เมื่อคิดย้อนถึงเรื่องการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี พนมยงค์ ดิฉันได้ลองคิดถึงภาพของสังคมในขณะนั้น ทำให้คิดึงเหตุการณ์ในช่วงใกล้เคีย 2 เหตุการณ์ด้วยกัน เหตุการณ์แรกคือ การเขียนหนังสือ ทรัพยศาสตร์ ของพระยาสุริยานุวัตร เหตุการณ์ที่สองคือ การเกิดกบฏบวรเดช
ที่คิดถึงเหตุการณ์แรก คือ เรื่องการเขียนหนังสือ ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ พระยาสุริยานุวัตร เขียนเมื่อปี พ.ศ.2454 หลังจากที่ท่านถูกกดดันให้ลาออกจากราชการเพราะขัดแย้งกับเจ้าภาษีฝิ่น สมัยที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี พ.ศ.2450 ตอนนั้นท่านไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่มีใจเป็นห่วงใยประเทศชาติ และท่านสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์ด้วยตนเอง จึงแต่งตำราเศรษฐศาสตร์ คือทรัพย์ศาสตร์ขึ้น 2 เล่ม และกำลังจะเขียนเล่มที่ 3 ปรากฎว่าเป็นเรื่องราวใหญ่โตมาก รัชกาลที่ 6 ส่งเสนาบดีไปพบท่านขอไม่ให้เขียนต่อ ทั้งทรงวิจารณ์อย่างรุนแรงลงในวารสารสมุทรสาร ของราชนาวีสมาคม หนังสือที่พิมพ์ออกมาก็เผยแพร่ไม่ได้ เพราะทางราชการขอร้องไม่ให้ผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 7 ยังมีการออกกฎหมายห้ามสอนลัทธิเศรษฐกิจโดยถือเป็นความผิดอาญาด้วย
จะเห็นได้ว่าในช่วง 22 ปีก่อนที่ท่านปรีดีจะเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจออกมา แม้ว่าขณะนั้นเศรษฐกิจไทยจะถูกกำหนดจากระบบทุนนิยมโลกให้ส่งออกข้าว ไม้สัก และดีบุก เป็นหลัก ทำให้คุ้นเคยกับการค้าผลผลิตเกษตรและการจัดการเรื่องการเงิน จะเห็นได้ว่า แบงก์สยามกัมมาจลก็เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2447 แล้ว แต่คนไทยกลับถูกปิดหูปิดตาจากความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ควมรู้ความเข้าใจต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อกลไกต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ทั้งที่เนื้อหาของหนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ทั้งที่เนื้อหาของหนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิค เพียงแต่พระยาสุริยานุวัตรท่านให้ความสำคัญกับชาวนา เพราะท่านเห็นว่าพลเมืองเป็นรากฐานของประเทศชาติ และท่านก็เห็นด้วยกับสมาคมคนงานและวิธีการแบบสหกรณ์ แต่ว่าพระยาสุริยานุวัตรก็ยังไม่ได้เสนอเลยไปถึงเรื่องการนำระบบสหกรณ์มาใช้กับชาวนา
เมื่อดิฉันคิดถึงกรณีพระยาสุริยานุวัตร จึงทำให้อดมองแบบสืบเนื่องไม่ได้ว่า ท่านปรีดีอาจจะได้รับอิทธิพลโดยตรงหรือไม่ก็ตามจากพระยาสุริยานุวัตร แต่สิ่งที่ท่านเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจ เป็นคล้ายคลื่นความคิดที่มีบางอย่างสืบเนื่องมาจากสิ่งที่พระยาสุริยานุวัตรได้เคยเสนอมา แต่ต่างกันที่พระยาสุริยานุวัตรหนักไปทางเสรีนิยม ท่านปรีดีหนักไปทางสังคมนิยม
ที่คิดถึงเหตุการณ์ที่สอง เพราะครั้งที่ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ของพระองค์เจ้าบวรเดช ประกาศยึดเมืองนครราชสีมา และกล่าวปราศรัยที่ศาลา "ร่วมเริงชัย" ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 นั้น พระองค์ประกาศชัดเจนว่า เพราะพระยาพหลฯเรียกตัวหลวงประดิษฐฯกลับประเทศ และพระองค์เห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงพระประดิษฐ์มนูธรรมนั้นมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อพระยาพหลฯ เรียกตัวหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมาเป็นก็เป็นการแน่นอนว่าจะมีการเอาเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯร่างขึ้นมาใช้กับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดช ท่านประกาศเหตุผลการยึดอำนาจแบบเป็นทางการของท่านอย่างนั้น ผลสุดท้ายกบฎบวรเดชก็จบลงด้วยการถูกรัฐบาลปราบ แต่ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดีก็ถูกขึ้นหิ้งไปโดยปริยายเช่นกัน
เหตุการณ์ที่สองนี้ทำให้ดิฉันคิดว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดีถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ตอนแรกก็ทำให้รัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกันอย่างหนัก ท่านปรีดีถูกกล่าวหาว่ามีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องส่งตัวท่านออกนอกประเทศ ต่อมาเมื่อท่านกลับเข้าประเทศ ฝ่ายต่อต้านก็ถึงขั้นยกเป็นเหตุให้ยึดอำนาจกันเลยทีเดียว
ความคิดของท่านปรีดีในเค้าโครงเศรษฐกิจของท่าน เป็นความคิดแบบสหกรณ์สังคมนิยม รัฐวางแผนการผลิต แต่สหกรณ์เป็นทั้งหน่วยทางเศรษฐกิจและเป็นหน่วยทางสังคม ควบคุมการผลิต ในแง่นี้ดูเหมือนเป็นการวางแผนจากส่วนกลาง ดิฉันเองเป็นอนาธิปัตย์ ปฏิเสธรัฐ แต่ดิฉันมองท่านปรีดีอย่างพยายามทำความเข้าใจ ในสถานการณ์ขณะนั้น ท่านเป็นผู้นำคนหนึ่งในคณะราษฎร ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 33 ปี และมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ดิฉันเห้นว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากที่คนที่อยู่ในภาวะอย่างนี้จะพยายามใช้อำนาจรัฐให้เป็นประโยชน์ นำอำนาจรัฐมาสานความคิดฝันของตนเองให้เป็นความจริง เป็นใครใครก็คงใช้อำนาจรัฐในมือให้เกิดประโยชน์เต็มที่เหมือนกัน แต่อะไรที่ทำให้ท่านพลาด ดิฉันคิดว่าเพราะอำนาจที่ท่านได้มาจากความจริงไม่ใช่อำนาจเต็มมือ ซึ่งตรงนี้เป็นเพราะหลายอย่าง เพราะคณะราษฎรเองก็ไม่ได้มีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือท่านไม่ได้ล้มล้างระบบกษัตริย์ ตรงนี้มองเป็นข้อดีก็ได้ มองเป็นข้ออ่อนก็ได้ ถ้ามองเป็นข้อดีคือท่านเป็นคนอ่อน ใจดีมีเมตตา ถ้ามองเป็นข้ออ่อนคือท่านไม่เด็ดขาด ตอนหลังท่านเคยให้สัมภาษณ์เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจยอมรับว่าเป็นเพราะท่านใจร้อน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป และในช่วงตอนปลายชีวิตท่าน ท่านได้สรุปว่า
"ในปี ค.ศ.1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความชัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วจะได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกษ์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้ยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ.1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความชัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ"
(คำสัมภาษณ์ เอเชียวีค 28 ตุลาคม 2323 ใน มรดกปรีดี พนมยงค์ , สุพจน์ ด่านตระกูล รวบรวม , 2526 , หน้า 138-139 )
ดิฉันเห็นว่าสิ่งที่ท่านสรุปบทเรียนให้คนรุ่นหลังนี้สำคัญ เป็นการถอดใจพูด สรุปง่ายๆ คือ เมื่อท่านมีอำนาจท่านขาดประสบการณ์ แต่เมื่อท่านมีประสบการณ์ท่านขาดอำนาจ ฉะนั้นถ้าจะประเมินท่านปรีดีก็ต้องคิดเผื่อท่านตรงนี้ด้วย
สำหรับดิฉัน ดิฉันประเมินท่านปรีดีในแง่ดี และประเมินเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านค่อนข้างสูง เรานั่งอ่านเค้าโครงเศรษฐกิจกันใน พ.ศ.นี้ เราอาจรู้สึกไม่ค่อยเห็นมีอะไรมากนัก และก็ไม่ได้ลิดรอนของเก่าอะไรนัก ไม่ได้ลิดรอนของเก่า ไม่ได้ยึกทรัพย์เป็นของรัฐ ไม่มีการปิดโรงงานที่เปิดอยู่แล้ว ไม่มีการริบเอาที่ดินเป็นของรัฐ และหากใครยังอยากทำอะไรของตนเองอยู่ก็ปล่อยให้ทำ แต่รัฐไม่สงเสริม รัฐจะส่งเสริมส่วนที่เป็นของรัฐ ทั้งหมดนี้เราอ่านแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเค้าโครงหยาบๆและแข็งๆ แต่ถ้าเราคิดถึงสมัย พ.ศ.ก่อนนั้น ครั้งที่เค้าโครงเศรษฐกิจถูกเสนอขึ้นมา มีพระบรมราชวินิจฉัยฯ ของรัชกาลที่ 7 เป็นกระบวนมาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ท่านปรีดีถูกส่งไปฝรั่งเศส พระยาพหลฯชิงอำนาจกลับจากนั้นกบฎบวรเดช ดิฉะนั้นจึงคิดว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดีต้องมีความสำคัญบางอย่างในขณะนั้น ต้องเป็นสิ่งใหม่ที่จะมากระทบโครงสร้างผลประโยชน์เก่าอย่างมาก ท่านจึงถูกต่อต้านรุนแรง
ที่นี้มาถึงประเด็นที่ว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดีมีส่วนไหนที่จะเอามาใช้ได้บ้าง ก็ต้องลองเปรียบเทียบไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
1.
ดิฉันคิดว่าเหตุการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้เหมือนกันตรงที่ว่า สังคมทุกข์ยากจนต้องหาทางออกใหม่ สมัยนั้นเศรษฐกิจโลกตกต่ำตั้งแต่ พ.ศ.2472-2478 กระทบต่เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคกลางซึ่งเป็นเศรษฐกิจข้าว ตอนนั้นเศรษฐกิจข้าวไทยผูกติดอยู่กับระบบทุนโลกแล้ว เมื่อกลไกตลาดไม่ทำงาน ชาวนาซึ่งเสียค่าเช่านาสูง แต่ข้าวราคาตก ก็ต้องทิ้งท้องนาเข้าเมือง แต่ในเมือง บริษัทห้างร้านก็ล้มกันระเนระนาด ช่วงนั้นชาวนาไทยร้องทุกข์กับรัฐบาบตลอด จนปี พ.ศ.2473 รัฐบาลต้องจ้างฝรั่ง ดร.ซิมเมอร์แมน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด เข้ามาสำรวจเศรษฐกิจชนบทสยามเป็นครั้งแรก ปีมาต่อมซิมเมอร์แมนก็รายงานออกมาว่า ชาวนาภาคกลางไม่มีที่ดินทำกินสูง คือสูงมากถึงประมาณ 32% แต่เฉพาะธัญญบุรีหรือแถบทุ่งรังสิต ชาวนาไม่มีที่ทำกินสูงถึง 85% และที่สำคัญคือ ชาวนามีปัญหาหนี้สินอย่างรุนแรงมีความยากจนที่ดิ้นไม่หลุดกันมาก แล้วสัดส่วนชาวนามีถึง 99% เพราะฉะนั้นใครเป็นรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาชาวนา ท่านปรีดีก็คิดแก้ปัญหาชาวนา โดยคิดแบ่งปันทรัพยากรในสังคม คิดเกลี่ย คิดทำให้เสมอภาคมากขึ้น คิดให้ชาวนาทำสหกรณ์ มาถึงสมัยนี้พอเศรษฐกิจตกต่ำก็ต้องหันไปโฆษณาว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้านและที่ดินทำกิน เป็นทุนชีวิตของสังคม" อะไรทำนองนี้เหมือนกัน
ส่วนต่างที่สำคัญของสมัยนั้นกับสมัยนี้ คือแต่ก่อนสังคมไทยคนน้อยแต่ทรัพยากรมาก คนยังมีชีวิตอยู่บนความมั่งคั่งของธรรมชาติได้ แต่สมัยนี้คนมากแต่ทรัพยากรน้อย แรงกดดันสูงมาก สมัยนั้นเศรษฐกิจโลกตกต่ำ สมัยเศรษฐกิจโลกยังไม่ตกต่ำแต่ก็ผันผวนใกล้ตกต่ำ เพราะวิธีเอาเปรียบของระบบทุนโลกต่อประเทศชายขอบ การพัฒนาซับซ้อนขึ้นตามเทคโนโลยี และการจัดการสมัยใหม่ พอถึงเวลาพังทลายจะน่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นพอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสังคมไทย เรื่องเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจทางเลือกต่างๆ ก็ผุดขึ้น เพียงแต่ยังไม่มีใครเสนอสิ่งที่เรียกว่าเป็นภาพรวมของส่วนเศรษฐกิจแบบทางเลือกนี้ออกมาอย่าชัดๆ
2.
ในสมัยนั้น ความทุกข์ของสังคมสะสอมมากจนเกิดการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ขึ้น มาถึงสมัยนี้ ผู้คนในสังคมก็ทุกข์ยากเหมือนกัน แต่ว่าสมัยก่อนกลุ่มคนแบ่งกันชัดเจน มีกลุ่มเจ้านาย มีข้าราชการ มีเจ้าของที่ดิน มีพ่อค้า มีชาวนา ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นชาวนาชาวไร่แบบผลิตเพื่อขายเป็นล่ำเป็นสันก็ยังไม่มี แต่มาถึงสมัยนี้ชนชั้นและชั้นชนแตกตัวอย่างมาก และความสัมพันธ์ต่อกันและกันก็ดำเนินไปอย่างสลับซับซ้อน อย่างเพลงหนุ่มนาข้าวกับสาวนาเกลือ หรือนากุ้งขัดแย้งกันโดยพื้นฐานเลย ไปทำนาติดกันเมื่อไรมีปัญหาเมื่อนั้น นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันมีกลุ่มคนที่แตกต่งหลากหลายกันมาก เป็นอาชีพต่างๆเป็นคนที่อยู่ในส่วนต่างๆ
ในสมัยนั้น คนไม่ต้องเข้าใจระบบเศรษฐกิจก็ยังอยู่ได้ พวกเขาโตขึ้นมาบนฐานธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ถ่านทอดกันมา และยังมีส่วนเกินให้พ่อค้า ให้รัฐบาล ให้ตลาดโลกเอาเปรียบได้เยอะ พื้นที่เพาะปลูกก็ยังขยายไปได้เรื่อยๆ มาถึงสมัยนี้ เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามาครอบงำชีวิตคนเรามากขึ้น ต้องแข่งชันกันมากขึ้น ต้องค้าขายเป็น ต้องหมุนเงินเป็น ในระดับชาวบ้านเองก็เป็นมากขึ้นด้วย แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ คนในสังคมไทยก็ยังตามไม่ทันอยู่ดี คือความเข้าใจตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ ตามไม่ทันว่าส่วยหัวของระบบทุนโลกกลายเป็นบ่อนคาสิโนไปแล้ว และเจ้าของบ่อนมีอำนาจรัฐ ไม่ใช่แค่ระดับชาติแต่เป็นระดับโลก เมื่อสภาพความเป็นคาสิโนครอบระบบอยู่ ก็สามารถอาศัยกลไกระบบสูบเอาโภคทรัพย์ จากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงออกไปได้ตลอดเวลา ทั้งผ่านกลไกอำนาจต่างๆในสังคม และผ่านกลไกลที่อยู่ในจิตใจผู้คนทั้งหลาย คือความโลภของคนในสังคมนี่เอง ดิฉันจึงเห็นว่าอุณหภูมิในสังคมไทยใกล้เข้าจุดวิกฤตเต็มทีแล้ว แต่ดิฉันยังมองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ได้แต่หวังว่าถ้าประชาสังคมเข้มแข็งและมีสติพอ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และสันติ
3.
ข้อเปรียบเทียบอย่างที่สาม คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติ ดิฉันได้พูดไปแล้วว่า สมัยก่อนคนน้อยทรัพยากรสมบูรณ์ แต่สมัยนี้คนมากทรัพยากรเสื่อมโทรม เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ อย่างมากว่า สังคมยุคใหม่ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศให้มากเพราะเป็นฐาน เป็นความอยู่รอดของสังคมโดยรวม ตรงนี้เราไม่โชคดีเหมือนอดีตแล้ว ตรงนี้เราต้องศึกษาเยอะ คิดแยะ คิดว่าจะแบ่งปันทรัพยากรอย่างไร จะใช้อย่างไรให้ยั่งยืน เราคิดแบบเข้าข้างตัวเองไม่ได้ เราต้องเอาธรรมชาติเป็นฐานจริงๆ เราต้องมองให้เห็นส่วนทั้งหมดให้ได้
เพราะฉะนั้น เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี นั้น ถ้าพูดถึงว่า ดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ถ้าถูกใช้ในสมัยที่ท่านเสนอ มาสรุปตอนนี้ก็สรุปยาก เพราะในอดีตก็มีตัวแปรเยอะที่ต้องเอามาคิดด้วย แต่อย่างน้อยในแง่ของความคิดฝัน ดินฉันเห็นว่าดี และยังดีอยู่จนถึงปัจจุบันด้วย คือเป็นส่วนที่เรายังนำมาใช้ได้ ความคิดฝันของท่านก็คือ ต้องการให้ผู้คนพลเมืองอยู่ดีมีสุข ให้คนเป็นมนุษย์ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ดิฉันเห็นว่าตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่าที่เราอยู่กันทุกวันนี้ ที่เราปั่นหุ้นปั่นเงินกัน ที่เรามองสิ่งต่างๆ เป็นกลไก มองโลกมองคนเป็นแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว และสัมพันธ์ต่อกันอย่างอื่นไม่เป็นนอกจากในเชิงอำนาจ ในเชิงพาณิชย์ ดิฉันว่าเราแย่แล้ว มันไม่เป็นมนุษย์ มันกลายเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ผลประโยชน์ มันคอยแต่จะกินกันท่าเดียว ยิ่งมีวิกฤติ สังคมก็ยิ่งไปไม่รอด เพราะฉะนั้นความคิดฝันแบบที่อยากเห็นสังคมมีความอาทรจึงสำคัญ และถ้าเราขยายมันออกไปให้เป็นระบบคุณค่าใหม่ เป็นศีลธรรมใหม่ของสังคม ทำให้คนเป็นมนุษย์ ให้คนเกื้อกูลกัน ดิฉันว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมไปรอด
อีกเรื่องที่ดิฉันเห็นว่าสำคัญคือ ความรักชาติ ความต้องการให้สังคมไทยพึ่งตนเองให้มาก ความเห็นแก่สังคมส่วนรวม ดิฉันเห็นว่าท่านปรีดีมีสิ่งนี้มาก และสิ่งที่เค้าโครงเศรษฐกิจเสนอก็มีเรื่องความรักชาติ อยากเห็นชาติไทยยืนอยู่บนขาตัวเองได้แทรกเป็นยาดำอยู่ ดิฉันคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าจะนำมาใช้ในปัจจุบันเหมือนกัน แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะคนไทยไม่ค่อยรักชาติ จินตภาพเกี่ยวกับชาติของคนไทยมักผูกติดอยู่กับรัฐ คนไทยไม่เข้าใจว่า ที่จริงชาติก็คือพวกเราทั้งหมด คือผู้คนทั้งหลาย เป็นเรื่องส่วนรวมที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่จินตภาพ ไม่ใช่เป็นแค่สัญลักษณ์ล่องลอยที่แปรูปธรรมออกมาเป็นวีรบุรุษคนใดคนหนึ่ง เป็นรัฐ หรือเป็นรัฐบาล แต่เป็นเราทั้งหลาย ดิฉันคิดว่าตรงนี้สำคัญสำคัญมาก เพราะถ้าเปลี่ยนจินตภาพนี้ได้ จะช่วยให้คนไทยมีสิ่งที่คุณหมอประเวศ วะสี เรียกว่า "จิตใหญ่" ได้มากขึ้น คือคำนึงถึบงสังคมส่วนรวมมากขึ้น มองเห็นว่าตนเองอยู่ในส่วนไหนของคำว่า "ชาติ" และจะรักชาติแบบติดดินมากขึ้นด้วย
กัญญา ลีลาลัย
โปรดอ่านเพิ่มเติม :
เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
100 ปี ชาตกาลนายปรีดี คนดีที่สังคมไทยไม่ต้องการ
โครงสร้างเศรษฐกิจปรีดี พนมยงค์
พระบรมราชวินิจฉัย ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
ที่มา : nidambe11 : เค้าโครงเศรษฐกิจในวันนั้น กับสังคมไทยในวันนี้
หมายเหตุ
การเน้นข้อความนอกเหนือจากต้นฉบับ
ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
เค้าโครงเศรษฐกิจในวันนั้น กับสังคมไทยในวันนี้
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 11:57 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น