุณาจากพระองค์ สภาวะเช่นนี้นี้ถือว่ายุติธรรมหรือถูกต้องทุกประการ


ในยุคนี้การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดสูงสุดคือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของพระมหากษัตริย์หรือการกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การลงโทษไม่ว่าจะรุนแรงเพียงใดก็ถือว่ายุติธรรมและเป็นพระมหากรุณาธิคุณด้วย


ดังนั้น ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้พระบรมราชโองการนั้นเองคือแหล่งที่มาของความยุติธรรม เมื่อจะมีการสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอให้ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แม้ว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งทรงสำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดจะทรงเสนอให้ใช้ระบบกฎหมายประเพณีแบบอังกฤษก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะระบบประมวลกฎหมายเป็นระบบที่ทำให้พระบรมราชโองการ(ไม่ใช่ประเพณี)เป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรมอย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นด้วยกับพระอนุชา ซึ่งทรงเป็นนักปกครองและนักปราชญ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มิใช่เห็นด้วยกับพระราชโอรส ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชากฏหมายมาจากประเทศที่ได้ผ่านการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว และพยายามที่จะทำให้หลักกฎหมายกลายเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรมเหนือพระบรมราชโองการของพระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก

กล่าวได้ว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "ความยุติธรรม" เป็นความคิดเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นต่าง ๆ ที่มีสถานภาพ อำนาจ และสิทธิไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้ชัดจากชนชั้นเจ้าเองที่แบ่งสถานภาพ อำนาจ และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างซับซ้อน และนักปราชญ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้สร้างอัตลักษณ์ให้แก่คนชั้นต่าง ๆ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้า ข้าราชการ พระสงฆ์ ราษฎร และผู้หญิง ให้คนแต่ละชั้นรับรู้ว่าตนมีมีสถานภาพและหน้าที่อย่างไรบ้าง โดยใช้อำนาจรัฐในการสร้างระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรม และวิธีปฎิบัติต่าง ๆ ให้คนยอมรับแบบแผนของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือยอมรับว่าความไม่เสมอภาคเป็นความยุติธรรมนั่นเอง

ควรกล่าวด้วยว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรม และวิธีปฎิบัติต่าง ๆที่ทำให้คนยอมรับว่าความไม่เสมอภาคเป็นสิ่งที่ยุติธรรมนั้น มีรากฐานมาจากการเลือกเอาวัฒนธรรมเดิมบางส่วนมานิยามความหมายใหม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันก็มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาทำให้กลายเป็นไทยตามหลัก "ความฉลาดในการประสานประโยชน์"ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เช่น การมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราตลอดจนเครื่องหมายอื่น ๆ การใช้ธง การใช้เครื่องแบบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นวัฒนธรรมไทยยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ส่งผลให้ "ความยุติธรรม"หมายถึงการได้และการเสียสิ่งต่าง ๆ ตามสถานภาพทางสังคมที่ตนมีอยู่ และสถานภาพทางสังคมนี้ผูกพันโดยตรงกับชาติกำเนิดของบุคคล

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ชีวิตของประชาชนขึ้นอยู่กับความยุติธรรมที่รัฐอำนวยให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ความยุติธรรมที่เครือญาติและชุมชนเคยอำนวยให้นั้นมีความสำคัญน้อยลงตามลำดับ จะเห็นได้ว่าความรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การได้รางวัลและการลงโทษมาจาก "ผี" และคนใกล้ชิดน้อยลง แต่จะมาจากรัฐมากขึ้น

แม้ว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นสุดลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่ชนชั้นนำของไทยยังคงพยายามรักษาระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวดิ่งนี้ไว้ด้วยการเสริมสร้างและธำรงรักษา "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรมตลอดมา เช่น ศีลธรรมไทย มารยาทไทย ภาษาไทย พิธีกรรมและประเพณีไทย ฯลฯ ดังนั้นความหมายของ "ความยุติธรรม"ในวัฒนธรรมไทยกระแสหลักจึงแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (สืบมาจนถึงปัจจุบัน) ลัทธิผู้นำ (Elitism) มีความสำคัญมากในรัฐไทย มีการสืบทอดวัฒนธรรมทางความคิดว่า ผู้นำชาติมีความสำคัญสูงสุดต่อชะตากรรมของคนในชาติ การแก้ปัญหาและการพัฒนาชาติขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีบุคลิกภาพพิเศษ รวมทั้งมีสติปัญญาและคุณธรรมเหนือกว่าผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้มีความจำเป็นต้องอ้างต่อสังคมว่าเป็นการปกครองแบบ"ประชาธิปไตย" ทำให้ต้องเน้นว่าเป็นการปกครองตามความคิดของคนส่วนใหญ่หรือของคนทั้งประเทศ ทางออกจึงได้แก่ การสร้างชาติทางวัฒนธรรม ที่เรียกว่า "รัฐนิยม"บ้าง "มนุสสปฏิวัติ"บ้าง "การรักษาความเป็นไทยทางจิตใจเอาไว้"บ้าง(4)

ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้คนไทยมีวัฒนธรรมทางความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเชื่อในความสำคัญของชาติไทยและลักษณะพิเศษของชนชาติไทยที่รักษาเอกราช และสร้างความเจริญมาได้ภายใต้ผู้นำแบบไทยที่มีความสามารถพิเศษ และวัฒนธรรมทางความคิดนี้นำไปสู่การยอมรับอำนาจและความสำคัญของผู้นำโดยถือว่าความคิดของผู้นำสะท้อนมติมหาชน (public opinion) (เพราะมหาชนได้ผ่านกระบวนการ "มนุสสปฏิวัติ" หรือผ่านกระบวนการปลูกฝัง "ความเป็นไทยทางจิตใจ" มาแล้ว มหาชนจึงคิดในกรอบที่ผู้นำต้องการให้คิดอยู่เสมอ) ในแง่นี้
"มติมหาชน" จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความคิดของผู้นำ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว "มติมหาชน" นี้เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ความคิดของผู้นำเท่านั้น ดังนั้น ผู้นำจึงยังคงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมมาโดยตลอด

กฎหมายที่ตราขึ้นในยุคที่ประเทศไทยไม่มีรัฐสภา ประกาศคณะปฏิวัติ และมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแห่งประเทศไทยที่ผู้นำเผด็จการสถาปนาขึ้น ล้วนอ้างว่าสะท้อนเจตนารมณ์ของ "มหาชน" และเป็นสิ่งอำนวยความยุติธรรมทั้งสิ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงกับสร้างประวัติศาสตร์การปกครองของไทยสมัยสุโขทัยขึ้นมาเพื่อให้ "กฎหมาย" ที่ออกโดยผู้นำเผด็จการเหล่านี้มีรากฐานอยู่ในวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ทั้งนี้โดยการทำให้ "การปกครองสมัยสุโขทัย" กลายเป็นอุดมคติของการปกครองแบบไทย แล้วระบุว่าสมัยสุโขทัยนั้นไม่มีศาล ผู้ปกครอง

"เป็นต้นแห่งความยุติธรรม
และทรงใช้อำนาจตระลาการด้วยพระองค์เอง"(5)

และการปกครองแบบไทยนี้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ควบคุมฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมีรัฐสภา(6)

การปกครองแบบไทยหรือ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เสนอนี้ เป็นรากฐานของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย ที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด ซึ่งปกครองให้ประชาชน "อยู่เย็นเป็นสุข" หรือ "อยู่ดีกินดี"(7) เพราะผู้นำคือผู้มีความเมตตากรุณาและจรรโลงความยุติธรรม(8)

มักเข้าใจกันว่าแนวความคิดนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นแนวความคิดที่สืบทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะเป็นแนวความคิดที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพปัญญาชนสำคัญของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงสถาปนาขึ้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสร้างอัตลักษณ์ (Identity)ของผู้นำในอุดมคติของรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้นมา คือ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ความหมายของคำ ๆ นี้คือ "พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงไว้ซึ่งความรักของคนทั้งหลาย"(9) เพราะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของประชาชนและทำการปกครองเพื่อประชาชน หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของ"สมเด็จพระปิยมหาราช"ที่ทรงกระทำเพื่อประชาชน ก็คือ การอำนวยความยุติธรรมให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ดังปรากฏว่าพระราชกรณียกิจสำคัญของ"สมเด็จพระปิยมหาราช" ได้แก่ "...ได้ทรงเปลี่ยนแปลงไปเปนอย่างสำคัญมาก... ตั้งกระทรวงยุติธรรมแลศาลที่ชำระอรรถคดี ให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน...(10)

ข้อความที่ว่า "ให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน"นี้ มิได้หมายความว่าทุกคนในรัฐมีความเสมอภาคกัน แต่หมายถึงมีความเท่าเทียมกันในบรรดาคนที่อยู่ในชนชั้นเดียวกันเท่านั้น ดังนั้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งความยุติธรรมมาจากพระมหากษัตริย์นี้ โดยอุดมคติแล้วคนแต่ละคนจึงได้รับความยุติธรรมตามควรแก่สถานภาพของตน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติและพันธกิจต่อประชาชนแล้ว "สมเด็จพระปิยมหาราช" กับ "พ่อขุนอุปถัมภ์" ในยุคจอมพลสฤทธิ์ ธนะรัชต์ แทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะพ่อขุนอุปถัมภ์ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาและมีความเมตตากรุณาในการทำหน้าที่ช่วยให้ประชาชน "อยู่ดีกินดี" และได้รับความยุติธรรม "เสมอหน้ากัน" เช่นเดียวกัน โดยที่ "ความเสมอหน้า" ในยุคจอมพลสฤทธิ์ ธนะรัชต์ก็มิได้หมายถึงความเท่าเทียมกันในบรรดาคนทุกชั้นในสังคมไทย (และความเสมอหน้ามีความหมายว่าอย่างไร หมายความว่าทุกคนจะมีส่วนได้รับประโยชน์แต่ไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกัน)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนสำคัญที่สร้างฐานทางความคิดให้แก่ระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ได้พยายามทำให้เกิดการยอมรับโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน คือให้คนไทย "รู้ที่ต่ำที่สูง"(11)
ทั้งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและปัญญาชนร่วมสมัย คือ หลวงวิจิตรวาทการซึ่งทำงานให้แก่จอมพล ป.พิบูลสงครามและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้วนแต่เน้นความสำคัญของ "ผู้นำ" ไว้อย่างสูง ในขณะที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่ "ระบอบการปกครองแบบไทย" ดังกล่าวมาแล้ว หลวงวิจิตรวาทการได้เน้นไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้นำซึ่งมีปัญญาและจิตใจเหนือกว่าผู้อื่นนั้น เป็นผู้ที่ "มีความยุติธรรม...คือการกำหนดว่าอย่างไรเป็นการถูกต้อง"(12) และ "ผู้นำเป็นตัวมติมหาชน...มติมหาชนจะเป็นตำรวจ เป็นอัยการ เป็นศาลไปในเวลาเดียวกัน"(13) ซึ่งหมายความว่าโดยทฤษฎีแล้วผู้นำเป็นที่มาของกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลย์หรือการตรวจสอบอำนาจแต่อย่างใดทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่า อำนาจของผู้นำเผด็จการของไทย รวมทั้งที่แสดงออกในคำสั่งและประกาศคณะปฏิวัติตลอดจนในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่อำนาจที่มาจากปากกระบอกปืนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอำนาจที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเป็นฐานรองรับอย่างมั่นคง จึงเป็นอำนาจที่สามารถสืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าทหารจะหมดอำนาจไปนานพอสมควรแล้วก็ตาม

นอกจากนี้หลวงวิจิตรวาทการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคนไทยทั่วไปยังเน้นความคิดทางศีลธรรมอีกหลายประการที่จรรโลงโครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาค เช่น ความกตัญญูกตเวที ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความเสียสละ ฯลฯ ซึ่งทำให้ "ความยุติธรรม" ในรัฐและสังคมไทยเป็น "ความยุติธรรม"ที่ไม่เสมอภาคโดยไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมที่คนไทยยึดถือ

ข้อที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ เมื่อความคิดเรื่องความยุติธรรมเผชิญหน้ากับความคิดชาตินิยม "ความยุติธรรม" ยิ่งปราศจากความหมายมากขึ้น ลักษณะของลัทธิชาตินิยมที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวถึงซึ่งกลายเป็นความคิดกระแสหลักของไทยนั้น ล้วนแต่เอื้อให้รัฐกระทำการใด ๆ ในนามของผลประโยชน์ของชาติหรือของส่วนรวมโดยไม่ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม เช่น ลัทธิชาตินิยมนั้น "ถือส่วนรวมเป็นสำคัญกว่าส่วนย่อย"(13) "สิทธิที่จะทำอะไรตามใจชอบโดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นควรรอนเสียได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะถ้าปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตัวบุคคลขัดกับประโยชน์ส่วนรวมอยู่ได้แล้ว ก็เป็นทางแห่งความล่มจมของชาติ"(15) ผู้นำชาติจะต้อง "ใจแข็งพอที่จะฆ่าคนซึ่งไม่ยอมเดินพร้อมกัน"(16) มหาบุรุษที่ทำงานเพื่อชาติต้อง "กระทำการเด็ดขาด...กำจัดพวกที่แข็งข้อ ใครที่ขัดขวางต่อประศาสโนบายของท่านก็ถูกลงโทษ ถูกจำคุกจนตาย...ประหารชีวิต..."(17) "ความยุติธรรม" ใน "วัฒนธรรมไทยแบบชาตินิยม" จึงเป็นความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคอย่างยิ่ง และชาตินิยมยังเป็นฐานคิดสำหรับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยถือว่าผู้กระทำอันตรายต่อชาตินั้นหากถูกลงโทษอย่างรุนแรงก็สาสมกับความผิดอันใหญ่หลวงที่ได้กระทำลงไป หรือถือได้ว่าเป็นการลงโทษที่ยุติธรรมแล้วนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า เมื่อรัฐส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ในยุคพัฒนาประเทศเป็นต้นมา ความคิดเรื่องความยุติธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น ก็ได้หมดความหมายไป นั่นคือความคิดเรื่อง "ราคาที่ยุติธรรม" หลวงวิจิตรวาทการเคยพยายามเสนอให้รัฐบาลใช้สหกรณ์หลายประเภทเป็นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหวังว่าระบบสหกรณ์นี้จะช่วย "ขจัดการค้ากำไร" ของพ่อค้าจีน และหวังด้วยว่า " สหกรณ์เป็นเครื่องมืออันมีสมรรถภาพที่สุดสำหรับควบคุมและตั้งราคาที่ยุติธรรม"(18)

แต่นโยบายการพัฒนาประเทศที่ลำเอียงเข้าข้างนายทุน ทำให้รัฐบาลมีนโยบายกดค่าแรงให้ต่ำและไม่สนใจทำให้ราคาสินค้ามีความยุติธรรม มีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าเข้าบางประเภทเพื่อปกป้องการลงทุนภายในประเทศ (เช่น รถยนต์) หรือจำกัดปริมาณการส่งสินค้าออกบางประเภท (เช่น เมล็ดละหุ่ง) เพื่อทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศมีราคาต่ำ ส่วนนโยบายเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าวก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ทำให้ราคาข้าวของชาวนาถูกกดให้ต่ำกว่าราคาข้าวในตลาดโลกเป็นอันมาก การพัฒนาประเทศจึงทำให้กรรมกรและชาวนาอยู่ห่างไกลจากการได้รับความยุติธรรมอย่างที่สุด ในขณะที่ผู้นำรัฐอยู่ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของ "ความยุติธรรม" ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน "ราคาที่ยุติธรรม" จึงไม่เคยกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมทางความคิดของไทย และรัฐก็ไม่เคยมีนโยบายกระจายรายได้อย่างแท้จริง แม้ว่าจะระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาหลายฉบับแล้วก็ตาม

อนึ่ง แนวความคิดชาตินิยมกระแสหลักที่เน้นว่า "ความเจริญส่วนตัวบุคคลก็เป็นธาตุผสมให้กลายเป็นความเจริญของบ้านเมือง" ก็เป็นรากฐานทางความคิดให้แก่ระบบเศรษฐกิจแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ใครมี "มือยาว"สาวได้มาก ใครมี "มือสั้น" สาวได้น้อยเช่นนี้ ถือว่าเป็นความยุติธรรม ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับการที่คนไทยให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (คือมองการมีเส้นสายไปในแง่ดี) ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้คนที่มี "มือยาว" อยู่แล้วมีโอกาสที่จะต่อ "มือ" ของตัวเองให้ยาวยิ่งขึ้นไปอีก และมีอภิสิทธ์มากขึ้นไปอีก

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทยและความคิดเรื่องความยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่ง "ความยุติธรรม" หมายถึงสภาวะที่คน "ได้" และ "เสีย" อย่างไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากมีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกัน ในขณะที่ความคิดกระแสหลักดังกล่าวนี้มีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยนั้น นับตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 2470 เป็นต้นมาก็ได้เกิดความคิดใหม่เกี่ยวกับ "ความยุติธรรม" ขึ้นมาในหมู่ชนชั้นกลางบางกลุ่มที่แตกต่างไปจากความคิดกระแสหลักอยู่มาก เนื่องจากชนชั้นกลางไทยในช่วงนั้นมีความหลากหลาย ความคิดเรื่องความยุติธรรมที่ปรากฏให้เห็นจึงมีความหลากหลายตามไปด้วย ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสศึกษาวัฒนธรรมทางความคิดของชนชั้นกลางไทยโดยละเอียด จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้


ความยุติธรรมแบบศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

ศรีบูรพาเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่เด่นที่สุดคนหนึ่งของไทย มีอิทธิพลทางความคิดมากในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งศรีบูรพาเขียนหนังสือและนวนิยายที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง กับในทศวรรษ 2510 ซึ่งงานเขียนของศรีบูรพาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ และเป็นที่นิยมอ่านอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและชนชั้นกลางรุ่นใหม่

"ความยุติธรรม" ในทัศนะของศรีบูรพาผูกพันกับความคิดเรื่อง
"มนุษยภาพ" คือความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจและปัญญาโดยไม่ขึ้นกับชาติกำเนิด เพศ วัย ศาสนา ชาติพันธุ์ สถานภาพทางสังคม ฯลฯ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ "มนุษยภาพ"นี้ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าอะไรยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ความคิดและการกระทำใดที่จะถือว่ายุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อเป็นความคิดและการกระทำที่ไม่ละเมิดต่อ "มนุษยภาพ" ตรงกันข้ามหากความคิดและการกระทำใดละเมิดมนุษยภาพก็ถือว่าไม่ยุติธรรม (หรือ "อยุติธรรม") ส่วนการลงโทษที่ยุติธรรมก็คือการลงโทษต่อผู้ที่ละเมิด "มนุษยภาพ" ตามสมควรแก่ความผิดที่เขาได้กระทำลงไป โดยที่การลงโทษนั้นจะต้องไม่ละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกลงโทษด้วย


ความยุติธรรมแบบ "เสือดำ- เสือใบ"

นวนิยาย"เสือดำ" และ "เสือใบ" เขียนโดย ป. อินทรปาลิต ในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จน "เสือดำ" และ "เสือใบ" กลายเป็น "วีรบุรุษ" ของคนชั้นกลางไทยจำนวนไม่น้อย(19)

ความยุติธรรมแบบ"เสือดำ-เสือใบ"เป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่สืบเนื่องมาจากความคิดกระแสหลัก แต่ย่อส่วนลงมาเป็นระบบความสัมพันธ์ในชุมโจรและระหว่างผู้นำโจรกับคนในท้องถิ่น ไม่ใช่ระบบความสัมพันธ์ระดับชาติ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่าง "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย" และ "ความยุติธรรม" ก็ผูกพันกับระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยนี้ กล่าวคือ การลงโทษผู้ที่ละเมิดต่อศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษที่รุนแรงหรือผิดกฏหมายเพียงใดและอย่างไร ก็ถือว่าเป็น "ความยุติธรรม" เช่น การที่เสือใบและเสือดำยิงข้าราชการที่รังแกประชาชน พ่อค้าและนายทุนเงินกู้หน้าเลือด ตลอดจนลูกน้องที่ทรยศ เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลัก "ธรรม" นั่นคือละเมิดศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การจัดการกับผู้ละเมิดศีลธรรมของระบบอุปถัมภ์โดยใช้ความรุนแรงเป็นความยุติธรรม จึงทำให้คนทั้งหลายที่ได้รับรู้ ยังคงเคารพนับถือผู้นำชุมโจรอยู่ต่อไป

ผลงานสำคัญเรื่องหนึ่งของรองศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ คือ ชีวิตและจุดจบของสลัมกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง(20) แสดงให้เห็นว่าการละเมิดศีลธรรมในเรื่อง "ความยุติธรรม"ซึ่งเกิดขึ้นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงอุปถัมภ์เป็นความผิดที่ร้ายแรง ในสลัมซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นระบบความสัมพันธ์หลักนั้น เมื่อผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์ที่ใหญ่ที่สุดในสลัมแห่งหนึ่งละเมิดศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในเรื่องความยุติธรรม ก็ทำให้ลูกน้องหมดความนับถือ และเป็นเหตุให้สลัมแห่งนั้นต้องถึงจุดจบโดยไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้อีก

ความยุติธรรมในระบบอุปถัมภ์หมายถึงการที่ลูกน้องที่ใกล้ชิดที่สุดจะต้องได้รับส่วนแบ่งก่อนและได้รับมากที่สุดรองลงมาจากผู้นำกลุ่ม ไม่ใช่การแบ่งโดยพิจารณาจากความจำเป็นและไม่ใช่การแบ่งอย่างเสมอภาค เมื่อผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์แบ่งสิ่งของตามความจำเป็นก็ทำให้ลูกน้องที่ใกล้ชิดที่สุดมีความโกรธเคืองผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์อย่างรุนแรง ถึงกับปฏิเสธความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่มีต่อกันมายาวนาน ข้อเท็จจริงนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนว่าในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มีความ "ยุติธรรม" ที่ไม่เสมอภาคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนด้วยว่าการละเมิดศีลธรรมในเรื่องความยุติธรรมตามทัศนะของผู้อยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นั้น เป็นความผิดที่ร้ายแรงจนไม่สามารถที่จะให้อภัยได้ แม้ว่าผู้ละเมิดจะเป็นผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์ก็ตาม


ความยุติธรรมแบบชนชั้นกลางไทยทั่วไป

อิทธิพลของวัฒนธรรมทางความคิดกระแสหลัก ทำให้ชนชั้นกลางคิดถึง "ชาติไทย" ในแง่ที่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีลำดับชั้นต่าง ๆ (hierarchy) ซึ่งคนในแต่ละชั้นต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น และแต่ละคนต้องพยายามทำให้ตนเองเจริญก้าวหน้ามากที่สุดเพราะ "ความเจริญส่วนตัวบุคคลก็เป็นธาตุผสมให้กลายเป็นความเจริญของบ้านเมือง...เป็นบ่อเกิดอันแท้จริงแห่งความมั่นคงและแข็งแรงของชาติ"(21)

ความคิดที่เน้นให้ปัจเจกบุคลไต่เต้าให้สูงที่สุดในระบบสังคมที่มีชนชั้นนี้ เมื่อประกอบเข้ากับวัฒนธรรมทางความคิดที่ถือว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวมาจากปัจจัยด้านศีลธรรมส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ก็ทำให้รัฐไม่ต้องคำนึงถึงมาตรการในการกระจายรายได้ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นฐานทางความคิดให้แก่ระบบเศรษฐกิจแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ชนชั้นกลางไทยจึงนึกถึงความยุติธรรมในแง่ที่ไม่ได้หมายถึงการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค

นอกจากนี้ในทัศนะของชนชั้นกลางไทย "ความยุติธรรม" ไม่ได้หมายถึง"การแข่งขันเสรี" อีกด้วย ทั้งนี้เพราะชนชั้นกลางไทยยอมรับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ทำให้ไม่รังเกียจการ "ต่อมือให้ยาวขึ้น" หรือไม่รังเกียจการใช้เส้นสาย ดังนั้น การสร้างระบบผูกขาด การใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อค้ำจุนธุรกิจ ตลอดจนการคอร์รัปชั่นจึงมีวัฒนธรรมทางความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" เป็นฐานรองรับอยู่มากทีเดียว กล่าวได้ว่าในวัฒนธรรมไทย การมีระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการแข่งขันเสรีเป็นเรื่องปรกติธรรมดา


เป็นที่น่าสังเกตว่า อย่างน้อยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ในวัฒนธรรมไทยได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" อยู่เสมอ "ลูกผู้ชาย"ในวัฒนธรรมไทยมีคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือการมีความรักใน "ความยุติธรรม" อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ที่เชื่อมโยงกับความคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" นี้มีความหมายค่อนข้างแคบ(22) นั่นคือหมายถึงการ "ไม่ลอบกัด" ผู้อื่น แต่จะต้องต่อสู้กันซึ่ง ๆ หน้า ความพ่ายแพ้จากการต่อสู้กับศัตรูอย่างซึ่ง ๆ หน้าถือว่ามีเกียรติกว่าชัยชนะที่ได้มาจากการลอบกัด เมื่อพิจารณาความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ที่เชื่อมโยงกับความคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ซึ่งมีความหมายแคบมากเช่นนี้แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า "ลูกผู้ชาย" ที่รักความยุติธรรมนั้นหาได้รักในความเป็นธรรมทางสังคมแต่อย่างใดไม่

แม้แต่ "ลูกผู้ชาย" อย่าง "เสือดำ" และ "เสือใบ" ที่ไปปล้นคนรวยเอาทรัพย์สินมาแบ่งให้คนจน ก็ไม่มีความหมายในแง่ของการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แต่มีความหมายในแง่ของการลงโทษคนเลวซึ่งละเมิดศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ แล้วสถาปนาความสัมพันธ์อันถูกต้องในระบบอุปถัมภ์ขึ้นมาใหม่ระหว่างผู้นำกับลูกน้องและชาวบ้านซึ่งเป็นบริวาร ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคอย่างยิ่งและขาดเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนอย่างยิ่งด้วย

ในปัจจุบันมีนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งคิดถึง "ความยุติธรรม" ในแง่ของความเสมอภาคในโอกาส และพยายามหาทางทำให้มิติต่าง ๆ ในชีวิตของคนด้อยโอกาสดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาสอันเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ เพศ วัย ชาติพันธุ์ หรือถิ่นที่อยู่ โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง นับเป็นการมอง "ความยุติธรรม" ที่มีความเสมอภาค แต่"ความยุติธรรม" ในแง่นี้จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่ใช่ปัญหาในขอบเขตของรัฐชาติหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงไปถึงโครงสร้างของระบบทุนนิยมโลก

นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนในปัจจุบันไม่นึกถึงการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อสร้างโลกที่มีความยุติธรรมและความเสมอภาคอีกต่อไป แต่นึกถึงการสร้างองค์กรและเครือข่ายขององค์กรระดับต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร "ข้ามชาติ" เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองหรือในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา แต่ถึงแม้จะมีการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movements) เกิดขึ้นไม่น้อย ล่าสุดคือการเคลื่อนไหวคัดค้านการรุกรานอิรัคของสหรัฐอเมริกา แต่ความอยุติธรรมในรัฐไทยและในโลกก็ยังมีอยู่เหลือคณานับ

"ความยุติธรรมที่มีความเสมอภาค" เป็นความคิดนามธรรมที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนไทยจำนวนน้อยและไม่มีฐานของวัฒนธรรมทางความคิดในสังคมไทยรองรับ จึงเป็นความคิดที่มีพลังน้อยมากในสังคมไทย และไม่อาจคาดหมายได้เลยว่าอีกนานเพียงใดจึงจะกลายเป็นความคิดกระแสหลักขึ้นมาได้

ดังนั้น "ความอยุติธรรม" อันเป็นแก่นแท้ของระบบความสัมพันธ์ในรัฐไทยและสังคมไทยอย่างสืบเนื่องยาวนานนับร้อยปี จึงยังคงดำรงอยู่ และแสดงออกในรูปลักษณ์ต่าง ๆ อย่างดาษดื่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาบนรากฐานของวัฒนธรรมไทยที่ "ความยุติธรรม" หมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค และ "ชาติไทย"ที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้ามีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดนั้น ก็ดำรงอยู่สืบมาเช่นกัน


สายชล สัตยานุรักษ์

ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



(1) บทความนี้ผู้เขียนสังเคราะห์ขึ้นมาจากผลงานวิจัยที่เคยทำมาในอดีต มิได้ทำการศึกษาค้นคว้าใหม่อย่างกว้างขวางแต่อย่างใด จึงใคร่ขออภัยในความบกพร่องทั้งปวงมา ณ ที่นี้

(2) โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, พุทธศาสนากับแนวความคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2545.

(3) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546.

(4) คำว่า "รัฐนิยม" ถูกใช้โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานคณะกรรมการรัฐนิยม หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรเป็นประธานที่ปรึกษา คำว่า "มนุสสปฏิวัติ" ถูกใช้โดยหลวงวิจิตรวาทการ ส่วนคำว่า "การรักษาความเป็นไทยทางจิตใจ" ถูกใช้โดย ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช

(5) ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช, "การปกครองสมัยสุโขทัย", ใน หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2514 หน้า 84.

(6) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82-83.

(7) คำว่า "อยู่เย็นเป็นสุข" นิยมใช้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วน "อยู่ดีกินดี" นิยมใช้ในสมัยพัฒนาประเทศในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นต้นมา เป็นที่น่าสังเกตว่า "อยู่ดีกินดี" สะท้อนการให้ความสำคัญแก่ความสุขทางวัตถุมากขึ้น และเป็นรากฐานให้แก่การขยายตัวของบริโภคนิยมในเวลาต่อมา

(8) อันที่จริงแนวคิดนี้เห็นได้ชัดว่าสืบทอดมาจากคติธรรมิกราชาธิรา๙ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 1 เพียงแต่มิได้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์

(9) หจช. สบ2./13 ปาฐกถาเรื่องพงศาวดารแสดงพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช ๙ึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2474.

(10) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546.

(11) หจช. สบ2./13 ปาฐกถาเรื่องพงศาวดารแสดงพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2474. 10 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "การสืบเนื่องและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย" การสัมมนานาฏศิลป์และดนตรีไทย ณ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23-24 มิถุนายน 2522

(12) หลวงวิจิตรวาทการ, วิชาการเมืองของอริสโตเติล" ใน วิจิตรสารเล่ม 2 กรุงเทพฯ : มงคลการพิมพ์, 2508. หน้า 221.

(13) หจช., ศธ.0701.29/4 เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร ปาฐกถาเรื่องรัฐนิยม หลวงวิจิตรวาทการแสดงทางวิทยุกระจายเสียง กรกฎาคม 2482.

(14) หลวงวิจิตรวาทการ, ชาตินิยม กรุงเทพฯ :ศูนย์วัฒนธรรมธุรกิจบัณฑิตย์, 2528. หน้า 38. (15) หลวงวิจิตรวาทการ, อนาคต, พระนคร : เขษมบรรณกิจ, 2502.หน้า 279.

(16) หลวงวิจิตรวาทการ, "รัฐบุรุษคนสำคัญในปัจจุบัน" ใน รวมปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการ กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2515. หน้า 212-213.

(17) หลวงวิจิตรวาทการ, มหาบุรุษ กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2520. หน้า 2.

(18) หลวงวิจิตรวาทการ, ชาตินิยม กรุงเทพฯ : ดำรงการพิมพ์, 2528. หน้า 59.

(19) อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนว่า อาจารย์เป็น "ใบอิสต์" จึงกล่าวได้ว่า "เสือใบ" เป็นวีรบุรุษคนหนึ่งในสายตาของอาจารย์นิธิ ในแง่ที่"เสือใบ" เป็นผู้ "มีวิญญานเสรี" คือได้ต่อสู้จนสามารถมีชีวิตที่มีเสรีภาพจากอำนาจรัฐเผด็จการ

(20) ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, ชีวิตและจุดจบของสลัมกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา, 2537.

(21) หลวงวิจิตรวาทการ, มหาบุรุษ . หน้า158-159. ( 22) ผู้เขียนยังไม่ได้ศึกษาเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ในทัศนะของศรีบูรพา แต่คาดว่า "ความยุติธรรม" ของ "ลูกผู้ชาย" ที่ศรีบูรพาเสนอน่าจะแตกต่างจากที่คนทั่วไปรับ


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : สองร้อยปีวัฒนธรรมไทย และความยุติธรรม

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ