วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สุรชัย จันทิมาธร 60 ปียินดีด้วย


โอ้...เจ้านกน้อยเอย โผผินบินจากเมือง
ด้วยความแค้นเคือง บินจากเมืองมาสู่พงไพร


(บทเพลง สุรชัย จันทิมาธร)


นกน้อยเคยคู่ขอนนอนเคียงข้าง
มาอ้างว้างชีวินบินไปไหน

มางุนงงหลงทางว่าอย่างไร
เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น

บินไปเถิดคนละทางเพื่อสร้างสรรค์ ใด
ใฝ่ฝันมุ่งประสบให้พบเห็น

คิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน ดูเดือนเพ็ญ
เดี๋ยวแสงเย็นเห็นอร่ามก็งามชัด

(บทกลอน วิสา คัญทัพ)


คนชอบถามผมถึง หงา คาราวาน สองสามปีมานี้ก็ยังมีถามอยู่ประปราย ทั้งที่สัมพันธภาพของเราเป็นแค่พยักหน้า หรือทักทายกันเพียงคำสองคำเมื่อเจอกัน เหตุแห่งความห่างเหินมาจากอะไรไม่รู้ ลมพายุจู่ๆ ก็เกรียวกรูมา ฟ้ากระหน่ำฝนสาดโหมเข้าใส่จนเปียกโชก ไข้หนาวสั่นก็ยังหยัดสู้อย่างทระนง เสี้ยมเขาให้คนเข้าใจผิดเป็นความถนัดจากมิตรในคราบศัตรู คนไหนไม่อาจทราบ ทว่าคนที่โดนกระทำเยี่ยงนี้จนเพี้ยนมีหลายคน ยกเว้นแต่จะยอมเป็นสาวกเดินตามต้อยๆ หรือเป็นกระโถนท้องพระโรงรองรับอารมณ์ยามถ่มถุย

“คิดอะไรคิดเถิดอย่าคิดคด คดอะไรคดเถิดอย่าคดมิตร” ถือคติไม่คดมิตรจึงถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า ห่างเหินเดินคนละทาง สร้างดาวคนละดวง ไม่เห็นจะเป็นไร หากจิตใจมีเมตตา ไม่คิดให้ร้ายทำลายมิตร

ผมรู้จัก สุรชัย จันทิมาธร ก่อนเป็น หงา คาราวาน ตอนนั้นเป็นนักเขียนเรื่องสั้น จำไม่ถนัดชัดเจนเสียแล้วว่ารู้จักกันครั้งแรกที่โคราชหรือกรุงเทพฯ ราว 35 ปีมาแล้ว ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เล็กน้อย เราสนิทสนมกันมาก เป็นเพื่อนเที่ยวร่วมกินนอนอยู่ในก๊วนเดียวกัน บ้านที่ไปบ่อยคือหอพักของ วินัย อุกฤษณ์ นักเขียนในกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว หอพักนี้อยู่แถวเจริญพาสน์ กลุ่มก้อนของพวกเราตอนนั้นที่จำได้มี ธรรมศักดิ์ บุญเชิด พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ ดนัย เยาหะรี วีระศักดิ์ สุนทรศรี บัณฑิต เองนิลรัตน์ ไพสันต์ พรหมน้อย ประเสริฐ จันดำ เรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ (ทรนง ศรีเชื้อ) จุมพล อภิสุข มโนภาษ เนาวรังสี ชื่อเล่นว่า “ปุ๊” (เสียชีวิตแล้ว) ผู้ซึ่งประเสริฐมักจะพูดเป็นกลอนว่า “ปุ๊อยู่บ้านนาแกมาแต่เกิด แต่ ประเสริฐ จันดำ จำไม่ได้” อยู่บ่อยๆ เวลาเมาเล็กๆ ประเสริฐจะประกาศกวีเสียงดังก้อง แล้วหัวเราะลั่นสำทับ ดวงตาเป็นประกายเบิกโพลง เอาจริงเอาจังตามบุคลิกเฉพาะตน ช่วงรู้จักกันใหม่ๆ ดูเหมือนหงาจะพักอยู่กับเรืองศิลป์ ส่วนผมพักอยู่หอพักลุงแจ่มใกล้วัดระฆัง ฝั่งตรงข้ามท่าช้าง ผู้ที่อยู่หอเดียวกันมี บัณฑิต เองนิลรัตน์ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ และ วีระศักดิ์ สุนทรศรี ต่อมาย้ายไปเช่าบ้านอยู่รวมกันแถวหลังวัดวิเศษ ใกล้ๆ ท่าพรานนก

ชื่อวงดนตรี “คาราวาน” มาจากไหน มาจากชื่อหนังสือ “คาราวาน” ที่ บัณฑิต เองนิลรัตน์ สุวัฒน์ ศรีเชื้อ พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ เรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์ และพวกเรา ร่วมกันจัดทำขึ้น เป็นหนังสือแนวอาวองการ์ดเล่มแรกของเมืองไทย ที่เขียนด้วยลายมือและพิมพ์ดีดทั้งเล่มเป็นส่วนใหญ่ ภาพประกอบและการจัดรูปเล่มวิจิตรพิสดาร พิมพ์ในระบบออฟเซ็ตสองสีขาวดำ ขนาดรูปเล่มพิเศษ ต่างจากหนังสือทั่วไป

คาราวานเป็นหนังสือเฉพาะกิจ ทำออกมาเล่มเดียว เน้นหนักงานวรรณกรรมและบทวิจารณ์ศิลปะต่างๆ มีเรื่องสั้น บทกวี บทวิจารณ์ จำได้ว่าผมเขียนเรื่องสั้นชื่อ “เรือลำสุดท้าย” เป็นเรื่องสั้นสัญลักษณ์ พูดถึงเรื่องราวของผู้ที่ขึ้นเรือลำเดียวกัน อันประกอบไปด้วยตัวละครเช่น ศาสดาพยากรณ์ พระเจ้าหัวฟู ซาตานท้วม เทพที่ฟ้าให้เกิดมาเป็นดาว คนเงียบเฉย ฯลฯ พาเรือฝ่าคลื่นลมมรสุม สุดท้ายมีคนพังเรือจนล่ม เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นจินตนาการสด เขียนขึ้นสดๆ ในวงมาลีฮัวน่า (ที่ไม่ใช่วงดนตรีในปัจจุบัน) ตัวละครทุกตัวมาจากเพื่อนพ้องที่อยู่ในวง ณ เวลานั้น เป็นงานแบบ happening art ความโดยละเอียดจำไม่ได้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องสั้นเหนือจริงดังกล่าวจะใกล้เคียงกับความจริงปัจจุบัน พวกเราเจาะเรือเราเอง

น่าเสียดายที่หาหนังสือเล่มนั้นได้ยากเต็มที ไม่รู้ยังมีตกหล่นอยู่ที่ใครบ้างหรือไม่ หนังสือ “คาราวาน” เป็นตำนานประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของขบวนการเรา อันที่จริงบันทึกตำนานของวงดนตรีคาราวานมิอาจขาดที่มาสำคัญจากจุดนี้ ศิลปินกลุ่มนี้เป็นเสรีชนที่มีจิตวิญญาณเป็นอิสระ รับอิทธิพลผมยาว กัญชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนวเพลงยุค 1960 แนวคิดกบฏต่อสังคมเก่า และการคัดค้านสงครามจากตะวันตก พวกเราจึงชอบเพลงอย่าง yellow bird, ohio, we shall over come, where have on the flower gone กระทั่ง house of rising sun อันเป็นเพลงในแนวที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิตแบบฝรั่ง”

คำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เล่า มาจากไหน คำว่า เพื่อชีวิต มาจากหนังสืออีกเช่นกัน หนังสือที่ชื่อว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” อันเป็นหนังสือที่จัดทำโดยกลุ่มคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย ยุค 14 ตุลาคม 2516 ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้คือ พิรุณ ฉัตรวณิชกุล กมล กมลตระกูล ธัญญา ชุนชฎาธาร บัณฑิต เองนิลรัตน์ บุญส่ง ชเลธร และผม เป็นหนังสือรวบรวมบทความ บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่องสั้น เรื่องยาว บทกวี บทเพลง บทวิจารณ์เพลง ฯลฯ ในแนวที่ยึดแนวคิดแบบ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นำแนวทางมากจากสำนักคิดสังคมนิยม (socialist) ตะวันตก อีกทอดหนึ่ง (art for art/art art for life) คำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เป็นชื่อคอลัมน์ที่เขียนโดย พิชิต จงสถิตวัฒนา
ในหนังสือเล่มนี้

เมื่อ เพลงคนกับควาย และเปิบข้าว ดังขึ้นเป็นเบื้องแรก แสดงสำเนียงแห่งขบวนการเยาวชนคนสู้เพื่อสังคมธรรมในยุคนั้น พวกเราจึงพากันเรียกขานเพลงอย่างนี้ว่า “เพลงเพื่อชีวิต” คนกับควายเป็นเพลงที่ สมคิด สิงสง ใส่เนื้อร้องท่อนแรกว่า “คนกับคนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน สำราญเรื่อยมาพอสุขใจ” ร้องวนเวียนอยู่เท่านี้ โดยมีทำนองซึ่ง หงา คาราวาน ดัดแปลงมาจากเพลงสากลชื่อ master of war

เมื่อพวกผู้นำนักศึกษามีผู้หวังดี (ประสงค์ร้าย) ยื่นมือมาช่วยเหลือเช่าบ้านให้อยู่แถวสะพานควาย มีผม มีคุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย คุณธีรยุทธ บุญมี คุณก้องเกียรติ คงคา คุณบุญส่ง ชเลธร คุณธัญญา ชุนชฎาธาร และเพื่อนๆ แวะเวียนมาพักได้ไม่นาน ก็พบพิรุธของการสอดแนมหาข่าวจากฝ่ายตรงข้ามหลายอย่าง เช่น การดักฟังโทรศัพท์ การส่งคนแปลกหน้ามาด้อมๆ มองๆ เป็นต้น พวกเราไหวทัน จึงเคลื่อนย้ายออกจากบ้านเช่าหลังนั้น ไม่ใช้เป็นสถานที่พูดคุยงานสำคัญๆ อีกต่อไป คงทิ้งไว้ให้เป็นบ้านศิลปิน มี ก้องเกียรติ คงคา และผม นอนประจำ

จากนั้นก็ชักชวนกลุ่มก๊วนเพื่อนพ้องนักเขียน มี ประเสริฐ จันดำ หงา คาราวาน สมคิด สิงสง วินัย อุกฤษณ์ เรืองศิลป์ ศรีพุทธิรัตน์ ฯลฯ แวะเวียนมาดื่มกิน พักค้างอ้างแรมกันตามสะดวกใจ ที่นี่คือที่ผมเขียนเรื่องสั้น “เรือลำสุดท้าย” ดังกล่าวข้างต้น และที่นี่คือที่ สมคิด สิงสง และ หงา คาราวาน ร้องเพลงคนกับควายวนไปวนมาอยู่ท่อนเดียว

ซึ่งต่อมาผมได้เข้าไปร่วมแต่งเพลงคนกับควายต่อจนจบ ใครจะไปคิดว่าเพลงนี้จะมาทรงความหมาย ทรงคุณค่า และยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน แต่ความจริงก็คือความจริง ผมนำเพลงนี้ไปร้องเวลาไปเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ อยู่บ้าง ร้องเหมือนกับที่เคยนำเพลงนี้ออกไปร้องครั้งแรกในงานแต่งงานอันหรูหราของ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ที่โรงแรมนารายณ์ เมื่อหลายสิบปีก่อน ดังที่ วีระศักดิ์ สุนทรศรี บันทึกไว้ว่า เขาเห็นหงานั่งเล่นกีต้าร์ โดยมีผมและสมคิดยืนขนาบข้าง ร้องเพลงคนกับควาย สร้างความแปลกประหลาดให้กับคนที่เข้ามาร่วมงาน ผมไม่เคยนำเพลงนี้ไปอนุญาตให้ใครร้องเพื่อทำมาหารายได้ที่ไหนเลย


ชีวิตของพวกเราตอนนั้นยากจน ว่าไปแต่ละคนก็มาจากบ้านนอกคอกนา อยู่ง่ายกินง่ายนอนง่าย ร่อนเร่พเนจร ย้ายที่เช่าบ้านไปเรื่อยๆ เงินพ่อแม่ส่งมาน้อยนิด ต้องหาเขียนหนังสือขายช่วยตัวเอง ผมเริ่มงานที่เป็นรายได้ก็จากการทำหนังสือเคยทำทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน มีเงินเดือนพอไม่เดือดร้อน และสามารถเช่าบ้านเป็นหลังอยู่ได้ ผมเช่าบ้านโดยมี หงา คาราวาน และ ประเสริฐ จันดำ มาอยู่ด้วยครั้งแรกน่าจะเป็นแถวย่านลาดพร้าว

สมัยนั้นไกลมาก มีรถเมล์วิ่งผ่าน แต่รถไม่มากเหมือนปัจจุบัน จำซอยไม่ได้เสียแล้ว แต่จำได้ว่าอยู่ทางฝั่งเลขคี่ราวซอย 30 กว่าๆ ขึ้นไป เข้าซอยเดินไปนิดเดียวก็ถึงบ้านอยู่ฟากซ้ายมือ เป็นบ้านสองชั้นใหญ่ทีเดียว มีน้องๆ นักศึกษาที่ทำกิจกรรมไปอยู่ด้วยหลายคน ผมมีงานเขียนบทกวีร่วมกับ ประเสริฐ จันดำ แบบวรรคต่อวรรค

ซึ่งต่อมารวมเล่มชื่อ “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” ก็ที่บ้านหลังนี้ น้ำท่วมฟ้าปลากินดาวเป็นภาษิตโบราณ ผมนำมาแต่งเป็นเพลงให้ หงา คาราวาน ร้องช่วงก่อนถูกปราบ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนหนีเข้าป่าไม่นานนัก จำได้ว่า ประเสริฐ จันดำ ก็มีงานรวมเรื่องสั้นกับ สุรชัย จันทิมาธร เหมือนกัน ชื่อ “จารึกบนหนังเสือ”

ถัดจากบ้านลาดพร้าวคือบ้านแถวสุขุมวิท ผมเช่าบ้านหลังนี้อยู่ด้วยเหตุผลหลักเพื่อจะช่วยเหลือน้องนักศึกษาหญิงนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงคนหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นให้ความเคารพนับถือผมเป็นอย่างดีเรียกพี่ทุกคำ ผิดจากในปัจจุบันที่ห่างเหินและเย็นชาไม่ทราบว่าโดนใครยุแยงตะแคงรั่วสร้างข้อมูลเท็จเป่าหูมาอย่างไร น้องคนนี้มีปัญหาเพราะเธอท้อง ขณะอยู่บ้านสุขุมวิทเธอท้องแก่ใกล้คลอด

ผมดูแลชีวิตความเป็นอยู่อาหารการกินเธอทุกอย่าง คนแถวนั้นอาจนึกว่าเธอเป็นภรรยาผมด้วยซ้ำไป อันที่จริงเธอมีสามีเป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิต มีงานต้องไปแสดงดนตรีต่างจังหวัดบ่อยมาก จึงต้องกลับมาเยี่ยมเธอเป็นครั้งคราว บางคราวเงินผมขาดมือ แต่เด็กในท้องขาดอาหารไม่ได้ ผมก็พาเธอไปหาพี่ที่เคารพนับถือที่พอช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ตอนนั้นก็มีพี่ไขแสง สุกใส พี่ยอดธง ทับทิวไม้ เป็นต้น ก็ได้เงินมาพอดูแลกันไป เรื่องท้องของเธอตอนนั้นเป็นความลับจะปล่อยให้ใครล่วงรู้ไม่ได้เพราะจะเสียหาย

ขบวนการนักศึกษาอยู่ในกระแสสูงของการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องละเมิดสิทธิสตรีและลัทธิเสรีไร้การจัดตั้ง ที่สำคัญต้องค่อยๆ เคลียร์ให้ครอบครัวเธอได้ทราบเรื่องอย่างมีจังหวะเหมาะควร ซึ่งเราก็ค่อยๆเปิดให้พี่สาวเธอได้รับรู้ก่อนไปสู่แม่และพ่อในที่สุด บ้านสุขุมวิทมีโอกาสรับใช้เธอจนถึงวันคลอดนั่นแหละ รายละเอียดที่มากไปกว่านี้ มันละเอียดอ่อนจนน่าน้ำตาไหล ทว่าไม่จำเป็นต้องพูดถึงในเมื่อใครบางคนอาจลืมมันไปแล้ว หรือไม่อยากจดจำ หลังจากผมเข้าป่าไปแล้ว ทราบว่าทั้งเธอและสามีได้แต่งงานกันเรียบร้อยที่มหาชัย บ้านของฝ่ายหญิง ส่วนตำนานบ้านสุขุมวิทหลังนี้ หงา คาราวาน ไปๆ มาๆ เพราะติดเดินสายเล่นดนตรีกับวงคาราวาน

บ้านที่ผมไปเช่าอยู่เป็นหลังสุดท้ายก่อนเข้าป่า เป็นบ้านเช่าแถวพระโขนง ถึงวันนี้ความทรงจำเรื่องซอยเลือนรางนัก จำไม่ได้ว่าเป็นซอยที่เท่าไร เป็นบ้านไม้สองชั้นที่ทำให้ผมนึกสงสัยว่า ใครเป็นเจ้าของบ้าน เพราะชั้นล่างมีหนึ่งห้องที่มีชั้นหนังสือมากมายคล้ายกับเจ้าของบ้านต้องเป็นคนรักหนังสือ แต่ก็แค่สงสัยไม่ได้คิดจะสอบถามเอาจากใคร กระทั่งเมื่อออกมาแล้วมีคนบอกว่าเป็นบ้านของศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ความข้อนี้ไม่ชัดเจนนักเพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นหลังเดียวกันจริงหรือไม่ คำว่าผมเช่าอยู่ก็หมายความว่า

ผมเป็นคนจ่ายค่าเช่าบ้านเอง ส่วนเพื่อนๆ ที่มาอยู่ด้วยเป็นผู้อาศัยอยู่ฟรี บ้านหลังนี้มีประจักษ์พยานที่ยังมีลมหายใจอยู่หลายคน กลุ่มหนึ่งก็คือ คาราวานทั้งวง (หงา แดง อืด หว่อง) สุรชัย จันทิมาธร วีระศักดิ์ สุนทรศรี มงคล อุทก ทองกราน ทานา ภรรยาคุณสุรชัยที่ชื่อ “จิ” ผู้ติดตามวงคาราวานชื่อ “เซกิ” กลุ่มที่สอง น้องชายผมผู้ล่วงลับไปแล้วในเขตป่าเขา สุพจน์ คัญทัพ พร้อมกลุ่มเพื่อนสนิทเขาหลายคน เช่น อ๊วง-พงษ์ศักดิ์ ไพรอังกูร เป็นต้น บ้านหลังนี้จึงมีผู้คนเข้าออกไม่ขาดสาย และมีเสียงซ้อมดนตรีของคาราวานดังรอดออกไปตามถนนหนทางในบางครั้ง บางค่ำคืนเคยมีเด็กๆ ผู้สนใจดนตรีละแวกนั้นสองสามคนขอเข้ามาฟังมาดูคาราวานซ้อม มาพูดมาคุยกับพวกพี่ๆ คาราวาน เด็กๆ ที่ว่านั้นในเวลาต่อมาเมื่อคาราวานยกวงเข้าป่า พวกเขาก็ตั้งวงดนตรีชื่อ “แฮมเมอร์” ขึ้นมา ร้องเพลงโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไป

บ้านหลังนี้เป็นบ้านเช่าหลังสุดท้าย การถล่มทำลายของกลุ่มผู้นำอำนาจเผด็จการเก่ากระทำต่อพวกเรารุนแรงขึ้นทุกขณะ มีการลอบฆ่าลอบสังหารพวกเราเป็นระยะๆ อย่างไม่สามารถควานหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ที่สำคัญกระทำอย่างโจ่งแจ้งกลางสถานที่สาธารณะ เช่น ลอบยิ่งผู้นำนักศึกษารามคำแหง แสง รุ่งนิรันดรกุล ตรงป้ายรถเมล์ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง กลางวันแสกๆ ยิงนักการเมืองพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศ อ.บุญสนอง บุนโยทยาน ตายคารถส่วนตัวขณะเดินทางกลับบ้านย่าน ถ.วิภาวดีรังสิต ใกล้ๆ โรงแรมอพอลโล และอีกมากมายหลายกรณี

ผมเองก็ถูกข่มขู่โดยการขับรถเฉี่ยวจะชนในซอยเปลี่ยวระหว่างทางเดินเข้าบ้านยามวิกาล สถานีวิทยุรุมโหมโจมตีด่าทอขบวนการประชาชนสารพัดข้อหา ที่สำคัญคือการป้ายสีว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ที่เป็นเครื่องมือของเผด็จการหลายฉบับประโคมข่าวสาดโคลนนักศึกษาเรียงตัวแบบถล่มให้ยับ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้แสดงสัญญาณอันตรายแห่งรัฐประหารซึ่งต้องปราบปรามรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อถึงเป็นถึงตาย บางคนที่เป็นเป้าทำลายล้างจำเป็นต้องหลบหนีเข้าป่าไปก่อน เพราะอยู่ต่อไปไม่รอดแน่ ดังที่เรียกว่า หนีตาย ไม่ใช่หนีเพราะกลัวตายแต่หนีไปหาหนทางต่อสู้ที่ดีกว่า

ผมเข้าป่าวันที่ 7 สิงหาคม 2519 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคมจะเกิดขึ้น
สุรชัยเข้าป่าทีหลังผม เขาเข้าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เข้าไปก็อยู่กันคนละทิศละทาง ไม่มีโอกาสได้พบกันในป่าเขา ช่วงท้ายๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรง ผมเขียนกลอนเปล่า “คนภูเขา” ให้หงา คาราวานไปใส่ทำนอง เขียนขณะนั่งรถบัสผ่านเทือกเขาภูพานในค่ำคืนที่เห็นดาวเต็มฟ้า ดวงจิตระลึกถึง “ผู้ที่อยู่ป่าเป็นแนวหน้ากลางป่าเขา คือดาวที่วาวเงาอันทอดดวงเอื้อปวงชน” หงาเล่าว่า

เขานำเพลงนี้ใส่กล่องกีต้าร์เก็บไว้หลายวัน กว่าจะร้องออกมาเป็นทำนองไพเราะหวานผิดแผกจากเพลงเพื่อชีวิตแนวดุดันทั่วไป เพลงนี้ได้รับการปฏิเสธจากสมาชิกคนอื่นแห่งวงคาราวานในเบื้องต้น หงามักจะเล่นเพลงนี้คนเดียวโดยคนอื่นไม่เล่นด้วย โดยเฉพาะ วีระศักดิ์ สุนทรศรี นั้นถึงกับต่อต้านว่าเป็นเพลงของพวกชนชั้นปัญญาชนนายทุนน้อย ต่อมาทุกครั้งที่หงาร้องเสียงปรบมือจะดังกึกก้อง ตอบรับว่าชื่นชอบ ไม่นานนักเสียงเมาท์ออร์แกนของหว่อง-มงคล อุทก จึงค่อยๆ ดังขึ้นคลอบทเพลงให้มีสีสัน ก่อนจะกลายเป็นที่ยอมรับของวงในที่สุด

ยังมีอีกเพลงหนึ่ง เป็นเพลงท้ายสุดก่อนเข้าป่า ผมเขียนทั้งคำร้องและทำนองคือเพลง “น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว” เวลานั้นการต่อสู้ดุเดือดแหลมคมสุดๆ ความตายของฝ่ายเราเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ผู้นำนักศึกษาประชาชนทุกคนต้องพกปืนไว้ป้องกันตัว มีการดักฟังโทรศัพท์ สะกดรอย ติดตาม และมีการลอบยิงกันในเมืองจริงๆ พลาดหรือประมาทมิได้เป็นอันขาด เป็นยุคของ


" คนดีถูกฆ่ากลางถนน

คนชั่วขึ้นนั่งบัลลังก์บน ฟ้าฝนจึงไม่ตกมา "


น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว ชวนหนุ่มสาวมาเดินทางไกล
หนทางนั้นอาจยืดเยื้อ ยาวนานก็ไม่เป็นไร
อนาคตอันแสนสดใส สุดท้ายชัยเราจึงได้มา

เป็นการชวนเข้าป่าไปสู้กับเผด็จการตรงๆ นั่นเอง เพลงนี้เป็นเพลงช่วงท้ายของคาราวานก่อนเข้าป่า

ผมออกจากป่าก่อนหงา คาราวาน เช่าแฟลตดินแดงอยู่ สมาชิกคาราวานที่ออกจากป่าตามหลังมาสองคนมาอาศัยอยู่ด้วยคือหว่อง-มงคล อุทก และแดง-วีระศักดิ์ สุนทรศรี บ้านก็เหมือนรัง รังของนกตัวที่บินมาสร้างก่อนไว้เป็นหลักเพื่อให้นกที่ติดตามมาพอได้พิงพักเอาแรงอยู่ระยะหนึ่ง

ต่อเมื่อเพื่อนมีที่ไปก็ค่อยขยับขยายย้ายจากกันไป พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นอีกคนที่ได้มาพักอยู่กับผมในช่วงออกจากป่ามาใหม่ๆ เหมือนกัน เพียงแต่พงษ์เทพ ไม่เคยลืมละครฉากนี้และมักพูดถึงต่อสาธารณชนบ่อยๆ ว่าเขาเคยได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากผม ส่วนหงา คาราวาน ออกจากป่าเป็นคนล่าสุด ออกมาผมก็เริ่มงานชิ้นแรกกับเขาด้วยการทำอัลบั้มชุด “แลนด์ออฟสไมล์” กับบริษัทชัวร์ออดิโอ

ผมเขียนทุกเพลงและโปรดิวซ์งานชุดนี้ มีเพลงที่โดดเด่นคือเพลง
“กำลังใจ” ...โบกมือลา เสียงเพลงครวญมาต้องลาแล้วเพื่อน... อันเป็นเพลง “กำลังใจ” แรกของวงการ เพลงชุดนี้ออกมาก่อนที่จะมี
“เมดอินไทยแลนด์” ของคาราบาว

ตำนานเขามีไว้ขับขานให้ลูกหลานจดจารจดจำกันต่อไป
มีเวลาแล้วจะมาเล่าใหม่ ฉบับนี้ จบไว้ เท่านี้ก่อนเอย.


วิสา คัญทัพ


ที่มา : "ประชาทรรศน์" รายสัปดาห์
บทความนี้แบ่งออกเป็นสองตอนดังนี้ :

ประชาทรรศน์ : สุรชัย จันทิมาธร 60 ปียินดีด้วย (ตอนที่ 1 ) : 23 พ.ค. 2008

ประชาทรรศน์ : สุรชัย จันทิมาธร 60 ปียินดีด้วย (จบ) : 30 พ.ค. 2008

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: