วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ปราสาทเขาพระวิหาร อาจเป็นระเบิดเวลา


1.

ธรรมชาติของเส้นเขตแดนแบบสมัยใหม่ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเสมือนระเบิดเวลา

เส้นเขตแดนทุกแห่งในทุกวันนี้สืบทอดมรดกมาจากการเมืองแบบก่อนสมัยใหม่ซึ่งไม่สนใจการแบ่งพรมแดนด้วยเส้นชัดเจนต่อเนื่องไปตลอดแนว แถมยังอยู่ได้ด้วยสภาวะที่อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซ้อนทับกำกวมเกินกว่าครึ่งของแนวพรมแดนทั้งหมดของสยาม

เขตแดนสมัยก่อนส่วนมากแค่กำหนดแนวจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องต่อกันตลอดพรมแดน บ้างเป็นแค่หลักหมาย หลายแห่งคลุมเครือ หัวเมืองชายแดนมักอ่อนน้อมต่อเจ้าหลายฝ่ายพร้อมๆ กัน ตลอดแนวพรมแดนสมัยใหม่จึงมีบริเวณที่ไม่ชัดเจนทะเลาะกันได้ไม่รู้จบอยู่เต็มไปหมด

นี่ยังไม่นับอีกปัจจัยคือ สภาพพื้นที่ ลำน้ำ ดอนทราย ชายฝั่ง แม้แต่แนวปันน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังตกลงเขตแดนไปแล้วในครั้งก่อนๆ



2.

เขตแดนแบบชัดเจนและอธิปไตยเหนือดินแดนแบบไม่กำกวม เป็นความปรารถนาของโลกสมัยใหม่ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แค่ประมาณ 100-130 ปีมานี้เอง

การถกเถียงเรื่องเขตแดน อ้างว่าดินแดนเป็นของตนโดยไม่ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ข้อนี้จึงเป็นปัญหายากจะแก้ให้ตกตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะทุกฝ่ายสามารถหาเหตุผลครึ่งๆ กลางๆ มาเข้าข้างตนเองได้ทั้งนั้น หากลามปามต่อไปก็ต้องตัดสินด้วยการใช้กำลัง ตายไปเป็นร้อยเป็นพันก็คงแก้ไม่ตกอยู่ดี

ในเมื่อเขตแดนสมัยใหม่เป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ รัฐสมัยใหม่ที่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงใช้โต๊ะเจรจา สนธิสัญญา แผนที่

หากทะเลาะกันมากก็อาศัยคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นข้อยุติความขัดแย้งเพื่อให้รัฐสมัยใหม่อยู่ร่วมกันได้



3.

เขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร อาศัยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2505 เป็นข้อยุติ เพราะมิฉะนั้นอีกหนทางที่จะตัดสินได้ชั่วคราวคือ กำลังทหาร และชีวิตอีกไม่รู้เท่าไรต้องสูญเสียเพื่อชัยชนะเพียงชั่วคราว

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ไม่มีทางเป็นคำตอบสิ้นสุดสมบูรณ์ในกรณีนี้ (ความเข้าใจที่ว่า สันปันน้ำเป็นมาตรการแบ่งเขตแดนที่ดีที่สุดเสมอเป็นความเข้าใจผิดๆ ตื้นเขินและไม่รับผิดชอบ ตลอดแนวพรมแดนของประเทศไทย เขตแดนหลายแห่งไม่ได้แบ่งด้วยแนวสันปันน้ำ และหากเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ทั่วไป ประเทศไทยคงต้องเสียดินแดนอีกหลายแห่ง ซึ่งทุกวันนี้เป็นของไทยด้วยเกณฑ์อื่น นับรวมกันอาจมากกว่าดินแดนเขาพระวิหารมากนัก - เอาอย่างนั้นไหมล่ะ?)

กรณีปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น หากเป็นแค่ความถูกผิดทางปฏิบัติก็ยังน่าจะหาทางออกได้ คือ ระหว่างแผนที่ - แผนผังกระบวนการขออนุมัติ ลงนาม ทำสัญญาร่วม การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ฯลฯ แต่ขณะนี้ได้เลยเถิดเกินกว่าความถูกผิดในทางปฏิบัติเหล่านี้ไปมากแล้ว

คือ เกิดการฉวยใช้กรณีนี้เพื่อปลุกระดมโมหะของคนไทยว่าปราสาทเป็นของไทย และประเทศไทยควรเอาปราสาทคืนมาเป็นของไทย

ผู้นำพรรคการเมืองพูดเช่นนี้ชัดๆ ผู้นำพันธมิตรหลายคนพูดเช่นนี้ชัดๆหลายครั้ง ผู้มีชื่อเสียงหลายคนในสังคมไทยออกมาพูดเช่นนี้ชัดๆ ปลุกความเชื่อผิดๆ และอันตราย ปลุกชาตินิยมเพ้อเจ้ออย่างไม่รับผิดชอบ

เราควรเคารพข้อยุติที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวางไว้ เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุด ประเทศไทยไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่ดีไปกว่ากัมพูชาในเรื่องนี้ ถึงจะรื้อฟื้นขึ้นมาก็คงไม่ชนะ เว้นเสียแต่จะส่งทหารไปตายเพื่อชัยชนะชั่วคราว



4.

ความคิดความเชื่อเรื่อง “การเสียดินแดน” แพร่หลายในหมู่นักชาตินิยมขาดสติทั้งหลายในภูมิภาคนี้ (และอีกหลายแห่งในโลก)

นักชาตินิยมลาวเคยพูดว่า ลาวเสียฝั่งขวาน้ำโขง (คือภาคอีสานของไทยปัจจุบัน) ให้แก่สยาม นักชาตินิยมเขมรยังโฆษณาอยู่จนทุกวันนี้ว่า กัมพูชาเสียดินแดนให้ไทยและเวียดนามไปมากมาย สงครามระหว่างกัมพูชา-เวียดนามยุคเขมรแดงก็เพื่อเอาดินแดนเขมรบริเวณที่ราบลุ่มปากน้ำโขงคืนมานั่นเอง

นักชาตินิยมกัมพูชายังคงผลิตแผนที่การเสียดินแดนของกัมพูชาเผยแพร่แก่ชาวเขมรให้คิดเจ็บแค้นว่าไทยและเวียดนามเอาดินแดนของเขาไป

นักชาตินิยมไทยผลิตแผนที่ไทยเสียดินแดนเช่นกัน ทั้งแผนที่และประวัติศาสตร์การเสียดินแดนยังเป็นเรื่องสำคัญในหลักสูตรอบรมสั่งสอนคนไทยตลอดมาหลายชั่วคน อยู่ในสมองของคนไทยทั้งประเทศจนไม่เคยสงสัยเลยสักนิดว่า การเสียดินแดนเป็นแค่การตีความประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเองของนักชาตินิยมไทย

การเสียดินแดน ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำในอีกหลายประเทศ รวมทั้งจีน เวียดนาม ปากีสถาน ฯลฯ เสียดินแดนกันทั้งนั้น เพราะประวัติศาสตร์ฝ่ายตัวเองเขียนไว้อย่างนั้น

เพราะความคิดเรื่องการเสียดินแดนเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์อันทรงพลังเพื่อปลุกเร้าค้ำจุนลัทธิชาตินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศ คราใดที่การปลุกระดมเรื่องการเสียดินแดนนำไปสู่การสู้รบแย่งชิงดินแดนจริงๆ ความหายนะสูงมากทุกครั้ง

แต่แทบไม่มีสักกรณีเดียวที่นักชาตินิยมผู้จุดกระแสการเสียดินแดนจะไปออกรบในแนวหน้าเพื่อเอาดินแดนคืนมา



5.

ลัทธิชาตินิยมของไทย อยู่บนฐานความเชื่อสำคัญๆ จำนวนหนึ่งที่มีพลังก่อให้เกิดโทสะและโมหะได้ง่ายมาก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นประวัติศาสตร์แบบทึกทักเข้าข้างตัวเอง

แต่คนไทยก็เชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำ

ความเชื่อเรื่องการเสียดินแดนเป็นหนึ่งในเรื่องพรรค์นั้น ความเชื่อนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความทรงจำผิดๆ ของประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด แต่ความเชื่อเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่จำเป็นมาก เพื่อค้ำจุนลัทธิชาตินิยมของไทย

ถ้าไม่มีความเชื่อเรื่องเสียดินแดน ลัทธิชาตินิยมไทยอาจพังครืน จึงจำเป็นต้องกรอกหัวประชากรด้วยความทรงจำผิดๆ ทำบ่อยๆ มากๆ จนประชากรเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัยไร้ข้อโต้แย้ง



6.

“ไฟ” ของลัทธิชาตินิยมยังคงอันตรายดังที่เป็นมาตลอด

ยังคงเป็นอาวุธที่น่ากลัวในการเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่ต่างจากที่เป็นมาตลอด

พันธมิตรและสื่อมวลชนที่มีแต่ความรักชาติแต่ขาดสติปัญญา กำลังทำสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขาเคยประณามชาวเขมรเมื่อคราวนักชาตินิยมเขมรปลุกกระแสต่อต้านประเทศไทยเมื่อปี 2548

ชาตินิยมก็เหมือนกับไฟ เราไม่ควรเล่นกับมันเพราะอันตราย หากสุมกันเข้าไปจนควบคุมไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเสียแล้ว

(บางคนช่วยสุมไฟชาตินิยมจนคุโชน กล่าวว่าคนไทยยังชาตินิยมไม่พอ ประวัติศาสตร์ไทยยังชาตินิยมไม่พอ แล้วตบท้ายว่า “แต่ต้องสันตินะ สันตินะ” นับเป็นการปัดความรับผิดชอบล่วงหน้าอย่างน่าสมเพชในกรณีที่ไฟชาตินิยมลุกลามปามเกินควบคุมได้)

“ไฟ” ชาตินิยม เป็นบ่อเกิดของโทสะ โมหะ ตามคำสอนของพุทธศาสนา เป็นไฟของอวิชชาชนิดร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง



7.

อย่าเล่นกับไฟอย่างไร้ความรับผิดชอบ หากไม่กล้านำหน้าออกไปรบ ก็อย่าสุมไฟ

หากพวกชาตินิยมไร้สติ ต้องการเอาเขตแดนที่มีปัญหาทั้งหลายมาเป็นของไทย มีเขตแดนอีกนับร้อยแห่งให้เลือกที่จะส่งทหารไปตาย แต่ลงท้ายรับรองได้เลยว่าไม่มีทางยุติข้อขัดแย้งได้ด้วยกำลังทหาร

ยังจำกรณีพิพาทไทย-ลาว เมื่อต้นปี 2531 เพื่อยึดเนิน 1428 ได้หรือไม่? เนินเขาที่แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่และเป็นที่รู้จักด้วยตัวเลขบนแผนที่ทหารเป็นเหตุให้ไทยสูญเสียทหารไปหลายร้อยคน

ยังจำกันได้หรือไม่?

กรณีนั้นกลายเป็นเรื่องเล่าขานต่อมาในประเด็นเรื่องความสามารถของผู้นำทหารของไทยและผลประโยชน์ป่าไม้ที่เป็นชนวนให้สองฝ่ายแย่งชิงกัน รากเหง้าของปัญหาเขตแดนกลับไม่มีคนพูดถึง

รากเหง้าของปัญหาเขตแดนกรณีนั้นมาจากสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1907 ที่พยายามขีดเส้นบนพื้นที่ที่ไม่เคยมีเส้นเขตแดนชัดเจนมาก่อน ประชาชนแถวนั้นก็ปะปนผูกพันกันจนแยกไม่ได้ว่าตรงไหนไทยตรงไหนลาว แถมยังทำสนธิสัญญาก่อนการสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศอย่างละเอียด ชื่อลำน้ำสันเขาตามสนธิสัญญากับชื่อท้องถิ่นจึงลักลั่นกันแต่ต้น

ต่อมาในกรณีพิพาทนั้น ลาวกับไทยอ้างแผนที่คนละฉบับ จากการสำรวจที่กระทำต่างกัน 60-70 ปี (เรื่องตลกคือฝ่ายไทยอ้างแผนที่ฝรั่งเศสประกอบสนธิสัญญา 1907 ที่คนไทยไม่ยอมรับและเกลียดนักหนา ส่วนฝ่ายลาวอ้างแผนที่อเมริกันซึ่งทำขึ้นช่วงสงครามถล่มเวียดนาม ลาว และกัมพูชา) ระหว่างนั้น ลำน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนก็เปลี่ยนไปทั้งชื่อท้องถิ่นและแนวลำน้ำ กล่าวคือ แนวลำน้ำเดิมแห้งขอดไป แต่เกิดแนวลำน้ำใหม่ชื่อใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในแผนที่ฉบับเก่า ชื่อลำน้ำสายเดิมที่เป็นเส้นเขตแดนตามแผนที่เก่าจึงเลอะเลือนไปจากความทรงจำของท้องถิ่น แนวลำน้ำที่เปลี่ยนไปย่อมหมายความว่าสันปันน้ำเปลี่ยนไปด้วย หากถือตามแผนที่คนละฉบับที่ทำกันคนละเวลา เนินที่เคยนับว่าอยู่ในแนวเขตแดนของประเทศหนึ่งก็กลับย้ายไปอยู่ในแนวเขตแดนของอีกประเทศหนึ่งแทน

แม้แต่ชื่อของลำน้ำตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของไทยก็ยังผิดๆ ตลอดระยะกรณีพิพาท เพราะอักษรโรมันในแผนที่เก่าถูกทับด้วยเส้น contour lines ครั้นอ่านอย่างมักง่ายเอาสะดวก ไม่มีการตรวจสอบ จึงกลายเป็นชื่อใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการทะเลาะกันใหม่ได้ในอนาคต

ทหารของสองประเทศตายไปเป็นพันคน เพื่ออะไร?

ตอบ

1.เพื่อสนองโลภะความกระหายผลประโยชน์ที่ทหารผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนได้ด้วยสักนิด

2.เพื่อสนองชาตินิยมที่พอกพูนด้วยโทสะและโมหะจนไร้สติ ไม่ไตร่ตรองปัญหาจากประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักธรรมชาติของพื้นที่และไม่สนใจหาความรู้ท้องถิ่น

3.เพื่อหวังเปลี่ยนชาตินิยมเบาปัญญาที่ไม่มีปัญญาพอที่จะเอาชนะแม้กระทั่งเส้น contour lines บนแผนที่ ให้กลายเป็นชัยชนะอันน่าภาคภูมิใจของชาติ

โศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากชาตินิยมเบาปัญญาในเรื่องเขตแดนเคยเกิดมาแล้ว จะให้เกิดอีกร้อยครั้งก็ได้ ไร้สาระยิ่งกว่ากรณีเนิน 1428 ก็ได้

แต่จะให้เกิดอีกแม้แต่ครั้งเดียวเพื่อสนองความเบาปัญญาของนักชาตินิยมทำไมกัน?



8.

การใช้ปราสาทเขาพระวิหารเพื่อปลุกชาตินิยมอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายกว่าคราวก่อนๆ



ธงชัย วินิจจะกูล

เผยแพร่ครั้งแรกใน
หนังสือพิมพ์มติชน 7 กรกฎาคม 2551

ที่มา : ข่าวประชาไท : บทความธงชัย วินิจจะกูล: ปราสาทเขาพระวิหาร อาจเป็นระเบิดเวลา


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: