เสวนา เรื่อง
สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย
วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551
วิทยากร :
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณัฐพล ใจจริง
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
ดำเนินรายการโดย :
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ : กล่าวนำ
วันที่ 27 มิ.ย. นอกจากเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังเป็นวาระครบ 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ซึ่งเป็นบรมครูของวงการนิติศาสตร์ไทย
‘หยุด’ เคยถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ โดยเวลานั้นเป็นกฎหมายลักษณะอาญา จำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 5000 บาท สาเหตุเพราะเขียนบทความเผยแพร่ในวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ บทความชื่อ อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย เผยแพร่เมื่อวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2499 ข้อความตอนหนึ่งในบทความว่า
“ในเวลานี้ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคน เอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิสามประการ คือสิทธิที่จะได้รับการปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือนไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มักจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิสามประการดังกล่าวนั้น ไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้นอาจเป็นโดยเจตนาดี เพราะเห็นว่าจะเป็นที่เชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและสนองพระราชประสงค์บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนั้น คำแนะนำหรือตักเตือนของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง
ในขณะนี้ปรากฏว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ ในที่ชุมนุมสาธารณะ หรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้น ในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (the king can do no wrong) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์ องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ”
ภายหลังจากการเผยแพร่บทความนี้ต่อสาธารณชน ปรากฏว่า มีเสียงวิพากษ์ตำหนิ ‘หยุด’ อย่างรุนแรง ทั้งจากคอลัมนิสต์ในสื่อมวลชนและนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกล่าวหาว่าเขาได้กระทำล่วงละเมิดดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะข้อเขียนนั้นทำให้เกิดความเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์คือหุ่นเชิดที่รัฐบาลจะเชิดได้เท่านั้น โดยมีการเรียกร้องให้อธิบดีกรมตำรวจ คือ พลเอกเผ่า ศรียานนท์ ดำเนินคดีอาญากับหยุด แสงอุทัยโดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษใดๆ
ลักษณะอาการอย่างนี้ จนถึงวันนี้ก็ยังมีอยู่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ‘หยุด’ กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2499 ว่า
“ถึงแม้ขณะนี้ ผมก็ยังยืนยันว่า ผมไม่ผิด ผมพูดตามหลักวิชาการ และเคยพูดแบบนี้ทางวิทยุกระจายเสียงมาแล้ว 7 ครั้ง เช่น ในวันเฉลิมพระชนมาพรรษา วันฉัตรมงคล มีข้อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เห็นว่ามีเรื่องอะไร แต่คราวนี้กลับเป็นเรื่องราวใหญ่โตไปได้ ก็ประหลาดเหมือนกัน
ผมมันซวยจริงๆ ความจริงบทความเรื่องนี้ของผม ตามรายการกระจายเสียงแล้วจะต้องพูดในวันที่ 21 เดือนนี้ แต่บังเอิญคุณโอภาส ชัยนาม เจ้าหน้าที่ทางสาขาเนติธรรมเหมือนกัน เขาจะพูดทางรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย แต่เขาเขียนไม่ทัน เขาก็เลยเอารายการของผมเข้ามาแทน ถ้าหากผมไปพูดในรายการเดิม คือวันที่ 21 เข้าใจว่าคงจะไม่มีเรื่อง แต่บังเอิญถึงคราวซวยของผม เลยได้จังหวะกันพอดี ส่วนที่ว่าผมกำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้อง ตราบใดที่ผมยังเป็นข้าราชการอยู่ ตราบนั้นผมจะไม่ฟ้องใครในฐานะหมิ่นประมาทเลยเป็นอันขาด เพราะผมถือว่าใครทำดีทำชั่ว คนเขารู้เอง สำหรับเรื่องที่ผมหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น ผมสู้เต็มที่ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่รักในหลวงเหมือนกัน เพราะผมรักพระองค์ท่าน ผมจึงไม่ต้องการให้ใครเอาในหลวงเป็นเครื่องมือ”
หลักวิชาการที่อาจารย์หยุดได้พูดถึงว่าท่านได้พูดถึง 7 ครั้งนั้น ในทางวิชาการเรียกว่า เป็นหลักในทางรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะอันทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิด จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ หรือพูดอีกอย่างคือ ในฐานะประมุขแห่งรัฐ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะกระทำผิดพลาดได้ หรือในภาษาอังกฤษคือหลักการ the king can do no wrong
มีข้อน่าพิจารณาว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญนั้น พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นอย่างไรแน่ในสายตาของรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด และจะมีเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้อำนาจบ้างหรือไม่ ความเกี่ยวพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันอื่นๆ ในทางรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอย่างไร คำถามเหล่านี้ แม้จนถึงวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งมา 74 ปี เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 76 ปี แต่คำถามเหล่านี้ยังคลุมเครือมากในทางวิชาการ
ดังนั้นจะขอยกปรากฏการณ์ทางการเมืองขึ้นมาเป็นข้อสังเกตเพื่อนำมาสู่การพูดคุยกัน ปรากฏการณ์ในวันนี้ซึ่งนักประวัติศาสตร์บอกว่าเกิดตั้งแต่เมื่อ 2490 จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ มีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมืองอยู่เนืองๆ อีกปรากฏการณ์หนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อปลายปี 2547 เป็นต้นมา เราพบการเรียกร้องขอนายกฯ พระราชทาน และการถวายคืนอำนาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการย้อนยุคไปก่อน 2475 เสียอีก
0000
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ในความคิดของผู้ก่อการฯ นั้น พระองค์ต้องอยู่ใต้กฎหมายและทำตามกฎหมาย แต่ในความคิดของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงคุ้นเคยกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระองค์ไม่สามารถจะอยู่ใต้อะไรได้ ฉะนั้น พระองค์ทำได้อย่างมาก เพียงทำตามรัฐธรรมนูญ นี่เป็นปัญหาที่ยังคงอยู่จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนั้น คำว่า พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจึงหายไปและเรียกเป็น “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน””
ปัญหาอย่างหนึ่งในหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ จนถึงฉบับปัจจุบันนั้นสะท้อนปัญหาแหลมคมมากๆ อย่างหนึ่งซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2475 และยังแก้ไม่ตก คือปัญหาการจัดวางบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบบรัฐธรรมนูญ
ขอยกตัวอย่างว่าปัญหาเริ่มต้นเมื่อไร ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือกษัตริย์อย่างไม่มีข้อสงสัย การวินิจฉัยของพระองค์ก็เป็นสิทธิขาด แต่ทันทีที่มีการยึดอำนาจพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารขึ้นมา 3 คน คือ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชฯ นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และได้ทำหนังสือแจ้งต่อเสนาบดีทั้งหลายซึ่งมีถ้อยคำที่สำคัญมากว่า “ถ้าเป็นเรื่องราชการที่เคยนำขึ้นกราบบังคมทูลฯ ให้นำเสนอผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารตรงทุกเรื่อง” หมายความว่าผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารนั้นเป็นผู้รักษาอำนาจนี้แทนกษัตริย์ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป และต่อมาปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นคือ นับจากวันนั้นหลังยึดอำนาจได้ตั้งให้นายนาวาโทหลวงศุภชลาศัย ทำหนังสือไปยื่นให้ ร.7 ที่พระราชวังไกลกังวลเพื่อเชิญให้พระองค์กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ “ใต้” รัฐธรรมนูญ ซึ่งภายหลังพระองค์ได้ทรงยินยอมเป็นพระมหากษัตริย์ “ตาม” รัฐธรรมนูญ ตรงนี้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งในความคิดที่แก้ไม่ตกและยังยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน
ในความคิดของผู้ก่อการฯ นั้น พระองค์ต้องอยู่ใต้กฎหมายและทำตามกฎหมาย แต่ในความคิดของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงคุ้นเคยกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระองค์ไม่สามารถจะอยู่ใต้อะไรได้ ฉะนั้น พระองค์ทำได้อย่างมากเพียงทำตามรัฐธรรมนูญ นี่เป็นปัญหาที่ยังคงอยู่จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนั้น คำว่า พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจึงหายไปและเรียกเป็น “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน”
ความสำคัญประการหนึ่งคือการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับแรก ซึ่งน่าสนใจมากว่าในความคิดของปรีดี พนมยงค์ นั้น รัฐธรรมนูญเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง วันนี้ (27 มิ.ย.) เป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญตัวจริง เพราะเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ซึ่งต่อมาเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งผมมีข้อสังเกตอยู่ 3-4 ข้อ
“จะเห็นได้ตามธรรมนูญฉบับนี้อำนาจพระมหากษัตริย์ได้ถูกจำกัดลงอย่างมาก แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีว่าฉบับนี้เป็นเพียงฉบับชั่วคราว และมีฉบับใหม่ที่เป็นฉบับประนีประนอม ที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างด้วย”
สถานะพระมหากษัตริย์
ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกของไทย
1. ดูคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้สั้นและตรงมาก คือ คณะราษฎรขอร้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อให้บ้านเมืองเจริญขึ้น และยังระบุว่า มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล หมายความว่า กษัตริย์กลายเป็นอำนาจหนึ่งในสี่ที่ใช้อำนาจแทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจสูงกว่าอำนาจอื่นๆ แต่เจตนารมณ์จริงๆ ของคณะราษฎรนั้นต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุด เพราะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ดังนั้น อำนาจของผู้อำนวยการรักษาพระนครฝ่ายทหารสุดท้ายพระยาพหลฯ ได้มอบให้แก่สภาผู้แทนราษฎรและยุบหน่วยงานนั้นไป
อาจารย์ณัฐพลพูดแล้วว่า หมวดสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญนี้มี 5 มาตรา มาตราแรก กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด กฎหมาย คำวินิจฉัยต่างๆ ต้องทำในนามกษัตริย์ แต่มาตรา 4 น่าสนใจ การสืบมรดกของพระปกเกล้านั้นให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ.2467 โดยเพิ่มเติมประโยคเข้ามาด้วยว่า “ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” กษัตริย์ที่จะดำเนินการตามกฎเกณฑ์นี้พระองค์แรกคือ รัชกาลที่ 8 ตอนนั้นเราจะเห็นหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า “สภาล่างเลือกพระองค์เจ้าอนันต์” ต่อมารัชกาลที่9 คือพระองค์ต่อมาที่สภาผู้แทนราษฎรประชุมคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2489 หลังจากรัชกาลที่ 8 สวรรคตแล้ว และได้เลือกพระองค์เจ้าภูมิพลขึ้นเป็นกษัตริย์ ดังนั้น ทั้งสองพระองค์ผ่านกระบวนการที่เลือกโดยสภา แต่เท่าที่ทราบในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ไม่มีแล้ว
มาตรา 5 ก็น่าสนใจว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงมีเหตุจำเป็นชั่วคราว หรือทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรใช้สิทธิแทน หมายความว่าให้คณะรัฐมนตรีสำเร็จราชการแทนได้เลยในกรณีดังที่กล่าวมา มาตราต่อมาบอกว่ากษัตริย์จะถูกฟ้องร้องไม่ได้ เป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย แปลว่า สภาผู้แทนฯ มีอำนาจวินิจฉัยได้ถ้ากษัตริย์ถูกฟ้อง ซึ่งต่อมามีกรณีนายถวัลย์ ฤทธิเดช ได้ยื่นต่อสภาฟ้องรัชกาลที่ 7 ต่อมาก็มีการบอกว่าไม่ได้ฟ้องแล้ว ซึ่งผมจะไม่ลงไปในรายละเอียด รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับเดียวเท่านั้นที่มีมาตรานี้ที่กำหนดให้กษัตริย์ถูกฟ้อง ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้
ต่อมามาตรา 7 การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ ต้องมีคณะกรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งลงนาม โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรทั้งคณะ ถ้าพระมหากษัตริย์ลงนามในราชโองการใดๆ โดยไม่มีการลงนามรับสนองจะถือเป็นโมฆะ นี่น่าจะเป็นเหตุหนึ่งด้วยที่รัชกาลที่ 7 ทรงไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องวีโต้ หมายความว่า ถ้าสภาฯ ผ่านกฎหมายใดๆ ก็ตามแล้วเสนอให้กษัตริย์ลงนามเพื่อประกาศใช้ เมื่อกษัตริย์รับไป 7 วันต้องแสดงเหตุผลถ้ายังไม่ลงพระปรมาภิไธยมายังสภาฯ ถ้าสภาฯ ยืนยันก็ประกาศใช้กฎหมายได้เลย จะเห็นได้ตามธรรมนูญฉบับนี้อำนาจพระมหากษัตริย์ได้ถูกจำกัดลงอย่างมาก แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีว่าฉบับนี้เป็นเพียงฉบับชั่วคราว และมีฉบับใหม่ที่เป็นฉบับประนีประนอมที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างด้วย
รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก
การประนีประนอมของ 2 ขั้วอำนาจ
ผมอ่านคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เหลือเชื่อว่าน่าจะเป็นฉบับเดียวเหมือนกันที่เป็นคำปรารภที่เป็นจารีตมาก บรรทัดที่สองเอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 7 เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านพระนามเต็ม มีทั้งหมด 48 วรรค ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าพระองค์ทรงมีพระนามยาวขนาด 16-17 บรรทัด แล้วในคำปรารภก็ระบุว่าคณะราษฎรได้ทูลขอรัฐธรรมนูญ และพระองค์ก็มีพระราชดำริพระราชทานให้ สรุปว่าก็เป็นคำปรารภที่น่าสนใจมากอีกฉบับหนึ่ง
ตัวเนื้อหาก็มีมาตราต่างๆ น่าสนใจว่าฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ขึ้นมาตรา1 พูดถึงเรื่องรัฐเดี่ยว คือ ราชอาณาจักรสยามเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ราษฎรไม่ว่าอยู่ในสถานะใดได้รับการคุ้มครองที่เสมอหน้ากัน
มาตรา 2 มีการเปลี่ยนคำ อำนาจอธิปไตย ไม่ใช่เป็น “เป็นของ” แต่เปลี่ยนเป็น “มาจาก” ปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจแทนราษฎร
หมวดพระมหากษัตริย์มี 9 มาตรา และมีที่น่าสนใจหลายอัน เช่น มาตรา 3 พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะจะละเมิดไม่ได้ มาตรา 4 เติมเข้ามาว่า พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ มาตรา 5 ก็เป็นการระบุครั้งแรกว่า พระองค์เป็นจอมทัพ มาตรา 10 ก็น่าสนใจว่าเปลี่ยนจากเดิมคือ พระมหากษัตริย์สามารถตั้งบุคคลหนึ่งคนหรือหลายคนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนได้ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 11 ห้ามกษัตริย์ยุ่งกับการเมือง ซึ่งจะไม่ลงในรายละเอียด ที่น่าสนใจคือเรื่องวีโต้ ซึ่งจากเดิมให้เวลากษัตริย์พิจารณากฎหมาย 7 วัน แต่ฉบับนี้ขยายเป็น 1 เดือน จากนั้นเมื่อพระองค์วีโต้กลับมาแล้วสภาฯ พิจารณายืนตามเดิม ต้องถวายให้พระองค์พิจารณาอีก 15 วัน ถึงจะประกาศใช้
“สรุปว่า เราจะเห็นภาพของการเคลื่อน หรือปรับเนื้อหาของหมวดพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เป็นการเคลื่อนไหวของชีวิต เราจะเห็นการดิ้นของบทบาทพระมหากษัตริย์ ในความคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทย ที่หาวิธีที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสอดแทรกเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 เป็นตัวอย่างที่ดี และกลายเป็นต้นแบบของฉบับที่ใช้กันต่อๆ มา”
พลวัตรอำนาจและสถานะของ
สถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ
เมื่อถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 หมวดคำปรารภดูเหมือนจะอ้างเหตุการณ์ปัจจุบันมากขึ้น แต่ว่าหมวดกษัตริย์เหมือนฉบับ 2475 แต่ตัดมาตรา 11 เรื่องห้ามกษัตริย์ยุ่งการเมือง ออก ไม่มีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ฉบับต่อมาฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญ 2590 ฉบับใต้ตุ่ม เล่ากันว่าหลวงกาจ กาจสงครามร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้วซ่อนไว้ใต้โอ่งแดง เมื่อรัฐประหารเสร็จก็ยกมาใช้ ฉบับนี้คำปรารภสั้นลงนิดเดียว บททั่วไปคงเดิม แต่ที่น่าสนใจคือ ในหมวดพระมหากษัตริย์มีการเพิ่มเติมมาตรา 9 ให้อำนาจกษัตริย์แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเพื่อถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดิน5 คน ส่วนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ให้อภิรัฐมนตรีเหล่านี้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้โดยอัตโนมัติในกรณีที่ในหลวงไม่อยู่ สภาฯ ไม่ต้องมาพิจารณาแล้ว มาตรานี้ยังคงอยู่ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 แต่เป็นอภิรัฐมนตรีเป็น องคมนตรี และให้มีทั้งหมด 9 คน
ฉบับ 2492 เป็นฉบับแรกที่ระบุไว้ในบททั่วไปในมาตราที่ 2 เติมเข้ามาว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับนี้เป็นฉบับของฝ่ายนิยมเจ้า มีหมวดพระมหากษัตริย์ยาวถึง 21 มาตรา มีเรื่องที่น่าสนใจเช่น เรื่องจอมทัพไทยมีการเพิ่มเติมว่า พระองค์เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของทหารทั้งปวง หมวดที่ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล 2476 แต่การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลจะกระทำไม่ได้ คือบอกไว้เลยว่าห้ามแก้
ฉบับ 2495 อ้างว่านำฉบับ 2475 มาปรับปรุงแต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะนำหมวดพระมหากษัตริย์ของฉบับ 2492 มาใส่ทั้งหมด และตั้งแต่นี้มันก็กลายเป็นต้นแบบ ซึ่งผมจะจบที่ฉบับ 2511 เพราะหลักการต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับ 2492 หรือ 2495 มากนัก ก่อนถึงรัฐธรรมนูญ 2511 มีคั่นอยู่อันหนึ่งคือ ธรรมนูญชั่วคราวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีเพียง 20 มาตรา และเป็นฉบับแรกที่บัญญัติไว้ว่าอะไรก็ตามที่ไม่ได้บัญญัติไว้ให้เป็นไปตามจารีตประเพณีไทย และเป็นฉบับแรกที่มีมาตรา 17 ให้อำนาจสิทธิขาดแก้นายกรัฐมนตรี
สรุปว่า
เราจะเห็นภาพของการเคลื่อน หรือปรับเนื้อหาของหมวดพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เป็นการเคลื่อนไหวของชีวิต เราจะเห็นการดิ้นของบทบาทพระมหากษัตริย์ในความคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยที่หาวิธีที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสอดแทรกเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 เป็นตัวอย่างที่ดี และกลายเป็นต้นแบบของฉบับที่ใช้กันต่อๆ มา
โดย : ประชาไท
ที่มา : ข่าวประชาไท : เสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’ : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ)
หมายเหตุ
การเน้นข้อความนอกเหนือจากต้นฉบับ
ทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : เสวนา 100 ปีชาตกาล ‘หยุด แสงอุทัย’ : สถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:49 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น