วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเมืองในอยุธยา : พ.ศ. ๒๒๕๒ - ๒๓๑๐


หมายเหตุ
ข้อมูลที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นบทวิเคราะห์การเมืองในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง คุณ ปัญญา ศรีนาค ได้ทำการวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง โดยที่ คุณ ปัญญา ศรีนาค ได้ทำการวิเคราะห์การเมืองในปลายอยุธยาเข้าเชื่อมโยงกับการเสียกรุงศรีอยุธยา



การเมืองในอยุธยา
พ.ศ. ๒๒๕๒ - ๒๓๑๐


การเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ มีนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์วิจารณ์ทั้งยังตีพิมพ์เป็นเล่มก็มากสรุปความมักจะคล้ายๆ กันในเรื่องความอ่อนแอของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร มีหลายความที่โยงไปถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา

ประวัติศาสตร์ถลางเล่มนี้มีมุมมองที่ต่างจากแนวประวัติศาสตร์ไทยเรื่องการเมืองของกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงที่บูรพาจารย์เคยให้ความรู้จนกลายเป็นตำรา เป็นมุมมองของกุลญาติเมืองถลางบางคนที่บรรพชาคนหนึ่งเป็นขุนนางคนสนิทของพระมหากษัตริย์ อีกคนเป็นสมาชิกกลุ่มบริวาร หรืออาจเป็นเครือญาติของพระอัครมเหสี

ราชอาณาจักรอยุธยามีปัญหาการสืบราชสมบัติมาตั้งแต่เริ่มการสถาปนา มีสงครามกลางเมืองชิงราชสมบัติกันเป็นระยะ รุนแรงบ้าง เบาบ้างแล้วแต่เหตุการณ์แวดล้อม แต่ก็ไม่ทำให้อาณาจักรล่มสลาย บางครั้งกลายเป็นดีเพราะได้พระเจ้าแผ่นดินที่เข้มแข็ง เมื่อเปรียบเทียบกับอาณาจักรอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงจะเห็นได้ว่าอยุธยามีเสถียรภาพการเมืองมากกว่า คือปัจจัยที่ทำให้เข้มแข็งกว่าอาณาจักรอื่นที่มีกำเนิดก่อนหรือเวลาใกล้เคียงกัน สรุปได้ว่าการส่งผ่านอำนาจของระบบอยุธยาไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ของอาณาจักร

การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรจึงไม่เป็นสาเหตุของการเสียกรุง

พิจารณาโครงสร้างอำนาจและกลุ่มที่มาของรัฐาธิปัตย์ของอาณาจักรตลอดระยะเวลา ๔๑๗ ปี การบังคับให้ผู้คนทั้งหมดในอาณาจักรต้องมีสังกัดกรรม ไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นเจ้า และมีการควบคุมบังคับบัญชาเป็นชั้น ๆ ถื่ยิบ ทั้งการบังคับใช้ยังมีประสิทธิภาพ ระบบการปกครองจะเรียกว่าอะไรก็ตามมีเสถียรภาพมาก

ในพระนครระยะเริ่มแรกจะมีแต่พระมหากษัตริย์ พระมเหสีลำดับต่าง ๆ พระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ พระมเหสี ขุนนางซึ่งอาจเป็นพระญาติราชวงศ์ที่ห่าง ๆ ตลอดถึงพวกที่มีดองกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า “ผู้ดี” กับไพร่ซึ่งเป็นญาติ บริวารและทาสของผู้ดี ดังนั้นผู้ดีกับไพร่จึงมีมาแต่เริ่มอาณาจักร เดิมที่ขุนนางมาจากหัวหน้าหรือญาติผู้ใหญ่ของกลุ่มเครือญาติที่ทำนา ขุนนางอาจมาจากขุนนังคัล หมายถึงหัวหน้ากลุ่มผู้ทำนาซึ่งเป็นญาติเป็นดองกัน การเริ่มต้นอาณาจักรมาจากการรวมกลุ่มของชาวนาซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เพื่อรวมกลุ่มกันปกป้องพื้นที่การทำกินของตน

ดังนั้นอาณาจักรโบราณอโยธยา ขุนนางกับไพร่ คือชาติพันธุ์เจ้าของพื้นที่ แต่กษัตริย์อาจนำเข้าจากแหล่งวัฒนธรรมอื่น ภาษาที่พลเมืองพึงใช้สื่อกับกษัตริย์และราชวงศ์ว่าราชาศัพท์ กษัตริย์ราชวงศ์กับขุนนางแบ่งกันอย่างชัดเจน โครงสร้างของรัฐเห็นได้ชัดว่ารัฐาธิปัตย์เป็นของกลุ่มขุนนาง สิ่งที่จะผูกติดกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนางคือการแต่งงาน จึงเป็นธรรมเนียมส่งลูกสาวและลูกชายเข้าวัง ลูกสาวเพื่อเตรียมเป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม ลูกชายก็เป็นมหาดเล็ก (มหาดแปลว่านักเรียนฝึกหัดวิชาชั้นสูง มหาดไทคือนักเรียนประเภทเดียวกันแต่อายุมาก บ้างว่ามาฝึกตอนแก่ คำมหาดมาเลเซียยังใช้เรียกนิสิตนักศึกษาว่า มหาซิซวา ผู้ศึกษาพุทธศาสนาสูงกว่าเปรียญธรรมสามประโยค ไทยเราเรียกมหาส่วนไท แปลว่าใหญ่หรือสูง)

ศักดินาคือการลำดับความสำคัญของขุนนางตามจำนวนนาในการตอบแทนผลประโยชน์ที่พึงได้รับรวมถึงการยกย่องจากอาณาจักร เช่น ลำดับที่ในที่ประชุม การเข้าเฝ้ากษัตริย์ ฯลฯ ต่อมาเมื่ออาณาจักรใหญ่ขึ้นมีความซับซ้อนมากขึ้นขุนนางมีการสืบกันในตระกูลจากเดิมที่มาจากหัวหน้าชุมชนหรือตระกูลชาวนา แต่บางพวกยังอยู่ในฐานะเจ้าของนา ยิ่งนานวันโครงสร้างอาณาจักรยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ขุนนางก็สามารถพัฒนาเป็นกลุ่มอาชีพทั้งยังสามารถรักษาความเป็นรัฐาธิปัตย์แม้บางครั้งจะเพลี่ยงพล้ำให้กษัตริย์และราชวงศ์บ้างในบางยุค ซึ่งยุคนี้ขุนนางจะตัดขาดความเป็นญาติกับชาวนาซึ่งอยู่ในฐานะไพร่โดยสิ้นเชิงเพราะการตัดขาดจากการทำนาและความเป็นขุนนางของชาวนา ขุนนางอาชีพจะต้องใช้จำนวนของนา (ที่บางคนทำนาไม่เป็นแล้ว) กำหนดความสำคัญ ในหน้าที่ความเป็นขุนนางนอกเหนือจากยศหรือบรรดาศักดิ์ที่กำหนดฐานะในหน่วยงานซึ่งเรียกว่า “กรม” ที่ตัวเองสังกัดและราชทินนามที่ไพเราะบอกถึงหน้าที่ การรวบรวมโครงสร้างอันซับซ้อนในระบบควบคุมคนของราชอาณาจักรอยุธยาเป็นรูปธรรมชัดเจนในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑–๒๐๓๑) ที่สะท้อนให้เห็นจากกฎหมายที่ชื่อ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน กับพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง

จากพระไอยการทั้ง ๒ ฉบับทำให้เห็นว่าโครงสร้างกลุ่มขุนนางอาชีพมีขนาดมหึมา ในขณะเดียวกันกลุ่มราชวงศ์ก็เติบโตขึ้นตามความยาวนานของระบอบพระมหากษัตริย์ เสถียรภาพของอาณาจักรและความยาวนานของแต่ละรัชกาลทำให้พื้นที่ผลประโยชน์ของทั้ง ๒ กลุ่มทับซ้อนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตั้งกรมให้กับพระราชวงศ์ซึ่งสันนิษฐานว่ามีขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙–๒๒๓๑)

เชื่อว่ามีตำแหน่งสำคัญจำนวนหนึ่ง และผลประโยชน์ที่เคยเป็นของขุนนางตกเป็นของราชวงศ์ ในกลุ่มขุนนางที่เคยรวมกันได้อย่างแน่นแฟ้นเมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าชาวนา เมื่อกลายเป็นขุนนางอาชีพผลประโยชน์ที่เคยร่วมกันก็ขัดกันจากการแย่งตำแหน่งที่สำคัญ ซึ่งมีที่มาจากความโปรดปรานของกษัตริย์ที่ยากเย็นมาก เพราะตำแหน่งมเหสีสำคัญมักจะตกกับธิดาของพระราชวงศ์ที่มีตำแหน่งสำคัญของขุนนางซึ่งมีผลกับการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ หรืออาจหมายถึงเสถียรภาพของรัชกาลด้วย เป็นเหตุให้ผู้สืบตระกูลขุนนางซึ่งเรียกกันว่าผู้ดีจักต้องหาเจ้านายในราชวงศ์ที่เชื่อว่ามีบุญวาสนาจะได้เป็นกษัตริย์

ครั้นสิ้นรัชกาลถ้าผู้อยู่ในเกณฑ์รับราชสมบัติตกลงกันไม่ได้ สงครามกลางเมืองชิงราชสมบัติก็เกิดขึ้น หนักเบาตามความมากน้อยของผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายหรือหลสยฝ่าย สงครามชิงราชสมบัติทำให้เสียขุนนางไปจำนวนหนึ่งฝ่ายชนะและรอดชีวิตก็ได้รับบำเหน็จความชอบตามฐานานุรูป ฝ่ายแพ้ก็ได้รับโทษส่วนมากถึงประหาร แต่เป็นเรื่องแปลกที่บุตรหลานของผู้แพ้ถ้ายังเล็กไม่ได้เข้าสงครามกลางเมือง ก็ไม่เสียสถานะผู้ดี แต่จำต้องหาเจ้านายองค์ใหม่ รอวันที่เจ้านายมีโอกาส เมื่อถึงเวลากษัตริย์สวรรคตก็ช่วยกันสนับสนุนเจ้านายของตน ถ้าบังเอิญเป็นฝ่ายชนะก็จะได้รับสถานะของพ่อของตาหรือปู่คืน ฝ่ายแพ้ก็ต้องหาเจ้านายองค์ใหม่รอวันที่จะช่วงชิงสถานะเดิมของตระกูลคืนมาวนเวียนกันไม่รู้จบตลอดอายุของอาณาจักรอยุธยา ๔๑๗ ปี

มีเรื่องที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ในปลายพระชนมชีพ จะมีปัญหาเรื่องผู้รับรัชทายาท ปลายรัชกาลหรือตลอดรัชกาลไม่ปรากฎว่าทรงแต่งตั้งกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งถือกันวาเป็นผู้รับรัชทายาท ทั้งยังทรงพิโรธพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ซึ่งตั้งใจเตรียมตัวที่จะรับรัชทายาท ปลายรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาก็ทรงพิโรธออกโอษฐ์ว่าจะไม่ให้ราชสมบัติกับกรมพระราชวังบวรฯ (หลวงสรศักดิ์) จะยกราชสมบัติให้เจ้าพระยาพิไชยสุรินทรพระราชนัดดา ปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือทรงพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าเพชร) จะมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระบัณฑูร (เจ้าฟ้าพร) ปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีพระราชประสงค์ยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย ขณะที่กรมพระราชวังบวรฯ พระอนุชายังมีพระชนมชีพ จนต้องทำสงครามชิงราชสมบัติกัน

แม้ว่าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงชนะได้ราชสมบัติเป็นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ทำให้โครงสร้างอันเป็นที่มาของรัฐาธิปัตย์ของอาณาจักรอยุธยาที่มีมานับร้อยปีเสียไป ซึ่งส่งผลกับรัชกาลถัดมา ปลายรัชกาลทรงลงโทษกรมพระราชวังบวรฯ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร) จนสวรรคต จึงทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเจ้าฟ้าพระโอรสองค์รองที่เหลืออยู่เป็นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงบังคับให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเจ้าฟ้าพระโอรสองค์ใหญ่ที่เหลือออกผนวชพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพรรณาความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระราชวินิจฉัยว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา (๔๘/๑๒๔)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต พ.ศ. ๒๓๐๑ ขุนนางผู้ใหญ่ที่โปรดชุบเลี้ยงมีอัครฐานก็สนองพระเดชพระคุณ อัญเชิญกรมพระราชวังบวรฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตครองราชสมบัติเป็นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงแอบลาผนวชตั้งแต่รู้ข่าวสวรรคตและแสดงพระองค์ทรงต้องการราชสมบัติ ซึ่งไม่ใช้เรื่องผิดปกติทุกการสิ้นรัชกาลดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นความชอบธรรมของเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีถ้าลองพิจารณาเหตุการณ์ในปลายรัชกาลก่อนสี่รัชกาล หากแต่การไม่ราบรื่นเหมือนครั้งรัชกาลก่อน ๆ เพราะเวลานั้นกรุงศรีอยุธยามีผลประโยชน์มากขึ้นจากการค้าขายต่างประเทศ (๕๑/๑๓๒) ที่เกิดจากการเข้ามามีอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา สเปน ฯลฯ กลุ่มขุนนางเก่าแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งมีผลประโยชน์และอำนาจมาตลอดรัชกาล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรครองราชสมบัติอยู่ ๔ เดือน ก็ถวายราชสมบัติให้พระเชษฐษา แล้วเสด็จออกผนวช เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงได้ราชสมบัติเป็นรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร บ้างว่าพระเจ้าเอกทัศ บ้างก็ออกพระนามอย่างชิงชังไร้เหตุผลว่าขุนหลวงขี้เรื้อนก็มี

การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร ทำให้ขุนนางใหญ่น้อยในรัชกาลเก่าหวาดระแวงว่าตัวเองจะถูกกวาดล้างด้วยเคยสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรครองราชย์ทำให้รัชกาลปัจจุบันต้องออกผนวช แต่ขุนนางเก่ารัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเข้มแข็งทรงอำนาจกว่ารัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะเป็นทั้งขุนนางและพ่อค้าในเวลาเดียวกัน จากการเติบโตในกรมท่าแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเป็นกรมพระราชวังบวรฯ กำกับราชการกรมท่าขุนนางเก่าพวกนี้อาจมีเชื้อจีนและพวกเชื้อแขกและได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าชาติเดียวกัน

โดยเฉพาะพ่อค้าจีนในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีอำนาจเสมือนขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เพราะเคยเป็นผู้สนับสนุนให้ครองราชย์ จนขุนนางผู้ใหญ่ตระกูลผู้ดีเก่ายกลูกสาวให้เป็นภรรยาของเจ้าสัวเหล่านี้ ดังกรณีจอมเฒ่าอดีตผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกยกลูกสาวให้เศรษฐีจีนยานตำบลถนนตาลจึงมีฐานะคู่เขยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ หรือขุนนางตระกูลเจ้าพระยาจักรีเก่ายกลูกสาวให้เป็นภรรยาจีนนายอากรบ่อน

ตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขุนนางกรมท่าซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นจีนแขกและต่างด้าวอื่น ๆ ได้ครองผลประโยชน์หรือรุ่งเรืองในราชการ พวกขุนนางกลุ่มนี้ไม่ได้สังกัดผู้ดีเก่าดังธรรมเนียมเก่าที่ทำมา บุตรหลานขุนนางเก่าแต่เดิมซึ่งจำต้องหาเข้านายพระองค์ใหม่ และบุตรหลานขุนนางเก่าที่สืบตระกูลผู้ดีเก่าเห็นว่า ผิดขนบ ดังพระบวรราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลที่ ๑ มีความตอนหนึ่งว่า


“…ทั้งนี้เป็นด้วยผลเหตุ จะอาเพศด้วยกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา จะแต่งตั้งเสนาบดี
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี…”


สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ครั้งรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรทรงมีตำแหน่งสุดจินดาหัวหน้ามหาดเล็ก คงรู้ถึงปัญหาในครั้งนั้น กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่หมายถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยใช้ก็เกลี้ยงด้วยเมตตา เห็นจะเป็นด้วยการแต่งตั้งพวกกรมท่าซึ่งไม่ได้สังกัดกลุ่มผู้ดี ขุนนางบางคนระดับขุนแต่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเลยทีเดียว ความตอนที่สำคัญคือไม่ควรให้ขุนนางใหญ่โตมีอำนาจมากจนพระเจ้าแผ่นดินไม่กล้าจะถอดถอน ขุนนางผู้ใหญ่ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรตกทอดจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทั้งสิ้น จึงเป็นพวกที่ไม่สนับสนุนสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรมาแต่ต้น และเมื่อได้ครองราชย์พระองค์ไม่อาจถอดถอนพวกนี้ อาจเพราะมีสงครามพม่าติดพัน อาจเพราะมีกำลังมากกว่า หรืออาจด้วยเมตตาดังพระบวรราชนิพนธ์

ในกลุ่มมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร ก็จะเป็นเชื้อสายตระกูลที่สูญเสียสถานะจากการเปลี่ยนรัชกาล เชื่อว่าพวกตระกูลผู้ดีที่ตกอับจะเป็นข้าหลวงเดิมตั้งแต่ในนายทรงบาศก์พระบิดาสมเด็จพระพันวสาน้อยพระพันวสาใหญ่มเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตกทอดถึงเจ้าฟ้าพระโอรส ซึ่งเป็นวิธีประนีประนอมกันทางการเมืองของขุนนางในระบอบอยุธยาและถูกทำลายไปพร้อมกับราชอาณาจักร มีผลให้ตระกูลผู้ดีส่วนมากขาดตอนการรับราชการตำแหน่งสำคัญตามสถานภาพมาตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วัฎจักรผลัดเปลี่ยนการช่วงชิงตำแหน่ง ทำให้สงครามกลางเมืองแย่งราชสมบัติรุนแรงขึ้น เพราะมีเดิมพันคือผลประโยชน์ของอาณาจักรที่มากขึ้นเป็นเงา

พระมหากษัตริย์ทรงเห็นถึงปัญหาพยายามแก้ไข เช่น สมเด็จพระนารายณ์ทรงไม่ยอมมีพระองค์เจ้าชายที่เป็นพระโอรสเพื่อลดปัญหาไประดับหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครั้งยังทรงเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงใช้วิธีขอเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระเชษฐาธิราช เพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาความรุนแรงได้ ซ้ำร้ายกลับรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต พ.ศ. ๒๒๕๒ ขุนนางส่วนมากสนับสนุนพระโอรสคือเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ เพราะเหตุผลใดก็ตาม แต่กรมพระราชวังบวรฯ ที่มีเพียงข้าราชการวังหน้ากับกรมท่ากลับเป็นฝ่ายชนะ ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐาธิปัตย์ของอาณาจักรซึ่งแต่เดิมมีเพียงกษัตริย์ราชวงศ์กับขุนนางซึ่งเรียกว่ากลุ่มผู้ดี มีพวกขุนนาง พ่อค้า ที่สังกัดกรมท่าเพิ่มขึ้นอีกกลุ่ม

ในสงครามกลางเมืองชิงราชสมบัติครั้งนั้น ถ้าหากแม่ทัพของทั้งสองฝ่ายในศึกครั้งสุดท้ายเป็นดังพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุ (๔๘/๑๐๘-๙) ว่าเจ้าฟ้าอภัยมีพระธนบุรีเป็นแม่ทัพ อันเป็นเรื่องกลับตาลปัตร เพราะเมืองธนบุรีสังกัดกรมท่า แต่ยังไปสวามิภักดิ์วังหลวง ส่วนขุนชำนาญแม่ทัพฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ แม้จะเป็นข้าราชการในวังบวรฯ แต่สังกัดกลุ่มผู้ดีที่มีจำนวนไม่มากที่ยังสนับสนุนกรมพระราชวังบวรฯ การแต่งตั้งแม่ทัพมีการหวังผลทางจิตวิทยาด้วย อย่างไรก็ตามข้อพรรณนาสงครามกลางเมืองในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะสำนวนการจดบันทึกเหมือนว่าผู้บันทึกคือขุนชำนาญ หรือไม่ก็ต้องเป็นคนติดตามถึงจะบันทึกได้ละเอียดลออเร้าอารมณ์ เพราะสำนวนส่อความสอพลออย่างชัดเจน

การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นอกจากทำให้ขุนนางพ่อค้าในกรมท่ามีอำนาจเป็นรัฐาธิปัตย์กลุ่มใหม่แล้ว ยังทำให้มหาดเล็กวัยหนุ่มเชื้อสายผู้ดีที่เป็นลูกเมียรอง ๆ เติบโตในตำแหน่งราชการรวดเร็ว ดังเช่นกรณีจอมร้าง ฯลฯ ต้นรัชกาลดูค่อนข้างโหดร้าย แต่ตลอดรัชกาลทรงบำเพ็ญประโยชน์ให้กับแผ่นดินและศาสนามาก การค้าขายต่างประเทศมีมากทำให้เกิดพระราชทรัพย์ที่นำไปบำรุงศาสนสถานในราชอาณาจักรที่มีอยู่มากมาย

คุณูปการทางพุทธศาสนาที่ควรระลึกถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลนี้ คือการส่งพระสงฆ์ไปยังพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในศรีลังกามาจวบเท่าทุกวันนี้ ในทางอาณาจักร เมืองถลางบนเกาะจังซีลังและเมืองบริวารอีกหลายแห่งเกิดจากปรีชาชาญของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงทำนุบำรุงแผ่นดินไว้มาก อาจถือได้ว่าเป็นยุคทองสุดท้ายของราชอาณาจักรอยุธยาซึ่งสามารถหาอ่านได้ตามพงศาวดารฉบับต่าง ๆ รวมทั้งข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ไทย เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช, รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม, ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ฯลฯ

แต่จะขอกล่าวเรื่องที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงมาก่อน คือเรื่องการตั้งชื่อเล่นให้กับลูกหลานที่ปรากฎเป็นทางการ ทั้งที่ประเพณีการตั้งชื่อเล่นให้กับเด็กมีมาแต่บรรพกาลในความเชื่อดั้งเดิมว่ากลัวผีจะมาเอาชีวิตเด็ก บางท้องถิ่นใช้คำเรียกอวัยวะเพศอย่างเอ็นดู ฯลฯ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงมีพระปรมาภิไธยและพระนามยาว ๆ จะถูกไพร่ฟ้าประชาราษฎรออกพระนามตามความรู้ความเข้าใจไปต่าง ๆ นานามานานแล้วแต่ไม่เคยปรากฎว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดทรงตั้งพระนามเล่นให้พระราชโอรส-ธิดา เหมือนมีพระราชประสงค์ให้ไพร่ฟ้าใช้ตาม ดังพระนามเจ้าฟ้ากุ้ง เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ พระองค์เจ้าหญิงแมงเม้า ฯลฯ เหมือนทรงมีพระทัยเมตตามีอารมณ์ขัน ปัจจุบันเด็กไทยมีชื่อเล่นกันทุกคน ฯลฯ

ในปลายรัชกาลมีการฟ้องร้องกันในหมู่พระโอรสที่ต่างมารดาเจ้าฟ้ากุ้งพระราชโอรสองค์ซึ่งมีฐานะรัชทายาทคือกรมพระราชวังบวรฯ ก็ถูกโทษถึงสวรรคต จึงเหลือเจ้าฟ้าโอรสอยู่ในข่ายรับรัชทายาทสององค์คือเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีกับเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ดอกมะเดื่อ) ดูเหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะไม่โปรดเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี? เพราะไม่ทรงตั้งพระนามเล่นเช่นองค์อื่น ๆ ทั้งยังมีพระราชวินิจฉัยว่ามีสติปัญญาน้อย ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองจะฉิบหาย? จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงบังคับเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีออกผนวช

ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรหนัก เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงแอบลาผนวช เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตก็ทรงแสดงพระองค์ว่าต้องการราชสมบัติ แม้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จะอัญเชิญกรมพระราชวังบวรเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อาจเพราะทรงเห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเป็นเชษฐาร่วมครรโภทร ไม่อยากเห็นสงครามกลางเมือง ประเพณีน้องสละสิทธิราชสมบัติให้พี่มีอยู่ เช่น สมเด็จพระเอกาทศรถกับสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ฯลฯ จึงถวายราชสมบัติให้เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสละราชสมบัติก็ออกผนวช

สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๑ กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยจากการค้าต่างประเทศสั่งสมมาหลายรัชกาล และมีปัญหาการเมืองที่ไม่เป็นปัญหาในรัชกาลก่อน คือมีกลุ่มขุนนางพ่อค้าและพ่อค้าที่ไม่ใช่ขุนนาง กลุ่มผู้ดีมีอำนาจพอที่จะถอดถอนพระเจ้าแผ่นดิน ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ก็แตกกันหลายพวกมาตั้งแต่รัชกาลก่อน ขุนนางเก่าสายผู้ดีก็ถูกทำลายไปมากในรัชกาลก่อนเช่นกัน กลุ่มผู้ดีที่เหลือเป็นมหาดเล็กส่วนมายังเด็กอยู่ในตำแหน่งเล็ก ๆ ไม่สำคัญ แต่สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรทรงมีขุนนางพ่อค้าจีนแขกซึ่งเป็นญาติบริวารในพระอัครมเหศีกรมขุนวิมลพัตรพระองค์เจ้าหญิงแมงเม้า หากแต่มีกำลังพลไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นเจ้าเมืองชายแดน ถ้าจะแบ่งกลุ่มอำนาจในกำแพงพระนครช่วงเวลาที่ทำสงครามต่อต้านพม่าก่อนเสียกรุงจะประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ ๆ คือ

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นกลุ่มเสนาบดีขุนนางเก่าครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตกทอดมา สมาชิกกลุ่มนี้ทำการค้าขายเองแล้วยังมีกลุ่มพ่อค้าจีนแขกสนับสนุน จึงมีกำลังมากและไม่พอใจไม่ไว้วางใจสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร

กลุ่มที่สอง เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรหรือขุนนางที่ข้าหลวงเดิมของพระพันวสาใหญ่-น้อยพระราชมารดาและกรมพระราชวังบวรฯ องค์ที่แล้วซึ่งส่วนมากยังเด็ก กลุ่มนี้ทั้งหมดหรือเกือบหมดมาจากตระกูลผู้ดี แม้จะกล้าหาญแต่ขาดประสบการณ์กลุ่มนี้จงรักภักดีกับพระมหากษัตริย์และการฟื้นฟูตระกูลผู้ดีของตนตัวอย่างกลุ่มนี้คือหม่อมศรีภักดี นายสุดจินดา ฯลฯ

กลุ่มที่สาม เป็นข้าหลวงเดิมเป็นญาติบริวารในกรมขุนวิมลพัตรพระอัครมเหสี กลุ่มนี้มีที่มาซับซ้อนและหลากหลายกว่ากลุ่มอื่น ผู้นำกลุ่มอาจมีบิดามารดาหรือมีเชื้อสายจีนบ้างแขกบ้างซึ่งเป็นพ่อค้า แต่มีความสัมพันธ์เป็นญาติเป็นบริวารของกรมขุนวิมลพัตร ตัวอย่างคือ พระยาเพชรบุรี พระยาตาก (สิน) ฯลฯ พวกนี้มีทั้งเชื้อผู้ดีเก่ามีทั้งเชื้อพ่อค้า และที่สำคัญมีความสามารถในการรบจากประสบการณ์คุมกองสินค้าเดินทาง บางคนมีความรู้มีความคิดก้าวหน้า กลุ่มนี้จัดอยู่ในพวกสนับสนุนพระมหากษัตริย์จึงใกล้ชิดกับกลุ่มที่สอง

เชื่อว่ากลุ่มที่สามเกิดขึ้นโดยธรรมชาติส่วนหนึ่ง อีกส่วนอาจเกิดอย่างจงใจสร้างเพื่อดุลกับกลุ่มแรก ภายหลังจากเกิดกรณีถอดถอนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความดังนี้

เป็นที่ทราบกันมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่าขุนนางส่วนใหญ่สนับสนุนให้ราชสมบัติตกกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและบังคับให้สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรออกผนวช แต่ครั้งสองพระองค์ยังเป็นเจ้าฟ้าโอรส ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรถวายราชสมบัติให้พระเชษฐาเป็นรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร ขุนนางพวกนี้ก็กลัวจะถูกถอดถูกลงโทษ แบบภาษาสามัญชนคือมองหน้ากันไม่ติมาแต่ต้นรัชกาล แต่เป็นกลุ่มที่ทรงอำนาจพอคะคานกับอำนาจพระมหากษัตริย์ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ ทั้งสองฝ่ายจึงคุมเชิงกัน แต่ขุนนางบางกลุ่มขาดความอดทนด้วยการให้กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นพระบรมวงศ์เป็นผู้นำรวบรวมกำลังได้จำนวนหนึ่ง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวช ให้ลาผนวชอัญเชิญเป็นพระมหากษัตริย์อีกหน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพรรณนาความตอนนี้ไว้ดีมากสะท้อนภาพทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยาดังที่กล่าวมาแล้วได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น จึงขอคัดความบางตอนมาดังนี้


“…ครั้นค่ำอีกวันหนึ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธกับขุนนางทั้งสี่คนก็พากันไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ณ วัดประดู่ แล้วกราบทูลความที่คิดกันนั้น ครั้นได้ทรงทราบจึงตรัสว่ารูปเป็นสมณะจะคิดอ่านการแผ่นดินด้วยนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงเห็นควรประการใดก็ตามจะคิดกันเถิด กรมหมื่นเทพพิพิธกับขุนนางทั้งสี่ก็เข้าใจว่าทรงยอมแล้ว ก็ทูลลากลับมา

ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชจึงทรงพระดำริว่า คนเหล่านี้คิดกบฎจะทำการใหญ่ ถ้าเขาทำการสำเร็จ จับพระเชษฐาได้แล้ว เขาจะมาจับเราเสียด้วย จะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองสมบัติ เราสองคนพี่น้องก็จะพากันตาย จะนิ่งไว้มิได้จำจะไปทูลพระเจ้าพี่ให้รู้จึงชอบ ครั้นรุ่งขึ้นเช้าจึงเสด็จเข้ามาในพระราชวัง เข้าเฝ้าพระเชษฐาธิราชถวายพระพรแถลงแจ้งรหัสเหตุให้ทราบสิ้นทุกประการแล้วถวายพระพรว่า อาตมภาพเป็นสมณะจะเกี่ยวข้องสิกขาบท จะรับพระราชทานแต่ชีวิตคนเหล่าร้ายอย่าให้ถึงตาย แล้วถวายพระพรลากลับไปอาราม…”


ความตอนนี้ทั้งความที่กล่าวมาว่า กลุ่มขุนนางต้องการพระมหากษัตริย์ที่ควบคุมได้ ท้ายสุดสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรทรงไม่สามารถจะขจัดความระแวงกันระหว่างพระองค์กับขุนนางในรัชกาลเก่าได้ เห็นจะเป็นด้วยว่าไม่มีกำลังเพียงพอ หรือประจวบกับพระเจ้าอลองพระกษัตริย์พม่ายกกองทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา ขุนนางซึ่งว่ามีแค่สี่คนจึงถูกลงโทษแค่จองจำ

อย่างไรก็ตามสงครามพม่าที่พระเจ้าอลองพระถูกสะเก็ดปืนใหญ่จนต้องถอยทัพและสวรรคตภายต่อมา ทำให้วิกฤติการณ์หวาดระแวงระหว่างพระมหากษัตริย์กับเหล่าขุนนางเก่าระงับไปชั่วขณะ แต่เมื่อกองทัพพม่าถอยกลับวิกฤติเดิมก็กลับมาอีก การไม่ส่งกองทัพติดตามโจมตีกองทัพพม่าซึ่งกำลังจะเพลี่ยงพล้ำน่าจะมาจากความระแวงกันเองในอยุธยามากกว่าการขาดประสบการณ์ วิกฤติการณ์ความระแวงอุณหภูมิสูงขึ้นเพราะสมเด็จพระที่นั่งสุริยมรินทรทรงคงกำลังที่จงรักภักดีและข้าหลวงเดิมของพระองค์ เช่น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยาถลาง ฯลฯ ทั้งยังรุกเอาข้าหลวงเดิมของพระอัครมเหสีซึ่งน่าจะอยู่ในกลุ่มขุนนางรัชกาลเก่า เช่น พระยาตาก (สิน) หลวงกระ (ขัน) ฯลฯ ซึ่งมีความสามารถในการรบมาเป็นฝ่ายพระองค์ได้

ในที่สุดสภาวการณ์ที่กล่าวมาก็สิ้นสุดโดยกองทัพพม่าที่ใช้เพียงขุนทหารเป็นแม่ทัพใหญ่ สามารถทำลายอาณาจักรที่ยืนยาวมา ๔๑๗ ปี ได้อย่างราบคาบ สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรสวรรคตในสนามรบที่ยืนยันด้วยหลักฐานของพม่าเพราะถ้าไม่สวรรคตคงมีชนชั้นปกครองบางเมืองที่ยังจงรักภักดีพอจะหนีไปตั้งหลัก อย่างน้อยก็เมืองนครศรีธรรมราชหรือเมืองถลาง

ในภาวะคับขันเมื่อทหารพม่าเข้าพระนครได้ก็ยังมีผู้จงรักภักดียังทำการสู้รบ เพราะมีหลักฐานว่านายสุดจินดา (บุญมา) พระกระ (ขัน) ฯลฯ หลบหนีกองทัพพม่าภายหลังกรุงแตก หรือเมื่อรู้ว่าพระมหากษัตริย์สวรรคตแล้วทั้งสิ้น

ถ้าหากเหล่าทหารที่ตีฝ่ากองทัพพม่าที่ปิดล้อมพระนครศรีอยุธยาตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งยังเป็นพระยาตากได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ เหล่าทหารที่ยืนหยัดสู้รบจนสุดท้ายพระชนมชีพของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรก็ควรได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่า!



ปัญญา ศรีนาค

ถลาง ภูเก็ต และบ้านเมืองฝั่งทะเลตะวันตก
สำนักพิมพ์มติชน


สำเนาโดย : ขุนนางอยุธยา

ที่มา : Historical and Archaeological : การเมืองในอยุธยา

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: