วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พระองค์เจ้ารพีฯ เป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยจริงหรือ ?


พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์(หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงนิติศาสตร์ในฐานะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งกฎหมายไทย" ถ้อยคำดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์มิใช่นักกฎหมายธรรมดาที่มีดาษดื่นทั่วไป หากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการวางรากฐานของระบบกฎหมายของไทย

การยกย่องพระองค์ มีให้เห็นอย่างกว้างขวางทั้งในด้านของถ้อยคำและการจัดงานพิธีกรรม ดังตัวอย่างคำขวัญของประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2527 กล่าวว่า


"ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ทรงสอนวิชากฎหมายให้นักศึกษาในโรงเรียนนั้นด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นประธานกรรมการกรมร่างกฎหมาย และประธานกรรมการแก้ไขสนธิสัญญาเลิกอำนาจกงศุลของต่างประเทศ. ในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้ทรงปรับปรุงระเบียบงานศาลยุติธรรมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เหมาะสมสอดคล้องกับการศาลยุติธรรมของนานาประเทศ ทรงเป็นกรรมการตรวจร่างประมวลกฎหมายอาญา และทรงรวบรวมคำพิพากษาฎีกาบางเรื่องพิมพ์เป็นบรรทัดฐานแก่นักกฎหมายทั้งหลาย"(1)


หรือในทุกวันที่ 7 สิงหาคม อันเป็นวันครบรอบวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ก็ได้มีการจัดงานวันรพีขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน การจัดงานวันรพีนี้ในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ของพระองค์ ที่ประดิษฐานอยู่หน้ากระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแวดวงกฎหมายมาเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในสถาบันการศึกษาต่างๆที่มีการศึกษาวิชากฎหมาย ต่างก็ได้มีการจัดงานกันเกือบทุกสถาบัน และวันดังกล่าวก็ได้กลายเป็นเสมือนวันหยุดอย่างไม่เป็นทางการ จนอาจกล่าวได้ว่า ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ปกติหากสถาบันการศึกษาใดไม่ได้เข้าร่วมหรือจัดให้มีงานพิธีกรรมดังกล่าวขึ้น

ตัวอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นคงพอเป็นภาพสะท้อนได้ว่า ฐานะของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ในการรับรู้ของนักกฎหมายและแวดวงนิติศาสตร์ของไทย เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับกันโดยปราศจากข้อโต้แย้ง หรือการตั้งข้อสงสัยต่อความเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยของพระองค์

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนงำหลายอย่างที่ชวนให้ขบคิดกันอยู่ไม่น้อย ดังเช่น อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 หรือประมาณ 44 ปี หลังจากสิ้นพระชนม์ ทำไมการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องถึงบทบาทของพระองค์ถึงได้ทอดยาวออกมาเพียงนั้น ก่อนหน้านั้นมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่สามารถเทิดทูนพระองค์ในพื้นที่สาธารณะได้ การไม่สามารถเทิดทูนพระองค์ได้อย่างเอิกเกริกหมายความว่า การรับรู้ถึงพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ก่อนหน้าระยะเวลาดังกล่าว อาจแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


บิดาหรือบิดาบุญธรรมแห่งกฎหมายไทย

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธขึ้น 11 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417) ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรปเมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ร่วมกับพระเจ้าลูกยาเธออีก 3 พระองค์ เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้วพระองค์เลือกศึกษาต่อในวิชากฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2434 ในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และพระองค์ได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา บีเอ เมื่อ พ.ศ. 2436

ภายหลังสำเร็จการศึกษาพระองค์ได้เสด็จกลับเมืองไทย และเริ่มต้นเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ อันเป็นการเริ่มต้นการทำงานของพระองค์ ซึ่งต่อมาบทบาทของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานทางด้านกฎหมายได้กลายมาเป็นบทบาทที่ได้รับการเคารพเทิดทูนอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

อาจกล่าวได้ว่าบทบาทของพระองค์ที่มีต่อวงการกฎหมายสมัยใหม่ของไทยนั้น ปรากฏอยู่ใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ

ประการแรก : การจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายและจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายอย่างเป็นระบบตามแบบของตะวันตก

ประการที่สอง : งานด้านการแก้ไข ปรับปรุงและร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสภาพสังคมที่ต้องติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น

ประการที่สาม : การปรับปรุงกิจการงานของศาลยุติธรรมที่เคยกระจัดกระจายไปอยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานต่างๆ มากมายให้มาอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม

แม้จะเป็นที่ยอมรับว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญต่องานปฏิรูประบบกฎหมายไทย แต่การเลือกเน้นย้ำถึงบทบาทของพระองค์ ก็อาจเป็นการลดทอนหรือละเลยกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านอื่นๆ ซึ่งมีผลให้การประเมินฐานะของบุคคลในทางประวัติศาสตร์ที่เบี่ยงเบนไปจากข้อมูลที่มีอยู่

งานด้านโรงเรียนกฎหมาย อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักกฎหมายเข้าสู่ระบบราชการ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายนี้มิใช่ภารกิจที่อาจลุล่วงไปได้โดยง่าย หากต้องอาศัยความช่วยเหลืออย่างมาก โดยเฉพาะจากชาวตะวันตกที่มีประสบการณ์ดังกล่าวมาจากประเทศของตน

เจ้าพระยาภัยราชาสยามานุกูลกิจ (Rolin Jacquemyns) นักกฎหมายชาวเบลเยียมซึ่งเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไปได้เคยถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ 5 ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น(2) แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีกำลังคนเพียงพอในการดำเนินการดังกล่าว ต้องรอจนกระทั่งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์สำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการ ซึ่งต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ก็มีบทบาทในการช่วยจัดระเบียบการศึกษากฎหมายและร่วมเป็นกรรมสอบไล่ของนักเรียนโรงเรียนกฎหมายรุ่นแรกด้วย(3) เจ้าพระยาอภัยราชาจึงเป็นผู้มีส่วนต่อการให้กำเนิดโรงเรียนกฎหมายไทยในครั้งแรกอยู่ไม่น้อย

ดังต่อมาเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่มีความสำคัญต่อโรงเรียนกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2470 ได้มีการสร้างพระรูปจำหลักของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์และรูปจำหลักของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ไว้คู่กัน(4) ย่อมสะท้อนให้เห็นการยอมรับบทบาทของพระยาอภัยราชาฯ ที่มีต่อโรงเรียนกฎหมาย การสร้างรูปจำหลักที่มีขนาดเท่าเทียมกับพระรูปจำหลักย่อมไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นไปได้ หากนักเรียนกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าวก้าวเข้าสูโรงเรียนกฎหมายและพบเห็นอนุสาวรีย์ของทั้งสอง ก็ย่อมหมายความว่าบุคคลทั้งสอง เป็นผู้ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการบุกเบิกโรงเรียนกฎหมายให้ปรากฏขึ้น

การสร้างพระรูปและรูปจำหลักทั้งคู่ แสดงถึงฐานะและความสำคัญของทั้งสองที่มีต่อระบบกฎหมายและการศึกษากฎหมายสมัยใหม่ซึ่งดูราวกับทัดเทียม อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปัจจุบันเจ้าพระยาอภัยราชาฯ กลับถูกลดทอนบทบาทและความสำคัญลง ฐานะของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ เป็นเสมือนหนึ่งในนักกฎหมายชาวตะวันตกจำนวนมากที่ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยปรับปรุงระบบกฎหมายของไทย โดยมิได้โดดเด่นแตกต่างไปจากคนอื่นๆ

ทำไมฐานะที่เคยได้รับการยกย่องถึงกับสร้างอนุสาวรีย์ไว้คู่กับพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กลับผันแปรไปอย่างมาก และได้ถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการสร้างพระรูปของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ไว้ที่หน้ากระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. 2507 เจ้าพระยาอภัยราชาฯ จึงหายสาบสูญไปจากพื้นที่ความทรงจำของนักกฎหมายไทยจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

นอกจากการตั้งโรงเรียนกฎหมาย งานอีกด้านที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้มีบทบาทร่วมก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย แนวทางการปฏิรูปกฎหมายของไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามที่ตะวันตกได้ใช้กันอยู่ การแก้ไขกฎหมายจำนวนมากจึงได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่ พ.ศ.2440 โดยได้มีการเลือกทำประมวลกฎหมายอาญาก่อนประมวลกฎหมายฉบับอื่นๆ เนื่องจากบรรดากฎหมายลักษณะต่างๆกฎหมายอาญาเป็นประมวลกฎหมายที่ร่างได้ง่ายที่สุดและศาลสามารถเข้าใจได้ง่ายเช่นกัน(5)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้มีพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นประธานร่วมกับกรรมการอื่นๆทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คณะกรรมการทำงานได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยได้รวบรวมพระราชกำหนดบทอัยการที่สมควรใช้ต่อไปได้ และเรียบเรียงไว้เป็นร่างกฎหมายแต่ยังมิได้ตรวจชำระ งานร่างกฎหมายได้มีความคืบหน้าต่อมาใน พ.ศ.2447 เมื่อรัฐบาลจ้างนายยอร์ช ปาดู (Grorge Padoux) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสให้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย และรัชกาลที่ 5 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ โดยให้รับร่างกฎหมายอาญาที่คณะกรรมการร่างกฎหมายชุดก่อนได้ทำไว้ ซึ่งนายยอร์ช ปาดู ได้ยกเลิกร่างประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการชุดแรก ที่มีพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นประธาน

การกระทำของนายปาดูมีผลให้กรมหมื่นราชบุรี(พระยศในขณะนั้น) ปฏิเสธตำแหน่งประธานกรรมการร่างกฎหมายชุดใหม่นี้ ทั้งๆ ที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งควรจะรับผิดชอบในเรื่องนี้ แม้กระทั่งต่อมาแม้ในคราวที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการชั้นสูงร่างประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พระองค์ก็ทรงหลีกเลี่ยงมิได้เข้าร่วมตรวจร่างประมวลกฎหมาย ด้วยการตามเสด็จประพาสไปยุโรปของรัชกาลที่ 5 (6) โดยทรงมอบหมายหน้าที่ให้นายโตกิจิ มาเซา(Tokichi Masao) และนายเจ สจ๊วต(J. Steward Black) ที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ทำการตรวจร่างประมวลกฎหมายอาญาแทน

เพราะฉะนั้น การยกย่องบทบาทของพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยครั้งในฐานะที่ "ทรงเป็นประธานในการตรวจพระราชกำหนดบทอัยการเก่าใหม่ โดยมีนักกฎหมายไทยและต่างประเทศร่วมกัน ทำให้เกิดกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งนับว่าเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย"(7) หรือแม้ในหนังสือ"รพี 43" ก็ยังคงกล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่าเป็น

"ประธานกรรมการข้าราชการไทยและฝรั่งตรวจบทพระอัยการเก่าใหม่ จัดเป็นระเบียบขึ้นและเรียบเรียงเป็นร่างกฎหมายลักษณะอาญาขึ้นไว้เป็นบรรทัดฐาน และในปีนั้นเองก็ได้ทรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เพื่อชำระประมวลกฎหมายลักษณะอาญาและได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2451 เป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก"(8)

ถ้อยคำเช่นว่านี้จึงบิดเบือนไปจากข้อมูลที่ปรากฏอยู่อย่างมาก

แต่ดูเหมือนว่าความคลาดเคลื่อนนี้จะไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับถูกย้ำกันต่อมาโดยปราศจากการตรวจสอบถึงข้อมูลที่แท้จริง

ดังนั้น สำหรับประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย บทบาทของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์จึงมีอยู่อย่างจำกัด หรืออาจกล่าวได้ว่ามีอยู่น้อยมาก บทบาทของพระองค์ในลักษณะดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยที่จะร่างประมวลกฎหมายอาญาตามระบบประมวลกฎหมาย พระองค์ได้เคยเสนอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law ตามอย่างประเทศอังกฤษ แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสนับสนุนให้เลือกเอาระบบกฎหมายตามแบบประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย(9) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เห็นว่าเป็นการง่ายที่จะเปลี่ยนกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับระบบประมวลกฎหมาย(10) อันเป็นผลให้ประเทศไทยเลือกการเปลี่ยนระบบกฎหมายโดยเดินตามระบบประมวลกฎหมาย

โดยที่การเลือกรับระบบกฎหมายแบบประมวลกฎหมายได้มีผลทำให้ระบบกฎหมายของไทยได้ใช้ระบบดังกล่าวมาจนกระทั่งในปัจจุบัน ธาวิต สุขพานิช จึงมีความเห็นว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ควรมีฐานะเป็นเพียง"บิดาบุญธรรมของกฎหมายไทย"(11) ส่วนกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้ใช้ระบบประมวลกฎหมายต่างหากที่ควรมีฐานะเป็นบิดา(ที่แท้จริง)แห่งกฎหมายไทย


สัญลักษณ์เก่าในอุดมการณ์ใหม่

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463 ขณะมีพระชนมายุได้ 47 พรรษา ต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงพระองค์ นักกฎหมายส่วนใหญ่เข้าใจว่า พระรูปของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ที่หน้ากระทรวงยุติธรรมเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้มีการสร้างเพื่อรำลึกถึงพระองค์ ความจริงแล้วได้มีการสร้างพระรูปจำหลักของพระองค์พร้อมกับรูปจำหลักของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ เมื่อ พ.ศ. 2470 นับได้ว่าเป็นการสร้างสัญญลักษณ์เพื่อแสดงถึงบทบาทและความสำคัญของพระองค์ต่อการปฏิรูประบบกฎหมายไทยเป็นครั้งแรก โดยพระรูปจำหลักนี้ถูกตั้งแสดงไว้ในโรงเรียนกฎหมาย

ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่าบทบาทของพระองค์ได้ปรากฏอย่างรอบด้านในการปฏิรูประบบกฎหมาย ดังในคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาพิชัยญาติในการเปิดคลุมพระรูป ได้กล่าวถึงบทบาทของพระองค์ไว้ว่า

"การที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงจัดระเบียบราชการในกระทรวงก็ดี ในศาลก็ดี ในการศึกษากฎหมายก็ดี มีผลเป็นความจำเริญสืบเนื่องมาจนเวลานี้ และอุปการะที่ประทานแก่การศึกษากฎหมายโดยเฉพาะนั้น ย่อมเป็นเครื่องให้ผู้ศึกษากฎหมายรู้สึกพระคุณอยู่เสมอ แม้เมื่อได้เสด็จพ้นหน้าที่ราชการยุติธรรมไปทรงรับราชการอื่น และบัดนี้ได้สิ้นพระชนม์แล้วเป็นเวลาหลายปี ผู้ศึกษากฎหมายก็ยังรู้สึกจากตำราและแบบแผนที่ทำไว้เหมือนหนึ่งว่ายังมีส่วนแห่งพระองค์คงอยู่ในโรงเรียนสืบไป"(12)

แม้จะมีการกล่าวเชิดชูบทบาทของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ไว้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในคำกราบบังคมทูลของการเปิดพระรูปซึ่งต้องกล่าวถึงคุณงามความดีต่างๆ ของบุคคลซึ่งถูกให้ความสำคัญอันเป็นจารีตประเพณีที่กระทำกันโดยปกติ ยังไม่มีการกล่าวถึงพระองค์ในฐานะของบิดาไม่ว่าจะ "บิดาแห่งโรงเรียนกฎหมาย" หรือ "บิดาของกฎหมายไทย" เอาไว้เลยสักแห่งในคำกราบบังคมทูลนี้ และโดยที่พระรูปจำหลักของพระองค์ท่านถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลให้พระรูปจำหลักของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ต้องระหกระเหินไปภายใต้การแปรผันของอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางรัฐบาลได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 ในการจัดตั้ง มธก. นี้ได้มีการโอนโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมเมื่อ พ.ศ. 2476 ได้ถูกโอนไปรวมกับคณะนีติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2476 ก็ได้มีการโอนเอาทรัพย์สินและงบประมาณของคณะนีติศาสตร์และรัฐศาสตร์มายัง มธก.(13) พระรูปจำหลักและรูปจำหลักทั้งสองก็ได้ถูกโอนมาเป็นทรัพย์สินของ มธก. ด้วย

อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์ทั้งสองเมื่อถูกโอนมาเป็นของ มธก. ก็ไม่ถูกตั้งแสดงในพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมถึงไม่ได้มีความหมายต่อ มธก. เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะความแตกต่างตั้งแต่รากฐานความคิดของการตั้งสถาบันการศึกษาทั้งสอง.

มธก. ถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับการปกครองแบบใหม่ที่นำเอารัฐธรรมนูญมาเป็นหลักในการปกครอง ในขณะที่โรงเรียนกฎหมายเป็นหนึ่งในสี่โรงเรียนที่ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบราชการเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 (14)

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเมื่อพระรูปจำหลักของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์และรูปจำหลักเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ได้ถูกโอนมายัง มธก. ได้ถูกเก็บไว้อย่างเงียบเชียบ จนกระทั่งเมื่อครบรอบ 50 ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2527 จึงเพิ่งจะมีการ "ค้นพบ" พระรูปและรูปศิลาจำหลักทั้งสองที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(15)

ในขณะที่กระบวนการสร้างความหมายของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ผ่านอนุสาวรีย์ ดูจะประสบกับความยุ่งยากอันเนื่องมาจากการผันแปรของการเมือง อุดมการณ์ และสถานที่ ดังก่อนหน้าทศวรรษ 2500 แม้จะมีการยอมรับความสำคัญของพระองค์ในฐานะผู้นำการปฏิรูประบบกฎหมายของไทย แต่การยอมรับก็ยังคงจำกัดอยู่ในแวดวงของนักกฎหมายเท่านั้น หรือหากกล่าวให้ชัดเจนก็คือ บรรดาลูกศิษย์ที่ได้มีโอกาสเล่าเรียนกับพระองค์ในยุคแรกของโรงเรียนกฎหมาย อันมีความผูกพันโดยตรงกับพระองค์ในฐานะลูกศิษย์ เช่น เจ้าพระยามหิธร(ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งถือว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยหมายเลข 1 ของโรงเรียนกฎหมาย ได้แสดงความเคารพของท่านที่มีต่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์จนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป

บุตรของเจ้าพระยามหิธร(คือหลวงจักรปาณีศีลวิสุทธิ์) ได้เล่าว่า

"ตั้งแต่ผู้เขียน(จักรปาณีศีลวิสุทธิ์) เรื่องนี้จำความได้ พูดอะไรคำหนึ่งท่านก็อ้างในกรม(หมายถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์-ผู้เขียน) สองคำท่านก็อ้างในกรม….ท่าน(หมายถึงเจ้าพระยามหิธร-ผู้เขียน) นับถือของท่านโดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต ดังจะเห็นได้จากจดหมายที่ท่านมีถึงผู้เขียนและบุตรของท่านคนอื่นๆ เมื่อไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษ" (16)

หรือพระยาธรรมสารวิเชตภักดิ์ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตไทยรุ่นเดียวกับเจ้าพระยามหิธร ก็ได้กล่าวชื่นชมพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ให้กับ สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้เป็นบุตรฟังว่า

"พระองค์ท่านทรงพระปรีชาสามารถยิ่งนักและทรงมีพระทัยฝักใฝ่กับศิษย์ ทรงมีแต่ความปรารถนาดีเป็นนิตย์ ทรงรักชาติบ้านเมือง อุตสาหะ สละความสุขส่วนพระองค์มาทรงเหนื่อยยากตั้งโรงเรียนกฎหมายสอนเองสอบเอง" (17)

ความเคารพของนักเรียนในโรงเรียนกฎหมาย ดูจะปรากฏอย่างกว้างขวาง ดังมีการกล่าวว่าลูกศิษย์ของพระองค์ต่างเทิดทูนพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นศาสดา(18) คำกล่าวนี้คงไม่เกินเลยไปจากความจริงมากนัก ดังเมื่อเกิดกรณีพญาระกา(19) และพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัชกาลที่ 5 จึงขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในการนี้มีผู้พิพากษาตุลาการที่ทำงานในศาลจำนวน 28 คนขอลาออกด้วย(20) เป็นผลให้ราชการงานศาลต้องหยุดชะงักลง

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกริ้วผู้พิพากษาเหล่านี้มาก ถึงกับให้เขียนชื่อปิดไว้ปลายพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสาบแช่ง(21) การกระทำของผู้พิพากษาเช่นนี้ แม้นักกฎหมายรุ่นหลังก็ยังถือว่าเป็นการแสดงฤทธิ์เดชที่มากเอาการทีเดียว(22) การกระทำที่แสดงฤทธิ์เดชมากเอาการต่อพระมหากษัตริย์ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์กับบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายว่า เป็นความสัมพันธ์มากกว่าฐานะของพระอาจารย์กับลูกศิษย์โดยทั่วไป อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกศิษย์ทั้งหลายของพระองค์กล้าที่จะกระทำการแบบ "บ้าบิ่น" ได้ขนาดนั้น

บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งของพระองค์ต่อแวดวงของนักกฎหมายก็คือ การปรับปรุงฐานะของผู้พิพากษาให้ดีขึ้น โดยก่อนหน้าการปฏิรูประบบกฎหมายฐานะของตุลาการตกต่ำอย่างมาก อำนาจของตุลาการมีไว้ในการแสวงหารายได้จากบุคคลที่เป็นคู่ความ มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากตำแหน่งหน้าที่ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้ปรับปรุงโดยทำให้ตำแหน่งตุลาการได้รับการยอมรับว่ามีฐานะที่พิเศษ โดยได้รับเงินเดือนที่สูงและสูงมาก หากเปรียบเทียบกับข้าราชการในส่วนอื่นๆ พระยามานวเสวี ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ได้เล่าถึงสถานะและความเป็นอยู่ของนักกฎหมายในยุคนี้ว่า

"ชีวิตนักเรียนกฎหมายและนักกฎหมายในยุคพระองค์ท่านเป็นเสนาบดีมีความรุ่งเรืองมาก ผู้พิพากษาตุลาการในสมัยนั้นได้เงินเดือนสูง กล่าวคือ ชั้นต้นได้ถึง 3 ชั่ง(ประมาณ 240 บาท) ต่างกับข้าราชการฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายปกครอง กว่าจะเป็นเจ้าเมืองได้ถึง 3 ชั่งก็ตั้งนาน และเงินเดือนผู้พิพากษานั้นขึ้นไปถึง 500 หรือ 600 บาท เมื่อตอนที่ข้าพเจ้าเป็นอธิบดีศาลต่างประเทศได้เงินเดือนถึง 1,000 บาท "(23)

การให้ความสนับและยกฐานะของตุลาการเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้รับการเคารพอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเท่านั้นการให้ความใส่ใจต่อนักเรียนกฎหมาย ก็ได้ปรากฏมาตั้งแต่ทรงสอนในโรงเรียนกฎหมาย โดย "พระองค์ทรงกรุณาห่วงใยในพวกนักเรียนกฎหมายมาก อยากจะให้ใช้วิชาชีพเป็นจริงๆ ทรงสนับสนุนในการว่าความ นักเรียนคนใดไม่มีความจะว่า ก็ให้ว่าความแทนผู้ต้องหาในเรือนจำ" (24)

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าพระองค์ยังทำหน้าที่ในการปกป้องบรรดาเหล่าตุลาการ เมื่อเกิดการกล่าวหาที่เป็นด้านลบเกิดขึ้น เล่ากันว่า(25) ครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้เลี้ยงข้าวแช่ มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ไปร่วมและทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ นำนักเรียนกฎหมายเข้าเฝ้าด้วย.

ณ ที่นั้นได้รับดำรัสแก่พระองค์ว่า "รพี พ่อได้ยินว่าผู้พิพากษากินเหล้ามากใช่ไหม ทำไมรพีจึงปล่อยให้เป็นเช่นนี้" ซึ่งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้กราบบังคมทูลว่า

"ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้าฯ ในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเลือกผู้พิพากษาก็ดี เลื่อนขั้นผู้พิพากษาก็ดี ข้าพุทธเจ้าถือหลักในใจอยู่เพียง 2 ข้อ คือ ต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดอย่างหนึ่งและต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกอย่างหนึ่ง… ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ไปสอบสวนหรือเอาใจใส่ในกิจธุระของผู้พิพากษาแต่ละคน ใครจะกินเหล้ายังไง เที่ยวเตร่อย่างไร นอกเหนืออำนาจของเสนาบดีจะพึงบังคับบัญชา"

เรื่องเล่านี้คงเป็นที่ประทับใจนักกฎหมายไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่ามีการหยิบยกเรื่องนี้มากล่าวซ้ำอยู่หลายครั้ง ดังหลังที่ได้มีการตีพิมพ์เรื่องนี้ในบทบัณฑิตย์ เมื่อ พ.ศ. 2511 ในปีถัดมาก็ได้มีการหยิบยกมากล่าวซ้ำอีกครั้ง

บทบาทของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ในแง่ของการส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่และการปกป้องนักเรียนกฎหมาย หรือบรรดาข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม ดูจะเป็นบทบาทที่บิดาพึงกระทำต่อบุตร ดังนั้นการแสดงความเห็นของนักกฎหมายรุ่นหลังอย่างที่ ทวี กสิยพงศ์ ได้กล่าวมาข้างต้นจึงไม่เพียงให้ความสำคัญกับงานการบุกเบิกด้านปฏิรูปกฎหมายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการดูแล "ปกป้องคุ้มครองภัย" อีกด้วย

บทบาทของพระองค์ต่อลูกศิษย์ในลักษณะเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีลูกศิษย์ซึ่งเคารพเทิดทูนพระองค์มากถึงขนาดกล้าแสดงฤทธิ์เดช แม้กระทั่งกับพระมหากษัตริย์ก็ตาม ด้วยบทบาทกว้างขวางของพระองค์ต่อนักเรียนกฎหมาย เป็นผลให้ต่อมาการเทิดทูนพระองค์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา จึงปรากฏอยู่ในสถาบันตุลาการ อันเนื่องมาจากผู้ที่สอบไล่ได้จากโรงเรียนกฎหมาย จะทำงานเป็นผู้พิพากษาตามศาลทั้งในกรุงเทพและหัวเมือง หรือทำงานในกระทรวงยุติธรรม(26)

ความจงรักภักดีและการเทิดทูนพระองค์ไม่ได้เพียงปรากฏอยู่ในหมู่นักกฎหมายที่เป็นลูกศิษย์โดยตรงของพระองค์ หากยังขยายรวมไปถึงนักเรียนกฎหมายรุ่นต่อๆมา ที่ได้ศึกษาในโรงเรียนกฎหมายแม้จะไม่ได้ศึกษากับพระองค์โดยตรง อันเป็นผลจากการเคารพนับถือที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาผ่าน "เรื่องเล่า" (โดยเฉพาะกับตระกูลที่มีลูกหลานศึกษาวิชากฎหมายเฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ) ดังความเคารพของเจ้าพระยามหิธร(ลออ ไกรฤกษ์) ที่มีต่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ในการทำงานด้านต่างๆ เป็นผลให้บุตรของเจ้าพระยามหิธรเทิดทูนพระองค์ไปด้วย ทั้งๆ ที่ส่วนมากไม่เคยได้พบเห็นพระองค์ท่านเลย(27)

อย่างไรก็ตาม การเชิดชูความสำคัญของพระองค์ท่านก็คงจำกัดอยู่ในแวดวงของสถาบันตุลาการเท่านั้น ใน พ.ศ. 2497 เนติบัณฑิตยสภาได้จัดให้มีงานเพื่อรำลึกถึงพระองค์ "ในฐานะที่ทรงเป็นผู้มีพระคุณต่อศาลยุติธรรมและวงการนิติศาสตร์ของไทย" ทั้งนี้ "วงการนิติศาสตร์ไทยยกย่องว่าเป็นองค์ปฐมาจารย์ของนักนิติศาสตร์ไทยสืบไป" (28)

แต่ในปีถัดมาก็มิได้มีบทความกล่าวถึงพระองค์ในวารสารฉบับนี้อีกอย่างใด แม้กระทั่งวารสารประจำเดือนสิงหาคม ก็มิได้มีเนื้อหาถึงพระองค์แม้แต่น้อย(29) ปรากฏการณ์นี้ย่อมช่วยสะท้อนความสำคัญของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ในการรับรู้และการยกย่องของแวดวงนิติศาสตร์ในยุคดังกล่าวได้เป็นอย่างดีว่า มีความแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จนเกือบล่วงเข้าทศวรรษ 2500 ก็ยังไม่ปรากฏการกล่าวถึงพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่าเป็น "บิดาแห่งกฎหมายไทย" แต่ประการใด สถานที่จัดงานอาศัยเพียงชั้น 2 ของสโมสรเนติบัณฑิตยสภาสะท้อนได้ว่า วาทกรรมของพระองค์ยังไม่ได้แผ่ขยายออกครอบคลุมวงการนิติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวาง อนึ่งการจัดงาน ณ ที่นี้ได้ดำเนินสืบมา จนกระทั่งมีการสร้างพระรูปขึ้นที่หน้ากระทรวงยุติธรรมในภายหลัง


กำเนิดบิดาแห่งกฎหมายไทย

สถานะของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในทศวรรษ 2500 จากเดิมที่ก่อนหน้าการยอมรับความสำคัญของพระองค์ต่อการปฏิรูประบบกฎหมายจำกัดอยู่ในสถาบันตุลาการ ภายหลังจากนี้เป็นต้นไปการประกาศถึงสถานะของพระองค์ท่าน ได้ดำเนินไปโดยเข้าไปมีอิทธิพลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งเป็นการสร้างวาทกรรมของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ในทางสาธารณะให้บังเกิดขึ้น

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์และอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น

ดังเช่น กรณีวันธรรมศาสตร์สามัคคี ได้มีการจัดงานวันธรรมศาสตร์ขึ้นโดยยึดเอาวันที่ 10 ธันวาคม ด้วยการดำเนินงานของสมาคมธรรมศาสตร์ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยเหตุผลว่าเป็นวันที่รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแก่ปวงชนชาวไทย(30) และโยงความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแง่ที่ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย การเลือกเอาวันที่รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นที่หมายของวันธรรมศาสตร์ โดยละเลยเหตุการณ์อื่นที่อาจมีความใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยมากกว่า เช่น วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่นำโดยคณะราษฎร ย่อมสะท้อนว่า สมาคมธรรมศาสตร์เลือกจะนิยามความหมายของมหาวิทยาลัยเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้ว่าเมื่อพิจารณาถึงต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัย ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้กับสถาบันกษัตริย์น่าจะอยู่ในด้านที่ตรงกันข้ามกัน

อันที่จริงความพยายามในการโยงความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2493 ที่พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษาที่ มธก. ซึ่งสำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรกต่อมาในทศวรรษ 2500. "สถาบันพระมหากษัตริย์" กับ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ได้มีความสัมพันธ์อันดีเพิ่มมากขึ้น ประเพณีทรงดนตรีที่ได้เริ่มที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2502 ต่อมานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้าการทรงดนตรีเมื่อ พ.ศ. 2505 ที่เวทีลีลาศ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต และพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์เพลงยูงทองแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2507(31) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์

กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ดำเนินไปสอดคล้องกับบรรยากาศทางสังคมและการเมือง ที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับมามีสถานะในทางสังคม หลังจากตกต่ำลงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

และในช่วงระยะเวลานี้ได้มีการริเริ่มจัดงาน "วันรพี" ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2505(32) การจัดงานวันรพีขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ในขณะเดียวกันกับที่บทบาทของปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกมองข้าม ทั้งที่การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งไม่น่าจะมีความต่อเนื่องกับการศึกษากฎหมายในยุคของโรงเรียนกฎหมายภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยึดถือว่ากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน โดยกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือประการหนึ่งของกษัตริย์ในการจัดการปกครอง

ถึงแม้ดูราวกับว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่าง "พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์" กับ "การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" แต่เข้าใจว่า การสร้างและการตอกย้ำความสำคัญของพระองค์ท่านในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการนิติศาสตร์ของไทย เป็นผลจากข้าราชการตุลาการที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยในขณะนั้นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีระบบอาจารย์ประจำหรือมีก็น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคณะนิติศาสตร์ที่บทบาทของตุลาการจะมีอยู่สูงในฐานะอาจารย์พิเศษ(33)

หรือหากดูรายชื่อของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่มีการแยกออกเป็นคณะต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2517 ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายทั้งหมด ดังนี้

- พระยานิติศาสตร์ไพศาล(ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. 2492-2496) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2452

- พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์(ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2496-2503) สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2461, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์(ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2503-2511) สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2460

- สัญญา ธรรมศักดิ์ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2511-2514)สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2471

- จิตติ ติงศภัทิธ์ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2514-2517) สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2470

พร้อมกับการขยายตัวของพิธีกรรม "วันรพี" ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2507 ไว้ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม

ความจริงกระบวนการก่อสร้างนี้ได้เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2498 คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาได้ลงมติให้มีการสร้างพระรูป เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระเดชพระคุณและผลงานของพระองค์ท่านในราชการบ้านเมืองและการศึกษาวิชากฎหมาย(34) และสามารถทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ของพระองค์ได้เมื่อ 27 มกราคม 2507(35)

ภายหลังจากก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านสำเร็จ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่องานพิธีกรรม โดยได้เปลี่ยนมาจัดงาน ณ อนุสาวรีย์ของพระองค์ อันเป็นพื้นที่ที่เปิดมากขึ้น และสามารถทำให้เกิดการเข้าร่วมของกลุ่มที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิมซึ่งแต่ก่อนจะมีก็แต่สมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาเท่านั้น พร้อมกันนี้ได้มีการริเริ่มการวางพวงมาลาสักการะแก่พระองค์ท่านอีกรายการหนึ่ง(36) อันเป็นพิธีกรรมที่ไม่เคยได้มีการกระทำมาก่อนโดยทางเนติบัณฑิตยสภาได้เชิญข้าราชการ สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และบรรดาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย คือ กระทรวงยุติธรรม ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง สำนักอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 1 กรมอัยการ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(37) มาร่วมวางพวงมาลาและร่วมบำเพ็ญพระกุศล

งานที่ถูกจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ของพระองค์หน้ากระทรวงยุติธรรมเป็นพิธีกรรมที่มี "พลัง" มากกว่างานเดิมซึ่งจัดขึ้นอย่าง "จืดชืด" บริเวณชั้นบนของสโมสรเนติบัณฑิตยสภามาเป็นเวลา 10 ปี การสร้างอนุสาวรีย์ทำให้การสร้างประวัติศาสตร์ของใหม่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยเป็นมา(38) เห็นได้จากการเข้าร่วมของสถาบันด้านกฎหมายที่กว้างขวางมากขึ้น อันมีผลช่วยตอกย้ำความชอบธรรมของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ในฐานะ"บิดาของกฎหมายไทย"ให้หนักแน่นมากขึ้น

และนับจากนั้นเป็นต้นมาพิธีกรรม ณ อนุสาวรีย์ได้กลายเป็นพิธีอัน
"ศักดิ์สิทธิ์" ที่นักกฎหมายไม่อาจละเลยได้ และยังมีการอธิบายว่า การศึกษากฎหมายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งหมดไม่ว่าที่ดำเนินการโดยทางภาครัฐหรือเอกชน ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมายทั้งสิ้น ทั้งนี้

"แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยเป็นโรงเรียนหลวงขั้นอุดมศึกษา เป็นสภานิติศึกษาเป็นคณะนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น มธก. เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยาลัยศรีปทุม หรือเป็นสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาก็ดี เนื้อแท้ของสิ่งเหล่านี้ก็คือวิญญาณของโรงเรียนกฎหมายเดิมที่พระบิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงประทานกำเนิดไว้"(39)

คำอธิบายข้างต้นเกิดขึ้นในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือบทบัณฑิตย์ เดือนสิงหาคม 2512 คำอธิบายดังกล่าว ปรากฏขึ้นในบริบทที่วาทกรรมของบิดาแห่งกฎหมายไทยเริ่มสถาปนาอิทธิพลความเชื่อต่อบรรดาแวดวงนักนิติศาสตร์ทั้งหลาย หากย้อนหลังไปใน พ.ศ.2477 คำอธิบายในลักษณะนี้ไม่น่าจะบังเกิดขึ้นได้ เฉพาะเพียงการสร้างโครงเรื่องว่า มธก. มีที่มาจาก "วิญญาณของโรงเรียนกฎหมาย" ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงรากฐานและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งที่ห่างไกลกันอย่างมาก

ความทรงจำที่อ้างอิงว่า มธ. มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงเรียนกฎหมาย เป็นผลให้ความแตกต่างของสถาบันทั้งสองถูกอธิบายภายใต้โครงเรื่องชุดใหม่ที่สามารถโยงเอาความไม่ต่อเนื่องเข้าด้วยกันได้ นี่เป็นผลกระทบสำคัญประการหนึ่งต่อการจดจำและลืมเลือน อันเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของอุดมการณ์บิดาแห่งกฎหมายไทย


อำนาจของความทรงจำ

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์มีบทบาทต่อการปฏิรูปกฎหมายในสังคมไทยอย่างสำคัญและโดยไม่ต้องสงสัย แต่การให้ความหมายต่อพระองค์ในฐานะของบิดาแห่งกฎหมายไทย ไม่ใช่สิ่งที่บังเกิดขึ้นและดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในระดับเดียวกันนับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2463

การยกย่องพระองค์ในฐานะของ "บิดาแห่งกฎหมายไทย" เป็นวาทกรรมที่ผันแปรไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่ง ท่ามกลางกระบวนการสร้างความหมายให้แก่พระองค์ได้มีการลดทอนความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์หลายอย่าง พร้อมกันก็ได้มีการเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับบทบาทของพระองค์ให้โดดเด่นขึ้นมา ภายใต้การเชิดชูบทบาทของพระองค์เป็นผลให้ภาพของพระองค์ขยายออกกว้างขวางในการปฏิรูปกฎหมายไทย แม้ว่าบทบาทบางด้านของพระองค์อาจมีส่วนอยู่ไม่มาก แต่ก็ถูกอธิบายและความสำคัญเสมือนหนึ่งว่าเป็นงานที่พระองค์มีบทบาทหลัก ดังเช่น การร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย ที่มักมีงานเขียนอธิบายสืบทอดติดต่อกันมาว่า เป็นหนึ่งในพระกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์

แต่การให้น้ำหนักและการมองข้ามข้อเท็จจริงบางเรื่อง ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หลุดพ้นไปจากบริบทในทางสังคม โดยเฉพาะกับความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองที่สัมพันธ์กับอุดมการณ์ ความเชื่อของแต่ละยุคสมัย. ฐานะของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ในแวดวงนิติศาสตร์อย่างเป็นสาธารณะยังไม่ปรากฏแจ่มชัดจวบจนกระทั่งทศวรรษ 2500. ก่อนหน้านั้น การเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยเป็นผลให้อุดมการณ์ภายใต้การเมืองแบบเก่าไม่อาจแสดงตัวออกมาได้

การรื้อฟื้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในช่วงกึ่งพุทธกาล มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ที่เปิดโอกาสให้มีการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านต่างๆ การเกิดขึ้นของบิดาแห่งกฎหมายไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนี้ อันเป็นผลจากการเกาะกลุ่มและการขยายบทบาทของบุคคลที่เคยมีประสบการณ์ การรับรู้ การกล่อมเกลา ในระนาบเดียวกัน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางในสถาบันทางกฎหมายของไทยในต่อมาภายหลัง

ความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นโดยยกย่องบทบาทของชนชั้นนำในฐานะเป็นผู้วางรากฐานความรู้ในทางด้านกฎหมายหรือด้านอื่นๆ ไม่เพียงบิดาแห่งกฎหมายไทยเท่านั้น หากยังรวมไปถึงความรู้ในด้านอื่น เช่น บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย บิดาแห่งการแพทย์ไทย บิดาแห่งการรถไฟไทย ฯลฯ นับได้ว่าเป็นการปรับตัวของสถาบันดั้งเดิมในสังคมไทยที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน ทำให้สถาบันยังคงบทบาทและความสำคัญอยู่ได้อย่างมีความหมาย หลังจากที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเมื่อ พ.ศ. 2475 และทำให้สถาบันต้องเผชิญกับบริบททางสังคมแบบใหม่ที่มีการให้คุณค่าและความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม

การเกิดขึ้นและความสืบเนื่องของ "บิดาแห่งกฎหมายไทย" จึงไม่ใช่เรื่องที่ตรงไปตรงมาในประวัติศาสตร์ การเลือกจดจำและลืมเลือนข้อเท็จจริงบางประเด็น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับองค์กรหรือสถาบัน จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่มาโดยตลอด


สมชาย ปรีชาศิลปกุล


อ้างอิง

[1 บัญญัติ สุชีวะ, คำขวัญประธานศาลฎีกา, รพี 27, หน้า 6]

[2 พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์, การปฏิรูปกฎหมายไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2411 จนถึง พ.ศ. 2478, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2517, หน้า 82. ]

[3 100 ปีโรงเรียนกฎหมาย, หนังสือที่ระลึก 100 ปีโรงเรียนกฎหมาย (มปป.) หน้า 79.]

[4 กำธร เลี้ยงสัจธรรม, "อนุสรณสำคัญของนักกฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์", ในรพี 27 (ไม่ปรากฏสถานที่และปีที่พิมพ์) หน้า 21. อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้คงตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2527 เนื่องจากจารีตของการตั้งชื่อหนังสือประกอบงานวันรพี จะติดตามด้วยตัวเลขซึ่งเป็นปีที่จัดงานนั้น เช่น รพี 43 ก็หมายถึงหนังสืองานวันรพีที่จัดในปี 2543]

[5 พัชริน เปี่ยมสมบูรณ์, อ้างแล้ว, หน้า 66.]

[6 จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, เรื่องของเจ้าพระยามหิธร (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร ณ วัดเทพศิรินทราวาส 15 พฤศจิกายน 2499) หน้า 71.]

[7 วาสิณี ฝักใฝ่พวก, "พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระบิดาของนักกฎหมายไทย", รพี'29 คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 8.]

[8 พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย, รพี'43 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (โรงพิมพ์เดือนตุลา) หน้า 13.]

[9 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ร 5 ย 23/3 ความเห็นกรมพระยาดำรงราชานุภาพในการทำโค๊ตสำหรับเมืองไทย]

[10 พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์, อ้างแล้ว, หน้า 69.]

[11 ธาวิต สุขพานิช,"หัวใจไม่มีส่วนเกิน:ประวัติศาสตร์ผัวเมีย",บานไม่รู้โรย ปีที่4 ฉบับที่5 ( มิถุนายน.2531 )]

[12 อ้างใน กำธร เลี้ยงสัจธรรม, อ้างแล้ว, หน้า 23.]

[13 เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, "การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์", ใน 100 ปี โรงเรียนกฎหมาย, อ้างแล้ว, หน้า 138.]

[14 ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะ, สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2535) หน้า 38. ส่วนอีก 3 โรงเรียนที่ถูกจัดตั้งในช่วงเวลาของการปฏิรูปการปกครอง คือ โรงเรียนนายร้อยทหารบก (พ.ศ. 2430) โรงเรียนนายเรือ (พ.ศ.2438) โรงเรียนมหาดเล็ก (พ.ศ. 2442)]

[15 กำธร เลี้ยงสัจธรรม, อ้างแล้ว, หน้า 15.]

[16 จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, อ้างแล้ว, หน้า 74.]

[17 สุขสันต์ จิรจริยาเวช บรรณาธิการ. 7 รอบ อาจารย์สัญญา:หนังสือที่ระลึกครบรอบ 84 ปี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์(มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534) หน้า 83.]

[18 จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, อ้างแล้ว,หน้า 74.]

[19 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2452 โดยพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ไม่พอใจที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ทรงแต่งละครเรื่อง ปักษีปกรฌัมเพื่อกระทบกระเทียบที่ภักตร์ หม่อมของกรมพระนราธิปฯ ขอหย่าจากพระองค์และได้มาหาที่พึ่งทางสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ส่งเรื่องต่อให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ โดยในบทละครกรมพระนราธิปฯ เปรียบตนเองเป็นพญาระกา และมีแม่ไก่ญี่ปุ่นที่เลี้ยงไม่เชื่องต่อมาได้ตีจากไปอยู่กับพญานกเค้าแมว ซึ่งต้องการให้หมายถึงพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์]

[20 พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์, อ้างแล้ว, หน้า 133.]

[21 ทวี กสิยพงศ์, "โรงเรียนกฎหมายของกรมหลวงราชบุรี", บทบัณฑิตย์ เล่ม 26 ตอน 3 (สิงหาคม 2512) หน้า 433.]

[22 เพิ่งอ้าง.]

[23 เสริมศักดิ์ เทพาคำและคณะ, "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย สัมภาษณ์เจ้าพระยามานวเสวี", ใน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, วันรพี 2513, หน้า 9.]

[24 จักรปราณีศรีศีลวิสุทธิ์, อ้างแล้ว, หน้า 52-53.]

[25 พัฒนศักดิ์, "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย", บทบัณฑิตย์ เล่ม 25 ตอน 3 สิงหาคม 2511, หน้า 512.]

[26 พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์, อ้างแล้ว, หน้า 87.]

[27 จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, อ้างแล้ว, หน้า 74.]

[28 วันรพี, ดุลพาห ปีที่ 1 เล่ม 5(สิงหาคม 2497) หน้า 80.]

[29 ดุลพาห, ปีที่ 2 เล่ม 8 (สิงหาคม 2498)]

[30 หนังสือวันธรรมศาสตร์ 2507, หน้า 13.]

[31 ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 322.]

[32 ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 319.]

[33 สัมภาษณ์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, สารคดี ฉบับพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์กรุงเทพ) หน้า 184-185.]

[34 คำกราบบังคมทูลของนายกเนติบัณฑิตยสภา อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปิดอนุสาวรีย์พระรูป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ วันที่ 27 มกราคม 2507, บทบัณฑิตย์ เล่ม 21 ตอน 4 (ตุลาคม 2506) หน้า 855.]

[35 คำกราบบังคมทูลของนายกเนติบัณฑิตยสภาอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปิดอนุสาวรีย์พระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, บทบัณฑิตย์ เล่ม 21 ตอน 4

[36 งานทักษิณานุสรณ์ถวายพระกุศล แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งเนติบัณฑิตจัดให้มีขึ้นเป็นปีที่ 11 ตรงกับวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2507, บทบัณฑิตย์ เล่ม 22 (2507) หน้า 16.]

[37 เพิ่งอ้าง, หน้า 17.]

[38 นิธิ เอียวศรีวงศ์, "สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย", ใน ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน, 2538) หน้า 124.]

[39 ทวี กสิยพงศ์,อ้างแล้ว,น.433]


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : พระองค์เจ้ารพีฯเป็นบิดาแห่งกฎหมายไทยจริงหรือ ?

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: