เสวนา เรื่อง
สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย
วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551
วิทยากร :
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณัฐพล ใจจริง
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
ดำเนินรายการโดย :
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณัฐพล ใจจริง
อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
แนวคิดนักกฎหมายสำนักจารีตประเพณี
VS สำนักรัฐธรรมนูญนิยม
นอกจากวันนี้จะเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ยังเป็นวันที่สองที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพูดในวันนี้คือเพื่อเป็นเกียรติแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย
หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อยู่ในมาตราที่ 1 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) 2475 คงทราบกันดีว่าจริงๆ แล้วฉบับนี้ อาจารย์ปรีดี มุ่งหวังใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป เหตุผลก็คือ ข้อความว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ถ้ากล่าวอย่างสั้นๆ ประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 26 มิ.ย. 2475 คือการทำให้โครงสร้างสังคมก่อน 2475 ที่พระมหากษัตริย์อยู่บนสุดของสามเหลี่ยมปิรามิด ประชาชนอยู่ข้างล่าง พอ 2475 เปลี่ยนเอาฐานของปิรามิดให้พลเมืองขึ้นมาอยู่ข้างบน ดังนั้น พอมีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 พระปกเกล้าฯ กลับขึ้นมาอีก จึงมีในส่วนที่ระบุว่า อำนาจของประชาชนนั้นมีพระมหากษัตริย์ใช้แทนผ่านสามสถาบันทางการเมือง โดยข้อความนี้ยังดำรงอยู่มาตลอด
สำนักจารีตประเพณี อธิบายความชอบธรรมของรัฐาธิปัตย์ของไทยว่า
พระมหากษัตริย์นั้นมีความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุด
เพราะมีความเป็นมาอย่างยาวนาน มีการสะสมความรู้
เปรียบได้กับศีรษะของบ้านเมือง
โดยแนวคิดพัฒนามาจากการปกครองแบบพ่อปกครองลูก
บางส่วนมาจากเทวราชา
หลัง 2475 ในตำราหลายเล่มที่ศึกษารัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่สนใจแต่บทบัญญัติ ว่ามาตรานี้ว่าอะไร แต่ไม่ค่อยมีใครศึกษาเรื่องความคงเส้นคงวา ความเปลี่ยนแปลง และการเพิ่มขึ้นมาของกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร จึงคิดว่าควรจะมีการศึกษาภาพรวมที่มีความต่อเนื่องยาวนาน โดยได้ลงไปศึกษาหมวดพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่หลังปี 2475-2500 ว่านักกฎหมายให้คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเหล่านั้นอย่างไร โดยผมสนใจเรื่องการสร้างคำอธิบาย เพราะความเหล่านั้นแม้ถูกจารึกในรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีชีวิต ไม่ถูกประยุกต์หรือมีอิทธิพลต่อความคิดทางสังคม ถ้าไม่มีคนให้ความหมายมัน
หลัง 2475 นักกฎหมายที่สนับสนุนทั้งระบอบเก่าและใหม่ก็พยายามใช้ความรู้ทางกฎหมายของตนเองอธิบายตำราออกมา โดยขอแบ่งแนวคิดนักกฎหมายหลังปี 2475 จากคำอธิบายรัฐธรรมนูญเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม traditionalism (สำนักจารีตประเพณี) กับกลุ่ม constitutionalism (สำนักรัฐธรรมนูญนิยม)
พวกจารีตนิยมนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายที่จบจากอังกฤษ เป็นชนชั้นนำที่ได้ทุนหรือมีฐานะพอไปเรียนต่างประเทศ มีเป้าหมายคือการไปเรียนที่สำนักอังกฤษ เชื่อว่าพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์นั้นมีความสมบูรณ์มาตลอดทางประวัติศาสตร์ เพราะดำรงอยู่ตลอดเวลา
อีกพวกคือพวกรัฐธรรมนูญนิยม จบจากฝรั่งเศส เยอรมนี ภาคพื้นยุโรป บางส่วนมาจากโรงเรียนกฎหมายของเราเอง ส่วนใหญ่มีภูมิหลังเป็นสามัญชน เน้นเรื่องการจำกัดอำนาจรัฐ และการตรวจสอบทุกองค์กร
สำนักจารีตประเพณี อธิบายความชอบธรรมของรัฐาธิปัตย์ของไทยว่า พระมหากษัตริย์นั้นมีความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุด เพราะมีความเป็นมาอย่างยาวนาน มีการสะสมความรู้ เปรียบได้กับศีรษะของบ้านเมือง โดยแนวคิดพัฒนามาจากการปกครองแบบพ่อปกครองลูก บางส่วนมาจากเทวราชา ต่อมาพอเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ เขาก็อธิบายว่า ได้รับอิทธิพลจากความคิดแบบพุทธ และปรับตัวไปตามแนวคิดทางศาสนา ที่เรียกว่า “เอนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์มาจากประชาชน ทุกคนเท่ากันหมด ยกเว้นพระมหากษัตริย์คนเดียว ดังนั้น คนในสังคมสามารถแบ่งกลุ่มได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่จงรักภักดีกับกลุ่มที่ไม่จงรักภักดี
ส่วนพวกรัฐธรรมนูญนิยมมีแนวคิดมาจากสัญญาประชาคม โดยมองว่า
อำนาจนั้นมาจากที่ทุกคนมอบให้ ถ้าไม่ดี ก็สามารถเอาคืนได้
ดังนั้น องค์กรนั้นๆ ก็จะถูกจำกัดโดยอำนาจของประชาชน
หรือคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ส่วนพวกรัฐธรรมนูญนิยมมีแนวคิดมาจากสัญญาประชาคม โดยมองว่า อำนาจนั้นมาจากที่ทุกคนมอบให้ ถ้าไม่ดี ก็สามารถเอาคืนได้ ดังนั้น องค์กรนั้นๆ ก็จะถูกจำกัดโดยอำนาจของประชาชน หรือคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มสำนักจารีตประเพณี พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่เห็นต่อหน้า โดยเน้นที่ความต่อเนื่อง พวกเขาอ้างอิงอดีตตลอดเวลา โดยจะรับเหตุการณ์หรือการกระทำบางอย่างเข้ามาเป็นหลัก และอ้างการกระทำนั้น เช่น การรับรองการรัฐประหาร 2490 การรับรองการรัฐประหาร 2500 หรือหลังจากนั้นมันเป็นจารีตประเพณีหรือเปล่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้มันวนกลับไปอิงกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 จะเห็นว่านี่คือสิ่งที่เขาวางกันมาเรื่อยๆ ว่าเป็น จารีต แต่มันอยู่ที่ว่าพวกเรายอมรับว่ามันเป็นจารีตรึเปล่า สำหรับพวกกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมนั้นมองว่า ต้องมีการจำกัดอำนาจรัฐ และแบ่งแยกอำนาจ
จากแนวคิดทั้ง 2 กลุ่ม ถ้าจำแนกนักกฎหมายโดยดูจากงานเขียนของพวกเขา กลุ่มสำนักจารีตประเพณี กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะรับราชการในระบอบเก่า มีความก้าวหน้าอย่างมากในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ใกล้ชิดเจ้านายและพระมหากษัตริย์ หลายคนมีบทบาทหลัง 2475 เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุรฯ พระยาปรีดานฤเบศร์ พระยามานวราชเสวี หลวงจักรปราณีฯ
ด้านพวกรัฐธรรมนูญนิยมเป็นพวกฝรั่งเศส เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ ดร.เดือน บุนนาค บางคนจบในเนติบัณฑิตในประเทศเช่น ดิเรก ชัยนาม สงวน ตุลารักษ์ ไพโรจน์ ชัยนาม ส่วนบางคนเป็นนักกฎหมายสำนักเยอรมนี เช่น ดร.หยุด แสงอุทัย
ทั้งสองสำนักอธิบายเหตุการณ์อย่างไร
2475 มีความจำเป็นแค่ไหน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ทั้งสองกลุ่มอธิบายอย่างไร หลวงจักรปราณี สำนักจารีตประเพณีบอกว่านี่คือการชิงสุกก่อนห่าม พระองค์จะให้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว พวกนี้มาทำทำไม ส่วนหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ สำนักรัฐธรรมนูญนิยมบอกว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ราษฎรทั้งหลายไม่มีส่วนในการปกครองประเทศเลย เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว
หลวงจักรปราณีฯ จากสำนักจารีตประเพณี เห็นว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะจำกัดอำนาจกษัตริย์ไว้มากแล้ว แต่เขาเห็นว่ากษัตริย์ยังทรงคุณแก่บ้านเมืองได้ เพราะราษฎรยังคุ้นเคยกับการปกครองกับราชาธิปไตยมากกว่าแบบอื่น ดังนั้นหากกษัตริย์ยังคงเสวยราชย์ รัฐบาลจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชน เพราะทรงมีความสามารถในการให้คำแนะนำ เตือนสติรัฐบาลและให้ความเห็นทางกฎหมายได้ การจำกัดอำนาจกษัตริย์นั้น เขาเห็นว่า ไม่มีข้อเสีย “เพราะต่อไปนี้กษัตริย์ที่ไม่ฉลาดหรือไม่สามารถก็จะไม่มีอำนาจทำการบ้านเมืองให้เสียได้ ส่วนกษัตริย์ที่ทรงเกียจคร้านก็คงไม่ทำอะไรเลย แต่งานของรัฐบาลก็คงดำเนินไปตามเคยนั่นเอง”
ส่วนหลวงประเจิดนั้นบอกว่า “ครั้นมาเมื่อสมัยประเทศมีการปกครองเปลี่ยนแปลงอย่างประเทศสยาม อำนาจอธิปไตยได้หลุดจากมือประมุขของประเทศคือพระมหากษัตริย์ ไปอยู่ในอำนาจของพลเมืองทั้งหลาย ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” หลวงประเจิดเน้นว่า
“อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
ด้าน เดือน บุนนาค และ ไพโรจน์ ชัยนาม กล่าวโดยอ้างอิงสัญญาประชาคม ว่า “ลัทธิประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์…เจ้าลัทธิเดิมมีความประสงค์ให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจการปกครองที่จะเกิดประโยชน์แก่ราษฎร หากพระมหากษัตริย์ปกครองไม่เป็นที่พอใจราษฎร เจ้าลัทธิก็แสดงความเห็นว่า ราษฎรมีสิทธิถอดถอนพระมหากษัตริย์ออกเสียจากตำแหน่งผู้ใช้อำนาจสูงสุดได้”
แนวคิดสำคัญที่สองฝ่ายโต้แย้งกัน พวกจารีตนิยมจะเอาความคิดเก่ากลับมา คือ เอนกนิกรสโมสรสมมติ ส่วนพวกรัฐธรรมนูญนิยมจะยึดถืออำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย
ถ้าเอาแนวคิดของสำนักจารีตประเพณีตั้ง
กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมที่โต้แย้งประเด็นนั้น
อย่างชัดเจนคือ หยุด แสงอุทัย ซึ่งบอกไว้ในงานของเขาว่า
“สำหรับประเทศไทยมีผู้อ้างแม้ว่า พระมหากษัตริย์
ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้อำนาจมาจากราษฎรนั้น
แต่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
พระยาศรีวิสารฯ แห่งสำนักจารีตประเพณี อธิบายประเด็นนี้โดยเอาคติ “เอนกนิกรสโมสรสมมติ” มาอธิบายในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญของเขาว่า เอนกนิกรสโมสรสมมติ “อันว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยามนั้น แปลว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้น ทั้งนี้เป็นการตรงกับหลักการโบราณประเพณีของเรา แต่เดิมมาพระนามของพระเจ้าแผ่นดินของเรามีตอนหนึ่งว่า เอนกนิกรสโมสรสมมติ และพิธีราชาภิเษกก็มีพราหมณ์และข้าราชการผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งแสดงชัดเจนว่าประเพณีของเราไม่ถือว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเนื่องมาจากพระราชอำนาจของพระองค์เอง ในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินวงศ์สติวารต [Stuart] เป็นต้น ถือว่า พระเจ้าแผ่นดินจุติลงมาจากสวรรค์ จึงนำเอาพระราชอำนาจที่ได้จากสวรรค์มาปกครองแผ่นดิน ประเทศเราตั้งแต่โบราณมาไม่ถือหลักการเช่นนั้น”
พูดง่ายๆ คือพระยาศรีวิสารบอกว่า คติอำนาจมาจากสวรรค์ที่ใช้ในยุโรปนั้นไม่ใช่เป็นแบบของเรา แต่ของเรานั้น ขึ้นครองราชย์มาจากเอนกนิกรสโมสรสมมติ คือยกขึ้นมา
ส่วนพวกรัฐธรรมนูญนิยมอย่างหลวงประเจิดบอกว่า ที่มาของอำนาจคือหลักการสัญญาประชาคม โดยยกหลักการว่า “ราษฎรมีอำนาจเสมอที่จะเอาอำนาจสูงสุดที่มอบให้แก่ประมุขของชาติกลับคืนมาได้เสมอ” และประเด็นสำคัญ การโต้แย้งคติเอนกนิกรสโมสรสมมตินี้ ปรากฏในงานของหยุด แสงอุทัย ถ้าเอาแนวคิดของสำนักจารีตประเพณีตั้ง กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมที่โต้แย้งประเด็นนั้นอย่างชัดเจนคือ หยุด แสงอุทัย ซึ่งบอกไว้ในงานของเขาว่า “สำหรับประเทศไทยมีผู้อ้างแม้ว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้อำนาจมาจากราษฎรนั้น แต่ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นเช่นนั้น”
อำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหน
พวกรัฐธรรมนูญนิยมบอกว่า อำนาจพระมหากษัตริย์กับอำนาจประชาชนคืออันเดียวกัน แต่พวกบอกว่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน
กลับไปดูภูมิหลังก็ต่างกัน นักกฎหมายอย่างหลวงจักรปราณี บอกว่า “การที่จะเขียนว่าอำนาจสูงสุดของประเทศจะอยู่กับราษฎร หรือจะเขียนว่าอำนาจสูงสุดอยู่กับพระราชาธิราช แต่จะต้องใช้อำนาจนั้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครอง (อย่างญี่ปุ่น) ผลที่จะได้ก็คงเท่ากัน”
พูดง่ายๆ คือหลวงจักรปราณีพยายามจะบอกว่า การเขียนรัฐธรรมนูญของไทยเป็นแบบรัฐธรรมนูญฉบับเมจิ ไม่ต่างกันว่าจะเขียนให้อำนาจเป็นของประชาชนหรือพระมหากษัตริย์ แต่ให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เหมือนกันแล้ว
ส่วนเดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม บอกว่า ไม่เหมือนกัน เพราะหากเขียนให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระราชาธิราชนั้น หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงจำกัดอำนาจพระองค์เอง ตราบเท่าที่พระองค์ยังทรงยินยอม แต่หากไม่ประสงค์จำกัดอำนาจแล้ว ย่อมทรงเรียกอำนาจกลับคืนได้เสมอ โดยยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญอังกฤษ ว่า แม้อังกฤษจะมีกษัตริย์เป็นประมุข แต่พวกอังกฤษก็รู้ดีว่าราชบัลลังก์นั้นอยู่ได้โดยความเห็นชอบของคนทั้งชาติซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ดังนั้น หลักอำนาจอธิปไตยตามประเด็นนี้ของอังกฤษนั้น ถือว่าอำนาจสถิตอยู่ในรัฐสภา พวกอังกฤษนั้นไม่อธิบายย้อนกลับไปในยุคโบราณกาลอีกแล้ว เพราะเขาถือว่า จบไปแล้ว เป็นที่ตกลงกันว่าอำนาจอยู่ที่สภา แต่นักกฎหมายแนวจารีตประเพณีนั้นยังอธิบายถอยหลังกลับเสมอ เดือนและไพโรจน์จึงบอกว่า เขาไม่เคยเถียงกันเลยในประเทศอังกฤษที่พวกสำนักจารีตไปเรียนมา
หยุดอธิบายเรื่องอำนาจสูงสุดไว้ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2489 ว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า พระมหากษัตริย์มีพระบรมเดชานุภาพล้นพ้น ไม่มีข้อจำกัด พระบรมราชโองการย่อมเป็นผลทางกฎหมาย แต่สำหรับระบอบปริมิตาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) อำนาจของกษัตริย์จะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ เรื่องใดมิได้จำกัดถือเป็นอำนาจของกษัตริย์ เช่น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่กษัตริย์พระราชทานโดยพระองค์เอง ดังนั้นพระองค์จึงสงวนอำนาจของตนเองเอาไว้มาก ยกตัวอย่าง ลักษณะของการใช้อำนาจของกษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีไม่ต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนฯ มีหน้าที่เพียงให้ความยินยอมในการที่จะออกกฎหมายเก็บภาษีอากร และพระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้งกฎหมายอย่างเด็ดขาด กล่าวคือ ถ้าร่างกฎหมายใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยย่อมตกไป แต่ปัจจุบันระบอบการปกครองแบบปริมิตาสิทธิราชย์นี้ล่วงพ้นสมัยไปแล้ว
หยุดเห็นว่าพระมหากษัตริย์
ไม่มีฐานะที่จะทรงใช้อำนาจปกครองด้วยตัวเอง
เพราะระบอบนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภา และรับผิดชอบต่อสภา
ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง
หรือหลัก the king can do no wrong
หยุดเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีฐานะที่จะทรงใช้อำนาจปกครองด้วยตัวเอง เพราะระบอบนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภา และรับผิดชอบต่อสภา ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง หรือหลัก the king can do no wrong ดังนั้น จึงสรุปว่า การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะมีผลบังคับใช้ ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการรับผิดชอบแทน แม้แต่อำนาจในทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ก็ไม่มี แต่พระมหากษัตริย์มีอำนาจในทางสังคม ซึ่งอาจมีมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ความเคารพสักการะของราษฎรต่อพระมหากษัตริย์เป็นพระองค์ๆ ไป
ความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันพระกษัตริย์และรัฐสภาตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy นั้น หยุดได้วางหลักในการวินิจฉัยว่า “หากมีกรณีที่มีข้อสงสัยหรือไม่สามารถหยั่งทราบได้จากรัฐธรรมนูญว่า อำนาจที่จะใช้นั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ หรือรัฐสภา ให้ถือว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์” ซึ่งจากตรงนี้ หากกลับไปอ่านมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 40 ก็จะยังงงอีกสำหรับผม
พูดง่ายๆ คือ ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่ง แต่มาตรา 7 บอกว่า ถ้าไม่มีการวินิจฉัยชัดเจนให้กลับไปสู่หลักการที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตกลงแล้วใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะถ้าแบบนั้นก็คือพระมหากษัตริย์มีอำนาจ แล้วประชาชนเป็นส่วนย่อย เพราะถ้ามีปัญหาในส่วนย่อย ให้กลับไปวงใหญ่ อ่านแล้วงงมาก จากคำอธิบายเหล่านี้ ทำให้เราเปิดโลกทัศน์แล้ววินิจฉัยว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ปัจจุบันคืออะไรกันแน่
การละเมิดมิได้ กับ ความรับผิดชอบ
หยุดได้อธิบายการละเมิดมิได้กับความรับผิดชอบว่า
หมายถึง พระมหากษัตริย์ จะต้องอยู่เหนือการเมือง
ทรงจะต้องเป็นกลางไม่เข้าข้างพรรคการเมืองใด
เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่า
ประชาชนทุกคนเกี่ยวข้องกับการเมือง
มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ไม่เป็นพวกของพรรคการเมืองใด
เพราะทรงเป็นประมุขของประชาชนทุกคน อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า
“มีข้อระลึกว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระมหากษัตริย์
อาจมีความเห็นอกเห็นใจพรรคการเมืองใดก็ได้
แต่ตราบใดที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นกลางแล้ว
ก็ต้องถือว่าทรงปฏิบัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”
แนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันละเมิดมิได้ที่ปรากฏในกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น หลวงจักรปราณีฯ จากสำนักจารีตประเพณี อธิบายว่า ข้อความที่ระบุในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ (ฉบับชั่วคราว)ว่ากษัตริย์ถูกฟ้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยนั้น เขาเห็นว่าข้อความนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆ คือ มิได้ครอบคลุมถึงกรณีแพ่ง และเขาไม่เห็นด้วยกับการที่สภาผู้แทนมีอำนาจวินิจฉัยคดีของพระมหากษัตริย์ เขาเห็นว่าไม่ควรให้มีบุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอำนาจมากกว่ากษัตริย์ เขายื่นคำขาดว่า “เราต้องเลือกเอาว่า จะควรรับกษัตริย์ไว้เป็นประมุขสูงสุดของชาติต่อไป หรือจะไม่รับ” จะเห็นได้ว่าหลวงจักรปราณีไม่เสนอหลักอะไรเลยนอกจากการยื่นคำขาด
ส่วนหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ จากสำนักรัฐธรรมนูญนิยม บอกว่า กษัตริย์สามารถถูกฟ้องในคดีอาชญาโดยมีสภาผู้ราษฎรเป็นผู้ชำระได้ และไม่เพียงคดีอาชญาเท่านั้น แต่สามารถตีความไปถึงความผิดของกษัตริย์ที่กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน การละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดต่อสัญญาระหว่างประเทศเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้กษัตริย์ต้องรับผิดชอบ
หลวงจักรปรานีฯ อธิบายเรื่องการละเมิดมิได้กับความรับผิดชอบว่า “ถ้ากษัตริย์จงใจประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมือง ท่านจะต้องรับผิดชอบต่อราษฎรไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม”
ส่วนพวกรัฐธรรมนูญนิยมได้ยกการวินิจฉัยของสภาผู้แทนราษฎร กรณีว่า สภาฯ นั้นมีอำนาจพิจารณาคดีกษัตริย์หรือไม่ขึ้นมา โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตีความว่า “สภาผู้แทนมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระคดีอาชญาหรือแพ่งที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในกรณีแพ่งการฟ้องร้องไปยังโรงศาล ให้ฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ส่วนในกรณีอาชญา ซึ่งหากบังเอิญจะเกิดขึ้น ก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์มิได้ แต่ สภาฯ มีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเป็นไปโดยยุติธรรมได้”
ส่วนหยุดได้อธิบายการละเมิดมิได้กับความรับผิดชอบว่า หมายถึง พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง ทรงจะต้องเป็นกลางไม่เข้าข้างพรรคการเมืองใด เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่า ประชาชนทุกคนเกี่ยวข้องกับการเมือง มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ไม่เป็นพวกของพรรคการเมืองใดเพราะทรงเป็นประมุขของประชาชนทุกคน อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า “มีข้อระลึกว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระมหากษัตริย์ อาจมีความเห็นอกเห็นใจพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่ตราบใดที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นกลางแล้ว ก็ต้องถือว่าทรงปฏิบัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”
หยุดอธิบายต่อไปว่า หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ มีเพื่อที่จะให้พระมหากษัตริย์ดำรงฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ รัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยถือว่า การที่พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้นั้น เพราะมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อให้หลักดังกล่าวดำรงหลักการต่อไป “พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเว้นการกระทำใดๆ โดยเปิดเผยอันอาจทำให้ประชาชนนำไปวิจารณ์ เช่น การออกความเห็นในทางการเมือง หรือ การกล่าวถึงปัญหาที่กำลังโต้เถียงอยู่ในประเทศ”
การสนองพระบรมราชโองการ
หลวงจักรปราณีฯ ให้ถือหลักว่า ประมุขของประเทศมีสิทธิพิเศษอยู่นอกวงความรับผิดชอบแห่งกฎหมายธรรมดา ซึ่งมีคณะรัฐบาลรับผิดชอบแทน เขาได้อ้างหลักกฎหมายอังกฤษเทียบเคียงกับข้อความข้างต้นว่า โดยยกตัวอย่างความเห็นของศาตราจารย์ ไดซี ที่อธิบายกฎหมายอังกฤษว่า “ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะทรงเอาปืนยิงอัครมหาเสนาบดีตายคาที่ กฎหมายอังกฤษก็จะเอาผิดกับท่านไม่ได้” และได้ยกตัวอย่างประเพณีไทยโบราณ เรื่องการลงโทษมหาดเล็กแทนเจ้าที่ทำผิด โดยเขาให้เหตุผลว่า มหาดเล็กมีหน้าที่ เตือนสติเจ้านายตน ถ้าเจ้านายกระทำผิด มหาดเล็กก็ต้องถูกลงโทษฐานละเลยหน้าที่
เดือนและไพโรจน์ ได้วิจารณ์ตัวอย่างของศาสตราจารย์ไดซี ที่หลวงจักรปราณีฯ ยกข้างต้นว่า “เป็นตัวอย่างที่วิตถาร” พวกเขาเห็นว่า หลักพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ผิด หมายความว่า “พระเจ้าแผ่นดินไม่อาจออกคำสั่งที่ผิดและคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินไม่อาจทำให้ผู้ที่เคารพและปฏิบัติตามหลุดพ้นจากความรับผิดชอบไปได้ต่างหาก" และอธิบายเสริมว่า “แต่ในทุกวันนี้ ศีลธรรมบังคับให้บุคคลต้องรับผิดชอบในกรรมที่ตนกระทำ ที่ใดที่ไม่มีความรับผิดชอบที่นั้นก็ไม่มีอำนาจ ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เสนาบดีต้องรับผิดชอบจึ่งจำเป็นต้องมอบอำนาจให้เสนาบดีทำแทน”
ไพโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 ว่า “มีบทบัญญัติยกย่องเชิดชูพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศไว้อย่างดี และก็ได้ถวายพระราชอำนาจต่างๆ ให้มากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองโดยรัฐสภาโดยทั่วไปเสียอีก”
ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ
กับ รัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา
พระยาศรีวิสารวาจา แห่งสำนักจารีตประเพณี ได้อธิบายขั้นตอนไว้ว่าพระองค์มีอำนาจยับยั้งกฎหมาย โดยยกตัวอย่างอังกฤษว่า ในการยับยั้งกฎหมาย หากกษัตริย์ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนั้น จะถอดคณะเสนาบดีชุดนั้นออกแล้วทรงตั้งชุดใหม่ โดยทรงหวังว่ารัฐสภาจะสนับสนุนคณะเสนาบดีชุดใหม่ หากสภายังยืนยันเรื่องนั้น กษัตริย์จะยุบสภาเพื่อให้ราษฎรแต่งตั้งผู้แทนเข้ามาใหม่ หมายถึง การที่กษัตริย์ทรงเรียกร้องจากรัฐสภาไปยังราษฎร และหากสภาใหม่ยังคงยืนยันเรื่องนั้น กษัตริย์ก็ต้องยอมในเรื่องนี้
หยุดได้ตั้งข้อสังเกตถึงความนิยมของนักกฎหมายที่ชอบเปรียบเทียบอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญอังกฤษนั้นว่า เป็นความคิดที่ “ง่ายเกินไป” เขาให้เหตุผลว่า พระมหากษัตริย์อังกฤษไม่ได้ทรงใช้อำนาจยับยั้งกฎหมายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว ในขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยยังคงถวายพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายอยู่ ดังนั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
หยุดได้อธิบายขอบเขตการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านสถาบันการเมืองอื่นว่า
“พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจบริหารเองมิได้ และจะทรงใช้อำนาจนี้ทางอื่นนอกจากทางคณะรัฐมนตรีก็มิได้เช่นกัน หมายรวมถึงบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินจะต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ เช่นนี้แล้วย่อมแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์จะทรงกระทำกิจใดที่เกี่ยวกับราชการได้ เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำเนื่องจากคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา รัฐมนตรีจะต้องเลือกว่าทรงควรทำหรืองดเว้น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำกิจเกี่ยวกับราชการเป็นการฝ่าฝืนใจรัฐมนตรีได้ เพราะหากรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามสนองพระบรมราชโองการแล้วรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง โดยคณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องลาออกเพราะถ้าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำโดยพระองค์เองแล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่มีผลทางกฎมาย และหากคณะรัฐมนตรีนั้นครองเสียงข้างมากในสภา ก็ไม่มีทางที่จะทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้รัฐสภาไว้วางใจได้ ซึ่งผลในที่สุดพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี หรือมิฉะนั้นก็ต้องทรงสละราชสมบัติ ดังนั้น การไม่ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เมื่อทรงทักท้วงแล้วคณะรัฐมนตรียังถวายการยืนยันจึงเป็นภัยแก่ราชบัลลังก์และมีทางที่จะถูกกล่าวหาว่ามิได้ทรงวางตนเป็นกลางเอนเอียงเข้าทางพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาล”
หยุด อธิบายหลักการความมิต้องรับผิดด้วยการสนองพระบรมราชโองการ ว่าหมายรวมถึง พระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงด้วย โดยพระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ส่วนปัญหาที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงร่างพระราชดำรัสเองแล้วจึงส่งมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายแล้วพระมหากษัตริย์ทรงแก้ไขด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นเรื่องภายในระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี อีกทั้งหยุดยังวางหลักไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงรับสั่งกับทูตานุทูต หรือข้าราชการอื่นใด โดยมิได้กระทำต่อหน้ารัฐมนตรี หรือแม้แต่ ทรงจะไม่ปรึกษาหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเป็นอันขาด
ประการต่อไปที่หยุดวางหลัก คือ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงทำกิจการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีแล้ว หยุด เห็นว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอให้พระมหากษัตริย์กระทำกิจกรรมอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินอันไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแล้ว หากเกิดปัญหาคือ พระมหากษัตริย์จะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำได้หรือไม่ หยุดให้เหตุผลว่า ไม่อาจตอบเป็นหลักทั่วไปได้ เนื่องจากในทางรัฐธรรมนูญไม่มีทางที่จะบังคับให้ประกอบกิจด้วยการฝืนพระราชหทัยได้ แต่ในกรณีการตรากฎหมายนั้น ถ้ากษัตริย์ไม่ทรงเห็นด้วย นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างกฎหมายซึ่งไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้เป็นกฎหมายได้เลย
หยุดเห็นว่า หากในบางกรณีรัฐธรรมนูญถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ไว้แต่แบบพิธี เช่น การแต่งตั้งประธานพฤฒสภา หากทรงปฏิเสธไม่ยอมลงพระปรมาภิไธย หมายความว่า พระองค์ทรงกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ในบางกรณี การที่ทรงปฎิเสธไม่กระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ทำให้เห็นว่าไม่ได้ทรงเป็นกลาง แต่ทรงกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาล ซึ่งทรงทำผิดรัฐธรรมนูญเช่นกัน
หยุดเห็นว่า โดยปกติแล้วการที่ทรงงดเว้นไม่ทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ต้องถือเป็นวิธีที่ไม่พึงปรารถนาเว้นแต่จะเป็นทางเลือกสุดท้าย (ultima ratio) เพราะการทำเช่นนี้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง หากถ้าคณะรัฐมนตรีครองเสียงข้างมากในสภาและยังได้รับความไว้วางใจกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก พระมหากษัตริย์จำต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีนั้น
หากเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น หยุดเห็นว่า วิธีการตอบโต้ของพระมหากษัตริย์ต่อปัญหาข้างต้น คือ หนึ่ง การประสงค์ที่จะสละราชสมบัติซึ่งก่อให้เกิดสาธารณมติต่อพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาล อันอาจมีผลต่อการเลือกตั้งในคราวหน้าได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จะมีอำนาจน้อยแต่ทรงมีอำนาจทางสังคมมากซึ่งมีอิทธิพลต่อความจงรักภักดีของราษฎร และบุคลิกของพระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์ทรงมีประสบการณ์ มีความจัดเจน ย่อมมีผลต่อการตัดสินของคณะรัฐมนตรีให้โน้มเอียงได้
หยุดเห็นว่า พระมหากษัตริย์ยังทรงมีอำนาจในทางสังคม 3 ทาง คือ
ประการแรก ขึ้นกับความจงรักภักดีของราษฎร เขาเห็นว่า พระมหากษัตริย์บางพระองค์ราษฎรรักมากหรือบางพระองค์ราษฎรรักน้อย ดังนั้น อำนาจทางสังคมในการโน้มน้าวคณะรัฐมนตรีจะมีมากเพียงใดนี้ขึ้นอยู่กับความรักของราษฎรที่มีต่อพระมหากษัตริย์
ประการที่สอง บุคลิกของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเป็นประมุขถาวรจึงทรงมีประสบการณ์มาก บางพระองค์มีพระทัยเข้มแข็งอาจทำให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้มาก แต่ถ้าพระองค์อ่อนแอ ก็ปล่อยให้คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำแต่เพียงฝ่ายเดียว
ประการสุดท้าย คือ บุคลิกลักษณะของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีมีอุปนิสัยและเฉลียวฉลาด ตลอดจนนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งเด็ดขาด การปฏิบัติตามพระราชประสงค์ก็จะน้อยเข้า แต่หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอ่อนแอ หรือรู้สึกด้อยกว่า ในแง่ความจัดเจนงานและความรู้ความสามารถ พระมหากษัตริย์ก็จะชักจูงให้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้มากขึ้น
ความชอบด้วยระบอบ
หรือ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ?
หยุดอธิบายว่า หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ คือ ทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย ที่ทรงระมัดระวังและจัดการให้รัฐกิจต่างๆ ดำเนินไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการวินิจฉัยเด็ดขาดสุดท้ายตามรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น หยุดให้เหตุผลว่า อำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย
หยุดอธิบายว่า หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ คือ
ทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย
ที่ทรงระมัดระวังและจัดการให้รัฐกิจต่างๆ
ดำเนินไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการวินิจฉัยเด็ดขาด
สุดท้ายตามรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น
หยุดให้เหตุผลว่า อำนาจสูงสุดต้องอยู่ที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย
หยุดเห็นว่า ตามระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเถลิงราชย์ด้วยการสืบสันตติวงศ์นั้น หากมีการบัญญัติให้พระองค์มีพระราชอำนาจมากเหมือนประมุขที่มาจากการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ทรงอยู่ในขอบข่ายของการวิจารณ์ได้ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย หากเปรียบเทียบกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว หยุด เห็นว่า “พระมหากษัตริย์ย่อมมีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นธรรมดา เพราะทรงมีอำนาจเพียงจะทำให้รัฐกิจเป็นไปตามเจตจำนงค์ของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายเสียงข้างมากเท่านั้น ดังนั้นหมายความว่า การบัญญัติอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์และการตีความความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองนั้นต้องชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยด้วย”
“ที่ปรึกษา” ของพระมหากษัตริย์ :
คณะรัฐมนตรีหรือองคมนตรี
หยุดได้ให้ความเห็นแย้งไว้ถึงความเหมาะสมของการมีคณะองคมนตรี ว่า
“ถ้าจะกล่าวตามหลักประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด
การมีคณะองคมนตรีไม่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตยนัก
เพราะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ควรจะทรงมีที่ปรึกษาอย่างอื่น
นอกจากคณะรัฐมนตรีของพระองค์ และเป็นหลักที่ว่า
“ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นจะต้องมีความรับผิดชอบ”
แต่คณะองคมนตรีเป็นผู้กล่าวความเห็นต่อพระมหากษัตริย์
โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ…”
นักกฎหมายสำนักจารีตประเพณี ให้คำอธิบายว่าการที่อภิรัฐมนตรีหรือองคมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 และ 2492 เป็นต้นมา ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้นเป็นเพียงการลงนามแบบธรรมเนียมเท่านั้น
ในขณะที่ไพโรจน์ นักกฎหมายสำนักรัฐธรรมนูญนิยมบอกว่า การบัญญัติให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 นั้น จะก่อให้เกิดปัญหาการลงนามในการสนองพระบรมราชโองการ เขาได้ให้เหตุผลว่า การลงนามสนองพระบรมราชโองการในระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ลงนามสนองฯ แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 กลับให้องคมนตรีเป็นผู้ลงสนองแทนนั้น เขาแย้งว่า การบัญญัติให้องคมนตรีลงนามสนองฯ นั้น “หาเป็นการถูกต้องไม่ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้ว ระบอบรัฐสภา (Regime Parlementaire) ก็ไม่มีประโยชน์อันใด เนื่องจากคณะรัฐมนตรีซึ่งควรเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ ได้พ้นจากความรับผิดชอบเสียแล้ว และดั่งนี้ ผลร้ายจะตกกับประมุขของรัฐ เพราะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไป ” อีกทั้งเป็นการพ้นวิสัยที่รัฐสภาจะควบคุมได้ตามหลักการของระบอบ
เขาเห็นว่า การที่ให้องคมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการจึงมีผลเสียในทางอื่นๆ เพราะ “องคมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา” และเขาได้ตั้งข้อสังเกตถึงความชอบด้วยระบอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นี้ มีบทบัญญัติให้ผู้อื่นลงนามสนองพระบรมราชโองการแทนรัฐมนตรีมากกว่ารัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา
ส่วนหยุด ได้อธิบายถึงความจำเป็นของการมีคณะองคมนตรี เนื่องจากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขมีมาก ดังนั้น จึงควรมีบุคคลที่เป็นกลางและมีคุณวุฒิสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงได้ปรึกษา แต่การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการเลือกและแต่งตั้ง หรือให้พ้นจากตำแหน่งขององคมนตรีเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น หยุดเห็นว่า มีผลต่อหลักความมิต้องรับผิดเนื่องจากอำนาจต้องคู่กับความรับผิด ดังนั้น การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบความเหมาะสมของผู้เป็นองคมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรในทางรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และการลงนามสนองพระบรมราชโองการของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเพียงการรับรองว่าเป็นพระปรมาภิไธยจริงเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว หยุดได้ให้ความเห็นแย้งไว้ถึงความเหมาะสมของการมีคณะองคมนตรี ว่า
“ถ้าจะกล่าวตามหลักประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด การมีคณะองคมนตรีไม่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตยนัก เพราะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ควรจะทรงมีที่ปรึกษาอย่างอื่นนอกจากคณะรัฐมนตรีของพระองค์ และเป็นหลักที่ “ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นจะต้องมีความรับผิดชอบ” แต่คณะองคมนตรีเป็นผู้กล่าวความเห็นต่อพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ถ้าปรากฏว่าคณะองคมนตรีกล่าวความเห็นผิดพลาด ก็ไม่มีทางให้คณะองคมนตรีรับผิดชอบได้ ต่างจากคณะรัฐมนตรีซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้วางใจแล้วก็ต้องออกจากตำแหน่ง”
สิ่งที่สนใจก็คือจำนวนมาตราของหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงก่อน 2500 จำนวน 6 ฉบับ จะเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางจำนวน ซึ่งสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองด้วย รัฐธรรมนูญ ฉบับหลังปฎิวัติมีแค่ 5 มาตรา 10 ธันวาคม 2475 ซึ่ง ร.7 มีส่วนในการร่าง เพิ่มขึ้นเป็น 9มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 มี 9 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 มี 17 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มี 20 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไข 2495 หยุดอยู่ที่ 20 มาตรา อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ต่อมาจำนวนเพิ่มหรือไม่อาจไม่สำคัญ เท่ากับสาระที่อยู่ภายใน
ก่อนจะจบในส่วนนี้ หลักการที่พูดมาทั้งหมดสอดคล้องกับประเด็นทางการเมืองหรือไม่ หยุดสรุปเอาไว้ว่า
“สมัยรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย ควรถือว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้นั้น เพราะมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ข้อหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าแสดงว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำสิ่งใดโดยพระองค์เองแล้วรู้สึกว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ มีบ่อยๆ ที่รัฐมนตรีอ้างว่าได้กระทำการนั้นการนี้อันมีลักษณะเป็นการเมืองโดยคำแนะนำของพระมหากษัตริย์ ซึ่งความจริงคำแนะนำของพระมหากษัตริย์นี้ควรถือเป็นความลับ และถ้ารัฐมนตรีรับเอาคำแนะนำนี้มาปฏิบัติจริง รัฐมนตรีควรจะกระทำด้วยความรับผิดชอบของตนเอง การอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการใดๆในทางการเมืองโดยพระองค์เองก็ดี การอ้างว่าทรงแนะนำให้กระทำการนั้นก็ดีย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ขอให้พวกเราจงได้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเราในทางที่ถูก เพื่อสถาบันการมีพระมหากษัตริย์ของเราจะได้ดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพตลอดกาลนาน ดังเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศอังกฤษ”
หลังจากปี 2500 การโต้แย้งก็ซาลงไป จนกระทั่งวันนี้ได้กลับมาสู่การเรียนการสอนอีกครั้ง หยุดได้จบประโยคสำคัญเอาไว้ในคำอธิบายรัฐธรรมนูญว่า
“กฎหมายหาได้เป็นวิชาการที่อยู่ได้โดยลำพังตัวของมันเอง
โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาความจริงภายนอก”
ข้อความของหยุดนี้ ยังคงเป็นจริงอยู่หรือไม่ ?
โดย : ประชาไท
ที่มา : ข่าวประชาไท : เสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’ : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ (ณัฐพล ใจจริง)
เพิ่มเติม
อ่านในส่วนของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ตามนี้ : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : เสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’ : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ณัฐพล ใจจริง : เสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’ : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 7:27 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น