วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วิพากษ์การเซนเซอร์ : ปีศาจเสรีภาพของศิลป


"ถ้าหากว่าเรายินยอมให้มีใครมามีอำนาจในการปิดหัวนม
เขาก็จะเอาอำนาจ นั้นไปปิดส่วนอื่นๆ และ เรื่อง อื่นๆ ต่อไป
เพราะฉนั้น ผมจึงมีความเห็นว่าควรจะเปิดหัวนม"

( คำพูดของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ - อภิปรายร่วมเรื่อง "เซนเซอร์ Anna and the King ปีศาจเสรีภาพของ ศิลปะ" )
13 มกราคม 43, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


โดยการเซนเซอร์ทั้งมวลนับตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบัน การเซนเซอร์เกิดขึ้นมาจาก ฐานคิด ของ "ความกลัว" นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกลัวจะสูญเสียอำนาจศาสนาและอำนาจรัฐ ไปจนกระทั่ง ถึงความกลัวความ ไม่สงบเรียบร้อย ของสังคม และอื่นๆ ตามลำดับข้อนี้จะเห็นได้ชัดจากความเป็นมาของการ เซนเซอร์ ในอดีต

สำหรับคำว่า”เซนเซอร์"(censor) ตัวมันเองนั้น เป็นชื่อเรียกของบรรดาผู้พิพากษาหรือผู้ปกครองต่างๆใน สาธารณรัฐ โรมันโบราณ. ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบของบรรดาเซนเซอร์(ผู้พิพากษาหรือผู้ปกครองทั้งหลาย) เหล่านี้ จะต้องคอยสำรวจ ตรวจตราสำมะโนประชากร(census), และขณะที่พวกเขากำลังนับจำนวนประชากร อยู่นั้น, ก็คอยตรวจตราศีลธรรม จรรยาและความประพฤติของพลเมืองพร้อมกันไปด้วย. ดังนั้นชื่อเรียกของการ ตรวจตรา ควบคุมจึงเรียกกันว่า เซนเซอร์ นับตั้งแต่นั้นมา

ก่อนหน้าที่จะมีคำว่าเซนเซอร์ใช้ มิได้หมายความว่าจะไม่มีการควบคุมตรวจสอบของอำนาจรัฐ ในกรีกโบราณ มีบันทึกว่า โสกราตีส ไดถูกตัดสินประหารชีวิตโดยศาลสถิตยุติธรรมแห่งเอเธนส์ในปี 399 ก่อนคริสตศักราช ซึ่งมีคำฟ้องอยู่สองข้อ ด้วยกันที่ได้กล่าวหาโสกราตีสว่าเป็นผู้กระทำ: นั่นคือข้อแรก ได้แก่ ”การขาดความ เลื่อมใส ศรัทธา" (impiety) หรือการเป็น ผู้ที่ทำลายความเชื่อในพระเจ้าต่างๆลงทีละเล็กทีละน้อย และ ข้อ กล่าวหา ที่สองคือ การกระทำผิดทางศีลธรรม. ทั้งนี้เพราะ เขาได้เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนที่อาจน้อมนำ ไปสู่การตั้งข้อสงสัย หรือขาดความเชื่อมั่นในอำนาจเดิม.

คำฟ้องร้องต่างๆอันนั้น อันที่จริงเป็นเรื่องความไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับความคิดใหม่ๆซึ่งอาจจะกัดเซาะ อำนาจของ ศาสนา หรืออำนาจของรัฐ, และจากความคิดนี้สามารถที่จะถูกพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิด ต่อกฎหมาย. โสกราตีส คือ เหยื่อคนแรกคนหนึ่งของการควบคุมตรวจสอบ(censorship) - ซึ่งในเชิงปฏิบัติ คือว่า, การตรวจสอบพยายามที่ จะจำกัดการล้วงลึก ของประชาชนทางด้านความคิดต่างๆ, ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ, ดนตรี, หรือผลงานทางด้านศิลปะ ที่ด้วยเหตุผลบางประการ ได้รับการพิจารณาว่าเป็นการคัดค้าน ต่อสถาบันอันทรงอำนาจ.

ในตะวันออกก็มีเรื่องทำนองนี้เช่นเดียวกัน ดังกรณีของหมอฮัวโต๋ ศัลยแพทย์จีนโบราณที่มีความรู้ความ สามารถที่สุดใน ผืนแผ่นดินใหญ่ เขาได้รับการตามตัวมาเพื่อรักษาอาการปวดศีรษะของโจโฉ และหลังจาก ได้มีการตรวจ สอบอาการโรคแล้ว ปรากฏว่าต้องผ่าตัดสมองของโจโฉเท่านั้น อาการปวดหัวของจอมทัพนี้จึง จะหายเป็นปกติได้. ด้วยข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ หมอฮัวโต๋ถูกสั่งตัดศีรษะ แทนที่จะเป็นผู้ผ่าตัดสมองของ คนอื่น และโจโฉยังสั่งให้ เผาตำราศัลยแพทย์จีนอันล้ำลึกทั้งหมด นั้นพร้อมกันไปด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ต้องสูญเสียความรู้ทาง ศัลยแพทย์จีน ไปจนเกือบจะหมดสิ้น อันเนื่องมาจาก ความหวาดระแวง และความกลัว เว้นแต่การเหลือรอดของ บางส่วน ของตำราที่ถูกสั่งเผานี้ในหน้าหลังๆ ซึ่งทำให้ชาวจีน เป็นผู้ที่มีความสามารถในการตอนเป็ดตอนไก่ อย่างที่ ไม่มีชนชาติใดเสมอเหมือนได้เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ทั้งตะวันออกและตะวันตก ต่างก็มีการควบคุมตรวจสอบหรือการเซนเซอร์อันนี้มานานแล้ว และ ยึดถือติดต่อกันมานับเนื่องเป็นพันปทีเดียว ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาจากความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ ความกลัวในความรู้ใหม่ ศาสตร์ใหม่ๆ ความคิดเห็นทางการเมืองแบบใหม่ ความเชื่อทางศาสนาใหม่ หรือแม้กระทั่ง ทัศนคติใหม่ๆต่างๆต่อเรื่องทางเพศ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างก็ตกอยู่ภายใต้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ของการตรวจสอบในตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์.

นักเขียนชาวอังกฤษ David Hume ได้ตั้งข้อสังเกตโดยการกล่าวว่า, “มนุษยชาติผู้เคราะห์ร้ายของเรา ได้รับ การสร้างขึ้นมาโดยผู้คนเหล่านั้น ซึ่งเดินไปบนหนทางที่ปูลาดอย่างดี และมักจะขว้างก้อนหินไปยังผู้คน ที่กำลัง แสดงให้เห็นเส้นทางเดินสายใหม่อีกสายหนึ่ง”. ส่วนใหญ่ของก้อนหินเหล่านี้จะถูกขว้างไปที่ข้อความที่เขียน ขึ้น หรือสิ่งพิมพ์ และรูปแบบในอย่างอื่นๆของ การ สื่อสาร ซึ่งรวมทั้ง ละคร, วิทยุ, ภาพยนตร์, และโทรทัศน.

วิธีการต่างๆที่กลุ่มองค์กรเหล่านี้ได้นำมาใช้มีอยู่ 4 อย่างด้วยกันคือ: 1. การสั่งห้าม (banning) 2. การทำลาย (destroying) 3. การให้ใบอนุญาต(licensing) และ 4. การยับยั้งหรือหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ก่อน(prior restraint).


1.

การสั่งห้าม (banning)

ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ องค์กรทางศาสนาทำหน้าที่เป็นสถาบันซึ่งรับผิดชอบอย่างมากต่อการสั่งห้าม เผยแพร่ หนังสือ ยิ่งกว่าสถาบันอื่นใดทั้งหมดในสังคม. ยกตัวอย่างเช่น, บรรดาผู้นำต่างๆของคริสตศาสนิกชน ในช่วงต้นๆ, รู้สึกว่ามันเป็น สิทธิอันชอบธรรมและภาระหน้าที่ของศาสนจักรที่จะสั่งห้าม หนังสือที่อาจเป็น อันตรายต่อศรัทธาหรือศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นการนิยามขึ้นมาเองโดยศาสนจักร. ศาสนจักรยังมีความเชื่อ ด้วยว่ามันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลต่างๆ ที่จะดำเนินการให้เป็นจริงขึ้นมาในเรื่องเกี่ยวกับการตัดสิน ต่างๆ ของพระในเรื่องการสั่งห้ามหนังสือต่างๆพวกนั้น.

ตัวอย่างซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับหนังสือที่ถูกสั่งห้ามโดยศาสนจักร เกิดขึ้นในศาสนจักรโรมันคาธอลิค ด้วยการตีพิมพ์เกี่ยวกับ ”ดัชนีของหนังสือต้องห้าม”(Index of Forbidden Books)ในปี ค.ศ. 1559. นับจากช่วง เวลานั้นมาจนกระทั่งถึงฉบับสุดท้ายของการตีพิมพ์ดัชนีหนังสือต้องห้าม ได้รับการพิมพ์ขึ้น ในปี ค.ศ.1948, ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีรายชื่อหนังสือต้องห้ามรวมแล้วมากกว่า 4,000 เล่มที่เกี่ยวกับหนังสือทุกๆประเภทอยู่ใน นั้น. ในช่วงปี ค.ศ.1966, ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สันตะปาปา Paul VI, ได้มีการประกาศว่าดัชนีเล่มดังกล่าวจะไม่มี การเสริม เติมหรือฟื้นฟูขึ้นมาอีก. แต่ในบางโอกาส คณะกรรมการจะมีการตีพิมพ์รายชื่อหนังสือต่างๆออกมา ในทำนองที่ ไม่แนะนำให้อ่านขึ้นมาแทนที่(not recommended for reading) เป็นครั้งคราวไป.


2.

การทำลาย(destroying)

การทำลายหนังสือมีการกระทำไม่กว้างขวางมากนัก. อย่างเช่นในราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช, จักรพรรดิจีน Shin Huang Ti, ผู้ซึ่งสร้างกำแพงเมืองจีน, ได้มีพระราชบัญชาให้ทำลายหนังสือเพื่อ ป้องกันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มา กัดกล่อนในพระราชอาณาจักรของพระองค์. ในคริสตศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างซึ่งรู้จักกันดีมากที่สุดของการเผา ทำลายหนังสือเพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีนี้เอง นั่นคือในช่วงต้นปี แห่งอำนาจของ Adolf Hitler ปกครองเยอรมัน. สิ่งพิมพ์ หรือโฆษณาใดๆก็ตามที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเห็นด้วยจากทางการจะต้องถูกโยนเข้าไปในกองไฟกองใหญ่ใน เบอร์ลิน และส่งมันขึ้นไปเป็นควัน.


3.

การให้ใบอนุญาต(licensing)

ในช่วงระหว่างยุคกลาง ศาสนาจักรและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เข้ารับตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับการตัดสินหนังสือ ต่างๆอย่างผ่านๆ. ด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับการพิมพ์ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15, การตรวจสอบข้อมูลก่อน การตีพิมพ์ ของหนังสือซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตลอดเวลาต้องกระทำกันอย่างเร่งรีบ. วิธีการที่ใช้ในการ ควบคุมหนังสือ หรือ สิ่งพิมพ์กลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ออกมาในรูปของใบอนุญาต(licensing). ไม่มี หนังสือเล่มใดที่สามารถ พิมพ์ขึ้นมาได้โดยปราศจากการเห็นด้วยหรืออนุมัตจากทางการ.


4.

การยับยั้งหรือหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ก่อน
(prior restraint).

การยับยั้งหรือหน่วงเหนี่ยว(restraint)ถือเป็นรูปแบบแรกทีมาก่อนการสั่งห้าม(banning). ในสหรัฐอเมริกา และ ประเทศอื่นๆที่ยินยอมให้อิสรภาพเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์, ในประเทศเหล่านี้ ไม่มีการออกใบอนุญาตของ ทางการ เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์แต่อย่างใด(no official licensing). นอกจากนี้ยังไม่มีคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่ พิจารณาหนังสือ ว่าสาธารณชนควรจะอ่านสิ่งใดด้วย, เว้นแต่ในกรณีของคณะกรรมการพิจารณา ตำราเรียน ของโรงเรียนต่างๆ เท่านั้น. ด้วยเหตุนี้จึงมีหนทางเพียงอย่างเดียวที่ทำหน้าที่ขัดขวางหนังสือจาก การถูกนำ ไปพิมพ์ก็คือการฟ้องร้อง ดำเนินคดี(litigation), หรือ lawsuit(การฟ้องร้องคดี).

บ่อยครั้งมากที่ปัจเจกชนคนหนึ่งหรือรัฐบาลอาจจะต้องไปศาลเพื่อขอให้มีการยุติการพิมพ์หนังสือ. อันนี้คือ การ ยับยั้งหน่วงเหนี่ยวก่อน และมันมีความพยายามในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1971 ก่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ ของ "the Pentagon Papers", ในการเก็บรวบรวมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับความเกี่ยวพันของสหรัฐในสงคราม เวียดนาม. รัฐบาลมี ความพยายามที่จะยับยั้งหน่วงเหนี่ยวสิ่งตีพิมพ์ในผลประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับความมั่นคง ของชาติ. แต่ศาลสูงชี้ขาดว่า การยับยั้งหน่วงเหนี่ยวเช่นนั้นเป็นการละเมิดต่อหลักประกันเกี่ยวกับเสรีภาพ ของการพิมพ์ ในการแปรญัตติฉบับแรกแห่งรัฐธรรมนูญ.


การโจมตีในเรื่องการตรวจสอบ

การโจมตีในเรื่องการตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับกันโดยทั่วไปและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมตะวันตก ซึ่งปัจเจกชนมีสิทธิอันชอบธรรมซึ่งรัฐบาลไม่ควรที่จะเข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่าย. การยอมรับอันนี้แสดง ออกมาให้เห็นเป็นปฏิกริยาอันหนึ่งที่มีต่อการกดขี่ทางศาสนาในอดีตและรัฐบาลเผด็จการทรราชย์.

หนึ่งในการโจมตีเรื่องการตรวจสอบในช่วงแรกๆซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดได้กระทำขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1644 โดยกวีชาวอังกฤษ John Milton ในความเรียงที่ชื่อว่า”Areopagitica”. ในความเรียงเรื่องนี้เขาได้เขียนคำร้อง ต่อรัฐบาลให้มีการยินยอมปล่อยให้ความจริงสร้างหนทางของตัวมันเองอย่างอิสระในสังคม. Milton ได้ร้องขอในสิ่งที่ง่ายๆธรรมดาสำหรับ”เสรีภาพในการรับรู้, เสรีภาพในการพูด, และเสรีภาพในการถกเถียงอย่างอิสระไปตามสำนึกรับผิดชอบ”

ผลงานของ Milton ได้รับการปฏิบัติตามในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 โดยบรรดานักเขียนคนอื่นๆเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนให้มีความใจกว้างและอดกลั้นในทุกๆแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว. แต่การโจมตีที่มีประ- สิทธิภาพมากที่สุดต่อการตรวจสอบและข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับอิสรภาพ มิได้มาจากพวกสิ่งพิมพ์ ใบปลิว หรือหนังสือเล่มเล็กๆ; แต่มันมาในรูปแบบของการปฏิวัติที่ยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมต่างๆของปัจเจกบุคคลทั้งหลายแทน. การปฏิวัติอเมริกันและฝรั่งเศสและผลที่ตามมาของสิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับอิสรภาพของปัจเจกชน, เป็นตัวอย่าง, ได้ดังก้องไปทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน.

การตรวจสอบนั้นไม่เพียงถูกโจมตีโดยตรงเท่านั้น แต่ยังถูกขุดเซาะและทำลายโดยการปรับปรุงในทางด้านเทคโนโลยี่ของการสื่อสารที่ดีขึ้นด้วย. การประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับเทคโนโลยี่การพิมพ์มาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 15 ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆในการควบคุมการตีพิมพ์ข้อความต่างๆและการอ่านหนังสือ. ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 การประดิษฐ์ วิทยุและโทรทัศน คอมพิวเตอร์ และการสื่อสารผ่านดาวเทียม โดยเฉพาะข่าวสารผ่านทาง internet ได้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะให้ข้อมูลข่าวสารประเภทต่างๆไปถึงผู้ฟังและผู้ชมในโลกกว้างอย่างไม่มีขีดจำกัด. การเข้าถึงของผู้คนเป็นจำนวนมากที่มีต่อข้อมูลข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนความคิดต่างๆ, เป็นไปได้ที่การตรวจสอบอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะมีความสามารถน้อยลงไปทุกที ที่จะกระทำการตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้. สำหรับกรณีของการเซนเซอร์ในเมืองไทย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอเอาไว้เมื่อคราวจัดให้มีการอภิปรายเรื่อง
"เซนเซอร์ Anna and the King ปีศาจเสรีภาพของศิลปะ"ว่า


ประการแรก
การเซนเซอร์ในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากความคิดที่ว่า ประชาชนไร้พลังอำนาจทางศีลธรรม ไม่มีวิจารณญานที่จะรับสาร(message)บางอย่างได้ ดังนั้นจึงมีผู้อาสาเสี่ยงภัยอันตรายมารับหน้าที่ดังกล่าวในฐานะตัวแทนของประชาชนเพื่อมาทำหน้าที่นี้แทน แต่เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเห็นกรรมการเซนเซอร์คนใดหลังจากที่ตรวจตราสารนั้นแล้ว คิดจะไปปลุกปล้ำใคร หรือคิดล้มล้างระบอบฯ หรือกระทั่งคิดล้มล้างสถาบันต่างๆ

ประการที่สอง
เท่าที่ผ่านมาในสังคมไทยยังไม่เคยมีข้อตกลงใดๆเลยว่า สารอะไรเป็นสารที่ไม่ควรจะถูกรับรู้ เช่น หัวนม หรือผมที่ไม่ได้อยู่บนหัว เป็นต้น. ดังนั้น กรรมการเซนเซอร์ทั้งหลายจึงใช้ความรู้สึกของตนเองไปในการตัดสินใจแทนประชาชน หรือไม่ก็คิดเอาเองว่าสารนั้นๆประชาชนไม่ควรจะรับรู้ การกระทำเช่นนี้ของกรรมการเซนเซอร์กระทำการโดยที่ไม่ต้องมีใครมาทำหน้าที่ตรวจสอบกรรมการฯอีกทีหนึ่ง ซึ่งกระบวนการที่ไม่มีการถ่วงดุลย์ดังกล่าวจากประชาชนได้ก่อให้เกิดผลในประการที่สามต่อมา ดังนั้น อำนาจการตรวจสอบจึงต้องเป็นของเรากันเอง

ประการที่สาม
จากการที่อำนาจของการเซนเซอร์ซึ่งขาดการถ่วงดุลย์อันนี้ หรือขาดความโปร่งใส ได้เป็นที่มาของความฉ้อฉล มีการเอาอำนาจการเซนเซอร์ไปขายได้ เช่น กรณีที่ฉากบางฉากในภาพยนตร์เข้าข่ายที่กรรมการเซนเซอร์จะไม่ให้ผ่าน และฉากนั้นเป็นฉากที่มีความสำคัญต่อการทำเงินของภาพยนตร์. กรณีนี้ อำนาจการเซนเซอร์จึงกลายเป็นสิ่งที่มีราคาขึ้นมาได้. นอกจากนี้การที่เรายอมรับให้มีการเซนเซอร์นั้น เท่ากับว่าเรายอมรับให้รัฐเป็นผู้ควบคุมว่า ประชาชนควรจะรู้อะไร ไม่ควรจะรู้อะไร และควรจะรู้อย่างไร ?

ประการที่สี่
การให้ทุนของสถาบันวิจัยต่างๆในปัจจุบัน หากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน ก็ถือว่าเป็นการเซนเซอร์อย่างหนึ่งในตัวของมันเอง ดังนั้น การวิจัยในสังคมจึงอยู่ในกรอบที่กำหนดอย่างคับแคบ ซึ่งเป็นเช่นนี้มานานแล้ว


จากทัศนะทั้ง 4 ข้อเกี่ยวกับการเซนเซอร์ ที่ อ. นิธิ ได้นำเสนอนี้ ได้ผ่าให้เห็นถึงอำนาจภายในเหล่านี้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับ ความกลัว การปิดบังสติปัญญาของสังคม และมันยังเป็นการพิฆาตเสรีภาพทางความรู้ของประชาชน และมีความฉ้อฉล ปราศจากความโปร่งใส

ในตอนท้าย อ.นิธิ ได้สรุปว่า : ในยุคข่าวสารข้อมูล การเซนเซอร์ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลวไหล โง่งมงาย และไร้สาระ ทั้งนี้เพราะการเซนเซอร์นั้น จะทำได้ก็เพียงแต่กับคนที่เข้าไม่ถึงสื่อเท่านั้นที่ห้ามได้ ส่วนคนในชนชั้นเดียวกันกับกรรมการเซนเซอร์ ไม่อาจห้ามได้ นอกจากนี้ยังกล่าวต่อไปว่า

“ในโลกนี้ผมไม่ทราบว่าจะมีสารใดหรือไม่ที่มีอันตรายถึงขนาดที่เป็นอันตรายร้ายแรงมากๆ แต่ที่รู้แน่ๆก็คือว่า การเซนเซอร์นั้นเป็นอันตรายยิ่งกว่าสารที่ถูกนำมาตรวจสอบอย่างแน่นอน”


สมเกียรติ ตั้งนโม

คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)


ที่มา : บทความเรื่องที่ 1 : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : วิพากษ์การเซนเซอร์ ปีศาจเสรีภาพของศิลป

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: