วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เมื่อตุลาการเอ็ดเวิด คู้ก เผชิญหน้ากับกษัตริย์เจมส์ที่ 1 : บทพิสูจน์การต่อสู้กับอำนาจแทรกแซงตุลาการ


ความนำ

ในรอบสองปีที่ผ่านมาทั้งช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยาและหลังวันทำรัฐประหาร สังคมไทยกล่าวถึงเรื่อง “ความเป็นอิสระของตุลาการ” (Judicial independence) ว่า เป็นหลักที่มีความสำคัญมากของระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายต่างพากันสดุดีหลักความเป็นอิสระของตุลาการไทยว่าไม่อาจถูกฝ่ายใดแทรกแซงหรือมีอิทธิพลในการตัดสินคดีได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและซาบซึ้งว่าหลักความเป็นอิสระของตุลาการนั้นสำคัญเพียงใดและยากแค่ไหนกว่าที่ตุลาการของประเทศอังกฤษจะได้หลักนี้มา เราลองมาดูว่า กว่าที่ตุลาการของประเทศอังกฤษจะมีความเป็นอิสระอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ตุลาการของอังกฤษต้องต่อสู้กับอิทธิพลภายนอกอย่างไร ต้องมีความกล้าหาญเพียงใด ไม่ยอมแม้แต่จะคุกเข่าต่อหน้า แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่แต่งตั้งตนมาก็ตาม


วิวาทะระหว่างกษัตริย์เจมส์กับผู้พิพากษาคู้ก :
ต้นธารของหลักความเป็นอิสระของตุลาการอังกฤษ

ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่า ในสมัยก่อนช่วงศตวรรษที่ 17 ตามกฎหมายอังกฤษถือว่าผู้พิพากษาเปรียบได้กับ “ข้ารับใช้ของพระเจ้าแผ่นดิน” (servants of the King)[2] หรืออาจแปลว่า “ตุลาการของพระราชา” กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่มาของความยุติธรรม (Fountain of Justice) เป็นผู้มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง และปลดออกผู้พิพากษา อำนาจในการพิจารณาตัดสินคดีของผู้พิพากษาก็ล้วนแล้วเป็นอำนาจที่พระมหากษัตริย์มอบหมาย (delegate)ไป

เมื่อประมาณสองร้อยปีก่อนที่ประเทศอังกฤษเกิดความขัดแย้งวิวาทะครั้งสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์วงการนิติศาสตร์ของอังกฤษ


คือการเผชิญหน้ากันระหว่างกษัตริย์เจมส์ ที่ 1 (King James I) กับตุลาการที่ว่ากันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์กฎหมายอังกฤษคือ เซอร์ เอดเวิด คู้ก (Sir Edward Coke)[3] ข้อพิพาทนี้ลุกลามใหญ่โตจนเป็นวิวาทะระหว่างกษัตริย์ James กับเซอร์เอดเวิด คู้ก ซึ่งท่านคู้กยืนกรานว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่ายอำนาจการพิจารณาคดีของตุลาการ

ก่อนหน้าที่ท่านคู้กจะตัดสินคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งของประเทศอังกฤษคือคดี Bonham ท่านคู้กได้มีวิวาทะกับกษัตริย์ James โดยกษัตริย์ Jamesได้ขอความเห็นของท่านคู้กเกี่ยวกับกรณีที่กษัตริย์ James ประสงค์จะจำกัดการสร้างตึกในเมืองลอนดอนและต้องการทำการค้าเกี่ยวกับแป้ง (starch) กษัตริย์ James ได้ถามท่านคู้กเพื่อที่จะให้วินิจฉัยว่าพระบรมราชโองการ (royal edict) มีค่าบังคับเสมือนเป็นกฎหมาย ท่านคู้กได้ปรึกษากับเพื่อนผู้พิพากษาอีกสองท่านที่เป็นองค์คณะด้วยกันแล้วได้ตัดสินว่า “แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจที่จะเรียกร้องให้พสกนิกรเชื่อฟังกฎหมาย พระมหากษัตริย์ก็ไม่มีพระราชอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายคอมมอนลอว์หรือกำหนดความผิดฐานใด ๆ ขึ้นเองโดยอาศัยพระบรมราชโองการ (Proclamation) ดังกล่าว ซึ่งจะต้องตราให้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติเท่านั้น”

ในคดี Calvin’s Case ท่านคู้กก็ได้อธิบายว่า กฎหมายที่เกิดจากการวินิจฉัยคดีของศาลที่เรียกว่า common law นั้น เป็นผลมาจากการอบรมทางสติปัญญาของนักกฎหมายมายาวนาน ซึ่งตุลาการนั้นไม่สามารถถูกทำให้ครั่นคร้ามจากความกลัวของผู้มีอำนาจใดเหนือตุลาการได้[4]


วิวาทะได้เกิดขึ้นอีกครั้งในเช้าวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 กษัตริย์ James ได้เรียกผู้พิพากษาอังกฤษจำนวนหนึ่งเข้าเฝ้าหลังจากที่อาร์คบิชอบแห่ง Canterbury นามว่า Bncroft ซึ่งเป็นหัวหน้าของศาลศาสนาที่เรียกว่า Ecclesiastical ได้อุทธรณ์ต่อกษัตริย์ James เพื่อให้ช่วยเหลือ ในคดี Nicholaw Fuller’case ในคดีนี้มีประเด็นว่า ศาลใดจะมีเขตอำนาจระหว่างศาล Common Pleas กับศาลศาสนาที่เรียกว่า Ecclesiastical court โดยอาร์คบิชอบอ้างเหตุผลว่า ตามประเพณีของอังกฤษ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่งตั้งและปลดออกผู้พิพากษา อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พระมหากษัตริย์จะมอบให้ศาลใดตัดสินคดีก็ได้ และพระองค์สามารถตัดสินคดีได้ด้วยพระองค์เอง ความขัดแย้งนี้เกิดจากการที่ ศาล Common Pleas ซึ่งท่านคู้กเป็นประธานอยู่ พยายามยืนยันว่า ตนเองมีเขตอำนาจศาลพิจารณาคดีข้อพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจของศาล Ecclesiastical ท่านอาร์คบิชอบพยายามอ้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (Royal prerogative power) ที่จะมอบอำนาจตุลาการให้แก่ใครก็ได้และจะตัดสินคดีด้วยพระองค์เองก็ทำได้เช่นกัน

ท่านคู้กได้ตอบแทนผู้พิพากษาด้วยกันว่า “ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถวินิจฉัยคดีได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา การวินิจฉัยคดีทำได้ก็แต่โดยศาลยุติธรรมซึ่งตัดสินให้เป็นไปตามกฎหมายและจารีตประเพณีของแผ่นดิน”

กษัตริย์เจมส์ได้ฟังดังนั้นได้ตรัสโต้ว่า “แต่ฉันคิดว่า กฎหมายตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ดังนั้น พระองค์และผู้อื่นก็มีเหตุผลเช่นเดียวกับผู้พิพากษา” ดังนั้น พระองค์จึงสามารถวินิจฉัยคดีได้[5]

“ก็จริงอย่างที่พระองค์ตรัส” ท่านคู้กตอบ อย่างไรก็ตาม ท่านคู้กถือโอกาสอบรมกษัตริย์เจมส์ว่า “พระเจ้าประสิทธิ์ประสาทให้พระองค์มีพระปรีชาญาณสามารถ แต่พระองค์มิได้ศึกษาร่ำเรียนกฎหมายของประเทศอังกฤษ ปัญหาข้อกฎหมายมิได้ตัดสินโดยเหตุผลธรรมดาๆแต่ตัดสินโดยเหตุผลปรุงแต่ง[6]และคำพิพากษาของกฎหมายซึ่งกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนเป็นเวลานานและอาศัยประสบการณ์ก่อนที่ผู้นั้นจะสามารถเข้าใจมัน”[7] จากคดี Fuller’s case แสดงให้เห็นถึงตุลาการคู้กพยายามปฎิเสธข้อเรียกร้องของ King James I ที่จะพิจารณาคดีเอง[8] ต่อมาในคดี Case of the Prohibitions ท่านคู้กเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้พระเจ้าและกฎหมาย[9]

ในปีค.ศ. 1616 ท่านคู้กปฎิเสธที่จะประวิงเวลาเพื่อที่จะพิจารณาคดีที่ชื่อว่า Commendams case เพื่อที่มิให้กษัตริย์เจมส์มีโอกาสที่จะมีพระราชดำรัสกับผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งก่อนหน้านี้กษัตริย์เจมส์ก็พยายามจะถือโอกาสวิสาสะตรัสกับผู้พิพากษาเป็นการส่วนพระองค์ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี ซึ่งท่านคู้กเห็นว่า การกระทำของกษัตริย์เจมส์พยายามมีอิทธิพลต่อรูปคดี[10]

ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ James กับเซอร์ เอดเวิด คู้ก ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1616 ครั้งนี้ Lord Ellesmere ได้อุทธรณ์ต่อกษัตริย์ James เพื่อให้ทบทวนการตัดสินคดีของตุลาการ กษัตริย์เจมส์ถึงกับไปที่ Newmarket เพื่อพยายามแทรกแซงการตัดสินคดีของท่านคู้ก โดยพยายามขอทบทวนคำพิพากษาที่ตัดสินคดี (โดยตุลาการ) โดยทันทีที่กษัตริย์เจมส์ได้สรุปผลของคดี (ที่ตนต้องการ) ผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งถึงกับน้อมคุกเข่า (ยกเว้นท่านคู้ก) ต่อหน้ากษัตริย์เจมส์เพื่อขออภัยโทษที่วินิจฉัยคดีผิดพลาด แต่ท่านคู้กกลับยืนยันว่า เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ตนจะปฎิบัติในสิ่งที่ผู้พิพากษาพึงกระทำ[11]

หลังจากหมดยุคของ King James I ซึ่งเป็นยุคสมัยของราชวงศ์สจ๊วต (Stuarts) วงการตุลาการของอังกฤษก็ยังคงมัวหมองต่อไปอีกสักพักใหญ่อีกเมื่อ กษัตริย์เจมส์ที่สอง (James II) ได้ย้ายผู้พิพากษาจำนวน 12 ท่านด้วยเหตุที่ว่าผู้พิพากษาดังกล่าวไม่เชื่อคำสั่งของกษัตริย์เจมส์ที่สอง อีกทั้งการพิจารณาคดี นักการเมืองชื่อว่า Algernon Sidney โดย ผู้พิพากษานามว่า Judge Jeffreys นั้นตัดสินคดีโดย

แรงจูงใจทางการเมือง รวมทั้งในสมัยของ Henry VIII ในคดี Lord Dacre’s Case ด้วย กว่าที่หลักความเป็นอิสระของตุลาการอังกฤษจะเป็นที่รับรองอย่างเป็นทางการ ต้องรอเวลาจนกระทั่งเมื่อมีการตรากฎหมายเรียกว่า The Act of Settlement ในปี ค.ศ. 1701 โดยกฎหมายฉบับนี้รับรองวาระการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษา (Tenure) ว่ามีตราบเท่าที่ประพฤติตนเหมาะสม (during good behaviour) และได้รับรองเงินเดือนผู้พิพากษาด้วย ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎร (Houses of Parliament) เท่านั้นที่จะมีอำนาจถอดถอนผู้พิพากษาได้เพื่อป้องกันมิให้กษัตริย์มีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษาได้


บทส่งท้าย

การต่อสู้ยืนหยัดในหลักการอย่างเหนียวแน่นของท่านคู้กที่จะมิให้มีการแทรกแซงหรือมีอิทธิพลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของพระมหากษัตริย์ต่อการพิจารณาคดีของตุลาการนั้นเป็นวีรกรรมที่น่ายกย่อง แม้ว่าจะแลกด้วยอิสรภาพของท่านคู้ก[12]ก็ตาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านคู้กเป็นผู้ว่านเมล็ดพืชของ “หลักความเป็นอิสรภาพของตุลาการอังกฤษ” และเมล็ดพืชนี้ได้หยั่งรากลึกจนถึงทุกวันนี้ ตำนานความเด็ดเดี่ยวของท่านตุลาการคู้กที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับกษัตริย์เจมส์ที่ 1 นั้นเป็นเรื่องที่เล่าขานของวงการตุลาการของอังกฤษอีกทั้งยังเป็นแบบอย่างให้กับตุลาการประเทศอื่นๆด้วย…..


ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เชิงอรรถ

[1] หมายเหตุ เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมายอังกฤษที่เป็นคอมอนลอว์ ผู้เขียนจึงขอทำเชิงอรรถขยายความเพื่อให้ผู้อ่านที่มิได้เป็นนักกฎหมายเข้าใจ นอกจากนี้แล้ว ภาษาอังกฤษบางคำอาจหาศัพท์ที่ตรงกับภาษาไทยยาก จึงขอใส่วงเล็บเพื่อประกอบความเข้ใจ

[2] โปรดดู Daniel M. Klerman และPaul G. Mahoney, The Value of Judicial Independence: Evidence from Eighteenth Century England, American Law and Economics Review 2005 7 (1):1-27

[3] ออกเสียงว่า คู้ก (Cook)

[4]Calvin’s case in Edward Coke, Seventh Report, reprinted in English Reports, lxxvii.381

[5]Roland G. Usher, James I and Sir Edward Coke , The English Historical Review, Vol. 18, No. 72 (Oct., 1903), pp. 664-675

[6] ท่าคู้กใช้คำว่า ‘ artificial reason.” ซึ่งหมายถึงความสามารถในการให้เหตุผลแบบนักกฎหมาย มิใช่เหตุผลธรรมดาๆ (simple natural reason) ที่ทุกๆคนก็มี

[7] See Roscoe Pound, The Spirit of the Common Law, (U.S.A.: Marshall Jones Company,1922),p.60-62

[8] Lord Justice Brooke, Judicial Independence-Its History in England and Wales, see http: //www.judcom.nsw.gov.au /fb/fbbrook.htm

[9] Prohibition De Roy Mich 5 Jacobi (1608) 77 ER 1324

[10] ดู History Leaningsite.co.uk/Sir Edward Coke

[11] See Dorean Koening, Independence of the Judiciary in Civil Cases & Executive Branch Interference in the United States: Violation of International Standards Involving Prisoners and Other Despised Groups, University of Dayton Law Review, 1996, p. 735 .

[12] หลังจากกระด่างกระเดื่องต่อกษัตริย์มาเป็นเวลานาน ท่านถูกกษัตริย์เจมส์กักขังที่หอคอยกรุงลอนดอน (Tower of London) เป็นเวลากว่า 26 อาทิตย์ แต่ท่านก็ใช้เวลาขณะถูกกักขังอย่างไม่ไร้ค่าโดยท่านเริ่มเขียนหนังสือ โดยใช้ถ่านเขียนที่ผนังกำแพง


หมายเหตุ
การเน้นข้อความบางส่วนทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: