หลังจากครอบครัวพระเจ้าซาร์นิโคลาส โรมานอฟแห่งรัสเซีย ถูกสังหารทั้งหมดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยยาคอฟ ยูรอฟสกี้ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ณ ห้องใต้ดิน บ้านอิปาติเยฟ เมืองเอกาเตรินเบิร์ก เขตไซบีเรีย ที่ดัดแปลงเป็น ที่คุมขังแห่งสุดท้ายและเป็นที่สังหาร การสังหารกระทำกันกลางดึกและโดยรวบรัดก่อนทำลายศพบางส่วนและนำไปฝังทำลายในป่าสน สี่พี่น้องอันเป็นเหมืองร้างห่างจากตัวเมือง ๑๒ ไมล์
โดยพลันที่การสังหารเสร็จสิ้นลง ก็เกิดข่าวลือสารพัด ส่วนใหญ่เป็นข่าวทางบวกว่าพระเจ้าซาร์ ซารีนา พระราชธิดาทั้ง ๔ องค์ และซาเรวิตซ์ (มกฎราชกุมารอเล็กซิส) ยังมีพระชนมชีพอยู่ทั้งหมด เพียงแต่ได้เสด็จหนีออกจากรัสเซียไปแล้ว ประทับอยู่ที่ต่างๆ โดยทรงแปลงสถานภาพเป็นสามัญชน
พระราชธิดาที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือพระราชธิดาองค์เล็ก- แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย ข่าวลือบางข่าวบอกว่าทรงหนีไปบวชชีในชนบทห่างไกลเขตไซบีเรียและสิ้นพระชนม์เรียบร้อยพร้อมพระ พี่นาง แกรนด์ดัชเชสมารี บ้างลือว่าทรงหนีไปทางออสเตรียและ แต่งงานกับสามัญชนในยูโกสลาเวีย กับชายชาวโครเอเทียผู้หนึ่งก่อนจะอนุญาตสามีปลีกตัวไปอยู่อเมริกา
สตรีที่อ้างว่าตนเองคือเจ้าหญิงอนาสตาเซียได้ยาวนานเนียนที่สุดจนตลอดชีวิตของเธอคือแอนนา แอนเดอร์สัน (เคยเล่าเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วในศิลปวัฒน ธรรมฉบับก่อน)
แม้แต่ตัวยูรอฟสกี้เองทั้งๆ ที่เป็นผู้นำวางแผนการสังหารอย่างระมัดระวัง ข่าวลือก็ยังบอกว่าเขามิได้เป็นผู้สังหาร แต่เป็นผู้พาพระเจ้าซาร์และครอบครัวหลบหนีออกจากรัสเซียด้วยซ้ำไป โดยพระองค์ทรงตอบแทนเขาด้วยเงินที่ฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศแบบไม่อั้น!
คงจะมีแรงจูงใจและเหตุปัจจัยหลายประการที่สอดร้อยเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดข่าวลือแปลกๆ ไปต่างๆ ว่าพระเจ้าซาร์และครอบครัวยังมีชีวิตอยู่ ทั้งๆ ที่ถูกปลงพระชนม์ไปเรียบร้อยแล้ว อะไรทำให้เกิดข่าวลือเช่นนั้น ซึ่งน่าสนใจมาก ขออนุญาตยกประเด็นนี้ไปอภิปรายตอนท้ายบทความก็แล้วกัน
ในเบื้องต้น ขอลำดับข่าวลือเป็นเรื่องๆ ไป ดังนี้ครับ
ปี ค.ศ. ๑๙๒๐ (หลังจากการสังหารผ่านไป ๒ ปี) ข่าวลือว่ามีผู้พบพระเจ้าซาร์นิโคลาสในลอนดอน ทรงดำเนินอยู่บนถนนสายหนึ่ง เส้นพระเกศาขาวโพลนทั้งพระเศียร และในเวลาใกล้เคียงกันลือว่าประทับอยู่ในกรุงโรม โดยพระอุปถัมภ์ของพระสันตะปาปา
ก่อนหน้านี้เล็กน้อยลือว่าพระเจ้าซาร์และครอบ ครัวได้เสด็จหนีออกจากรัสเซียโดยเรือครุยเซอร์ แล่น หายไปในทะเลขาว (The White Sea) โดยไม่มีผู้ใดรู้แน่ว่าจุดหมายอยู่ที่ใด บ้างก็ว่าไปประทับอยู่ในชนบทชื่อฟอสแนน ประเทศโปแลนด์
ในช่วงเวลานั้นมีหญิงสาวผู้หนึ่งประกาศตนว่าเป็นเจ้าหญิงอนาสตาเซีย เธอปรากฏตัวในไซบีเรีย และกำลังมุ่งหน้าหนีไปประเทศจีน แต่ถูกจับขังไว้ในเมืองนอบโกร็อด มอสโก และเลนินกราด ก่อนจะถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมืองคาร์ซาน ที่นี่ เธอเขียนจดหมายเป็นภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส ถึงพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ (ผู้มีศักดิ์เป็นพระเจ้าลุง) เธอผู้นี้มีนามจริงว่านาเดซก้า อิวานอฟ วาซิลบีวา เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต มีอาการหลงผิด ประสาทหลอนและเสียชีวิตในโรงพยาบาลในเวลาต่อมา
ในห้วงเวลาใกล้ๆ กันนี้ เอ็ดเวิร์ด แรดซินสกี้ (นักเขียน และนักเขียนบทละคร) เล่าว่า ได้เดินทางลึกเข้าไปในเขตไซบีเรียแถบเทือกเขาอูรัล ไปยังหมู่บ้านที่แสนห่างไกลแห่งหนึ่ง ด้วยมีผู้น่าเชื่อถือเล่าว่า เจ้าหญิงมารีและเจ้าหญิงอนาสตาเซียทรงรอดชีวิตจากการตกเป็นเหยื่อสังหารหลบหนีมาบวชชีที่นั่น เมื่อแรดซินสกี้ไปถึง ได้พบแต่หลุมฝังศพ ๒ หลุมตั้งอยู่เคียงกัน จารึกนามมารี นิโคเลฟนา และอนาสตาเซีย นิโคเลฟนา
วลาดิเมียร์ โซโลวิเยฟ (นักกฎหมายและเจ้าหน้าที่สำนักงานบริการของรัฐในชุมชน) ได้รู้จักนักโทษชายผู้หนึ่ง อ้างตนว่าเป็นซาเรวิตซ์ ก่อนหน้านั้นทำงานเป็นทหารในกองทัพ แต่ต้องโทษหนักเพราะไปขโมยเงินถึง ๑๐๐,๐๐๐ รูเบิ้ล จึงถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เขาอ้างตนว่าเป็นซาเรวิตซ์ จึงถูกส่งไปพิสูจน์ในโรงพยา บาลโรคจิต นักโทษผู้นี้ชื่อจริงว่ากริกอเรวิช เซมีโย นอฟ เป็นผู้รู้เรื่องราวในพระราชวังรัสเซีย กฎระเบียบราชสำนัก และราชพิธีต่างๆ เหนือกว่าผู้ซักถามทั้งหมด เขามีภาพซาเรวิตซ์ภาพหนึ่งประมาณวัย ๑๓ ปี เก็บไว้อย่างดี อ้างว่าเป็นภาพถ่ายของตนเอง เซมีโยนอฟได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเฉียบพลัน (acute psychosis)
อเล็กซานเดอร์ แอพโดนิน (เป็นนักภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สนใจนิทานและวัฒนธรรมพื้นบ้านย่าน ภูเขาอูรัล) เป็นชาวเอกาเตรินเบิร์กโดยกำเนิด และเป็นที่รู้จักของใครๆ เขาเล่าว่าได้รับจดหมายและภาพถ่าย "เด็กๆ" ที่ส่งมาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นพระญาติกับพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ เป็นจำนวนมาก เช่น นี่คือภาพ ซาเรวิตซ์กับพี่สาว...นี่ภาพเจ้าหญิงมารี นิโคเลฟนา... และนี่ภาพลูกสาวของโอลก้า...และนี่เป็นภาพหลานอนาสตาเซียอีกภาพหนึ่ง แอพโดนินได้เก็บภาพและจดหมายเหล่านั้นเป็นอันมาก เก็บอย่างดีและด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ถ้าหากตรวจดีเอ็นเอทุกคนได้ก็คงจะรู้ได้ว่าใครคือใคร แน่นอน
ในอิตาลี สาวใหญ่นางหนึ่งนามว่ามาร์กา บูดทัส อาศัยอยู่คฤหาสน์หรูริมทะเลสาบโคโม เธออ้างว่าเธอคือ แกรนด์ดัชเชสโอลก้า พระราชธิดาองค์โต เธอบอกว่าเธอได้รับเงินเจริญชีพจากพระสันตะปาปาและจากกองมรดกพระเจ้าไกเซอร์
แกรนด์ดัชเชสทาเทียนา พระราชธิดาองค์ที่ ๒ ทรงใช้ชีวิตเงียบๆ ในลอนดอน เธอได้รับการช่วยเหลือออกจากรัสเซียโดยชาวอังกฤษผู้หนึ่ง มุ่งไปทางวลาดีวอสต๊อกก่อนแล้วบินไปแคนาดา จากนั้นจึงข้ามแอต แลนติกมาประเทศอังกฤษ
แต่ข่าวลือของเจ้าหญิงทาเทียนาในกรุงคอน สแตนติโนเปิ้ล ประเทศตุรกี แปลกแตกต่างออกไปมาก เจ้าหญิงทรงดำรงชีวิตเป็นสามัญชน ด้วยการเป็นนักเต้นรำและโสเภณี กับได้แต่งงานกับชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ผู้อุปถัมภ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นลาร์ริสซา ฟิโอโครอฟนา ทูดอร์ และได้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๙
ส่วนเจ้าหญิงมารี ราชธิดาองค์ที่ ๓ ข่าวลือระบุว่า หลบหนีเข้าไปในประเทศโรมาเนีย เธอแต่งงานกับสามัญชน มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อโอลก้า ปีต้า ต่อมาโอลก้าได้แต่งงานกับชาวสเปนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่ออเล็กซิส แอนโจ เดอ บัวร์บอง-คองโต โรมานอฟ ดอลโก้ รูกี้ ผู้ต่อมาประกาศตนเป็นราชวงศ์และประกาศสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ แต่มีผู้ค้านว่าเขาเป็นเจ้าชายปลอม ที่แท้เขาเป็นชาวเบลเยียมชื่ออเล็กซ์ บริเมเยอร์ ถูกฟ้องศาลและถูกจำคุก ๑๘ เดือน หลังจากนั้นก็ไปเสียชีวิตในสเปน
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีข่าวลือว่า ซาเรวิตซ์ อเล็กซิสไปปรากฏตัวที่เมืองอูล์ม เยอรมนี (บ้านเกิดไอน์สไตน์ ซึ่งขณะนั้นอพยพไปอยู่อเมริกาแล้ว) ผู้อ้างสิทธิเป็นนายทหารยศพันเอก เคยทำงานอยู่ในกองทัพอากาศโซเวียต แต่หลบหนีมาอยู่เมืองอูล์ม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเกษตรไม่เคยเปิดเผยมาก่อนว่าตัวตนจริงเป็นใคร จนปีสุดท้ายของชีวิต!
ซาเรวิตซ์อีกรายปรากฏตัวที่เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โดยสตรีผู้หนึ่งนามแซนดร้า โรมานอฟ ออฟ แวนคูเวอร์ เชื่อว่าสามีของเธอ อเล็กไซ แทมเมอร์ โรมานอฟ คือเจ้าชายอเล็กซิสพระองค์นั้น เขาเสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมีย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๗ เธอยินดีที่จะตรวจดีเอ็นเอ เพื่อยืนยันว่าเขาคือโอรสพระเจ้าซาร์ตัวจริง
ข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า เจ้าชายอเล็กซิสมาใช้ชีวิตในแอริโซนา นานกว่า ๓๐ ปี จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๐ โดยไม่มีใครรู้เลยตลอดเวลานั้น ทรงมีอาชีพเป็นนักธุรกิจ น้ำหอม เครื่องเพชร และสุราว้อดก้า ยี่ห้ออเล็กซิส "เจ้าชายทรงมีชีวิตที่หรูหรามาก มีนัดกับดาราสาวๆ หลายคน และแต่งงาน ๕ หน กับเก่งกีฬาโปโลชนิดหาตัวจับยาก" ภรรยาคนสุดท้ายให้ข่าว
เมื่อไม่นานมานี้ บุตรชายของซาเรวิตซ์อเล็กซิส ให้ข่าวว่าเสด็จพ่อของเขาถูกลอบสังหารที่ชิคาโก โดยหน่วยเคจีบีของรัสเซีย ก่อนที่เสด็จพ่อจะพบรองประธานา ธิบดีแดน เควล กับเจมส์ เอเบเกอร์ เดอะ เธิร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศตามที่นัดหมายกันไว้
ช่วงต้นปี ค.ศ. ๑๙๖๐ มีผู้อ้างสิทธิ์เป็นเชื้อพระวงศ์โรมานอฟ ระดับสูง ๒ คนในอเมริกา โดยตีพิมพ์ชวนพบในหนังสือพิมพ์ และมีผู้ไปพบตามคำเชิญชวนนั้น ได้พบบุคคลทั้งสองจริงๆ ผู้อ้างสิทธิ์นั้นคนหนึ่งบอกว่าตนคือเจ้าชายอเล็กซิส และอีกคนเป็นสตรี บอกว่าเป็นเจ้าหญิงอนาสตาเซีย!
กรณีของยูยิเนีย สมิธ และนายพันโทโกลีนิวสกี้
มิสซิสยูยิเนีย สมิธ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่ออนาสตาเซีย : ชีวประวัติเจ้าหญิงแห่งรัสเซีย เป็นที่ฮือฮามาก นิตยสารไลฟ์ ได้ตัดทอนข้อความจากหนังสือของเธอมาประกอบเรื่องและภาพราชวงศ์โรมานอฟ และดูประหนึ่งว่า มิสซิสสมิธผู้นี้แท้จริงคือเจ้าหญิงอนาสตาเซียนั่นเอง ที่หลบรอดปลอดภัยจากการสังหารโหดของ ยูรอฟสกี้มาได้ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๘ ดุจเดียวกับแอนนา แอนเดอร์สัน แต่เรื่องราวของมิสซิสสมิธมีรายละเอียดที่แตกต่าง!
มิสซิสสมิธเล่าว่า เธอได้รับการช่วยเหลือหลบหนีเข้าประเทศโรมาเนีย ใช้เวลานาน ๓ เดือน ได้แต่งงานกับชาวโครเอเทียชื่อสมาริจัน สเมธติสโก เป็นคาทอลิก มีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่ได้ตายไปครั้งยังเป็นทารก เธอจึงขออนุญาตสามีอพยพไปอเมริกาแต่ลำพัง ประมาณปี ค.ศ. ๑๙๒๒ เธอมาอยู่ในดีทรอยส์ มีอาชีพเป็นนาง แบบและตัวแทนขายเครื่องสำอาง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เธอได้สัญชาติอเมริกัน และไปอยู่อาศัยกับมิสซิสเอมิรีผู้นิยมราชวงศ์โรมานอฟอยู่พักหนึ่ง
มิสซิสเอมิรีเคยมีสามีเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของรัสเซียและเพิ่งหย่าร้างกัน เธอแต่งงานใหม่ เป็นนายแบงก์ แต่ก็ยังคบหาสามีเดิมอยู่ในฐานะเพื่อน และอยากได้พบกับญาติผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงด้วยกัน พยายามถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ไร้ผล ด้วยมิสซิสสมิธเธอมีอาการปวดศีรษะรุนแรง (ไซโคโซมาติก) ทุกครั้งไปในวันนัด ไม่อาจพบกันได้
อย่างไรก็ดีนักมานุษยวิทยา นักอ่านลายมือ (กราโฟ โลยิสต์) และทาเทียนา บ๊อตกิ้น (ลูกสาวหมอบ๊อตกิ้น แพทย์ประจำพระองค์ ผู้เสียชีวิตในการสังหารโหด ร่วมไปกับพระเจ้าซาร์) ตลอดจนเจ้าหญิงนินา ผู้เคยเป็นพระสหายกับเจ้าหญิงอนาสตาเซีย ต่างยืนยันว่า มิสซิสสมิธคืออนาสตาเซียปลอม! แต่หนังสือของเธอก็ขายดี พอที่จะทำให้ย้ายมาอยู่นิวยอร์กได้
ที่นิวยอร์กนี่เอง วันหนึ่งมีบุรุษคนสำคัญมาปรากฏตัวเยี่ยมเยือน เขาคือนายพันโทไมเคิล โกลีนิวสกี้ ที่ติดตามหาเธอ โดยติดต่อขอที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์จากสำนักพิมพ์นิตยสารไลฟ์
โกลีนิวสกี้ผู้นี้เป็นผู้อ้างตนเองว่าคือซาเรวิตซ่า อเล็กซิส ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันพบปะของพี่สาว-น้องชายที่แสนอบอุ่น หลังจากพลัดพรากกันมานาน (?)
โกลีนิวสกี้เล่าชีวิตย่อของเขาให้เธอฟังว่า เขาทำงานหน่วยราชการลับในโปแลนด์ ได้ขอให้ซีไอเอช่วยตามหาพี่สาวซึ่งอพยพมาอเมริกาด้วย "พี่มารีอยู่ในวอร์ ซอ...แม่ตายแล้วตั้งแต่ไปอยู่โปแลนด์ใหม่ๆ พ่อตายเมื่อปี ๑๙๕๒ ฉันทำพิธีฝังศพพ่อด้วยมือฉันเอง พ่อเป็นรัสเซียนที่ยอดเยี่ยมมาก..." โกลีนิวสกี้เล่าถึงตรงนี้ก็หยุดลง ส่วนมิสซิสสมิธถึงกับระเบิดอารมณ์ พลางร้องว่า "เขารู้ เขารู้ เขาเป็นน้องชายของฉัน โอ...อเล็กซิส น้องรักของฉัน น้องรักของฉัน"
ทั้งคู่ได้พบกันมากกว่า ๓ ครั้งในหลายสัปดาห์ถัดมา พบกันเธอก็พร่ำพูดว่า "น้องรักอเล็กซิส" เรื่องราวส่วนนี้ขัดแย้งกันกับเรื่องที่เธอเขียนไว้ในหนังสือว่าเธอเพียงผู้เดียวที่มีชีวิตรอดจากการสังหารโหดที่เอกาเตรินเบิร์ก และเธอก็ไม่ต้องการแก้ไขตรงนี้แต่อย่างใด บางทีตรงนี้จะเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ พี่สาว-น้องชายเสื่อม ทรามลง-จนทั้งคู่ไม่ได้พบกันอีกเลย!
โกลีนิวสกี้ ผู้มีพื้นการศึกษาดี เขาจบวิชากฎ หมายและวิชารัฐศาสตร์ในชั้นปริญญามหาบัณฑิต ได้เข้าทำงานในกองทัพโปแลนด์ ในหน่วยสืบราชการลับและเจริญในหน้าที่การงานโดยลำดับ เขาเป็นผู้เปิดเผยว่า พระเจ้าซาร์และครอบครัวมิได้ถูกสังหารโหดดังที่โลกรู้ ยูรอฟสกี้เป็นคนพาพระเจ้าซาร์และครอบครัวทั้งหมดหนีมาโปแลนด์โดยให้รางวัลยูรอฟสกี้เต็มที่
ตามความเชื่อของเขา เชื่อว่าพระเจ้าซาร์มีเงินตราฝากไว้ในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น เชสเตอร์แบงก์ นิวยอร์ก ในอเมริกา แบงก์ ออฟ ลอนดอน ในอังกฤษ ลอยด์ แบงก์ และแบงก์ ออฟ ฟรานซ์ ในฝรั่งเศส กับรอทส์ ไชลด์ แบงก์ ในเบอร์ลิน เป็นต้น เฉพาะธนาคารในอเมริกาก็มีเงินฝากมากกว่า ๔๐๐ ล้านดอลลาร์แล้ว พระเจ้าซาร์จัดการโยกย้ายเงินฝากตั้งแต่รัสเซียแพ้สงครามญี่ปุ่นนั่นเลย
โกลีนิวสกี้เป็นชาวโปแลนด์ เกิดหลังจากซาเร วิตซ์ตั้ง ๑๘ ปี ตรงนี้ทำให้เขาบอกใครๆ ไม่ถนัดว่าเขาคือซาเรวิตซ์ กระนั้นก็ดี วันหนึ่งเมื่อเขาอายุ ๔๒ ปี และได้ลูกคนแรก เขากรอกรายการในใบสูติบัตรบุตรของเขา ตรงชื่อพ่อของเด็กว่าซาเรวิตซ์ นิโกเลวิช โรมา นอฟ เต็มยศเลยทีเดียว หลวงพ่อประจำโบสถ์ถึงกับตะลึง!
หลังจากประกาศตัวเต็มๆ ครั้งนั้นแล้ว เขาก็มีอาการทางจิตชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ทรุดเสื่อมลง แต่ก็วางตนดุจซาเรวิตซ์ไว้เสมอจนเสียชีวิตในที่สุด
แต่ละบุคคลที่กล่าวมามีเหตุผลในการกล่าวอ้างความเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย และมีความรู้สึกต่อพระราชวงศ์ที่แตกต่างกัน ดังได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจหลายอย่างซึ่งน่าจะพอจำแนกได้ดังนี้
๑. เพราะรู้สึกมีฐานะภาคภูมิ มีศักดิ์ศรีที่ได้กล่าวอ้างเช่นนี้ เช่น กรณีหญิงสาวชื่อนาเดซก้า อ้างเป็นเจ้าหญิงอนาสตาเซีย ได้เขียนจดหมายเป็นภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสส่งถึงพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ซึ่งเป็นพระเจ้าลุง รู้สึกว่ามีบารมีคุ้ม หรือกรณีเซมีโยนอฟต้องโทษเพราะขโมยเงินแสนกองทัพ เมื่ออ้างเป็นซาเรวิตซ์โทษหนัก ที่มีก็คลี่คลาย หรือสตรีนามมาร์กา บูดทัส ผู้ประกาศว่าเธอคือเจ้าหญิงโอลก้า ราชธิดาองค์ใหญ่ มีพระสันตะปาปาและเงินกองทุนพระเจ้าไกเซอร์อุปถัมภ์ ดูภูมิฐานมาก เป็นต้น สำหรับในข้อนี้อ้างว่าเป็นเพราะอยากดังก็คงได้
๒. หวังมีสิทธิส่วนในราชทรัพย์ หรือได้รับส่วนแบ่งมรดก โดยเฉพาะจากเงินในธนาคารในต่างประเทศของพระเจ้าซาร์ที่ฝากไว้ในอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ดังที่ไมเคิล โกลีนิวสกี้ ระบุ
๓. เพื่อประคับประคองจิตใจที่ย่ำแย่ของตนเพราะเจ็บป่วยทางจิต ทั้งในระดับเฉียบพลันและเรื้อรัง
๔. เพราะด้วยความปรารถนา (wish) ให้ราชวงศ์ยังอยู่ ดังกรณีจดหมายและรูปถ่ายต่างๆ ของคนที่จัดส่งให้อเล็กซานเดอร์ แอพโดนิน หรือผู้บอกเล่าแก่แรดซินสกี้ว่าเจ้าหญิงมารีและอนาสตาเซียยังมีชีวิตอยู่ แต่แอบซ่อนแฝงตัวในชนบทที่ห่างไกล ย่านภูเขาอูรัล หรือเจ้าหญิงทาเทียนาได้รับการช่วยเหลือจากชาวอังกฤษไปมีชีวิตอยู่เงียบๆ ในลอนดอน
๕. เพราะรัฐบาลเลนินเองให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนกำกวมในชั้นแรก บอกว่าประหารชีวิตพระเจ้าซาร์องค์เดียว แต่ถัดมาอีกค่อนข้างนาน จึงประกาศว่าประหารชีวิตทั้งหมด ในห้วงเวลานั้น ประชาชนที่ยังจงรักภักดีจินตนาการว่าที่เหลือต้องหลบหนีรอดได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ให้เครดิตเจ้าหญิงอนาสตาเซียที่ทรงทอมๆ และแข็งกว่าพระพี่นางองค์อื่นๆ
๖. เพราะฝ่ายรัฐบาลเดิมที่รู้กันว่าเป็นรัสเซียขาว นำโดยนายพลเรืออเล็กซานเดอร์ วาลิเลวิช โคลซัค ซึ่งขณะนั้นรวมกำลังค่อนข้างเป็นปึกแผ่นในไซบีเรียรอบๆ เมืองเอกาเตรินเบิร์ก และยึดเมืองนี้ได้ในอีก ๘ วันถัดมาหลังจากที่การสังหารโหดผ่านไปแล้ว กองทัพรัสเซียขาวมีส่วนกระตุ้นให้ยูรอฟสกี้เร่งลงมือสังหารด้วยกลัวจะถูกกองทัพนั้นชิงตัวพระเจ้าซาร์ไป ขณะเดียวกันกอง ทัพขาวก็ช่วยเสริมฝันประชาชนว่าทรงหนีพ้นภัยได้
ล่าสุดยังคงมีผู้อ้างสิทธิ์ในราชวงศ์ หรือแสร้งทำเป็นเจ้าอีก ๒ ราย คือผู้ใช้ชื่อว่า แกรนด์ดุ๊ก วลาดิเมียร์ (๑๙๓๘-๙๒) กับภรรยา แกรนด์ดัชเชส ลีโอนิดา ทั้งคู่อยู่ในนครมาดริด สเปน ส่วนอีกรายคือ แกรนด์ดัชเชสมาเรียและบุตรชาย แกรนด์ดุ๊ก จอร์จ ทั้ง ๒ ฝ่ายอาจมีแรงจูงใจข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวมาแล้วก็ได้
ส.สีมา
ข้อมูลส่วนใหญ่จาก :
Robert K. Massie. 1995. The Romanovs : The Final Chapter. Random House, New York.
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : ฉบับเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2549 : เรื่องเล่า เจ้าปลอมๆ ในราชวงศ์โรมานอฟ
หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำโดยความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
เรื่องเล่า เจ้าปลอมๆ ในราชวงศ์โรมานอฟ
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 8:01 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ
แสดงความคิดเห็น