วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อั๊กลี่อั่งม้อในเสียมก๊ก เฟรเดอริก วิลเลียม พาร์ทริดจ์



" ไม่รู้เป็นอะไร คนอเมริกันที่ผมพบในประเทศสหรัฐไม่เหมือนกับพวกที่ผมพบในประเทศของผมเลย ดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงที่ลึกลับจะเกิดขึ้นกับชาวอเมริกันที่เดินทางไปต่างประเทศ พวกเขาไม่ยอมเข้าสังคม ใช้ชีวิตอย่างเสแสร้ง เสียงดัง และชอบอวดโก้ "


นั่นเป็นคำพูดของตัวละครตัวหนึ่งในนิยายเรื่อง

"The Ugly American" ซึ่งเป็นนิยายขายดีในสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) โดยนักเขียน ๒ นายชื่อ ยูจีน เบอร์ดิก (Eugene Burdick) และวิลเลียม เลเดอเรอร์ (William Lederer) ว่ากันว่า จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John Fitzgerald Kennedy) ถึงกับซื้อหนังสือเล่มนี้แจกสมาชิกรัฐสภาทุกคน เนื้อหาของนิยายต้องการแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของสหรัฐในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นผลจากความอวดดีและการขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยอาศัยประเทศสมมุติชื่อสารขัณฑ์ [ในฉบับแปลเป็นภาษาไทย โดย รัตนะ ยาวะประภาษ ร่วมกับ ถาวร ชนะภัย ออกเสียงเป็น "ซาคาน" (เจ้าน้อย..) ] เป็นฉากหลัง คำว่า อั๊กลี่ ในชื่อเรื่องซ่อนความหมายไว้ให้คนอ่านสรุปเอง ด้วยการเปรียบเทียบบทบาทของชายชาวอเมริกัน ๒ คน คนหนึ่งเป็นวิศวกรหน้าตาไม่หล่อ (อั๊กลี่) แต่มาทำประโยชน์ให้ชาวบ้านของสารขัณฑ์ ส่วนอีกคนหนึ่งคือทูตรูปหล่อ แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ต่อมา นิยายเรื่องนี้กลายเป็นหนังในชื่อเดียวกัน แต่เนื้อหากร่อยไปเยอะ และหันไปเน้นที่ตัวทูตสหรัฐ ซึ่งเดินทางมารับตำแหน่งในประเทศสารขัณฑ์ท่ามกลางกระแสร้อนแรงทางการเมือง ความไร้เดียงสาต่อลีลาทางการเมืองของชาวตะวันออก ผนวกกับความอวดดีของตัวท่านทูตเอง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักยิ่งขึ้นไปอีก มาร์ลอน แบรนโด รับบทเป็นท่านทูตหนุ่ม และ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช รับบทเป็นนายกรัฐมนตรีของสารขัณฑ์ ท่านตีบทแตกจนฝรั่งออกปากชมถึงทุกวันนี้ แน่นอนว่าโลเกชั่นของหนังคือประเทศไทยในช่วงนั้น หนังเรื่องนี้ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกคนดูนัก

ชื่อหนังสือเล่มที่ว่าเหมาะสมดีกับเรื่องที่จะเล่าต่อไป เพราะเป็นเรื่องของกงสุลสหรัฐเหมือนกัน ว่าที่จริงแล้ว เรื่องที่จะเล่านี่ "อั๊กลีเออร์" กว่านิยายด้วยซ้ำไป ผมเคยเล่าถึงบทบาทของกงสุลอเมริกันในสยามชื่อ เฟรเดอริก วิลเลียม พาร์ทริดจ์ (Frederick William Partridge)ไปบ้างแล้วใน "เรื่องยุ่งๆ เมื่อสยามไปฉลองร้อยปีลุงแซม" คราวนี้มีรายละเอียดมาเล่าเพิ่มขึ้น โดยอาศัยข้อมูลที่นักเขียนชื่อดัง "มาร์กาเร็ต แลนดอน" ผู้เขียน "แอนนา แอนด์ เดอะ คิง ออฟ ไซแอม" เคยค้นคว้าไว้ เธอนำเรื่องนี้ไปบรรยายที่สมาคมวรรณกรรมของสหรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (ค.ศ. ๑๙๖๑) แต่เข้าใจว่าไม่ได้พิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ ผมจึงขอถือโอกาสนี้นำงานเขียนชิ้นนี้ของเธอมาเล่าสู่กันฟัง เพราะจะทำให้ "อั๊กลี่ อเมริกัน" ของนักเขียนยุคซิกตี้ทั้งสองที่เอ่ยนามไว้ข้างต้นดู "พริตตี้" กว่าตั้งเยอะ

พาร์ทริดจ์เป็นผู้แทนทางการทูตที่มียศสูงที่สุดของสหรัฐเท่าที่เคยส่งมาประจำการในสยามระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๒-๑๙ (ค.ศ. ๑๘๖๙-๗๖) และมาจากครอบครัวทหารที่มีทั้งประวัติดีและเสียคละเคล้ากัน ซึ่งดูเหมือนเขาก็รักษาประเพณีของครอบครัวไว้ได้ดีพอสมควร

หลังจากเริ่มรับราชการทหารได้เพียงไม่กี่เดือน พาร์ทริดจ์ก็ลาออกไปพักผ่อนในไร่ ก่อนกลับไปเรียนกฎหมายต่อ เมื่อสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในสหรัฐ พาร์ทริดจ์จึงถูกเกณฑ์ไปรบในตำแหน่งพันโทประจำกองทหารราบอาสาสมัครที่ ๑๓ ของมลรัฐอิลลินอยส์ และได้รับบาดเจ็บ ๓ ครั้ง พอสงครามยุติลง เขาได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวาพิเศษ และได้รับรางวัลให้ดำรงตำแหน่งนายไปรษณีย์ ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของเจ้าตัวนัก

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ (ค.ศ. ๑๘๖๙) หลังจากที่ยูลิซิส แกรนต์ (Ulysses S. Grant) ทำพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๑๘ ของสหรัฐได้เพียงไม่กี่วัน พาร์ทริดจ์ก็เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีคนใหม่ เพื่อสมัครเป็นกงสุลประจำสยาม อีกเดือนหนึ่งต่อมา ความต้องการของเขาก็เป็นจริง ไม่ทราบว่าเป็นเพราะพาร์ทริดจ์เคยให้ความช่วยเหลือประธานาธิบดีแกรนต์เมื่อครั้งเริ่มต้นอาชีพทหารใหม่ๆ ตามที่เขาคุยโอ่ไว้หรือเปล่า

ลืมบอกไปว่า พาร์ทริดจ์แต่งงาน และมีลูกทั้งหมด ๖ คน ลูกชายคนโตคือ เฟรเดอริก พอลีน พาร์ทริดจ์ (Frederick Pauline Partridge) เมื่อพาร์ทริดจ์ได้รับตำแหน่งกงสุลประจำสยาม เขาหอบหิ้วเมียและลูกชายคนโตนี้มาด้วย

พอมาถึงบางกอก งานชิ้นแรกที่รอประเดิมกงสุลหน้าใหม่อยู่แล้ว คือ
คดีฆาตกรรมกัปตันเรือชาวอเมริกัน เรื่องราวย่อๆ เป็นดังนี้

กัปตันจอห์น สมิธ แต่งงานกับสาวสยามนามจิ๋ว ทั้งสองมีลูกด้วยกัน ๔ คน ๔ เดือนก่อนหน้าที่พาร์ทริดจ์จะเดินทางมาถึงบางกอก มีคนพบศพกัปตันสมิธลอยน้ำเท้งเต้งใกล้ฝั่งตรงข้ามวัดยานนาวา ทางการสยามดำเนินการสืบสวนอย่างรวดเร็วจนสามารถจับตัวคนร้ายมาสอบปากคำและลงโทษได้ภายในเวลาเพียง ๒ วัน สาเหตุของคดีนี้คือ อำแดงจิ๋วได้สมคบคิดกับชู้รักคืออ้ายนาก และทาสคนหนึ่ง ร่วมกันทำร้ายกัปตันโดยทุบด้วยด้ามขวานจนเสียชีวิต

เมื่อพาร์ทริดจ์มาถึงบางกอก ชายทั้งสองถูกประหารไปแล้ว ส่วนอำแดงจิ๋วถูกจับขังคุกรอคลอดลูกก่อนรับโทษประหาร พาร์ทริดจ์รับเรื่องมาจัดการ และรายงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า ถ้าเขาไม่ให้สิทธิอำแดงจิ๋วเป็นพลเมืองสหรัฐ นางจะถูกตัดหัว และลูกของนางกับกัปตันสมิธจะกลายเป็นทาสของรัฐบาลสยาม ส่วนทรัพย์สินของกัปตันสมิธก็จะตกเป็นของรัฐบาลสยามด้วยเช่นกัน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยว จึงแนะนำให้พาร์ทริดจ์ขอความปรานีจากรัฐบาลสยามเอาเอง

เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามรู้สึกยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ประสงค์ที่จะยื่นมือเข้ามายุ่งด้วย และเมินเฉยต่อคำขอความปรานีของพาร์ทริดจ์ แต่ก็ได้ยกทารกนั้นให้แก่กงสุลอเมริกันไปดูแล พร้อมทั้งเตรียมการประหารอำแดงจิ๋วตามคำตัดสิน

คุณมาร์กาเร็ตไม่ได้เล่าว่าเหตุใดพาร์ทริดจ์จึงเป็นกังวลกับเรื่องนี้นัก ทว่า คงเดาได้ไม่ยากถ้าทราบว่า ทรัพย์มรดกของกัปตันสมิธนั้น คือที่ดินราคาแพงบนถนนสายสำคัญของบางกอกในขณะนั้น คือถนนเจริญกรุง
(หรือที่ฝรั่งครั้งนั้นนิยมเรียกกันว่า "นิวโรด") โดยอยู่ตรงข้ามกับสถานกงสุลอังกฤษ และประกอบด้วยเรือนหลังใหญ่ และบ้านหลังเล็กหลายหลัง พินัยกรรมของกัปตันสมิธระบุไว้ว่า ไม่ให้ขายทรัพย์สินดังกล่าวทอดตลาดจนกว่าลูกๆ ของตนจะโต แต่ให้เช่าได้ เพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ

พาร์ทริดจ์ได้รับคำแนะนำจากบรรดาชาวอเมริกันในบางกอกให้ไปเจรจากับผู้สำเร็จราชการในขณะนั้น ซึ่งก็คือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่) เข้าใจว่าการเจรจาคงมีผลให้พาร์ทริดจ์มีสิทธิเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินดังกล่าว เพราะว่าเขาจัดการขายที่ดินผืนนั้นไปเรียบร้อย โดยไม่ไยดีต่อความต้องการที่ระบุไว้ในพินัยกรรมของผู้ตายเลยแม้แต่น้อย

เมื่อมาร์กาเร็ต แลนดอน มาถึงบางกอกในปี พ.ศ. ๒๔๗๐
(ค.ศ. ๑๙๒๗) นั้น ลูกสาวคนหนึ่งของกัปตันสมิธที่ยังมีชีวิตอยู่ชื่อ ลูซี ดันแลป (Lucy Dunlap) ได้พยายามขอให้รัฐบาลสหรัฐคืนเงินชดเชยค่าที่ดินให้แก่เธอ โดยยื่นคำร้องว่า พาร์ทริดจ์ไม่เพียงแต่กระทำการผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังยักยอกเงินส่วนใหญ่จากการขายที่ดินนั้นเก็บไว้เองด้วย คุณมาร์กาเร็ตไม่ได้เล่าไว้ว่า ผลลงเอยอย่างไร ขณะที่คุณลูซียื่นเรื่องนั้น พาร์ทริดจ์ได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนที่ดินผืนนั้นก็ได้กลายไปเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งอเมริกาอยู่ช่วงหนึ่ง

อีกคดีหนึ่งที่อาจถือว่าเป็นความดีของพาร์ทริดจ์ได้บ้าง คือกรณีที่
เจ้ากาวิโรรส หรือเจ้าหลวงแห่งเมืองเชียงใหม่ บังเกิดความไม่พอใจที่คนในสังกัด ๒ นายเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาคริสต์ จึงสั่งให้นำตัวไปประหารชีวิต เพื่อไม่ให้ชาวบ้านถือเป็นเยี่ยงอย่าง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ยังกำชับไม่ให้ใครแพร่งพราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ให้เรื่องไปถึงหูของศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) ซึ่งเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันสังกัดนิกายเพรสไบทีเรียน ผู้ก่อตั้งคริสตจักรที่หนึ่งในเมืองเชียงใหม่ แต่ฝ่ายหลังก็ทราบจนได้ เป็นเหตุให้เกิดความหวั่นเกรงในความปลอดภัยของมิชชันนารี ๒ ครอบครัวที่ทำงานอยู่ในเชียงใหม่ขณะนั้น

เมื่อทางการสยามทราบเรื่องเข้า จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น ว่ากันว่าพาร์ทริดจ์ต้องการให้มีตัวแทนฝ่ายอเมริกันเข้าร่วมในการสืบสวนด้วย โดยอ้างว่า สนธิสัญญาระหว่างสยามกับสหรัฐรับประกันว่าจะคุ้มครองพลเมืองอเมริกันในสยาม แต่ผู้สำเร็จราชการสยามปฏิเสธที่จะให้ฝ่ายอเมริกันเข้าไปยุ่งเกี่ยว พาร์ทริดจ์ยอมถอย ทว่า ก็ยังยืนกรานที่จะให้รัฐบาลสยามทำตามสนธิสัญญา เรื่องนี้จบลงที่ว่า เจ้ากาวิโรรสได้เสียชีวิตลงในระหว่างที่เรื่องราวยังสะสางไม่เสร็จ คดีนี้จึงคลี่คลายไปโดยปริยาย เมื่อเจ้าอินทนนท์ ผู้เป็นบุตรเขยของเจ้ากาวิโรรสได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ มิชชันนารีอเมริกันก็สามารถทำงานของตนได้อย่างปลอดภัยต่อไป

แม้พาร์ทริดจ์จะชอบอำนาจหน้าที่ของตนในฐานะกงสุล แต่สิ่งที่เขาไม่พอใจมากๆ คืออัตราเงินเดือน ๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับกงสุลอังกฤษ คือ โทมัส จอร์จ น็อกซ์ (Thomas George Knox) ซึ่งพาร์ทริดจ์ถือเป็นศัตรูหัวแถว ฝ่ายหลังได้รับเงินเดือน ๖,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปี หนำซ้ำยังมีผู้ช่วยหลายคนที่มีเงินเดือนพอๆ กับพาร์ทริดจ์เสียด้วย นี่ยังไม่พูดถึงความรู้สึกของท่านกงสุลที่ต้องเช่าบ้านหลังเล็กๆ อยู่กับครอบครัว ขณะที่สถานกงสุลอังกฤษมีตัวตึกสง่างามพร้อมสนามหญ้าและสวนริมฝั่งแม่น้ำ ภรรยาของพาร์ทริดจ์ไม่สามารถทนอยู่ในบางกอกได้ จึงขอกลับสหรัฐ ทิ้งให้สามีและลูกชายอายุ ๑๖ อยู่ในบางกอกต่อไป

สถานการณ์เช่นนี้กระมังที่พาร์ทริดจ์ต้องขวนขวายหาลำไพ่พิเศษ และพบช่องโหว่ในสนธิสัญญาที่สหรัฐทำไว้กับสยาม ซึ่งมีใจความส่วนหนึ่งว่า "กรณีพิพาทใดที่เกิดขึ้นระหว่างพลเมืองชาวอเมริกันกับชาวสยามในอารักขา ควรได้รับการไต่สวนและการตัดสินคดีโดยกงสุลร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามที่เหมาะสม ส่วนคดีอาญาที่ผู้กระทำผิดเป็นพลเมืองชาวสหรัฐ ก็จะได้รับการลงโทษโดยกงสุลตามกฎหมายสหรัฐ" ประเด็นสำคัญก็คือ สหรัฐไม่มี "ชาวสยามในอารักขา" แต่อย่างใด เมื่อพาร์ทริดจ์มาถึงบางกอกใหม่ๆ นั้น เขาพบว่า ชาวอเมริกันที่อยู่ในความดูแลของกงสุลมีจำนวนทั้งหมดเพียง ๖๐ คนเท่านั้น โดยที่ ๒ ใน ๓ เป็นมิชชันนารี ส่วนที่เหลือประกอบด้วยพ่อค้าที่น่าเชื่อถือสามสี่คนกับฝรั่งพเนจร ซึ่งโดยมากเป็นกะลาสีเรือที่หลบหนีไปยังชีพด้วยการขายเหล้าราคาถูก หรือไม่ก็ลักลอบค้าฝิ่น

ถ้าอย่างนั้นแล้ว จะไปหาชาวสยามที่ไหนมาอารักขาได้ล่ะ ไม่ยากอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนกรุยทางไว้ให้แล้ว

ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕) กงสุลอเมริกันในบางกอกเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับเงินเดือน และได้รับเลือกจากบรรดาชาวอเมริกันด้วยกันเอง กงสุลอเมริกันคนแรกที่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลสหรัฐคือนายเจมส์ แมดิสัน ฮู้ด (James Madison Hood) โดยมีโบนัสเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เก็บรวบรวมได้จากชาวอเมริกันในบางกอก แต่มีค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่นายฮู้ดเก็บเกี่ยวได้โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือค่า "ใบคุ้มครอง" ที่ชาวจีนในบางกอกเสนอให้ ทั้งนี้เพราะขณะนั้นชาวจีนจำนวนมากไม่มีตัวแทนในสยาม ฉะนั้น หากเกิดเหตุอะไรขึ้นก็บากหน้าไปหาใครไม่ได้

ที่มาของใบคุ้มครองมีอยู่ว่า ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) นายจ้างชาวอเมริกันในบางกอกถูกคุกคามอยู่บ่อยๆ ยิ่งเมื่อไปทำอะไรที่ไม่เหมาะสม หรือลบหลู่ผู้ใหญ่ ลูกจ้างชาวสยามที่ชาวอเมริกันจ้างไว้มักถูกจับตัวไป หรือ "ถูกอุ้ม" ไปเฉยๆ กงสุลอเมริกันจึงต้องออก
"ใบคุ้มครอง" ให้เป็นการป้องกันการคุกคามดังกล่าว แม้ชาวจีนจะไม่อยู่ในข่ายลูกจ้างของอเมริกัน แต่กฎหมายนานาชาติในขณะนั้นอนุญาตให้ตัวแทนของประเทศต่างๆ ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลของชาติอื่นได้ ถ้ามีการส่งรายชื่อบุคคลเหล่านั้นให้กระทรวงการต่างประเทศ

ฉะนั้น นายฮู้ดจึงออกใบคุ้มครองให้แก่ชาวจีนจำนวน ๒๒๖ คน โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่ ๓-๒๔ เหรียญสหรัฐ และส่งชื่อให้กระทรวงการต่างประเทศ ตามระเบียบ

แม้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายฮู้ด และมีคำสั่งให้เลิก แต่นายฮู้ดก็หาใส่ใจไม่ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) สมาชิกสภาสหรัฐชื่อนายดับเบิลยู.เจ. ชอว์ (W.J. Shaw) ได้เดินทางมาเยือนบางกอก และได้รับทราบว่า นายฮู้ดเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาของรัฐบาลสยาม ซึ่งก็หมายถึงจุดจบของกงสุลผู้นี้ แต่นายฮู้ดหรือจะยอมตายตอนจบง่ายๆ เมื่อจำต้องละทิ้งบ่อทองอย่างนี้แล้ว ก็ทิ้งทวนด้วยการออกใบคุ้มครองให้ชาวจีนอีกมากกว่า ๓๐๐ คน และได้เงินเข้ากระเป๋าเหนาะๆ ประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ต่อมากงสุลของฝรั่งเศส ดัตช์ และโปรตุเกสก็เอาอย่างบ้าง แน่นอนว่า เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลสยามขัดเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง

ดูเหมือนพาร์ทริดจ์เห็นด้วยกับหลักการหาลำไพ่ของนายฮู้ด จึงใช้วิธีเดียวกัน หนำซ้ำยังเพิ่มค่าใบคุ้มครองขึ้นไปอีก และบางครั้งเรียกเก็บแพงถึง ๑๕๐-๓๐๐ เหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่ให้คำรับรองกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไปแล้วว่า "เรื่องน่าอายนี้จบลงแล้ว และเป็นที่พอใจของรัฐบาลสยาม" แถมยังบอกว่า มีชาวรัสเซียเพียงคนเดียวที่อยู่ในอารักขา ทว่า อีกเดือนหนึ่งต่อมา พาร์ทริดจ์ก็กลืนน้ำลายตัวเองพร้อมทำเป็นทองไม่รู้ร้อนด้วยการส่งรายชื่อชาวจีนไปให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอีก แน่นอนว่าทางนั้นต้องกำชับมาให้เลิก แต่พาร์ทริดจ์กลับฮึกเหิมดำเนินการของตนต่อไป

นอกจากนี้แล้ว "ใบคุ้มครอง" ดังกล่าวยังสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดามิชชันนารีชาวอเมริกันโดยถ้วนหน้า เพราะเอกสารดังกล่าวอนุญาตให้พ่อค้าสามารถขายสินค้านำเข้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษีภายใต้ความคุ้มครองจากสหรัฐ ชาวจีนจึงนิยมติดธงชาติสหรัฐไว้บนเรือที่พายขายเหล้าขึ้นลงแม่น้ำสายใหญ่น้อยอย่างภาคภูมิ ถือเป็นความอัปยศต่อธงสหรัฐ และขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม เพราะเหล้าคือ "น้ำบาป" ของผู้นับถือศาสนาคริสต์ มิชชันนารีหญิงนางหนึ่งเขียนระบายความอัดอั้นใจว่า ชาวอเมริกันในบางกอกหลายคนรู้สึกละอายเหลือเกินที่จะติดธงชาติไว้หน้าบ้าน เพราะเกรงว่าผู้คนจะเข้าใจผิดว่าเป็นร้านเหล้า

รัฐบาลสยามต้องสูญเสียเงินรายได้ไปราว ๒๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งนับว่ามากโขอยู่ เจ้าหน้าที่สยามพยายามประจานพาร์ทริดจ์อยู่หนหนึ่งด้วยการเก็บธงสหรัฐจากเรือชาวจีนจำนวนหนึ่ง แล้วส่งไปให้พาร์ทริดจ์ แต่ฝ่ายหลังกลับตอบอย่างหัวหมอว่า ธงเหล่านั้นไม่ใช่ธงของสหรัฐ เพราะมีจำนวนดาวและแถบสีบนธงไม่ถูกต้อง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเองก็มีคำสั่งให้พาร์ทริดจ์อธิบาย พร้อมทั้งส่งคำตำหนิมาหลายหน แต่ก็ดูเหมือนอะไรบางอย่างคุ้มครองพาร์ทริดจ์ให้อยู่รอดในตำแหน่งกงสุลต่อไป

มิชชันนารีชาวอเมริกันเตรียมยื่นคำร้องเพื่อขอให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเรียกตัวพาร์ทริดจ์กลับไป แต่พาร์ทริดจ์ไหวตัวทันจึงเรียกตัวบรรดาสาวกของพระเจ้าเหล่านั้นมาขึ้นศาลกงสุล และสั่งปรับเป็นการสั่งสอนเสียด้วย แถมยังสั่งขังมิชชันนารีรายหนึ่งในข้อหาหมิ่นประมาทศาล ไม่เพียงเท่านั้น พาร์ทริดจ์ยังล้อมคอกมิชชันนารีเหล่านี้ก่อนที่จะเตลิดไปทำกระโตกกระตากครั้งต่อไปอีก โดยการบอกว่า เขามีอำนาจที่จะตัดสินแขวนคอใครก็ได้ โดยไม่มีการอุทธรณ์เสียด้วย

ที่น่าเศร้าก็คือ เขาเป็นฝ่ายถูก
ศาลกงสุลในครั้งนั้นไม่ให้โอกาสใครอุทธรณ์

การขายใบคุ้มครองยังคงดำเนินต่อไป ทั้งพ่อและลูกสกุลพาร์ทริดจ์ต่างได้รับผลประโยชน์จากการนำเข้าและขายส่งเหล้าขาวตลอดจนการลักลอบค้าฝิ่น ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่า ทั้งคู่ไม่ยอมปล่อยให้โอกาสหาเงินหลุดลอดง่ามนิ้วกรงเล็บไปได้ง่ายๆ อย่างเช่น เมื่อกัปตันเรือชาวอเมริกันนายหนึ่งประกาศให้รางวัล ๒๕ เหรียญสหรัฐแก่ผู้พบศพของชาวอเมริกันคนหนึ่ง (อาจเป็นลูกเรือหรือเพื่อน) ที่จมอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ปรากฏว่า พาร์ทริดจ์ผู้ลูกมาแจ้งว่าตนพบศพแล้ว และขอรับเงินรางวัล โดยให้จ่ายผ่านกงสุล และบอกว่า ท่านกงสุลแนะนำไม่ให้ดูศพ กัปตันเรือผู้นี้ก็เชื่อฟังแต่โดยดี แต่ต่อมาดูเหมือนว่า แม้แต่ผียังอยากออกมาช่วยประจาน จึงมีผู้พบศพที่แท้จริงลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา

กิจกรรมปลีกย่อยอย่างอื่นของกงสุลผู้นี้คือ การหักเงินร้อยละ ๒๕ ออกจากเงินที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐส่งมาเป็นเงินเดือนและค่าบำรุงรักษากงสุล โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมที่เสียไปกับการแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้เขาเรียกเก็บ "ภาษีประภาคาร" จากเรืออเมริกัน หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐสั่งห้ามแล้ว โดยบอกเจ้าของเรือว่า เป็นค่าดูแลประภาคารที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเขาส่งให้รัฐบาลสยาม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง

แน่นอนว่า ยกเว้นสหายร่วมธุรกิจเหล้าของเขาแล้ว ไม่มีใครในบางกอกชอบหน้าพาร์ทริดจ์เลย ดังจะเห็นได้จากการลงมติเพื่อรับสมาชิกใหม่เข้าสโมสรยูเนียนคลับ ซึ่งเป็นสโมสรของชาวต่างชาติในบางกอก เขาได้รับคะแนนยอมรับ ๒ ต่อ ๑๗

วีรเวรที่ปิดฉากพาร์ทริดจ์ในบางกอกคือกรณีที่เกิดกับนายจอห์น เอช. แชนด์เลอร์ (John Hasset Chandler) ซึ่งเคยเป็นอดีตมิชชันนารีนิกายแบ๊พติสต์และช่วยงานด้านช่างกลในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่เกิดเรื่องนี้นั้น นายแชนด์เลอร์เป็นเลขานุการในสำนักงานฝ่ายต่างประเทศของสยาม เมื่อสยามได้รับคำเชิญจากสหรัฐให้ไปเข้าร่วมงานฉลองครบ ๑๐๐ ปีในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ (ค.ศ. ๑๘๗๖) นายแชนด์เลอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เตรียมผลิตภัณฑ์จากสยามเพื่อนำไปร่วมในงาน พาร์ทริดจ์กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ส่งพระราชวงศ์บางพระองค์ไปด้วย และคิดว่าพระองค์ทรงเห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น พาร์ทริดจ์วาดภาพไว้ในใจว่า ตนเองจะได้รับเกียรติในการนำประธานาธิบดียูลิซิส แกรนต์ เข้าเฝ้าพระราชวงศ์จากสยามในงาน แต่แล้วในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. ๑๘๗๕) เมื่อทราบว่า เฉพาะนายแชนด์เลอร์เท่านั้นที่จะได้เดินทางไปสหรัฐ พาร์ทริดจ์จึงส่งจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เพื่อบอกว่าเขาไม่ไว้วางใจในตัวนายแชนด์เลอร์ และได้ส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นผ่านกระทรวงการต่างประเทศของสยามเพื่อให้นำไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวด้วย

เวลาผ่านไป ๒ เดือน แต่รัฐบาลสยามไม่ให้คำตอบ พาร์ทริดจ์จึงขอเข้าพบเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ (เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)) และทราบว่า คำทักท้วงของตนไม่เกิดผลใดๆ แชนด์เลอร์คือตัวแทนจากสยามแต่เพียงผู้เดียว และจะออกเดินทางภายในสัปดาห์นั้น พาร์ทริดจ์จึงบึ่งกลับไปยังสถานกงสุลอย่างมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งแชนด์เลอร์ให้จงได้

พาร์ทริดจ์คิดขึ้นมาได้ว่า แชนด์เลอร์เคยมีคดีเก่า และค้างชำระเงินอยู่ ๓,๐๐๔.๖๕ เหรียญสหรัฐ จึงส่งลูกไปทวงเงินจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ (เพราะแชนด์เลอร์สั่งซื้อของในนามของรัฐบาลสยาม) พอลูกกลับมาถึงกงสุล ข่าวว่าแชนด์เลอร์จะออกเดินทางก่อนเช้าวันรุ่งขึ้นก็มาถึง พาร์ทริดจ์ผู้พ่อจึงต้องรีบออกหมายจับให้ลูกกับเจ้าหน้าที่กงสุลอีก ๒ คนนำไปส่งด้วยตัวเอง

แน่นอนว่า กลางดึกอย่างนั้น แชนด์เลอร์จะไปหาเงินจำนวนมากขนาดนั้นมาจากไหน แชนด์เลอร์คงอดโมโหไม่ได้ จึงคว้าเก้าอี้ฟาดหนุ่มน้อยพาร์ทริดจ์จนล้ม เมื่อฝ่ายหลังตั้งตัวได้ แชนด์เลอร์หรือจะสู้แรงหนุ่มไหว แม้ภรรยาและบ่าวในบ้านรีบเข้าไปช่วยเหลือแชนด์เลอร์ แต่ก็ไม่ทันที่หนุ่มพาร์ทริดจ์ใช้มือรวบเคราของแชนด์เลอร์ แล้วจับเหวี่ยงข้ามระเบียงจนไปกองกับพื้น จากนั้นก็ลากตัวไปเข้าห้องขังในกงสุล

เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ส่งเงินไปประกันตัว แต่พาร์ทริดจ์ปฏิเสธ คดีได้รับการพิจารณาในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๙ (ค.ศ. ๑๘๗๖) แชนด์เลอร์ต้องเสียค่าปรับ ๕๐ เหรียญสหรัฐ และรับโทษจำคุก ๑ เดือน เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ไม่พอใจอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงส่งจดหมายทักท้วงไปถึงพาร์ทริดจ์ และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ชาวอเมริกันในบางกอกก็พร้อมใจกันส่งคำร้องไปที่เดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐเรียกตัวพาร์ทริดจ์กลับประเทศ

แม้กรรมเวรในยุคนั้นติดแค่บั้งไฟไม่ใช่จรวด แต่ก็ส่งผลเร็วพอสมควร ความโกรธแค้นที่สุมในทรวงของพาร์ทริดจ์มานานกว่า ๖ ปีทำให้สุขภาพของเขาแย่ลง หมอประจำตัวได้แนะนำให้เขาเปลี่ยนบรรยากาศ พาร์ทริดจ์จึงพักงานเป็นเวลา ๓ สัปดาห์ โดยขึ้นเรือในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๙ (ค.ศ. ๑๘๗๖) และแต่งตั้งลูกชายให้ทำหน้าที่กงสุลแทน แต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ตอบปฏิเสธไม่ยอมรับ ทว่า นายพาร์ทริดจ์ก็ออกเดินทางไปแล้ว

เมื่อพาร์ทริดจ์กลับถึงบางกอกในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน และได้อ่านจดหมายฉบับนั้นก็โกรธเคืองจนต้องเขียนจดหมายระบายอารมณ์ตอบเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ พร้อมทั้งเขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งส่งไปถึง
พลเรือตรีวิลเลียม เรย์โนลด์ (Admiral William Reynolds) ผู้บัญชาการกองทัพเรือประจำน่านน้ำเอเชีย เพื่อขอกำลังมาหนุนให้คำสั่งแต่งตั้งลูกชายเป็นรองกงสุลมีน้ำหนักมากขึ้น โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

"ข้าพเจ้าแน่ใจว่า เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน เราจำเป็นต้องส่งเรือมาเยือนท่าเรือที่บางกอก...แม้ว่าพลเมืองเหล่านี้ไม่ใช่คนเถื่อนโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ค่อยศิวิไลซ์นัก...ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่มีอะไรดีกว่าการใช้กำลังในแม่น้ำ ที่จะช่วยให้ข้าพเจ้าสามารถทำให้รัฐบาลนี้รับฟังเหตุผลได้"

อย่างไรก็ตามความประสงค์ของพาร์ทริดจ์กลับสำเร็จผลภายในเวลาสัปดาห์เดียว พาร์ทริดจ์จึงส่งจดหมายถึงนายพลเรย์โนลด์เพื่อยกเลิกคำขอนั้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐเกิดความกังวลใจว่า ผลิตภัณฑ์จากสยามจะไปถึงไม่ทันแสดงในงานฉลอง จึงส่งโทรเลขไปฮ่องกง (เพราะขณะนั้นสยามยังไม่มีบริการโทรเลข) ขอให้ส่งเรือไปบางกอกเพื่อติดตามความคืบหน้า นายพลเรย์โนลด์จึงส่งนาวาโทเอ็ดมันด์ แมททิวส์ (Comdr. Edmund O. Matthews) พร้อมเรือปืนชื่อแอชวีลอต (Ashuelot) มายังบางกอก เรือดังกล่าวมาถึงในวันที่ ๒๓ เมษายน พอถึงวันรุ่งขึ้น พาร์ทริดจ์ก็เร่งรุดไปพบนาวาโทผู้นี้เพื่อขอให้ช่วยเป็นกำลังหนุนข้อเรียกร้องข้อหนึ่งที่เขายื่นต่อรัฐบาลสยาม

ในสายตาของพาร์ทริดจ์ ต้นเหตุของข้อเรียกร้องนั้นเป็นดังนี้ ในวันที่ ๒๐ เมษายน ชาวอเมริกันนาม ดับเบิลยู.เจ. ฮิกกินส์ (W.J. Higgins) ได้ซื้อใบคุ้มครองให้ลูกจ้างชาวจีน ๒ คนของตนในราคาใบละ ๕ เหรียญสหรัฐ ๒ วันต่อมา นายฮิกกินส์ได้กลับไปที่กงสุลอีก และซื้อใบอนุญาตค้าขายให้ลูกจ้างทั้งสอง เพื่อให้ชาวจีนคู่นี้เป็นตัวแทนขายสินค้านำเข้า เมื่อเรือแอชวีลอตมาถึง นายฮิกกินส์รายงานไปยังกงสุลว่า ทั้งสองถูกคนค้าฝิ่นจับไปเฆี่ยนและกักขังไว้ พาร์ทริดจ์จึงออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลสยามจับคนค้าฝิ่นมาเฆี่ยนและปรับเป็นเงิน ๖๐๐ เหรียญสหรัฐ

นาวาโทแมททิวส์รู้สึกสงสัย จึงยังไม่ดำเนินการใดๆ ระหว่างนั้นเขาและเจ้าหน้าที่บนเรือได้รับการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีจากรัฐบาลสยาม และได้เข้าเฝ้า พร้อมทั้งได้ไปชมพิธีคล้องช้างด้วย งานนี้กงสุลไม่ได้รับเชิญ รัฐบาลสยามบอกนาวาโทแมททิวส์ว่า นายฮิกกินส์นำเข้าสุราและฝิ่น จากนั้นจึงขายให้ชาวจีนทั้งสอง วันที่มีการจับกุมนั้นคือวันที่ ๑๐ ไม่ใช่ ๒๓ อย่างที่พาร์ทริดจ์แอบอ้าง พูดง่ายๆ คือ การจับกุมเกิดขึ้นก่อนที่ทั้งสองได้รับใบคุ้มครอง ชาวจีน ๒ คนที่นายฮิกกินส์นำตัวไปแสดงต่อกงสุลนั้นเป็นตัวปลอม ตัวจริงอยู่ในคุกเรียบร้อยแล้ว

นาวาโทแมททิวส์ยังได้ทราบเหตุผลด้วยว่า เหตุใดเสนาบดีต่างประเทศของสยามจึงไม่ยอมรับพาร์ทริดจ์ผู้ลูกเป็นผู้รักษาการกงสุลสหรัฐ ทั้งนี้เพราะในขณะนั้น เขารับจ้างพ่อค้าสุราอยู่ ฉะนั้น จึงถือเป็นคนของรัฐบาลสยาม ขาดความเหมาะสมที่จะรับหน้าที่ผู้รักษาการกงสุลสหรัฐ นาวาโทแมททิวส์เขียนรายงานส่งนายพลเรย์โนลด์เกี่ยวกับพาร์ทริดจ์ว่า "เป็นคนฉ้อฉลอย่างร้ายกาจ ขาดจริยธรรม และไร้การศึกษาโดยสิ้นเชิง" และจะพูดความจริงก็ต่อเมื่อไม่เจตนาเท่านั้น

แมททิวส์ยังทราบความจริงเกี่ยวกับสินค้าที่จะไปแสดงในงานฉลอง ๑๐๐ ปี และได้รับการทาบทามให้นำไปส่งที่ฮ่องกง เพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐ ทว่า เขาไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐให้ดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อเขาเดินทางไปถึงกรุงไซ่ง่อน เขาได้ส่งโทรเลขไปถึงนายพลเรย์โนลด์เพื่อขออนุมัติ แล้วก็ได้ไฟเขียวทันที เรือแอชวีลอตจึงกลับมาทอดสมอที่บางกอกอีกครั้ง พาร์ทริดจ์ได้รับโทรเลขจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ขอให้เขาอำนวยความสะดวกทุกด้านในการนำส่งสินค้าจากสยาม พาร์ทริดจ์รีบส่งจดหมายเชิญนาวาโทแมททิวส์ให้มาพบที่กงสุล ฝ่ายหลังจึงมาพบในวันถัดไปแต่ไม่อธิบายอะไรมากมาย นอกจากบอกว่าได้จัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะออกเดินทาง เช้าวันรุ่งขึ้น เรือแอชวีลอตก็แล่นออกจากท่าเรือเมืองบางกอก

พาร์ทริดจ์จะอยู่เฉยได้อย่างไร เขาลงมือเขียนจดหมายระบายความโกรธถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอีกฉบับ เพื่อท้วงติงที่นาวาโทแมททิวส์ไม่ให้เกียรติแก่ตน ขณะเดียวกันก็ตระเตรียมเก็บข้าวของเพื่อเดินทางออกจากสยามไปด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะพาร์ทริดจ์ได้รับจดหมายติเตียนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในเรื่องกรณีพิพาทกับแชนด์เลอร์ โดยมีเนื้อหาว่า กระทรวงไม่เห็นด้วยกับเหตุผลทางกฎหมายที่พาร์ทริดจ์ใช้จับกุม และไม่พอใจอย่างยิ่งที่พาร์ทริดจ์ไม่ให้เกียรติแก่รัฐบาลสยาม พาร์ทริดจ์เขียนจดหมายโต้กลับไป เพื่อแก้ตัวน้ำขุ่นๆ และแก้ลำเผื่อไว้ในกรณีที่นาวาโทแมททิวส์กล่าวหาอะไรเขาไว้ เพราะพาร์ทริดจ์ทราบมาว่า นาวาโทแมททิวส์ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ จากบรรดามิชชันนารี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอเหาของชาวสยาม หรือหมอแซมูเอล เรย์โนลด์ เฮาส์ (Dr. Samuel Reynolds House) เข้าใจว่าหมอเหาคงเป็นปฏิปักษ์คนสำคัญ เพราะกงสุลผู้นี้เคยว่าจ้างหญิงชาวสยามบางคนให้ไปยั่วยวนหมอเหา เพื่อหวังทำลายชื่อเสียงมาแล้ว แต่ไม่ได้ผล

พ่อลูกพาร์ทริดจ์รีบเร่งเก็บค่าธรรมเนียมทุกอย่างที่เก็บได้ และพิมพ์ใบแลกเปลี่ยนสินค้าหลายร้อยใบขึ้นมา และว่าจ้างคนให้ไปโฆษณาผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเอกสารนี้ รวมทั้งกวาดต้อนผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องขอใบดังกล่าวไปที่สถานกงสุล

ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๙ (ค.ศ. ๑๘๗๖) พาร์ทริดจ์แต่งตั้งให้ ดับเบิลยู.แอล. ฮัทชินสัน (W.L. Hutchinson) ซึ่งมีชื่อเสียงเลวร้าย และเป็นพ่อค้าเหล้า ให้รับตำแหน่งรองกงสุลสหรัฐ ในวันเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่ามีผู้ลักลอบนำใบอนุญาตค้าขายหลายร้อยใบออกจากสถานกงสุล แล้วก็น่าแปลกเสียนี่กระไรที่ใบอนุญาตค้าขายตกไปอยู่ในมือของเศรษฐีชาวจีนได้อย่างไรไม่ทราบ ว่ากันว่าอย่างน้อยใบอนุญาตมีจำนวนถึง ๖๐๐ ใบ

เมื่อคุณมาร์กาเร็ตค้นคว้าข้อมูลต่อไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) เธอได้ฟังจากบุคคลอื่นๆ ว่า พาร์ทริดจ์ได้หอบบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ จำนวนมากที่ตนจดเก็บไว้ขณะใช้ชีวิตในสยาม และเตรียมเขียนหนังสือบันทึกความทรงจำขึ้นด้วย ทว่าสองสามปีก่อนเสียชีวิต บ้านของเขาถูกไฟไหม้จนวอดทั้งหลัง บันทึกเหล่านั้นจึงกลายเป็นเถ้าไปจนสิ้น

พาร์ทริดจ์ชอบเล่าถึงความหลังครั้งยังอยู่ในสยามให้ผู้อื่นฟังบ่อยๆ โดยทุกเรื่องมีเขาเป็นพระเอกเสมอ อย่างเช่น เรื่องที่เขายิงผู้ที่เป็นปรปักษ์ของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพยายามปลงพระชนม์พระโอรส จนได้รับพระราชทานรางวัลอย่างงดงาม ทว่า เขากลับปฏิเสธที่จะรับรางวัลเหล่านั้นจนกระทั่งเมื่อตนเองพ้นจากตำแหน่งกงสุลแล้ว คุณมาร์กาเร็ตบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด

ผู้คนในเมืองที่พาร์ทริดจ์อาศัยเป็นเรือนตายนั้นจำได้ว่า เขาเป็นชายร่างสูง ไหล่กว้าง และยืนตรงเป็นเสาธงจนวาระสุดท้ายของชีวิต แววตาขึงขังเคร่งเครียด ไว้เครา ผู้ที่พบเห็นเขาเป็นครั้งแรกมักรู้สึกอึดอัด

พาร์ทริดจ์ได้รับโทรเลขจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเกือบทุกวัน และมักแสดงท่าทีให้คนรอบข้างเข้าใจว่า โทรเลขเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีบทบาทใดๆ ทางการเมืองหรือการทหารอีกแล้ว ไม่มีใครทราบว่า โทรเลขเหล่านั้นมีใจความอะไรบ้าง หลายคนในเมืองนั้นคิดว่า เขาเป็นคนส่งโทรเลขเสียเอง เพื่อสร้างภาพพจน์ให้ใครต่อใครเห็นว่า ตนเองยังมีความสำคัญอยู่

เรียกว่าอั๊กลี่จนถึงวาระสุดท้ายทีเดียว


วิลาส นิรันดร์สุขศิริ



กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณ
เดวิด โอซีลสกี้ (David Osielski) แผนก Archives & Special Collections แห่ง Wheaton College มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ

แจ๊กกี้ จอห์นสัน (Jacky Johnson) แผนก Archives & Special Collections แห่ง Western College Memorial Archives มหาวิทยาลัย Miami University เมืองออกซ์ฟอร์ด มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐ

แคธี สแตนลีย์ (Kathi Stanley) แผนก Manuscripts & Special Collections แห่ง New York State Library สหรัฐ

ไมเคิล อาร์. เลียร์ (Michael R. Lear) แผนก Archives & Special Collections ในห้องสมุด Shadek-Fackenthal Library แห่ง Franklin and Marshall College แลงคาสเตอร์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย


เชิงอรรถ

John Fitzgerald Kennedy ประธานาธิบดีคนที่ ๓๕ ของสหรัฐ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๑-๖๓)

Frederick William Partridge เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ (ค.ศ. ๑๘๒๔) รับหน้าที่กงสุลสหรัฐประจำบางกอก ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๒-๑๙ (ค.ศ. ๑๘๖๙-๗๖) เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙) สุสานเอล์มวู้ด (Elmwood Cemetery) เมืองซิคามอร์ มลรัฐอิลลินอยส์

Lucy Dunlap เธอเป็นลูกสาวบุญธรรมของสาธุคุณ อี.อาร์. ดันแลป (Rev. E.R. Dunlap) แห่งนิกายเพรสไบทีเรียน ประจำอยู่ที่โบสถ์จังหวัดเพชรบุรี

ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ samshu

Admiral William Reynolds (พ.ศ. ๒๓๕๘-๒๔๒๒ หรือ ค.ศ. ๑๘๑๕-๗๙) เป็นทหารเรือที่เข้าร่วมในการสำรวจทางทะเลของสหรัฐในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๘๑-๘๕ (ค.ศ. ๑๘๓๘-๔๒) และเป็นสมาชิกในชาวอเมริกันกลุ่มแรกที่ได้เห็นทวีปแอนตาร์กติกา

Comdr. Edmund O. Matthews ขณะนี้ยังหารายละเอียดไม่ได้

Ashuelot ระวางขับน้ำ ๑,๓๗๐ ตัน ยาว ๒๕๕ ฟุต เข้าประจำการเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. ๑๘๖๖) ล่มเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๖ (ค.ศ. ๑๘๘๓)

W.J. Higgins ยังค้นไม่พบรายละเอียด๙ W.L. Hutchinson ยังค้นไม่พบรายละเอียด


ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โปรด..ฟังอีกครั้ง..!!!
ไอ้กัน(U.S.A.) มันชอบป่วนโลกมานาน แล้ว รู้ไหม? ปัจจุบันมันไปป่วนโลก จนอาหรับขึ้นราคาน้ำมัน แพงเช้า- แพงเย็น ป่วนทอง ป่วนหุ้น ป่วนราคาพืชผลการเกษตร ฯลฯ จำได้หรือเป่า!!!! แต่มันยังดีที่มันไม่เคย..ป่วนในประเทศของมัน เหมือนคนไทยในประเทศของเรา ประเทศของมันจึงเจริญมาถึงทุกวันนี้ คิดดูพอมันกลับบ้านมันหยุดป่วนทันที!!!! ถ้าคนไทยอยากให้ประเทศไทยเจริญ และชอบทำตัวป่วน ก็จงออกไปป่วนนอกประเทศไทย เพราะคนไทย คนแขก คนจีน คนเขมร ฯลฯ ชอบป่วนภายในประัเทศมากที่สุด!!! ยกเว้นพวกไอ้กัน(U.S.A.).. ฟังนะ..เด็ก โง่..!!!
จากเด็ก A.U.
23 ก.ค. 2551