วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วันสำคัญกับการเมืองของความเป็นจริง

วันสำคัญของชาติ : ความหมาย, อำนาจ, และการเมือง

ความนำ

เมื่อก่อนปฏิทินมีดาวโป้แก้ผ้ายั่วให้เราเปิดดูอยู่ทุกวัน เดี๋ยวนี้รู้สึกจะเบาบางลงไป ไม่โจ๋งครึ่มเท่าไหร่ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เปล่าเลยผมไม่ได้รู้สึกเสียดายหรืออาลัยอาวรณ์เจ้าปฏิทินเก่าประเภทนั้น เพราะถึงปฏิทินมันจะเปลี่ยนรูปแบบไปยังไงหรือมีใครมาโชว์อะไรให้เราดู " วันเวลา " ที่บรรจุตามตารางบอกวันเดือนปีมันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง 1 ปีมี12 เดือน, 365 วัน หรือบางปี 366 วัน เท่าเดิม และในหนึ่งวันมีเวลาพระอาทิตย์ขึ้น - ตกเหมือนกัน กลางวันมีแสงสว่าง กลางคืนนั้นมืดมิด วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เหมือนๆ เดิม

แต่ในหนึ่งปีนี้มี " วัน " ประเภทหนึ่งเป็น"วันที่ไม่ธรรมดา" ถึงแม้มันยังไม่อาจหลีกหนีความจำเจตามธรรมชาติของกาลเวลา แต่มันก็มีบทบาทต่อวิถีชีวิต, ความคิด, และจิตใจของผู้คน "วัน " ที่เราควรจะได้พิจารณากันอย่างจริงจังเสียทีนี้ ได้แก่ "วัน"ที่ถูกยอมรับให้เป็น " วันสำคัญ " (ของชาติ) และนี่แหล่ะคือ จุดมุ่งหมายของบทความนี้ ซึ่งผมขอเริ่มต้นกล่าวอย่างนี้นะครับ


บุคคล, ชนชั้น, และวันสำคัญ

เมื่อพลิกดูตามปฏิทินอาจกล่าวได้ว่า เราทุกคนนั้นล้วนแต่มี " วันสำคัญ " ของตัวเอง ตั้งแต่วันที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองโดยตรงเรื่อยไป จนถึงสังคมที่เราสังกัดอยู่ ในหนึ่งสัปดาห์ของคนทำงานคงไม่มีวันใดที่เป็นที่ปราถนามากกว่า "วันหยุด" อาจเป็น เสาร์ - อาทิตย์ หรือวันอื่น หรือเฉพาะวันอาทิตย์ รวมทั้ง "วันหยุดนักขัตฤกษ์ "

ในหนึ่งเดือนอาจไม่มีวันใดที่เขาจะนึกอยากให้ถึงไวไวมากไปกว่าวันเงินเดือนออก พอสิ้นปีก็อาจนึกถึงโบนัส, งานเลี้ยงสังสรรค์, ทัวร์ประจำปี บางแห่งแย่หน่อยก็อาจไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถึงงั้นก็อาจจัดเป็นวันที่น่าพิศมัยได้มากกว่า เมื่อนึกถึงว่าเขาจะได้อยู่กับครอบครัวอย่างเต็มวัน พ่ออาจพาลูกไปเที่ยว สามีภรรยาหรือคู่รักอาจได้ทานมื้อกลางวันด้วยกัน

"วันสำคัญ" นอกจากจะเป็นเครื่องบ่งชี้ทางกาลเวลา ตั้งแต่ในระหว่างวัน, ระหว่างเดือน,ไปจนถึงระหว่างปี "วันสำคัญ " ยังเป็นสิ่งสะท้อนระบบความสัมพันธ์แต่ละชุดอีกด้วย แม้เราจะจำวันที่เราลืมตาดูโลกวันแรกไม่ได้ แต่เราทุกคนก็ยังจำเป็นจะต้องรู้ว่า เราเกิดวันที่เท่าไร, เดือนอะไร, และปีไหน ความสำคัญที่ต้อง"จำ" ได้นี้ไม่ใช่เพียงว่า หนึ่งปีเวียนมาบรรจบครบอีกคราวเท่านั้น หากยังหมายถึงชีวิตบุคคลทั้งชีวิตและสังคมทั้งสังคม ผู้ที่เชื่อเรื่องฤกษ์ยามตามหลักโหราจารย์ (ขอย้ำว่า…จารย์ ไม่ใช่…ศาสตร์) ย่อมตระหนักดีว่า การที่บุคคลเกิดวันนั้นวันนี้มีความสำคัญอย่างไร มันหมายถึง ข้อทำนายทายทักถึง อุปนิสัยใจคอ, อนาคต, หน้าที่การงานเมื่อโตวัยขึ้น ฯลฯ

แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องโหราจารย์เป็นเรื่องของชนรุ่นก่อนที่กระทำการเผด็จอำนาจต่อชนรุ่นหลัง โหราจารย์บรรจุประสบการณ์ของชนรุ่นหนึ่งที่มีต่อปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น เวลาน้ำขึ้น - น้ำลง, เดือนหงาย - เดือนมืด, ลมฝนแปรปรวน, ภัยแล้ง, เรื่อยไปจนถึงวันที่ฟ้าอาเพศอย่างเหตุการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา (ราหูอมจันทร์หรือกบกินเดือน) ในยุคหนึ่งหลักคำทำนายอาจเป็นผลในแง่ดี ทำให้ชีวิตบุคคล, สังคม, ตลอดจนยุคสมัยไม่ถึงกาลสิ้นสุด ชนชั้นนำยังสามารถอธิบายให้เหตุผลและนัยยะของสิ่งแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นมานั้นได้ ในการณ์นี้ผู้ปกครองอาจถือเป็นโอกาสดีอีกวาระหนึ่งที่เขาจะได้รวมคนจำนวนมาก มากระทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อรวมศูนย์ความศรัทธาและจงรักภักดีมาขึ้นตรงต่อรัฐ

แต่อีกด้านที่น่าใจหาย คือ การเผด็จอำนาจอย่างนี้จัดเป็นการทำลายชีวิตทั้งชีวิตของบุคคลจำนวนมาก เช่น ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง "องคุลีมาล " จะพบว่า สาเหตุที่นายองคุลีมาลถูกวินิจฉัยตั้งแต่เกิดแล้วว่า เขาจะต้องเป็นมหาโจร ก็เพราะเขาดันเกิดในวันที่มีอาเพศ ตามความคิด/ความเชื่อที่มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น เขาก็เลยกลายเป็นโจรตั้งแต่เกิด เมื่อสำนึกรู้ต่ออนาคตของเด็กน้อยเช่นนี้แล้ว ผู้รู้บางท่านถึงขนาดแนะนำให้มารดาสังหารเด็กน้อยเสีย แต่ด้วยความรักที่มีต่อลูกที่เกิดแต่อุทรของเธอ ผู้เป็นมารดาไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ กระนั้น แม้มีชีวิตอยู่องคุลีมาลก็ยังต้องผจญกับการดูหมิ่นเหยียดหยามและการบีบคั้นต่างๆนานา ในฐานที่เกิดมาในวันที่เขาทำนายไว้ว่าต้องเป็นโจร

สำหรับยุคปัจจุบัน "วันเกิด" อาจไม่มีความหมายอะไรมากมาย นอกเสียจากว่า เป็นวันที่อาจจะต้องมีการจัดเลี้ยงเฉลิมฉลอง เพื่อนฝูงหรือคนแวดวงเดียวกันจะได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ (ชนแก้วกันไป) ดาราดาวเด่นอาจถูกทีมงานของเธอทำเซอร์ไพร์ ด้วยการแอบจัดงานเตรียมเค้กชิ้นโตพร้อมจุดเทียนให้เธอเป่า ซึ่งเจ้าตัวอาจซาบซึ้งจนน้ำตาคลอ (น่ารักจริงๆ)

ขณะที่ผู้คนพากันเห่อเหิมไปกับงานวันเกิด ก็ดูเหมือนว่า เขาได้หลงลืมความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของ "วันเกิด " ไปเสียแล้ว นั่นคือในวันที่เราเกิดนั้น แม่ของเราเกือบสิ้นใจตายเพราะเบ่งเราออกมา เพราะงั้น "วันเกิด " จึงไม่ควรมีแต่มิติของความสนุกครื้นเครง หากเป็นวันที่เราควรระลึกถึงคุณมารดา !

ในชีวิตของการครองคู่อาจไม่มีวันไหนที่สามีภรรยาจะได้หวนรำลึกถึงความหวานชื่นที่เขาและเธอเคยมีให้ต่อกันได้มากไปกว่า " วันครบรอบการแต่งงาน " ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง หนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่ได้เพิ่งสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งจริงจังก็เมื่อวันแต่งงาน หากก่อนนั้นเกือบทุกคู่มักมีการคบหาดูใจกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง นิ้วนางของหญิงสาวอาจได้สวมแหวนตั้งแต่ก่อนวันวิวาห์ วันแต่งงานจึงอาจไม่ใช่วันเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างแท้จริง แต่ก็จัดเป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาและเธอ ทั้งที่มีต่อกันและต่อสังคมแวดล้อม แขกเหรื่อต่างมาเป็นสักขีพยานว่า ชาย - หญิงคู่หนึ่งตกลงจะอยู่ร่วมกันดูแลกันและกันตลอดไปนับจากนี้ "วันครบรอบการแต่งงาน " จึงเป็นวันที่จะคอยย้ำเตือนถึงสิ่งนี้นั่นเอง เพราะงั้นถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดจำวันนี้ไม่ได้ขึ้นมา ก็อาจเป็นสัญญาณบอกถึงสภาพการณ์บางอย่างที่ไม่พึงปราถนาก็เป็นได้

ต่อเมื่อต้องเข้าสังกัดกลุ่มองค์กร, คณะ, หรือสถาบันใด แต่ละแห่งก็จำเป็นจะต้องมี "วันสำคัญ" ไว้คอยรวมศูนย์ความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันของหมู่คณะ อาจถือเอาวันก่อตั้งหรือวันที่ต้นสังกัดเผชิญเหตุการณ์สำคัญ เมื่อลงเล่นการเมืองสมาชิกพรรคก็จำเป็นจะต้อง " รู้ " วันสำคัญของพรรคที่ตนสังกัดอยู่ อาจเป็นวันก่อตั้งพรรค วันประชุมสมัชชาประจำปี หรือไม่ก็วันคล้ายวันเกิดของผู้นำคนสำคัญหรือบุคคลชั้นอาวุโส นอกเหนือไปจากวันที่ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับการหาเสียงและวันที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ผู้นำที่ฉลาดจึงมักใช้ประโยชน์จาก "วันสำคัญ " อยู่เสมอ เพราะมักเป็นวันที่มีคนเป็นจำนวนมากรวมอยู่ในที่เดียวกัน

นอกจากนี้ตามสถาบันการศึกษาประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกสถาบันล้วนแต่ต้องมีเหมือนกันไม่ว่าระดับใด ( ตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย) คือ ทุกปีต่างก็จะมี "วันสำคัญ " ทั้งของชาติและของตนเองเช่นเดียวกัน อะไรต่างๆเหล่านี้ ดูราวกับว่า ชีวิตคนในหนึ่งปีนี้ตั้งแต่เล็กจนตายล้วนมี "วันสำคัญ " ที่เราต้องประพฤติปฏิบัติตัวแตกต่างกันออกไป แต่ละวันนั้นล้วนแต่มี "เนื้อหา "หรือ "นัยยะ " ที่ต้องการโน้มนำให้เรารำลึกถึงบางสิ่งบางอย่างมากมาย

เราจะเข้าใจการมี "วันสำคัญ " นี้อย่างไรดี ?


ประเพณีประดิษฐ์ของชาวพุทธ

ก่อนอื่นต้องขอพิจารณา " วันสำคัญทางพุทธศาสนา " เป็นลำดับต้น เนื่องจากว่าพุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับเชื่อถือในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง รัฐไทยยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงสิ่งบ่งบอกว่าประชาชนภายในรัฐนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น หากปรัชญาแบบพุทธยังกลายเป็นต้นแบบ ( original )สำคัญให้กับระบบวิธีคิดและศีลธรรมปัญญาของคนจำนวนมหาศาลในประเทศนี้ แม้จะพบกับความตกต่ำอันเนื่องมาจากความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นในแวดวงพระสงฆ์, ความแตกแยก, และปัญหาการตีความระบบปรัชญาของสิทธัตถะบางชุด ( หลักความเป็นอนัตตาหรืออัตตาของภาวะนิพพาน ) แต่พุทธศาสนาก็ยังไม่เคยพบกับการท้าทายชนิดถอนรากถอนโคนอย่างจริงจัง หลายคนยังเชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคม (ไทย ) พลังอย่างหนึ่งของระบบความคิดแบบพุทธที่แสดงออกโดยการซึมซ่านเข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันของคน ( ไทย ) ได้แก่ การกำหนดให้มี "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา " ชาวพุทธจำนวนมากได้มีโอกาสร่วมกันประกอบกิจกรรมอันเป็นสิ่งสะท้อนถึงความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดียวกัน


" วันสำคัญทางพุทธศาสนา " เป็นวันที่เชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับอดีต โดยมีชมพูทวีปยุคพุทธกาลเป็นศูนย์กลาง และสัมพันธ์กับพุทธประวัติหรือกล่าวง่ายๆก็คือ มักเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้านั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นวันประสูติ, ตรัสรู้, และปรินิพพาน อย่าง

" วันวิสาขบูชา " ( ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ เดือน 7 ในปีที่มีเดือน 8 สองหน ), วันที่ทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกอย่าง

" วันอาสาฬหบูชา " ( ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ) ซึ่งพุทธบริษัทเชื่อถือว่าเป็นวันสำคัญเพราะ เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบ 3 ประการ คือ มีพระพุทธ ( สิทธัตถะ ) พระธรรม (ธรรมจักกัปปวัฒนสูตร ) และพระสงฆ์ (ได้พระอัญญาโกญทัณญะเป็น "เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา " องค์แรก), และ

" วันมาฆบูชา " (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ) ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์มาชุมนุมกันราว 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมาย สมัยนี้ถือเป็นเรื่องที่แปลก ถ้าศึกษาพุทธประวัติโดยละเอียดจะพบว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในตลอดระยะเวลาที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ ตรงข้ามการชุมนุมพระสงฆ์อย่างนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองก็เมื่อทรงดับขันธ์ไปแล้ว ได้แก่ ช่วงที่มีการกระทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ภายใต้ความอำนวยการของพระเจ้าอโศกมหาราช

แต่มองลึกลงไปในอดีตผมมองว่า มันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับยุคนั้น (พุทธกาล) เมื่อนึกถึงว่า เอหิภิกขุจำนวน 1,250 รูปนี้ส่วนมากล้วนแล้วแต่เคยเป็นสานุศิษย์ของฝ่ายพราหมณ์ทั้งสิ้น วันเพ็ญ เดือนมาฆะ ปีระกา (ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ) ซึ่งเป็นปีเดียวกับปีที่เจ้าชายสิทธัตถะโอรสแห่งเจ้าศากยวงศ์ได้ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่ตรงกันกับวันประกอบพิธีศิวาราตรี ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ในรอบปีของฝ่ายพราหมณ์ ( อย่าลืมว่าช่วงนั้นพุทธสาวกกำลังเร่งเผยแผ่พระธรรมคำสอนแข่งกับพวกพราหมณ์อยู่ ) และถ้าสังเกตใบลานให้ดีจะพบว่า บรรดาเอหิภิกขุทั้งหลายนั้น ท่านล้วนแต่ท่องจาริกสั่งสอนประชาชนไปยังแว่นแคว้นที่ท่านเคยมีบทบาทเมื่อครั้งที่ยังเป็นฝ่ายพราหมณ์อยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ผลจากความเคยชินเก่าๆก็ทำให้ต้องเดินทางมาชุมนุมร่วมกัน โดยการเข้าเฝ้าองค์พระศาสดาร่วมกัน ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่สวนเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ศูนย์กลางอารยธรรมชมพูทวีปนั่นเอง


แม้แต่วันที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ อย่าง"วันเข้าพรรษา"และ"วันออกพรรษา"ก็ยังเป็นวันที่ต้องสัมพันธ์กับเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาล ช่วงฤดูฝนเป็นเวลากลางเดือนเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน11 เป็นช่วงระยะที่ไม่เหมาะแก่การจาริกแสวงบุญ เพราะอาจต้องเหยียบย่ำไร่นา ทำให้พืชผลของชาวบ้านต้องเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติระเบียบวินัยขึ้น ให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นจะไปค้างคืนที่ไหนไม่ได้ ถ้าขืนไปต้องอาบัติ คือ ถูกลงโทษเ ว้นแต่มีเหตุจำเป็น ในการณ์นี้ พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำบุญ,ฟังเทศน์ ฟังธรรม,รักษาศีล,และ หาเครื่องสักการะบูชาต่างๆ ไปถวายพระ เช่น พุ่มเทียน เทียนพรรษามีการหล่อเทียนพรรษาขนาดใหญ่ถวายพระ โดยคำนวณให้ใช้ได้นาน 3 เดือน ทางราชการมักมีการบอกบุญไปยังหน่วยงานต่างๆ บางโรงเรียนมีการจัดประกวด และมีการแห่เทียนไปวัดอย่างเอิกเกริก

มีข้อน่าสังเกตว่า ประเพณีประดิษฐ์ในวันสำคัญนี้ ไม่เพียงคนชั้นล่างเท่านั้นที่ถูก"อดีต"บังคับให้ทำ หากยังครอบคลุมถึงบุคคลชั้นสูงของสังคมด้วย หรืออาจกล่าวอย่างไม่ดัดจริตออกมาตรงๆได้อีกอย่างว่า ชนชั้นสูงนั่นแหละที่ได้ประโยชน์จากประเพณีประดิษฐ์แบบนี้ ดังปรากฏแต่ครั้งโบราณแล้วว่า ชนชั้นผู้มีอำนาจจะครอบงำประชาชนโดยผ่านทางวัดอีกต่อหนึ่ง

ในวันเข้าพรรษา "เจ้าสยาม" ปฏิบัติมาแต่ครั้งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้วว่า ต้องทรงเสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต จากนั้นเสด็จไปยังวัดบวรนิเวศเพื่อทรงจุดเทียนพรรษาบูชาพระพุทธชินสีห์ ส่วนวัดหลวงอื่นๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติแทน

โดยสรุปแล้วก็เชื่อแน่ได้ว่า วันสำคัญทางพุทธศาสนานั้น มีไว้เพื่อระลึกถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมๆกับหลักธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน และโน้มนำให้ชาวพุทธเชื่อมั่นในสิ่งที่บุคคลแต่ครั้งปู่ย่าประพฤติปฏิบัติกันมา ว่าเป็นสิ่งถูกต้อง - สิ่งดีงาม มันจึงเป็นกระบวนการที่คนที่ตายแล้วครอบงำคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้เหตุการณ์นั้นผ่านมานานนับหลายศตวรรษ แต่ก็ยังมีการ"จัดตั้ง"ความทรงจำเก่าๆให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอ ทุกปี ๆ เหมือนหนึ่งว่าความเป็นอดีตจางหายไปชั่วขณะเมื่อวันสำคัญเวียนมาถึง ในแง่นี้ "วันสำคัญทางพุทธศาสนา" มีผลต่อการธำรงบวรพุทธศาสนา เพราะถึงแม้พุทธกาลจะผ่านมานานเท่าไร แต่ทุกปีชาวพุทธจะได้รู้ถึงจริยวัตรอันงดงามของสิทธัตถะและสาวกผ่านวันสำคัญมาตลอด

ควบคู่กับการนับถอยห่างจากปัจจุบัน ความรู้สึกรักและห่วงแหนสิ่งที่จัดว่า มีความเก่าแก่ มักเป็นไปในลักษณะร้อนแรง บุคคลผู้มีอาวุโสเป็นที่เคารพยำเกรง(บางคราวอาจเรียกเป็นความกลัวอย่างหนึ่ง) นี่คือ จุดเริ่มต้นของระบบอุปถัมภ์อาวุโสหรือความคิด / ความเชื่อเรื่องผู้มีบุญญาบารมี ข้อนี้มีการแสดงออกอยู่ในวันสำคัญ การเดินเวียนเทียนที่มักกระทำในวันสำคัญทางพุทธศาสนานั้นที่จริงการเดินประนมธูป,เทียน,ดอกไม้ 3 รอบ ไม่ใช่แค่เพียงรอบที่ 1หมายถึง การกำหนดเอาพุทธานุสติเป็นสรณะ รอบที่2 หมายถึง ธรรมมานุสสติ และรอบที่ 3 หมายถึง สังฆานุสติเพียงเท่านั้น หากการเดินดังกล่าวมีเจตนามุ่งทำความเคารพเป็นสำคัญ

การเดินรอบเจดีย์หรือโบสถ์วิหารต้องเดินเวียนไปทางขวา เรียกว่า "ปทักษิณา" (แปลว่า ข้างขวา) คือ สมัยโบราณเคยมีประเพณีปฏิบัติว่าเมื่อไปหาท่านผู้ใดที่เป็นที่เคารพนับถือ เมื่อลากลับแล้วก่อนจากไปให้เดินเวียนขวาท่านผู้นั้น 3 รอบก่อน แล้วจึงหลีกออกไป ถือเป็นวิธีแสดงความเคารพนอบน้อมอย่างสูง ปกติกระทำแก่บุคคลชั้นผู้ใหญ่,นักบวช,หรือ ทำแก่ปูชนียสถาน,สถูป,เจดีย์ซึ่งบรรจุสรีระธาตุของท่านผู้เป็นที่เคารพที่ล่วงลับไปแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมแสดงออกด้วยการเดินท่วงท่าสงบเสงี่ยม ไม่มีเครื่องประโคม ไม่มีการโห่ร้อง แม้หนุ่มสาวอาจมีการหัวร่อต่อกระซิบกันได้บ้างก็เป็นเรื่องปกติวิสัย

นอกจากนี้ยังมี"วัน"ที่ชาวพุทธได้ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ เช่น วันสงกรานต์ หรือ ตรุษสงกรานต์ ,และ วันลอยกระทง ที่บอกว่าเป็นกรณีพิเศษก็ตรงที่มันไม่ได้เป็นวันที่สัมพันธ์กับพุทธประวัติ หากเป็นวันที่ชาวพุทธนำมันไปผูกโยงกับความเชื่อทางศาสนาของตน สงกรานต์จัดเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำบุญตักบาตร, ก่อเจดีย์ทราย, บังสกุลอัฐิ, สรงน้ำ(และสาดน้ำ) เป็นต้น มีความลักหลั่นกันอยู่บ้าง โปรดสังเกตนัยยะความหมาย ของชื่อดังต่อไปนี้

" ตรุษ" แปลว่า " ตัดหรือขาด ถือตัดปีหรือสิ้นปี" หมายถึงวันสิ้นปีนั่นเอง"สงกรานต์" แปลว่า " การย้ายที่หรือการเคลื่อนที่" ถือดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษเรียกเป็นพิเศษว่า "วันมหาสงกรานต์" เป็นความหมายที่เน้นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ประเพณีที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในวันนี้กลับพุ่งเป้าไปที่การหยุดนิ่ง สงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากด้านใต้ไปทางเหนือ ดังจะสังเกตได้จากแดดซึ่งย้ายจากใต้ไปเหนือทีละน้อยๆ จนถึงกึ่งกลางจุดที่เราอยู่บนพื้นผิวโลกพอดี ในตอนนี้เวลากลางวันและกลางคืนมีเท่ากันหมดทั่วโลก ภาษาโหรเขาเรียกว่า "มัธยมกาล" สันสกฤตเรียกว่า " วสันต์วิษุวัต" และภาษาอังกฤษเรียกว่า "Spring Gquinox" ซึ่งเป็น"วัน"ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ(Spring) ฤดูนี้แม้เมืองไทยไม่มี แต่เป็นระยะที่ชาวนา กสิกรกำลังว่างจากการทำไร่ไถนาและเก็บเกี่ยวพืชผล(ยกเว้นภาคใต้) การเล่นสนุกรื่นเริงในช่วงนี้จึงนับว่ามีความเหมาะสมอยู่

ส่วนการลอยกระทง เมื่อ" วันเพ็ญเดือนสิบสอง " (น้ำก็อาจท่วม กทม.) ที่ถือเป็นประพณีไทยนี้ แต่ความจริงกลับปรากฏว่าพม่า, กัมพูชา, อินเดีย, และจีน ก็มีการลอยกระทง เช่นเดียวกัน แต่มีจุดประสงค์แตกต่างออกไป และคงลอยในเดือน 11 และ เดือน 12 เช่นเดียวกับทางไทย เป็นวันประเพณีของสังคมที่มีความผูกพันธ์กับแหล่งน้ำนั่นเอง

ทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าความสำคัญของ "วัน" เหล่านี้ได้บิดเบือนไปจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมเกือบหมดสิ้น วันที่ 13 เมษา ไม่มีความหมายอะไรมากมายนัก เมื่อนึกถึงว่า มันเป็นวันที่คนจำนวนมหาศาลพากันเล่นสาดน้ำครื้นเครงอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง วันเพ็ญเดือน 12 มันจะมีความหมายอะไรในเมื่อจุดเน้นหนักของมันมักอยู่ที่การแข่งขันประกวดกระทง(ไม่ว่าโฟมหรือใบตอง) และการประกวดเทพีนางนพมาศ ซึ่งมาตรฐานความงาม -ไม่งาม ของหญิงสาวก็คงไม่ต่างจากเวทีประชันขาอ่อนทั่วไป และที่สำคัญเมื่อค้นคว้าหนักเข้า ก็มักพบว่า บางประเพณีที่กล่าวอ้างว่ามีมานมนาน แต่เอาเข้าจริงเพิ่งประดิษฐ์สร้างเมื่อไม่นานมานี้เอง


สถาบันกษัตริย์,รัฐชาติ,และการสมมติวันสำคัญ

องค์พระมหากษัตริย์นั้นแต่ไหนแต่ไรมาอาจเรียกได้ว่า ทรงมีอาณาเขตอำนาจที่แน่นอนของพระองค์เอง ไม่ว่าการอธิบายที่มาของอำนาจนั้นจะด้วยหลักการเอนกนิกรสโมสรสมมติหรือหลักการสมมติเทวราช แม้จะถูกลดทอนจากขุนนางและเชื้อพระวงศ์ในบางเสี้ยวของประวัติศาสตร์แต่ดูเหมือนว่า อำนาจอื่นในสังคมสยามนั้นมักอ้างอิงมาจากเขตอำนาจการคุมกำลังคนของกษัตริย์

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงแม้จะมีการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวมายังคณะบุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนของราษฎร แต่เนื้อหาของการปฎิวัติมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับการปฎิวัติฝรั่งเศส 1789, รัสเซีย 1917, และจีน 1911 (เก็กเหม็ง) มีการประนีประนอมระหว่างผู้นำระบอบใหม่กับระบอบเก่า

ถ้าจะเปรียบ 24 มิถุนายน 2475 เป็นหนังฟอร์มใหญ่ อาจเป็นได้ทั้งหนังที่ท่านผู้ชมชาวไทยชื่นชอบเป็นที่สุดและเอียนที่สุดไปพร้อมๆกัน ด้วยเงื่อนไขอันจำกัดเราอาจไม่สามารถสร้างมติชี้ชัดลงไปได้ว่า ระหว่างคณะผู้ก่อการ กับ ร.7 ใครเป็นพระเอกและใครเป็นผู้ร้าย 14 ตุลาคม 2476 (กบฎบวรเดช) อาจเป็นฉากบู้ที่จำเป็นแต่ไม่ตั้งใจ

กรณี ร.7 สละราชย์อาจเป็นโศกนาฎกรรมที่สะเทือนความรู้สึกคนไทยจำนวนหนึ่ง แต่อาจไม่เป็นอย่างนั้นเมื่อนึกถึงว่า มันเป็นฉากที่ดำเนินต่อเนื่องมาแต่ครั้ง 24 มิถุนา, โดยรวมเราจึงสามารถพบความพิกลพิการ ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยตั้งแต่ 2475 ได้จากการพินิจดูความสัมพันธ์ระหว่างสภากับราชสำนัก สถาบันกษัตริย์ยังมีบทบาทแม้จะไม่ได้มีอำนาจ (ทั้งทางการเมืองและกฎหมาย)โดยตรง แต่ก็ทรงเป็นสัญลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งชาติ

คงเพราะเหตุนี้ในหนึ่งปีเมืองไทยจึงต้องมีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น วันจักรี ( 6 เมษายน), วันเฉลิมพระชนมพรรษา ( 5 ธันวา , และ 12 สิงหา),วันพืชมงคล( 8พฤษภา), วันฉัตรมงคล( 5พฤษภา),วันปิยะมหาราช ( 23 ตุลา) ,และ อาจนับ 10 ธันวา (วันที่ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ) เข้ากับ " วัน" ประเภทนี้ได้ เราอาจกล่าวได้ว่าราชวงศ์จักรีเห็นความจำเป็นในการมี"วันสำคัญ" ไว้เพื่อ "บอกเล่า" ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดดังจะเห็นได้จากการที่ ร. 6 ทรงเป็นผู้ปกครอง"องค์"แรกที่ได้มีประกาศหยุดนักขัตฤกษ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา(ลงวันที่ 28 มีนาคม 2456) ซึ่งรัฐไทยได้ใช้เป็น"วันหยุดราชการ" สืบมาถึงปัจจุบัน

มิไยต้องนึกย้อนกลับไปดูว่า ชาตินิยมในนิยามของ ร.6 นั้น เน้นสถาบันกษัตริย์เป็นแกนหลักของรัฐอันเป็นสูตรง่ายๆแบบ

"ข้านี่แหล่ะคือ รัฐ " (I 'm state )

ตามอย่างเจ้ายุโรปในช่วงศตวรรษที่19 ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติถูกมองว่า ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารด้วยกันทั้งนั้น ความไม่เท่าเทียมกันถูกนิยามให้เป็นความเท่าเทียมกันอย่างฉาบฉวย ในแง่นี้ "วันสำคัญ" ที่เกี่ยวเนี่องกับสถาบันกษัตริย์ จึงไม่อาจจะเป็นแค่เพียง "วันหยุดราชการ" ตามธรรมดาเท่านั้น หากเป็นวันที่ชนชั้นนำต้องการ "สื่อ" ให้ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นสำคัญ


"วันจักรี" จึงนับเอาวันที่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จขึ้นครองราชย์ เถลิงพระนามาภิไธยใหม่ภายหลังเป็น "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ถือเป็นวันเริ่มต้นราชวงศ์จักรี การกำหนดให้มี "วันปิยมหาราช" ก็แค่เพื่อให้เรานึกถึง ร.5, 10 ธันวา แม้ยังเป็นปัญหาในแง่การตีความอยู่บ้าง แต่เมื่อนึกถึงว่ามันเป็นวันเดียวกับวันที่ ร.7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและถ้อยคำของรัฐธรรมนนูญฉบับนี้ยังแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ร่างขึ้นโดย นายปรีดี พนมยงค์ (ภายใต้ความเห็นชอบจากสมาชิกผู้ก่อการฯ) จากเดิมที่ใช้ "กษัตริย์" เฉยๆก็เปลี่ยนมาใช้ "พระมหากษัตริย์" และคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ก็ถูกแทนที่ด้วยคำว่า "คณะรัฐมนตรี " 10 ธันวา จึงไม่ใช่ "วันหยุดราชการ" ธรรมดาเช่นกัน เพราะมันเป็นอีกวันหนึ่งของทุกปีที่พยายามจะทำให้ ร. 7กลายเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ (?)

วันที่ 5 ธันวา และ 12 สิงหา ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา มีชื่อเรียกเป็นลำลอง (แต่ปฎิบัติจริงจัง) ว่าเป็น "วันพ่อ- วันแม่" (แห่งชาติ)อีกชื่อ ทั้งนี้เป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อหนึ่งที่อ้างกันว่าสืบทอดมาแต่โบราณ คือ ความเชื่อเรื่องความมีคุณธรรมบารมีของผู้ปกครอง ถือว่าผู้ปกครองคือ "บิดา" ประชาชนคือ "บุตร" ประเทศชาติก็เลยกลายเป็นครอบครัวใหญ่

ความคิด/ ความเชื่อในเรื่องนี้เผด็จการแบบไทย ๆ (ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ต่างก็เคยใช้อธิบายให้ความชอบธรรมสำหรับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ระบอบพ่อปกครองลูก ถูกยอมรับให้เป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับสังคมไทย ตามความเห็นของพวกเขาจัดว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก หลักฐานชิ้นสำคัญที่เขามักนำมาอ้างอิงเพื่อการณ์นี้ได้แก่ ถ้อยคำในศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือที่เรียกกันว่า "จารึกพ่อขุนรามคำแหง" แต่หลายปีที่ผ่านมาเคยมีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้พอสมควร มีการเสนอข้อมูลหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าศิลาจารึกหลักนี้อาจไม่ใช่ของที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย หากแต่ทำขึ้นหลังสมัยนั้นเป็นระยะเวลายาวนาน(?)

ยิ่งวันที่รัชกาลปัจจุบันขึ้นครองราชย์อย่าง "วันฉัตรมงคล" ( 5 พฤษภา ) ด้วยแล้วยิ่งเป็นวันที่จะต้องมีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับรัฐที่ยังมีกษัตริย์เป็นประมุขของชาติ วันดังกล่าวเป็นวันที่พระองค์ ทรงกล่าวปฐมวาจาที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม " เป็นครั้งแรก

ส่วน "วันพืชมงคล" ( 8 พฤษภา ) ซึ่งถัดจาก "วันฉัตรมงคล" เพียงไม่กี่วันนั้น นับเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ (ไม่ใช่เพียงวันกระทำพิธีกรรมของรัฐตามธรรมดา) ภาพการถ่ายทอดสดทาง ที.วี หรือแม้แต่ภาพที่ประชาชนจะได้เห็นเมื่อไปที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 8 พฤษภา เป็นภาพที่สามารถสร้างความประทับใจ (บนความอลังการ) แก่ผู้พบเห็นได้ง่าย ยิ่งเกษตรกรชาวไร่ชาวนาด้วยแล้ว ยิ่งสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันธ์ต่อในหลวงท่านได้ง่าย พระมหากษัตริย์ของรัฐไทยทรงเสด็จไปเป็นประธานพิธี พระยาแรกนาท่านจับคันไถเดินลุยไปในท้องทุ่ง เวลานั้นสนามหลวงกลายเป็น "นาจำลอง" ขึ้นมาทันใด แม้ไม่ได้ไถนาเพื่อเกี่ยวข้าวให้คนกินจริงๆ แต่ใครที่ได้เม็ดข้าวเปลือกไปจากที่แห่งนั้นก็กลับถือเป็นสิริมงคลแก่นาจริงของพวกเขา นี่ย่อมมีผลเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวนาและประชาชนหมู่มาก ทำให้เห็นได้ง่ายว่า พระองค์ซึ่งอยู่บนที่สูงสุดของรัฐยังทรงทำการผลิตร่วมกับพวกเขาและทรงห่วงใยใกล้ชิดพวกเขาตลอด (?)

ตรงกันข้ามเมื่อพินิจดู "วันที่ 24 มิถุนา" ซึ่งเคยถือเป็น " วันชาติ " ในปัจจุบันนี้มีความสำคัญน้อยลงไปมาก เรามีวันอันเกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎร และ 2475 น้อยเกินไป (รัฐไทยมีวันสำคัญของชาติที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากที่สุด รองลงมาก็ได้แก่วันสำคัญทางพุทธศาสนา) 24 มิถุนา จะถูกถือเป็นวันสำคัญของชาติตามความหมายของมันจริงๆ ก็เมื่อครั้งที่ผู้นำซึ่งมาจากคณะราษฎรมีความเข้มแข็ง อย่างเช่น จอมพล ป . พิบูลสงคราม และ พรรคพวก (รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ด้วย) พลังของความคิดเรื่อง "ชาติ" ในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลต่อพวกเขา ทำให้จอมพล ป. และพรรคพวก สถาปนาวันเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเป็น"วันชาติ" เป็นครั้งแรกเมื่อ"วันที่ 24มิถุนายน 2482" ถือเป็น "วันที่ฟื้นฟูและสถาปนาชีวิตจิตใจใหม่ในการสร้างชาติ" นัยว่าเป็นการสร้างสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ต่อ 24 มิถุนา โดยประสงค์จะให้วันนี้มีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่า"วันที่ 10 ธันวา" นั่นเท่ากับเป็นการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแข่งขันเพื่อชี้วัดลงไปว่า ระหว่าง

"คณะราษฎร"กับ"คณะเจ้า"

ใครกันแน่ที่เป็นผู้มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นผู้นำของรัฐชาติ (ไทย)ยุคใหม่ ?

แต่ก็อย่างที่สะท้อนไว้แล้วว่าการกำหนดให้มีวันสำคัญเป็นเรื่องการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า ใครเป็นผู้ครองอำนาจและใครไม่ใช่ ขณะที่ 24 มิถุนา กำลังขับเคี่ยวอยู่กับ 10 ธันวาอยู่นั้น สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ามาเป็น "บุคคลที่ 3" ด้วยการเปลี่ยน "วันชาติ" จาก " 24 มิถุนา " มาเป็น "5 ธันวา" ไม่เพียงแต่นัยยะของคณะราษฎรเท่านั้นที่หายไป ร.7 ก็เสื่อมคลายไปด้วย โดยเปลี่ยนเป็น ร.9 แทน สิ่งที่สฤษดิ์ได้กระทำลงไปในนาม "คณะปฏิวัติ" จึงไม่ใช่แค่การรื้อฟื้นเอาสถาบันกษัตริย์กลับคืนมา เหมือนอย่างที่แวดวงวิชาการมักเข้าใจกัน หากกล่าวให้ชัดเจนลงไปนั่นเป็นการเริ่มต้นประดิษฐ์สร้างในหลวงองค์ปัจจุบันขึ้นมาอย่างจริงจังต่างหาก

กระนั้นจอมพล ป. กับพรรคพวกก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนวิธีนับศักราช ตามแบบเจ้าสยามมาเป็นสมัยใหม่ คล้ายคลึงกับที่จูเลียสซีซาร์แห่งโรมได้เคยนำความคิดของนักดาราศาสตร์มาเปลี่ยนศักราชของบาบิโลเนียน ด้วยการออกแบบปฎิทินให้ 1 ปี มี 365 วัน ให้ทุกเดือนซึ่งแต่เดิม มี 29 วัน เป็น 30 วัน และให้เพิ่มอีก 1วัน ในทุกปีที่สี่ หรือที่เรียกว่า ปีอธิกวาร( Leap Year) คือ ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน และในปี ค.ศ. 1582 (พ.ศ.2125) สันตปาปาเกรกอรี่ที่ 13 ก็ได้ "ต่อยอด" ด้วยการกำหนดให้ใช้ " วันที่ 1 มกรา " เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่

สำหรับประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่หลายครั้ง สมัย ร. 5 ราวปี ร.ศ. 108(พ.ศ. 2412) ได้เปลี่ยนจาก " วันที่ 13 เมษา" มาเป็นวันขึ้น 1ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตรงกับ " วันที่ 1 เมษา" และต่อมา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ "หักล้าง" ด้วยการประกาศเปลี่ยน "วันขึ้นปีใหม่ " จาก " วันที่ 1 เมษา " มาเป็นวันที่ 1 มกรา ตามแบบฉบับสากลนิยม " วันที่ 1มกราคม 2484 " จึงเป็น"วันขึ้นปีใหม่ " วันแรกของไทยตามการนับศักราชแบบนี้

ถึงตรงนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาให้กว้างออกไปเป็นอีกประเด็นหนึ่ง คือ ประเด็นที่ว่าวันสำคัญเป็น สิ่งที่กำหนดจากศูนย์กลางอำนาจ นั่นหมายถึงสภาพที่ชนส่วนน้อยผู้มีอำนาจใช้การบังคับยัดเยียดให้กับคนส่วนมากที่อยู่ภายในรัฐเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นกระบวนที่แตกต่างกันไปในรายละเอียดของแต่ละรัฐ (ยกเว้นวันขึ้นปีใหม่) วันชาติอเมริกาจึงไม่ใช่วันที่ 24 มิถุนา

การกำหนดให้มีวันสำคัญของชาติมีผลเป็นการทำให้มวลชนจำนวนมหาศาลต้องเข้ามาขึ้นตรงต่ออำนาจของศูนย์กลางซึ่งนั่นคือ สภาวะอันสมบูรณ์ของความเป็นรัฐชาติ สอดคล้องกับทฤษฎีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ถือว่า รัฐนั้นคือสิ่งที่ประกอบด้วยองค์อธิปัตย์ (ชนชั้นนำทางอำนาจ) เอกราชอธิปไตยหรือความชอบธรรมในการปกครองตนเอง, อาณาเขตหรือดินแดนที่แน่นอน ,และ ประชาชนพลเมืองที่ขึ้นตรงต่ออำนาจปกครอง โดยเหตุที่มันปราศจากการตั้งคำถามหรือการโต้แย้ง ไม่นานเท่าไหร่มันก็กลายเป็นความเคยชิน และแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำปีของเรา

"วันสำคัญ" โดยตัวมันเองเป็นสิ่งไม่มีความหมาย แต่เหตุที่วันธรรมดาบางวันต้องกลายมาเป็น "วันสำคัญ" ก็เมื่อรัฐต้องการชี้นำให้ประชาชนนึกถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดและถ่ายทอดมาจากประวัติศาสตร์ของรัฐนั้นๆเองแล้ว ยังเป็นสิ่งสะท้อนผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองเอง เพราะฉะนั้นรัฐจึงให้ความสำคัญกับการมี "วันสำคัญของชาติ" ซึ่งโดยมากมักมีการประกอบพิธีกรรมด้วย

เด็กในโรงเรียนจะถูก"สอน"ให้ได้รับรู้ว่าวันนั้นวันนี้สำคัญอย่างไร กล่าวถึงใคร และ มีความเป็นมาอย่างไร สถานที่ราชการ และ/หรือ บริษัทห้างร้านต่างๆ จึงมักมีการเฉลิมฉลอง, ที.วี. มีรายการพิเศษ, ประมุของชาติตลอดจนบุคคลสำคัญมีการกล่าวปราศรัยทางโทรทัศน์ สื่อมวลชน ประโคมข่าว ทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นจริงได้ก็เมื่อชนชั้นนำสามารถทำให้คนธรรมดาสามัญหลงลืมความเป็นจริงที่ว่า มันก็แค่วันธรรมดาเหมือนวันอื่นๆได้มากน้อยเพียงใด


วันสำคัญกับการเมืองของความเป็นจริง

ในจำนวน " วัน" ที่สะท้อนการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายซ้าย " วันที่ 1 พฤษภา " ดูจะเป็นวันที่ยังคลุมเครือที่สุด รัฐมองว่า วันดังกล่าวเป็น " วันแรงงานแห่งชาติ " (โปรดสังเกตการตั้งชื่อวัน) ส่วนฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายประชาชนมักเรียก " วันกรรมกรสากล " (May Day) แม้จะตีความแตกต่างกัน แต่จุดกำเนิดของ " 1 พฤษภา " จัดเป็น " วันที่ฝ่ายซ้ายสมมติขึ้น " มาก่อนอีกฝ่ายหนึ่ง

ราวปี ค.ศ. 1889(พ.ศ. 2432) ที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ได้ลงมติเห็นชอบให้ถือเอาวันเมย์เดย์ ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนเดิมของกรรมกร มาเป็น " วันหยุด " ที่ระลึกถึงกรรมกรสากล นั่นหมายถึงว่า 1 พฤษภา จัดเป็น "วันของ ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก" ไม่ใช่เพียง " วันของผู้ใช้แรงงานชาติใดชาติหนึ่ง " แต่เนื่องจากในวันดังกล่าวกรรมกรมักมีการรวมตัวกัน อีกทั้งยังมักมีการประกอบกิจกรรมรำลึกอดีตร่วมกันอีกด้วย (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาแต่จำเป็นสำหรับการมี"วันสำคัญ" ) ทำให้พวกเขาส่วนหนึ่งสามารถรักษาประเพณีการต่อสู้และจิตวิญญาณของขบวนการไว้ได้ รัฐจึงเห็นความจำเป็นในการเข้าแทรกแซงแล้วแยกทำลาย

ในประเทศไทยเคยมีการห้ามไม่ให้จัดงานวันกรรมกรสากล ครั้นพอปี พ.ศ.2499 เมื่อกรรมกรเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิด้านนี้ควบคู่กับการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายแรงงาน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2499 ผู้แทนจาก " กรรมกร 16 หน่วย " ได้เข้าเจรจาต่อรองกับผ่ายรัฐบาลที่มีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นตัวแทน ปรากฎว่าฝ่ายรัฐยอมให้มีการจัดงานได้แต่มีเงื่อนไขว่า " ให้เปลี่ยนชื่อวันกรรมกรสากลเป็นวันแรงงานแห่งชาติ "

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อตกลงกันได้แล้วรัฐบาลยังเปลี่ยนท่าทีจากการห้ามมาเป็นการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา โดยออกค่าใช้จ่ายให้เงินสนับสนุนการจัดงานเป็นรายหัว (คนละ 5 บาท) ของจำนวนกรรมกรที่เข้าร่วม (ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะทราบตัวเลขที่แน่นอนของกรรมกรฝ่ายซ้าย) ด้านสถานที่ ก็อนุญาตให้ใช้สนามเสือป่าและหอประชุมสภาวัฒนธรรมเป็นที่จัดงาน

คราวเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลก็ได้ดำเนินการ "รุกฆาต" ด้วยการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 เมษายน 2499 รับรองให้ "วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี" (นับจากนั้น) เป็น " วันกรรมกรแห่งชาติ " (ชื่อเรียกสมัยนั้น ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น " วันแรงงานแห่งชาติ " ) นี่ก็อาจเป็นเสมือนลายลักษณ์อักษรที่สะท้อนถึงชัยชนะในการช่วงชิงนิยาม " 1 พฤษภา " รัฐต้องการล้มล้างสำนึกเรื่อง "ความเป็นชนชั้นเดียวกัน" ในหมู่กรรมกรอย่างเห็นได้ชัด ตรงข้ามสำนึกเรื่อง "ความเป็นชาติเดียวกัน" ที่รัฐพยายามครอบจากบนลงล่างนั้นเป็นสำนึกที่ต้องการเน้น "ความจงรักภักดี" อีกด้านหนึ่งนี่เป็นสิ่งสะท้อนความไร้น้ำยาของผู้นำแรงงาน(บางส่วน) พวกเขา "แพ้ทาง" การเมือง !

แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองที่สำคัญของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไทย ผ่านประสบการณ์เคลื่อนไหวจัดตั้งมาตั้งแต่ครั้งสมบรูณาญาสิทธิราชย์จนถึงยุคเผด็จการทหาร ถึงแม้ว่างานศึกษาเกี่ยวกับ พคท.(ทั้งที่เขียนโดยสมาชิกพรรค, ผู้ที่เคยเข้าร่วมกับพรรค, ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม, หรือแม้แต่ผู้เกิดหลังกาลที่ไม่เคยสัมพันธ์กับพรรคเลยอย่างผม เป็นต้น) จะมีด้วยกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยมีงานชิ้นใดเลยที่จะให้รายละเอียดได้ว่า ทำไม พคท.ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จึงต้องมี "วันสำคัญของพรรค" ในลักษณะเดียวกันกับ " วันสำคัญของรัฐไทย" ? เราคงต้องล้วงให้ลึกลงไปอีกว่า "วันสำคัญของพคท." นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับ "วันสำคัญของฝ่ายรัฐบาล" ?


" วันสำคัญของพคท. "

ที่ถือเป็นประเพณีสำคัญของพรรคมีอยู่ด้วยกัน 2 วันคือ " วันที่ 1 ธันวา " เป็นวันที่เรียกกันในหมู่ชาวคณะพรรคว่าเป็น "วันพรรค" หรือ " วันก่อตั้งพรรค" และ " วันที่ 7 สิงหา " เป็น "วันเสียงปืนแตก" วันทั้งสองนี้จัดเป็น " วันที่เกี่ยวข้องกับประวัติและพัฒนาการของพคท."

การสมมติเอาวันดังกล่าวมาเป็น "วันสำคัญ" มีข้อขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติของ พคท.อยู่บ้าง เพราะถึงแม้ว่า"วันที่ 1 ธันวา" จะถือเสมือนเป็น "วันก่อตั้งพรรค" แต่นั่นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าวันดังกล่าวนี้จะเป็นวันที่ พคท. เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาแต่อย่างใด

พคท.(รวมทั้งเอกสารฝ่ายรัฐบาลด้วย) ถือว่า การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ที่ จัดขึ้นเมื่อ "วันที่ 1 ธันวาคม 2485" เป็นวันก่อตั้งของ พคท. ซึ่งความจริงการสมมติอย่างนี้เป็นเรื่องของการสมมติจริงๆคือ ตัดขาดจากข้อเท็จจริงเพราะ ถึงแม้ใน "วันที่ 1 ธันวาคม 2485" จะเป็นวันที่ พคท.ประกาศจัดตั้งพรรคขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พคท.จะเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งกันขึ้นมาในวันดังกล่าวจริงๆ เพราะพคท.มีพื้นฐานมาจากการเคลื่อนไหวของ "คอมมิวนิสต์สยาม" ตั้งแต่เมื่อครั้งทศวรรษที่ 2460 (ก่อนคณะราษฎรเสียอีก) ดังนั้น ถ้าจะสืบหาวันก่อตั้งพรรคนี้กันขึ้นมาจริงๆ "วันพรรค" อาจเป็นวันอื่น และอาจต้องอ้างอิงถึงระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้นมาก ไม่ใช่ 2485 "1 ธันวา" ตามความเป็นจริงจึงน่าจะถือเป็น "วันก่อตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ" มากกว่า แต่ พคท. ก็ยังสมมติเอา "1 ธันวา" เป็น " วันก่อตั้งพรรค" (เฉยๆ) ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใดกัน?

ประการแรก ที่เห็นได้ชัดจากการสมมติเอา "1 ธันวา" คือ มันจัดเป็นการตัดขาดตัวเองออกจาก "คอมมิวนิสต์สยาม" ( 2460-2480) เมื่อถามว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น คำตอบที่เราจะได้ก็อาจเป็นคำตอบในทำนองว่า เป็นเพราะคณะคอมมิวนิสต์สยามนั้นเป็นพรรคจีน และเวียดนามไม่ใช่พรรคไทย หรืออาจเพราะก่อน 2485 ยังไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองเต็มรูปก็เป็นไปได้ประการที่สอง ซึ่งสัมพันธ์กับประการแรกอย่างแยกไม่ออก คือ เราควรพิจารณาการสมมติ"ชื่อ" เข้ามาเสริม เป็นบริบทด้วย หลังการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 พร้อมกับการประกาศจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ พวกเขา "ตั้งชื่อ"พรรคของเขาว่า "พรรคคอมมิวนิสต์ไทย" (ภายหลังจึงเพิ่ม "…แห่งประเทศไทย " เข้าไป) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกันเพียงไม่กี่ปีหลังจากที่จอมพล ป. กับพรรคพวก (ตรงนี้ผมหมายรวมถึง คณะบุคคลที่เรียกกันอย่างลำลองว่า เป็นพวก "จตุสดมภ์" หรือ สี่ปุโรหิตของระบอบพิบูลฯ)ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก " สยาม " เป็น " ไทย " ด้วยวิธีการออก "รัฐนิยม" ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2482

ถ้า พคท. สมมติชื่อพรรคของตนโดยแฝงนัยยะว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ของคนไทยหรือของประเทศไทย เพียงเพราะรัฐบาลที่กุมอำนาจเองก็สมมตินามผู้ใต้อำนาจปกครองของเขาว่า เป็น "คนไทย " และเรียกประเทศที่เขาเป็นใหญ่นี้ว่า " ประเทศไทย " นี่ย่อมสะท้อนสิ่งที่ลึกซึ้งมากกว่าที่เราจะสามารถขบคิดให้ตกได้ในคราวเดียว เพราะนั่นเท่ากับว่า พคท.ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนี้ มีพัฒนาการคู่เคียงมากับรัฐไทยหรือไม่ก็อาจกล่าวได้ว่า ในแง่นี้ พคท.ก็ไม่แตกต่างจากฝ่ายรัฐบาล การสมมติให้มี "วันสำคัญ" ขึ้นมาประกอบกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงอะไรบางอย่างในลักษณะตัดขาดจากความเป็นจริงอย่างคล้ายคลึงกันจึงเป็นเรื่องปกติวิสัย !

ส่วน "วันที่ 7 สิงหา" นั้นก็เหมือนกันถึงแม้ว่า " การแตกเสียงปืน" เพิ่งจะเริ่มต้นใน " วันที่ 7 สิงหาคม 2508 " แต่นั่นเราก็อาจกล่าวได้ว่าการแตกเสียงปืนในวันดังกล่าวนี้ยังจำกัดพื้นที่อยู่แค่บริเวณเขตงานอีสาน ที่อื่นยังอยู่ในสภาพที่กำลัง"จับจ้อง" กันอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นการณ์จึงปรากฎว่าภาคใต้นั้น"แตกเสียงปืน" ก็เมื่อปีต่อมา(2509) และภาคเหนือก็ "แตก" เมื่อ 2511 เป็นเรื่องต่างวันเวลากันนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี พคท.ก็ถือเอาวันที่ 7 สิงหา ซึ่งเป็นวันแรกที่ทหารป่าปะทะกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลเป็น "วันสำคัญของพรรค" เป็น"วันสำคัญ" อันเกี่ยวเนื่องกับกาลเวลาและระยะทาง

ในรอบหนึ่งปีการได้มารำลึกถึงวันที่ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นการต่อสู้ นอกจากเป็นการนึกย้อนกลับไปสู่อดีตแลัว ยังผูกพันธ์กับการนับวันเดือนปีตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้มา เพื่อเป้าหมายการปฎิวัติอันยิ่งใหญ่ เป็นการเชื่อมโยงไปสู่อนาคตและปัจจุบันกาล อีกด้านของเหรียญเดียวกันนี่เป็นวิธีการสำคัญวิธีหนึ่งที่ทำให้พวกเขา สามารถเก็บรักษาและถ่ายทอดประสบการณ์การต่อสู้ที่พวกเขามีร่วมกันไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแนบเนียน

ขณะเดียวกัน "วันสำคัญ" นั้น ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ แต่ทั้งนี้ประวัติศาสตร์มีอยู่หลายแง่มุม และมีเจตนาต้องการ "บอกเล่า" อะไรที่เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง " วันสำคัญของชาติ" ยังคงเป็นวันที่ชนชั้นผู้มีอำนาจพยายามจะ "บอกเล่า" ความสำคัญของมันผ่านมุมมองและผลประโยชน์ของตนเอง อีกทั้งยังมักสมมติเอาวันที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเป็นสำคัญ

สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมี "วันสำคัญ" ที่ได้รับการสมมติให้เป็น
"วันสำคัญของชาติ" มากว่าใครอื่น ที่เหลือก็เป็นวันที่ฝ่ายชนชั้นผู้มีอำนาจพยายามช่วงชิงนิยามเอาจากฝ่ายอื่น เช่น วันที่ 1 พฤษภา เป็นต้น "วันสำคัญของฝ่ายสามัญชน" มักไม่ค่อยได้รับการยกย่องจากรัฐให้เป็น " วันสำคัญของชาติ"

แต่เป็นที่น่ายินดียิ่งนักที่ "วันที่ 14 ตุลา" นั้น ได้รับการยอมรับให้เป็น "วันประชาธิปไตย" โดยมติโหวตจากการประชุมสภาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 ที่เพิ่งผ่านมานี้ นั่นหมายถึงว่า ต่อไปนี้เรื่องราวเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของการต่อสู้กับอำนาจรัฐกดขี่ จะได้รับการ "บอกเล่า" ต่อชนรุ่นหลังผ่านการเป็น "วันสำคัญของชาติ" แต่สภาพการณ์อย่างใหม่มักนำปัญหาใหม่ๆมาให้เราขบคิดหาทางแก้เช่นกัน (ดังปรากฎว่ามีเรื่องยุ่งยากเกี่ยวกับการสมมติชื่ออย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้) ต่อจากนี้สิ่งที่เราน่าจะพิจารณาให้ลึกลงไปอีกจึงได้แก่


1.

ระวังเรื่องการตีความ เพราะกรณีตัวอย่างก็มีมาตั้งแต่ครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เกิดขึ้นหมาดๆ เคยมีผู้ตีความ 14 ตุลา ออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ"วันมหาวิปโยค" และแบบ "วันมหาปิติ" จะเลือกมอง 14 ตุลา จากจุดยืนของ ฝ่ายไหนควรชัดเจน อย่าปล่อยความคลุมเครือไว้เป็นภาระ แก่ชนรุ่นใหม่ เพราะไม่แน่ว่าการตีความแบบ ที่มองว่าวันนั้นเป็น "วันมหาปิติ" อาจหมดความสำคัญไปได้ง่าย และ

2.

จะบอกเล่าอย่างไร ? "วันสำคัญของชาติ" โดยปกติถือเป็น"วันหยุดราชการ" ไปพร้อมกันด้วย ถ้า 14 ตุลา ไม่ได้เป็นวันหยุดฯไปด้วยในตัวมันก็จะไม่มีความหมายอะไรมากมาย ในเมื่อมันไม่อาจเข้าไปมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำปีของคนทั้งชาติ คนชายขอบที่ไม่เคยสัมพันธ์กับวันคืนเมื่อครั้งเดือนตุลา และที่ไม่สามารถเข้ามาชมนิทรรศการ, การประชุมสัมมนา, และภาพ วีดีโอบันทึกเหตุการณ์ในวันดังกล่าว จะไม่ได้รับรู้ว่า วันนั้น(14 ตุลา)ต่างจากวันธรรมดาที่ผ่านมาในชีวิตเขาอย่างไร


ตำราเรียน ตลอดจนกิจกรรมประกอบการรำลึกก็จัดว่ามีความสำคัญ ซึ่งนั่นหมายถึงการยอมรับและสนับสนุนจากกลไกอำนาจของรัฐ การณ์นี้มันจึงเป็นกระบวนการที่ขัดแย้งกันระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ ระหว่างการสร้างสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐ-ท้าทายชนชั้นปกครองอย่าง 14 ตุลา กับความจำเป็นที่ต้องอาศัยความสนับสนุนจากอำนาจรัฐ ในการทำให้มันเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก งานนี้ปัญญาชนฝ่าย14 ตุลาคงต้องวุ่นไปอีกนาน !

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว ตามความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์ รัฐ (และสังคมไทย) นอกจากจะมี "วัน" ที่เมื่อระลึกถึงแล้วสามารถให้ความรู้สึกเชิงบวกกับเราและ "เรา" ในวันนี้สามารถ "รู้สึก" ไปกับมันได้แล้ว รัฐไทยยังเคยสร้าง " วันที่น่าเอียน" ขึ้นมาอีก "6 ตุลา" จัดเป็นวันสำคัญของชาติ(ไทย)หรือไม่ ? ถ้าไม่ใช่! เราคงต้องถามกันต่อว่า นั่นเป็นทัศนะของใคร ? ถ้าใช่! ฉะนั้น 6 ตุลา จัดเป็นวันสำคัญของชาติ(ไทย)ในแง่ใด? ทุกปีในวันนี้เราได้รำลึกถึงอะไร? ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

นี่อาจเป็นคำถามง่ายๆ ที่หลายคนตอบได้แต่ไม่ตอบ และบทความนี้ก็อาจไม่มีความสำคัญอะไร เพราะแม้ใครไม่ได้อ่านก็ไม่ถึงกับต้องนอนไม่หลับสำหรับราตรีที่กำลังจะผ่านไปในอีก "วัน" นี้ !


กำพล จำปาพันธ์

นักวิชาการอิสระ


บทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วใน นิตยสาร OPEN
ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๖ (คอลัมน์ center)


ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : วันสำคัญกับการเมืองของความเป็นจริง วันสำคัญของชาติ : ความหมาย, อำนาจ, และการเมือง


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

วันสำคัญที่กล่าวมาทั้งหมด ในความคิดเห็นของผม มันเป็นเรื่องของความคิดเห็นของคนแต่ละคน ที่จะให้ความสำคัญกับมัน บางคนเกือบชั่วชีวิตไม่เคยนึกถึงวันเกิดของตนเองด้วยซ้ำไป เหตุผลนะหรือ ก็เขาไม่คิดว่าจะเป็นวันที่สำคัญอะไร คนเราเกิดมาก็ต้องหมุนเวียนอยู่ภายใน 365 วัน รอวันบรรจบมาใหม่ของรอบหนึ่งปี ก็คิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่เปล่าเลยเพราะวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ในฐานะประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นไพร่อย่างที่ใครๆ เขาเที่ยวดูถูก พรุ่งนี้ผมก็ยังคงต้องเสียภาษีอยู่ดี วันไหนมันก็ไม่สำคํญหรอก สำคัญแต่เพียงว่าวันไหนละที่จะเป็นประชาธิปไตย โดยไม่มีห่วงโซ่มาฉุดรั้งให้การก้าวเดินของประชาธิปไตยไม่สดุด อนุสาวรีย์ 14 ตุลาคม เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงความอับปยศอดสู ผมเองอยู่ในสมัยนั้น แต่รอดตายมาได้ มา พฤษภาทมิฬ ก็รอดมาอีก มาสี่เสาร์เทเวศน์ ก็กินพริกไทยไปเต็มๆ วันต่างๆ เหล่านี้วันที่ผมได้ต่อสู้ร่วมกับพี่น้อง ประชาชน ผู้รักความเป็นอิสระเสรี และความเท่าเทียมกันทางสังคม หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ รักประชาธิปไตย มันไม่มีอะไรสำคัญหรอกสำหรับพวกรักประชาธิปไตย ตายไปเท่าไหร่ แล้วอนุเสาวรีย์ยังเล็กกว่าฮวงซุ้ยของคนจีนที่ร่ำรวย ถ้าเมื่อใดยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับวันที่ เหล่าวิญญาณ ได้เสียสละเพื่อประชาธิปไตย วันเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายใดๆ กับชนชั้นปกครอง กี่ยุค กี่สมัย กี่รัฐบาลมาแล้ว ไม่มีใครเหลียวแลอย่างจริงจัง แต่ละปีก็มีคนที่รำลึกถึงส่วนน้อยที่เป็นญาติผู้เสียชีวิต ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไปรำลึกถึง นับหัวได้ นับหน้าได้ ซ้ำๆ เดิมๆ อยู่ทุกครั้ง ไม่มีความยิ่งใหญ่ของการเสียสละเพื่อบ้านเพื่อเมือง ใครบ้างคนนะไม่เคยเสียสละแต่ได้รับการยกย่องสุดดีเยี่ยงวีรบุรษ์ ซ้ำมีความดีความชอบ อาจมีความสำคัญเขาขึ้นมาก็ได้ ว้นสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ประชาชนอย่างเราเลือก แต่มันอยู่ภายใต้คนมีอำนาจเสียมากกว่า ทุกเดือนนะ มันมีวันสำคัญทั้งนั้น ใครรักใครก็ให้ความสำคัญ ใครเกลียดใครก็ไม่ต้องไปสนใจ สำหรับเดือนหน้าคนรักประชาธิปไตยอย่างเราๆ ไม่มีของขวัญอะไรจะให้กับใคร แต่คนที่พยายามจะรักษาศักดินาขุนนาง อาจมอบของขวัญให้กับคนที่เขารักก็เป็นได้...นิลนาม