วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

"ความชอบด้วยระบอบ" : วิวาทะว่าด้วยอำนาจของ "รัฏฐาธิปัตย์" ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (๒๔๗๕-๒๕๐๐)


"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น

เป็นของราษฎรทั้งหลาย"

(มาตรา ๑, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง
แผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) ๒๔๗๕)



การหายไปของ "คำถาม"
ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

หากเริ่มต้นที่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมีรัฐธรรมนูญเป็น "สัญญาประชาคม" หรือข้อตกลงรากฐานเบื้องแรกในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับรัฐธรรมนูญตั้งแต่ ๒๔๗๕-๙๕ จำนวน ๖ ฉบับที่ผ่านไป หาได้เป็นเพียงการเปลี่ยนในทางจำนวนเท่านั้น แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับประมุขของรัฐที่เพิ่มจำนวนมาตรามากขึ้นตามลำดับ

คำถามจึงมีว่าเกิดอะไรขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐภายใต้ระบอบการเมืองในช่วง ๒๕ ปีแรกหลังการปฏิวัติและรวมถึงมีผลอย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงของเจตจำนงปฐมบทของการปฏิวัติที่บัญญัติว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"

โดยทั่วไปแล้วงานศึกษารัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองที่ผ่านมาของไทยส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญแต่เพียงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเท่านั้น แต่มิได้พิจารณาความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องกันต่อ ทำให้ความเข้าใจพัฒนาการของสาระสำคัญขาดเป็นห้วงๆ ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น การศึกษาที่มุ่งเน้นความต่อเนื่องจะทำให้ภาพที่ฉายออกมานั้นมีความยาวนานเพียงพออันทำให้เห็นถึงขั้นตอนและวิธีการในเชิงความเป็นมาได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับมีมาตราที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แต่กลับยังไม่มีการศึกษาบทบัญญัติหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทยเชิงประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการให้เหตุผลทางกฎหมายถึงประเด็นดังกล่าวในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แพร่หลายอยู่จำนวนมาก (๒๔๗๕-๒๕๐๐) ตลอดจนการพินิจถึงสาระของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่มีผลกระทบต่อเจตจำนงปฐมบท อันอาจทำให้เข้าใจความย้อนแย้ง (irony) ที่เกิดขึ้นกับความรู้ความเข้าใจทางการเมืองของประชาชนและระบอบการเมืองในสมัยต่อมาได้

กล่าวอย่างกระชับแล้ว ภาวะความขัดแย้งหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ มิได้มีแต่เพียงการต่อสู้กันภายในสถาบันการเมืองเท่านั้น แต่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์นั้นได้เปิด "สนามรบ" ให้กับเหล่าปัญญาชนนักกฎหมายร่วมนิยามและให้ความหมายต่อสภาพการณ์การเมืองในระบอบใหม่ที่ควรจะเป็นผ่านตำราคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อถกเถียงเรื่องขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์หลังการปฏิวัติ โดยการโต้แย้งระหว่างนักกฎหมายทั้ง ๒ สำนักนั้นหาได้สิ้นสุดแต่เพียงในตำราเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความตั้งใจของพวกเขาที่จะ "พูด" ถึงหลักการทางการเมืองต่อสังคมการเมืองในวงกว้างด้วย

ในที่นี้ ขอแยกสำนักคิดทางกฎหมายสำคัญออกเป็น ๒ สำนัก คือ "สำนักจารีตประเพณี" (Traditionalism) ประกอบขึ้นจากชนชั้นนำทางจารีตและปัญญาชนนักกฎหมายที่จบจากอังกฤษเป็นส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดเจ้านาย สำนักนี้เชื่อว่า สถาบันกษัตริย์มีฐานะสมบูรณ์และมีความเป็นสถาบันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่สะท้อนถึง "ความสมบูรณ์" ที่ต่อเนื่องนั้นมีลักษณะเช่นใด นอกจาก "เรื่องเล่า" ที่ไม่สามารถให้รายละเอียดของความต่อเนื่องได้มากกว่าความเชื่อ กับ "สำนักรัฐธรรมนูญนิยม" (Constitutionalism) ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากภาคพื้นทวีปยุโรปและส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ทั้ง ๒ สำนักนี้ได้ทิ้งร่องรอยของคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยวางหลักการและการกล่าวข้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางอำนาจของพระมหากษัตริย์หลังการปฏิวัติ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ สำนักแรกเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีพระราชสถานะและอำนาจมาแต่โบราณและดำรงอยู่เหนือบริบท ในขณะที่สำนักหลังซึ่งเน้นการจำกัดอำนาจรัฐ การแบ่งแยกอำนาจและการสร้างกลไกการตรวจสอบอำนาจทุกสถาบันทางการเมืองนั้นได้ให้คำอธิบายที่สามารถมองเห็นขั้นตอนวิธีการในการปรับตัวของสถาบัน ในบริบทที่สามารถพิจารณาความเปลี่ยนแปลงผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ได้

ดังนั้น การพิจารณาการสร้างคำอธิบาย เหตุผลของการโต้แย้ง การวางหลักของทั้ง ๒ สำนักทำให้เข้าใจถึงเหตุผลที่แต่ละฝ่ายให้กับความชอบธรรมและขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย

การศึกษานี้มุ่งพิจารณาพัฒนาการของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตั้งแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไข พุทธศักราช ๒๔๙๕ ในหมวดพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิธีการอธิบายและการให้เหตุผลทางกฎหมายในตำราคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาดังกล่าว

สำหรับวิธีการศึกษาใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์กับแนวการศึกษากฎหมายและสถาบันการเมืองตามแนวทางรัฐธรรมนูญศึกษา (Constitutional Studies) ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ อันมีความยืดหยุ่นกว่าแนวกฎหมายและสถาบันที่มุ่งแต่ตัวบทกฎหมาย แนวทางใหม่นี้เปิดโอกาสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นทั้งมุ่งวิเคราะห์พฤติกรรมของสถาบันการเมืองที่มีเป้าประสงค์ในการแสวงหาความอยู่รอดไม่ว่าการนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม รวมทั้งการกำหนดลักษณะของตัวสถาบัน อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการตีความปรากฏการณ์ทางการเมืองควบคู่ไปกับตัวบทกฎหมาย ตลอดจนการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อนัยทั่วไปและแนวโน้มของพัฒนาการรัฐธรรมนูญ โดยมีฐานคติว่ารัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอหรือผลรวมของผลประโยชน์ทางการเมืองที่ถูกผลักออกมาจากองค์กร กลุ่มการเมือง หรือแม้กระทั่งปัจเจกชน นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถเข้าใจเหตุผลหรือการตีความที่อยู่รายล้อมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่แห้งแล้งให้กลับมามีชีวิตชีวาได้มากขึ้น

ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การศึกษา ควรกล่าวด้วยว่าการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้แนวความคิดของนิติปรัชญาทางเลือก ซึ่งเห็นว่า กฎหมายมิใช่สิ่งที่ปลอดจากคุณค่า หรือมีความเป็นกลาง แต่ "กฎหมาย คือ การเมือง" ซึ่งในตัวมันเองไม่มีความเป็นกลาง นั่นหมายความว่า กฎหมายไม่สามารถอยู่เหนือการเมืองและการต่อสู้ทางสังคม เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายรากฐานของการกำหนดระบอบการเมือง การจัดที่มาและความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันทางการเมืองอันเป็นผลผลิตของการขับเคี่ยวทางความคิดและการต่อสู้ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญย่อมหนีไม่พ้นไปจากข้อเสนอที่ว่า กฎหมายคือการเมือง ไม่เพียงแต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเท่าที่กำหนดและจัดความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ เท่านั้น ทว่า สิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงบทบัญญัติเหล่านั้นให้มีชีวิต คือ การให้เหตุผลในทางกฎหมายหรือคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น การให้เหตุผลหรือให้คำอธิบายต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของเหล่านักกฎหมายทั้ง ๒ สำนักย่อมมีผลต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองเก่าและใหม่ในขณะนั้นและต่อมาในภายหลัง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืน เหตุผลและอุดมการณ์ทางการเมืองของเหล่านักกฎหมายเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัญหาที่น่าสนใจคือบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปมีความสัมพันธ์เพียงใดกับการดำรงอยู่และการสูญหายไปของคำอธิบายจาก ๒ สำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแพร่หลายของคำอธิบายจากสำนักรัฐธรรมนูญนิยมที่เคยวางหลักการเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่น่าสนใจหลายประการ ได้เลือนหายไปจากการรับรู้ของปัญญาชนนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์รุ่นต่อๆ มา หรือคำอธิบายประเภทนี้ไม่สามารถ "ส่งเสียง" หรือตั้งคำถามในคำอธิบายรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้? กล่าวอีกอย่างคือ คำอธิบายจากสำนักรัฐธรรมนูญนิยมเหล่านั้น "สิ้นเสียง" ลงพร้อมๆ กับการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มคณะราษฎรและนักกฎหมาย "คณะราษฎร" ไปสู่การเถลิงอำนาจใหม่ของกลุ่มเผด็จการอำนาจนิยมอนุรักษ์และนักกฎหมาย "รอยัลลิสต์" อย่างเด็ดขาดตั้งแต่หลัง ๒๕๐๐ เป็นต้นไป นับแต่นั้นเป็นต้นมา "ความเงียบ" ก็ได้เข้าครอบคลุมคำอธิบายของสำนักรัฐธรรมนูญนิยมอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ที่เร่ง "เสียง" ของคำอธิบายที่มุ่งรื้อสร้างความหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ให้สิ้นความหมายโดยพวก "รอยัลลิสต์" ยังคงดังกึกก้องต่อไป เพื่อการวางรากฐานคติและการผนึกอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญด้วยความยึดมั่นแต่เพียง "ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" แต่มิได้ตั้งคำถามถึง "ความชอบด้วยระบอบ" ตามหลักการปกครองสากลอีกต่อไป


การก่อตัวของคำอธิบายว่าด้วย
"ความชอบธรรม" ของรัฏฐาธิปัตย์ไทย

ในส่วนแรกที่จะกล่าวถึงเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของปัญญาชนสำนักจารีตประเพณีซึ่งอธิบายว่า ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความชอบธรรมที่สุด มีความเป็นมาอย่างยาวนานและเป็นแหล่งสะสมความรู้ทางวัฒนธรรม พระมหากษัตริย์จึงเปรียบได้กับ "ศีรษะ" ของบ้านเมือง โดยที่มาของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เดิม พัฒนามาจากระบบพ่อปกครองลูก บางช่วงได้รับอิทธิพลจากเขมรจึงเน้นเทวราชา แต่เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์อันย่างเข้าสู่ยุคใหม่ ท่านเหล่านั้นได้ให้คำอธิบายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ปรับตัวไปตามแนวคิดทางพุทธศาสนา คือ แนวคิด "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ที่เน้นว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงขึ้นครองราชย์โดยความเห็นชอบของชุมชนทางการเมือง พระองค์ทรงอยู่เหนืออาณาประชาราษฎรเพียงคนเดียว ในขณะที่คนอื่นๆ ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกันหมด หากจะมีการแบ่งชั้นในสังคมเป็นเพียงการแบ่งงานกันทำ และสามารถแบ่งกลุ่มได้เพียงกลุ่มที่จงรักภักดีกับไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ความเคลื่อนไหวทางปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกลุ่มของพระองค์ ได้ผลักดันและสร้างสรรค์แนวคิด "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ขึ้นอย่างจริงจังในการอธิบายพระราชสถานะของพระองค์ว่า ทรงได้ขึ้นครองราชย์โดยมติความเห็นชอบของชุมชนทางการเมือง โดยทรงอธิบายด้วยการเน้นคติทางพุทธศาสนาและแนวทางธรรมราชาขึ้นอย่างโดดเด่น อำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจที่ผูกพันอยู่กับผู้คนในสังคมการเมืองและนับเนื่องจากพระมหากษัตริย์จนถึงประชาชนทั่วไปต่างมีหน้าที่ที่พึงปฏิบัติในสังคมการเมืองร่วมกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าและสงบสุขของชุมชนทางการเมือง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงสืบต่อและพัฒนาคำอธิบายดังกล่าว โดยทรงมีคำวินิจฉัยว่า ลักษณะการเมืองการปกครองของไทยมีลักษณะเป็นสถาบัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอาอย่างธรรมเนียมของคนในยุโรปหรืออื่นใด

ในขณะที่ สำนักรัฐธรรมนูญนิยมเป็นความคิดจากตะวันตก ความคิดรากฐานก่อตัวขึ้นมาจากแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองกลุ่มทฤษฎี "สัญญาประชาคม" (social contract) ที่เห็นว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น การใช้อำนาจของรัฐต้องถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการจำกัดอำนาจของรัฐด้วยกฎหมาย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนและเพื่อกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดองค์กรของรัฐ๕ ความคิดนี้เฟื่องฟูอยู่ในกลุ่มนักกฎหมายที่สำเร็จจากภาคพื้นทวีปยุโรป

เค้าความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมที่กล่าวถึงรูปแบบของรัฐนี้พบต้นเค้าได้จากคำอธิบายกฎหมายปกครอง (๒๔๗๔) ของหลวงประดิษฐมนูธรรม นักกฎหมายคนสำคัญที่ต่อมาเป็นแกนนำในคณะราษฎรในการทำการปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยได้อธิบายรัฐบาลตามความหมายอย่างกว้างว่า

"รัฐบาลคือบุคคลหรือคณบุคคล ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประเทศทั้งสามชะนิด คืออำนาจนีติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ตามแนวความหมายอย่างกว้างนี้ เราอาจแนกรัฐบาลออกเป็น ๔ ชนิด ๑ รัฐบาลซึ่งราษฎรได้ใช้อำนาจสูงสุดนั้นเองโดยตรง ๒ รัฐบาลซึ่งได้ใช้อำนาจสูงสุดนั้น โดยมีผู้แทนอันเพิกถอนไม่ได้จนกว่าพ้นระยะเวลาที่ได้แต่งตั้งไว้ ๓ รัฐบาลซึ่งได้ใช้อำนาจสูงสุดนั้น โดยมีผู้แทนอันเพิกถอนได้ตามความพอใจ ๔ รัฐบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอำนาจเต็มในการที่จะใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ"

สำหรับตามความหมายอย่างแคบนั้น หลวงประดิษฐฯ ได้อธิบายว่า รัฐบาลแบ่งได้เป็นรัฐบาลราชาธิปไตยและประชาธิปไตย โดยแบ่งจากบุคคลผู้เป็นหัวหน้าอำนาจบริหารว่าเป็นของพระมหากษัตริย์หรือบุคคลธรรมดา ทั้งนี้ รัฐบาลราชาธิปไตยนั้นแบ่งได้เป็น ๕ ชนิด คือ


"๑. รัฐบาลประชาธิปตัยอำนาจไม่จำกัด (Monarchie absolute) คือพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทำการใดๆ โดยไม่จำกัด และใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง เช่น ประเทศสยาม

๒. รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัด (Monarchie limitee) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการแผ่นดินนอกจากอำนาจในการพิธีและลงพระนาม และยอมให้อ้างพระนามในกิจการต่างๆ แต่พระองค์มิได้ใช้อำนาจด้วยตนเอง อำนาจทั้งหลายในการบริหารตกอยู่ในนามคณเสนาบดี เช่นในประเทศอังกฤษ เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ได้นี้เอง จึ่งมีสุภาษิตอังกฤษอยู่ว่า King can do no wrong พระเจ้าแผ่นดินไม่อาจกระทำผิด ถ้าจะพูดกลับอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ได้ ก็ทำผิดไม่ได้อยู่เอง

๓. รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัดเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน แต่อัครมหาเสนาบดีมีอำนาจเกือบเต็มที่ในทางบริหาร เว้นไว้แต่ในบางกรณีย์ต้องได้รับปรึกษาจากสภาการแผ่นดิน...

๔. รัฐบาลราชาธิปตัยซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจร่วมกับอัครมหาเสนาบดีซึ่งเป็นคณทหารเช่นสเปญ...

๕. รัฐบาลราชาธิปตัยมีอำนาจจำกัดเล็กน้อย คือกิจการบางชนิดต้องปรึกษาคณเสนาบดี แต่ไม่ต้องปรึกษาสภาเลยก็ได้..."


คำอธิบายรูปแบบของรัฐ การแบ่งแยกอำนาจและการจำกัดอำนาจรัฐในวิชาการกฎหมายปกครองที่ถูกสอนเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ได้เปิดโลกทรรศน์และตอบสนองความตื่นตัวทางการเมืองให้กับเหล่านักเรียนในขณะนั้นมาก และนักเรียนส่วนหนึ่งได้ให้การสนับสนุนและเข้าร่วมกับการปฏิวัติในเวลาต่อมา


บริบทของการวางหลักการ :
ความสืบเนื่องและความแตกหักของโลกทรรศน์
หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕

เมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แล้ว สำนักจารีตประเพณีพยายามสร้างคำอธิบายที่ให้ความต่อเนื่องกับจารีตในอดีต แต่สำนักรัฐธรรมนูญนิยมที่ปรากฏชัดขึ้นหลังการปฏิวัติได้ปฏิเสธคำอธิบายแบบจารีตประเพณีและสร้างคำอธิบายที่แตกหักกับสำนักจารีตประเพณี โดยทั้งสองฝ่ายได้ขับเคี่ยวกันในการให้คำอธิบายความจำเป็นของการปฏิวัติ, ที่มาแห่งอำนาจอธิปไตยและอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ ดังนี้

นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีนี้ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายที่สำเร็จเนติบัณฑิตหรือบัณฑิตทางกฎหมายจากอังกฤษที่เน้นการใช้กฎหมายจารีตประเพณีโดยได้อ้างอิงหลักการรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีแบบอังกฤษ คือ หลักการแบ่งอำนาจเป็นความเข้าใจและร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยไม่มีการตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะยึดถือธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติต่อๆ กันมา เน้นขนบประเพณีและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ และพยายามอ้างอิงอำนาจพระมหากษัตริย์ไทยเข้ากับพระมหากษัตริย์อังกฤษ นอกจากที่เรียนจากอังกฤษแล้วยังมีนักกฎหมายส่วนหนึ่งในสำนักนี้ที่สำเร็จจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม

โลกทรรศน์และวิธีการอธิบายสถาบันทางการเมืองนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีที่มักเน้นอธิบาย "จารีต" อำนาจทางการเมืองไทยให้อิงเข้ากับจารีตอำนาจของอังกฤษ หรือการยอมรับแต่เพียงผลลัพธ์ แต่กลับปฏิเสธสาเหตุ หรือประสบการณ์ของประวัติศาสตร์การเมืองแบบอังกฤษที่เกิดขึ้น โดยดึงหลักการเพียงบางส่วนเข้ามาและผสมผสานกับความเชื่อเดิมเพื่อวางแบบแผนในการร่างรัฐธรรมนูญและการให้คำอธิบายมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญของไทยในเวลาต่อมา

ปัญญาชนนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงในตำแหน่งตุลาการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีความใกล้ชิดกับเจ้านายและพระมหากษัตริย์ เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี๑๐ พระยาปรีดานฤเบศร์๑๑ พระยามานวราชเสวี๑๒ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์๑๓ และหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ๑๔ ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับสำนักรัฐธรรมนูญนิยมเป็นกลุ่มนักกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะราษฎรและเป็นนักกฎหมายสายฝรั่งเศสและเยอรมนี กลุ่มนี้ใช้ความคิดรัฐธรรมนูญนิยมเป็นแนวความคิดที่มุ่งจัดการปกครองที่รัฐบาลที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญและจะต้องบริหารงานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น๑๕ โดยมีแนวความคิดมุ่งในการจำกัดอำนาจของรัฐโดยกฎหมายเป็นหลัก เป็นการใช้อำนาจที่ตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์ของผู้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ กล่าวโดยสรุปแล้ว แนวคิดนี้เชื่อมั่นในความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจ และทฤษฎีสัญญาประชาคม๑๖ แนวความคิดที่มุ่งจำกัดอำนาจรัฐโดยการใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรนี้ พบในสหรัฐและประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษร

ปัญญาชนนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมของไทยเป็นนักกฎหมายที่จบจากภาคพื้นยุโรป ประกอบขึ้นจาก ข้าราชการระดับกลางและล่าง ซึ่งทำงานในกรมร่างกฎหมายหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาชิกในคณะราษฎร ครูในโรงเรียนกฎหมายและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่ปัญญาชนกลุ่มนี้เป็นนักกฎหมายสายฝรั่งเศส เช่น หลวงประดิษฐมนูธรรม (ดร. ปรีดี พนมยงค์) หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (ดร. สมโพธิ์ อัศวนนท์) ดร. เดือน บุนนาค๑๗ บางคนสำเร็จจากในประเทศแต่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ บ้างก็มีความเกี่ยวกับคณะราษฎร เช่น ดิเรก ชัยนาม๑๘ สงวน ตุลารักษ์๑๙ ไพโรจน์ ชัยนาม ๒๐ ส่วนบางคนเป็นนักกฎหมายสำนักเยอรมนี เช่น ดร. หยุด แสงอุทัย๒๑ นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มข้าราชการมหาดไทยที่สนับสนุนการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนิยม เช่น พระยาสุนทรพิพิธ พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทศ พระทิพยเบญญา และถนอม วิบูลย์มงคล เป็นต้น

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า คำเรียกขานการปกครอง "ระบอบเก่า" ในคำอธิบายรัฐธรรมนูญนั้น มีการใช้หลายคำด้วยกัน เช่น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ทรงเรียกกษัตริย์ที่อ้างอำนาจจากสวรรค์ว่า "เทพวตาล"๒๒ ไพโรจน์ ชัยนาม เรียก "เทพาธิปไตย"๒๓ ส่วน ดิเรก ชัยนาม เรียก
"กษัตริยาธิปไตย"๒๔ เป็นต้น


ความจำเป็นของการปฏิวัติ ๒๔๗๕
และองค์กรเก่าในระบอบการเมืองใหม่

หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ สำนักจารีตประเพณีอธิบายถึงสถานะของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในแง่ลบว่าเป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" โดยหลวงจักรปาณีฯ ได้อธิบายสภาพการเมืองในระบอบเก่าอย่างมีเงื่อนไขโดย ยอมรับว่า แม้องค์กรทางการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น อภิรัฐมนตรีสภาและสภาองคมนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตั้งขึ้นก่อนการปฏิวัตินั้นไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่เขาก็เห็นว่า "ย่อมเป็นที่เห็นกันอยู่ทั่วไปว่า ราษฎรสามัญไม่ใคร่มีหวังในสภาทั้ง ๒ นี้เท่าใดนัก เพราะอภิรัฐมนตรีแต่ละคนล้วนเป็นคนชั้นสูง ซึ่งตามปกติย่อมมีความเห็นแตกต่างกับราษฎรสามัญอันมากและไม่มีทางที่จะเข้าใจสภาพความต้องการของพลเมืองส่วนมากได้ ส่วนองคมนตรีก็ไม่ได้ใคร่ประชุมกัน"๒๕ จวบกระทั่งเกิดการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขึ้น และคณะราษฎรขอให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง สุดท้าย เขาอธิบายยืนยันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของคณะราษฎรเป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" เพราะ "พระองค์เองก็ทรงคิดที่จะทำการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว"๒๖

ในขณะที่สำนักรัฐธรรมนูญนิยมมองการปฏิวัติในแง่บวก และเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และมีความจำเป็นในการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ได้อธิบายสภาพการปกครองในระบอบเก่าว่า "ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ราษฎรทั้งหลายไม่มีส่วนในการปกครองประเทศเลย เพราะอำนาจสูงสุด เป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น"๒๗ ส่วนเดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม ได้สะท้อนความรู้สึกว่า "เมื่อตกมาถึงปัจจุบันนี้ [หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕] ก็มีความรู้สึกอยู่ทั่วไปว่า [ระบอบเก่า] เป็นการล้าหลังพ้นสมัย...ประเทศสยามได้เป็นรัฐสุดท้ายในโลกซึ่งมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหลืออยู่จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕"๒๘

สำหรับคำอธิบายสถานะของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ หลวงประเจิดฯ อธิบายว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนว่า "ครั้นมาเมื่อสมัยประเทศมีการปกครองเปลี่ยนแปลงอย่างประเทศสยาม อำนาจอธิปไตยได้หลุดจากมือประมุขของประเทศ คือ พระมหากษัตริย์ไปอยู่ในอำนาจของพลเมืองทั้งหลาย ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของเราเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ มาตรา ๑ บัญญัติไว้ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย"๒๙ ข้อความของหลวงประเจิดฯ นี้ย่อมสามารถสะท้อนแนวความคิดหลักของนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่ หลวงจักรปาณีฯ จากสำนักจารีตประเพณี เห็นว่าแม้ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) จะจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์เกือบหมดสิ้นแล้ว แต่เขาเห็นว่าพระองค์ยังทรงคุณแก่บ้านเมืองได้ เพราะราษฎรยังคุ้นเคยกับการปกครองกับราชาธิปไตยมากกว่าแบบอื่น ดังนั้นหากพระมหากษัตริย์ยังคงเสวยราชย์ รัฐบาลจะได้รับความเชื่อถือจากราษฎร ทรงมีความสามารถในการให้คำแนะนำ เตือนสติรัฐบาลและให้ความเห็นทางกฎหมายได้ อย่างไรก็ตามการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์นั้น เขาเห็นว่า ไม่มีข้อเสีย เนื่องจาก "เพราะต่อไปนี้กษัตริย์ที่ไม่ฉลาดหรือไม่สามารถก็ไม่มีอำนาจทำการบ้านเมืองให้เสียได้ ส่วนกษัตริย์ที่ทรงเกียจคร้านก็คงไม่ทำอะไรเลย แต่งานของรัฐบาลก็คงดำเนิรไปตามเคยนั่นเอง"๓๐

ส่วนเดือนและไพโรจน์กล่าวถึงความคิดสัญญาประชาคมที่เป็นรากฐานของระบอบใหม่ว่า

"ลัทธิประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมากมายจนเป็นที่เสียหายแก่ราษฎร ลัทธินี้หาได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างอำนาจของพระมหากษัตริย์เสียให้หมดสิ้นไม่ เพียงแต่ขอให้ราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องในการปกครองบ้าง เจ้าของลัทธิเดิมมีความประสงค์ให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจการปกครองในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ราษฎร แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ทำการปกครองไม่เป็นที่พอใจราษฎร พวกเจ้าลัทธิก็แสดงความเห็นว่า ราษฎรมีสิทธิถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกเสียจากตำแหน่งผู้ใช้อำนาจสูงสุดได้"๓๑


อุดมการณ์บนเส้นขนาน :
ความคิด "อเนกนิกรสโมสรสมมติ"- ฮ็อบแบบไทยๆ(!) กับ
"อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย"-ล็อกแบบฝรั่ง

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นมาแล้วว่า พัฒนาการของการให้อธิบายที่มาแห่งอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยการใช้คำว่า "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" นั้น เป็นความคิดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเสนอขึ้น และต่อมา หลังการปฏิวัติ คติเรื่อง "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ได้ถูก "ศัลยกรรม" ความหมายใหม่ โดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรและนักคิดคนอื่นๆ ของสำนักจารีตประเพณีโดยทำให้ถูกเข้าใจว่ามีค่าเท่ากับ "ประชาธิปไตย" ดังที่ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรได้ทรงปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่นาน ว่า แม้พระมหากษัตริย์สยามจะมีการใช้คำว่า "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ในพระบรมนามาภิไธยจนถึงรัชกาลที่ ๕ และทรงชี้ให้เห็นว่า ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงของการใช้คำดังกล่าวว่า คือ ในพระบรมนามาภิไธยของรัชกาลที่ ๖ กลับไปใช้คำว่า "บรมชนกดิศรสมมต" และธรรมเนียมนี้ได้รับการสืบต่อมา "ครั้นตกมาถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๗) ก็ได้เจริญรอยตามแบบอย่างรัชกาลที่ ๖"๓๒ อันปรากฏอยู่ในพระบรมนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า "บรมเชษฐโสทรสมมต"๓๓ ซึ่งแปลว่าสมเด็จพระบรมเชษฐาทรงแต่งตั้ง

จากข้อมูลที่ทรงปาฐกถาไว้ คือ คติเกี่ยวกับ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" นั้นได้ขาดไปอย่างน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งตำแหน่งตกทอดตำแหน่งตามสายพระโลหิต

อย่างไรก็ตาม วิธีการอธิบายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงสร้างความสืบเนื่อง คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นการหมุนกลับ (revolt) ไปสู่หลักมูลเดิมตามคติ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ที่อ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์โดยความเห็นชอบของชุมชนทางการเมืองอีกครั้ง ดังเช่นที่เป็นมาจวบกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นการรักษาความต่อเนื่องของอุดมการณ์ ความคิดของระบอบเก่า กับระบอบใหม่ที่เกิดขึ้น๓๔

ในทางกลับกัน นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมอย่างหลวงประเจิดฯ ได้อ้างทฤษฎีสัญญาประชาคมเป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย ว่า ที่มาของอำนาจอธิปไตยของระบอบประชาธิปไตยมี ๓ ประการ คือ อำนาจสูงสุดมาจากราษฎร ราษฎรทำสัญญามอบอำนาจสูงสุดไว้ให้แก่พระมหากษัตริย์ และการมอบอำนาจแบบมีเงื่อนไขที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิบัติการปกครองโดยวิธีการที่ระบุไว้ หลวงประเจิดฯ เห็นว่า วิธีการที่ราษฎรได้ทำสัญญายกอำนาจสูงสุดให้พระมหากษัตริย์นั้น นานาประเทศเห็นว่าเมื่อใดประมุขของรัฐใช้อำนาจปกครองมิได้เป็นไปตามความยินยอมเห็นชอบของราษฎร เมื่อนั้น "ราษฎรมีอำนาจเสมอที่จะเอาอำนาจสูงสุดที่มอบให้แก่ประมุขของชาติกลับคืนมาได้เสมอ"๓๕ ซึ่งความคิดเช่นนี้ถือได้ว่ารับอิทธิพลจากนักปรัชญาการเมืองกลุ่มสัญญาประชาคม เช่น จอห์น ล็อก (John Locke) และรุสโซ (Rousseau) เป็นต้น

ในขณะที่พระยาศรีวิสารฯ แห่งสำนักจารีตประเพณี ได้พยายามอธิบายถึงที่มาของอำนาจพระมหากษัตริย์ที่มาจากประชาชนโดยอ้างคติ เรื่อง "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" กับการพยายามตีความพิธีกรรมของราชสำนัก ว่า "อันว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยามนั้น แปลว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้น ทั้งนี้เป็นการตรงกับหลักการโบราณประเพณีของเรา แต่เดิมมาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินของเรามีตอนหนึ่งว่า อเนกนิกรสโมสรสมมติ และพิธีราชาพิเศกก็มีพราหมณ์และข้าราชการผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งแสดงชัดเจนว่าประเพณีของเราไม่ถือว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเนื่องมาจากพระราชอำนาจของพระองค์เอง ในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินวงศ์สติวารต [ราชวงศ์สจ๊วต-ผู้เขียนบทความ] เป็นต้น ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินจุติลงมาจากสวรรค์ จึงนำเอาพระราชอำนาจที่ได้จากสวรรค์มาปกครองแผ่นดิน ประเทศเราตั้งแต่โบราณมาไม่ถือหลักการเช่นนั้น"๓๖

แม้ว่า การวางหลักของสำนักจารีตประเพณีนั้นจะอ้างคติ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ที่อิงการผสมผสานความเชื่อของพราหมณ์และพุทธอันเชื่อว่าที่มาแห่งอำนาจผู้ปกครองมาจากราษฎรยกขึ้น เพื่อเปรียบว่าความชอบธรรมของรัฏฐาธิปัตย์ของไทยมีความต่างจากตะวันตกที่เชื่อว่าอำนาจมาจากสรรค์ที่เลื่อนลอย แต่หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันตกจะพบว่าคติเรื่องอำนาจของผู้ปกครองมาจากสวรรค์นั้นได้เสื่อมถอยไปอย่างน้อยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แล้วทั้งแทบไม่มีนักคิดทางการเมืองคนสำคัญของตะวันตกอ้างความชอบธรรมจากคติโบราณเช่นนั้นอีกแล้ว อีกทั้งในประวัติศาสตร์โบราณของไทยก็ไม่ปรากฏความเกี่ยวข้องของราษฎรในกระบวนการการเลือกสรรผู้ปกครองอย่างแท้จริง นอกจากเหล่าชนชั้นสูงและขุนนางที่เป็นเพียง "นิกรสมมติ" แทนทั้งสิ้น

ดังนั้น หากพิจารณาตรรกะในคติ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ที่สำนักจารีตประเพณีสร้างขึ้นเพื่อพยายามอ้างอิงให้สอดคล้องกับทฤษฎีสัญญาประชาคมนั้นก็หาได้เป็นตามหลักการของล็อกไม่ แต่เนื้อแท้แล้ว กลับสามารถเทียบเคียงแนบแน่นได้กับความคิดของโทมัส ฮ็อบ (Thomas Hobbes) เจ้าทฤษฎีการเมืองที่สนับสนุนการปกครองโดยกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ฮ็อบเชื่อว่าที่มาของอำนาจอธิปไตยของรัฏฐาธิปัตย์นั้น มาจากราษฎรมอบให้แบบมอบขาด และมิอาจโต้แย้งได้

ที่น่ามหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งก็คือคติ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ที่มีความใกล้ชิดกับความคิดของฮ็อบนี้ ต่อมาได้ถูกศัลยกรรมความหมาย "แปลงโฉม" ให้เป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือ "ฮ็อบแบบไทย" และได้วิวัฒน์คลี่คลายไปเป็นการสร้างคำอธิบายให้ความชอบธรรมกับการปกครองเผด็จการที่ใช้คำอื่นๆ ของไทยในเวลาต่อมา(!) เช่น คติการปกครองแบบ "พ่อ" ปกครองลูก ที่อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ รวมไปถึงคำหรือคติแบบอื่นๆ อันมีลักษณะที่ว่าประชาชนมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังผู้ปกครองแบบอำนาจไหลจากบนลงล่างด้วยเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ นานาเท่าที่ผู้มีอำนาจจะคิดได้เพื่อทำให้ประชาชนไทยยอมจำนนต่อไป

ในทางกลับกันกับคำอธิบายของนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยม เช่น ไพโรจน์ ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ "ระบอบเก่า" หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแต่พระองค์เดียว การปกครองที่เป็นไปตามจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมานั้น "ไม่มีการรับรู้หลักเรื่องประชาธิปไตยซึ่งถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน"๓๗ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ ให้เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ หยุด แสงอุทัย ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งของสำนักรัฐธรรมนูญนิยม ก็ได้โต้แย้งความคิด "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" ที่ปัญญาชนนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีพยายามเผยแพร่ไว้ว่า "สำหรับประเทศไทยมีผู้อ้างแม้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้อำนาจมาจากราษฎรนั้น แต่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นเช่นนั้น"๓๘


อำนาจสูงสุดอยู่ที่ใด? :

อำนาจพระมหากษัตริย์คืออำนาจประชาชน
หรืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน

นักกฎหมายอย่างหลวงจักรปาณีฯ แห่งสำนักจารีตประเพณีได้อธิบายถึงอำนาจสูงสุดอยู่ที่ใดว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่มีการบัญญัติให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ราษฎรหรืออยู่ที่พระมหากษัตริย์นั้น มีความเหมือนกัน ว่า "การที่จะเขียนว่าอำนาจสูงสุดของประเทศจะอยู่กับราษฎรหรือจะเขียนว่าอำนาจสูงสุดอยู่กับพระราชาธิราช แต่จะต้องใช้อำนาจนั้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครอง (อย่างญี่ปุ่น) ผลที่จะได้ก็คงเท่ากัน"๓๙

ในขณะที่ เดือนและไพโรจน์ จากสำนักรัฐธรรมนูญนิยมได้ให้ความเห็นแย้งความคิดของหลวงจักรปาณีฯ ว่า ประเด็นเรื่องการบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยพวกเขาแย้งว่า การที่หลวงจักรปาณีฯ ได้วางหลักว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ใครก็ไม่มีความแตกต่างกันนั้น เขาทั้งสองเห็นว่าการวางหลักดังกล่าว "ไม่ถูกต้อง" และเห็นว่าปัญหาว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งหากระบุว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระราชาธิราช ก็หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงจำกัดอำนาจพระองค์เองตราบเท่าที่พระองค์ยังทรงยินยอม แต่หากไม่ประสงค์จำกัดอำนาจแล้วย่อมทรงสามารถเรียก "อำนาจเต็มกลับคืนได้เมื่อนั้น"๔๐ ด้วยเหตุนี้ การบัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม" จึงถูกต้องดีกว่า ที่หลวงจักรปาณีฯ พยายามวางหลักว่าขึ้นอยู่กับใครก็ได้ นอกจากนี้ เดือนและไพโรจน์ยังได้ยกตัวอย่างประสบการณ์จากอังกฤษ เพื่อตั้งคำถามกลับไปยังสำนักจารีตประเพณีว่า แม้อังกฤษจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พวกอังกฤษรู้ดีว่าราชบัลลังก์นั้นอยู่ได้โดยความเห็นชอบของคนทั้งชาติซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ดังนั้น หลักอำนาจอธิปไตยตามประเพณีนิยมของอังกฤษนั้น ถือว่า "อำนาจอธิปไตยนั้นสถิตอยู่ในรัฐสภา" โดยพวกอังกฤษมิได้มีการกล่าวย้อนประวัติศาสตร์ขึ้นไปอีกแล้ว๔๑

เดือนและไพโรจน์ได้ให้เหตุผลเสริมว่า การที่นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีพยายามอ้างสิทธิอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์ในการบังคับบัญชาแต่ผู้เดียวจนกลายเป็นประเพณีและไม่ควรเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผล และมีความเห็นเสริมว่า จารีตประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่ราษฎรจะเปลี่ยนความนิยมไปจากเดิม๔๒

สำหรับหยุด นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมอีกคน ได้อธิบายเกี่ยวกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า พระมหากษัตริย์มีพระบรมเดชานุภาพล้นพ้น ไม่มีข้อจำกัด พระบรมราชโองการย่อมมีผลเป็นกฎหมาย แต่สำหรับระบอบปริมิตาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) อำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ และเรื่องใดที่มิได้จำกัดก็ถือเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ เช่น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่พระมหากษัตริย์พระราชทานโดยพระองค์เองจึงสงวนอำนาจให้พระองค์มาก โดยระบอบการปกครองเช่นนี้มีอยู่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๑ เช่น ลักษณะของการใช้อำนาจของกษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีไม่ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนฯ มีหน้าที่แต่เพียงให้ความยินยอมในการที่จะบัญญัติกฎหมายเก็บภาษีอากรและพระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้งกฎหมายอย่างเด็ดขาด กล่าวคือ ถ้าร่างกฎหมายใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยย่อมตกไป แต่ปัจจุบัน [พ.ศ. ๒๔๘๙] ระบอบการปกครองแบบปริมิตาสิทธิราชย์นี้ล่วงพ้นสมัยไปแล้ว๔๓

ส่วนอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น หยุดเห็นว่า พระมหากษัตริย์จะไม่มีฐานะที่จะทรงใช้อำนาจโดยพระองค์เองเพราะการปกครองในระบอบนี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ก็โดยที่คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนฯ และรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนฯ ดังนั้น บทบาทของพระมหากษัตริย์จึงทรงปกเกล้าฯ แต่มิได้ปกครอง (Le Roi regime mais il ne gouverne pas) หรือหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ (the king can do no wrong) ดังนั้น การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการและรับผิดชอบแทน แม้แต่อำนาจในทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ก็ไม่มี แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในทางสังคมซึ่งอาจมีมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ความเคารพสักการะของราษฎรต่อพระมหากษัตริย์เป็นพระองค์ๆ ไป๔๔

ความสัมพันธ์ทางอำนาจของพระมหากษัตริย์และรัฐสภาตามระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) นั้น หยุด ได้วางหลักในการวินิจฉัยว่า หากมีกรณีที่มีข้อสงสัยหรือไม่สามารถหยั่งทราบได้จากรัฐธรรมนูญว่าอำนาจที่จะใช้นั้นเป็นของพระมหากษัตริย์หรือรัฐสภา ให้ถือว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์๔๕ หรือการถือหลักว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุด (Parliamentary Supremacy) นั่นเอง


พระราชสถานะในรัฐธรรมนูญ
หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕

อย่างที่ทราบกันว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างฉับพลันโดยคณะราษฎร หลวงจักรปาณีฯ นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณีเห็นว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) โดยพระองค์เอง ดังนั้นในกฎหมายจึงไม่ปรากฏข้อความใดที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งพระมหากษัตริย์ มีแต่ข้อความที่แสดงความรับผิดชอบของพระองค์ต่อสภาราษฎร หากทรงประพฤติผิดความนิยมของสภาและคณะกรรมการราษฎรอาจทำการแทนพระมหากษัตริย์ได้๔๖ เขาเห็นว่าข้อความทั้งหลายที่กล่าวถึงประมุขแห่งประเทศยังมีความ "กร้าว"๔๗ เนื่องจากเขาเห็นว่าเหตุการณ์บังคับให้เป็นเช่นนั้น เพราะในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรเป็นกลุ่มใหม่ที่เข้ามารับอำนาจแต่แรกย่อมจะไว้ใจผู้ที่อยู่เก่าได้ยาก

ในขณะที่นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยม อย่างหลวงประเจิดฯ เห็นว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ มีข้อความคล้ายกับรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑ คือ การจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ หรือปริมิตาญาสิทธิราช (La Monarchie Constitutionnelle) และให้อำนาจมากแก่คณะกรรมการราษฎร๔๘ ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น๔๙

ทั้งนี้ การใช้คำที่กล่าวถึงประมุขของรัฐ ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ (ฉบับชั่วคราว) ใช้คำว่า "กษัตริย์" ต่อมาเมื่อมีการร่างใหม่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ใช้ "พระมหากษัตริย์" และก็ได้ใช้คำนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ๒๔๗๕ พระยาศรีวิสารวาจา นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณี และเป็นหนึ่งในสมาชิกอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า "รัฐธรรมนูญของเรามีลักษณะเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ หรืออีกนัยหนึ่ง ราชาธิปไตยอำนาจจำกัด"๕๐ ส่วนหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ได้ทรงเห็นพ้องกับแนวคิดที่กำหนดให้ "พระมหากษัตริย์เปนแต่หัวหน้าประเทศหาได้เปนหัวหน้ารัฐบาลไม่"๕๑ และทรงเสนอว่าควรระบุให้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ หรือ "อนุพฤติ" ฝ่ายบริหาร มิเช่นนั้นอาจหมายความว่า พระองค์จะทรงสามารถเข้าประทับในที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) ได้

พึงเข้าใจว่า หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ นั้นได้เกิดความวิตกทั่วไปถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองใหม่ หลวงวิจิตรวาทการ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นจึงได้เสนอให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า "สยามจะต้องมีพระมหากษัตริย์ทรงราชย์และปกครองชั่วนิรันดร ถ้ามีข้อความดั่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการรักษาจารีตประเพณีของเราอันหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นบทบังคับว่าเราจะเป็นรีบัปลิกไม่ได้"๕๒

แต่ไพโรจน์เห็นว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้ต้องการสถาปนาการปกครองสาธารณรัฐ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะบัญญัติถ้อยคำที่ "กระทบกระเทือนใจ" ลงอีก เขาวิเคราะห์ว่า ความวิตกดังกล่าวอาจเกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มนิยมระบอบเก่าและนิยมระบอบใหม่ที่เข้มข้นในขณะนั้น (๒๔๗๕) แต่คณะอนุกรรมการฯ ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ ก็หาได้รับแนวคิดของไพโรจน์ดังกล่าวนี้เข้าไปไม่๕๓


การละเมิดมิได้ กับความรับผิดชอบ

สำหรับแนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ที่ปรากฏในกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น หลวงจักรปาณีฯ จากสำนักจารีตประเพณี อธิบายว่า ข้อความที่ระบุในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ (ชั่วคราว) ว่า "กษัตริย์ถูกฟ้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย" นั้น เขาเห็นว่าข้อความนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆ คือ มิได้ครอบคลุมถึงกรณีแพ่ง และเขาไม่เห็นด้วยกับการที่ สภาผู้แทนฯ มีอำนาจวินิจฉัยคดีของพระมหากษัตริย์ เขาเห็นว่าไม่ควรให้มีบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์ เขาเสนอว่า หากจะมีบทบัญญัติเช่นนี้ "เราต้องเลือกเอาว่า จะควรรับกษัตริย์ไว้เป็นประมุขสูงสุดของชาติต่อไป หรือจะไม่รับ"๕๔ และเขาเห็นว่า "ถ้ากษัตริย์จงใจประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมือง ท่านจะต้องรับผิดชอบต่อราษฎรไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม"๕๕

ในขณะที่ หลวงประเจิดฯ จากสำนักรัฐธรรมนูญนิยม ได้อธิบายว่า พระมหากษัตริย์สามารถถูกฟ้องในคดีอาชญาโดยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชำระได้ และไม่เพียงคดีอาชญาเท่านั้นแต่สามารถตีความไปถึงความผิดของพระองค์ที่กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการบริหาราชการแผ่นดิน การละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดต่อสัญญาระหว่างประเทศเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้พระมหากษัตริย์ควรจะต้องรับผิดชอบ๕๖ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตีความประเด็นอำนาจดังกล่าวว่า "สภาผู้แทนมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญาหรือแพ่งที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในกรณีแพ่งการฟ้องร้องไปยังโรงศาล ให้ฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ส่วนในกรณีอาชญา ซึ่งหากบังเอิญจะเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์มิได้ แต่สภาฯ มีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเป็นไปโดยยุติธรรมได้"๕๗

นอกจากนี้ หยุด ได้อธิบายเสริมแนวคิดเรื่องการละเมิดมิได้ในเวลาต่อมาว่า หมายถึง พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง ทรงจะต้องเป็นกลางไม่เข้าข้างพรรคการเมืองใด เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือว่า ประชาชนทุกคนเกี่ยวข้องกับการเมือง มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ไม่เป็นพวกของพรรคการเมืองใดเพราะทรงเป็นประมุขของประชาชนทุกคน๕๘ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า "มีข้อระลึกว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระมหากษัตริย์ อาจมีความเห็นอกเห็นใจพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่ตราบใดที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นกลางแล้ว ก็ต้องถือว่าทรงปฏิบัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ"๕๙

หยุดเห็นว่า หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ มีเพื่อที่จะให้พระมหากษัตริย์ดำรงฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ โดยรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยถือว่า การที่พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้นั้นเพราะมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อที่ว่าหลักดังกล่าวจะดำรงต่อไป "พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเว้นการกระทำใดๆ โดยเปิดเผยอันอาจทำให้ประชาชนนำไปวิจารณ์ เช่น การออกความเห็นในทางการเมือง หรือการกล่าวถึงปัญหาที่กำลังโต้เถียงอยู่ในประเทศ"๖๐


การสนองพระบรมราชโองการ :
ความมิต้องรับผิดในการกระทำของพระมหากษัตริย์

ประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยนั้น หลวงจักรปาณีฯ แห่งสำนักจารีตประเพณีได้อธิบายบัญญัติที่ว่าให้การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งลงนามมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ (ชั่วคราว) ว่า เหตุผลของการบัญญัติ คือ การระวังมิให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจในทางที่ผิดความประสงค์ของราษฎร และเป็นการถือหลักว่า ประมุขของประเทศมีสิทธิพิเศษอยู่นอกวงความรับผิดชอบแห่งกฎหมายธรรมดา ซึ่งมีคณะรัฐบาลรับผิดชอบแทน หลวงจักรปาณีฯ ได้อ้างหลักกฎหมายอังกฤษเทียบเคียงกับข้อความข้างต้น โดยยกตัวอย่างความเห็นของศาตราจารย์ไดซี ที่อธิบายกฎหมายอังกฤษว่า "ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะทรงเอาปืนยิงอัครมหาเสนาบดีตายคาที่ กฎหมายอังกฤษก็จะเอาผิดกับท่านไม่ได้" และเขาได้ยกตัวอย่างประเพณีไทยโบราณ เรื่องการลงโทษมหาดเล็กใกล้ชิดแทนเจ้านายที่ทรงทำผิด โดยเขาให้เหตุผลว่า มหาดเล็กมีหน้าที่เตือนสติเจ้านายตน หากเจ้านายทรงกระทำความผิดไป ดังนั้น มหาดเล็กนั้นต้องถูกลงโทษฐานละเลยหน้าที่๖๑

ในขณะที่นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยม เช่น เดือนและไพโรจน์ ได้วิจารณ์ตัวอย่างของศาสตราจารย์ไดซี ที่หลวงจักรปาณีฯ ยกข้างต้นว่า "เป็นตัวอย่างที่วิตถาร" และพวกเขาเห็นว่า หลักที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ผิดนั้น หมายความว่า "พระเจ้าแผ่นดินไม่อาจออกคำสั่งที่ผิดและคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินไม่อาจทำให้ผู้ที่เคารพและปฏิบัติตามหลุดพ้นจากความรับผิดชอบไปได้"๖๒ ต่างหาก ทั้งเดือนและไพโรจน์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า "แต่ในทุกวันนี้ ศีลธรรมบังคับให้บุคคลต้องรับผิดชอบในกรรมที่ตนกระทำ ที่ใดที่ไม่มีความรับผิดชอบที่นั้นก็ไม่มีอำนาจ [เน้นโดยผู้เขียนบทความ] ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เสนาบดีต้องรับผิดชอบจึ่งจำเป็นต้องมอบอำนาจให้เสนาบดีทำแทน"๖๓

นอกจากนี้ ไพโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการบัญญัติอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ กับระบอบการปกครองว่า "มีบทบัญญัติยกย่องเชิดชูพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศไว้อย่างดี และก็ได้ถวายพระราชอำนาจต่างๆ ให้มากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองโดยรัฐสภาโดยทั่วไปเสียอีก"๖๔


ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
กับรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา

ในประเด็นเรื่องการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณี อย่างพระยาศรีวิสารฯ ได้อธิบายขั้นตอนของการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ในการยับยั้งกฎหมายที่บัญญัติโดยสภา โดยเขาได้ยกตัวอย่างอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษในการยับยั้งกฎหมายว่า หากพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนั้น จะทรงถอดคณะเสนาบดีชุดนั้นออกแล้วทรงตั้งชุดใหม่ โดยทรงหวังว่ารัฐสภาจะสนับสนุนคณะเสนาบดีชุดใหม่ หากสภายังยืนยันเรื่องนั้น พระองค์จะยุบสภาเพื่อให้ราษฎรแต่งตั้งผู้แทนเข้ามาใหม่ หมายถึง การที่พระมหากษัตริย์เรียกร้องจากรัฐสภาไปยังราษฎร และหากสภาใหม่ยังคงยืนยันเรื่องนั้น พระองค์ก็ต้องยอมตามนี้๖๕

ในขณะที่นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยม เช่น หยุด ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความนิยมของนักกฎหมายที่ชอบเปรียบเทียบอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับธรรมเนียมการปกครองของอังกฤษว่า เป็นความคิดที่ "ง่ายเกินไป" เขาให้เหตุผลว่า พระมหากษัตริย์อังกฤษไม่ได้ทรงใช้อำนาจยับยั้งกฎหมายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว ในขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยยังคงถวายพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายอยู่ ดังนั้น ไม่สามารถเทียบเคียงตัวอย่างระหว่างกันได้๖๖

นอกจากนี้ หยุดยังได้อธิบายขอบเขตการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านสถาบันการเมืองอื่นว่า

"พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจบริหารเองมิได้ และจะทรงใช้อำนาจนี้ทางอื่นนอกจากทางคณะรัฐมนตรีก็มิได้เช่นกัน หมายรวมถึงบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินจะต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ เช่นนี้แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์จะทรงกระทำกิจใดที่เกี่ยวกับราชการได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำเนื่องจากคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา รัฐมนตรีจะต้องเลือกว่าทรงควรทำหรืองดเว้นเพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำกิจเกี่ยวกับราชการเป็นการฝ่าฝืนใจรัฐมนตรีได้ เพราะหากรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามสนองพระบรมราชโองการแล้วรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง โดยคณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออกเพราะถ้าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำโดยพระองค์เองแล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย และหากคณะรัฐมนตรีนั้นครองเสียงข้างมากในสภา ก็ไม่มีทางที่จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้รัฐสภาไว้วางใจได้ ซึ่งผลในที่สุดพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี หรือมิฉะนั้นก็ต้องทรงสละราชสมบัติ ดังนั้น การไม่ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เมื่อทรงทักท้วงแล้วคณะรัฐมนตรียังถวายการยืนยันจึงเป็นภัยแก่ราชบัลลังก์และมีทางที่จะถูกกล่าวหาว่ามิได้ทรงวางตนเป็นกลางเอนเอียงเข้าทางพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาล"๖๗

ความหมายของหลักการความมิต้องรับผิด ด้วยการสนองพระบรมราชโองการนี้ หยุดอธิบายหมายรวมถึง พระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงด้วย โดยพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ส่วนปัญหาที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงร่างพระราชดำรัสเองแล้วจึงส่งมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายแล้วพระมหากษัตริย์ทรงแก้ไขด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นเรื่องภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแม้กระทั่ง พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงรับสั่งกับทูตานุทูต หรือข้าราชการอื่นใด โดยมิได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรี หรือแม้แต่ ทรงจะไม่ปรึกษาหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเป็นอันขาด๖๘

นอกจากที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงทำกิจการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีแล้ว หยุดตั้งคำถามว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้พระมหากษัตริย์กระทำกิจกรรมอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินอันไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแล้ว พระมหากษัตริย์จะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำได้หรือไม่ ในปัญหานี้หยุดอธิบายว่า ไม่อาจตอบเป็นหลักทั่วไปได้ แต่เขาให้เหตุผลว่า ในทางรัฐธรรมนูญไม่มีทางที่จะบังคับให้ประกอบกิจด้วยการฝืนพระราชหทัยได้ แต่ในกรณีการตรากฎหมายนั้น นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างกฎหมายซึ่งไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้เป็นกฎหมายได้เลย และหากในบางกรณีรัฐธรรมนูญถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ไว้แต่เพียงแบบพิธี เช่น การแต่งตั้งประธานพฤฒสภา หากทรงปฏิเสธไม่ยอมลงพระปรมาภิไธย ต้องถือว่าทรงกระทำผิดรัฐธรรมนูญ หรือในบางกรณี การที่ทรงปฎิเสธไม่กระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ทำให้เห็นว่าไม่ได้ทรงเป็นกลาง แต่ทรงกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาล ซึ่งทรงทำผิดรัฐธรรมนูญเช่นกัน๖๙ โดยปกติแล้วการที่ทรงงดเว้นไม่ทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ต้องถือเป็นวิธีที่ไม่พึงปรารถนาเว้นแต่จะเป็นทางเลือกสุดท้าย (ultima ratio) เพราะการทำเช่นนี้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง หากถ้าคณะรัฐมนตรีครองเสียงข้างมากในสภาและยังได้รับความไว้วางใจกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก พระมหากษัตริย์จำต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีนั้น๗๐

หากเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น หยุดเห็นว่า วิธีการตอบโต้ของพระมหากษัตริย์ต่อปัญหาข้างต้น คือ การประสงค์ที่จะสละราชสมบัติซึ่งก่อให้เกิดสาธารณมติต่อพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาลอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้งในคราวหน้าได้ อย่างไรก็ตามแม้ในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จะมีอำนาจน้อยแต่ทรงมีอำนาจทางสังคมมากซึ่งมีอิทธิพลต่อความจงรักภักดีของราษฎร และบุคลิกของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนหากพระมหากษัตริย์ทรงมีประสบการณ์ มีความจัดเจน ย่อมมีผลต่อการตัดสินของคณะรัฐมนตรีให้โน้มเอียงได้๗๑


อย่างไรก็ดี หยุดเห็นว่า พระมหากษัตริย์ยังทรงมีอำนาจในทางสังคม ๓ ทาง คือ

ประการแรก ความจงรักภักดีของราษฎร เขาเห็นว่า พระมหากษัตริย์บางพระองค์ราษฎรรักมากหรือบางพระองค์ราษฎรรักน้อย ดังนั้น อำนาจทางสังคมในการโน้มน้าวคณะรัฐมนตรีจะมีมากเพียงใดนี้ขึ้นอยู่กับความรักของราษฎรที่มีต่อพระมหากษัตริย์

ประการที่ ๒ บุคลิกของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเป็นประมุขถาวรจึงทรงมีประสบการณ์มาก บางพระองค์มีพระทัยเข้มแข็งอาจทำให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้มาก แต่บางพระองค์ก็อ่อนแอปล่อยให้คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำแต่เพียงฝ่ายเดียว

ประการสุดท้าย คือ บุคลิกลักษณะของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีมีอุปนิสัยและเฉลียวฉลาด ตลอดจนนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งเด็ดขาด การปฏิบัติตามพระราชประสงค์ก็จะน้อยเข้า แต่หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอ่อนแอ หรือรู้สึกด้อยกว่า ในแง่ความจัดเจนงานและความรู้ความสามารถ พระมหากษัตริย์ก็จะชักจูงให้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้มากขึ้น๗๒

การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ถวายอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์มากขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญ ฉบับ ๒๔๙๐ และ ๒๔๙๒ ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของดิเรก ชัยนาม ได้ยกตัวอย่างการวิจารณ์อันตรายจากหลักการที่ให้ผู้นำจารีตประเพณีมีอำนาจมากจากประสบการณ์ของยุโรปว่า "การมอบอำนาจเด็ดขาดให้บุคคลเดียว...พูดสั้นๆ คือกษัตริย์ ผู้มีอำนาจเด็ดขาดนี้จะเป็นกษัตริย์ที่ฉลาดที่สุดและเมตตากรุณาที่สุด แม้กระนั้นก็ดีก็ยังมีพฤติการณ์หลายอย่างซึ่งทำให้ระบอบนี้ห่างไกลจากระบอบที่เร้าใจให้ราษฎรสนใจในการปกครองบ้านเมืองของตนที่ถือเป็นแบบฉบับที่ดี...และไม่มีหลักประกันอันใดเลยว่า ผู้รับมรดกนั้นจะฉลาดจะสามารถเมตตากรุณาเสมอไป ตรงกันข้าม มีเสมอที่ผู้สืบมรดกกลายเป็นคนโง่หรือไร้สติ ยิ่งกว่าจะเป็นนักปราชญ์หรือรัฐบุรุษและท่านเหล่านี้เข้ามารับผิดชอบโชคชตาของคนนับสิบๆ ล้าน"๗๓ เขาสรุปว่า ประเทศที่มีการปกครองแบบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย คือ พระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัดนั้นเหมาะสมที่สุด๗๔


"ความชอบด้วยระบอบ"
หรือ "ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"?

แม้ว่าจะมีการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติให้ทรงเป็นประมุข ในขณะที่ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น หยุดอธิบายว่าหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ คือ ทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย ที่ทรงระมัดระวังและจัดการให้รัฐกิจต่างๆ ดำเนินไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น การวินิจฉัยเด็ดขาดสุดท้ายตามรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น หยุดให้เหตุผลว่า อำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย๗๕

ทั้งนี้ หยุดได้ให้ความเห็นเสริมว่า ตามระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเถลิงราชย์ด้วยการสืบสันตติวงศ์ การที่จะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากเหมือนประมุขที่มาจากการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ทรงอยู่ในขอบข่ายของการวิจารณ์ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย หากเปรียบเทียบกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว หยุดเห็นว่า "พระมหากษัตริย์ย่อมมีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นธรรมดา" เพราะทรงมีอำนาจเพียงจะทำให้รัฐกิจเป็นไปตามเจตจำนงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายเสียงข้างมากเท่านั้น๗๖ ซึ่งหมายความว่า การบัญญัติอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์และการตีความความสัมพันธ์ทางอำนาจต้องชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยด้วย


"ที่ปรึกษา" ของพระมหากษัตริย์ :
คณะรัฐมนตรีหรือคณะองคมนตรี

การบัญญัติให้ อภิรัฐมนตรีหรือองคมนตรี ทำหน้าที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ และ ๒๔๙๒ เป็นต้นมานั้น นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณี ได้พยายามให้คำอธิบายว่าการที่องคมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้น "เป็นการลงนามโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น คือรัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องลงนามเสมอไป" หรือเป็นเพียงแบบธรรมเนียมเท่านั้น๗๗

แต่ในขณะที่ ไพโรจน์ นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมกลับเห็นแย้งว่า การบัญญัติให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ เช่น รัฐธรรมนูญ ฉบับ ๒๔๙๒ นั้น จะก่อให้เกิดปัญหาการลงนามในการสนองพระบรมราชโองการ เขาได้ให้เหตุผลว่า การลงนามสนองพระบรมราชโองการในระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ลงนามสนองฯ แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับให้องคมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองฯ แทนนั้น เขาให้เหตุผลแย้งว่า การบัญญัติให้องคมนตรีลงนามสนองฯ นั้น "หาเป็นการถูกต้องไม่ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้ว ระบอบรัฐสภา (Regime Parlementaire) ก็ไม่มีประโยชน์อันใด เนื่องจากคณะรัฐมนตรีซึ่งควรเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ ได้พ้นจากความรับผิดชอบเสียแล้ว และดั่งนี้ ผลร้ายจะตกกับประมุขของรัฐ เพราะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไป"๗๘ อีกทั้งเป็นการพ้นวิสัยที่รัฐสภาจะควบคุมได้ตามหลักการของระบอบ ดังนั้น เขาเห็นว่า การที่ให้องคมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการจึงมีผลเสียในทางอื่นๆ เพราะ "องคมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา" และเขาได้ตั้งข้อสังเกตถึงความชอบด้วยระบอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ นี้ มีบทบัญญัติให้ผู้อื่นลงนามสนองพระบรมราชโองการแทนรัฐมนตรีมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

ส่วนหยุดได้อธิบายถึงความจำเป็นของการมีคณะองคมนตรีว่า เนื่องจากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขมีมาก ดังนั้น จึงควรมีบุคคลที่เป็นกลางและมีคุณวุฒิสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงได้ปรึกษา แต่อย่างไรก็ตามการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการเลือกและแต่งตั้ง หรือให้พ้นจากตำแหน่งขององคมนตรีเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น หยุดเห็นว่า มีผลต่อหลักความมิต้องรับผิดเนื่องจาก "ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นต้องมีความรับผิด" ดังนั้น การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบความเหมาะสมของผู้เป็นองคมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรในทางรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และการลงนามสนองพระบรมราชโองการของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเพียงแค่การรับรองว่าเป็นพระปรมาภิไธยจริงเท่านั้น๗๙

สุดท้ายแล้ว หยุดได้ให้ความเห็นแย้งถึงความเหมาะสมของการมีคณะองคมนตรี ว่า


"ถ้าจะกล่าวตามหลักประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด การมีคณะองคมนตรีไม่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตยนัก เพราะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ควรจะทรงมีที่ปรึกษาอย่างอื่นนอกจากคณะรัฐมนตรีของพระองค์ และเป็นหลักที่ "ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นจะต้องมีความรับผิดชอบ" แต่คณะองคมนตรีเป็นผู้กล่าวความเห็นต่อพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ถ้าปรากฏว่าคณะองคมนตรีกล่าวความเห็นผิดพลาด ก็ไม่มีทางให้คณะองคมนตรีรับผิดชอบได้ ต่างจากคณะรัฐมนตรีซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้วางใจแล้วก็ต้องออกจากตำแหน่ง"๘๐


คำถามที่ยังไร้คำตอบ

ควรบันทึกไว้ด้วยว่าจำนวนมาตราของหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญจำนวน ๖ ฉบับในช่วงเวลาที่กำหนด พบว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ หรือฉบับชั่วคราว มี ๕ มาตรา ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มี ๙ มาตรา ฉบับ ๒๔๘๙ มี ๙ มาตรา ฉบับ ๒๔๙๐ มี ๑๗ มาตรา ฉบับ ๒๔๙๒ มี ๒๐ มาตรา และฉบับ ๒๔๗๕ แก้ไข ๒๔๙๕ มี ๒๐ มาตรา ความเปลี่ยนแปลงในจำนวนและสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญนี้สะท้อนถึงพระราชอำนาจ ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทและการมีอำนาจต่อรองของพวก "รอยัลลิสต์" ที่มีต่อการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นด้วยเช่นกัน

และหากจะสรุปข้อถกเถียงและการให้เหตุผลในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญจากสำนักนักกฎหมายทั้ง ๒ สำนักนั้น แรกสุดมีความต่างในเรื่องการอ้างอิงที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย โดยสำนักแรกอ้างอิงกับจารีตประเพณีในอดีตของไทยที่เทียบเคียงได้กับความคิดตะวันตก เช่น ความคิดฮ็อบ ในขณะที่สำนักหลังเห็นว่าบ่อเกิดอำนาจอธิปไตยเป็นไปตามหลักการตามความคิดตะวันตก คือ กลุ่มทฤษฎีสัญญาประชาคม เช่น ความคิดของล็อก

ประการที่ ๒ สำนักแรกอ้างอิงกับธรรมเนียมทางการเมืองไทยให้เข้ากับธรรมเนียมของอังกฤษที่เน้นจารีตการปฏิบัติในอดีต มากกว่าการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่สำนักหลังนั้น เห็นว่า ควรมีการบัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมือง และขอบเขตระหว่างกันให้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน

ประการที่ ๓ ประเด็นสำคัญ คือ ไม่มีคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญของสำนักใดที่ปฏิเสธพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ข้อถกเถียงสำคัญที่สุด คือ จะบัญญัติให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเพียงใดภายใต้ระบอบประชาธิปไตย


ฤา หลักการที่ไม่สอดคล้องกับบริบท?

หลังการโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำที่มาจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คนสุดท้ายเมื่อ ๒๕๐๐ ด้วยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกลุ่มอำนาจที่ปกครองประเทศจากคณะราษฎรมาสู่คนกลุ่มใหม่อย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ขึ้นในการเมืองไทย

การเปล่งเสียงแผ่วเบาเป็นครั้งสุดท้ายจากนักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยม โดยหยุดได้กล่าวไว้ว่า

"สมัยรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย ควรถือว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้นั้น เพราะมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ข้อหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าแสดงว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำสิ่งใดโดยพระองค์เองแล้วรู้สึกว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ มีบ่อยๆ ที่รัฐมนตรีอ้างว่าได้กระทำการนั้นการนี้อันมีลักษณะเป็นการเมืองโดยคำแนะนำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงคำแนะนำของพระมหากษัตริย์นี้ควรถือเป็นความลับ และถ้ารัฐมนตรีรับเอาคำแนะนำนี้มาปฏิบัติจริง รัฐมนตรีควรจะกระทำด้วยความรับผิดชอบของตนเอง การอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการใดๆ ในทางการเมืองโดยพระองค์เองก็ดี การอ้างว่าทรงแนะนำให้กระทำการนั้นก็ดีย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ขอให้พวกเราจงได้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเราในทางที่ถูกเพื่อสถาบันการมีพระมหากษัตริย์ของเราจะได้ดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพตลอดกาลนาน ดังเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศอังกฤษ"๘๑

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด คำอธิบายของสำนักรัฐธรรมนูญนิยมได้วางหลักความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่น่าสนใจไว้หลายประการ แต่หลักการเหล่านั้นได้สูญหายไปจากคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนดูราวกับว่าเป็นหลักการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการเมืองของไทยในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ดี หากเราพิจารณาบริบททางการเมืองหลังการรัฐประหาร ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ย่อมจะเห็นถึงความมิอาจแยกกันได้ระหว่างการเถลิงอำนาจของกลุ่มเผด็จการอำนาจนิยมอนุรักษ์ ที่ผสานเข้ากับคติ "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" หรือ "ฮ็อบแบบไทย" ประกอบกับอำนาจปืนและหมอกควันที่บดบังความเห็นอื่นๆ อันปรากฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น บรรยากาศการโต้เถียงในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงปิดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทบไม่ได้ยิน "เสียง" จากสำนักรัฐธรรมนูญนิยมอีก

อย่างไรแม้ว่าคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเหล่านั้นถูกวางนิ่งสนิทบนชั้นหนังสือที่ปราศจากการจับต้องมานาน แต่ความคิดและหลักการที่ปรากฏยังคงเจิดจรัสอันพร้อมที่จะรอผู้ที่เข้าไปสนทนาด้วย ดุจเดียวกับคำกล่าวที่น่าคิดของหยุด ว่า

"กฎหมายหาได้เป็นวิชาการที่อยู่ได้โดยลำพังตัวของมันเอง
โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาความจริงภายนอก"๘๒



ณัฐพล ใจจริง*


*ขอบคุณหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อนุเคราะห์ภาพหายาก รศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผศ. ธเนศ วงศ์ยานนาวา ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ศิวพล ละอองสกุล อาจารย์จีรพล เกตุจุมพล อาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม ที่ให้คำแนะนำและมิตรภาพ สำหรับความตื้นเขินที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน บทความนี้ตัดทอนบางส่วนมาจากการค้นคว้าอิสระของข้าพเจ้า ชุด รัฐธรรมนูญ และสถาบันทางการเมืองกับปัญญาชนของไทย (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐) บทความนี้ขอเป็นส่วนหนึ่งในวาระของการก้าวสู่ปีที่ ๗๕ ของปฏิวัติ ๒๔๗๕ และการมีรัฐธรรมนูญในประเทศไทย


เชิงอรรถ

๑ N. Johnson. "The Place of Institution in Study of Politics," in Political Studies XXIII (June-September 1975, No. 2-3), pp. 276-281. และ J. DearLove. "Bringing the Constitutional Back in : Political Science and the State," in Political Studies XXXVII (December 1989, No. 4), pp. 536-537.

๒ L.B. Cruzon. Jurisprudence. (London : Cavendish Publishing, 1995), p. 216. อ้างใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล. นิติปรัชญาทางเลือก. (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๖), น. ๘๓ และ ๙๖.

๓ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติ ๒๔๗๕. (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๔๖), น. ๘๓.

๔ นครินทร์. อ้างแล้ว. น. ๘๔.

๕ "Constitutionalism" in http://plato.stanford.edu/entries/constitutionalism และ http://en.wikipedia.org/wiki/Constitutionalism

๖ หลวงประดิษฐมนูธรรม. "คำอธิบายกฎหมายปกครอง," ใน ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์. (พิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖), (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๖), น. ๑๖๓.

๗ หลวงประดิษฐมนูธรรม. อ้างแล้ว. น. ๑๖๕.๘ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์, ๒๔๒๗-๙๑) สำเร็จเนติบัณฑิตจากอังกฤษ เคยเป็นกรรมการองคมนตรีสภา กรรมการร่างกฎหมาย อาจารย์โรงเรียนกฎหมาย ได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการราษฎรและนายกรัฐมนตรีคนแรก เป็นประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีความใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจเก่า และมีส่วนในการร่วมรัฐประหารด้วยการงดใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภาผู้แทนฯ ต่อมาถูกรัฐประหาร และเดินทางออกนอกประเทศไปจนถึงแก่อสัญกรรมที่ปีนัง

๙ พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล, ๒๔๓๙-๒๕๑๑) สำเร็จปริญญากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศในระบอบเก่า รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสมัยพระยามโนปกรณ์ สมาชิกวุฒิสภา องคมนตรี ประธานที่ปรึกษาราชการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ("ชีวประวัติ พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา", อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิศาลวาจา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๘ มิถุนายน ๒๕๑๑, พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี)

๑๐ พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล, ๒๔๓๒-๙๒) สำเร็จเนติบัณฑิตจากอังกฤษ มีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการมาก เคยเป็นอธิบดีศาลฎีกาในระบอบเก่า และเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในระบอบใหม่ เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๙๓, พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร)

๑๑ พระยาปรีดานฤเบศร์ (ฟัก พันธุ์ฟัก, ๒๔๒๔-๒๕๐๗) สำเร็จเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย รับราชการในระบอบเก่า ในตำแหน่งผู้พิพากษา ผู้ช่วยสมุหพระนิติศาสตร์กระทรวงวัง และปลัดพระราชมณเฑียร ต่อมาลาออกมาประกอบอาชีพทนายความ เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ (อนุสรณ์ มหาเสวกตรี พระยาปรีดานฤเบศร์ (ฟัก พันธุ์ฟัก) พิมพ์แจกเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑๔ เมษายน ๒๕๐๘, พระนคร : มงคลการพิมพ์)

๑๒ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา, ๒๔๓๓-๒๕๒๘) สำเร็จเนติบัณฑิตจากอังกฤษ เคยเป็นอธิบดีศาลระหว่างประเทศ อธิบดีกรมอัยการในระบอบเก่า เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕

๑๓ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์, ๒๔๔๖-๒๕๐๑) บุตรของเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สำเร็จเนติบัณฑิตจากอังกฤษและโรงเรียนกฎหมายของไทย ได้รับปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด รับราชการในกระทรวงยุติธรรม หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เขาเป็นนักกฎหมาย คนแรกที่เข้ามาเขียนคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ (ชั่วคราว) เป็นเล่มแรก (ปาฐกถา บทความและคำพิพากษาฎีกาบางเรื่อง ของ ศาสตราจารย์ หลวงจักรปาณีศีรศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์) จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒, พระนคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

๑๔ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (๒๔๓๔-๒๕๑๙) ทรงสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทรงเป็นปัญญาชนคนสำคัญที่มาจากชนชั้นสูงหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ทรงเป็นผู้ให้ความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติในความหมายการหมุนกลับ (revolt) กลับไปสู่คติอเนกนิกรสโมสรสมมติ ทรงริเริ่มการสร้างคำอธิบายสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นให้เชื่อมต่อกับสิ่งเก่า ทรงเป็นที่ปรึกษารัฐบาลคณะราษฎรหลังการปฏิวัติมาตลอด เว้นรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (วรรณไวทยากร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๙, กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, ๒๕๑๙)

๑๕ Louis Henkin. Constitutionalism, Democracy, and Foreign Affairs. (New York : Columbia University Press, 1990), p. 6.

๑๖ Charles Mcilwain. Constitutionalism Ancient and Modern. (New York : Cornell University Press, 1940), p. 24. อ้างใน วลัยมาศ แก้วศรชัย. "สภาร่างรัฐธรรมนูญกับการร่างรัฐธรรมนูญตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม". วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑, น. ๑๑, ๒๐-๒๒.

๑๗ นายเดือน บุนนาค (๒๔๔๘-๒๕๒๕) จบการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมรับราชการที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้านการศึกษามีส่วนในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยคนแรก ส่วนงานการเมือง เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพฤฒิสภา และหัวหน้าพรรคสหชีพ (หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเดือน บุนนาค, กรุงเทพฯ : ม.ป.ท, ๒๕๒๕.)

๑๘ ดิเรก ชัยนาม (๒๔๔๘-๒๕๑๐) สำเร็จเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย รับราชการในกระทรวงยุติรรม เป็นสมาชิกคณะราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรมและคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อนุสรณ์ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๑๐, กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.)

๑๙ สงวน ตุลารักษ์ (๒๔๔๕-๒๕๓๘) สำเร็จเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย เป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นสมาชิกคณะราษฎร มีความใกล้ชิดกับหลวงประดิษฐมนูธรรม (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสงวน ตุลารักษ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๘, กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.)

๒๐ ไพโรจน์ ชัยนาม (๒๔๕๔-๒๕๓๗) สำเร็จเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย เคยเป็นผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการในกรมโฆษณาการ เคยเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ เลขาธิการพฤฒิสภา อธิบดีกรมและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายไพโรจน์ ชัยนาม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๘, กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๓๘.)

๒๑ หยุด แสงอุทัย (๒๔๕๑-๒๕๒๒) สำเร็จเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย จบปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ด้วยคะแนนสูงสุด (๒๔๗๔) เคยเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกับคาร์ล ชมิทท์ (Carl Schmitt) ซึ่งเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญและนักทฤษฎีการเมืองที่มีชื่อเสียง เขากลับมาปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ และเป็นศาสตราจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หยุด แสงอุทัย ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๓, กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, ๒๕๒๓)

๒๒ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ "ปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๕ อ้างใน ไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๙๕), น. ๘.

๒๓ เดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาค ๑ หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ. (พระนคร : นิติสาส์น, ๒๔๗๗), น. ๗๔.

๒๔ ดิเรก ชัยนาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งพิสดาร : คำสอนชั้นปริญญาโท พุทธศักราช ๒๔๙๑-๒๔๙๒. (พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๙๓), น. ๒๘.

๒๕ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อธิบายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ. (พระนคร : สยามบรรณกิจ, ๒๔๗๕), น. ๗.

๒๖ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๗.

๒๗ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายการเลือกตั้ง. (พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๗๗), น. ๑.

๒๘ เดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายเลือกตั้งด้วย) ภาค ๒ รัฐธรรมนูญสยาม. (พระนคร : นิติสาส์น, ๒๔๗๗), น. ๑๒.

๒๙ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๗๗), น. ๒๖.

๓๐ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๓๓.

๓๑ เดือน และไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายเลือกตั้งด้วย) ภาค ๑. (๒๔๗๗), น. ๙๓.

๓๒ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ "ปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญ" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๕ อ้างใน ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. (๒๔๙๕), น. ๘.

๓๓ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร. "ปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญ," อ้างใน ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. (๒๔๙๕), น. ๘.

๓๔ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. อ้างแล้ว. น. ๘๙-๙๐.

๓๕ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (๒๔๗๗), น. ๓๔.

๓๖ พระยาศรีวิสารวาจา. คำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม. (พระนคร : โรงพิมพ์ลหุโทษ, ๒๔๗๕), น. ๑-๒.

๓๗ ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. (๒๔๙๕), น. ๔.

๓๘ หยุด แสงอุทัย. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. (พระนคร : ประชานิติ, ๒๔๘๙), น. ๒๓.

๓๙ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. น. ๘๙. รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่อ้างถึงนี้เป็นฉบับที่ร่างด้วยพระราชประสงค์ของจักรพรรดิเมอิจิ ที่สงวนอำนาจให้กับจักรพรรดิมาก จนทำให้ญี่ปุ่นก้าวสู่สงคราม และต่อมาถูกยกเลิกไปหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งขณะที่เขาเขียนนั้น เขามิสามารถคาดการณ์ผลที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้

๔๐ เดือนและไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญภาค ๑. (๒๔๗๗), น. ๑๐๘.

๔๑ เดือนและไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญภาค ๑. (๒๔๗๗), น. ๑๐๙.

๔๒ เดือนและไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญภาค ๑. (๒๔๗๗), น. ๙๙.

๔๓ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๒๖-๒๗. และหยุด แสงอุทัย. คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕-๙๕. (พระนคร : ชูสิน, ๒๔๙๕), น. ๑๙๙-๒๐๐.

๔๔ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕-๙๕. (๒๔๙๕), น. ๑๙๙-๒๐๐.

๔๕ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๒๕. น่าแปลกใจที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ หลายฉบับ กลับมีข้อความทำนองว่า หากมีความไม่แจ้งชัดทางอำนาจในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ถือตามจารีตประเพณี(?) เช่น มาตรา ๗ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ อาจทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยยึดถือการปกครองระบอบใดอยู่

๔๖ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๙.

๔๗ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๘๙.

๔๘ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (๒๔๗๗), น. ๖๙.

๔๙ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (๒๔๗๗), น. ๖๙.

๕๐ พระยาศรีวิสารวาจา. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๑.

๕๑หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร. อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ. (๒๔๗๕), น. ๒๒.

๕๒ หลวงวิจิตรวาทการ. ดวงประทีป วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๗๕. อ้างใน ไพโรจน์ ชัยนาม. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่และบทความเรื่องรัฐธรรมนูญ. (พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, ๒๔๘๘), น. ๑๔๐.

๕๓ ไพโรจน์. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่และบทความเรื่องรัฐธรรมนูญ. (๒๔๘๘), น. ๑๔๐.

๕๔ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๓๑.

๕๕ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๓๒.

๕๖ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. (๒๔๗๗), น. ๗๔-๗๕.

๕๗ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๖/๒๔๗๖ (สามัญ) วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ อ้างใน ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒. (๒๔๙๕), น. ๕๘.

๕๘ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๓๕-๓๗.

๕๙ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๓๗.

๖๐ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๔๐.

๖๑ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๒๘.

๖๒ เดือนและไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายเลือกตั้งด้วย) ภาค ๑. (๒๔๗๗), น. ๒๙๒-๒๙๓.

๖๓ เดือนและไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายเลือกตั้งด้วย) ภาค ๑. (๒๔๗๗), น. ๒๙๓.

๖๔ ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒. (๒๔๙๕), น. ๑๓๑.

๖๕ พระยาศรีวิสารวาจา. อ้างแล้ว. (๒๔๗๕), น. ๔-๕.

๖๖ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ซ-ณ.

๖๗ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๗๐-๗๒.

๖๘ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๗๕-๗๖.

๖๙ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๘๐-๘๑.

๗๐ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๘๒.

๗๑ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๘๓-๘๕.

๗๒ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ๙๒-๙๗.

๗๓ ดิเรก ชัยนาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งพิสดาร : คำสอนชั้นปริญญาโท พุทธศักราช ๒๔๙๑-๒๔๙๒. (พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ๒๔๙๓), น. ๓๑-๓๒.

๗๔ ดิเรก. กฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งพิสดาร. (๒๔๙๓), น. ๓๓.

๗๕ หยุด. "คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕," ใน คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕-๙๕. (๒๔๙๕), น. ๓๓๑-๓๓๒.

๗๖ หยุด. "คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕," ใน คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕-๙๕. (๒๔๙๕), น. ๓๓๒-๓๓๓.

๗๗ ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒. (๒๔๙๕), น. ๑๓๕.

๗๘ ไพโรจน์. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒. (๒๔๙๕ ), น. ๑๓๕.

๗๙ หยุด. "คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕," ใน คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕-๙๕. (๒๔๙๕), น. ๓๘๐-๓๘๒.

๘๐ หยุด แสงอุทัย. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐธรรมนูญทั่วไป. (พระนคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๐๐), น. ๓๑-๓๒.

๘๑ หยุด แสงอุทัย. หลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งทั่วไป : คำบรรยายชั้นปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์. (พระนคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๓), น. ๒๐๕. หยุดได้อธิบายประเด็นนี้ในการบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งในหลายมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี เช่น คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในระดับปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๘๒ หยุด. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙. น. ฐ.


บรรณานุกรม

กรมโฆษณาการ. (๒๔๘๐). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พร้อมคำอธิบายโดยย่อ. พระนคร : โรงพิมพ์สยามอักษรกิจ.

คณะองคมนตรี. (๒๕๔๗). (พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเปิดทำเนียบองคมนตรี ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗) กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง.

คาร์ล ชมิทท์ (เขียน) ธเนศ วงศ์ยานนาวา (แปล). (๒๕๔๔). แนวคิดของความเป็นการเมือง (The Concept of the Political). รายงานการวิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, หลวง. (๒๔๗๕). อธิบายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ. พระนคร : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ.

ดิเรก ชัยนาม. (๒๔๙๓). กฎหมายการเลือกตั้ง : คำสอนชั้นปริญญาตรี พุทธศักราช ๒๔๙๒. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

______. (๒๔๙๓). กฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งพิสดาร : คำสอนชั้นปริญญาโท พุทธศักราช ๒๔๙๑-๒๔๙๒. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

______. (๒๔๙๔). กฎหมายรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งพิศดาร : คำสอนชั้นปริญญาโท พุทธศักราช ๒๔๙๓. พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

เดือน บุนนาค. (๒๔๗๘). กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งพิศดาร คำสอนชั้นปริญญาโท ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

______. (๒๔๘๗). การแยกอำนาจ (La separation des pouvoirs). (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของพระยาประเสนชิตศรีพิไลยและคุณหญิงประเสนชิตศรีพิไลย), พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

เดือน บุนนาค และ ไพโรจน์ ชัยนาม. (๒๔๗๗). คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งด้วย) ภาค ๑ หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ. พระนคร : โรงพิมพ์นิติสาส์น.

______. (๒๔๗๗). คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งด้วย) ภาค ๒ รัฐธรรมนูญสยาม. พระนคร : โรงพิมพ์นิติสาส์น.

ถนอม วิบูลย์มงคล. (๒๔๘๔). "คำบรรยายกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง," ใน ประมวลปาฐกถาโรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครอง เล่ม ๕ พุทธศักราช ๒๔๘๓. พระนคร : โรงพิมพ์เจริญลาภ.

ทิพยเบญญา, พระ. "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ ๖, ๑๓, ๒๒ และ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๘," ใน ชุมนุมปาฐกถา (๒๕๐๔), พระนคร : สุวรรณบรรพต.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (๒๕๔๐). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ.

______. (๒๕๔๖). ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติ ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน.

บุญทอง เลขะกุล (รวบรวม). (๒๔๗๗). คู่มือระบอบใหม่ : ปาฐกถาและบทประพันธ์ของ ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ ม.จ. สกลวรรณกร วรวรรณ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หลวงประพันธ์ไพรัชชพากย์. พระนคร : โรงพิมพ์สยามพาณิชยการ.

ประเจิดอักษรลักษณ์, หลวง. (๒๔๗๗). กฎหมายการเลือกตั้ง : คำสอนชั้นปริญญาตรี. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

______. (๒๔๗๗). กฎหมายรัฐธรรมนูญ : คำสอนชั้นปริญญาตรี. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

______. (๒๔๗๘). กฎหมายรัฐธรรมนูญ : คำสอนชั้นปริญญาตรี. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

ไพโรจน์ ชัยนาม. (๒๔๗๘). กฎหมายรัฐธรรมนูญ : คำสอนชั้นปริญญาตรี. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.

______. (๒๔๗๙). กฎหมายรัฐธรรมนูญ : คำสอนชั้นปริญญาตรี. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ.

______. (๒๔๘๐). กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ.

______. (๒๔๘๘). การร่างรัฐธรรมนูญใหม่และบทความเรื่องรัฐธรรมนูญ. พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล.

______. (๒๔๙๕). คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ.

______. (๒๕๒๔). สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

มุกดา เอนกลาภากิจ. "รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒". วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๔๙๒ และคำแปลภาษาอังกฤษ. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี บุญช่วย วณิกกุล ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๙๓), พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และพระราชบัญญัติประจำบ้าน. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ปลื้ม สุจริตกุล วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๔๗๘ ณ เมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม), พระนคร : โรงพิมพ์ทรงธรรม.ราชธรรมนิเทศ, พระ. (๒๔๗๗).

รัฐธรรมนูญบรรยาย. (พิมพ์ช่วยงานทำบุญ ๕๐ วัน พระยาราชยาสาธก ง่วนสุน อัศวนนท์ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๗๗), พระนคร : โรงพิมพ์สยามพาณิชยการ.

วรรณไวทยากร วรวรรณ, หม่อมเจ้า. (๒๔๗๕). "ปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๕, อ้างใน ไพโรจน์ ชัยนาม.

คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๙๕.

______. "ปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง รัฐธรรมนูญ" เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๗๕, อ้างใน ไพโรจน์ ชัยนาม.

คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, ๒๔๙๕).

______. (๒๔๗๕). อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ. พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.ศรีวิสารวาจา, พระยา. (๒๔๗๕).

คำอธิบายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม. (ลิขสิทธิ์ของสมาคมคณะราษฎร). พระนคร : โรงพิมพ์ลหุโทษ.

ศักดิ์ ไทยวัฒน์. (๒๔๙๙). กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง. พระนคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศุภกาญจน์ ตันตราภรณ์. "รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐". วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒

สงวน ตุลารักษ์. (๒๔๗๖). "คำอธิบายรัฐธรรมนูญฯ," ใน เทอดรัฐธรรมนูญ. พระนคร : คณะกรรมการอำนวยการหนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล. (๒๕๔๖). นิติปรัชญาทางเลือก. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (๒๕๔๙). "กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ๒๔๙๙," ใน http://somsakwork.blogspot.com/2006/09/blog-post_1973.html

สยามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับถาวร พร้อมด้วยคำแถลงการณ์ของอนุกรรมการ. (๒๔๗๕). พระนคร : โรงพิมพ์หลักเมือง.

สุนทรพิพิธ, พระยา. (๒๔๗๘). รัฐธรรมนูญบรรยาย. (พิมพ์แจกในงานศพ นางสาวเจิม สมบัติศิริ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๗๘), พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม.

หจช.สบ. ๓.๘/๒๘ เอกสารส่วนบุคคลของพระยานิติศาสตร์ไพศาล เรื่อง ข้อความเกี่ยวกับบทรัฐธรรมนูญ

หจช.สบ. ๓.๙/๑ เอกสารส่วนบุคคลของพระยานิติศาสตร์ไพศาล เรื่อง สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับกฎหมาย

หนังสือคำอธิบายรัฐธรรมนูญสยาม. (๒๔๗๖). (สโมสรคณะราษฎร แจกในการกฐินพระราชทาน นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ณ วัดชนะสงคราม), ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

หยุด แสงอุทัย. (๒๔๙๕). คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕-๙๕. พระนคร : ชูสิน.

______. (๒๔๘๙). คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๔๘๙. พระนคร : ประชานิติ.

______. (๒๕๐๐). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐธรรมนูญทั่วไป. พระนคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อิศรภักดีธรรมวิเทศ, พระยา. (๒๔๗๖). "รัฐธรรมนูญของเรา," ใน เทอดรัฐธรรมนูญ. พระนคร : คณะกรรมการอำนวยการหนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ.

DearLove, J. "Bringing the Constitutional Back in : Political Science and the State," in Political Studies XXXVII (December, 1989, No. 4) , pp. 521-539.

Henkin, Louis. (1990). Constitutionalism, Democracy, and Foreign Affairs. New York : Columbia University Press.

Hooker, M.B. (1978). Concise legal History of South-East Asia. Oxford : Clarendon Press.

Johnson, N. "The Place of Institution in Study of Politics," in Political Studies XXIII (June-September 1975, No. 2-3), pp. 271-283.

Shapiro, Martin and Hobbs, Douglas S. (1974). The Politics of Constitutional Law. Massachusetts : Winthrop Publishing, Inc.



สำเนาจาก : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ. 2550

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ



1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เหนื่อยเปล่าว!!!..ก็...ศาลใช้ธง(ใบสั่ง)ในการตัดสินคดีที่ทำให้ประชาธิปไตรเข้มแข็ง ขอสถาบันชั้นสูงอยู่รอด ประชาธิปไตร..ชั่งหัวมัน!!!
จากศาลพยายม (อ.ย.) 27 ก.ค. 2551