วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อุทาหรณ์ของ " คนขี่เสือ "



" เขาได้ขึ้นควบขับความเท็จไป
เสมือนหนึ่งว่ามันคือเสือ

ซึ่งเขาไม่สามารถจะลงมาจากหลังของมันได้
เพราะเสือก็จะตะครุบตัวเขากินเสีย "


รรณกรรมเรื่อง "He Who Rides a Tiger" หรือ "คนขี่เสือ" ของ Bhabani Bhattacharya นั้นเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงอินเดียในยุคที่เกิดความอดอยาก ผู้คนหิวโหยและล้มตายเป็นอันมาก ในภาวะดังกล่าวนายทุนได้กักตุนข้าวสารและสร้างความร่ำรวยท่ามกลางความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ สินค้ามีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนต่างพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

"คนขี่เสือ" เป็นเรื่องราวของตัวละครเอก ๒ ตัว คือ "กาโล"ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นช่างตีเหล็ก และ"จันทรเลขา"ลูกสาวซึ่งอยู่ในชนชั้น"กมาร" (kamar) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวรรณะศูทร สองพ่อลูกได้ต่อสู้กับปัญหาของความอดอยาก วรรณะ และความเชื่อศาสนาอย่างถึงแก่น โดยปลอมแปลงวรรณะของตนเองจากวรรณะศูทรเป็นวรรณะพราหมณ์ และได้สร้างปาฏิหาริย์โดยการเอาหินที่มีขนาดพอเหมาะสำหรับแกะสลักเป็นพระศิวะ โดยทำให้กลวงแล้วเอาไปเผาไฟเพื่อให้ดูเก่า แล้วขุดหลุม

จากนั้นก็เอากระป๋องเปล่าที่มีขนาดและรูปร่างพอดีกันฝังลงไปแล้วเท
"ถั่วจนา" ซึ่งเป็นถั่วชนิดหนึ่งที่งอกเร็วเป็นพิเศษ ใส่ลงไปข้างใน หลังจากนั้นได้เอาหินรูปพระศิวะวางลงบนกองถั่ว เว้นช่องระหว่างหินไว้เพื่อให้ถั่วงอกขึ้นมาโดยเอาดินร่วนใส่ข้างบน เมื่อรดน้ำลงไปถั่วก็งอกพร้อม ๆ กัน ถั่ว ที่งอกก็จะดันดินให้หินรูปจำลองพระศิวะโผล่ขึ้นมาทีละเล็กละน้อย ๆ ผู้คนพากันหลงเชื่อว่าเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ลาภสักการะก็ไหลมาเทมาสู่สองพ่อลูก

แต่สองพ่อลูกก็ต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ระทมจากลาภสักการะที่ได้มาจากความเท็จ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดความจริงที่ปกปิดเอาไว้จะถูกเปิดเผยออกมา จึงเสมือนหนึ่งการขึ้นหลังเสือ จะลงก็ลงไม่ได้ เพราะจะถูกเสือกัด แต่ในที่สุดเขาก็กระทำการเสมือนหนึ่งการ "ฆ่าเสือ" เสียให้ตายก่อนที่ตนเองจะถูกเสือกัด โดยการประกาศต่อหน้าคนที่มากราบไหว้สักการบูชา ที่มีทั้งคนในวรรณะพราหมณ์และคนชั้นสูง ตลอดจนนายทุนที่ขูดรีดเลือดเนื้อคนจนทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วตนเองไม่ใช่ "พราหมณ์" พร้อมทั้งประกาศเยาะเย้ย ต่อพวกที่หลงบูชาหรือเลื่อมใสพิธีกรรมจอมปลอมที่ตนเองได้สร้างขึ้นมา

และจากวรรณกรรมชิ้นนี้เอง คนขี่เสือก็เลยเป็นที่มาของสำนวนที่หมายถึงคนที่อยู่กับความเท็จแล้วลงจากหลังเสือไม่ได้ ลงมาก็จะถูกเสือกัด ขี่ต่อไปก็ทุกข์ทรมาน นอกเสียจากว่า จะฆ่าเสือให้ตายดังเช่น กาโล ในเรื่องคนขี่เสือนี้เสียก่อน

"คนขี่เสือ" นอกจากจะให้ข้อคิดในเรื่องของการก้าวลงจากบัลลังก์แห่งอำนาจกลับสู่สามัญที่เป็นจริงแล้ว ยังให้ข้อคิดที่ว่า สองพ่อลูกนี้แต่เดิมเคยถูกทุบตี กลั่นแกล้ง แต่เมื่อปลอมตัวขึ้นมาหรือว่ามีอำนาจขึ้นมา ก็มีแต่คนมาสยบยอมเพียงเพราะการขยับวรรณะแบบปลอม ๆ


ชำนาญ จันทร์เรือง


หมายเหตุ
บทความเรื่องนี้เป็น ๑ ใน ๓ เรื่องที่ถูกรวมไว้ใน บทความชุด
"ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมหาชน และคนขี่เสือ" ตามที่มา ที่อ้างถึง (เจ้าน้อย..)

ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายมหาชน และคนขี่เสือ


*การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: