วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อดีตซ้าย-อดีตขวาสามัคคีต้านทุนนิยมและอเมริกา


ฝ่ายขวาแทบทุกคนที่สัมภาษณ์เห็นว่า ภัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันคือ ทุนนิยมและสหรัฐอเมริกา แม้แต่ –ผ- ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์มาตลอดชีวิต และมองเรื่องความมั่นคงของชาติด้วยแว่นคอมฯ 2 สายมาตลอดก็เห็นว่า ปัจจุบันต้องระวัง CIA แทรกแซง ปั่นหัวกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย จนอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง แน่นอนว่าพวกเขาตระหนักดีว่าภัยทุนนิยมและสหรัฐอเมริกาเป็นคนละเรื่องคนละลักษณะกับภัยจากคอมมิวนิสต์

วาทกรรมภัยทุนนิยมของบรรดาฝ่ายขวา แตกต่างจากวาทกรรมต่อต้านทุนนิยมของฝ่ายซ้ายเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัดๆง่ายๆ (คือไม่ใช่วาทกรรมแบบเหมาอิสต์) แต่ฝ่ายขวาเหล่านี้พูดภาษาใกล้เคียงมากกับวาทกรรมต่อต้านเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ของบรรดาปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนของไทยในปัจจุบัน นั่นคือ ต่อต้านทุนนิยมของ “ฝรั่ง” ตะวันตก

การสัมภาษณ์ทั้งหมดกระทำหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หลายปี แต่ความเจ็บปวดจากวิกฤตของทุนนิยมคราวนั้นยังคงชัดเจนในความทรงจำของทุกคน ที่สำคัญคือวาทกรรมเกี่ยวกับมูลเหตุของวิกฤต ออกมาในลักษณะชาตินิยมต่อต้านทุนนิยมของ “ฝรั่ง” ตะวันตก คือ เป็นเรื่องของชาติทุนนิยมยักษ์ใหญ่ของฝรั่งตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกทำร้ายชาติทุนนิยมที่กำลังเติบโต ชาติใหญ่รังแกชาติเล็ก วาทกรรมที่แพร่หลายเข้าใจง่ายก็คือทำให้เป็นเรื่องของการสมคบคิดกัน (conspiracy) ระหว่างยักษ์ใหญ่ทางการเงินและการเมืองของโลกไม่กี่คน ระบุตัวลงไปที่จอร์จ โซรอสก็บ่อย คำว่าฉันทามติวอชิงตันก็ถูกเข้าใจง่ายๆว่าหมายถึงการที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ของทุนนิยมฝรั่งตะวันตก วางแผนทำลายชาติเล็กๆโลกาภิวัตน์กลายเป็นชื่อของแผนการชั่วร้ายที่ทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกใช้ทำร้ายชาติทุนนิยมที่เล็กกว่า วาทกรรมต่อต้านทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกจึงไม่ใช่แบบสังคมนิยม แต่เป็นวาทกรรมแบบทุนชาตินิยมเป็นหลัก กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์จึงเป็นเรื่องของฝรั่งมาย่ำยีไทย “เขา” มากระทำย่ำยี “เรา”

ทั้งซ้ายเก่าและขวาเก่าใช้วาทกรรมแทบไม่ต่างกัน เพราะความคิดเก่าของทั้งสองมีเชื้อมูลให้รับความคิดทุนชาตินิยมได้ง่าย และเพราะพวกเขาในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทุนชาตินิยม

การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่กระทำในช่วงรัฐบาลทักษิณ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกที่เลวร้ายดังเรียกว่า “ทุนสามานย์” ในเวลาต่อมา ความไม่พอใจทักษิณกับความไม่พอใจทุนนิยมโลกาภิวัตน์และความไม่พอใจสหรัฐอเมริกาในกระแสโลกป้อนหนุนซึ่งกันและกัน ในบรรดาฝ่ายขวาที่สัมภาษณ์ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ชอบรัฐบาลทักษิณ พวกเขาที่เหลือเห็นว่าทักษิณเดินหน้าหนุนทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นแบบที่สหรัฐอเมริกาชาติยักษ์ใหญ่ที่รังแกชาติเล็กๆ ไปทั่วโลกต้องการ จึงไม่น่าไว้ใจรัฐบาลทักษิณ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญของปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลา คือ การคืนดีกับสถาบันกษัตริย์ หากตั้งคำถามว่าทำไมปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลาจึงหันไปคืนดีกับสถาบันกษัตริย์เช่นนั้น? สมศักดิ์มักอธิบายในทำนองว่าคนเหล่านั้นความคิดที่ไม่ถูกต้องชัดเจน การเมืองไม่คมชัดพอ ฉวยโอกาส เปลี่ยนสี ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าการคืนดีกับสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่ง (ไม่ใช่เหตุ แต่เป็นผล) ของแนวโน้มทางปัญญาที่ทรงพลังกว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์ จนสามารถผลักให้ความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปจนไม่เห็นเป็นปัญหาสำคัญเท่าไรนัก ได้แก่

ความเข้าใจของปัญญาชนนักต่อสู้ทางสังคมต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์จากจุดยืนแบบทุนชาตินิยม คือเห็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเรื่องของภัยจากฝรั่งตะวันตก การประกาศตนเป็นอริกับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็เป็นการประกาศต่อสู้กับทุนนิยมของฝรั่งตะวันตก ถือเอาการต่อสู้กับทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกเป็นวาระสำคัญที่สุด นี่เป็นวาระการเมืองของทุนชาตินิยม

จุดยืนแบบทุนชาตินิยมทำให้พวกเขาเกลียดกลัวผู้ที่เขาเห็นว่าเป็น
“ตัวแทน” ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของ “ฝรั่ง” ตะวันตกอย่างเข้ากระดูก จุดยืนแบบทุนชาตินิยมเช่นกันกลับทำให้พวกเขามองไม่เห็นความอัปลักษณ์และภัยที่มาจากทุนผูกขาดรายใหญ่ที่มีรากลึกกว่ามากในสังคมไทย มีฐานเศรษฐกิจและธุรกิจกว้างขวางมั่นคงกว่าทุนอื่นใดในสังคมไทยเพราะเป็นที่ดิน มีฐานทุนทางสังคมที่ไม่มีใครเทียบได้เพราะผูกกับความศักดิ์สิทธิ์ มีฐานการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมที่แข็งแกร่งด้วยพลังราชการและตุลาการ และแท้ที่จริงแล้วก็เป็นทุนแบบโลกาภิวัตน์เช่นกัน พวกเขามองไม่เห็นเพราะเป็นทุนที่ผูกติดสนิทกับความเป็นไทย

ฝ่ายซ้ายเดิมจบไปนานแล้ว สิ่งที่มาในร่างฝ่ายซ้ายเดิมคือ
ปีกหนึ่ง(ซ้าย?)ของทุนชาตินิยม

ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงสามารถร่วมมือกับปีกอื่นๆของทุนชาตินิยมได้ รวมทั้งทุนที่ผูกติดสนิทกับความเป็นไทยและพวกกษัตริย์นิยม ตราบเท่าที่เอาการต่อสู้กับทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกเป็นวาระการเมืองสำคัญที่สุดตรงกัน นักคิดฝ่ายประชาชนหลายคนเชื่อว่า สามารถ “ใช้” สถาบันฯ เพื่อต่อสู้กับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของ “ฝรั่ง” ซึ่งเขาเห็นเป็นวาระทางสังคมสำคัญที่สุด

การ “คืนดีฯ” ไม่ใช่เรื่องของคนนั้นและคนนี้เปลี่ยนสี แต่เป็นผลของแนวโน้มทั่วไปทางปัญญาแบบทุนชาตินิยมของพวกฝ่ายซ้ายเดิม อันที่จริงยังมีข้อน่าคิดอีกว่า ลักษณะทุนชาตินิยมก็อาจเป็นเชื้อมูลของความคิดซ้ายของพวกเขาตั้งแต่ยุคเดือนตุลาเช่นกัน หมายความว่าพวกฝ่ายซ้ายเดิมไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนักอย่างที่คิดกัน ท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์อาจหนักหน่วงแต่เอาเข้าจริงไม่เคยเป็นประเด็นมูลฐานของความคิดทางการเมืองของพวกเขาอย่างที่เข้าใจกัน การคืนดีหรือไม่คืนดีจึงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับพวกเขา

ในเวลาเดียวกันฝ่ายขวาเดิมก็จบไปแล้วเช่นกัน สิ่งที่มาในร่างฝ่ายขวาเดิมคือ อีกปีกหนึ่ง(ขวา?)ของทุนชาตินิยม

ถ้าการเปลี่ยนแปลงสำคัญของปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลา คือ คืนดีกับสถาบันกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงสำคัญของฝ่ายขวาหลัง 6 ตุลา คือ การหย่าร้าง เอาใจออกห่างจาก “ฝรั่ง” ตะวันตก และไม่ไว้ใจฝรั่งตะวันตกรุนแรงเข้มข้นยิ่งขึ้น หากใช้สายตาประวัติศาสตร์ระยะยาวอาจกล่าวได้ว่า ความไว้ใจฝรั่งตะวันตกในช่วงสงครามเย็นเป็นเพียงประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆเท่านั้น ครั้นจบสงครามเย็น ชนชั้นนำไทยและสังคมไทยก็กลับไปสู่ภาวะคบกับฝรั่งแต่ไม่ไว้ใจฝรั่งดังที่เคยเป็นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงก่อนสงครามเย็น

ถ้าหากท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์และท่าทีต่อทุนนิยมของ“ฝรั่ง” ตะวันตก เป็น 2 แกนที่ก่อให้เกิดเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆในการเมืองยุคเดือนตุลาเป็นซ้ายและขวา การเปลี่ยนแปลงของทั้งฝ่ายซ้ายและขวาหลัง 6 ตุลาที่มีต่อทั้ง 2 แกน ทำให้กลุ่มซ้ายและขวาแต่เดิมที่ตกทอดมาจากการเมืองยุคเดือนตุลาจบลงและเกิดการจัดตัวใหม่มาตั้งนานแล้ว หากถือเอาท่าทีต่อทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกเป็นเกณฑ์ เส้นแบ่งระหว่างซ้ายกับขวาที่ตกทอดมาจากการเมืองยุคเดือนตุลาจึงสับสนปนเปกันมาระยะใหญ่ๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ประมาณหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นในประเทศและในระดับโลก้ป็นต้นมา การจัดตัวใหม่เริ่มมาตั้งแต่คราววิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แล้วเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในวิกฤตการเมืองและรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา แต่วิกฤตการเมืองต่อต้านทักษิณและรัฐประหาร 2549 เป็นปรากฎการณ์รูปธรรมที่ความเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มความคิดแบบใหม่ออกฤทธิ์

อย่างน้อยสิบกว่าปีมาแล้วที่ฝ่ายขวาเดิมและฝ่ายซ้ายเดิมจำนวนมากถือตรงกันว่าการต่อสู้กับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกเป็นวาระการเมืองสำคัญที่สุด


ธงชัย วินิจจะกูล


หมายเหตุ
( โดย. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน )

บทความชิ้นนี้ ธงชัย วินิจจกูลส่งมาเพื่อแลกเปลี่ยนความกับกระทู้
(ในบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" [เจ้าน้อย..] )

1. เมื่อฝ่ายขวากลายเป็นพวกไม่อาสงคราม ฝ่ายซ้ายกลายเป็นพวกคลั่งชาติ

2. สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี :‘สมัคร สุนทรเวช’ อีกหนึ่งความภูมิใจของพันธมิตรประชาชนเพื่อการรัฐประหาร

3. โต้สุภลักษณ์: ว่าด้วย สมัคร(และทักษิณ) กับ "กษัตริย์นิยม"


ที่มา : เวบบอร์ด "ฟ้าเดียวกัน" : ธงชัย วินิจจะกูล : อดีตซ้าย-อดีตขวาสามัคคีต้านทุนนิยมและอเมริกา, ความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนกับกระทู้ "ฝ่ายขวา" : โดย.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ้าว..!!! แล้วประเทศไทย นี้ ตกลงจะมีกันแค่ฝ่ายเจ้า ..กับฝ่ายทุน เท่านั้นหรือ???? แล้วจะมีใคร???...คิดถึงฝ่ายที่สำคัญที่สุดกว่าฝ่ายใด??? ก็คือฝ่ายประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ นี้ กันบ้างเล่า หือ!!!!??? ช่างเก่ง และหน้าด้านที่สุด มีปัีญญาคิด และทำสิ่งดีๆให้กับประชาชน..กันบ้างไหม??? ทำให้ทุกคนในแผ่นดิน มีความสุข ทุกฝ่ายก็ได้รับความสุข เช่นกัน!!!
O.K.ไหม??
จากกูละเบื่อ กรุงเก่า
23 ก.ค.2551