วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กรณีจักรภพ กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


ในสังคมของเรา ใครที่ ไม่ร้องไห้ในงานศพของมารดา
ย่อมเสี่ยงต่อการ ถูกพิพากษาประหารชีวิต

Albert Camus กล่าวถึงนวนิยายเรื่อง L”Etranger ของเขา


หากพิจารณาทางกฎหมาย ในความเห็นของผู้เขียน คำอภิปรายของ นายจักรภพ เพ็ญแข ที่บรรยายให้แก่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในเรื่อง “ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ของไทย” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ไม่มีข้อความใดที่เป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด ไม่ว่าจะพิจารณาจากการถอดคำอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษ หรือคำแปลของจักรภพ ของตำรวจ หรือของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เขียนเห็นว่า ล้วนแล้วแต่ไม่เข้าข่ายฐานความผิดดังกล่าวทั้งนั้น

หากพิจารณาทางการเมือง ผู้เขียนเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองอื่นๆ ไม่ควรนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายศัตรูทางการเมืองของตน การรณรงค์ทางการเมืองสมควรนำประเด็นนโยบายมาถกเถียง มิใช่ปลุกระดมให้สังคมเห็นว่า “ใครไม่จงรักภักดี” หรือ
“ใครจงรักภักดีกว่ากัน”

ไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรใช้ข้อหาเหล่านี้มาทำลายศัตรูของตนเท่านั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ยังควรต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจักรภพด้วยซ้ำไป ต้องไม่ลืมว่า หากปราศจากซึ่งเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นแล้ว การดำเนินการของพรรคการเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ควรตระหนักว่า การทำลายศัตรูทางการเมืองของตนที่เห็นแตกต่างจากตน ด้วยการ ทำลายเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ไม่ให้พูด ไม่ให้คิดนั้น วันหนึ่งข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจย้อนกลับมาทำลายพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ในเมื่อเสรีภาพการแสดงความเห็นถูกทำลายไปเสียแล้ว เช่นกัน สื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหลาย แม้ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่จักรภพพูด แต่ต้องออกมาปกป้องว่าจักรภพมีเสรีภาพใน การคิด การพูด มิใช่รุมยำจักรภพด้วยการ “พิพากษา” ไปแล้วว่าจักรภพ “หมิ่น”


ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับที่ท่านพูด
แต่ข้าพเจ้าจะต่อสู้จนตัวตาย
เพื่อให้ท่านได้มีสิทธิพูด

คำกล่าวที่เชื่อกันว่าเป็นของ วอลแตร์นี้ พรรคการเมือง
กลุ่มการเมือง สื่อมวลชน จำต้องระลึกไว้เสมอ

หากพิจารณาทางประวัติศาสตร์ หลังปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ผู้แทนราษฎรหลายคนได้อภิปรายในสภา วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน เช่น ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนฯปราจีนบุรี ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับความเห็นของพระปกเกล้าฯ ในกรณีพระราชอำนาจของกษัตริย์เรื่องการแต่งตั้งสภาสูง และกรณีทรัพย์สินของกษัตริย์ หรือในการอภิปรายพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ผู้แทนราษฎรหลายคนได้แก่ นายชื่น ระวีวรรณ, นายฟื้น สุวรรณสาร, นายเลียง ไชยกาล ได้วิจารณ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่มพระราชอำนาจให้กับกษัตริย์

หากเรายืนยันว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยยังมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนเดิม มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหมือนเดิม แล้วเหตุใด คำอภิปรายของจักรภพซึ่งเบากว่าคำอภิปรายของผู้แทนราษฎรในสมัยก่อนมาก จึงกลายเป็น “ทัศนคติอันตราย” และถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ด้วยเล่า เหตุใดการอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะจึง “ต้องห้าม” ในสมัยนี้

ในความเห็นของผู้เขียน ความสำคัญของกรณีจักรภพ ไม่ใช่อยู่ที่การถอดรหัสความคิดของจักรภพ ไม่ใช่อยู่ที่สำนวนการแปลของใคร ไม่ใช่อยู่ที่การเถียงกันว่าคำนี้ควรแปลว่าอะไร ใครแปลผิดแปลถูก ใครเก่งภาษาอังกฤษกว่ากัน และไม่ใช่อยู่ที่ว่าระบบอุปถัมภ์สื่อถึงใคร

แต่กรณีจักรภพมีความสำคัญอยู่ที่ว่าหากเรายืนยันว่าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในมโนธรรมสำนึก เสรีภาพในการประกาศทัศนคติทางการเมืองของแต่ละบุคคล ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่จักรภพคิด จำเป็นต้องอดทนและมีขันติธรรมเพียงพอที่จะรับฟังความเห็นต่าง หากใครไม่เห็นด้วยกับคำอภิปรายของจักรภพ เขาควรตอบโต้จักรภพที่เนื้อหา แสดงให้สังคมเห็นว่าความเห็นของจักรภพไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร มิใช่มัวสาละวนนั่งแปลคำภิปราย อวดอ้างว่าภาษาอังกฤษของตนเยี่ยมยอด และจองจำความคิดของจักรภพด้วยการยัดข้อหา “หมิ่น” หรือ “ไม่จงรักภักดี”

อาจถกเถียงกันได้อย่างไม่มีข้อยุติว่าจักรภพอภิปรายวิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือไม่ ในสมองของจักรภพคิดอย่างไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ต่อให้คำอภิปรายของจักรภพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ผู้เขียน ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นทัศนคติที่อันตรายต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นอกเสียจาก “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีเนื้อหาสาระแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยทั่วไป

หาก “ระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หมายถึง ระบอบประชาธิปไตยที่ตรงข้ามกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutiste) เป็นราชอาณาจักร มีกษัตริย์เป็นประมุข ที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองโดยแท้ แต่เป็น ผู้สนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ใช้อำนาจและรับผิดชอบ หากยืนยันเช่นนี้ คำอภิปรายของจักรภพไม่มีส่วนใดที่ชี้ว่าเป็น “ทัศนคติที่อันตราย”

น่าประหลาดที่การอภิปรายถึงระบบอุปถัมภ์กับการเมืองไทยกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นทัศนคติที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วข้อเสนอการถวายคืนพระราชอำนาจ ไม่เป็นทัศนคติที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรอกหรือ ในเมื่อข้อเสนอนี้ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และย้อนกลับไปให้กษัตริย์มีอำนาจการเมืองโดยแท้เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สังคมไทยสมัยใหม่ ควรเปิดโอกาส ให้นำประเด็นสถาบันกษัตริย์และองค์กร รายล้อมสถาบันกษัตริย์มาถกเถียงหรือ วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และควรถึงเวลาเสียทีที่จะยุติการกล่าวหากันด้วยข้อหา
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือชี้หน้าด่ากันว่า

“เอ็งไม่จงรักภักดี เอ็งไม่ใช่คนไทย”

ในนวนิยายเรื่อง L”Etranger ของ Albert Camus นาย Meursault ตัวเอกของเรื่องถูกตัดสินประหารชีวิต โดยเห็นกันว่า โดยแท้จริงแล้วเขาไม่ได้ถูกประหารชีวิตเพราะฆ่าชาวอาหรับคนหนึ่งตาย แต่เขาถูกประหารเพราะไม่แสดงความเสียใจต่อการตายของแม่

Albert Camus ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้กล่าวว่า

“...ข้าพเจ้าหมายถึงตัวละครเอกในหนังสือเล่มนี้ได้รับชะตากรรมเช่นนั้น เนื่องเพราะเขาไม่ยึดถือกฎเกณฑ์แบบแผน ดังกล่าว ในที่นี้เขาจึงเป็นคนนอกของสังคมที่ตนสังกัด...” และ “...หากได้ทบทวนถามไถ่ว่าเมอโซปฏิเสธที่จะกระทำตามกฎเกณฑ์ใดบ้าง คำตอบง่ายๆ ก็คือ เขาปฏิเสธที่จะโกหก การโกหกมิได้หมายเพียงเฉพาะพูดไม่จริงเท่านั้น หากหมายรวมไปถึงการพูดเกินความจริงด้วย ยิ่งกว่านั้น กล่าวในแง่จิตใจมนุษย์แล้ว ยังรวมไปถึงการพูดมากกว่าที่รู้สึกอีกด้วย มันเป็นสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกของชีวิต ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวตน ที่เผยให้เห็นของเมอโซ เขาไม่ต้องการให้ชีวิตมักง่ายเช่นนั้น เขาพูดแต่สิ่งที่เขาเป็น ปฏิเสธที่จะพูดมากกว่าความรู้สึกของเขา และนี่เองที่ทำให้สังคมรู้สึกคุกคาโดยตรง...”

(สำนวนการแปลโดย วชิระ บัวสนธ์)

ในสังคมประชาธิปไตย ไม่ควรมี “เหยื่อ”
ที่ถูกลงโทษเหมือน Meursault


ปิยบุตร แสงกนกกุล


ตีพิมพ์ครั้งแรก :
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2551


ตีพิมพ์ออนไลน์ : June 26, 2008

ที่มา : Onopen.com : นิติรัฐ : กรณีจักรภพ กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: