ตรรกะ (ที่ว่างเปล่า)ของ "ความพอดี"
...วันก่อนมีคนถามว่าทำไมปรัชญาถึงนับเป็นวิชาสายศิลป์ ทั้งๆ ที่ปรัชญาเป็นเรื่องของตรรกะ การให้เหตุผล ซึ่งควรจะเป็นเรื่องของสายวิทย์
...คำตอบหนึ่ง(ในหลายๆ คำตอบที่เป็นไปได้)อาจจะเป็นอย่างนี้ครับ เพราะปรัชญาศึกษาพื้นฐานของตรรกะ ในขณะที่วิทยาศาสตร์นั้นเอาหลักการทางตรรกะไปใช้ (ถ้าตรรกศาสตร์เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ก็คงเป็น user ในขณะที่นักปรัชญาเป็น programmer) และตรรกศาสตร์พื้นฐานที่นักปรัชญาศึกษานั้น ก็มีส่วนที่เป็นสายศิลป์อยู่มาก
...สองสาขาของวิชาปรัชญาที่แยกจากกันไม่ออกคือ Philosophy of Logic กับ Philosophy of Language เพราะในการพิจารณาหลักการทางตรรกะ เราจำเป็นต้อง analyse ความหมายของคำ (semantics) และโครงสร้างของภาษา นี่แหละคือส่วนที่ตรรกศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับ "ภาษา" ซึ่งเป็นสายศิลป์
...การหาค่าความจริงให้กับประโยคๆ หนึ่งนั้น บ่อยครั้งที่เราต้อง
"ค้นคว้า/สังเกต" ว่าประโยคนั้นเป็นจริงหรือเท็จ และประโยคเหล่านี้คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนใจ แต่ก็มีประโยคบางประเภท ที่เราสามารถรู้ได้เลยว่าเป็นจริงหรือเท็จโดยไม่จำเป็นต้องสังเกต เช่นประโยคที่ว่า "หมวกดำ ย่อมไม่ขาว" (จริง) หรือ "กระต่าย 2 ตัว มากกว่า กระต่าย 2 ตัว" (เท็จ) เป็นต้น ประโยคเหล่านี้วิทยาศาสตร์ไม่สนใจ เพราะเป็นเพียง tautology (สัจนิรันดร์) ซึ่งไม่ได้ทำให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับโลกมากขึ้นเลย ("หมวกดำย่อมไม่ขาว" ...so what?)
...ประโยคที่เป็น "เป็นจริง แต่ไม่ได้ให้ความรู้อะไรเลย" นั้น ส่วนใหญ่เป็นประโยคที่ "เป็นจริงโดยนิยาม" เช่น "ชายโสดคนนั้น ยังไม่แต่งงาน" แน่นอนว่าประโยคนี้เป็นจริงแต่มันเป็นจริงเพียงเพราะว่า "ชายโสด" นั้นย่อมยังไม่แต่งงานโดยนิยาม ประโยคนี้จึงเป็นประโยคที่ไร้ค่า และไม่มีเหตุผลที่จะต้องพูดเพราะเป็นประโยคที่ว่างเปล่า ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ใหม่อะไรเลย
...ทีนี้ลองดูประโยคนี้ครับ "เราทุกคนควรทำดี"
ปกติอะไรก็ตามที่เราบอกว่า "ควรทำ" สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เรา(ผู้พูด)คิดว่าเป็นสิ่งที่ "ดี" ดังนั้น ประโยคที่ว่า "เราทุกคนควรทำดี" จึงอาจเอามา analyse ได้ว่า "การทำดี เป็นสิ่งที่ดี" แน่นอนว่าประโยคนี้เป็นจริงแต่เป็นจริงเพียงเพราะว่า "การทำดี" ย่อมเป็นสิ่งที่ดีโดยนิยามอยู่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประโยค "เราทุกคนควรทำดี" นั้นไม่มีประโยชน์ที่จะพูด เพราะไม่ได้ให้ความรู้อะไรใหม่
...ที่นี้ มาถึงประโยคยอดฮิตแห่ง พ.ศ.ที่ผ่านมา
"เราทุกคนควรใช้ชีวิตอย่าง
พอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป"
ลอง analyse ประโยคนี้กันดูครับ
...เช่นเดียวกับตัวอย่างที่แล้ว เมื่อ analyse ประโยคนี้จะได้ว่า "การใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป นั้นเป็นสิ่งที่ดี" คงสังเกตได้นะครับว่า อะไรที่ "พอเหมาะพอดี" นั้น ย่อมเป็นสิ่งดีโดยนิยาม และในทางตรงกันข้าม อะไรที่ "มากไป" หรือ "น้อยไป" นั้นก็ย่อม "ไม่ดี" โดยนิยามดังนั้น "เราทุกคนควรใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป" จึงไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่า "ชายโสด ยังไม่แต่งงาน"
...ถ้าจะทำให้ประโยคนี้มีความหมาย ไม่ว่างเปล่า ผู้พูดต้องนิยามความหมายของ "การใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป" ให้ชัดเจน และให้มีความหมายมากกว่าเพียง "การใช้ชีวิตที่ดี" เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาของนักตรรกศาสตร์(ซึ่งก็กล่าวหาได้ถูกต้อง)ว่าคำพูดนี้ เป็นคำพูดที่เป็นจริง แต่ครอบจักรวาลและว่างเปล่า
...ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้พูดนิยาม "การใช้ชีวิตอย่างพอดี" ว่า "การใช้จ่ายให้อยู่ในขอบเขต 30-70% ของรายได้ต่อเดือน" อย่างนี้ประโยคที่ว่า "การใช้ชีวิตอย่างพอดี เป็นสิ่งที่ดี" ก็จะไม่ว่างเปล่าอีกต่อไป แต่จะเป็นเท็จแทน เพราะย่อมมีผู้ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าในหลายๆ กรณี การใช้จ่ายอยู่ในขอบเขต 30-70% ของรายได้ทุกเดือนนั้น เป็นสิ่งไม่ดี
(เช่น บางช่วงของชีวิตบางคน การใช้จ่ายให้มากกว่า 70% หรือน้อยกว่า 30% อาจทำให้เกิดผลดีมากกว่า)
...ความจริงที่ผู้ที่ชอบพูดคำว่า "ความพอเพียง" อยู่เสมอนั้นไม่เคยให้นิยามมันอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะ
1.
ผู้พูดไม่รู้ว่าประโยคนี้ว่างเปล่า และคิดว่าเป็นประโยคที่ชาญฉลาด
เป็นจริง และมีความหมาย
2.
ผู้พูดต้องการรักษาค่าความจริงของประโยคให้เป็น "จริง แต่ว่างเปล่า"
ดีกว่า "ไม่ว่างเปล่า แต่เท็จ"
...คนที่เชื่อใน "ความพอเพียง" ส่วนใหญ่นั้นจัดอยู่ในกรณีที่ 1 แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่จัดอยู่ในกรณีที่ 2คนกลุ่มแรกนั้นโง่เขลา ส่วนคนกลุ่มที่สองนั้นใช้คำว่า "พอเพียง" มาหาประโยชน์จากคนกลุ่มแรก
ถ้า Karl Popper และ A.J. Ayer ยังมีชีวิตอยู่ คงหงุดหงิดกับคำว่า
"พอเพียง"
Prach
ที่มา : บอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : "ตรระกะของ ความพอเพียง", ถ้า Karl Popper และ A.J. Ayer ยังมีชีวิตอยู่ คงหงุดหงิดกับคำว่า...
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ตรระกะของ "ความพอเพียง"
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:26 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น