วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

มารู้จัก “ชาตินิยม” ก่อนที่ “ลัทธิคลั่งชาติ” จะพาชาติวิบัติ !


ชาตินิยม(Nationalism)เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองประเภทหนึ่งที่ฝ่ายขวาจัดมักนำมาใช้ในงานทางจิตวิทยามวลชน เพื่อให้เป้าหมายทางการเมืองของฝ่ายขวาจัดบรรลุวัตถุประสงค์

หากอุดมการณ์ชาตินิยมถูกนำมาใช้อย่างพอเหมาะพอสมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง อาทิ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรกระทำ

แต่หากมีการนำเรื่องของชาตินิยมมาใช้ในทางที่จะก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง เพียงเพื่อการสนองความต้องการหรือสนองการรักษาอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องติงกันไว้บ้างเพื่อให้สังคมไทยได้รู้จักฉุกคิด เนื่องจากชาตินิยมที่นำมาใช้เพื่อการปลุกเร้ายุยงประชาชนจนเกินความพอดีในที่สุดแล้วจะก่อให้เกิด “ลัทธิคลั่งชาติ” อันเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น สงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่พระมหาจักรพรรดิญี่ปุ่นใช้ความเป็นชาตินิยม ผลักดันประเทศไปสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา โดยในที่สุดประเทศญี่ปุ่นต้องแพ้สงครามนำความเสียหายความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเป็นเวลายาวนาน และผลพวงจากการพ่ายแพ้สงครามก็ได้ทำให้สถาบันเบื้องสูงของญี่ปุ่นยอมดำรงอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริงนับแต่นั้นมา

ชาตินิยม(Nationalism)เป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่ค่อยหยิบยกมาอภิปรายกัน ทั้งที่คนไทยต่างก็มีความรักชาติกันมาก ในเมื่อขณะนี้มีการนำเรื่องชาตินิยมมาใช้กันมาก จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่องชาตินิยมมาศึกษากัน ดังนี้

ชาตินิยมเป็นความเชื่อในเรื่องความยิ่งใหญ่(Greatness)และความเป็นเอกภาพ(Unity)ของประเทศหนึ่งๆ ชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่ไม่มีความซับซ้อนเมื่อเทียบกับอุดมการณ์อื่นๆ กล่าวคือเป็นอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับชาติ ชาตินิยมไม่ใช่เป็นเพียงความคิดที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาปกครองแต่ยังเป็นความคิดที่แฝงอยู่ในอุดมการณ์อื่นด้วย เช่น อุดมการณ์เสรีนิยมของสหรัฐอเมริกาก็มีชาตินิยมอเมริกันแฝงอยู่ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตก็มีอุดมการณ์ชาตินิยมของสหภาพโซเวียตแฝงอยู่

โดยทั่วไปชาตินิยมจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนต้องการลุกขึ้นต่อสู้โดยมักมีกลุ่มปัญญาชนเป็นแกนนำ ชาตินิยมจึงเป็นอุดมการณ์ที่ถูกนำมาใช้กระตุ้นด้วยอารมณ์มากกว่าอุดมการณ์อื่นๆ

ปัญหาใหญ่ของอุดมการณ์ชาตินิยมคือไม่ค่อยมีเนื้อหา ดังนั้นเมื่อชาติจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ จึงไม่ค่อยมีหลักการมาถกเถียงกัน เช่น ปัญหาการว่างงาน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ถือหลักเพียงว่าขอให้ชาติอยู่ได้แล้วปัญหาอื่นๆ จะแก้ได้เอง

ความเป็นมาของอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจเรื่องชาตินิยม โดยต้องเริ่มกล่าวถึงความคิดในเรื่องชาติก่อน หากศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ย้อนไปในยุคโบราณที่สังคมมนุษย์ยังอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ จะพบว่าสมาชิกในชุมชนก็ยังไม่ค่อยรู้แน่ชัดว่าชาติของตนเองมีมาแต่เมื่อใด ความคิดเรื่องชาติจึงน่าจะเป็นความคิดที่มีมาไม่นานนัก

นักประวัติศาสตร์ได้อธิบายถึงความคิดเรื่องชาติว่ามีมาตั้งแต่สมัยการเกิดขบวนการสมบูรณาญาสิทธิราชย์(Absolutism) ในศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นขบวนการที่พระราชาและเจ้าเมืองต่างๆ เช่น เฮนรีที่ ๘ (Henry VIII)แห่งอังกฤษ กุสตาฟ วาซา(Gustav Vasa)แห่งสวีเดน เจ้าเมืองในเยอรมันตอนเหนือ พยายามแยกตัวออกจากการปกครองที่เคยรวมศูนย์มาตั้งแต่สมัยกลางภายใต้การควบคุมของสันตะปาปา สงครามศาสนาทำให้พระราชามีอำนาจมากขึ้นจนแยกออกมาอยู่รวมศูนย์ในเขตราชอาณาจักรและชนชั้นสูงที่แวดล้อม ถือเป็นต้นกำเนิดของการเน้นความยิ่งใหญ่และเอกภาพของราชอาณาจักร

แอนดูรย์ เฮย์วูด(Andrew Heywood ,2002) ได้แจกแจงอุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

ชาตินิยมแบบเสรี
(Liberal Nationalism )

ชาตินิยมแบบอนุรักษ์
(Conservative Nationalism)

ชาตินิยมแบบขยายอำนาจ
(Expansionist Nationalism)

ชาตินิยมแบบต่อต้านการล่าอาณานิคม
(Anti-Colonial Nationalism)

การจะเข้าใจว่าอุดมการณ์ชาตินิยมแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไรจะต้องเริ่มกล่าวถึงตั้งแต่สมัยปฎิวัติฝรั่งเศส(ค.ศ. ๑๗๘๙–๑๗๙๙) โดยในช่วงนั้นได้เกิดขบวนการชาตินิยมซึ่งเป็นขบวนการมวลชนที่มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยยุโรปทั้งหมดออกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ชอง ชาก รุสโซ นักคิดชาวฝรั่งเศสเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปฎิวัติ เขาได้นำเสนออุดมการณ์ชาตินิยมแบบเสรี(Liberal Nationalism) ที่มีความเชื่อว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงสามารถใช้อำนาจอธิปไตยนั้นในการร่วมกันปกครองบ้านเมืองโดยตรงหรืออาจใช้วิถีทางโดยอ้อม คือให้ประชาชนเลือกผู้ที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจแทน

รุสโซ ได้อธิบายถึงแนวคิดของเขาว่า สังคมเกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจกันของมนุษย์ การที่มนุษย์ทุกคนยินยอมมารวมกันประกอบขึ้นเป็นสังคมได้นั้นจึงทำให้เกิดเป็นภารกิจร่วมกันที่จะสร้างเสริมสังคมนั้นให้เจริญรุดหน้าไปด้วยกัน รุสโซ เรียกภารกิจร่วมกันนี้ว่า
“สัญญาประชาคม(Social Contact)

แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมของ รุสโซ หมายถึง คนในสังคมแต่ละคนจะต้องมอบตนเองให้เป็นหนึ่งในพลังร่วมทางสังคม จึงต้องมีเจตจำนงในจุดหมายใดๆ ร่วมกัน ถึงจะเป็นองค์กรร่วมที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และลักษณะการร่วมกันเป็นประชาคมเช่นนี้ ก็เท่ากับอำนาจอธิปไตยที่มีอยู่ในแต่ละคนนั้นได้ถูกรวมกันขึ้นเป็นอำนาจอธิปไตยสูงสุดของสังคมแล้ว จึงไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ตราบเท่าที่ประชาคมยังรวมกันเป็นหนึ่ง

อำนาจอธิปไตยสูงสุดนี้เป็นอำนาจที่ผู้คนในสังคมทั้งหมดเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เจตจำนงใดๆ ที่เกิดขึ้นจึงต้องเป็นเจตจำนงร่วมกัน เป็นสัญญาประชาคมที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ ต้องยึดถือเป็นภารกิจร่วมกัน และเมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะเกิดเป็นอำนาจองค์รวมที่เรียกว่า “องค์อธิปัตย์(Sovereign) ขึ้นมาแทนที่

องค์อธิปัตย์ก็คือเจตนารมณ์ร่วมอันสูงสุดของประชาชนทุกคนในสังคมที่มอบให้กับองค์คณะใดๆ ก็ตามเพื่อมาทำงานด้านการเมืองแทนประชาชน โดยที่ทุกคนในประชาคมก็ล้วนยังคงมีส่วนร่วมอยู่ด้วยทั้งสิ้น องค์อธิปัตย์จึงหมายรวมถึงทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองอยู่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์อธิปัตย์นั้น จึงเท่ากับว่าทุกคนในสังคมล้วนมีส่วนร่วมเป็นองค์อธิปัตย์โดยเท่าเทียมกัน มีอิสระและเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ ที่เท่าเทียมกัน แต่ก็ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือกติกาทางสังคมเท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้เสรีภาพของตนไปคุกคามต่อเสรีภาพของผู้อื่น


ก่อนการปฎิวัติชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามแนวคิดของรุสโซ แต่หลังจากการปฎิวัติฝรั่งเศสผ่านพ้นไปบรรดาแกนนำก็เกิดความขัดแย้งกันเอง แกนนำคนสำคัญผู้หนึ่งคือเอมมานูเอล โจเซฟ ซีเอเยส์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยที่แตกต่างไปจากแนวคิดของรุสโซ คือแนวคิดที่เรียกว่า“อธิปไตยแห่งชาติ(National Sovereignty)

แนวคิดอธิปไตยแห่งชาติของซีเอเยส์กำหนดว่า อธิปไตยมิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะและก็มิได้เป็นของประชาชนแต่อย่างใดอีกเช่นกัน แต่อำนาจนี้เป็นของ “ชาติ(Nation) ซีเอเยส์ให้เหตุผลในแนวคิดของเขาว่าชาติเกิดจากการรวมกันของประชาชนทุกคนในสังคม ถ้าหากมีการแยกประชาชนออกจากกันให้เป็นแต่ละบุคคล ก็จะไม่มีความเป็นชาติเกิดขึ้นได้เลย อำนาจอธิปไตยก็จะไม่มีขึ้น ประชาชนในสังคมจึงไม่อาจถูกแยกออกจากกันได้ในฐานะของความเป็นชาติ เมื่อมีความเป็นชาติจึงจะมีความเป็นอธิปไตย อำนาจอธิปไตยก็จะเกิดขึ้นได้จากจุดนี้

ซีเอเยส์ได้โต้แย้งในหลักการว่าด้วยเรื่อง “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” ของรุสโซ ว่าปัจเจกบุคคลไม่น่าจะมีอำนาจอธิปไตยใดๆ ได้ เพราะถึงแม้จะมีอำนาจแต่ก็จะไม่มีพลังใดๆ เลย ประชาชนต้องรวมกันเป็นหนึ่งคือเป็นชาติ จึงจะมีพลังพอที่จะสามารถทำให้อำนาจอธิปไตยสูงสุดสามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นคณะบุคคลใดที่มีหน้าที่บริหารงานการเมืองการปกครองของชาติ จะใช้อำนาจนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายจากชาติที่รวมขึ้นจากประชาชนทั้งหมดเสียก่อน และหากยึดถือตามแนวคิดนี้ “องค์อธิปัตย์(Sovereign)” ก็คือชาตินั่นเอง

ซีเอเยส์ได้อรรถาธิบายสถานะของชาติตามหลักการของเขาว่า ชาตินั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งอื่นสิ่งใดทั้งสิ้น และชาติก็ยังทำให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นในสังคม ซึ่งถ้าหากไม่มีชาติแล้ว ประชาชนก็จะไม่สามารถที่จะมีสิ่งเหล่านี้ได้เลย เจตนารมณ์ใดๆ ของชาติจึงเป็นเจตนารมณ์ที่ชอบธรรมทั้งโดยธรรมชาติและกฎกติกาทางสังคม ซึ่งชาติจะแสดงเจตนารมณ์นั้นผ่านทางผู้แทนของชาติ ผู้แทนของชาติจึงถือเป็นอิสระไม่ต้องผูกมัดอยู่กับเจตนารมณ์ของประชาชนคนใด แต่จะผูกมัดกับเจตนารมณ์ของชาติแต่เพียงอย่างเดียว

สาเหตุที่แนวคิดของซีเอเยส์ได้รับการยอมรับอาจเป็นเพราะขณะนั้นสังคมฝรั่งเศสกำลังเกิดความสับสนและความระส่ำระสาย กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดของเขาจึงชิงประกาศหลักการอธิปไตยของชาติขึ้น ด้วยเกรงว่าหากปล่อยให้สังคมส่วนใหญ่ยอมรับแนวคิดของรุสโซต่อไปก็หมายถึงอำนาจอธิปไตยก็จะตกไปเป็นของประชาชน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการที่คณะ ของพวกเขาจะสูญเสียอำนาจควบคุมทางการเมืองไป การพยายามวางหลักการใหม่นี้ให้กับฝรั่งเศสในขณะที่กลุ่มคณะของพวกเขายังคงมีอำนาจในฐานะคณะผู้ก่อการปฎิวัติจะทำให้พวกเขามีความได้เปรียบทางการเมือง โดยเมื่อสังคมยึดถือว่าอธิปไตยเป็นของชาติจะทำให้คณะปฏิวัติสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเป็นผู้ปกครองชาติต่อไปได้ง่ายขึ้น

การปฏิวัติในฝรั่งเศสทำให้ราชอาณาจักรต่างๆ เกิดความหวาดระแวง นักคิดฝ่ายอนุรักษ์ในยุโรปจึงเสนอแนวคิดเรื่องชาตินิยมอีกประเภทหนึ่งขึ้นมาคืออุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์(Conservative Nationalism)ซึ่งให้ความสำคัญต่อความเป็นเอกภาพและความเป็นระเบียบของสังคม โดยมองชาติในฐานะที่เป็นอินทรียภาพ(Organicism)อยู่เหนือความต้องการของปัจเจกชน

ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ต้องการให้สังคมมองย้อนและถวิลหาอดีตที่เคยรุ่งโรจน์และสงบสุข จึงเป็นชาตินิยมประเภทที่มักไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ โดยมักสร้างความรู้สึกว่าชาติกำลังมีภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการปกครอง

หลังจากการปฎิวัติไม่นานสังคมฝรั่งเศสก็ตกอยู่ในยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว เกิดการช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มคณะต่างๆ บ้านเมืองอยู่ในสภาพย่ำแย่ กลุ่มโจรผู้ร้ายออกปล้นสะดมไปทั่ว เหล่าผู้ภักดีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฝรั่งเศสวางแผนจะฟื้นฟูระบอบเดิมขึ้นมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันอังกฤษ ปรัสเซีย และออสเตรียได้รวมกำลังกันต่อต้านสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ยังไม่เข็มแข็ง โดยหวังจะถอนรากการปฎิวัติก่อนจะแพร่ไปยังประเทศอื่น

ผู้ที่ปกป้องฝรั่งเศสในช่วงวิกฤตนี้คือ นโปเลียน โบโนปารต์(ค.ศ. ๑๗๖๙–๑๘๒๑) เขามุ่งมั่นจะฟื้นฟูชาติให้รุ่งเรืองและต้องการมีอิทธิพลเหนือยุโรปทั้งหมด โดยนโปเลียนได้จัดตั้งกองทัพแห่งชาติที่มาจากอาสาสมัครทำศึกสงครามกับอาณาจักรต่างๆ ทำให้ชาวฝรั่งเศสเห็นนโปเลียนเป็นวีรบุรุษ ต่อมาเขาจึงได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นจักรพรรดิ

แม้จักรพรรดินโปเลียนจะมิได้ทรงละทิ้งหลักการปฎิวัติฝรั่งเศสไปเสียทั้งหมดแต่ก็ทรงกีดกันความคิดเสรีนิยมอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนในระหว่างการปฎิวัติ กองทัพของจักรพรรดินโปเลียนที่มีแสนยานุภาพได้ขยายอิทธิพลไปยังประเทศต่างๆในยุโรป กล่าวได้ว่าจักรพรรดินโปเลียนได้ทรงหันไปใช้ชาตินิยมอีกประเภทหนึ่งก็คือชาตินิยมแบบขยายอำนาจ(Expansionist Nationalism) ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ การมีท่าทีที่ก้าวร้าว นิยมใช้กำลังทหาร และการขยายอำนาจไปสู่ดินแดนอื่นๆ ซึ่งส่วนทางกับความเชื่อพื้นฐานของชาตินิยมแบบเสรีในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคโดยเฉพาะสิทธิในการปกครองตนเอง(Self-Determination)อย่างเป็นอิสระของแต่ละชาติ

ในเวลาไม่นานนักอาณาจักรที่ถูกจักรพรรดินโปเลียนยึดครอง อาทิ สเปน เยอรมนี รัสเซีย ก็รู้สึกเกลียดชังและต้องการขับไล่ฝรั่งเศส จึงได้ใช้ชาตินิยมปลุกให้ประชาชนของตนลุกขึ้นต่อสู้ สังคมยุโรปในขณะนั้นตกอยู่ในความเชื่อว่าชาติของตนมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติอื่น ปฏิเสธความคิดที่ว่าแต่ละชาติมีความเท่าเทียมกันแต่เชื่อว่าชาติต่างๆ มีคุณภาพและคุณสมบัติเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน บางชาติเหมาะสำหรับเป็นผู้ปกครอง ขณะที่บางชาติเหมาะสำหรับตกเป็นผู้ถูกปกครอง

ประเทศมหาอำนาจในยุโรปจึงพากันแข่งการขยายอิทธิพลไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก กล่าวได้ว่าอุดมการณ์ชาตินิยมแบบขยายอำนาจนำไปสู่การล่าอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรปในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ รวมทั้งการเกิดสงครามโลกทั้งสองครั้งด้วย

การขุ่นเคืองต่อการครอบครองของต่างชาติเป็นพื้นฐานให้เกิดชาตินิยมอีกประเภทหนึ่งคือชาตินิยมแบบต่อต้านการล่าอาณานิคม(Anti-Colonial Nationalism) ความรู้สึกขุ่นเคืองนี้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างสำนึกในความเป็นชาติให้เกิดขึ้นในหมู่ประเทศอาณานิคม ประชาชนในชาติเหล่านั้นเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการปลดแอกชาติ(National Liberation) เช่น อินเดียต่อสู้จนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ จีนทำสงครามต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยาวนานถึง ๘ ปี เป็นต้น

การก่อตัวเริ่มแรกของชาตินิยมแบบต่อต้านอาณานิคมในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนามีลักษณะไม่แตกต่างจากชาตินิยมแบบเสรีของยุโรป โดยได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องสิทธิในการปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระของแต่ละชาติ

อย่างไรก็ตามแม้ประเทศอาณานิคมเหล่านี้ต้องการเอกราชพร้อมๆ กับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่ก็มักเลือกที่จะพัฒนาประเทศไปในแนวทางสังคมนิยมมากกว่าเสรีนิยม แม้ว่าชาตินิยมแบบเสรีและสังคมนิยมมีหลักความเชื่อที่แตกต่างกันจนยากที่จะเข้ากันได้ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้พัฒนาได้ยาก เพราะระบอบประชาธิปไตยมีรากฐานจากแนวคิดแบบเสรีนิยม อาทิ แนวคิดของรุสโซได้กลายมาเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญของหลายประเทศทั่วโลกได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า

“อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”

จึงกล่าวได้ว่าชาตินิยมแบบเสรีคืออุดมการณ์ชาตินิยมที่เป็นสากลและเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ชาตินิยมแบบเสรีต้องการสร้างโลกแห่งการดำรงอยู่ของรัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตย โดยถือว่าแต่ละชาติมีสิทธิและอิสรภาพในการดำรงอยู่โดยไม่ถูกรุกรานจากชาติอื่นและไม่ไปรุกรานชาติอื่นด้วยโดยต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน ชาตินิยมแบบเสรีจึงไม่เพียงต้องการส่งเสริม อิสรภาพทางการเมืองของชาติต่างๆ เท่านั้นแต่ต้องการสร้างหลักประกันต่อสันติภาพและเสถียรภาพของระเบียบโลกอีกด้วย

ชาตินิยมแบบเสรีเป็นชาตินิยมที่รัฐชาติต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยให้การยอมรับ รวมทั้งประเทศที่ปกครองโดยพระราชาด้วย อาทิ รัฐไทยซึ่งได้ปฎิวัติการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า Constitution Monarchy ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕

Constitution Monarchy เป็นระบอบที่ให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมเป็นผู้ร่วมกันร่างขึ้น มิใช่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นผู้ร่างแต่โดยลำพัง ดังนั้นคนในสังคมไม่ว่าผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองก็ตาม จึงต้องเทิดทูนและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้นๆ เป็นสิ่งสูงสุดอย่างเคร่งครัด โดยที่องค์พระประมุขก็ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน ซึ่งตลอดระยะเวลานับแต่ทรงขึ้นครองราชย์ องค์พระประมุขรัชกาลปัจจุบันของปวงชนชาวไทย ก็ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างเสมอมา อาทิเช่น เรื่องการขอนายกพระราชทานที่มีผู้เสนอโดยอ้างมาตรา๗ ในรัฐธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐

ก่อนจบขอตั้งความหวังว่าสังคมไทยจะตั้งสติได้ในประเด็นเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” รู้จักที่จะนำชาตินิยมมาใช้อย่างเหมาะสม แก้ไขปัญหาด้วยองค์ความรู้ ด้วยความมีสติปัญญา ด้วยความรอบคอบ เพื่อยังประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นทั้งต่อประเทศไทยและมิตรประเทศ

มิใช่ตัดสินปัญหาโดยไม่สนใจความรู้ข้อมูลทางวิชาการ ใช้แต่อารมณ์ความรู้สึก และความมุทะลุ เพราะนั่นคือหัวชนวนของการก่อ

“สงคราม” !!!


จำปีเขียว

ที่มา : บอร์ด "ประชาไท" : มารู้จัก “ชาตินิยม” ก่อนที่ “ลัทธิคลั่งชาติ” จะพาชาติวิบัติ !

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: