วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

INQUISITION : ธงชัย วินิจจะกูล เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง


INQUISITION


ในยุคกลาง (medieval) ของยุโรปซึ่งคริสตศาสนจักรเรืองอำนาจเหลือล้น เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งของศาสนจักรคือ INQUISITION ซึ่งมีบทบาทระหว่างศตวรรษที่ 12-16 (และยังคงใช้ต่อมาในอาณานิคมของสเปนบางแห่งจนถึงศตวรรษที่ 18)

INQUISITION คือระบบศาลของศาสนจักรเพื่อตามกวาดล้างลงทัณฑ์บรรดาพวกนอกรีตทั้งหลาย พวกก่อความกระด้างกระเดื่องต่ออาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า รวมทั้งผู้ที่ถูกหาว่าเป็นพ่อมดแม่มด

ในศตวรรษแรกๆ ของ INQUISITION พวกนอกรีตหมายถึงพวกยิวและพวกนับถือผีสางอำนาจศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่พระเจ้าของชาวคริสต์ ในระยะปลายของ INQUISITION พวกนอกรีตรวมถึงพวกโปรเตสแตนท์ด้วย

ในระบบศาลยุติธรรมสมัยใหม่ ศาลเป็น “กรรมการ” ผู้ตัดสินความขัดแย้งหรือการละเมิดที่ฝ่ายหนึ่งกระทำต่ออีกฝ่าย แม้แต่ผู้รักษากฎหมายก็ถือเป็นฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้ง กรรมการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเข้าข้างผู้รักษากฎหมาย INQUISITION ไม่เหมือนศาลยุติธรรมสมัยใหม่ตรงที่ศาลไม่ได้เป็นแค่กรรมการ แต่เป็นผู้รักษากฎหมายเอง สืบสวนสอบสวนเอง เป็นอัยการเอง ตีความกฎหมายเองเพื่อเล่นงานพวกนอกรีตให้ได้

ที่สำคัญคือ ถือว่าจำเลยมีความผิดไว้ก่อน จนกว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าตนบริสุทธิ์ ซึ่งหมายความว่าจำเลยต้องต่อสู้กับศาล INQUISITOR ที่เป็นทั้งผู้ฟ้องร้องและเป็นผู้พิพากษาในตัวเอง

บ่อยครั้ง INQUISITION ทำกันในที่สาธารณะเพื่อหวังให้ประชาชนผู้ชมกลัวและยอมสยบต่ออำนาจของศาสนจักร

ครั้นสิ้นสุดการตัดสิน ประชาชนฝ่ายสนับสนุนศาสนจักรก็มักโห่ร้องให้แขวนคอหรือเผาจำเลยกลางที่สาธารณะ

INQUISITION จึงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจกดปราบให้คนกลัว ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมอย่างระบบศาลสมัยใหม่

ระบบศาลแบบ INQUISITION เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนไม่ยอมรับและเกลียดชังศาสนจักรอย่างมากจนศาสนจักรถึงกับล่มหมดอำนาจในเวลาต่อมา

ระบบศาลสมัยใหม่ใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าที่จะพัฒนาพ้นมรดกของ INQUISITION ไปได้

นี่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลางซึ่งถือกันว่าเป็น

“ยุคมืด” (DARK AGE)


ธงชัย วินิจจะกูล

ทีมา : ข่าวประชาไท : INQUISITION : ข้อเขียนล่าสุดจากธงชัย วินิจจะกูล คราวนี้เขาเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: