เราทุกคนคงเคยได้ยินและรู้จัก “พระพุทธเจ้าหลวง” เป็นอย่างดี แต่เรามักคุ้นเคยในความหมายของ “รัชกาลที่ ๕ แห่งบรมราชจักรีวงศ์” เท่านั้น แต่หากเราย้อนกลับไปดูในพระราชพงศาวดารแล้ว เราจะพบว่าในพงศาวดารหรือจดหมายเหตุของไทยนั้น มักเรียกองค์รัชทายาทว่า
“หน่อพุทธางกูร” หรือ “สมเด็จหน่อพุทธางกูร” หากเรามองคำนี้ในแง่ของวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา เราจะตีความว่าหมายถึงพระโพธิสัตว์ หากแต่ในทางพงศาวดารนี้คำว่าหน่อพุทธางกูรไม่ได้แค่หมายถึงพระมหากษัตริย์ หากแต่หมายถึง “หน่อเนื้อเชื้อสายของพระพุทธเจ้า” โดยยกเอาพระมหากษัตริย์นั้นเอง ที่มีฐานะเป็น “พระพุทธเจ้า” อีกนัยหนึ่งด้วย โดย “หน่อ” นั้นก็หมายถึง “องค์รัชทายาท” นั่นเอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้นเอง ที่ได้รับการขนานพระนามว่า “สมเด็จหน่อพุทธางกูร” นอกนั้นแล้วก็หมายถึงองค์รัชทายาทเสียส่วนใหญ่
สิ่งที่น่าสนใจและสะท้อนความเชื่อนี้ได้ชัดเจนที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ราชวรมหาวิหาร
เมื่อเราเหยียบเท้าก้าวข้ามธรณีประตูพระอุโบสถวัดพระแก้วเข้าไปแล้ว ขอให้กราบนมัสการพระแก้วมรกตอย่างเคารพ แล้วลองหันหลังกลับไปทิศเดียวกับประตูที่เดินเข้ามา แล้วแหงนหน้าไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นอยู่ตรงหน้า… ภาพ “พระพุทธเจ้าผจญมาร”
พระพุทธเจ้านั้นสถิตอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ มีพระแม่ธรณีอยู่เบื้องล่างกำลังบีบน้ำออกจากมวยผมจนท่วมเหล่ามารพญามารทั้งหลายให้แตกพ่ายกระเจิงไป จนไม่สามารถขัดขวางการบำเพ็ญเพื่อบรรลุปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ลองสังเกตภาพเหล่ามารานุมาร และพญามารทั้งหลายให้ดี สังเกตที่การแต่งกาย…
เราจะเห็นว่าเหล่ามารทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่แต่งกายเป็น “วิเทศชาติ” ที่ติดต่อค้าขาย หรือกำลังเข้ามา “ยุ่มย่าม” ในดินแดนแถบนี้ทั้งนั้น
การวาดภาพพระพุทธเจ้าผจญมารโดยกำหนดให้ “มาร” ทั้งหลายที่ต้องพ่ายต่อพระบารมีนั้น ก็เปรียบเสมือนการ “ตัดไม้ข่มนาม” นั่นเอง และอีกนัยหนึ่ง เมื่อเหล่ามารทั้งหลายคือชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม (รวมไปถึงที่เคยรุกรานสยามมาแล้วในอดีต) แล้วไซร้ พระพุทธเจ้าที่เปี่ยมด้วยพระบารมีก็ใช่ใครอื่นที่ไหน หากแต่เป็น “พระมหากษัตริย์” ของไทยเรานี้เอง
ทั้งการเรียกองค์รัชทายาทว่า “หน่อสมเด็จพุทธางกูร” ก็ดี
การเรียกล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” ก็ดี
การวาดภาพ “พระพุทธเจ้าผจญมาร” ในพระอุโบสถวัดพระแก้วก็ดี
ล้วนแล้วแต่แสดงคติความเชื่อที่ว่า
“พระมหากษัตริย์ของไทยเสมือนหนึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
ได้ทั้งนั้น
ผู้แต่ง : ฌานิศ วงศ์สุวรรณ
*สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่มา : dek-d.com : <> : กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ เพื่อการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ให้ลึกซึ่งถึงความต้องการในความรู้ที่ถูกต้อง และปราศจากการถูกครอบงำ ให้เชื่อในเรื่องราวต่างๆอย่าง...บ้าคลั่ง
วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
กษัตริย์ไทยในความเชื่อ : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 12:43 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น