วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กังวลเรื่อง เมืองกังวล และ จดหมายชี้แจงของ "ถนอม อัครเศรณี" ผู้ประพันธ์ที่แทบถูกลืม!



กังวลเรื่อง เมืองกังวล


เมืองใดไร้สิ่งอันพึงมี ย่อมเสื่อมศักดิ์ศรีไร้คุณค่า
พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล

เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ



คำประพันธ์ชุดนี้ทุกคนเชื่อมาแต่เล็กแต่น้อยว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาสาระแล้วนับว่าเป็นคำประพันธ์ที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญอันสังคมที่เจริญแล้วพึงมี หากสังคมหรือชนชาติใดปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วไซร้ ความวิบัติหรือการมีอันเป็นไปต่าง ๆ ย่อมปรากฏแก่สังคมหรือชนชาตินั้นอย่างมิต้องสงสัยเลย

ทว่า เมื่อเกิดคำถามว่าคำประพันธ์ดังกล่าวนี้ ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องใดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นทีจะเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ถูกถามต้องหัวปั่นเป็นแน่ นอกจากพยายามบ่ายเบี่ยงแล้วยืนกรานตามความเห็นว่าเป็นพระราชนิพนธ์จริง หากเป็นเรื่องใดนั้นจำไม่ค่อยได้

ผมเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีข้อสงสัยต่อกรณีนี้เช่นเดียวกัน ผมจึงพยายามศึกษางานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มากชิ้นที่สุดเท่าที่ผมจะหาข้อมูลมาได้ เหตุอันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นในขณะนั้นเองว่าไม่พบคำประพันธ์ชุดนี้ในพระราชนิพนธ์เรื่องใดเลย

ผมได้หอบหิ้วความสงสัยนี้เรียนถาม รองศาสตราจารย์ กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนวิชาสัมมนาวรรณคดีรัชกาลที่ ๖ ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.กัญญรัตน์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นพระราชนิพนธ์อย่างแน่นอน และได้กรุณาสอบทานไปยัง “หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ พระนคร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหอวชิราวุธฯ มีใจเอื้อเฟื้อค้นหาข้อมูลให้เป็นอย่างดี

เจ้าหน้าที่ประจำหอวชิราวุธฯ ได้กรุณาส่ง Fax สำเนาบทความที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุลเขียนลงใน “มานวสาร” ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ บทความนั้นชื่อ “กังวลเรื่องเมืองกังวล”


บทความที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เขียนไว้นั้นสรุปความได้ว่าท่านมีความกังวลใจมานานเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ทั้งท่านเองได้ทำงานใน “คณะอนุกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือชื่อย่อว่า ก.ร.ว. คราหนึ่งได้มีครูบาอาจารย์โทรศัพท์ไปสอบถาม ก.ร.ว. ว่าคำประพันธ์บทนี้เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องใด ทาง ก.ร.ว. ตอบไปว่าไม่ทราบ ทั้งนี้เพราะ ก.ร.ว. เองไม่ทราบจริง ๆ ทั้งไม่เชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ด้วย ข้อนี้ไม่น่าแปลกเพราะ ก.ร.ว. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมผลงานพระราชนิพนธ์ทุกชิ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมจะต้องรู้จักและสนใจงานพระราชนิพนธ์ทุกชิ้นยิ่งกว่าใคร จะเป็นรองก็แต่พระองค์ท่านผู้พระราชนิพนธ์เองเท่านั้น

ต่อมาไม่นานวงดุริยางค์กองทัพบก ได้นำบทประพันธ์บทนี้ซึ่งใส่ทำนองเพลงเรียบร้อยแล้วมาบรรเลง กรรมการ ก.ร.ว. ท่านหนึ่งจึงได้อาสา ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น ไปสอบถามที่มาจากวงดุริยางค์กองทัพบก โดยได้รับคำตอบว่าได้บทประพันธ์นี้มาจากเศษกระดาษวารสาร “สามมุข” เมื่อสอบถามต่อไปยังบรรณาธิการวารสารสามมุข ได้รับคำตอบว่าจำที่มาหรือชื่อผู้ที่ส่งมาให้ไม่ได้เพราะนานเหลือเกิน

เพลง “เมืองกังวล” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานนำมาบรรเลงเพื่อถวายเป็นราชสดุดี ในกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ กรมพลศึกษานำเพลงนี้มาบรรเลงในวันลูกเสือแห่งชาติ ถ่ายทอดออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ หรือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต กรมประชาสัมพันธ์ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้เช่นเดียวกัน เลยยิ่งทำให้ความเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ได้หยั่งรากฝังลึกลงทุกที โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ได้เชิญ ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น ไปบันทึกเสียงสัมภาษณ์สดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พอเสร็จการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้อีก

จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ได้บ่นเปรย ๆ ขึ้นมา ผู้ที่ได้ยินเข้าจึงกราบเรียนว่ารู้จักผู้ที่แต่งกลอนบทนี้ คือ

คุณ ถนอม อัครเศรณี

และได้นำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ให้ ฯพณฯ อ่าน ได้ความว่าคุณถนอมประพันธ์กลอนบทนี้ให้โรงเรียนประจำอำเภอบ้านโป่ง (ราว พ.ศ. ๒๔๙๒) แรกนั้นตั้งชื่อว่า “หัวใจเมือง” ใช้นามปากกา “อัครรักษ์”

หลายปีต่อมา คุณสง่า อารัมภีร์ คงมีความประทับใจคำประพันธ์บทนี้เป็นพิเศษ จึงประพันธ์ทำนองเพลงเพื่อส่งเข้าประกวดในงานวชิราวุธานุสรณ์ โดยได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “เมืองกังวล” ยังดีที่คุณสง่า เกิดกังวลสมชื่อเพลง จึงได้โทรศัพท์สอบถามคุณถนอมว่าเป็นพระราชนิพนธ์หรือไม่ คุณถนอมได้ตอบคุณสง่าว่า “เป็นบทกลอนของผมเอง” คุณสง่าจึงไม่ส่งเพลงนี้เข้าประกวดเนื่องจากผิดกติกา

ปัญหาสุดท้ายที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ยังติดใจสงสัยอยู่ก็คือใครหนอเป็นผู้นำเพลงที่ไม่ได้ส่งเข้าประกวดไปเผยแพร่

อาจมีผู้อ่านจำนวนมากมีความเคลือบแคลงสงสัยข้อมูลที่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เขียนมา ผมจึงขอเรียนให้ทราบว่า ม.ล. ปิ่น มาลากุล เคยถวายงานเป็นมหาดเล็กรับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดมาก่อน จนได้สัมผัสต้นฉบับลายพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯ มามากมาย มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งสมัยเด็ก ม.ล. ปิ่น เคยลืมงานต้นฉบับของล้นเกล้าฯ ไว้บนรถเมล์ ยังดีที่ไม่สูญหายไปไหน สามารถติดตามนำกลับคืนมาได้ นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า ม.ล. ปิ่น ต้องรู้จักงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านไม่น้อยเลย ทั้ง ม.ล.ปิ่น ยังมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ดังนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ม.ล.ปิ่น จะกล้ากล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงหากเป็นพระราชนิพนธ์จริง

ประการต่อมา ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่กลอนบทนี้ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังปีเสด็จสวรรคตถึง ๒๔ ปี แล้วจะเป็นงานพระราชนิพนธ์อย่างไรได้ ในเมื่อผู้ทรงนิพนธ์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว

ความเข้าใจผิดนั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนย่อมมีกันได้ หากประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อเราทราบแล้วว่าเราเข้าใจผิด เราควรยินดีที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดนั้นให้ถูกต้อง ผมเองไม่ได้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน เพราะเข้าใจผิดมาก่อนเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเข้าใจผิดและทราบความจริงแล้ว ผมจะไม่ดันทุรังต่อไปเพียงเพื่อ

“รักษาความเชื่อที่ฉันเคยเชื่อมา”

ถ้าจะถามว่าแล้วไฉนคุณถนอมจึงประพันธ์ว่า “พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล” ข้อนี้ไม่แปลกเพราะงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านหลายชิ้น ได้กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไว้เช่นเดียวกัน การที่คุณถนอมจะนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาแต่ง โดยบอกว่าพระองค์ท่านทรงนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวลจึงเป็นอันไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ผมเชื่ออย่างเหลือเกินว่าการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการลดพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด แต่การที่กล่าวผิดยกเอางานของผู้อื่นมาเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์นั้นย่อมเป็นการไม่สมควร พอ ๆ กับการที่หากผมแต่งกลอนสักบทแล้วใครนำไปป่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ผมคงรู้สึกคัน ๆ บน “ลอมปอมกระหม่อมบาง” ของผม เพราะไม่รู้ว่าขี้กลากจะขึ้นหัวผมไปแล้วหรือยัง


ฌานิศ วงศ์สุวรรณ

ขอยกความดีทั้งหมดแด่

ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล
ร.ศ. กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์
คุณวรชาติ มีชูบท เจ้าหน้าที่ประจำหอวชิราวุธานุสรณ์


ที่มา : พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล ? : พระองค์ทรงนิพนธ์ จริงหรือ ?


**********


จดหมายชี้แจงของ "ถนอม อัครเศรณี"
ผู้ประพันธ์ที่แทบถูกลืม!



เลขที่ ๓๐๓ แยกซอยเริงนิมิต
สุขุมวิท ๙๓ บางจาก พระโขนง
กรุงเทพมหานคร


"อิงอร" เพื่อนรัก

ผมติดตามผลงาน "พระอาทิตย์ชิงดวง" ของเพื่อนฝูงในสยามรัฐอยู่เสมอ ขอชมเชยในฝีมือและความขยันขันแข็ง ส่วนผมผลงานลดน้อยลงไปกว่าเก่ามาก ทั้งนี้เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่อำนวย นอกจากนั้นบางระยะยังมีเหตุการณ์อันไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้จิตใจไม่สบาย กลุ้มกังวลอยู่ไม่สร่างหายอีกด้วย ดังผมจะเล่าให้เพื่อนฝูงฟังต่อไปนี้

ในระยะที่ผมเริ่มต้นไปคลุกคลีกับเพื่อนๆ ที่ นสพ.ประชาธิปไตย ถนนบำรุงเมือง ราว พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีพรรคพวกจากอำเภอบ้านดป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งผมกับเพื่อนๆ ไปเที่ยวตอนสุดสัปดาห์เป็นครั้งคราวจนคุ้นเคยกัน ได้มาติดต่อผมและอุทธรณ์ พลกุล ให้ช่วยเขียนเรื่องให้คนละเรื่อง เขาจะนำไปลงพิมพ์ในหนังสือของโรงเรียนประจำอำเภอ ผมก็เขียนบทกลอนเรื่อง "หัวใจเมือง" โดยใช้นามปากกา "อัครรักษ์" ให้ไป ส่วนอุทธรณ์เขียนเรื่องอะไรให้ไปผมจำไม่ได้

บทกลอนที่ผมแต่งนั้นมีเนื้อความว่าดังนี้


หัวใจเมือง

กลอน ๖

เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน

เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม

เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย


ยังจำได้ว่าขณะที่ผมกำลังแต่งบทกลอนเรื่องนี้ได้ครึ่งๆ กลางๆ ชั้น แสงเพ็ญ เพื่อนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับผมมากที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ได้ฟังผมอ่านต้นร่าง "หัวใจเมือง" ให้ฟังได้ถามผมขึ้นว่า "เมืองใดไม่มีกวีแก้ว กวีแก้วหมายความยังไง?"

"กวีแก้ว หมายความถึงรัตนกวี" ผมตอบแล้วอธิบายต่อ "ที่เราเคยแต่ง "โอ้! รัตนกวี" ไว้อาลัยท่าน "น.ม.ส." ในหนังสือ "เอกชน" ไงล่ะ "โอ้! รัตนกวี เกียรติคือแสงสี เฉกมณีพรายพรรณ เป็นเทียนธานินทร์ เป็นปิ่นสุบรรณ เป็นมิ่งทรงธรรม์ เป็นขวัญประชาฯ..."

"เข้าใจแล้ว" เพื่อนรักของผมรีบบอก "เรานึกว่าหมายถึงกวีซึ่งเป็นคู่กับแก้วเหล้าเสียอีก"

"ไอ้นั่นรู้ๆ กันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงก็ได้" ผมชิงตัดบท

ต่อมาอีกไม่นานนัก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือและผลงานของนักเขียน ผมได้รับการติดต่อให้ส่งผลงานด้วย ๑ ชิ้น โดยขอให้เขียนด้วยลายมือของตนเอง

ผมเห็นว่าบทกลอนเรื่อง "หัวใจเมือง" ที่ส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือของ ร.ร.ประจำอำเภอบ้านโป่งนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายพอ และอีกอย่างบทกลอนเรื่องนี้ก็สั้นๆ ดีไม่ต้องเขียนมาก จึงลงมือเขียนส่งให้ผู้ที่มาติดต่อไปตามคำขอโดยใช้นามปากกาเดิม

ครั้นปี ๒๔๙๓ สอาด ฉายะยันตร์ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเงินทุนจากพวกเราชาว นสพ.ประชาธิปไตยและมิตรสหายใกล้ชิด จัดออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "เจ้าพระยา" โดยมีผมเป็นบรรณาธิการ รัตน์ ศรีเพ็ญ และวิมล พลกุล เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ทองเติม เสมรสุต เป็นฝ่ายศิลป์เขียนอักษรหัวหนังสือ "เจ้าพระยา" หัวชื่อคอลัมน์ ชื่อเรื่องและนามปากกาพร้อมเสร็จอย่างสวยงาม

ในคอลัมน์ "ภาษาสวรรค์" ของ "เจ้าพระยา" รายสัปดาห์นี้เอง ได้มีบทกลอนเรื่อง "หัวใจเมือง" โดย "อัครรักษ์" ลงพิมพ์ในฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

และต่อมาอีก "หัวใจเมือง" ได้ลงพิมพ์ใน นสพ.สายกลาง หรือ นสพ.อะไรไม่แน่ใจ เพราะเด็กผู้ตัดบทกวีของผมปิดสมุด ตัดแต่เพียงบทกลอน ส่วนชื่อ นสพ.และวันเดือนปีไม่ได้ตัดปิดไว้ด้วย คราวนี้ใช้ชื่อจริง-ถนอม อัครเศรณี

ขอเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒-๒๔๙๓ เพื่อให้เรื่องเชื่อมกัน ผมกับชั้น แสงเพ็ญ ได้ใช้เวลาว่างจากงาน นสพ.ประชาสาร ตอนเย็นๆ และวันเสาร์-อาทิตย์ ไปช่วยอำนวย กลัสนิมิ หรือ "เนรมิต" เพื่อนรักของผม ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดงละครคณะ "ศิวารมย์" ที่มีชื่อเสียงลือลั่นมากในสมัยนั้น ทำให้ผมได้รู้จักกับคุณครูทวี ณ บางช้าง หรือ "มารุต" คุณสง่า อารัมภีร หรือ "แจ๋ว วรจักร" ซึ่งต่อมาผมเรียกว่า "อาว์แจ๋ว" และสง่า อารัมภีร ก็เรียกผมว่า "อาว์หนอม" เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากัน

เราติดต่อใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ดื่มกินแล้วรักกัน รักกันแล้วดื่มกินเป็นนิจศีลที่โรงละครเฉลิมนครและที่บ้านวรจักร ต่อมายังไปถ่ายทำหนังเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" และเรื่อง "น้ำลึก" แถวชายทะเลด้วยกันอีกหลายครั้ง ในช่วงเวลา ๒-๓ ปีนี้เองผมได้ทยอยมอบบทกวีให้ "อาว์แจ๋ว" ในฐานะหัวหน้าวงดนตรี ไปแต่งทำนองเพลง ๓-๔ ชิ้น เช่น อกฟ้าอกเรียม, เสียงจากอเวจี, ความรักมิใช่แบบเรียนไว, และสุดท้าย "หัวใจเมือง"

เฉพาะ ๒ ชื่อหลังอาว์แจ๋วไม่มีโอกาสได้ใส่ทำนองเพลงจนแล้วจนเล่า ระยะต่อมางานการทำให้เราต้องเหินห่างกัน ครั้น พ.ศ. ๒๔๙๔ ผมจัดพิมพ์หนังสือภาษาสวรรค์ และบทนำแห่งชีวิต โดยถนอม อัครเศรณี และอัครรักษ์ แจกในงานฌาปนกิจศพคุณแม่ของผมในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ผมได้บรรจุบทกลอน "หัวใจเมือง" ไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกด้วย และทั้งหมดผมได้ถ่ายสำเนาแนบมาให้ดูด้วยแล้ว

กาลเวลาผ่านพ้นไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ หรือ ๑๐ ปีให้หลัง สอาด ฉายะยันตร์ และวิมล พลกุล แห่ง นสพ.เสียงอ่างทอง ได้ไปตามผมจากบ้านบางจาก พระโขนง ให้มาร่วมงานด้วย โดยให้ผมควบคุมหน้าสตรีและคอลัมน์ "วิจารณ์บันเทิง" ในหน้าสตรีผมได้เปิดสนามบทกลอน "ประกายเพชร" และต่อมาได้สลับด้วย "เกล็ดดาว" สัปดาห์ละ ๒ ครั้งอีกด้วย มีนักกลอนฝีปากดีๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งทุกๆ วาระที่เป็นวันสำคัญประจำปี เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันจักรี วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น ผมได้รับมอบหมายให้แต่งคำฉันท์ กาพย์ โคลง กลอน โดยใช้นามจริงลงพิมพ์ในหน้าแรกโดยสม่ำเสมออีกอย่าง ทำให้ผลงานในด้านแต่งบทกวีและควบคุมคอลัมน์ประกายเพชร เกล็ดดาว ขยายกว้างไกลไปไม่น้อย

ต่อมา นสพ.เสียงอ่างทองได้เปลี่ยนใช้ชื่อเป็น นสพ.ไทยรัฐ และต่อมาอีก ๒-๓ ปีผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรรมการที่ปรึกษาแทนการควบคุมหน้าสตรี ระยะหลังๆ นี้นานๆ ผมจะได้พบกับอาว์แจ๋วสักครั้ง และไม่มีโอกาสได้ร่วมวงกันเลยก็ว่าได้

ครั้นมาใกล้ๆ กับกำหนดวันงานวชิราวุธานุสรณ์ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ หรือ ๒๕๑๑ ก็เลือนๆ ไปเสียแล้ว บ่ายวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังนั่งทำงานอยู่ในห้องพร้อมกับพรรคพวก ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง แจ้งว่าโทร.มาจากคณะกรรมการประกวดบทเพลงสดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในวันงานวชิราวุธานุสรณ์

"มีอะไรหรือครับ" ผมถาม

"ผมขอรบกวนเรียนถามหน่อยครับ บทกลอนที่ว่า--เมืองใดไม่มีทหาร เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน--เป็นบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ หรือเปล่าครับ?" เสียงนั้นสอบถามผมมา

"ไม่ใช่ครับ เป็นบทกลอนของผมเอง" ผมตอบอย่างเน้นหนัก "ทำไมหรือครับ"

"ถ้าเช่นนั้นเพลงที่คุณสง่า อารัมภีร แต่งไม่มีสิทธิ์ส่งเข้าประกวดซีครับ" เสียงท่านผู้นั้นชี้แจงมา "เพราะเพลงที่ส่งเข้าประกวด คำร้องต้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ ครับ"

"หรือครับ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าบทกลอนที่ว่านั้นผมแต่งเอง เคยลงหนังสือพิมพ์มาแล้วหลายฉบับ" ผมอธิบายเพิ่มเติม "ผมมอบให้คุณสง่า อารัมภีร แกแต่งทำนองมาตั้งแต่นมนานแล้ว" แกเพิ่งมาแต่งหรือครับ "เวลามันนานมากเห็นจะสัก ๒๐ ปีได้ คุณสง่าแกคงหลงลืมสับสนเลยจำผิดไป "

"นั่นนะซีครับ ผมก็สงสัยอยู่แล้ว" ท่านผู้นั้นกล่าวเป็นประโยคสุดท้าย "ขอบคุณมากครับ คุณถนอมครับ"

พอพบกับอาว์แจ๋ว ผมได้เล่าเรื่องที่ว่าให้ฟัง อาว์แจ๋วก็ไม่ได้พูดว่าอะไร คงจะทราบจากคณะกรรมการแล้ว เป็นแต่ยิ้มๆ กล่าวว่า "จำผิดไป" ผมเองก็ไม่ได้ซักไซ้อาว์แจ๋วว่าบทเพลงที่อาว์แจ๋วแต่งทำนองนั้นมีลีลาเนื้อหาอย่างไรบ้าง เป็นแต่กำชับอาว์แจ๋วว่า "อย่าให้เกิดผิดพลาดได้นะ" อาว์แจ๋วก็รับคำ

ครั้นมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐ เห็นจะได้ อยู่ๆ โดยไม่คาดหมายผมต้องตกใจมาก เพราะได้ยินเพลงนี้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุทหารบกลั่นไปหมด ที่ตกใจมากก็คือคำร้องของเพลงนี้ขึ้นต้นว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงพระราชนิพนธ์เป็นคติสอนใจไว้ว่า "เมืองใดไม่มีทหาร เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน..." ดำเนินเนื้อร้องตามบทกลอน "หัวใจเมือง" ของผมเรื่อยมาจนจบวรรคสุดท้าย "เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย"

อิงอรเพื่อนรัก คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าเพื่อนฝูงเป็นตัวผมบ้างจะรู้สึกอย่างไร ผมไม่จับไข้ตายก็เป็นบุญแล้ว ผมมิได้นิ่งนอนใจเลย รีบโทรศัพท์ติดต่อแจ้งให้อาว์แจ๋วทราบและขอให้แก้ไขความเข้าใจของประชาชนคนฟังเสียให้ถูกต้อง อาว์แจ๋วก็รับว่าจะเขียนชี้แจงในหนังสือ "ฟ้าเมืองไทย" ให้ พร้อมทั้งปรารภว่าไม่รู้เทปเพลงนี้ไปออกอากาศได้อย่างไร ผมก็บอกให้อาว์แจ๋วทำหนังสือแจ้งให้สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุแห่งนั้นๆ ทราบความจริงเสียแต่ต้นๆ มือจะเป็นผลมากขึ้น อาว์แจ๋วก็รับคำ

ต่อมาปีแล้วปีเล่าผมก็ยังได้ยินเพลงนี้เป็นครั้งคราว แต่ในระยะหลังๆ มักจะได้ยินเฉพาะคำร้องที่เป็นบทกลอนของผม มาไม่สบายใจหนักก็เมื่อเช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวาระคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผมได้ยินจากรายการสยามานุสติ ซึ่งประชาชนรับฟังมาก ยกบทกลอนระบุว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคติเตือนใจไว้ดังนี้ ครั้นแล้วอ่านบทกลอนดังกล่าวของผมตั้งแต่ต้นจนจบ

ผมจึงได้รู้ว่าการแก้ไขความเข้าใจผิดพลาดของมหาชนในเรื่องนี้ อาว์แจ๋วยังทำไม่ได้ผลสมบูรณ์ ผมจึงชวนให้อาว์แจ๋วมาที่บ้านบ้าง โทรศัพท์ติดต่อบ้าง เร่งเร้าให้อาว์แจ๋วจัดการแก้ไขเรื่องนี้เสียให้ได้ผลสมบูรณ์จริงๆ อาว์แจ๋วก็พยายามมิได้มัวนิ่งเฉย มาปี ๒๕๒๗ นี้เห็นจะได้ผลโดยแท้จริง เพราะไม่ได้เห็นหรือได้ยินการระบุผิดพลาดเช่นที่ผ่านมาแล้วอีก จึงต้องขอขอบคุณอาว์แจ๋วไว้ในที่นี้ด้วย

เพื่อนฝูงคิดดูเถิด บทกลอนของผมนั้นเปรียบได้เพียงเศษธุลี เป็นละอองธุลีพระบาทของบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้ ขืนเพิกเฉยต่อไปมิเท่ากับว่าผมปล่อยให้ราคีเกิดแปดเปื้อนแก่บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านด้วยความมิบังควรเช่นนั้นละหรือ?

ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริงโดยถูกต้องด้วยเถิด-"อิงอร" เพื่อนรัก จะเป็นบุญคุณหาที่เปรียบมิได้


รักและสุจริตใจ

ถนอม อัครเศรณี

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗


ทำสำเนาจาก :
นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗


หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: