วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สนทนาเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์


ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ชวนให้นึกถึงบรรดาชุดความคิดต่างๆ ที่รัฐยึดถือปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างปัญหาเองไปในตัว แม้สังคมไทยจะมีความคิดหลายอย่างดำรงอยู่ แต่ท้ายสุดปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่มีชุดความคิดไหนจะ "ใหญ่ " ไปกว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ " เนื่องจากเป็นความคิดหรืออุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง จะแตะต้องหรือขัดแย้งนักไม่ได้ (อย่างน้อยก็ไม่ได้โดยเปิดเผย) หากต้องยอมรับรู้ รับฟัง และปลูกฝังกันร่ำไป

โดยเนื้อหาอุดมการณ์นี้สร้างความชอบธรรมบางอย่างให้กับการกระทำของฝ่ายผู้มีอำนาจ เป็นเหตุผลให้แก่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐได้ไม่ยากเท่าไรนัก ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งปิดกั้นแก่โอกาสหรือสิทธิอื่นที่นอกเหนือไปกว่านี้ ลองพิจารณาในอีกแง่มุมดูหน่อยนะครับ

ในนามความเป็น "ชาติ " ย่อมหมายถึงการรวมศูนย์ความรักความศรัทธาให้ขึ้นตรงต่อรัฐ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่มีอยู่จึงมักถูกกดไว้ภายใต้ "ชาติ "

สำหรับฝ่ายนำทางอำนาจ "ชาติ "อาจมีมาเนิ่นนานเทียบเท่ากับที่สังคมมีประวัติศาสตร์ ความเชื่อนี้ตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ เกี่ยวกับชนเชื้อชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์เชื้อชาติ (ไทย) เป็นเรื่องราวของการอพยพย้ายถิ่นฐานและการสร้างบ้านแปลงเมือง แม้ถูกคุกคามเรื่อยมาแต่ชาติไทยก็ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน


ประวัติศาสตร์แบบนี้เดิมไม่ได้เขียนโดยคนไทยเอง หากเป็นฝรั่งที่เชื่อว่าจีนแผ่นดินใหญ่เป็นศูนย์กำเนิดอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้เขียนขึ้น นักเขียนชั้นหลังเช่นขุนวิจิตรมาตรา เพียงแต่เก็บความมาอภิปรายขยายความอีกต่อหนึ่ง


เดิมสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ปัญญาชนฝ่ายนำทางอำนาจจะหลงเชื่อเช่นนี้อยู่เช่นกัน แต่ก็หาได้เป็นที่เอิกเกริกมากเท่าปัญญาชนสมัยหลังอย่างรุ่นหลวงวิจิตรวาทการ ฯ ทั้งนี้อาจเพราะเดิมการเชื่อว่าในอดีตคนไทยไม่ได้อยู่ในดินแดนนี้ หรือดินแดนนี้ไม่ใช่ของคนไทยเพียงพวกเดียวอยู่แต่เดิม ออกจะดูหมิ่นเหม่ต่อผู้มีอำนาจสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่อ้างมีอำนาจเหนืออาณาเขตดินแดนนี้ทั้งหมด และทั้งยังอ้างเป็นไทยแท้ไม่ใช่จีน (ทั้งที่มีเชื้อจีนผสมเข้มข้น) อำนาจเหนือดินแดนจึงมีความสำคัญอยู่มาก "สยามินทร์ " ที่แปลตามตัวบทอักษรว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือดินแดน(สยาม) กลายเป็นปรมาภิไธยย่อของกษัตริย์อย่างจริงจังก็ในสมัย ร.๕ นั่นเอง


แต่สำหรับปัญญาชนฝ่ายผู้นำหลังเปลี่ยนการปกครองนั้นกลับตรงข้าม เนื่องจากพวกนี้มีความจำเป็นที่ต้องก่อการยุติความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ในราชอาณาจักรสยาม เพื่อเบิกทางสู่ศักราชการปกครองระบอบใหม่ การสร้างชาติทั้งที่ตัวเองก็คิดว่าชาตินั้นมีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นภารกิจอันจำเป็นเร่งด่วน มากกว่าการธำรงชาติเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น


กำพืดเดิมของพวกเขาที่ไม่ใช่ผู้สืบสายเลือดมาจากราชจักรีวงศ์ มีผลทำให้พวกเขาไม่ได้คิดหวงแหนความเป็นไทยไว้แก่ตนเองเพียงฝ่ายเดียว หากกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดให้คนทั้งประเทศถูกเรียกว่าเป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด เอกสารรัฐนิยมฉบับที่ ๓ เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย ระบุเรื่องนี้ไว้ชัดเจน


" การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทย ออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลาม ก็ดี ก็ไม่เป็นการสมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ "


ส่วน " ศาสน์ " นั้นแม้จะไม่บอกกันอย่างตรงไปตรงมา แต่หลายคนคงเข้าใจได้ไม่ยากว่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ศาสนาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยเสียทีเดียว หากว่ากันตามสัตย์ซื่อแล้วก็เห็นจะต้องบอกว่า เป็นศาสนาพุทธเสียส่วนใหญ่ แม้สีแทนศาสนาในธงไตรรงค์จะใช้สีขาวไม่ใช้สีเหลือง แต่บ่อยครั้งที่สัญลักษณ์ธรรมจักร มักปรากฏคู่เคียงกับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์อยู่เสมอ

ยิ่งความสำคัญในทางศูนย์รวมสักการะของพระพุทธรูปด้วยแล้วยิ่งเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เมื่อเชื่อถือศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พุทธศาสนาเองก็มีนัยรุกรานมิใช่น้อย สมัยพุทธกาลถึงขนาดปรากฎมีการเรียกผู้ที่ยึดถือต่างจากตนว่าเป็นพวกเดียรถีย์บ้างล่ะ อลัชชีบ้างล่ะ และก็อวิชชา เป็นต้น ทั้งนี้ไม่นับกับการที่ภายในพุทธเอง ก็มีสภาพแตกหน่อเหล่ากอออกเป็นนิกาย เป็นสำนัก เป็นสายสาขาต่างๆ มากมาย

จากหลักคำสอนในภาษาของสังคมพุทธ นี่เองที่ให้กำเนิดแก่คำ "ชาติ " สำหรับแปล Nation ในภาษาอังกฤษ ดังที่ปรากฏในคำสอนเรื่อง ชาติ(เกิด), ชรา(แก่), พยาธิ(เจ็บ), มรณะ(ตาย). แต่ชาติในภาษาแบบพุทธนั้นมีความหมายต่างจากชาติในระบบรัฐสมัยใหม่ เพราะชาติแบบพุทธหมายถึง ชีวิตบุคคลทั้งชีวิตนับเป็นหนึ่งชาติหรือหนึ่งภพ(ชาติภูมิ)ในสังสารวัฎรนั่นเอง ถือตามนี้สัตว์อื่นแม้แต่หมาแมวก็นับเป็นหนึ่งชาติ คือ เป็นชาติเดียวกัน

ชาติแบบพุทธนั้นจึงเป็นชาติในความหมายที่ " เปิด " เสมอแก่การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่เหมือนชาติที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของรัฐสมัยใหม่ เพราะเทียบกันแล้วนับเป็นชาติในความหมายที่ " ปิด " อย่างยิ่ง แค่เดินทางออกนอกประเทศไปหน่อยเดียวเราก็จะเจอแต่ชาวต่างชาติเสียแล้ว ผิวขาวตัวโต ตาสีฟ้าหน่อยเราก็เรียกฝรั่ง เจ้านิโกรตัวดำนั่นก็อาฟริกัน ไอ้ยุ่นนี่ก็ญี่ปุ่น อาหมวยน่ารักนนั่นก็กลายเป็นเจ๊กเป็นจีนไปเสีย คือ มีความเป็นอื่นดำรงอยู่เต็มไปหมด ชาติในความหมายนี้จึงไม่น่ายึดถือจริงจังแต่อย่างใด (แต่ผมไม่ได้หมายความว่าชาติแบบพุทธจะแง่งามไปเสียหมดนะครับ)

เมื่อพูดถึง "ศาสน์" อันเกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงยิ่งเมื่อมีกรณี ๒๘ เมษา'ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าอิสลามจะถูกมองแง่ลบในเรื่องนี้ ทั้งที่ในสังคมพุทธแบบไทยๆ ของเราเองก็ยังเคยมีกรณีกบฏผีบุญ ผู้ที่พอรู้เรื่องราวของครูบาศรีวิชัยบ้างก็คงจะทราบกันดีว่า นักบุญแห่งล้านนาท่านนี้ขัดแย้งกับศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ มิใช่น้อย หรือถ้าจะนับย้อนไปไกลกว่านั้นก็ยังเคยมีกรณีชุมนุมเจ้าพระฝาง สมัยพระเจ้ากรุงธนฯ

กรณีดูซงญอจะว่าไปก็ออกจะ " มาสาย " เสียด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับทางพุทธเอง (แม้ในระยะจาก ๑๔ ตุลา ถึง ๖ ตุลา ก็ยังปรากฎมีพระฝ่ายซ้ายที่ออกมาเคลื่อนไหวหนุนช่วยนักศึกษา ประชาชน ฯลฯ) ปัญหาจริงๆจึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา หากเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญเป็นการเมืองเสียมากกว่า


สำหรับ " กษัตริย์ " นั้น นับเป็นการสำคัญผิดอย่างไม่พึงหมาย หากจะกล่าวว่าทรงเป็นศูนย์รวมของชาติมาตลอด เพราะในความเป็นจริงกษัตริย์มีมาก่อนชาติ บ่อยครั้งจึงปรากฎว่าชาติที่สร้างกันขึ้นมาภายหลังนี้ต่างหาก ที่พยายามดึงเอาพระองค์ลงมามีส่วนเกี่ยวข้อง สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์พระองค์อาจมีความสำคัญในบริบทที่ทรงเป็นพระผู้สร้าง แต่ในปัจจุบันกิจกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคุณูปการแก่ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพสกนิกรอยู่มาก

ก่อนเปลี่ยนการปกครองมักมองกันว่าพระองค์มีอำนาจอย่างล้นหลาม ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะเป็นยุคสมัยที่พระองค์ถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จนเกิดเป็นหวอดให้กับการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.๒๔๗๕
รัชกาลที่ ๖ พระผู้สร้างที่ทรงนำเข้าอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
(God King and Country) นี้เองก็ยังถูกท้าทายโดยกลุ่มผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งนับเป็นการท้าทายที่รุนแรงและมีนัยสำคัญต่ออุดมการณ์แห่งชาติของฝ่ายนำทางอำนาจในห้วงทศวรรษ ๒๔๗๐ (เรื่องนี้มีประเด็นอยู่ใน "การปฏิวัติครั้งแรกของไทย " ซึ่งเป็นบันทึกของเนตร พูนวิวัฒน์ และเหรียญ ศรีจันทร์ ผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐) บางครั้งการรักชาติก็จึงอาจหมายถึงการที่จำต้องฝ่าฝืนประเพณีการปกครองที่มีพระองค์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง (คณะร.ศ. ๑๓๐ เคยเสนอด้วยซ้ำว่า "บ้านเมืองนั้นหายาก แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหาง่าย " )


ในเมื่ออุดมการณ์นี้สามารถสร้างดุลยภาพได้พอๆ กับที่สร้างความขัดแย้ง ด้านหนึ่งจึงไม่เป็นหลักประกันอันใดได้เลยแก่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ตรงข้ามอุดมการณ์อื่นที่มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งอื่นที่อาจจะดีกว่า กลับไม่แคล้วต้องท้าทายต่ออุดมการณ์นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งถูกทำให้เป็นเงื่อนไขก่ออาชญากรรมด้วยซ้ำ คือ เป็นเครื่องมือมากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายบริสุทธิ์โดยตัวมันเอง เช่นกรณีที่มักอ้างถึงกันบ่อยในที่นี้ผมก็ขออ้างด้วยอีกคน คือ กรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หลายครั้งที่ภายใน "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ " เองก็มักมีการเปลี่ยนย้ายความหมายและความสำคัญในตัวเองอยู่เสมอ

เช่น หลังกรณีกบฎบวรเดช (ขออนุโลมเรียกอย่างนี้นะครับ ผมไม่ได้ถือว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง "ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็น "กบฏ" เสียทีเดียว) คณะผู้ก่อการฯ ก็ได้เพิ่ม "รัฐธรรมนูญ" เข้าไปพ่วงท้าย ทั้งที่ในความเป็นจริงปรากฎว่ามีความพยายามที่จะชูภาพลักษณ์รัฐธรรมนูญให้กลายเป็นสถาบันสำคัญทางการเมืองการปกครองแทนที่กษัตริย์ สมัยจอมพลสฤษดิ์ : รัฐธรรมนูญก็ถูกตัดออกไป แต่ในความเป็นจริงสฤษดิ์ก็กลับเอา "สหรัฐอเมริกา " เข้าไปพ่วงท้าย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสหรัฐอเมริกา " กลายเป็นสำนวนล้อเลียนจนเท่าทุกวันนี้

ปัจจุบันนี้สิครับ.ดูเหมือน "กษัตริย์ " จะมีความสำคัญไปมากกว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์เสียด้วยซ้ำ เมื่อ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข " ได้เข้าไปห้อยท้าย ข้อนี้มีปรากฏในรัฐธรรมนูญ หมวด ๔ ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง "หน้าที่ของชนชาวไทย" เช่น มาตรา ๖๖ ระบุว่า


" บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "


อีกด้านหนึ่งแม้แต่ระหว่าง ชาติ(ไทย) - ศาสน์(พุทธ)- กษัตริย์ (จักรี) เองก็มักมีความไม่ลงตัวไม่แนบสนิทกันเสียทีเดียว ภายใต้พระบรมโพธิสมภารราชอาณาจักรไทย อาจมีพื้นที่ว่างอยู่บ้างสำหรับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา

แต่จะวางใจอะไรได้ในเมื่ออย่างไรเสียปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงดำรงอยู่เพียงแต่ถูก "กด"ไว้เท่านั้นเอง !?


กำพล จำปาพันธ์

( นักวิชาการอิสระ )



ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : สนทนาเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: