วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระนารายณ์อวตาร


ในตำนานทางคติพราหมณ์ฮินดู พระนารายณ์เป็นเทพเจ้าผู้อวตารลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่มนุษย์ทั้งมวล เช่น รามาวตาร (อวตารเป็นพระราม) พุทธาวตาร (อวตารเป็นพระพุทธเจ้า) ฯลฯ

โดยพระนารายณ์นั้นมีพญาครุฑเป็นสัตว์พาหนะ ตามตำนานของฮินดูได้กล่าวถึงการสู้รบกันของพญาครุฑกับพระนารายณ์เอาไว้ว่าผลการรบครั้งนั้นทำให้ครุฑต้องยอมเป็นพาหนะของพระนารายณ์ โดยที่ครุฑได้ตั้งเงื่อนไขสำคัญไว้ว่า “ตนจะยอมเป็นพาหนะทรงของพระนารายณ์ แต่ตนต้องอยู่เหนือศีรษะของพระนารายณ์เสมอ” พระนารายณ์จึงต้องงัดไม้เด็ดมาแก้ลำโดยการทำธงรูปครุฑแล้วชักชึ้นเหนือศีรษะของพระองค์เวลาเสด็จไปไหนมาไหน โดยที่พระองค์ยังคง “ทรงครุฑ” อยู่อย่างสบายอุรา

เมื่อไทยเรารับเอาคตินี้เข้ามาด้วย คือ การยกให้พระมหากษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารนั้น จึงทำให้เราต้องมี “สัตว์พาหนะ” ควบคู่กันไปด้วย นั่นก็คือมีการทำธงตราครุฑ หรือการแกะสลักไม้เป็นตราครุฑพ่าห์ บางครั้งก็แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณไว้ ณ หน้าบันของพระอุโบสถวัดต่าง ๆ โดยตราครุฑพ่าห์ที่แกะสลักด้วยไม้เป็นตราแสดงสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์นอกเหนือจากตราพระราชลัญจกร ซึ่งเป็นตราส่วนพระองค์ โดยได้พัฒนาลวดลายในการแกะสลักมาโดยตลอด จนได้รูปแบบที่แน่นอนในปัจจุบัน เมื่อไม่กี่รัชกาลมานี้เอง

ปัจจุบันนี้ตราครุฑจึงถือเป็นตราแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ชั้นสูงจะเสด็จไปไหน รถพระที่นั่งก็จะต้องมี “ธงครุฑพ่าห์” เสมอ ในหนังสือราชการเองก็ใช้ “ตราครุฑพ่าห์” เพื่อแสดงให้เป็นถึงความเป็นเอกสารใน “พระราชกิจ” นั่นเอง

นอกเหนือไปจากการสร้างตราสัญลักษณ์แทนสัตว์พาหนะของพระนารายณ์ หรือพระมหากษัตริย์ของไทยเราแล้ว การตั้งชื่อเมืองหลวงก็สามารถเป็นเงาสะท้อน “การอุบัติสมมติ” ของพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นพระนารายณ์อวตารได้เป็นอย่างดี คือ การที่เราตั้งชื่อเมืองหลวงว่า “กรุงศรีอยุธยา” ก็ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลมาจากชื่อ “กรุงอโยธยา” อันเป็นเมืองของพระรามนั่นเอง หรือภาพวาดเรื่อง “รามเกียรติ์” ที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ซุ้มประตูเมืองของพระรามยังได้เขียนชื่อเมืองเป็น “กรุงศรีอยุธยา” หรือ “อยุธยา” ตรง ๆ อีกด้วย เช่น ห้องที่ ๑๗๘ เป็นต้น นั่นก็อาจหมายถึง ไม่ว่าจะเป็น “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หรือ “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ก็ยังคงเป็นที่สถิตแห่งองค์นารายณ์อวตาร อันอุบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของไทยอยู่ดี

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจึงอาจสรุปได้ว่าชาติไทยได้นำเอาคติพราหมณ์ที่เชื่อเรื่องความยิ่งใหญ่ของพระนารายณ์ อันสามารถอวตารลงมาปราบยุคเข็ญในยุคต่าง ๆ ได้ มาเปรียบเทียบให้เป็นพระมหากษัตริย์ของไทย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนว่า “พระมหากษัตริย์ไทย คือ ผู้มีบุญญาธิการบารมีมากล้น และได้จุติลงมาเพื่อปราบยุคเข็ญให้แก่ชาวสยามทั้งมวล” ซึ่งความเชื่อนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับของชาวสยามทั้งมวล เพราะพระมหากษัตริย์สยามนั้นช่วยปราบยุคเข็ญได้อย่างแท้จริง


ผู้แต่ง : ฌานิศ วงศ์สุวรรณ


*สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย


ที่มา : dek-d.com : <> : กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระนารายณ์อวตาร

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ เพื่อการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ให้ลึกซึ่งถึงความต้องการในความรู้ที่ถูกต้อง และปราศจากการถูกครอบงำ ให้เชื่อในเรื่องราวต่างๆอย่าง...บ้าคลั่ง

ไม่มีความคิดเห็น: