วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ตำนานไพร่ธุลีดิน


พิธีการได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้เป็นอันมาก และเป็นความยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ด้วย มนุษย์ในสมัยโบราณ เมื่อมีคนตายลงในครอบครัว ซึ่งโดยมากก็เป็นผู้มีอายุมาก เช่นปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ เมื่อตายแล้วคนที่อยู่ข้างหลังก็เอาศพไปฝัง หน้าตาของคนตายย่อมจะน่าเกลียดน่ากลัว คนที่อยู่ภายหลังย่อมจะกลัวรูปร่างอันนั้นลุกขึ้นมาหลอกหลอน ต้องทำพิธีฝังอย่างมั่นคง เป็นต้นว่าเอาหินมาทับทำพิธีเคารพบูชาขออย่าให้มาปรากฏให้เป็นที่น่ากลัวแก่ลูกหลานอีก “เพียงเท่านั้นซากศพก็มีความยิ่งใหญ่ขึ้นมา” ต่อมาเมื่อเกิดพิธีเคารพบูชาก็กลายมาเป็นขออำนาจศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องกัน หรือให้ลาภผล ช่วยรักษาโรค ช่วยขจัดภัย ซากศพนั้นก็กลายเป็นเทพเจ้าที่เชื่อกันว่าสามารถจะดลบันดาลให้ผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้เคารพบูชา คนก็บูชาเรื่อยมา ชั้นเดิมก็เป็นแต่เพียงบรรพบุรุษบูชากันในครอบครัวหนึ่ง ต่อมาอีก 2-3 ชั่วคน ครอบครัวนั้นขยายใหญ่ขึ้น คนเคารพบูชาก็มีมากขึ้น เทพเจ้านั้นก็ได้เปลี่ยนสถานะจากเทพเจ้าเฉพาะครอบครัวเฉพาะตระกูลเป็นเทพเจ้าของคนทั้งหมู่ แล้วก็เลื่อนฐานะสูงขึ้นมาทุกที กลายเป็นเทพเจ้าประจำตำบล ประจำเมือง ตลอดถึงประจำอณาจักร สิ่งที่เคยเป็นของปฏิกูลเน่าเปื่อยน่าเกลี่ยดน่าชังในตอนต้นก็ได้รับการตกแต่งให้ดีวิเศษขึ้น อาจได้รับการตั้งชื่อใหม่ให้เป็นพวกฟ้าพวกสวรรค์ ซึ่งวิธีการนี้ได้เกิดเหมือนกันขึ้นทุกๆ แห่งหน อียิปต์โบราณ กรีกโบราณ อินเดียโบราณ จีนโบราณ มีวิธีการอย่างเดียวกัน ผู้ปกครองบ้านเมืองแท้จริงกลายเป็นเทพเจ้าที่ไม่มีตัวตน ซึ่งเกิดจากพิธีการที่ทำให้ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ซึ่งเป็นผู้ปกครองอยู่จริงๆ เสียอีก

ต่อมาเมื่อมีเทวาลัยเทวสถาน หรือที่สิงสถิตแห่งเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวข้างต้น ก็ต้องมีคนรักษาสถานที่คอยปัดกวาดทำความสะอาด คอยซ่อมแซมสิ่งซึ่งจะชำรุดหักพัง คนที่มาทำงานในหน้าที่นี้ อาจเป็นพวกไม่มีทางทำมาหากินอย่างอื่น และเข้ามาอาศัยเทวสถานเป็นที่อยู่ อาศัยของกินของผู้ที่นำมาสังเวยเทพเจ้า หรือฉวยโอกาสขอทานในเมื่อมีคนมาสักการบูชาเทพเจ้า คนที่มาสักการบูชานั้น บางทีก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เช่นจุดไฟตรงไหน ทำการกราบไหว้อย่างไรจึงจะได้ผลศักดิ์สิทธิ์จริง เมื่อไม่รู้จึงต้องถามคนเฝ้า คนเฝ้าจะรู้หรือไม่ก็ตามที เมื่อมีคนถาม ก็จะทำตนให้กลายเป็นผู้รู้ขึ้นมาทันที บอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ คนเฝ้าคนปักกวาดคนพเนจรมานอนอาศัย คนขอทานพวกนั้นก็เลื่อนขั้นเลื่อนฐานะขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ กลายเป็นผู้สอนเรื่องวิธีการสักการบูชาเทพเจ้า

พอจับเคล็ดอันนี้ได้ เรื่องก็ไปกันใหญ่ คนเฝ้าเทวาลัยที่เจ้าปัญญาอยู่บ้างก็คิดวิธีสักการะให้วิจิตรพิสดารมากขึ้น เช่นต้องจุดอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องวางที่นั้นที่นี้ ของอย่างนี้บูชาได้ของอย่างนี้บูชาไม่ได้ ยิ่งสร้างพิธีการให้มากเพียงใดก็ยิ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่เทวสถาน เทวาลัย เทพเจ้า และ “ตัวเอง”

พวกนี้คิดวิธีสักการบูชาได้วิจิตรพิสดารมากขึ้นทุกที ซ้ำคิดมนต์คาถาซึ่งคนอื่นไม่รู้ หรือรู้ไม่ได้ ต้องรู้แต่เฉพาะพวกเขา พอมาถึงขั้นนี้ การทำสักการบูชาก็ต้องให้พวกนี้ทำ คนอื่นทำไม่ได้ เป็นอันเลื่อนฐานะขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง คือเป็นบุคคลพวกเดียวที่สามารถจะประกอบพิธีการแล้วก็เลื่อนขึ้นไปทีละขั้น จนกระทั่งเป็นบุคคลที่สามารถจะพูดให้ได้ยินถึงเทพบนสวรรค์ พิธีการซึ่งไม่มีอะไรในขั้นต้นก็มีมากขึ้นทุกที บุคคลพวกนี้ได้กลายเป็นชั้นวรรณะอันหนึ่งซึ่งสูงกว่าคนทั้งหลายทั่วไป อย่างที่เขาเรียกกันว่า “พระ” หรือ “พราหมณ์”

เมื่อแสดงตนว่าเป็นผู้สามารถพูดกับเทพเจ้าบนสวรรค์ได้ ก็ได้รับความยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่ง คือกลายเป็นนักปราชญ์ขึ้นมา ใครไม่รู้อะไรก็ต้องมาถาม เมื่อมีคนมาถามก็ต้องหาทางตอบให้ได้ ถ้าตอบทันทีไม่ได้ก็ต้องหาทางผลัดเพี้ยนให้ได้ปรึกษาหารือกันในพวกของตน เพื่อหาคำตอบให้สมเหตุสมผล วิธีผลัดเพี้ยนก็คือว่า ขอผลัดทำพิธีถามเจ้า เมื่อปรึกษาหารือตกลงกันอย่างไร ก็ต้องจดจำไว้ เพราะการกล่าวเท็จนั้นต้องจำเก่ง พวกนี้มีความจำเป็นต้องเล่าเรียนศึกษา ลูกเต้าที่ออกมาใหม่ต้องได้เล่าเรียน เพราะต่อไปจะต้องเป็นปราชญ์สืบตระกูลแทนคนพวกนี้เลยกลายเป็นต้นตอแห่งการศึกษาหาความรู้ เมื่อให้คำตอบแก่ผู้ต้องการถามไปแล้วก็ต้องจดหรือจำไว้เป็นลัทธิ มีความจำเป็นต้องตอบคำถามมากๆ เข้าความเป็นลัทธิก็มากขึ้น

คนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้านั้น อาจมีหลายประเภท แต่ส่วนมากที่สุดในสมัยโบราณ เป็นผู้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่รู้จะรักษาอย่างไร ก็ต้องมาหาเทพเจ้า และบุคคลผู้เฝ้าเทวสถาน ซึ่งบัดนี้ก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ มีฐานะเป็นพระ เป็นพราหมณ์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องทำพิธีรักษาให้ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยน้ำมนต์ โดยถือว่าเป็นน้ำของเทพเจ้า ถ้าเผอิญรักษาหายเข้า ความศักดิ์สิทธิ์ก็บังเกิดขึ้น ถ้ารักษาไม่หาย ก็ไม่ว่ากระไร เพราะจะลบหลู่เทพเจ้าไม่ได้ นอกจากนั้น พวกพระหรือพรามหมณ์ผู้เฝ้าเทวสถานอาจจะบอกให้เอาใบไม้รากไม้ หรือเปลือกไม้อย่างนั้นอย่างนี้ทำเป็นยารักษาโรค ถ้าเผอิญไปถูกเข้า ก็จดจำไว้ ถ้าผิดก็ตายไป ไม่มีใครว่ากระไร ทำกันมานานๆ ทำสืบต่อกันมาหลายชั่วคน หลายสิบหลายร้อยปี วิชาแพทย์ก็เกิดขึ้นด้วยการทดลองชีวิตคนเป็นจำนวนมากเหลือจะคณนา ผู้รักษาเทวสถานกลายเป็นบุคคลอีกพวกหนึ่ง คือแพทย์

ทุกแห่งทุกหนในหมู่ชนชาติโบราณ ได้มีวิธีการอย่างเดียวกันนี้ ตั้งแต่อียิปต์ในแอฟริกา กรีกในยุโรป อินเดีย และจีนในบูรพาทิศ มีวิธีอย่างเดียวกัน พระของอียิปต์กำความยิ่งใหญ่ คืออำนาจทางบ้านเมืองไว้หมด พระอียิปต์เป็นผู้พูดกับเทพเจ้า เป็นผู้พิพากษาที่จะให้คนตายไปสวรรค์หรือลงนรก เป็นผู้ที่สามารถถามเทพเจ้าว่าปีนี้เทพเจ้าจะให้น้ำในลำแม่น้ำไนล์มากหรือน้อย รายการที่เขาจดกันมาหลายร้อยปีทำให้ได้สถิติแน่นอน ว่าถ้าน้ำขึ้นเท่านี้ในเดือนนี้ จะขึ้นเท่าไรในเดือนหน้า จะสูงสุดเท่าไรในฤดูน้ำ สามารถจะให้คำแนะนำแก่พลเมืองได้ค่อนข้างถูกต้องเป็นส่วนมากว่า จะควรป้องกันน้ำหลากหรือความแห้งแล้วอย่างไร เขาไม่บอกว่าได้จากการคำนวณทางวิชาการ แต่เขาบอกว่าเขาถามเทพเจ้า ทำพิธีถามกันจริงๆ เป็นพิธีใหญ่ พิธีซึ่งทำให้พวกพระอียิปต์มีฐานะยิ่งใหญ่ถึงกับเป็นฑูตของพระเจ้าจากสวรรค์

ฐานะของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในชั้นเดิมก็เกิดจากพ่อ ระบอบการปกครองเรื่องพ่อปกครองลูก ได้ตั้งต้นก่อนอย่างอื่น เริ่มตั้งแต่พ่อในครอบครัว จนกระทั่งถึงพ่อบ้านพ่อเมือง องค์พระมหากษัตริย์ก็คือพ่อที่สูงสุดบังคับบัญชากันภายในวงอำนาจของพ่อ ลดหลั่นกันไป พระมหากษัตริย์ออกคำสั่งไปยังพ่อเมือง พ่อเมืองออกคำสั่งไปยังพ่อบ้าน แล้วก็ควบคุมกันเป็นลำดับไป เป็นวิธีการปกครองที่ดีเลิศ เพราะเป็นระบอบของธรรมชาติและยุติธรรมที่สุด ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองมีความสัมพันธ์กันอย่างครอบครัว มีความรักใคร่สนิทสนมเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ผู้อยู่ใต้ปกครองย่อมเคารพนบนอบอยู่ในโอวาท เพราะเป็นพ่อไม่ใช่คนอื่น

แต่ระบอบการปกครองอันดีเลิศนี้ ไม่สามารถจะดำเนินยั่งยืนได้นาน เพราะถ้ามัวแต่เป็นพ่ออยู่ อำนาจก็ค่อยๆ หมด แทนที่ลูกจะเชื่อพ่อ กลับไปเชื่อ พระอิทธิพลของพระเข้าครอบงำพวกลูกบ้านลูกเมืองจนหมด ทั้งนี้เพราะว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งปกครองอย่างเป็นพ่อนั้น เป็นแต่เพียงมนุษย์ธรรมดา คำของพ่อเป็นคำมนุษย์ ส่วนคำของพระเป็นคำของเทพเจ้า คนเราชอบนับถือสิ่งที่มองไม่เห็นมากกว่าสิ่งที่มองเห็น ถ้าขืนปล่อยไปอย่างนี้ ผู้ที่จะครอบครองบ้านเมืองก็จะไม่ใช่พระมหากษัตริย์ กลายเป็นพระ ในอียิปต์โบราณก็ได้มีตัวอย่างมาแล้ว คือพระประกาศตัวเป็นกษัตริย์ ครองภาคหนึ่งของอียิปต์ เดือดร้อนพระมหากษัตริย์ต้องทำความพยายามแย่งชิงเอาความยิ่งใหญ่มาจากมือพระ ให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด เพื่อให้มีอำนาจครอบครองบ้านเมืองได้ และการจะช่วงชิงความยิ่งใหญ่มาได้นี้ ก็ต้องอาศัยพิธีการเหมือนกัน

อียิปต์ได้เริ่มต้นทำก่อนผู้อื่น คือล่อเอาพระที่มีอิทธิพลมากๆ และที่แตกแยกกับพระสูงสุดในประเทศนั้นมาเข้าพวกพระมหากษัตริย์ พระที่แตกแยกออกมานี้เริ่มสอนคนว่าได้ยินได้ฟังมาจากเทพเจ้าว่า พระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่คนอื่นเป็นลูกของเทพเจ้าสืบสายโดยตรงจากเทพเจ้า โฆษณาชวนเชื่อในทำนองนี้ สามารถจูงใจคนได้ทีละเล็กละน้อย ทำกันไปนานๆ คนทั้งหลายเลยยอมรับว่าพระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เป็นลูกของเทพเจ้า หรือเป็นตัวเทพเจ้าซึ่งจุติลงมาเกิด พระมหากษัตริย์จึงยิ่งใหญ่กว่าพระ เพราะพระเป็นแต่เพียงทูตของเทพเจ้า ส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นลูกของเทพเจ้า หรือเป็นตัวเทพเจ้าองค์หนึ่งเอง ในฐานะที่เป็นลูกหรือเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งย่อมสามารถจะพูดกับเทพเจ้าเบื้องบนได้ดีกว่าพระ ซึ่งเป็นแต่เพียงทูต เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์จึงสามารถจะทำพิธีเส้นสรวงเทพเจ้าวิงวอนร้องขออะไรจากเทพเจ้าได้เอง ไม่ต้องอาศัยพระ

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ฐานะในทางปกครองของพระมหากษัตริย์ จึงได้เปลี่ยจากความเป็นพ่อ มาเป็นเทวราช อันที่จริงก็เกิดจากความจำเป็น เพราะถ้าพระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นมนุษย์สามัญอยู่ ก็สู้พระไม่ได้ จำเป้นที่พระมหากษัตริย์จะต้องเลื่อนฐานะของพระองค์เองขึ้นเป็นเทวดาเสียเอง และเมื่อพระมหากษัตริย์เลื่อนขึ้น ราษฎรก็เลื่อนลง เมื่อพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช ราษฎรก็เป็นสมมติสัตว์ ลดฐานะลงมาเป็นไพร่ทาส ไม่เป็นลูกเหมือนแต่ก่อน ความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงนี้ ไม่ใช่ด้วยอุปกรณ์อย่างอื่นเลย พิธีการเท่านั้นที่สร้างความยิ่งใหญ่อย่างมหาศาล สร้างได้มากเกินความคาดหมาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ คนเฝ้าคนกวาดคนทำความสะอาดในเทวาลัยสถาน กลายเป็นมนุษย์พิเศษ เป็นทูตของเทพเจ้า ผู้ปกครองซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดา กลายเป็นเทวดา แล้วถือกันจริงๆ เสียด้วย


หลวงวิจิตรท่านต้องเผชิญกับกระแสกดดันอะไรบางอย่างจนต้องเขียนกลอนว่า...

อันที่จริงเขาอยากเห็นเราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน


จากบางส่วนในหนังสือ "กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่" ของหลวงวิจิตรวาทการ

โดย : Henry แห่ง ประชาไท

ที่มา : http://www.prachatai.com/webboard/topic.php?id=514055

หมายเหตุ
ผมยอมรับในการเปนผู้รู้และผู้คงแก่เรียนของ หลวงวิจิตรวาทการเพราะว่าท่านเปนทั้งนักคิดและนักเขียนในตลอดช่วงเวลาแห่งการทำงานของท่าน แต่ก็ยังมีในสิ่งที่ท่านตัดสินใจผิดโดยการ..
ช่วยผิดคน และอยู่ผิดข้าง เน้นข้อความโดยผู้จัดเก็บบทความ

‘เสื้อเหลือง’ กับ อนาคตของการศึกษาเรื่อง ‘รัฐ’


30 มีนาคม 2550 ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร มีปาฐกถาพิเศษ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เรื่อง อนาคตของการศึกษาเรื่อง ‘รัฐ’ อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปี ครั้งที่ 6 ‘รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน’ ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2550

การปาฐกถานี้เป็นเวทีวิชาการ กระนั้นเรื่องราวก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตวันๆ ของเราๆ ท่านๆ ที่ชวนให้ได้ทบทวนตัวเอง

วันนั้น ธงชัย วินิจจะกูล ใส่ ‘เสื้อเหลือง’ ขึ้นเวที

นี่ไม่ใช่การแนะนำวิทยากร แต่เป็นการแนะนำงานวิชาการชิ้นนี้ซึ่ง ‘ประชาไท’ ถอดความจากการปาฐกถา โดยพยายามรักษาอรรถรสนั้นไว้ให้ได้มากที่สุด

0 0 0


ผมขอใช้โอกาสนี้นำเสนอประเด็นสำคัญ 2-3 ประเด็น หวังว่าจะเชิญชวนให้เราท่านคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘รัฐกับชีวิตประจำวัน’ ในแง่มุมที่ต่างออกไป และตั้งคำถามกับหลายอย่างรอบตัวเราด้วยจิตใจที่ช่างสงสัยอยู่ตลอดเวลา

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ครูของผม เคยบอกกับผมมาหลายปีแล้วว่า ผมเป็นคนชอบ ‘หาเรื่อง’
ผมตีความเอาเองว่า อาจารย์ชาญวิทย์หมายความว่า ผมชอบมองหาเรื่องที่ต่างออกไปมาเล่า เพื่อเชิญชวนให้เราสงสัย คิดต่างออกไปจากที่เคยเห็นเป็นปกติ

วันนี้ผมยังไม่พร้อมจะเล่าเรื่อง แต่ประเด็นที่จะเสนอต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ผมกำลังคิด กำลังเขียน กำลังพยายามเล่า เผอิญมันเข้ากันพอดีกับหัวข้อเรื่องรัฐในชีวิตประจำวันที่เป็นประเด็นหลักของการจัดการประชุมในครั้งนี้

ปีสองปีที่ผ่านมา ผมมาเมืองไทยแต่ละครั้งเพียงสั้นๆ แต่ว่าผมได้ทำงานบางอย่าง นั่นคือ ผมตระเวนคุยกับ ‘ศัตรูเก่า’ ผมหมายถึง พลพรรคฝ่ายขวาที่เข้ากระทำการเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมตระเวนสัมภาษณ์เขาหลายคน คุยกับเขาหลายคน พวกคุณอาจจะนึกไม่ถึง ผมคุยกับหัวหน้ากระทิงแดงมาหลายคน คุยกับคนที่คุมสถานีวิทยุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์วันนั้น บางคนเป็นตัวการใหญ่ แต่ส่วนมากที่ผมคุยด้วยเป็นพลพรรคเล็กๆ ที่ทำมาหากินปกติ คนที่ขึ้นรถโดยสารประจำทางที่พุ่งเข้าชนประตูรั้วธรรมศาสตร์ก็เป็นคนที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่เคยรู้จัก ผมก็ได้คุยกับเขา

คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม?

เขาเป็นคนธรรมดาทำมาหากิน แต่วันนั้นเขาลงมือปฏิบัติการ

คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม?

เช่นเดียวกับบรรดาลูกเสือชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่ง Katherine Bowie ศึกษาไว้ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นประชาชนเดินถนนทำมาหากินปกติธรรมดา ทว่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม?

เราจะบอกว่าเขาเป็นกลไกรัฐหรือเปล่า หรือเราจะต้องคิดเสียใหม่ว่า รัฐไม่ได้หมายถึงเพียงกลไกรัฐเหล่านั้นเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนธรรมดาด้วยกันนี่แหละ คนชั้นกลางมีการศึกษาจำนวนมากที่คิดว่าตัวเองรู้ดีนี่แหละ ทำตัวเป็นตัวแทน (agent) ของรัฐอยู่ตลอดเวลาด้วยรึไม่

คนเหล่านี้เป็นกลไกรัฐไหม? หรือว่าเราจะต้องคิดกับเรื่องรัฐเสียใหม่

เวลาเราพูดถึงรัฐในชีวิตประจำวัน หมายความว่า เรากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘ประชาชน’ ท่ามกลางการใช้ชีวิตปกติ

ปกติคนเรามีความคาดหวังเกี่ยวกับรัฐที่สวนทางกัน แต่อยู่ควบคู่กันตลอดเวลา ด้านหนึ่ง เราไม่อยากให้รัฐมายุ่งกับชีวิตของเรา ขออยู่ห่างๆ กลัว ไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากวุ่นวาย ขอให้แต่ละวันผ่านไปโดยที่ชีวิตเราไม่มีความจำเป็นต้องเจอตำรวจได้เป็นดีที่สุด

ในเวลาเดียวกัน เราเรียกร้องทุกวี่ทุกวันว่า รัฐน่าจะทำโน่นทำนี่ รัฐน่าจะเข้ามาจัดการจิปาถะในชีวิตของเราเต็มไปหมด ตั้งแต่ตำรวจจราจร การปรับปรุงถนน ซ่อมซอย บริการสาธารณะต่างๆ

เราคุ้นเคยกันดีกับการบ่นเรียกร้องรัฐ รวมทั้งบ่นเรียกร้องให้รัฐควรมาทำหน้าที่ที่รัฐไม่ควรมาเกี่ยวข้อง เอะอะก็โยนบาปให้รัฐอยู่เรื่อย ทั้งที่หลายเรื่องควรเป็นเรื่องที่ประชาชนทำกันเอง เราก็กลับรู้สึก “แหม ทำไมรัฐบาลไม่ทำ” “แหม ทำไมตำรวจไม่จับ” ทั้งที่ในเวลาเดียวกัน เราก็ขอว่าอย่ายุ่งกับตำรวจได้จะเป็นดีที่สุดในแต่ละวัน ขออยู่ไปวันๆ โดยที่ไม่ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับตำรวจ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับโรงกับศาลเป็นดีที่สุด

ตำรวจเป็นตัวแทนของความเป็นรัฐในชีวิตประจำวันที่ดีที่สุด เราจึงไม่อยากเจอตำรวจเลยในแต่ละวัน แต่เราบ่นอยากให้ตำรวจทำโน่นทำนี่บ่อยเกินไป

โรงเรียนก็เช่นกัน การจัดการศึกษาของรัฐเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราแทบทุกวัน ในทางวิชาการ เราบ่นอยู่เรื่อยว่า โรงเรียนมีพลังหล่อหลอม ครอบงำอุดมการณ์สำเร็จเสียจนน่ากลัว เราเชื่อว่าแบบเรียนและระบบการศึกษา ทำให้คนฝังหัวดักดานกับความคิดที่เราไม่ชอบหลายๆ อย่าง เช่น ความคิดชาตินิยมที่คับแคบ แต่ในเวลาเดียวกัน เราบ่นตลอดเวลาว่าโรงเรียนล้มเหลว ไม่เคยสอนให้ลูกเราเป็นคนดีพอ ทำให้เด็กวัยรุ่น เด็กรุ่นปัจจุบันเสียผู้เสียคนหมด

ตกลงโรงเรียนสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ตกลงว่าอยากให้รัฐทำให้ดีกว่านี้ หรืออยากให้โรงเรียนทำให้น้อยกว่านี้
หรือเราจะเอาทั้งสองอย่าง

สวนทางกัน แต่เราเอาทั้งคู่

เรามักคิดว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเป็นรัฐ เพราะว่า ‘รัฐ’ ตามที่เราเข้าใจ หมายถึงกลไกการใช้อำนาจของทางการเพื่อควบคุมบังคับปราบปราม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

ต่อให้เราหลายท่านในที่นี้เป็นข้าราชการในสถาบันการศึกษาของรัฐ ความรู้สึกของเราแต่ละคนก็มักจะเห็นตัวเองเป็นประชาชนเดินถนนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่ใช่กลไกรัฐที่ใช้อำนาจต่อประชาชน

แต่แล้วประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละที่ช่วยกันทำให้อุดมการณ์ โครงการหลายอย่างของรัฐ กลายเป็นมาตรฐานของสังคม โดยที่กลไกรัฐไม่ต้องลงมาควบคุมบงการอย่างใกล้ชิด

เราแทบทุกคน มีส่วนในการวางมาตรฐาน มีส่วนในการที่จะเที่ยวบอกเที่ยวชี้ว่าใครบ้างเป็นผู้ที่ละเมิด แหกออกนอกกรอบความเป็นปกติ จนกระทั่งผู้คนหลายคนไม่กล้าที่จะแหกกรอบ ไม่กล้าที่จะทำอะไร เพราะเกิดความกลัว

กลัวอะไร ก็กลัวประชาชนด้วยกันนี่แหละจนเราต้องทำตาม จนเราต้อง self censor ความกลัวและการ self censor แผ่ขยายไป แผ่ซ่านไปหมดจนเราไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง ปกติที่เราไม่กล้าทำ เพราะมีตำรวจมายืนใกล้ๆ หรือเปล่า.. ส่วนใหญ่ไม่ใช่
แต่ที่เรากลัวคือ ประชาชนรอบๆ ข้างเรา

กลไกรัฐไม่มีทางแผ่ขยายมาควบคุมบงการได้ขนาดนั้น แต่เพราะประชาชนกันเองจำนวนไม่น้อยทำตัวเป็น เอเยนต์ของรัฐนี่เอง การควบคุมบงการของรัฐจึงสามารถแผ่ซ่านได้ขนาดนั้น

ประชาชนเหล่านั้นที่เรากลัวเป็นกลไกรัฐไหม

ประเด็นสำคัญที่จะพูดถึงเกี่ยวกับ ‘รัฐในชีวิตประจำวัน’ ในวันนี้ คือเรื่องนี้ เรื่องที่เราพบปะอยู่ทุกวี่ทุกวัน เป็นปรากฏการณ์ใกล้ชิดเรามากเสียจนถูกมองข้ามเหมือนปลายจมูกของเราเอง

นั่นก็คือ เมื่อรัฐคือตัวเรา ประชาชนอย่างเราทุกท่านทำตัวเป็นกลไกรัฐเสียเอง แล้วไม่เคยมองดูตัวเองว่าเรากำลังกระทำตัวเป็นกลไกรัฐอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัวอย่างไร...ในชีวิตประจำวัน

ขออนุญาตนะครับ...
(ถอดเสื้อสูทที่สวมอยู่ชั้นนอกสุดออก แล้วโยนไปที่พื้นเวทีข้างตัว)
มันร้อนครับ..
(เสียงฮือฮาจากผู้ที่อยู่ในห้องประชุม)
(ถอดเสื้อยืด ‘สีเหลือง’ ที่สวมทับอยู่บนเสื้อเชิ๊ตออกมาเช็ดเหงื่อบนหัว เช็ดไปทั่วใบหน้า แล้วขยำขว้างไปไว้ที่เดียวกับเสื้อสูท)
(เสียงปรบมือ)


ทำไมครับ.. ทำไมต้องตบมือด้วยครับ..

ถ้ามีใครลุกขึ้นมาประท้วงผม ก็เพราะคุณคิดว่า ‘เสื้อเหลือง’ ตัวนี้ หมายถึงเสื้อที่มีความหมายบางอย่าง คนที่ตบมือเมื่อกี๊ เขาก็ชอบใจ เพราะเขาก็คิดว่า ‘เสื้อเหลือง’ ตัวนี้มีความหมายบางอย่าง ที่จริงมันเสื้อโฆษณาโรงเรียนภาษาครับ (ชูเสื้อขึ้นมาโชว์ลายสกรีน)

ใครเป็นคนบอกว่า ‘เสื้อเหลือง’ มีความหมายอย่างหนึ่ง และเห็นร่วมกันจำนวนไม่น้อยจึงได้ตบมือ หรือหลายคนอาจจะกำลังไม่สบายใจ ใครเป็นคนบอกคุณว่า ‘เสื้อตัวนี้’ มีหมายความว่าอย่างไร

มีตำรวจไหมฮะ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมมาระบุไหมครับ ว่าเสื้อตัวนี้ ‘สีเหลือง’ นี้ หมายความว่าอะไร ใครเป็นคนบอกคุณว่า ‘สีเหลือง’ ตัวนี้มีความหมายว่าอย่างนั้นหรืออย่างนี้ จึงเกิดอาการไม่สบายใจ หรือจึงเกิดอาการชอบใจ

พวกคุณเป็นกลไกรัฐหรือเปล่า

ทำไมคุณจึงใช้มาตรฐานใช้ความหมายเดียวกับที่รัฐได้โฆษณาอยู่ในระยะนี้ มาทำให้ไม่สบายใจ หรือมาปรบมือชอบใจ ทั้งๆ ที่เสื้อตัวนี้คือเสื้อโรงเรียนสอนภาษาที่ Madison

นั่นเพราะเราแต่ละคนเป็นคนแบกเอาความหมายบางอย่างไว้กับตัวเราตลอดเวลา ทั้งที่ไม่มีตำรวจ ไม่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมอยู่ข้างๆ คอยบงการให้เราคิดไปในแบบนั้น แต่เราก็คิดไปเรียบร้อยแล้ว

0 0 0


ผมจะขอแบ่งประเด็นสำคัญที่เสนอถัดจากนี้ไปเป็นสามประเด็น เมื่อเราพูดว่า เมื่อประชาชนคือรัฐ เมื่อประชาชนทำตัวเป็นรัฐ เมื่อประชาชนเป็นกลไกรัฐเสียเอง

1. คอนเซ็ปต์หรือแนวคิดทั่วๆ ไปที่เรามีอยู่เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องรัฐ ถือว่ารัฐเป็นองค์กร เป็นสถาบันที่ควบคุมการใช้อาวุธ ใช้อำนาจควบคุม และบงการความเป็นไปในสังคม

2. คอนเซ็ปต์ที่เสนอว่า การใช้อำนาจควบคุมบงการความเป็นไปในสังคม อยู่เลยพ้นจากรัฐแบบที่หนึ่ง แบบที่พูดไปเมื่อสักครู่นี้ แต่อยู่กับเราๆ ท่านๆ นี่แหละ

3. จะพยายามอธิบายสภาวะดังกล่าวในสังคมไทยว่า มีเงื่อนไข มีสภาวะอย่างไรในทางประวัติศาสตร์ จึงเอื้ออำนวยต่อปรากฏการณ์ที่พวกเรากลายเป็นตัวแทนหรือกลายเป็นเอเยนต์ของรัฐ ปรากฏการณ์ที่ว่า รัฐคือเราๆ ท่านๆ นี่แหละ และจะเข้าใจภาวะเช่นนี้ในประวัติศาสตร์สังคมไทยเองได้อย่างไร นั่นคือ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ความเข้าใจทั่วไปในการศึกษาเรื่องรัฐ แบบที่เห็นรัฐเป็นกลไก เป็นสถาบัน เป็นองค์กร ที่ใช้อำนาจในการควบคุมบงการชีวิตเรา

‘รัฐ’ ในความหมายทั่วไปของเราท่านโดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการ หมายถึงสถาบันทางการเมือง สถาบันในสังคมที่มีอำนาจผูกขาดกลไกการใช้ความรุนแรง เพื่อการใช้อำนาจทางกฎหมาย เพื่อรักษากฎระเบียบของสังคม รักษาความสงบราบเรียบ ขจัดลงโทษ ทำลายผู้คน หรือปัจจัยแปลกปลอมที่ผิดเพี้ยนเป็นอันตรายต่อสังคม

โดยทั่วไป เมื่อเราพูดถึงรัฐ เราจึงพูดถึงกลไกหรืออำนาจที่ผูกขาดกลไกการใช้ความรุนแรงเหล่านั้น เช่น
ระบบราชการ ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมบงการแง่มุมต่างๆ ในการใช้อำนาจ เราพูดถึงขอบข่ายของอำนาจที่อยู่ภายใต้ดินแดนที่แน่นอนของรัฐ เราพูดถึงผู้ที่พิทักษ์รักษาปกป้องผลประโยชน์ และผลักดันความเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ของสังคม ของประชาชน คือ รัฐ ทำในนามของประชาชน

กับอีกอย่างหนึ่ง ทฤษฏีโดยพื้นฐานปกติ เราได้ยินมาตั้งแต่เราเรียนหนังสือว่า ‘รัฐ’ คือสถาบันที่เป็น ‘องค์อธิปัตย์’ มีความชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้เพื่อทำหน้าที่องค์อธิปัตย์ในการที่จะสร้างกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย เก็บภาษี ใช้ภาษี และอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็น มาร์กซิสต์ นีโอมาร์กซิสต์ หรือไม่ใช่พวกมาร์กซิสต์ ความเข้าใจเรื่องรัฐอย่างที่เพิ่งกล่าวมาเหล่านี้เป็นความเข้าใจร่วมโดยพื้นฐานของหลายสกุลความคิด ซึ่งถ้าใครฟังอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ตั้งแต่วันแรก (การปาฐกถานำของ ศ.ดร.ยศ สันติสมบัติ หัวข้อ “มานุษยวิทยาการเมือง รัฐ และพลังของมานุษยวิทยา”) คงจะพอจำได้ อาจารย์ยศไล่มาหลายสกุล กลุ่มใหญ่ที่อาจารย์พูดถึงในวันแรก คือกลุ่มที่เห็น ‘รัฐ’ เท่ากับ ‘กลไกรัฐ’ ในการใช้อำนาจโดยมีกฎหมายค้ำจุนสร้างความชอบธรรมให้

กลุ่มเหล่านี้เห็นตรงกันว่า รัฐเป็นสถาบันหรือองค์กร เป็น entity เป็นสิ่งที่มีตัวมีตน มีตำแหน่งแห่งที่ ไม่ใช่ลอยๆ คลุมๆ เครือๆ มีกลไกรัฐให้เห็นได้ เข้าใจได้ รับรู้ได้เป็นรูปธรรม เช่น ทหาร ตำรวจ ระบบศาล ระบบราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น

การศึกษาเรื่องรัฐตามปกติแทบทั้งหมด เป็นการศึกษาตามคอนเซ็ปต์นี้ และศึกษาว่า กลไกรัฐทำงานอย่างไร ใช้อำนาจอย่างไร ใช้อำนาจถูก ใช้อำนาจผิดอย่างไร

ตามคอนเซ็ปต์แบบนี้ จึงมีการพูดถึงการต่อสู้ต่อต้านรัฐ โดยกลุ่มพลังทางการเมืองฝ่ายอื่น
ที่สำคัญก็คือฝ่ายประชาชน ผู้ถูกกดขี่จากรัฐ ตามแนวคอนเซ็ปต์กลุ่มนี้ มักจะเห็นประชาชนไม่ใช่รัฐ
เป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐ เป็นพลังฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะสมัยโบราณ เป็นกบฏชาวนา ต่อมาเป็นขบวนการต่อต้านรัฐในแบบต่างๆ หรือการอ้างในหมู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมว่าเป็นฝ่ายประชาชน ต่อสู้เพื่อประชาชน อิงมวลชน เป็นแนวร่วมกับประชาชน พวกนี้ทั้งหมดวางอยู่บนพื้นฐานความคิดที่คิดว่า รัฐ คือกลไกรัฐ ประชาชนคือฝ่ายตรงข้าม หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกัน และจะมีการปะทะต่อสู้เป็นระยะๆ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดแบบที่หนึ่งทั้งหมด ประชาชนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐ และนี่คือฐานของความคิดที่พวกเรามักจะคุ้นเคยกันอยู่ นี่คือฐานของความคิดที่ทำให้เรามักจะไม่ค่อยเห็นว่า ประชาชนด้วยกันนี่แหละคือตัวแทนของรัฐ

แนวคิดในทำนองนี้มีหลายอย่าง หลายทฤษฎี รวมถึงการพูดถึง ‘ประชาสังคม’ หรือ ‘civil society’
เรามักจะชี้ให้เห็นว่า ประชาสังคม หรือ civil society เป็นคู่ตรงข้าม หรือเป็นพลังทางสังคมที่แตกต่าง และขัดแย้งกับรัฐ

ปัญหาใหญ่มากๆ ของคอนเซ็ปต์ว่าด้วยรัฐแบบนี้มีหลายปัญหา แต่ผมขอพูดปัญหาเดียวเพื่อให้เข้ากับประเด็นในวันนี้ คือในสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนหลายต่อหลายแห่งในโลกรวมทั้งสังคมไทยด้วย ผู้ที่ใช้อำนาจในการควบคุมบงการจัดระเบียบสังคม ใช้อำนาจความรุนแรงเหนือประชาชน ก็คือสถาบันองค์กรทางสังคมของประชาชนด้วยกันเองด้วย คือเราๆ ท่านๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่ด้วย ไม่ใช่แค่ทหาร ตำรวจ หรือกลไกรัฐในความหมายมาตรฐานอย่างที่เราคิดกัน

ดังนั้นแนวคิดที่อธิบายรัฐอีกกลุ่มอีกแนวใหญ่ๆ ที่มองว่า รัฐเป็นสัญลักษณ์ รัฐเป็นนามธรรม ดังที่อาจารย์ยศเล่าตัวอย่างของ Michael Taussig ให้ฟัง บทความของเขาที่ว่า รัฐก็คือการหลอกกัน เป็นพิธีกรรม จึงเกิดแนวคิดอธิบายรัฐอีกแนวหนึ่งใหญ่ๆ คือแนวที่เห็นว่า รัฐมีสภาวะคลุมเครือ ไม่แน่ชัด และลื่นไหล

มีนักคิด นักทฤษฎี อีกกลุ่มหนึ่งที่พยามยามชี้ว่า รัฐเป็นนามธรรมกว่านั้น ลื่นไหลกว่านั้น เป็นตัวแทนของปฏิบัติการการใช้อำนาจทางสังคมจำนวนมากที่เราๆ ท่านๆ ก็มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ แต่มีรัฐในแง่ที่เป็นความหมายเดิมเป็นสถาบันกลางคอยควบคุมกฎ เพื่อเอื้ออำนวยให้การใช้อำนาจของเราๆ ท่านๆ ประจำวันเป็นการใช้อย่างถูกต้องชอบธรรม หมายถึงว่ายังต้องมีกลไก มีสถาบันที่เป็นกลไกรัฐเป็นตัวค้ำจุนการที่เราๆ ท่านๆ ทำตัวเป็นตัวแทนของรัฐ ไม่ใช่ว่าตัดทิ้งว่ารัฐไม่มีอยู่ แต่แบบที่สองนี้ชี้ให้เห็นว่า โดยปกติในชีวิตประจำวัน กลไกรัฐที่เป็นรูปธรรมเหล่านั้น เขาไม่ลงมายุ่ง เขามีไว้ค้ำจุนการที่เราๆ ท่านๆ ต่างทำตัวเป็นกลไกของรัฐ

พูดกลับกันก็คือ ‘รัฐ’ เป็นสภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นองค์รวมของการที่พวกเราใช้อำนาจกระทำต่อประชาชนด้วยกันเอง ภายใต้นามและกฎหมายที่มีสถาบันรองรับอยู่

ถ้าหากจะเทียบให้ใกล้เคียง และเข้าใจให้ง่ายขึ้นเรื่องรัฐในแนวคิดแบบที่สอง คือ ‘รัฐ’ ก็ทำนองเดียวกับ ‘ตลาด’ ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

เราจะบอกว่าตลาดไม่มีอยู่ไม่ได้ แต่เราจะบอกว่า ตลาดมีสภาวะเป็นรูปธรรมเหมือนอย่าง ตำรวจ ทหาร ก็พูดไม่ได้ เพราะว่าในทางเศรษฐกิจ ตลาดมีอยู่จริง แต่เป็นสภาวะมีอยู่จริงในแง่ที่เป็นสื่อกลางของพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมหาศาล

ตลาดเป็นความเป็นจริงตรงที่มันคือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมหาศาลขึ้นไปสัมพันธ์กันในระดับนามธรรม

รัฐก็เช่นเดียวกันในแนวคิดแบบที่สองนี้ พฤติกรรมที่แต่ละคนใช้อำนาจซึ่งกันและกัน ควบคุมบงการซึ่งกันและกัน คนแต่ละคนอาจจะพูดไม่ได้เต็มปากว่า เขาคือกลไกรัฐ แต่ได้ประมวลกันขึ้นไปกลายเป็นสภาพนามธรรม ทำนองเดียวกับตลาด และเราเรียกสภาพนามธรรมนั้นซึ่งมีตัวมีตนว่า ‘รัฐ’

‘รัฐ’ ก็คือตัวสื่อกลาง การใช้อำนาจต่อกันและกันของผู้คนจำนวนมหาศาลในสังคม ไม่ได้แปลว่าคนจำนวนมหาศาลในสังคมเหล่านั้นมีอำนาจเท่ากัน ทำนองเดียวกับ ‘ตลาด’ ที่เป็นสื่อกลางพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของคนจำนวนมหาศาล ไม่ได้แปลว่าคนจำนวนมหาศาลที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นมีอำนาจเท่ากัน ตลาดและรัฐก็ทำนองเดียวกัน ในปริมณฑลทางการเมืองกับในปริมณฑลทางเศรษฐกิจ

เรามักคิดว่าเฉพาะกลไกรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจบังคับควบคุมบงการ แต่ในสังคมสมัยใหม่อำนาจกลับกระจายเป็นจุดย่อยๆ กระจายไปในอาณาบริเวณ ในปริมณฑลต่างๆ ของชีวิตประจำวัน เป็นวาทกรรม เป็นแบบแผน เป็นมาตรฐานความคาดหวังให้คนคิดและทำตัวคล้ายๆ กัน หรืออย่างน้อยที่สุด ถึงจะคิดและทำตัวต่างกัน แต่อยู่ในกรอบจำนวนหนึ่ง กรอบที่แน่นอนอันหนึ่ง และก็หวาดกลัวต่อการละเมิด หวาดกลัวต่อการแหกคอก เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นคนนอกคอก กลัวถูกหาว่าเป็นคนไม่เคารพ ไม่ทำตามแบบแผน

สังคมสมัยใหม่ยิ่งซับซ้อน หน่วยของอำนาจที่ควบคุมหรือจำกัดการกระทำและพฤติกรรมของเรายิ่งกระจายเป็นจุดย่อยๆ และปฏิบัติการหรือลงมือกระทำการด้วยคนที่ไม่ใช่กลไกรัฐในความหมายอย่างที่เรารู้จักกัน แต่ด้วยคนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ

อำนาจควบคุมบงการชนิดนี้มักไม่ได้อาศัย ตำรวจ ทหาร ศาล หรือโรงเรียน หรือส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมอยู่ทุกหัวมุมถนน แต่มีพลเมืองดีทุกหัวระแหงที่พร้อมจะทำตัวเป็นผู้จงรักภักดีต่อรัฐ เข้าลงมือ และใช้อำนาจต่อผู้ที่ละเมิดเสียเองโดยไม่ต้องอาศัยกลไกรัฐเลย

ประชาชนด้วยกันนี่แหละกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐไปด้วยแล้ว

ประชาชนด้วยกันนี่แหละเป็นผู้สอดส่องดูแลประชาชนด้วยกันเอง ตำรวจ ศาล เป็นมาตรการการควบคุมอย่างท้ายๆ ที่ผู้คนจะใช้ก็ต่อเมื่อการควบคุมกันเองไม่สำเร็จ

อย่าคิดว่านี่คือสังคมนาซี อย่าคิดว่าที่ผมกำลังพูดถึงนี่คือฟาสซิสต์ สังคมปกติธรรมดานี่แหละเป็นอย่างนี้ ในดีกรีที่มากน้อยก็แล้วแต่ แล้วเดี๋ยวผมจะกลับมาพูดถึงสังคมไทย...

แต่นี่คือสังคมสมัยใหม่ symptom หรืออาการป่วยของภาวะที่เราทำตัวเป็นรัฐควบคุมกันเอง ซึ่งเกิดเป็นเรื่องปกติ คือเรื่อง self censorship หรือการเซ็นเซอร์ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกสังคม มากหรือน้อยแล้วแต่

เดี๋ยวจะมาหาว่าผมมาจากอเมริกามาดูถูกสังคมไทย ผมดูถูกสังคมอเมริกันให้ฟังก็ได้

ระยะแรกๆ ที่เขาส่งทหารไปอิรัก และผู้คนก็แห่กันเชียร์บุช คนที่ค้านสงครามแต่แรก self censor กันเป็นแถว เพราะถ้าพูดไม่ดีก็ถูกเล่นงาน ถูกด่า

พูดง่ายๆ คือ self censor มันก็มีภาษาที่สุภาพกว่านี้ คนอย่างผมอย่างเพื่อนผมหลายคนที่ค้านตั้งแต่ต้นเราก็รู้จัก ‘กาลเทศะ’ ก็คือ ‘หุบปาก’ ซะ

กลับมาสังคมไทย เวลาเรา self censor ที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เรากลัวใคร เราจะ censor ตัวเอง ต่อเมื่อมีตำรวจมายืนใกล้ๆ หรือ.. ใช่แน่นอน แต่โดยปกติการ censor ตัวเองเกิดขึ้น เพราะเรากลัวคนรอบๆ ข้างเรา

เรากลัวประชาชนด้วยกันเอง

เมื่อไรเราไม่แน่ใจว่าความคิดของเรานอกรีตนอกรอยรึเปล่า แบบแผนอยู่ตรงไหน เราชักไม่แน่ใจว่าเกณฑ์ที่ตั้งบังคับไว้ว่า เราควรมีพฤติกรรมอย่างไร มันอยู่ประมาณไหน พอเราไม่แน่ใจ เราก็ self censor ตัวเองขึ้นมา เพื่อความปลอดภัย มีชีวิตปกติสุข

ในแง่นี้ ในเรื่อง self censor ผมถามหน่อยว่า รัฐอยู่ที่ไหน? ที่บอกว่าอยู่ที่ประชาชนรอบข้างเรา นั่นคือคำตอบหนึ่ง

‘รัฐ’ อยู่ใน ‘จินตนาการ’ ของเราเอง

เวลาเราไม่แน่ใจว่า ทำแค่ไหนถึงจะอยู่รอดปลอดภัย เรา censor ตัวเองไว้ก่อนดีกว่า ทั้งที่คนรอบข้างบางทีเขายังไม่ได้บอกเลยว่า คุณห้ามพูด คนรอบข้างก็ยืนยิ้มปกติ แต่เราไม่แน่ใจ จนเราต้อง censor ตัวเอง

ภาวะอย่างนั้นรัฐอยู่ที่ไหน..

รัฐอยู่ในหัวเราเอง รัฐอยู่ในจินตนาการของเราเอง

เราคิดว่าแค่นี้ไม่น่าพูดนะ เพราะเดี๋ยวคนรอบข้างจะว่าโน่นว่านี่ ทั้งที่คนรอบข้างไม่เคยว่าอะไรเลย หรืออาจจะเห็นด้วยกับเราก็ได้

ตอนผมเตรียมใส่เสื้อเหลืองมา ผมก็นึกอยู่เหมือนกันว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ผมจึงเตรียมไว้หลาย plan plan A , plan B , plan C plan A คนประท้วงหนัก, plan B คนเฉยไม่มีปฏิกิริยา, plan C คนตบมือชอบใจ

ไม่ว่าคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ผมต่อได้ทั้งนั้น..ผมต้องจินตนาการเอาเอง.. เพราะผมไม่รู้ว่าคนรอบข้างจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

ผมต้องจินตนาการเอาเองว่า ‘รัฐ’ เข้ามาอยู่ท่ามกลางพวกเราในแบบไหนบ้าง ในกรณี self censor ทั้งหลาย.. ‘รัฐ’ อยู่ใน ‘หัว’ เราเอง

รัฐชนิดที่ประชาชนรอบข้างเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ รัฐชนิดที่สามารถเข้ามาอยู่ในหัวเราเองได้
จึงเป็นรัฐที่ทรงพลังอย่างมาก ไม่มีตัวตนชัดเจนอย่างที่คิด แต่กลับกลายเป็นอำนาจที่แฝงอยู่ทุกอณูของชีวิตประจำวัน

รัฐที่เป็นกลไกรูปธรรมมีตัวตนจึงอาจลดความสำคัญลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องทำงานอย่างที่เราคิด กินเงินเดือนสบายเลย มีพวกเราช่วยคุมกันเอง แต่เขาจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อเตือนเราว่า การใช้อำนาจรุนแรง การบังคับบงการเราอย่างเป็นรูปธรรมนั้นมีอยู่จริง เพื่อเตือนเราว่า มีกลไกที่เป็นมาตรการท้ายๆ ที่รัฐลงมือใช้ สังคมลงมือใช้ เมื่อประชาชนจัดการกันเองไม่สำเร็จ

รัฐที่อยู่กับเราในชีวิตประจำวันเป็น ‘Articulation of discursive control’ คือเป็นการประมวลอย่างเป็นนามธรรมของการควบคุมโดยวาทกรรม ไม่ใช่กลไกรัฐอย่างที่เราคิดกัน

ทำไมจึงเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นได้?

ส่วนมากนักมานุษยวิทยาจะอธิบายว่า รัฐชนิดแรก คือแบบที่มีกลไกรัฐเป็นตัวเป็นตน มีตำรวจ ศาล ทหาร โรงเรียน คอยควบคุมบงการเราอย่างเป็นรูปธรรม วิวัฒนาการมาสู่รัฐชนิดหลังซึ่งเป็น Articulation of discursive control อย่างแรกนำมาสู่ระยะหลัง สังคมอย่างแรกวิวัฒนาการมาสู่สังคมอย่างที่สอง ผมไม่ค่อยเชื่อเต็มที่เท่าไร แต่ผมไม่มีความสามารถจะไปแย้ง และในเมื่อจุดมุ่งหมายสำหรับการประชุมแบบนี้ไม่ใช่การที่เราจะมีคำตอบชัดเจน ดังนั้น ทั้งหมดคือคุณต้องคิดเอา

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ จะขอย้อนกลับไปในอดีตอีกสักนิด และจะเล่าวิวัฒนาการในทำนองนี้ครับ...

รัฐในยุคก่อนสมัยใหม่ไม่ว่าที่ไหนในโลก ‘รัฐ’ มี ‘องค์อธิปัตย์’ เป็น ‘รูปธรรม’ หมายถึงว่า มีตัวบุคคล กุมอาวุธ เป็นเจ้าพ่อ เป็นลูกพี่ใหญ่ หรือเป็นเจ้าพ่อของกองกำลังที่กุมอาวุธ องค์อธิปัตย์เป็นบุคคลรูปธรรมที่กุมตำรวจ ศาล ทหาร กุมพระคลัง กุมที่ดิน ฯลฯ

สังคมก่อนสมัยใหม่เป็นอย่างนี้ องค์อธิปัตย์เป็นรูปธรรม เป็นบุคคลรูปธรรม

รัฐก่อนสมัยใหม่ขีดจำกัดในการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดน้อยในความหมายว่า ถ้าเขาจะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด องค์อธิปัตย์ที่เป็นรูปธรรมของก่อนสมัยใหม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือความเชื่ออื่นๆ มักจะให้ความชอบธรรมกับการที่องค์อธิปัตย์ในยุคก่อนสมัยใหม่จะใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด รวมทั้งปลิดชีวิตผู้คนก็ทำได้

แต่ว่าในรัฐก่อนสมัยใหม่ โดยทั่วไปไม่มีเทคโนโลยีพอที่จะใช้อำนาจที่เหลือล้นคณาไปยุ่มย่ามในชีวิตของผู้คนทุกวี่วัน หรือแทรกซึมลงไปในชีวิตประจำวัน

ผมกำลังจะบอกว่า รัฐก่อนสมัยใหม่ที่มีองค์อธิปัตย์เป็นรูปธรรมนี้มีอำนาจในการใช้ความรุนแรงได้ล้นฟ้าแต่จำกัดในวงเล็กนิดเดียว เพราะไม่มีเทคโนโลยีที่จะเข้าไปควบคุมบงการประชาชนทั่วทั้งอาณาเขต อาณาจักร ไม่มีเทคโนโลยีที่ทำได้ขนาดนั้น

อย่างมากไกลออกไปก็เป็นเรื่อง ideology อย่างมากผ่านระบบการเก็บภาษี เกณฑ์แรง หรือเก็บส่วย นั่นหมายถึงว่า ขอบข่ายที่จะใช้อำนาจรัฐที่ล้นฟ้าได้จริงมีจำกัด โดยทั่วไป รัฐชนิดนี้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตผู้คน คนสามารถอยู่ได้ประจำวัน ประจำปี โดยที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับรัฐเลยก็ได้ แต่ในความจริงก็เผชิญ คือถูกเกณฑ์แรงงาน เกณฑ์ส่วย ถูกเกณฑ์ไปรบ ฯลฯ เป็นประจำ

ต่อมา รัฐสมัยใหม่ในระยะแรก องค์อธิปัตย์มักจะเริ่มกลายเป็น ‘impersonal’ คือไม่กลายเป็นตัวบุคคลอีกต่อไป กล่าวคือมีผู้นำรัฐ ผู้นำรัฐไม่ใช่ตัวรัฐเอง แต่ผู้นำรัฐได้รับมอบหมายให้มีอำนาจอันชอบธรรมในการควบคุมอาวุธ ใช้อำนาจคุมอาวุธ คุมคลัง เป็นอำนาจที่ผูกติดอยู่กับตำแหน่งในระบบราชการที่รองรับด้วยกฎหมาย

Impersonal ในที่นี้หมายความว่า จะเป็นลูกพี่ใหญ่ เจ้าพ่อมาจากไหน คุณต้องพยายามเข้าครอบครองตำแหน่งนั้นจึงจะมีอำนาจที่ถูกต้องชอบธรรม ถ้าหากครองตำแหน่งในระบบราชการหรือในระบบกลไกของรัฐไม่ได้ คุณก็เป็นแค่นักเลงที่เที่ยวเกะกะระรานคน แต่คุณไม่ได้มีอำนาจอันชอบธรรมในการควบคุมกลไกของรัฐ อันนี้คือการที่รัฐกลายเป็น impersonal คือไม่ได้ขึ้นต่อตัวบุคคลอีกต่อไป

รัฐแบบนี้มีเทคโนโลยีในการแทรกแซงชีวิตผู้คนไปทั่วทุกหัวระแหงมากกว่ารัฐก่อนหน้านั้น ระบบตำรวจ ทหาร ศาล การเก็บภาษี ระบบการศึกษา และอีกหลายระบบ สามารถเข้าใกล้ชิดสัมผัสกับชีวิตผู้คนได้มากกว่ารัฐแบบโบราณ แต่ในขอบข่ายที่กว้างขวางขนาดนั้น รัฐแบบนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมกับประชาชนที่เริ่มมีสิทธิมีเสียง เริ่มกลายเป็นพลเมือง เป็น citizen รัฐมักจะมีอำนาจไม่ล้นฟ้าอีกต่อไป จะทำอะไรต้องทำตามกฎหมาย ในหลายสังคมไม่มีอำนาจแม้กระทั่งจะปลิดชีวิตคน เว้นเสียแต่ว่าจะมีคำสั่งศาล เว้นเสียแต่ว่ามีระบบอื่นๆ มาสั่งให้รัฐสามารถที่จะประหารชีวิตได้

รัฐที่มีเทคโนโลยีแผ่อำนาจตัวเองไปทั่วอาณาเขตของประเทศหนึ่งๆ กลับมีอำนาจจำกัดในแง่ของ ‘ดีกรี’ และรัฐจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้

มีหลายรัฐในโลกนี้ที่เก่าก็ไม่เก่า ใหม่ก็ไม่ใหม่ เป็นรัฐที่เป็นมาเฟียแบบสมัยใหม่ องค์อธิปัตย์ค่อนข้างจะเป็น personal เป็นรูปธรรมและใช้อำนาจด้วย และแถมยังมีเทคโนโลยีมากกว่ารัฐสมัยเก่า ยกตัวอย่างเช่นรัฐเผด็จการทหาร รัฐเผด็จการที่มีขุนศึกผู้นำบางคน ผมไม่ได้พูดถึงสังคมไทย พูดถึงทั่วไป รัฐชนิดนี้กึ่งเก่ากึ่งใหม่ หรือพูดง่ายๆ ว่าองค์อธิปัตย์มีอำนาจมากไปหน่อย แถมมีเทคโนโลยีด้วย มีหลายรัฐเป็นเช่นนี้ คือผสมสองแบบเข้าด้วยกัน

แต่ผมอยากจะยกตัวอย่างที่ไม่ใช่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหรือที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ ผมอยากจะยกตัวอย่างรัฐชนิดที่ขึ้นตรงกับตัวบุคคลและมีเทคโนโลยีที่น่ากลัว ทั้งนี้เพียงเพื่อความเข้าใจ นั่นคือรัฐจากนิยาย คือรัฐในวรรณกรรมเรื่อง ‘1984’ ของ George Orwell ซึ่งเป็นรัฐที่มีอำนาจล้นฟ้า แถมมีเทคโนโลยีมากมาย

ถ้าเราเชื่อว่า รัฐชนิดนั้นมีอยู่จริงในโลกมนุษย์ คือรัฐ authoritarian หรือ totalitarian ทั้งหลาย ก็นึกเอาเองละกันว่าตัวอย่างของรัฐเหล่านั้นคืออะไรบ้าง

คราวนี้รัฐสมัยใหม่ที่เติบโตไปกว่านี้อีก เติบโตไปกว่ากรณีที่ผ่านมา เป็นรัฐที่มีวุฒิภาวะ หรือบางคนเรียกว่ารัฐแบบหลังสมัยใหม่ คงพอนึกออกแล้วว่า พอผมพูดถึงรัฐที่เป็นนามธรรม อาศัยหน่วยอำนาจย่อยๆ ที่พวกเราควบคุมบงการกันเอง บางคนอาจนึกว่า ผมกำลังพูดถึง Foucault แต่คนที่พูดเรื่องนี้มีหลายคน เช่น Taussig เป็นต้น ส่วน Foucault เป็นแค่หนึ่งในคนที่พูดเรื่องนี้เท่านั้น

รัฐหลังสมัยใหม่ หรือรัฐสมัยใหม่ที่เติบโตจนมีวุฒิภาวะยิ่งไปกว่านั้น จะเหมือนกับรัฐสมัยใหม่ช่วงแรกอย่างหนึ่งก็คือ องค์อธิปัตย์เป็นนามธรรม

Foucault เรียกรัฐแบบหลังสมัยใหม่ หรือรัฐที่มีวุฒิภาวะขนาดนี้ว่าเป็น sovereign without head หรือก็คือเป็น... ผมไม่แปล เดี๋ยวยุ่ง

เขาพูดถึงว่า รัฐไม่เป็น personal อีกต่อไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราคิดอีกต่อไปแล้ว
ไม่ต้องมีระบบราชการแบบมีเทคโนโลยี แบบแทรกซึม หรือระบบที่เข้าไปยุ่มย่ามชีวิตคนด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าหน่วยของอำนาจอยู่ในกลุ่มองค์กรของประชาชนกันเอง

ความแตกต่างระหว่างรัฐชนิดนี้ รัฐที่วุฒิภาวะสูงขึ้นไปอีก หรือบางคนเรียกว่ารัฐหลังสมัยใหม่ ต่างจากรัฐสมัยใหม่ตรงที่ว่า รัฐสมัยใหม่ในระยะแรก มักยังมีจุดหมายคล้ายกับรัฐโบราณก่อนหน้า นั่นคือการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ปกป้องทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน แก้ไขความขัดแย้งในสังคม เพื่อรักษาสถานะเดิมเอาไว้ รัฐทำหน้าที่เป็นลูกพี่ ผู้ใช้อำนาจให้ประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างสงบเรียบร้อย

แต่รัฐสมัยใหม่ที่มีวุฒิภาวะหรือรัฐหลังสมัยใหม่ มีจุดหมายต่างออกไป กล่าวคือ มีจุดหมายในการสร้างและหล่อหลอมประชากรให้มีผลิตภาพสูงที่สุด การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อสังคมพอจะอยู่กันได้โดยที่ไม่มีวิกฤติขนาดใหญ่แล้ว หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐแบบหลังสมัยใหม่ หรือที่มีวุฒิภาวะ คือการพยายามหล่อหลอมให้ประชาชนรู้จักทำตัวให้มีประโยชน์ในความหมายว่า มีศักยภาพในการมี productivity หรือมีผลิตภาพสูงสุด

เวลา Foucault พูดถึงรัฐควบคุมร่างกาย เขาไม่ใช่คนเดียวที่พูดถึงแนวคิดทำนองนี้ แต่ผมยกขึ้นมาให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า เขาเห็นว่ารัฐหลังสมัยใหม่หรือที่มีวุฒิภาวะ ใช้การควบคุมบงการร่างกายเป็นเครื่องมือ เป็นช่องทางในการสร้างประชากรที่มีผลิตภาพสูงที่สุด ตำรวจ ทหาร เป็นกลไกรักษาความสงบ ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งของระบบระเบียบสังคม แต่การควบคุมและสร้างกรอบ สร้างกลไกของความเป็นปกติของสังคมสมัยใหม่มาจากอำนาจย่อยๆ จำนวนมหาศาล ที่ใช้อำนาจโดยกลุ่มองค์กรทางสังคม โดยประชาสังคมกันเอง โดยประชาชนด้วยกันเองที่สมัครใจเป็นเจ้าของรัฐ เจ้าของสังคมมาตรฐานด้วยกัน ดังนั้นจึงลงมือใช้อำนาจควบคุมกันเอง โดยมีกลไกรัฐแบบเดิมๆ อย่างที่เรารู้จักกันคือ ตำรวจ ศาล ทหาร โรงเรียน เป็นเครื่องมือในขั้นสุดท้ายเท่านั้น

ตรงข้าม รัฐแบบที่มีวุฒิภาวะ หรือเป็นรัฐหลังสมัยใหม่ อำนาจในการควบคุมบงการกันเองนั้นมักจะมาจาก ทีวี สื่อมวลชน นักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ ผู้นำทางสังคม ราษฎรอาวุโส คนเหล่านี้เป็นกลไกของรัฐในสังคมชนิดนี้ทั้งสิ้น

การควบคุมบงการไม่ใช่แค่อาศัยกฎหมายเป็นกรอบที่จำกัดและห้ามละเมิด แต่อาศัยวัฒนธรรม อาศัยแบบแผนการใช้ชีวิต อาศัยการสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ว่า พฤติกรรมการใช้ความคิดการพูดการจาควรเป็นอย่างไร แล้วอาศัยเราๆ ท่านๆ สื่อมวลชน และผู้นำทางปัญญา เป็นผู้สร้างมาตรฐานกฎเกณฑ์ที่เราก็เชื่อตามๆ กัน แล้วก็ช่วยกันทำตัวเป็นตัวแทนของการสถาปนามาตรฐานกฎเกณฑ์เหล่านั้น พยายามและก็ไม่อยากให้คนรอบข้างเราละเมิด

กรณีที่ผมกำลังพูดถึงจึงต่างกับ George Orwell ใน ‘1984’ ตรงที่ว่า ผู้เฝ้ามองเราไม่ใช่ ‘big brother’ แต่เป็น ‘little brother’ ที่อยู่ทั่วทุกหัวระแหง

ประชากรใน ‘1984’ กลัว จึงสยบยอมกับ ‘big brother’ ประชากรในรัฐแบบที่มี ‘little brother’ ไม่ได้กลัว แต่ยินดีทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐในกลไกรัฐโดยสมัครใจ ยินดีปรีดา ปราโมทย์ในความจงรักภักดีต่อรัฐ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในความกลัว เว้นเสียแต่คนที่จะ self censor ตัวเอง เวลาไม่แน่ใจเวลาจะพูดหรือละเมิดกรอบที่มีอยู่ในสังคมรึไม่

แต่โดยปกติประชาชนส่วนใหญ่จะชื่นชมยินดีที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเบ็ดเสร็จที่กลไกรัฐไม่ต้องกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง เพราะประชาชนทำตัวเป็นส่วนหนึ่งกลไกรัฐในการสอดส่องควบคุมกันเองเรียบร้อยแล้ว

นี่ไง ‘มานุษยวิทยา’ เรื่องใหญ่ในสังคม ในมนุษย์ปกติ ชีวิตปกติในชีวิตประจำวันนี่แหละ
เราได้กลายมาทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐคนละไม่มากก็น้อยอยู่ตลอดเวลา

แล้วสังคมไทยจะอยู่ตรงไหนในแบบแผนหรือแนวโน้มทั่วไปอย่างที่ผมว่านี้..สังคมไทยอยู่ตรงไหน

ผมขออนุญาตไม่ตอบ … ผมเองก็ไม่ทราบ

ที่ว่ามาเมื่อครู่นี้เป็นเพียงแนวความคิดที่เป็นแบบแผน อย่าว่าแต่สังคมไทยเลย ทุกสังคมอาจจะมีลักษณะเหล่านั้นปนๆ กันอยู่ก็เป็นไปได้

เรายังเป็นสังคมโบราณที่มีองค์อธิปัตย์เป็น personal อยู่รึไม่ หรือเราเป็นสังคมสมัยใหม่ในระยะแรกที่อำนาจอยู่กับอมาตยาธิปไตย (bureaucratic polity) อยู่กับระบบราชการ หรือเราเป็นสังคมแบบ ‘1984’ ที่มีองค์อธิปัตย์ ที่เป็น personal เป็นมาเฟีย เป็น ‘big brother’ แถมมีเทคโนโลยีอย่างที่มีประสิทธิภาพอย่างมากหรือเราเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีวุฒิภาวะ เป็นสังคมหลังสมัยใหม่ ที่มีอำนาจการควบคุมบงการกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง โดยประชาชนด้วยกันเอง หรือเราเป็นอย่างละนิดอย่างละหน่อยของบรรดาสามสี่อย่างที่กล่าวมา

ส่วนจะผสมกันอย่างไรระหว่างคุณสมบัติต่างๆ ในกรอบทั่วๆ ไป ผมตอบไม่ได้ และผมไม่คิดจะตอบด้วย แต่ผมเสนอให้ฟังเพื่อให้ลองคิดเอาเอง

ผมไม่คิดว่าเราเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ mature สมมติว่า ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยเป็นกันอยู่ จนกระทั่งทำให้ผมและคุณต่าง self censor กันเยอะแยะเพราะกลัวคนรอบข้าง ผมก็ไม่คิดว่าเหตุที่สังคมไทยเป็นอย่างนี้เป็นเพราะเราเป็นสังคมหลังสมัยใหม่ หรือเป็นเพราะเราเป็นสมัยใหม่ที่ mature อย่างที่ Foucault ว่า ผมว่าไม่ใช่

ผมคิดว่าเรายังมีลักษณะของสังคมแบบรัฐก่อนสมัยใหม่กับแบบสมัยใหม่ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะพอในหลายแง่ ผมว่าเรายังเป็นรัฐเผด็จการ หรือใครจะเถียง ผมจะลองอธิบายว่า ทำไมสังคมไทยจึงมีปรากฏการณ์ที่ดูราวกับคล้ายสังคมที่มีวุฒิภาวะ คล้ายกับเป็นรัฐหลังสมัยใหม่ ทั้งที่สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่มีวุฒิภาวะหรือหลังสมัยใหม่

ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องซึ่งเป็นประเด็นใหญ่สุดท้ายของวันนี้ ผมขอย้อนอีกครั้งหนึ่งว่า ความเข้าใจทั่วไปในหมู่นักวิชาการ หรือแอคติวิสต์ หรือเอ็นจีโอ คือมักจะเห็นว่าประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือแยกออกจากรัฐ

ความเข้าใจอันนี้มีที่มาจากแนวคิดที่อิงแอบกับประสบการณ์รัฐสมัยใหม่ของยุโรป ที่ผมต้องพูด เพราะบรรดาปัญญาชนสาธารณะฝ่ายประชาชนที่ชอบว่าผมว่า ตามฝรั่ง คนเหล่านั้นทำตัวรังเกียจฝรั่ง แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่เขาคิดว่า รัฐและประชาชนแยกจากกันนั่นต่างหากที่เป็นฐานมาจากประสบการณ์ฝรั่ง คนเหล่านั้นไม่รู้ตัวเองว่ากำลังคิดแบบฝรั่ง คนที่ชอบแอบอ้างความเป็นไทยทั้งหลาย ชอบกล่าวหาว่าคนอื่นตามฝรั่ง มักไม่ค่อยรู้ตัวเองอย่างนี้แหละ

ถ้าหากจะวิจารณ์และโต้แย้งกันว่า ใครรู้จักไม่รู้จักสังคมไทย ควรว่ากันตามเนื้อผ้า ผมคิดว่าเราท่านทุกคนฉลาดและโง่พอกัน เป็นไทยและเป็นฝรั่งไม่มากไม่น้อยกว่ากัน เหมือนๆกัน ผมไม่ได้วิเศษกว่าใคร ไม่มีใครวิเศษกว่าใคร ถ้าใครจะเถียงว่าตัวเองเป็นไทยนัก...... ไม่อธิบายดีกว่า

ประเด็นใหญ่สุดท้ายก็คือ จารีตของรัฐไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นอย่างไร แทนที่จะบอกว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะเป็นหลังสมัยใหม่ ผมกลับคิดว่าสภาวะที่สังคมไทยมีประชาชนคอยสอดส่องควบคุมดูแลกันเองนั้น ไม่ได้มาเพราะการที่เราเป็นสังคมหลังสมัยใหม่ แต่มาจากจารีตความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนแบบที่เป็นอยู่ในสังคมไทยมาแต่โบราณ บางอย่างยังขจัดไม่หมด หรือสังคมไทยไม่คิดจะขจัดด้วยซ้ำ และผมบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าสังคมไทยต้องการจะขจัดหรือไม่ และถ้าสังคมไทยไม่ต้องการจะขจัด ผมก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน เพราะสังคมก็คือสังคม มีวิวัฒนาการของตัวเอง

รัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตก คือผลผลิตของประสบการณ์สองสามร้อยปีของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลายอย่าง ทั้งความคิด ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ทางการเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิวัติศาสนา การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ผ่านการปฏิวัติ 3 อย่างในระหว่างศตวรรษที่ 15-19

กล่าวอย่างสั้นๆ รัฐอย่างที่เราเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตะวันตกที่ว่ากลไกรัฐตรงข้ามกับประชาชน อยู่บนฐานของประสบการณ์โลกตะวันตก อยู่บนฐานของบริบทยุโรปตะวันตกที่ผ่านการปฏิวัติ 3 ประการ
สังคมอื่นนอกจากยุโรปตะวันตกในโลกนี้ ไม่มีสังคมใดอีกเลย แม้แต่ยุโรปตะวันออกที่ผ่านการปฏิวัติทั้ง 3 นี้

แต่ทว่าแทบทั้งโลกเปลี่ยนแปลงต่อมาจนกลายเป็นสมัยใหม่ก็ด้วยกระบวนการปะทะสังสรรค์ เลือก รับ ดัดแปลง อิทธิพลจากสังคมยุโรปตะวันตกที่ผ่านการปฏิวัติทั้ง 3 มา ที่สำคัญคือผ่านการตกเป็นอาณานิคมทั้งโดยตรง โดยอ้อม โดยการยึดครองและโดยระบบโลก

สังคมไทยสร้างรัฐสมัยใหม่ในปลายศตวรรษที่ 19 คือสมัยรัชกาลที่ 5 ท่ามกลางเงื่อนไขทางสังคมคนละชนิด คนละเรื่องคนละราวกับสังคมยุโรปตะวันตกศตวรรษที่ 15-19

สังคมไทยนำเอาโมเดลของระบบราชการมาปลูกในเนื้อดินของเราเอง อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพิ่งใช้คำนี้ ซึ่งแทบจะเหมือนกับรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงเขียนไว้ใน ‘พระบรมราชาภิบายว่าด้วยความสามัคคี’ เมื่อปี 1906 ก็คือ ‘ต้องทำสิ่งที่งอกในเนื้อดินของเราเอง’

ผมอยากจะบอกให้ว่า สิ่งที่งอกในเนื้อดินของเราเองนั้น ที่จริงก็เอาจากฝรั่งมางอกนั่นแหละ

จะเข้าใจรัฐไทยปัจจุบันได้ ต้องเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ไม่ได้แปลว่าต้องเข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ เพราะมันไม่มี แต่เข้าใจเงื่อนไขว่า สิ่งเหล่านั้นเติบโตมาในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ของเราเองอย่างไร จึงเป็นรากฐานสำคัญของรัฐในระหว่างนั้นและต่อมาจนถึงบัดนี้

ท่ามกลางเงื่อนไขรากฐานนานาประการ ผมขอเน้นเงื่อนไขเพียงแค่บางด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในวันนี้ นั่นก็คือ มีเงื่อนไขอะไรบ้างจึงทำให้ประชาชนไทย ทำตัวเป็นเอเยนต์ เป็นตัวแทนของรัฐอยู่บ่อยๆ

เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ สังคมไทย รัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ โดยชนชั้นนำสยาม เพื่อรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่รัฐาธิปัตย์เข้มข้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย การเสริมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่เพิ่งกล่าวนี้ ไม่ได้มากับการขุดรากถอนโคนระบบเก่า ไม่ได้มากับการขุดรากถอนโคนค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่าที่ค้ำจุนระบบก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงกลายเป็นการต่อตาต่อกิ่งออกจากต้นเดิม กลายพันธุ์กลายเป็นระบอบอำนาจเดิมที่ยังมีลักษณะวัฒนธรรมหลายอย่างเหมือนเดิมอยู่

ชนชั้นนำสยามฉลาดในการเลือกรับดัดแปลง รับส่วนดี ทิ้งส่วนเสีย แต่เป็นส่วนดีและส่วนเสียตามทรรศนะและผลประโยชน์ของชนชั้นนำสยามในสมัยนั้น

รัฐสมัยใหม่ของไทยจึงมีเชื้อมูลของความเป็นระบบความคิดและวัฒนธรรมเดิมๆ อยู่มากน้อย กลายมากกลายน้อยต่างๆ กัน ซึ่งยังรอการศึกษาอีกมาก

การศึกษาทั้งหลายที่พยายามบอกว่า เราเป็น ‘ไทย’ หรือ เราเป็น ‘ฝรั่ง’ เป็นไทยจึงดีและเลว ตามก้นฝรั่งจึงดีและเลว ผมคิดว่าหลงทางหมด เพราะเราไม่มีทางเป็นไทยหรือเป็นฝรั่งอย่างเต็มตัวอีกต่อไป ต่อให้อยากเป็นฝรั่งแทบตายหรืออยากจะเป็นใจจะขาดก็เป็นไม่ได้ ต่อให้อยากจะเป็นไทยเหมือนเดิมแทบตายใจจะขาดก็ไม่มีทางเป็นไปได้

ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่ผสมผสานเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรายังเข้าใจไม่มากพอ

ผมเห็นว่ามีคุณสมบัติ 3 อย่างที่สืบทอดกลายพันธุ์มาจากความคิดวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิม ไม่ได้ถูกขจัดรากถอนโคน แล้วมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่มีผลมาถึงรัฐในชีวิตประจำวันของคนไทยปัจจุบัน

ผมกำลังจะเสนอ 3 อย่างต่อไปนี้ ว่าเป็นแกนหรือเป็นกระดูกสันหลัง หรือจะเรียกว่าเป็น ‘สเต็มเซล’ (stem cell เซลต้นกำเนิด) ของรัฐไทยแต่โบราณก็ได้ และยังอยู่ในดีเอ็นเอของรัฐไทยจนถึงปัจจุบัน การเป็นสเต็มเซลหรือเป็น ‘ดีเอ็นเอ’ เป็นอุปลักษณ์ที่ดี คือว่ามีการแตกลูกออกดอกออกพันธุ์เป็นเซลต่างๆ ไม่ได้คงอยู่เป็นรูปเดิม แต่ว่าเป็นเชื้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเป็นฐานของรัฐไทย
คุณสมบัติ 3 ประการที่เป็นสเต็มเซลหรือเป็นฐานของรัฐไทยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ได้แก่

1. คอนเซ็ปต์เรื่องแบบอำนาจจาก ‘บารมี’
2. ระเบียบสังคมที่ถือเอา ‘hierarchy of power’ (ลำดับชั้นของอำนาจ) เป็นแกนหลักของการจัดลำดับชั้นทางสังคม และ

3.ความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน หรือสังคมแบบ ‘organic’ อาจจะแปลว่าแบบ ‘ชีวภาพ’ หรือถ้าหากผมจะทะลึ่งหน่อยก็ขอแปลว่าแบบ ‘องค์รวม’

คอนเซ็ปต์เรื่อง ‘บารมี’ หมายความว่าอย่างไร เอาเข้าจริงผมเรียกแบบนี้ก็ไม่ถูก เพราะความคิดเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของสังคมไทยมีมาเก่าแก่ก่อนพุทธศาสนา แต่ขอเรียกแบบนี้ไปก่อน

อำนาจแบบสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยกันโดยเฉพาะที่เอามาจากฝรั่ง เป็นอำนาจที่ ‘impersonal’ มากับ office มากับตำแหน่งแห่งที่ตามกฎหมาย

แต่อำนาจแบบ ‘บารมี’ ผูกติดกับคุณสมบัติของตัวบุคคล ยังคงอยู่กับสังคมไทยตลอดเวลา นั่นหมายถึงว่าวิธีที่เราดีลกับอำนาจ มันไม่ใช่อำนาจแบบที่มาพร้อมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นอำนาจที่ผูกติดกับบุคคล อยู่กับคุณสมบัติของบุคคล อยู่กับคุณธรรม อยู่กับพลังหรือคุณสมบัติเชิงบุคคลบางอย่าง เป็นอำนาจแบบ ‘บารมี’ ไม่ใช่แบบฝรั่ง

เอาเป็นว่า เวลาเราคิดถึงอำนาจในการเมืองรัฐสมัยใหม่ เอาเข้าจริง เราคิดตามความเข้าใจเรื่อง ‘บารมี’ อยู่บ่อยๆ แต่เราไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันพวกเราก็สมัยใหม่พอที่จะไม่คิดแบบนั้นเช่นกันด้วย

บ่อยครั้งหรือตลอดเวลา ความคิดเรื่องอำนาจแบบฝรั่งหรือแบบสมัยใหม่จึงปะทะปะปนกับอำนาจแบบบารมี แบบผิดฝาผิดตัวกันเกือบหมด ความคาดหวังที่เรามีต่อพฤติกรรมทางการเมืองจึงลักลั่นปนเปกันอยู่ระหว่างอำนาจสองชนิด


ในระยะหนึ่ง นักวิชาการไทย รวมทั้งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พยายามอธิบายเรื่องอำนาจในสังคมไทยด้วย คอนเซ็ปต์ของคุณ Tamada คือแยกกันระหว่าง ‘อำนาจ’ กับ ‘อิทธิพล’ ว่าเป็นคนละประเภทกัน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าการพยายามเข้าใจแบบนี้เป็นการหลงทาง

ผมอยากจะแนะนำว่า ใครสนใจเรื่องอำนาจ ให้ศึกษาเรื่องบารมี ไม่ต้องแยกระหว่างอำนาจกับอิทธิพล ศึกษาว่า ‘บารมี’ แปลว่าอะไร บารมีมันทำงานยังไง อันนี้ตรงประเด็นกว่า และเป็นไทยกว่า

คุณสมบัติข้อที่ 2 ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ก็คือระเบียบสังคมที่ถือเอา ‘hierarchy of power’ เป็นแกนกลาง หรือระเบียบสังคมที่ถือเอา ‘ลำดับชั้นของบารมี’ เป็นแกนกลางในการจัดระเบียบทางสังคม

รัฐทุกยุคทุกสมัย คืออำนาจที่ปกป้องรักษาค้ำจุนระเบียบสังคมที่เชื่อว่าเป็นปกติซึ่งชนชั้นปกครองต้องการธำรงรักษา แต่ระเบียบสังคมที่รัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตกค้ำจุนรักษา เป็นระเบียบสังคมที่ผ่านการปฏิวัติศาสนา อุตสาหกรรม และประชาธิปไตยมาแล้ว กลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ไม่ไว้ใจให้ใครมีอำนาจเหนือตัวเอง และเริ่มเกิดปัจเจกชน กลายเป็นอะตอม กลายเป็นหน่วยย่อยที่สุดของระเบียบทางสังคม แต่ระเบียบสังคมอย่างที่พูดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ระเบียบสังคมไทยที่รัฐไทยค้ำจุนรักษาไม่ได้มีประวัติศาสตร์มาแบบเดียวกัน จึงกลับเป็นระเบียบสังคมแบบ hierarchy กลุ่มผลประโยชน์และปัจเจกชนที่เกิดขึ้นเป็นหน่วยทางการเมืองในระยะหลัง ดำรงอยู่ท่ามกลางระเบียบสังคมแบบลำดับชั้นที่ยังฝังรากลึกและไม่เคยถูกถอนรากถอนโคน

รัฐสมัยใหม่ในระยะแรกก็เป็นรัฐสมัยใหม่ที่ค้ำจุนระเบียบสังคมของ ‘ลำดับชั้นของบารมี’ อย่างที่กล่าวมา
พยายามจะสถาปนา หรือ institutionalize คือทำให้ระเบียบสังคมที่ถือลำดับชั้นของบารมีกลายเป็นสถาบันทางสังคม

‘ลำดับชั้นของบารมี’ หมายความว่าอะไร ผมใช้วิธียกตัวอย่าง และผมคิดว่า พวกเราทุกคนรู้จักเรื่องนี้ดี

hierarchy ของบารมีมีหลายประเภท เวลาเราพูดถึงคนมีบารมีก็มีปัจจัยหลายประการ แต่เราเรียกรวมๆ ได้ว่า ‘บารมี’ ทั้งนั้น เช่น เวลาจะประชุมเครือญาติจัดการกิจกรรมบางอย่างในครอบครัว อาวุโสมาทันทีเลย เพราะผู้อาวุโสเป็นผู้มีบารมี แต่ทันทีที่ออกนอกการประชุมของเครือญาติไปอยู่ในการประชุมศูนย์มานุษยวิทยา ความอาวุโสไม่ใช่จุดตัดสินบารมีเสมอไป อาจจะเป็นเครื่องแบบ อาจจะเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ อาจจะเป็นความอาวุโสของความเป็นนักวิชาการ แต่บารมีกลับไม่ได้ตัดสินกันด้วย ความอาวุโสหรืออายุ

เรารู้ทันทีว่า เรามีจุดหนึ่งมาตัดสินบารมี รู้ได้อย่างไร..ผมไม่ทราบ.. ซึ่งคุณอธิบายให้ฝรั่งฟังได้ยากมาก

บารมีมีปัจจัยหลายอย่างมาตัดสิน และสังคมไทยจัดลำดับชั้นของบารมีอยู่ตลอดเวลา

ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยกล่าวเอาไว้ใน ‘ลักษณะการปกครองสยามแต่โบราณ’ เมื่อปี 2470 ว่า คุณสมบัติ 3 ประการของสังคมไทย ก็คือ

1. ความรักเอกราช
2. ความปราศจากวิหิงสา
3. การรู้จักประสานประโยชน์

สิ่งที่พวกเราลืมก็คือ พระองค์ท่านได้ให้ภาษาอังกฤษเอาไว้หลัง 3 คำนี้ ภาษาอังกฤษของคำว่า ‘รู้จักประสานประโยชน์’ ที่พระองค์ท่านทรงนิพนธ์ไว้เองก็คือ power assimilation[1]

power assimilation แปลว่า ‘ประสานประโยชน์’ หรือ? หรือคุณจะบอกว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯภาษาอังกฤษห่วยมาก หรือเรากำลังจะบอกว่า เอาเข้าจริงพระองค์ท่านนึกถึงภาษาอังกฤษ แล้วย้อนกลับมาหาภาษาไทยที่ฟังดูแล้วรื่นหู จึงใช้คำว่าประสานประโยชน์ ทั้งที่สิ่งพระองค์ท่านต้องการจะบอกเกี่ยวกับคุณสมบัติสังคมไทยก็คือ รู้จัก power assimilation ซึ่งผมอยากจะตีความว่า คำๆ นี้เอาเข้าจริง หมายถึงการรู้จักลำดับชั้น รู้จักที่ต่ำที่สูงของบารมีนั่นเอง

คุณสมบัติประการที่ 3 ของสังคมไทยที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน แบบที่ประชาชนยินดีที่จะทำตัวเป็นตัวแทนของรัฐอยู่ตลอดเวลาก็คือ เราเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม หรือระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นแบบ ‘organic’ เป็นแบบชีวภาพ

เราได้ยินบ่อยๆ “คนเราต่างกัน นิ้วห้านิ้วยังไม่เท่ากันเลย ขอให้แต่ละคนรู้ว่าทำหน้าของตัวเองให้เหมาะสม เราก็จะผสานกันเป็นสังคมที่มีความปกติสุข นี่คือความคิดเรื่องสังคมอยู่ร่วมกันแบบ organic คือแต่ละคนรู้ตำแหน่งแห่งที่ รู้ที่ต่ำที่สูง ทำของตัวเองให้ดี แล้วมือหนึ่งมือที่มีห้านิ้วก็จะทำงานไปด้วยกันได้เป็นปกติ เปรียบได้กับร่างกาย ซึ่งมีอวัยวะเยอะแยะไม่เหมือนกัน แต่ต่อเมื่ออวัยวะต่างๆ เหล่านั้น ต่างหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ชีวิตก็จะเป็นปกติ”

ความเชื่อแบบนี้เชื่อว่า สังคมก็เหมือนกับชีวภาพ แล้วชีวภาพที่จะมีสุขภาพดี คือเป็นชีวภาพที่องค์รวมต่างๆ สอดคล้องกัน หมายความว่า เราเชื่อว่าทั้งรัฐ คนมีอำนาจ ทั้งประชาชนส่วนต่างๆ ต่างมีตำแหน่งแห่งที่ของตนในองค์รวมชีวภาพ สำหรับยุคปัจจุบันประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว ‘องค์รวม’ นี้ เราเรียกว่า ‘ชาติ’ แต่ก่อนหน้านั้นที่จะมี ‘ชาติ’ ความคิดเรื่องสังคมเป็นองค์รวมก็มีมานานแล้ว แต่ตอนนั้นไม่เรียกว่าชาติ

ความคิดที่ว่าสังคมเป็น organic คือความคิดที่ว่า ‘ชาติ’ ประกอบด้วยคนหลายๆ ส่วน ถ้าต่างคนต่างรู้จักหน้าที่ตัวเอง คนมีอำนาจรู้จักหน้าที่ตัวเอง ทำตัวมีคุณธรรม อย่าไปขายหุ้นแล้วไม่จ่ายภาษี หรือประชาชนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองให้ดี สังคมก็จะอยู่กันอย่างเป็นสุข

นั่นหมายความว่า เชื่อว่าสังคมจะสมบูรณ์มีความสุขดีก็ต่อเมื่อประสานกลมกลืนกันดี การประสานกลมกลืนกันดี ตัดสินกันตรงที่รู้จักทำหน้าที่ตามตำแหน่งแห่งที่หรือองคาพยพที่ตนเองเป็น

ทรรศนะนี้ฟังดูดีและคุ้นมาก ทรรศนะนี้มีอยู่อย่างเข้มแข็งในสังคมไทย นี่ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย หลายสังคมเป็นอย่างนี้ แต่สังคมไทยมีลักษณะอย่างนี้เข้มแข็งมาก รวมทั้ง ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ที่เป็นผู้นำทางความคิดของฝ่ายประชาชนก็เผยแพร่ทรรศนะทางสังคมแบบนี้ตลอดเวลา

อย่าลืม! คนเป็น ‘หมอ’ ต้องคิดแบบนี้

ความสัมพันธ์แบบ organic เป็นทรรศนะหลักอันหนึ่งในโลก ไม่ใช่แค่ของสังคมไทย ไม่ใช่แค่เอเชีย
แต่ผมอยากฝากไว้ว่า ระบบฟาสซิสต์ และนาซี อยู่บนทรรศนะสังคมในแบบ organic นี้

เวลาเรามองสังคมเป็น organic จึงเห็นความแตกต่างของชนชั้น และผลประโยชน์ต่างๆ ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างพลังต่างๆ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นแค่ความต่างที่แต่ละส่วนมีบทบาทหน้าที่เพื่อความสมบูรณ์ขององค์รวม

แทนที่จะมองว่า ความแตกต่างเหล่านั้นคือความขัดแย้ง แทนที่จะมองว่าสังคมเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน และหลายจุดประนีประนอมกันไม่ได้ แทนที่จะมองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่ผลักดันสังคมไปข้างหน้าซึ่งต้องการสถาบันทางการเมืองมาจัดการความขัดแย้งนั้น เช่น การเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตย เรากลับมองว่าการประสานกันให้ได้ลงตัวต่างหากคือความจำเป็นเพื่อรักษาระเบียบสังคมไว้

ความขัดแย้งที่ลงรากลึกรุนแรงแก้ไม่ตก เรามักเรียกว่าเป็นอันตรายต่อสังคม แทนที่จะมองว่าความขัดแย้งชนิดนั้นเป็นสิ่งปกติในสังคม

แทนที่จะมองว่ารัฐเป็นตัวแทนผลประโยชน์หนึ่งของความขัดแย้ง หรือมองว่ารัฐเป็นกรรมการเพื่อแก้ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เป็นผู้ตัดสินเรื่องนโยบายที่เหมาะ ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งย่อมต้องอยู่กับความขัดแย้ง ไม่ใช่ขจัดความขัดแย้ง เพราะเป็นไปไม่ได้ เรากลับมองว่ารัฐเป็น ‘หัว’ เป็น ‘ผู้นำ’ ขององคาพยพที่ต้องสอดคล้องสมานฉันท์กัน และก็มองว่า ผู้ใช้อำนาจจึงต้องทรงคุณธรรม เป็นที่ยอมรับขององคาพยพต่างๆ

วัฒนธรรมทางการเมืองที่อยู่บนฐานของสังคมแบบ organic เพื่อค้ำจุน hierarchy หรือค้ำจุนลำดับชั้นของบารมี จึงคาดหวังประชาชนที่รู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตน ประชาชนที่สมควรจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งขององค์รวม เป็นอวัยวะของชีวภาพที่ควรรู้จักทำตัวให้ดี ไม่ใช่มองว่าประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งของการใช้อำนาจ

สังคม organic สังคมแบบชีวภาพ เพื่อรักษาลำดับชั้นของบารมี จึงเน้นการรู้จักประสานประโยชน์ อย่างที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระองค์ท่านได้กล่าวไว้

ภายในรัฐแบบนี้ ภายใต้ทรรศนะเรื่องรัฐประชาชนแบบนี้ ประชาชนจึงยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ประชาชนจึงสมัครใจที่จะทำตัวเป็นเอเยนต์หรือตัวแทนของรัฐเสียเอง ร่วมด้วยช่วยกันใช้อำนาจบังคับคนอื่น เพื่อรักษาระเบียบสังคมที่อวัยวะต่างๆ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสงบราบคาบและเรียบร้อย

ผมเห็นว่านี่คือภูมิหลังและเงื่อนไขของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในสังคมไทยภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ภายใต้การนำของผู้มีบารมีนำรัฐ นำสังคม นำชาติ ทั้งที่อยู่ใน อยู่นอก อยู่เหนือ อยู่ใต้ และไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ

ประชาชนไม่ว่าที่ไหนก็กลัวอาญาหลวงทั้งนั้น แต่ประชาชนจัดความสัมพันธ์ของตัวเองกับอาญาหลวงอย่างไรต่างหาก ประชาชนไทยจัดความสัมพันธ์ของตัวเองกับอาญาหลวงด้วยการทำตัวให้สอดคล้อง เป็นส่วนหนึ่งของชีวภาพ อาญาหลวงจะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนกับเรา

เราไม่ได้เชื่อว่า รัฐเป็นผู้กดขี่ เราไม่ชอบรัฐ แต่ถึงที่สุดสังคมโดยรวมก็คิดว่า ถ้าเขาดี เราก็ยินดีร่วมมือ
ประชาชนไทยจึงยินดีทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐในแง่แบบนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า เวลาเราคิดถึงรัฐว่าเป็นกลไกการใช้อำนาจบังคับประชาชน ประชาชนคือคู่ขัดแย้ง นั่นคือเรายึดกับทฤษฎีฝรั่ง แต่ลึกๆ สังคมไทยในแง่นั้นเป็นความเป็นจริงทางสังคม (sociological fact) เป็นความคิดของคนที่รู้ดีมีการศึกษา เช่น พวกบรรดานักวิชาการ หรือเอ็นจีโอทั้งหลาย แต่กล่าวในแง่ คอนเซ็ปต์หลักที่อยู่ครอบงำในสังคมไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมคิดว่าสังคมไทยเชื่อและคิดอยู่ตลอดว่า เราเป็นสังคม organic และยอมรับที่จะ ‘รู้จักประสานประโยชน์’ ซึ่งผมอยากจะแปลอีกอย่างว่า ‘รู้จักลำดับชั้นของบารมี’

ภายใต้ concept ว่าด้วยอำนาจแบบบารมี ภายใต้ระเบียบสังคมที่เน้นลำดับชั้นของบารมี และความสัมพันธ์รัฐกับสังคมแบบชีวภาพ ประชาชนจึงเป็นเอเยนต์ของรัฐ

แต่ทว่าที่สุด สังคมหนึ่งๆ เอาเข้าจริงหนีไม่พ้นความขัดแย้งที่ไม่มีทางลงรอยกันได้

สังคมหนึ่งๆ รวมทั้งสังคมไทยด้วย ไม่มีทางหนีพ้นการที่จะกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนคอนเซ็ปต์แบบเดิมๆ ดำรงอยู่ต่อไป แต่จะถูกปะทะขัดแย้งกับความเป็นอื่นที่ละเมิดคอนเซ็ปต์ที่เราคุ้นเคยกัน

การปะทะระหว่างคอนเซ็ปต์ที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง กับความเป็นจริงที่ไม่มีวันหยุดยั้ง จะดำรงอยู่ต่อไป

ถ้าหากเราอยากจะศึกษาเรื่องรัฐในชีวิตประจำวัน ผมอยากฝากว่า ลองเพ่งมองดูการปะทะกันระหว่างความคิดของสังคมแบบเดิมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เดินหน้าไปไม่หยุดยั้ง เราอาจจะเห็นอะไรดีๆ เกี่ยวกับเรื่องรัฐในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น



[1] ขอบคุณอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่ชี้ให้เห็นปัญหาของคำนี้ การตีความเป็นของผมเอง


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7752&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ปาฐกถา ส. ศิวรักษ์ คิดอย่างไทย : สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ


-1-

วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกทิ้งไปแล้ว วันรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นวันหยุดราชการ และมีงานพระราชพิธี อย่างน้อยก็เพื่อถวายบังคมพระบรมรูป พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญเมี่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

เราต้องไม่ลืมว่าปี 2475 เรามีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับแรกพระราชทานเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งประกาศถึงความเป็นใหญ่ของราษฎร ผู้เป็นเจ้าของประเทศ หากถูกสกัดลงไว้ให้เป็นเพียงฉบับชั่วคราว ในขณะที่ฉบับวันที่10 ธันวาคม เป็นฉบับถาวร แต่ในทางพุทธศาสนานั้นไม่มีอะไรที่จะคงทนถาวร พ้นพระอนิจลักษณะไปได้ แต่ฉบับดังกล่าวก็อยู่มาได้ โดยไม่มีการล้มล้างจากคณะปฏิวัติรัฐประหารใดๆ หากเปลี่ยนไปเป็นฉบับ พ.ศ. 2489 ด้วยวิถีทางของประชาธิปไตย คืออภิวัตน์ให้ดีขึ้น อย่างสันติวิธี แต่จะเป็นเพราะฉบับ พ.ศ. 2489 เป็นประชาธิปไตยมากไปหรือมิใช่ จึงถูกพวกเผด็จการและศักดินาขัตติยาธิปไตยทำลายล้างลงภายในเวลาอันสั้น แล้วเราก็ปฏิวัติรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญกันเรื่อยมา จนตราบเท่าทุกวันนี้


ที่เรามาเคารพรูปอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญนั้น ออกจะเป็นการเหมาะสม เท่ากับว่าเรามาบูชาบุคคลที่ควรแก่การบูชา ซึ่งนับว่าเป็นอุดมมงคล การที่ไม่มีรูปท่านอยู่ที่หน้ารัฐสภานั้น ก็ออกจะเป็นการสมควร เพราะสภาที่ปราศจากสัตบุรุษ หาชื่อว่าสภาไม่ ก็รัฐสภาที่ท่านปลุกปั้นขึ้นมาแต่ต้นและประคับประคองมาถึง 15 ปี ยังลืมบุญคุณท่านได้ โดยที่เมื่อรู้ว่าท่านตายจากไป ด้วยการเนรคุณของชนชั้นปกครองที่บริหารบ้านเมืองอยู่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่แม้ยืนไว้อาลัยให้ท่านเพียงหนึ่งนาที โดยที่นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าเสียใจ (และนายกรัฐมนตรีคนที่ว่านี้ก็คือประธานองคมนตรีในเวลานี้) อย่างน้อยนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสยังส่งพวงมาลาไปเคารพศพท่านที่นอกกรุงปารีส ยิ่งสภานิติบัญญัติในบัดนี้ด้วยแล้ว ใครบ้างที่แลเห็นคุณูปการของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่แต่เป็นผู้นำประชาธิปไตยมาหยิบยื่นให้สยาม ในนามของคณะราษฎร หากยังเป็นผู้ซึ่งปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงคงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างสมศักดิ์ศรีอีกด้วย มิใยต้องเอ่ยถึงคุณูปการอื่นๆ ของท่านทางด้านธำรงรักษาไว้ ซึ่งอิสรภาพของบ้านเมือง และถ้าท่านไม่ถูกขจัดไปโดยอำนาจของอธรรม ตามวิถีทางของรัฐประหาร ตามจิตสำนึกของพวกเผด็จการ บ้านเมืองเราคงเดินหน้าไปในทางความเสมอภาค อย่างมีภราดรภาพ โดยอาจเข้าถึงเสรีภาพจากการครอบงำของจักรวรรดินิยมและบรรษัทข้ามชาติอีกก็ยังได้ มิใยต้องเอ่ยถึงการไปพ้นอุ้งมืออุ้งเท้าของขัตติยาธิปไตย

จะกล่าวว่าระบอบทักษิณธนาธิปไตย เป็นศัตรูกับระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ได้ โดยที่รัฐประหารคราวที่แล้ว เป็นการกำจัดทักษิณ ซึ่งเป็นเผด็จการที่ใช้รูปแบบของประชาธิปไตยมารับใช้เขา และพวกเขา ด้วยวิธีการนอกเหนือรัฐธรรมนูญ การกำจัดทักษิณนอกเหนือครรลองของรัฐธรรมนูญนั้น ชอบแล้วละหรือ ไม่มีวิธีอื่นใดภายในกรอบของรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะเอาชนะเขาตามทำนองคลองนิติธรรม ไม่ได้เจียวหรือ ข้าพเจ้าเกรงว่าความข้อนี้ คงไม่มีใครวิเคราะห์กันจริงๆ จังๆ และเมื่อล้มศัตรูของประชาธิปไตยในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปได้แล้ว ได้มีมาตรการใดบ้าง ที่จะสร้างสรรค์ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กุมอำนาจอยู่ในเวลานี้ เคยใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยซ้ำ อยากทราบว่ามีใครเข้าใจลึกซึ้งเพียงใดถึงการปกครองในระบอบดังกล่าว ซึ่งต้องการความลุ่มลึก อย่างสุขุมคัมภีรภาพ มิใช่น้อย

ข้าพเจ้าจะไม่ขอเอ่ยถึงผู้ที่มีภาระในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มาในอดีตและในปัจจุบัน โดยยังไม่เห็นจะมีสักกี่คนเลย ที่ชัดเจนในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 17 กันยายนนี้ จะถือว่าสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของผู้คนในจังหวัดต่างๆ เป็นอย่างมาก และยกย่องกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของเรา แต่จุดอ่อนที่สุด อยู่ตรงที่ไม่ได้ตีบริบทไว้ให้ชัดเจนเอาเลยถึงสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือจะพูดให้เกินเลยไปก็ได้ว่า สถาบันดังกล่าวดูจะอยู่นอกเหนือรัฐสภาไปเอาเลยด้วยซ้ำ

ก็การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ต้องการความละเมียด ละเอียดอ่อน และการดำเนินงานด้านนี้ก็ต้องใช้อุปายโกศลเกินกว่าที่นักการทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจการค้าทั่วๆ ไป จะเข้าใจได้ ยิ่งนักวิชาการที่อาจแม่นในทางนิติศาสตร์ต่างประเทศ โดยแทบไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของวัฒนธรรมไทยเอาเลย จะซาบซึ้งถึงระบอบดังกล่าวกระไรได้

ขอย้ำถึงคุณภาพที่กล่าวมาแล้วอีกครั้ง คือความละเมียด ละเอียดอ่อน และสุขุมคัมภีรภาพ ซึ่งจำต้องผนวกไปกับความกล้าหาญทางจริยธรรม การกล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ให้ทุกสถาบันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่แต่ในแวดวงของสถาบันกษัตริย์ และในแวดวงของชนชั้นนำ หากต้องกระจายไปยังทวยราษฎร์ทุกหมู่เหล่าด้วย

ถ้าไม่เข้าใจความข้อนี้ ผู้คนจะพอใจกับระบบเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หาไม่ก็หันไปหามหาชนรัฐ ซึ่งอ้างว่ามีความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกๆ คนเสมอกันหมด แม้จนประธานาธิบดีก็เป็นสามัญมนุษย์ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี

-2-

เมื่อพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 5 ต้องพระราชประสงค์จะนำความทันสมัยหรือศรีวิไลมาให้สยามตามแบบฝรั่งนั้น ทรงหันไปที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของยุโรปเป็นแบบอย่าง แม้จะมีผู้คนทักท้วงว่า ประมุขของประเทศ ควรมีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบ ควรกำหนดพระราชอำนาจไว้ภายในขอบเขตของกฎหมายให้ชัดเจน ก็ไม่ทรงนำพา เพราะทรงเห็นความสำเร็จ โดยไม่เห็นความล้มเหลวหรือจุดบกพร่องของการปกครองในระบอบราชาธิราช ไม่ว่าจะออสเตรีย – ฮังการี เยอรมนี หรือรัสเซีย แม้อังกฤษจะมีวิวัฒนาการไปในทางประชาธิปไตยยิ่งกว่าอภิมหาอำนาจทั้งสามนี้ แต่สหราชอาณาจักรก็ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมยากที่คนนอกจะเข้าใจได้ แม้ไปเรียนอังกฤษกันมาคนละนานๆ จะหาเนติบัณฑิตอังกฤษคนใดที่เข้าใจถึงเนื้อหาสาระของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ย่อมยากเป็นอย่างยิ่ง อย่าว่าแต่ในรัชกาลที่ 5 เลย หากรวมถึงรัชกาลปัจจุบันด้วย ดังนายกรัฐมนตรีพระราชทานที่เลวร้ายอย่างสุดๆ ในทางเผด็จการ ก็คือผลผลิตจากเนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษนั้นแล ทั้งนี้โดยไม่ต้องเอ่ยถึงนายกรัฐมนตรีคนแรกในปี 2475 ก็ได้ว่านั่นก็เนติบัณฑิตอังกฤษ ที่ไม่แลเห็นคุณของประชาธิปไตยเช่นกัน

ในรัชกาลที่ 5 ประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นราชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงฝรั่งเศส โปรตุเกส กับสวิสเซอร์แลนด์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 เท่านั้น ราชาธิปไตยปลอดไปจากยุโรปเกือบหมด ดังแฮรอลด์ นิโกลสัน เอ่ยไว้ในพระราชประวัติพระเจ้ายอชที่ 5 แห่งอังกฤษ ว่าในรัชกาลดังกล่าว “โลกได้แลเห็นว่าพระจักรพรรดิสิ้นไป 5 พระมหากษัตริย์สิ้นไป 8 ราชวงศ์ต่างๆ ก็ปลาสนาการไปอีก 18”

สาระสำคัญที่สถาบันกษัตริย์ในยุโรปปลาสนาการไป เพราะแพ้สงคราม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็ตรงที่สถาบันกษัตริย์ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของรัฐธรรมนูญ มหาชน

รัฐไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอุดมคติ แต่เกิดขึ้นเพราะระบบกษัตริย์ไม่อาจคงทนอยู่ได้

ในเอเชีย สถาบันกษัตริย์ปลาสนาการไปเพราะเสียเอกราชไปกับจักรวรรดิฝรั่ง เว้นเสียแต่ว่าฝรั่งจะต้องการรักษาสถาบันดังกล่าวไว้ภายในอารักขาของตน เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม้เมื่อลาวเป็นประเทศคอมมูนิสต์แล้ว แรกทีเดียวก็ไม่คิดจะล้มสถาบันเดิม แต่เจ้ามหาชีวิตไม่คิดถึงหัวอกของชนชั้นปกครองอย่างใหม่ ทั้งยังฝังพระทัยไปทางอาณานิคมฝรั่งมาโดยตลอดอีกด้วย สำหรับเวียดนาม จักรพรรดิ์เบาได๋ก็เป็นตัวเชิดให้ฝรั่งอย่างปราศจากจิตสำนึกในทางอิสรภาพ จึงต้องถูกถอดไป สำหรับกัมพูชานั้น สถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับสมเด็จพระสีหนุยิ่งกว่าอะไรอื่น แม้จะโปรดให้พระราชโอรสสืบราชสมบัติแทนแล้ว ก็ไม่แน่ว่าสถาบันดังกล่าวจะไปรอดหรือไม่ เพราะการเอาสถาบันกษัตริย์ไปผูกไว้กับความเป็นผู้นำของพระราชาพระองค์เดียว ย่อมเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง ส่วนจีน ไทย กับญี่ปุ่น ที่ไม่เสียเอกราชให้ฝรั่งไปนั้น ระบบกษัตริย์จีนถูกโค่นล้มลงโดยขบวนการชาตินิยม ซึ่งถือว่าราชวงศ์แมนจูไม่ใช่จีน และสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นดำรงอยู่ได้ แม้จะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพราะอเมริกันต้องการประคับประคองเอาไว้ให้เป็นเจว็ด โดยจะไม่ขอเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์ไทยในที่นี้

อีกสองประเทศในเอเชียใต้ที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ ก็เพราะอังกฤษปล่อยให้มีไว้ในสมัยปกครองอินเดีย เช่น เนปาล ซึ่งคงถึงกาลอวสานในเร็วๆ นี้ ส่วนภูฐานนั้น พระราชาต้องการถางทางให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยภายในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีๆ นี่ก็อาจเป็นโทษได้ยิ่งกว่าเป็นคุณ สำหรับมาเลเซียนั่นเล่า เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆ ผลัดกันเป็นพระราชาธิบดีทุกๆ 5 ปี และเมื่อนายมหาเธียร์ โมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลดพระราชอำนาจลงจนเกือบหมด ในทางบูรไน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เฉกเช่นทางซาอุดิอารเบียนั้นแล ดังที่กษัตริย์เปอร์เซียก็เป็นเช่นนี้มาก่อน แล้วก็ต้องถูกขับไล่ไสส่งไป อนึ่ง พระเจ้าฟารุคแห่งอียิปต์เคยตรัสว่า ในอนาคตจะมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่เพียง 5 องค์ คืออังกฤษองค์หนึ่ง ส่วนอีกสี่องค์นั้นอยู่ในไพ่ป๊อก

การล้มเลิกระบบกษัตริย์ เพื่อเอาระบบมหาชานรัฐมาแทนที่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเปลี่ยนตัวประมุขจากการสืบทอดสันตติวงศ์มาเป็นประมุขที่รับเลือกมาเท่านั้น แต่ถ้ามองจากอดีตให้จะๆ แล้ว จะเห็นได้ว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน หรือไม่ก่อให้เกิดเสรีภาพ เพราะมักจะเปลี่ยนไปในทางเผด็จการ ซึ่งก่อให้เกิดเสถียรภาพกับชนชั้นบนจำนวนน้อย อย่างไม่ต่างกันไปมากนักกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ระบบกษัตริย์มักเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ด้วยเสมอไป เพราะพระราชพิธีมักโยงไปในทางลัทธิศาสนาด้วย แม้รัชกาลของพระนางเอลิซเบธที่ 2 ของอังกฤษนี่เอง เมื่อเสวยราชย์แล้วได้ 4 ปี (คือปี ค.ศ. 1956) ประชามติยังออกมาว่าคนอังกฤษถึงร้อยละ 35 เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกพระนางเธอให้เสวยราชย์ แต่ในปัจจุบัน ความเชื่อในเรื่องพระสภาวะอันพิเศษของพระบรมราชินีนาถปลาสนาการไปจากคนอังกฤษเกือบหมดแล้ว ยิ่งสมัยที่นางมากาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แต่ปี 1979 ถึง 1990 ด้วยแล้ว นางถึงกับประกาศว่า สถาบันอันเก่าแก่ทั้งหลายของอังกฤษต้องได้รับการท้าทาย หาไม่จะไม่เกิดความทันสมัย ดูทักษิณ ชินวัตร ก็จะได้กระเส็นกระสายความคิดในเรื่องนี้มามิใช่น้อย นางมากาเร็ต แทตเชอร์ท้าทายระบบข้าราชการ ศาล ศาสนจักร มหาวิทยาลัย รวมถึงบีบีซี แต่สถาบันกษัตริย์กลับปลอดไปจากความสั่นสะเทือนเอาเลยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่นางมีพฤติกรรมและแสดงอาการกิริยาท้าทายสถาบันดังกล่าวมิใช่น้อย ทั้งนี้ก็เพราะสถาบันสามารถปรับตัวเองได้ มิใยว่าเสรีภาพจะมีมากขนาดไหน ในทางสื่อสารมวลชนถึงขนาดล่วงละเมิดไปยังวิถีชีวิตส่วนพระองค์ขององค์พระประมุขและราชตระกูลอย่างจังๆ แต่ก็ทรงไว้ซึ่งพระขันติธรรม และปรับปรุงสถาบัน แม้จะไม่ถึงกับทันสมัย ก็ไม่ล้าหลังไปเสียเลยทีเดียว ถึงจะล่าช้าไปบ้างหรือขัดขืนประชามติไปบ้าง แต่พอรู้พระองค์ ก็ยอมเปลี่ยนท่าทีอย่างงามสง่า ดังใครที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Queen ที่นำออกแสดงเมื่อเร็วๆ นี้ จะเข้าใจความข้อนี้ได้

บทเรียนประการหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่องนี้ มีอยู่ว่าถ้าเจ้านายในพระราชวงศ์ต้องการประชานิยมมากเกินพอดีไป ให้โทษต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมักมองไม่เห็นกันในระยะสั้นอีกด้วย


-3-

ดุ๊กออฟเอดินเบอเร่อ พระสวามีของพระบรมราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรในปัจจุบันเคยตรัสว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของพระราชา หากมีไว้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของราษฎร

ถ้าเข้าใจข้อความนี้ได้ชัดและทำตามนี้ ก็จะเห็นได้ว่าสถาบันกษัตริย์ในยุโรปที่ดำรงคงอยู่ได้ ก็เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในแนวทางของประชาธิปไตย ทุกประเทศ แม้ประเทศที่เคยเป็นเผด็จการมาอย่าง สเปน พอหันมาหาระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศนั้นก็หันเหไปทางเสรีภาพและภราดรภาพ ยิ่งๆ ขึ้น แม้จะมีปัญหาของชนชาติที่ต่างกันอย่างฉกรรจ์ เช่นพวกบาสค์ แต่ก็หาทางหันหน้าเข้าหากันได้อย่างสันติวิธี เพราะพระราชาธิบดี ทรงวางพระองค์เป็นกลาง อย่างเข้าใจเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย

สำหรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสแกนดิเนเวีย องค์พระประมุขอาจมีความเป็นผู้นำน้อย แต่ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรม ที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งพระราชาธิบดีของประเทศเบลเยี่ยมด้วยแล้ว ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ผู้คนในประเทศยอมรับความเป็นกลาง เพราะครึ่งประเทศเป็นพวกเฟลมิช อีกครึ่งเป็นพวกวัลลูน พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงเป็น The King of Belgium แต่ทรงเป็น The King of the Belgians ความละเอียดอ่อนเช่นนี้ ยากที่จะมีได้นอกสถาบันดังกล่าว

ส่วนสุลต่านทางอาหรับนั้น มุ่งใช้สถาบันกษัตริย์ไปเพื่อรับใช้ชนชั้นตนและราชวงศ์ของตนยิ่งกว่าอะไรอื่น จึงจำต้องเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเผด็จการอยู่แม้จนบัดนี้ โดยที่สถาบันดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหน ก็ขอให้คอยดูกันต่อไป

ทราบกันทั่วไปว่า หนังสือของ Walter Bagehot เรื่อง The English Constitution ที่ตีพิมพ์แต่ ค.ศ. 1867 นั้น พระราชาธิบดีของอังกฤษแทบทุกพระองค์ ตลอดจนมงกุฏราชกุมารองค์ปัจจุบัน ย่อมทรงศึกษาดังกับว่าเป็นคัมภีร์เลยทีเดียว

Bangehot เขียนไว้ชัดเจน ว่าพระราชาทรงสิทธิ 3 ประการ กับรัฐบาลของพระองค์คือ

1) รัฐบาลต้องปรึกษาหารือองค์พระประมุข 2) ทรงอุดหนุนหรือประทานกำลังใจ และ 3) ทรงตักเตือน ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ปรากฏต่อมหาชน พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีของพระองค์ ก็อาจทูลแนะนำองค์พระประมุขได้ แม้พระราชดำรัส ต่อมหาชนหรือรัฐสภา ก็เกิดจากคำแนะนำของรัฐบาล คือไม่ต้องทรงรับผิดชอบต่อถ้อยคำนั้นๆ หากรัฐบาลต้องรับผิดชอบ คือต้องเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการทั้งหลาย สมกับคำที่ว่า The King can do no wrong เพราะรัฐบาลรับผิดชอบแทนพระองค์อยู่แล้ว

ในระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญนั้น ประมุขของประเทศแตกต่างจากประมุขของรัฐบาล ประมุขของประเทศประกอบพระราชกรณียกิจ 3 ประการที่สำคัญ คือ 1) หน้าที่อย่างเป็นทางราชการ เช่น ตั้งนายกรัฐมนตรี และออกพระราชกำหนด ปิดรัฐสภา (ถ้าพระราชาไม่เป็นเพียงเจว็ดหรือเป็นเผด็จการแล้วไซร้ ย่อมทรงใช้พระราชอำนาจทั้งสองประการนี้อย่างแยบคาย) 2) หน้าที่ในทางพิธีกรรม รวมถึงกิจการงานทางสังคม 3) ที่สำคัญสุด คือสัญลักษณ์ของประชาชาติ ถ้าพระราชาขาดความเป็นกลาง หรือไม่เป็นที่ยอมรับอย่างจริงใจในหมู่ชนชั้นนำหรือในบรรดาทวยราษฎร์ ไม่อาจทรงเป็นสัญลักษณ์ของประชาชาติได้ การสดุดีพระราชาอย่างสุดๆ ไม่ได้หมายความว่า นั่นคือสัญลักษณ์ที่แท้ของประชาชาติ หากประโยชน์ดังกล่าวได้กับพวกสอพลอปอปั้นต่างหาก และการเยินยออย่างเกินเลยไปนั้น อาจเป็นไปดังนิทานที่ว่า The King and the new cloth ก็ได้

Bagahot เน้นไว้ในเรื่อง The English Constitution ถึงข้อแตกต่างระหว่าง Efficient กับ dignified elements อย่างแรกคือความสามารถในการปกครอง ในการดำเนินตามนโยบาย ซึ่งน่าจะได้แก่นายกรัฐมนตรี ส่วนอย่างหลังนั้น คือการกระทำที่มีศักดิ์ศรี เพื่อความสมานฉันท์ของทวยราษฎร์ แม้จะต่างพรรคการเมือง ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา กรณียกิจอย่างนี้สถาบันกษัตริย์ที่ปรับตนได้อย่างสมสมัย ทำได้ดีกว่าประธานาธิบดี แม้ที่เป็นเพียงประมุขอย่างอินเดีย เป็นต้น

ปี 1802 Sir William Anson ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงกับเขียนข้อความว่า “ในเรื่องของรัฐ พระราชาย่อมไม่รับคำแนะนำจากคนอื่น ที่ไม่ใช่คนของรัฐบาล พระองค์ย่อมไม่ทรงแสดงทัศนะทางการเมือง โดยไม่ได้ทรงหารือรัฐบาลก่อน และย่อมทรงรับทัศนะของรัฐบาลและสนับสนุนคณะรัฐมนตรี ตลอดเวลาที่เขาเหล่านั้นเป็นรัฐบาลของพระองค์”

แม้ทัศนคติของพระราชาในทางส่วนพระองค์ ก็ย่อมต้องระวังพระองค์ ไม่ให้กระทบกระเทือนรัฐบาลของพระองค์ และที่สำคัญเหนืออื่นใดสำหรับสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญนั้นก็คือ พระราชาและพระราชินีต้องไม่ข้องแวะกับขุนพลทั้งหลายทั้งปวง ทหารมีหน้าที่เพียงรักษาพระราชอิสริยยศ หากนอกเหนือไปจากนี้ ในระยะยาวจักเป็นอันตรายกับสถาบันกษัตริย์อย่างร้ายแรงที่สุด แม้พระราชาของสเปนจะเคยเป็นนักเรียนนายเรือมาก่อน ครั้นพวกทหารต้องการล้มล้างรัฐบาลพลเรือนนอกเหนือรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ทรงอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่หันเหพระองค์ไปในทางทหารเอาเลย นี่แลที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ของสเปนได้รับความเคารพนับถือจากทุกๆ คน ที่เห็นว่าประชาธิปไตยสำคัญเหนือความสำเร็จทางเผด็จการในระยะสั้น

การที่ทรงวางพระองค์เป็นกลางได้อย่างเคร่งครัด ย่อมเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในระบอบรัฐธรรมนูญ และจะทรงทำเช่นนั้นได้ ต้องมีราชเลขานุการที่สามารถ และเป็นกลาง อย่างมีความกล้าหาญทาง จริยธรรม ที่จะขัดพระราชหฤทัยด้วย พร้อมกันนั้น ราชเลขานุการก็ต้องไม่ฝักใฝ่ในทางการเมือง หรือธุรกิจการค้าอีกด้วย โดยต้องอุทิศเวลาทั้งหมดเพียงเพื่อพระราชาเท่านั้น

บทบาทของราชเลขานุการนั้นเป็นไปเพื่อรักษาพระสถานะทางรัฐธรรมนูญของพระราชา โดยที่พระราชาย่อมต้องทรงทราบเรื่องต่างๆ ที่เจ้ากระทรวงต่างๆ ทูลเสนอขึ้นมา เพื่อไม่ให้ทรงทราบความข้างเดียว เพื่อจะได้ตัดสินพระทัยถูก ทางด้านการใช้พระราชอำนาจ พระราชาองค์เดียวจะทรงรอบรู้ทุกๆ เรื่องกระไรได้ จำต้องมีคนกล้าทูล กล้าท้วง แต่ไม่ใช่เพื่อมาชี้แนะพระองค์ท่าน

ระบบองคมนตรีของอังกฤษเป็นเพียงสัญลักษณ์ในทางนิตินัยและพิธีกรรมเท่านั้น ดังระบบองคมนตรีและอภิรัฐมนตรีของไทยในสมัยราชาธิปไตยก็เริ่มมาด้วยดี แล้วก็กลายสภาพไปจากสาระที่แท้อย่างน่าเสียดาย

ดังกล่าวแล้วว่า Bagehot บ่งว่า พระราชาทรงไว้ซึ่งสิทธิที่รัฐบาลจำต้องหารือ เพื่อจะได้ทรงอุดหนุนให้กระทำการ หรือทรงเตือนให้ระวัง แต่ก่อนที่จะทรงกระทำเช่นนั้นได้ จำต้องทรงสามารถใช้พระราชวินิจฉัย นอกเหนือไปจากคำกราบทูลของรัฐบาล ราชเลขาฯ มีหน้าที่กราบทูลให้ได้ทรงทราบข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวางออกไป แต่ราชเลขาฯไม่มีหน้าที่เพ็ดทูล เสนอแนะ ซึ่งมาได้เพียงจากรัฐบาลเท่านั้น

ที่ว่ามานี้เป็นของอังกฤษ ของเราเองเป็นไปเช่นไร จักยังไม่ขอเอ่ยถึงในที่นี้ แต่บทบาทของราชเลขาฯ นั้นสำคัญยิ่งนัก ในอดีต ม.จ. นิกรเทวัญ เทวกุล ก็ดี ม.จ. วงศานุวัตร เทวกุลก็ดี และ ม.ล. ทวีสันต์ ลาดาวัลย์ ก็ดี ล้วนมีบทบาทอย่างควรแก่การก้มศีรษะให้ทุกท่าน แม้ในสมัยราชาธิปไตย เราก็มีกรมหลวงปาจิณ- กิติบดี และเจ้าพระยามหิธร ซึ่งทำหน้าที่ ที่รักษาความเป็นกลางของตำแหน่งอย่างน่าชื่นชม ทุกท่านอุทิศตนในการรับใช้พระมหากษัตริย์อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย แม้รองราชเลขาธิการอย่างนายภาวาส บุนนาค ก็เช่นกัน

ไม่แต่ราชเลขาฯ เท่านั้น หากนักการเมืองและประชาราษฎรทั่วๆ ไป ถ้าเห็นคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ จำต้องช่วยกันทำให้ความเป็นกลางและความโปร่งใสของสถาบันดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่ให้สถาบันสูงสุดไปพัวพันกับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร หรือในทางอื่นใด นอกเหนือวิถีทางของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐาน

ถ้าสถาบันกษัตริย์ขัดกับรัฐธรรมนูญเมื่อใด สถาบันนั้นก็จะคลอนแคลนไป โดยยากที่จะรับรู้ได้อย่างผิวเผิน และถ้าไม่ตระหนักให้ชัด สถาบันกษัตริย์ก็จะเป็นไปเพื่อพระราชา ยิ่งกว่าเพื่อราษฎร ถ้าความจริงข้อนี้เข้าใจกันชัดเจนและกว้างขวางเพียงใด หายนภัยของสถาบันกษัตริย์ก็จะมีมากและเร็วขึ้นเพียงนั้น

นอกจากบทบาทของราชเลขาฯ ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง ทางด้านการปิดทองหลังพระแล้ว การใช้จ่ายพระราชทรัพย์ก็สำคัญยิ่งนัก ความข้อนี้จำต้องโปร่งใสในทุกๆ ทาง ทางอังกฤษประเด็นนี้เป็นที่ท้าทายมาก มาแทบทุกรัชสมัย แม้จนบัดนี้ ก็ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร แต่ยิ่งมีเสียงเรียกร้อง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ มากขึ้นเท่าไร องค์พระราชาและมกุฏราชกุมารก็พยายามปรับปรุงสถานะทางด้านนี้กันยิ่งๆ ขึ้น อย่างน่าสำเหนียก

การไม่ฟังคำเรียกร้อง คำวิพากษ์วิจารณ์ คือการขัดขืนประชามติ ซึ่งผิดก็ได้ ถูกก็ได้ แต่ถ้ารับฟังคำติชม และหาทางอธิบายให้เข้าใจกันได้ สถาบันนั้นๆ ย่อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองไปได้ ตามจังหวะจะโคน และขั้นตอนทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ทุกสังคม ทุกสถาบัน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพระอนิจลักษณะ จะขัดขืนอยู่หาได้ไม่

ที่แสดงบรรยายมานี้ คงเป็นแสงสว่างได้รางๆ สำหรับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งไม่ต้องการความมืดมิด ผิดกับมหาวิทยาลัยในกระแสหลักทั้งหลาย ซึ่งดูจะติดยึดอยู่กับความมืด หรือความกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริง กึ่งเท็จ ยิ่งกว่าที่จะกล้าแสวงหาสัจธรรม หรืออย่างน้อยก็ไม่กล้าพูดความจริงอย่างจังๆ ในเรื่องสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ อธิการบดีบางมหาวิทยาลัยถึงกับยอมเข้าข้างทรราชอย่างเชื่องๆ ซึ่งบางทีถึงกับอ้างว่าทรราชเป็นองค์อธิปัตย์เอาเลยก็มี จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพวกนี้ต้องการออกจากกำกับของรัฐ เพื่อมุ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐทรัพย์สำหรับเขาและพวกเขา ยิ่งกว่าจะเข้าใจถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ


.......................................................................

ส. ศิวรักษ์ พูดที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2549 ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

[เอกสารที่ใช้ประกอบการเตรียมปาฐกถานี้อาศัย The Monarchy and the Constitution by Vernon Bogdonar (OUP 1997) มากกว่าอะไรอื่น]

ที่มา : http://www.semsikkha.org/paca/index.php?option=com_content&task=view&id=241&Itemid=1


หมายเหตุ
เน้นข้อความโดยผู้จัดเก็บบทความ

ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6194&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

อะไรคือ ตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์”


เรามักได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า ผู้พิพากษาตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” คำกล่าวนี้ผู้พิพากษาหยิบยกขึ้นอ้างบ้าง คู่ความที่ชนะคดีหยิบยกขึ้นอ้างบ้าง ผู้ได้ประโยชน์จากคำพิพากษาหยิบยกขึ้นอ้างบ้าง ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับคำพิพากษา สะกดคนให้ยอมรับคำพิพากษา และอาจบานปลายไปถึงขนาดสร้างเกราะป้องกันจากการวิพากษ์วิจารณ์

ยิ่งไปกว่านั้นในบางกรณี นอกจากคำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” จะเสริมสร้างบารมีให้กับตัวคำพิพากษาแล้ว ยังอาจแผ่บารมีต่อไปยังตัวผู้พิพากษา ทั้งในฐานะบุคคลที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีและในฐานะบุคคลธรรมดาเหมือนคนทั่วไปอีกด้วย ค่านิยมทำนองนี้อาจนำมาซึ่งสภาวะแตะต้องมิได้ของคำพิพากษาและผู้พิพากษา

ดังที่เคยปรากฏในคำพิพากษาคดีหนึ่งที่โจทก์ฟ้องว่า ผู้พิพากษาตัดสินคดีผิดพลาด แต่ศาลตัดสินว่า ผู้พิพากษาทำในนามพระปรมาภิไธย เมื่อกษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด ผู้พิพากษาจึงไม่ต้องรับผิดตามไปด้วย (ดู จรัญ โฆณานันท์, นิติปรัชญา, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544, หน้า 307 และ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, ปาจารยสาร, ปีที่ 14, ฉบับที่ 6, พฤศจิกายน-ธันวาคม 2530.)

แล้วคำว่า “ผู้พิพากษาตัดสินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์” หมายความอย่างไร ?

สมควรทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ในระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ และให้พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่นั้น ยึดถือหลักการ “กษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิด” หรือ “The king can do no wrong”ที่ว่า “no wrong” นั้น หมายความว่า “The king” ไม่ทำอะไรเลยจึง “no wrong” กล่าวคือ กษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศ คณะรัฐมนตรี สภา ศาล องค์กรของรัฐอื่นๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ใช้อำนาจอย่างแท้จริง แต่ใช้ในนามของกษัตริย์ และเป็นผู้ใช้อำนาจเหล่านั้นนั่นเองที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำของตน สมดังคำกล่าวที่ว่า “กษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ทรงปกครอง“

จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่การกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ต้องมี “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะการใช้อำนาจอธิปไตยต้องใช้ในนามกษัตริย์ จึงต้องให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในการกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจอธิปไตย แต่เมื่อกษัตริย์ไม่ต้องรับผิดและไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย จึงต้องให้องค์กรหรือบุคคลที่ใช้อำนาจในเรื่องนั้นจริงๆ เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบแทน ด้วยการกำหนดให้องค์กรหรือบุคคลนั้นเข้ามาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ

กล่าวให้ชัดขึ้น คือ “การลงพระปรมาภิไธย” ในการกระทำใด ก็เพื่อบอกว่า การกระทำนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในนามของกษัตริย์ และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เพื่อแสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้นกระทำโดยองค์กรผู้สนองพระบรมราชโองการในนามของกษัตริย์ และรับผิดชอบโดยองค์กรผู้สนองพระบรมราชโองการ

การตราพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกาขึ้นใช้บังคับก็ดี การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็ดี การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทั้งพลเรือนและทหารก็ดี ล้วนแล้วแต่กระทำโดยองค์กรของรัฐผู้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาหรือการตัดสินคดีของบรรดาผู้พิพากษาหรือตุลาการ กลับไม่มี “การลงพระปรมาภิไธย” และ “การสนองพระบรมราชโองการ” เหมือนกับการกระทำของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา ตรงกันข้าม กลับปรากฏคำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” บนหัวคำพิพากษาแทน เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ?

ความแตกต่างเช่นนี้ส่งผลให้ “พลัง” ของคำ พิพากษาวิเศษกว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาหรือไม่ ?

ความข้อนี้มีเหตุมาจากการพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน ค่าเฉลี่ยมีมากกว่าการตราพระราชบัญญัติหรือแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง จำนวนคดีที่อยู่ในกระบวนพิจารณาก็มาก หากต้องมีกระบวนการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างคำ พิพากษา เพื่อให้พระมหากษัตริย์ “ทรงลงพระปรมาภิไธย” ให้มีผลใช้บังคับ โดยมีองค์คณะผู้ พิพากษาเป็น “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” เหมือนกระบวนการตราพระราชบัญญัติ ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพิพากษาคดีจนทำให้การตัดสินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า จึงจำเป็นต้องสร้างรูปแบบ (form) ในคำพิพากษา ให้ผู้พิพากษา “ตัดสินในพระปรมาภิไธย” โดยไม่ต้องมีการทูลเกล้าฯ

นี่เป็นเหตุให้ไม่มีพระปรมาภิไธยในคำพิพากษาทุกฉบับ แต่มีคำว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” แทนการตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” จึงไม่ได้หมายความว่า องค์กรตุลาการมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากกว่าองค์กรอื่น จนทำให้การกระทำขององค์กรตุลาการมี “บุญญาบารมี” เหนือกว่าการกระทำขององค์กรของรัฐอื่น หรือทำให้เกียรติยศเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษาเหนือกว่าองค์กรอื่น เพราะเอาเข้าจริงแล้วในราชอาณาจักร ไม่ว่ารัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรี ก็ล้วนแล้วแต่กระทำการในนามกษัตริย์เหมือนๆ กับศาล คำกล่าวที่ว่า ศาลเป็นองค์กรเดียวที่กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ จึงไม่ถูกต้อง

รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 233 ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” เป็นเพียงการสร้างรูปแบบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับหลัก “ความเป็นราชอาณาจักร” (กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐต้องเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน) และหลัก “ประชาธิปไตย” (กษัตริย์ไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตนเอง แต่เป็นองค์กรอื่นที่ใช้แทนในนามของกษัตริย์) เพื่อแสดงให้เห็นว่าศาลในฐานะองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ได้ใช้อำนาจโดยตรงด้วยตนเอง และกระทำในนามกษัตริย์ ดุจเดียวกันกับองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรืออำนาจบริหาร

อาจเห็นแย้งกันว่า การตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ทำให้คำพิพากษามีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สุด ความข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ตัดสินในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” แต่อย่างใด เพราะองค์กรตุลาการในนิติรัฐ มีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือ คำพิพากษาขององค์กรตุลาการต้องเป็นที่ยุติ (res judicata) ดังนั้นไม่ว่าศาลในประเทศที่มีกษัตริย์หรือไม่มี อย่างไรเสีย คำพิพากษาก็มีค่าบังคับ (autorit ? de la chose juge ?) และเป็นที่ยุติ (res judicata) อยู่แล้ว

หากจะกล่าวอ้างว่า ในราชอาณาจักรที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์เป็นผู้เดียวที่มอบความยุติธรรมให้แก่ราษฎร เมื่อราชอาณาจักรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อำนาจมอบความยุติธรรม อีกนัยหนึ่ง คืออำนาจตุลาการ ก็ได้ถ่ายทอดมายังศาลแทน เหตุผลเช่นนี้ นับว่าประหลาด ก็ในเมื่อปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจทุกประการที่กษัตริย์เป็นผู้ใช้เองโดยตรง ก็ถ่ายทอดมายังองค์กรของรัฐอื่นๆ ให้เป็นผู้ใช้แทนเหมือนกันหมด ยิ่งพิจารณาจากราชอาณาจักรประชาธิปไตยอื่น เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สเปน ไม่ปรากฏว่าการตัดสินในพระปรมาภิไธยจะส่งผลให้องค์กรตุลาการมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากขึ้นแต่อย่างใด

สมควรกล่าวด้วยว่า ประเทศอื่นๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นราชอาณาจักร เมื่อองค์กรตุลาการตัดสินคดีในนามของกษัตริย์ (in the name of king) ก็ไม่ได้มีความพิเศษไปกว่าองค์กรตุลาการในสาธารณรัฐที่ตัดสินในนามของประชาชน (in the name of people) ในสหราชอาณาจักร บุคคลทั่วไปย่อมวิจารณ์คำพิพากษาหรือตัวผู้พิพากษาอย่างสุจริตใจโดยมิต้องเกรงกลัวต่อภัยใดได้เช่นเดียวกันกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส เช่นกันผู้พิพากษาในสหราชอาณาจักรไม่ได้มีบุญญาบารมีมากไปกว่าองค์กรอื่น เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในสาธารณรัฐฝรั่งเศสก็ไม่มีสถานะสูงส่งกว่าองค์กรอื่น

อาจกล่าวได้ว่า ศาลจะตัดสินในนามกษัตริย์อย่างราชอาณาจักร หรือในนามประชาชนอย่างสาธารณรัฐ เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงรูปแบบของรัฐเท่านั้น หาได้แตกต่างในเนื้อหาไม่

กล่าวให้ถึงที่สุด การกำหนดให้ผู้พิพากษาตัดสิน “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ไม่มีอะไรมากไปกว่า เป็นการสร้างจุดเชื่อมโยงขององค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการให้สัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ซึ่งราชอาณาจักรในระบอบประชาธิปไตยกำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในนามเท่านั้น ทำนองเดียวกันกับการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เข้ากับพระมหากษัตริย์ โดยผ่านเทคนิคการลงพระปรมาภิไธยและการสนองพระบรมราชโองการ

โดยธรรมชาติขององค์กรตุลาการเป็นองค์กรปิด ไม่มีฐานะที่มาจากการเลือกตั้ง กลไกการตรวจสอบจากภายนอกมีจำกัด ทั้งนี้เพื่อประกันความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ เมื่อการตรวจสอบโดยองค์กรอื่นมีน้อยจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยช่องทางวิจารณ์คำพิพากษาว่า การให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาสมเหตุสมผลหรือไม่ อยู่ในกรอบของอำนาจของตนหรือไม่ และเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

หากองค์กรตุลาการอ้างว่า “ตัดสินในพระปรมาภิไธย” เพื่อปิดช่องทางการวิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษา ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบได้

เมื่ออ่านบทความนี้จนจบแล้ว หากยังยืนยันว่า “ตัดสินในพระปรมาภิไธย” ทำให้ศาลมีความคุ้มกันในระดับใกล้เคียงอย่างยิ่งกับความคุ้มกันที่สถาบันกษัตริย์มี

ก็คงไม่มีอะไรจะอธิบายอีก นอกจากบอกว่า นั่นไม่ใช่ศาลในระบอบประชาธิปไตย แต่อาจเป็นศาลในระบอบประชาธิปไตย “แบบไทยๆ”


ปิยบุตร แสงกนกกุล


คอลัมน์ ระดมสมอง ประชาชาติธุรกิจ

ที่มา : http://thaksin.wordpress.com/2007/06/26/%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A1/

หมานเหตุ
การเน้นข้อความบางข้อความมาจากความสนใจของผู้จัดเก็บบทความเอง

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550

The Queen: ยุคสมัย อำนาจ และสถาบันกษัตริย์


ไปดู The Queen มาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เป็นหนังที่เกี่ยวกับพระราชินี Elizabeth ที่ 2 แห่งอังกฤษ กับแรงกดดันในช่วงที่เจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต ดูแล้วให้ความรู้สึกที่แปลกไปจากดูหนังเรื่องอื่น ๆ เพราะความที่หนังพยายามจะสื่อออกมาให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องจริง แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อเรื่องก็ออกจะดูเสียดสีราชวงศ์พอสมควร เลยไม่แน่ใจว่า หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่ หากต้องการแค่ความสนุกสนาน ก็คงจะได้ แต่ที่แน่ ๆ มันมีภาพลักษณ์ของราชวงศ์ติดมาด้วย ซึ่งอันนี้คนทำหนัง ไม่คิดถึง คงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากจะเป็นการช่วยภาพลักษณ์ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ถ้าเพื่อเสียดสีล้อเลียน เพื่อให้ราชวงศ์ได้อาย และต่อต้าน (หรืออย่างเลวร้ายที่สุด ก็เพื่อล้มล้าง) สถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมเห็นจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า เพราะตัวละครแต่ละตัวในราชวงศ์ ต่างถูกสร้างขึ้นมาให้ดูน่าขำอย่างที่สุด

คนที่ผมเห็นว่าภาพลักษณ์ดูแย่ที่สุดในเรื่อง เห็นจะไม่ใช่พระราชินี Elizabeth ที่ 2 หากแต่เป็นเจ้าชาย Phillip ที่หนังสร้างให้เป็นคนที่ดูอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง วัน ๆ เอาแต่เข้าป่าล่าสัตว์ลูกเดียว ซึ่งก็ดูไม่แปลกหากมองว่า สถาบันกษัตริย์ไหน ๆ ก็มีจุดยืนอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกัน [ใจ อึ้งภากรณ์, 2549] เพียงแต่ถ้ามองในเชิงคนดูทั่วไป ก็แน่นอนว่าออกจะดูขัดหูขัดตา คล้าย ๆ กับหนังมีตัวโกงแบบ master mind ยังไง ยังงั้น ในขณะที่เจ้าฟ้าชาย Charles ก็อ่อนแอมาก และออกจะดูไม่ฉลาดหลักแหลมเอาเสียเลย

แต่กระนั้น ประเด็นหลัก ของหนังที่เอามาขายมีอยู่ 3 ประเด็น ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ


1. ความแตกต่างระหว่างวัย สมัย และเวลา

คนส่วนใหญ่จับตามอง ของการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในยุคที่ความเป็นประชาธิปไตยและแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) ถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่มีขนบธรรมเนียมที่เคร่งครัด สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นแน่นอนการถ่ายทอดของอำนาจจากยุคสู่ยุค ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของทั้งภายใน และนอกประเทศ รวมไปถึงเรื่องสำคัญ อย่างเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน อย่างข่าวล่าสุด ที่ออกฮือฮา เกี่ยวกับสมเด็จพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ก็คือ การที่ทรงซื้อ iPod Mini มาใช้ [See also: Engadget] และเสียงพระราชทานอวยพร เนื่องในวันคริสต์มาสก็ยังเป็น podcast ให้คนสามารถ download มาฟังได้ด้วย [See also: Engadget] จน CBS ขี้นหัวข่าวว่า iQueen

2. แรงผลักดันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชน

การเลือกประเด็นการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอาน่า ถือเป็นการเลือกแนวเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ ปูทางไปสู่การชี้ให้เห็นการคานอำนาจ ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชน เพราะเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นคนยอดนิยมของประชาชนที่ “เคย” เป็นคนในวัง ซึ่งแน่นอนมันก็ต้องมีพื้นที่สีเทาระหว่างพื้นที่ส่วนตัวในวังและประชาชน รัฐบาลในฐานะตัวแทนของประชาชน ก็ต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ทั้งนี้ ทั้งนั้น รัฐเอง ต่างก็หวังเพียงเพื่อความนิยมจากประชาชน แน่นอนการคานอำนาจจึงจำเป็นที่จะต้องมีคนได้ดุล เสียดุลเป็นธรรมดา

3. ความเสียสละของสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้วยแรงผลักดันมาจากประเด็นแรก เรื่องความเปลี่ยนแปลงของเวลา และแนวความคิด มาจนถึงแรงผลักดันภาคประชาชน ผ่านรัฐ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องกลายเป็นสถาบันที่กลายเป็นเป้าโจมตี โดยเฉพาะจาก “สื่อมวลชน”

แน่นอนคานที่ต้องอ่อนลงไปในเรื่องนี้ก็คือ ฝ่ายสถาบันกษัตริย์ หากแต่ไม่ได้มองในรูปแบบของ “ความพ่ายแพ้” แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมองผ่านมุมมองในเชิง “ความเสียสละ” ที่หนังพยายามจะต่อสู้ให้กับสถาบัน เพื่อซื้อใจประชาชน

จุดสำคัญ คือ การที่หนังนำข้ออ้างที่ว่า การขึ้นครองราชย์ เป็นสิ่งที่คนที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ไม่สามารถกำหนดได้ มีคนกำหนดไว้แล้ว และการที่จะขึ้นครองราชย์ได้ ก็จะต้อง การแลกเปลี่ยนกับการสูญเสีย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติอันเป็นที่รักไป ในกรณีของพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ก็คือ การขึ้นมามีอำนาจ ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์เอง ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าเป็น สมการระหว่างอำนาจและความสูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเห็นใจ (แต่อาจจะไม่ตระหนักถึงมาก่อน)

ผมชอบอีกตอนหนึ่ง ที่สมเด็จพระราชินีพูดกับโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในเชิงที่ว่า การที่ทรงมีพระพักตร์เงียบขรึม ไม่แสดงความเศร้าโศกเสียใจ หรืออารมณ์อื่นใด ตอนที่เจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต ก็เป็นเพราะสถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันที่คนให้ความเคารพ การแสดงออกต่อสาธารณะไม่ว่าจะครั้งใด เป็นถืองาน เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ซึ่งควรจะมาก่อนเรื่องส่วนตัว (มิใช่หรือ) อันนำมาซึ่งการโต้แย้งในประเด็นที่ว่า ชีวิตส่วนตัวในวัง ควรจะถูกนำมาเปิดเผยหรือไม่

บอกตรง ๆ ผมเองตอนที่สมัยเจ้าหญิงไดอาน่าเสียชีวิต ผมเองก็ไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องภายใน ว่าจริง ๆ แล้วเหตุการณ์มันเป็นไปอย่างที่หนังว่าไว้หรือเปล่า แต่สิ่งที่มองเห็นได้ ก็คือ ราชวงศ์อังกฤษ เป็นที่ได้รับความเคารพของคนในชาติน้อยกว่าราชวงศ์ไทย ถ้าจำไม่ผิดเคยอ่านมาจากที่ไหนซักแห่งว่า สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษก็มีฐานะ เป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติเท่านั้น แต่ไม่มีบทบาทในทางการเมือง แต่ถ้าดูจากหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่เช่นนั้น สมเด็จพระราชินีก็ยัง ทรงมีหน้าที่ทางการเมืองที่ต้องทรงปฏิบัติ เพียงแต่คนทั่วไปมักมองไม่เห็น และไม่ได้รับการเปิดเผย

หากมองผ่านคนที่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด (โดยเฉพาะคนไทย ไม่ว่าเป็นเจ้ามาจากชาติไหน เราก็รัก และเคารพในฐานะที่เจ้าเหล่านั้น ดำรงอิสริยยศเสมอเหมือน “เจ้าอยู่หัว” ของตน) ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ออกจะให้ความรู้สึกที่แปลกไปอีกแบบหนึ่ง เพราะที่แน่ ๆ บ้านเราคงไม่มีใครกล้ามาทำหนังล้อเลียน เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเพียงนี้ ถึงแม้จะมี ก็เป็นการเทิดทูน เฉลิมพระเกียรติยศ ไม่ใช่เป็นการเอาเรื่องภายในออกมาเล่นเช่นนี้

การควักเอาเรื่องชีวิตส่วนตัวในวังออกมา (ถึงแม้จะคาบเกี่ยวกับชีวิตภาคสาธารณะ) เป็นถือเป็นการท้าทายความคิดในเรื่อง สมมติเทพ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เหมือนกับที่ Paul Handley เขียนไว้ในหนังสือ The King Never Smiles [ใจ อึ้งภากรณ์, 2549] แต่ใน The King Never Smiles นั้น ผมเองคิดเห็นส่วนตัว ว่า ออกจะมากไปหน่อย เรื่องบางเรื่อง อ่านแล้วก็อึ้งไปเหมือนกัน (ตอนแรกก็กะว่าจะเขียน review หนังสือเรื่องนี้เหมือนกัน แต่พอเขียนไปซักพัก มีความรู้สึกว่าหมิ่นเหม่เหลือเกิน เลยยกเลิก project นี้ไป)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่เราดูหนัง The Queen ของราชวงศ์อังกฤษ ให้ความรู้สึกเหมือนคนต่างชาติอ่าน The King Never Smiles หรือ The Revolutionary King หรือเปล่า ตอนแรกผมก็คิดว่า น่าจะเหมือนกัน แต่คิดไปคิดมาไม่น่าจะเหมือน เพราะบ้านเราให้ความสำคัญ และเคารพเทิดทูน สถาบันกษัตริย์มากกว่าประเทศไหน ๆ ภาพของการเอาสถาบันมาเสียดสี ล้อเลียนบนแผ่นฟิล์มก็ทำให้ดูรู้สึกแปลก ไม่เหมือนคนชาติอื่น ที่มองว่าหนังขายเรื่องขำขันไป แล้วอีกอย่าง The King Never Smiles หรือ Revolutionary King ก็ให้อารมณ์ที่รุนแรง จริงจังมากกว่า (เยอะ) แต่ขนาดไม่จริงจัง อย่าง The King & I หรือ Anna and the King ก็ทำเอาคนไทยเป็นเดือดเป็นร้อนไปตาม ๆ กัน เพราะฉะนั้นก็คงจะแตกต่างกันอย่างแน่นอน

อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาถึงสถาบันกษัตริย์ของบ้านเรา ถ้าจะมองให้มันหมิ่นเหม่ มันก็หมิ่นเหม่ต่อความคิดนะ เพราะอย่างนั้นคนไทยที่ได้ดูทั่วไปก็จะต้องเอามาเปรียบเทียบกับราชวงศ์ไทยแน่นอน แต่ถ้าจะให้ปิดกั้น ผมเองก็คงไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน หวังว่า กบว. คงไม่อ่อนไหวขนาดนั้น


iTeau’s Dirt

ที่มา : http://iteau.wordpress.com/2006/12/27/thequeen/

หมายเหตุ
เน้นข้อความโดยผู้จัดเก็บบทความ

เรากำลังเดินกลับไปนับหนึ่งใหม่กับระบอบประชาธิปไตย...และอาจเดินทางกลับไปก่อนหน้า 2475!!

ในวาระ 75 ปี 24 มิถุนายน 2475 สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง นักคิดนักเขียนคนสำคัญ ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘การอภิวัฒน์ไทย 24 มิถุนายน 2475 กับบริบทสังคมในรอบ 75 ปี’ ในโครงการเสวนา 75 ปี 24 มิถุนายน 2475: 75 ปีของอะไร? ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา

สุชาติ ช่วยทวนความจำถึงเหตุการณ์ทางการเมือง ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น 7 ยุค พร้อมบทกวี 3 บรรทัด ซึ่งสรุปให้เห็นภาพเหตุการณ์แต่ละยุคได้แจ่มชัดขึ้น รวมถึงตั้งข้อสังเกต เราเดินทางกลับไปนับหนึ่งใหม่กับระบอบประชาธิปไตย และอาจเดินทางกลับไปก่อนหน้า 2475!!


000

ถ้าหากว่าเราถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นจุดเริ่มต้น นับมาถึงปีนี้ก็ 75 ปี 75 ปีของการเริ่มต้นคำว่า ระบอบประชาธิปไตย คิดว่า มีรายละเอียดมากมาย แต่เมื่อมองในแง่ของสังคม โดยบริบทของคำว่า ‘สังคม’ ไม่แยกตัวออกมาโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับบริบททางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม

75 ปีที่ผ่านไปเป็น 75 ปีของอะไร เรามีรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ระบุว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย อยู่ในหมวด 1 มาตรา 1 ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว และมีการแก้ไขและประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 หลังจากนั้น เราก็มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่ละฉบับมีความเป็นมาต่างๆ กัน

แต่สำหรับผม เมื่อพูดถึงคำว่าระบอบประชาธิปไตยซึ่งเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม ต้องย้อนกลับไปดูหมวด 1 มาตรา 1 ของการปกครองแผ่นดินสยามที่บอกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เพราะว่าเป็นการให้ภาพเชิงกลับ แต่ก่อนสังคมไทยเป็นสังคมเชิงปิรามิด เป็นสังคมแบบชนชั้น ยอดสูงสุดของปิรามิดคือพระเจ้าแผ่นดิน ลดหลั่นกันลงมา ขุนนาง ขุนศึก พ่อค้าวานิชย์ จนถึงฐานราก ที่ถือว่าเป็นทวยราษฎรทั้งหลาย

เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นครั้งแรกที่ฐานปิรามิดกลับ คือ ทวยราษฎรมาอยู่ข้างบน ส่วนยอดสุดของปิรามิดนั้นกลับหัวลงมา ดูได้จากการที่บอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย และหากจะดูพิจารณาตามบริบทของคณะราษฎรที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งเป็นหัวใจของอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร เพราะจะเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญหรือการบริหารประเทศในเวลาต่อมา

หลัก 6 ประกาศ ข้อแรก คือต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งทางการเมือง ทางศาล ทางเศรษฐกิจให้มั่นคง เห็นความชัดเจนในฐานะที่เป็นบริบททางสังคมว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง ศาล เศรษฐกิจ คือเน้นความเป็นเอกราช

ข้อ 2 คือต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้มีการประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก หมายถึงสันติภาพ หรือที่ใช้กันว่า สมานฉันท์ ในทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นหลักการนโยบายบริหารจัดการ การใช้อำนาจรัฐ ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ

ส่วนข้อ 3 คือต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า ต้องมีหลักประกันให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ประกันความอดอยาก หรือคือการประกันสังคมในสมัยใหม่ โดยต้องวางแผน วางโครงการเศรษฐกิจเป็นวาระแห่งชาติ ตรงนี้เองจะกลายเป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง เมื่อมีสมุดปกเหลือง มีการโต้แย้งทฤษฎีความเป็นไปได้ระหว่างคณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ

ข้อ 4 ต้องให้ราษฎรได้รับสิทธิเสมอภาคกัน และมีคำขยายว่า ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิมากกว่าราษฎร เป็นครั้งแรกที่มีการพูดว่า ราษฎรต้องมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของปิรามิด และความคิดปรัชญาการเมืองที่พูดถึงทางเศรษฐกิจ

ข้อ 5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ โดยไม่ขัดกับหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นครั้งแรกที่คณะราษฎรให้ความสำคัญในเรื่องมนุษยชน ว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี

ถ้าอ่านความคิดความเห็นของนักคิดนักเขียนในช่วงใกล้เคียง 2475 หรือปลายรัชกาลที่ 6 จะมีแนวคิดแบบนี้เยอะ เช่น บทความ มนุษยภาพ (2474) ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่พูดเรื่องสถานะของความเป็นมนุษย์ว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรี มีความเป็นบุคคล ที่ต้องได้รับเกียรติโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งงานนี้ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งผู้มีอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์รับไม่ได้ จึงมีการล่ามโซ่แท่นพิมพ์ขึ้น

ส่วนข้อสุดท้ายนั้น บอกว่า จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในอีก 2 ปีต่อมา เนื่องจากก่อนหน้านั้น มีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว คือ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกที่ประกันว่า รัฐต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เพื่อช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมต่างๆ ในสังคม เพราะฉะนั้นการประกันเรื่องการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร แม้อยู่ข้อสุดท้ายแต่คิดว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกันทุกข้อ

หัวใจของหลัก 6 ประการ ได้ปรากฎตามมาในร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม แม้ถูกแก้และเปลี่ยนตลอด แต่สิ่งสำคัญคือรัฐธรรมนูญที่น่าจะเป็นต้นแบบของหลัก 6 ประการ ได้อย่างเห็นภาพรูปธรรมที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับที่รัชกาลที่ 8 ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะรัฐบาล คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2489 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2488 เมื่อขบวนการเสรีไทยสลายตัวไปแล้ว และอาจารย์ปรีดี เป็นนายกฯ อีกครั้งและดำรงรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งผมคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนค่อนข้างกว้างขวาง

แต่ 1 เดือนต่อมาคือวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ก็เกิดกรณีสวรรคตและจากนี้บริบททางสังคมก็เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารที่ลดบทบาทของคณะราษฎรสายทหารเรือและอาจารย์ปรีดี เพราะเหตุผลของรัฐประหารที่นำโดย ‘ผิน ชุณหะวัณ’ อ้างว่าเพราะความไม่ชอบมาพากลเรื่องคดีสวรรคต หรือพูดง่ายๆ ว่า จะหาเรื่องอาจารย์ปรีดี

การยึดอำนาจครั้งนี้ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คือการร่วมมือระหว่างทหารฝ่ายนิยมเจ้ากับพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค

ในบริบทสังคมไทยที่ผ่านมา 75 ปี เคยทำหนังทดลอง ซึ่งคงไม่มีโอกาสฉายในวันนี้ แต่จะฉายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 23 มิถุนายน โดยทำคล้ายมิวสิควิดิโอ เอาภาพประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 และมียุคต่างๆ 7 ยุค แต่ละช่วงเป็นภาพทางประวัติศาสตร์ และมีเพลงประจำแต่ละยุคประกอบ

ยุคแรก เริ่มต้นตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 โดยได้เขียนบทกวี/จินตนาการ 3 บรรทัดว่า

ทางลึกลับ อ้าวว้าง
ทางเบื้องหน้า
อีกไกล


คล้ายกับอยากสรุปว่าจุดเริ่มต้นของหมุดหมายของ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นเหมือนทางลึกลับ เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดต่อ ตัดตอน คลุมเครือ ใครจะมองก็ใช้ทัศนคติของตัวเองตัดสิน แทนที่จะเป็นภาพทั้งหมดในแง่ของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้ว 75 ปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นทางลึกลับที่อ้างว้าง มาถึงวันนี้ที่ต้องทอดยาวออกไปอีกข้างหน้า เรายังเห็นทางข้ามหน้าอีกไกล เหมือนกับตั้งคำถามกับตัวเองว่า 75 ปีของอะไร มันใช่รึเปล่าที่เป็น 75 ปีของการกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ 75 ปีของการเริ่มต้นย้อนกลับที่เดิม

ประวัติศาสตร์นั้นไม่ซ้ำรอยหรอก แต่มีรายละเอียดบางอย่างที่ทำให้มองกลับไปแล้วคล้ายกับกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จาก 24 มิถุนายน 2475 มาจนกระทั่งเป็นทางลึกลับ อ้างว้างและมีรอยต่อของประวัติศาสตร์ที่ไม่แจ่มชัด อันเนื่องมาจากวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ก็นำไปสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเขียนไว้ว่า

เลือดใคร
ไม่เหมือนใคร
บนร่องรอยแห้งกระ

เพราะยุคนี้ถือได้ว่ามีฆาตกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น ฆาตกรรมนักการเมืองอย่างเช่น เตียง สิริขันธ์ คงไม่ลงรายละเอียด

จนกระทั่ง 20 ตุลาคม 2501 หรือ 2500 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ใครบ้า
ใครตาย
ใครกับใครสูญหายมิทราบ


ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเริ่มต้นของคำว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นยุคเริ่มต้นของการต่อสู้ทางความคิด มีนักคิดนักเขียนหลายคนถูกจับเข้าคุก หลายคนหายเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่บอกไว้ว่า ‘ใครบ้า ใครตาย ใครกับใครสูญหายมิทราบ’ ก็คือไม่ทราบจริงๆ เป็นยุคที่มีคำขวัญว่าจะนำสังคมไทยเข้าสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เกิดคำขวัญ เช่น ‘งานคือเงิน เงินคืองาน’

จากนั้น ถึงยุคที่ถือว่า เป็นยุคต่อกับ 24 มิถุนายน 2475 คือยุคที่นักศึกษา ประชาชนร่วมกันขับไล่ทรราช ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บางท่านให้ความเห็นว่า ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐประหาร แต่เป็นการอภิวัฒน์ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่มาจากระดับของมวลชน นิสิตนักศึกษา ปัญญาชน หรือประชาชนทั่วไป ที่ร่วมมือกันบอกสังคมว่า ไม่ไหวแล้ว ซึ่งหากมองภาพรวม ได้ว่า

ส่วนแบ่งความเศร้า
มอบให้เจ้ากับไพร่
เท่ากัน


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นเหตุการณ์ที่สั้นมาก ทั้งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะต่อเนื่องจาก 24 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 แต่ต่อมา 3 ปีก็เกิดเหตุการณ์ “นองเลือดที่เป็นการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ 6 ตุลาคม 2519

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
เด็กๆ ในแบบฝึกหัด
ทะเลาะกัน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีการพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุดก็คือการใช้กำลัง นำไปสู่การนองเลือด และการที่ทหารเข้ามาตัดสินบ้านเมืองโดยทำการยึดอำนาจ-รัฐประหาร

ต่อมาเป็นยุคของทหารเล่นหุ้น ยุคของ ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่บรรดาขุนศึกพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกาภิวัตน์ แปรสภาพจากสนามรบเป็นสนามการค้า จากทหารที่กินหุ้นลมตามบริษัทและธนาคารกลายเป็นทหารที่เก็งกำไรจากการเล่นหุ้น เกิดความขัดแย้งกันนำสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535 เมื่อแบ่งสรรหาอำนาจกันไม่ลงตัว ทหารก็เข้ามายึดอำนาจรัฐประหาร สิ่งที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง และม็อบมือถือ เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่มีความรู้สึกต่างจาก 14 ตุลาคม 2516

ปลาสูญเสียห้วงหาว
นกสูญเสียดวงดาว
กวีสูญเสียวรรคทอง


ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 เรายังมีความรู้สึกมองเห็นภาพว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน กวียังรู้สึกมีวรรคทองในแง่ของการแต่งบทกวีของตัวเอง แต่ในช่วง 17 พฤษภาคม 2535 บรรดานักคิดนักเขียน บรรดากวีสูญเสียวรรคทองของตัวเองไป เพราะว่าพวกเขากลายเป็นคนพันธุ์ใหม่ ไม่เข้าสู่ระบบ หลังจากคนป่าคืนเมือง หลังจากสภาพสังคมแปลงสภาพไปเป็นทุนนิยม นักอุดมคติหลายคนก็แปลงสภาพไปเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ตำนานกลายเป็นตาปลา นั่นสายสีมานั่งนับเงิน’ ใครอ่าน นวนิยายปีศาจ (ของเสนีย์ เสาวพงศ์--ประชาไท) นึกว่าสายสีมาเป็นบุคคลในอุดมคติ ซึ่งมีอิทธิพลกับนิสิตนักศึกษาช่วง 14 ตุลาคมมากๆ จนกระทั่งยอมเสียสละตนเองเพื่ออุดมการณ์นั้น แต่เมื่อหวนกลับมาหลังจากที่กลับคืนสู่เมือง หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าระดับของในประเทศหรือสากล กำแพงเบอร์ลินพัง โซเวียตล่มสลาย สาธารณรัฐประชาชนจีนเปลี่ยนนโยบาย กลายเป็นแมวสีไหนก็ได้ ถ้าจับหนูเป็นก็ใช้ได้ทั้งนั้น แต่สมัยก่อนหน้านี้ต้องแมวสีแดงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เมื่อโลกรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป บรรดากวี บรรดานักคิดนักเขียนก็สูญเสียวรรคทองของตัวเองไปอย่างที่ผมรู้สึก เพราะว่าถ้าเขาไม่ปรับตัวเองกลายมาเป็นพันธุ์ใหม่ เขาก็อยู่ในความแปลกแยกบางอย่างที่ตัวเองก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร บางคนก็ยังคงสถานะเดิมของตัวเองไว้ได้ บางคนก็เปลี่ยนแปลงไป สภาพสังคมในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ หรือในช่วงกวีสูญเสียวรรคทอง ผมคิดว่าสภาพสังคมแทบล่มสลายเมื่อฟองสบู่แตก และตรงนี้นี่เองที่ผมคิดว่า ที่ทำให้สังคมไทยเดินทางต่อมาจนกระทั่งถึงรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมเขียนไว้สามบรรทัดบอกว่า

ไม่มีอะไรให้ดู
นอกจากมีรู
กับความเปลี่ยนแปลง


คือสรุปได้ในลักษณะนี้ว่ามันก็ไม่มีอะไรให้ดู เพราะมันไม่มีอะไรให้ดูจริงๆ เพราะเมื่อเริ่มต้น 19 กันยายนนั้น เราก็พบว่าทุกคนก็เอาดอกไม้ไปให้ทหาร ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางเคยต่อต้านทหารเมื่อพฤษภาทมิฬ แต่คนชั้นกลางกลับเอาดอกไม้ไปให้ทหารเมื่อ 19 กันยา มันเกิดอะไรขึ้น โดยหลักการแล้ว มันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะการที่จะใช้ทหารเข้ามาตัดสินปัญหาของประเทศ ผมคิดว่าสภาพอย่างนี้แหละทำให้เราตั้งคำถามทำนองว่า สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่เรากำลังกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ใช่หรือไม่ และขณะนี้เรากำลังทำตรงนี้อยู่มิใช่หรือ เพราะเรากำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ในขณะนี้

อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่า สภาพสังคมที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัยที่กินเวลา 75 ปี มันมีรายละเอียดของมัน แต่เมื่อสรุปแล้วผมคิดว่า ถ้าหากจะพูดถึงระบอบประชาธิปไตย เราต้องย้อนกลับไปมองว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นต้องเป็นของราษฎร อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่ารายละเอียดจะตีความอย่างไร คำว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฏรทั้งหลายยังเป็นหัวใจหลักหัวใจสำคัญ

แต่ในแง่ของความขัดแย้งทางความคิด ในแง่วิชาการ จะพบว่า สิ่งที่เรียกว่า 75 ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘การกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่’ นั้น บางทีมันอาจจะกลับไปเริ่มต้นก่อนหน้าปี 2475 ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เขาประกาศเลิกทาสแล้ว แต่เราก็ยังเป็นทาสอยู่ รัชกาลที่ 4 ประกาศไม่ให้หมอบคลานเข้าเฝ้าฯ เรายังหมอบคลานเข้าเฝ้าฯ อยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในแง่ของความขัดแย้งทางความคิด ไม่ทราบว่าผมจะพูดในเรื่องนี้ได้หรือเปล่า มีคนเขียนบทความ คือคุณสุพจน์ ด่านตระกูล พูดถึงบทความชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้คือหัวหน้าพรรคความหวังใหม่คนปัจจุบัน (ชิงชัย มงคลธรรม--ประชาไท) เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนชื่อ ‘ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นบทความที่เห็นว่าความเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะคณะราษฏร เพราะการโค่นล้มรัชกาลที่ 7 เป็นต้นเหตุสำคัญ

ที่ผู้เขียนบทความเขียนถึงภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ คือว่า เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เริ่มต้นมาจากปี 2475 มีการรัฐประหาร มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มันเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตย กลับไปมองย้อนว่า จุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย มันเริ่มต้นมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 บริบทของมันก็คือบอกว่า กษัตริย์คือผู้ริเริ่มสถาปนาระบอบประชาธิปไตย แต่คณะราษฏรนั้นชิงสุกก่อนห่าม เมื่อมองดูเนื้อหาของการมองประวัติศาสตร์สังคม เท่าที่ผ่านมาจะมีสองขั้วนี้ถกเถียงกันอยู่เสมอ แล้วก็ให้เหตุผลทำนองว่า รัชกาลที่ 7 เตรียมมอบประชาธิปไตยให้กับราษฏรอยู่แล้ว แต่ว่าคณะราษฏรนั้นชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งเรื่องนี้ถ้ามองดูกันไปแล้ว มันจริงหรือเปล่า

ถ้าท่านศึกษาและมีข้อมูลด้านประวัติศาสตร์อยู่บ้างก็จะรู้ว่า ความคิดในเรื่องของการเตรียมสร้างระบอบประชาธิปไตย มันไม่ได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 มันเริ่มก่อนหน้านั้น อย่างเช่นในปี พ.ศ.2428 หรือ ร.ศ. 103 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในอังกฤษทูลเร่งให้รัชกาลที่ 5 ยกเลิกการปกครองระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เร่งปูทางระบอบรัฐสภา บรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในอังกฤษนั้นก็ทูลความเห็นนี้ให้รัชกาลที่ 5 ทราบ แต่ว่าก็ไม่สำเร็จ หรือแม้แต่ ‘เทียนวรรณ’ นักคิดนักเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เขียนบทความทูลขอการปกครองระบอบ Parliament คือระบอบรัฐสภา คือระบอบที่มีรัฐธรรมนูญนี่แหละ แต่ผลของการเขียนบทความของเทียนวรรณคือการถูกจำคุก 16 ปี

แล้วต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี 2454 ร.ศ.130 ก็มีคณะทหารหนุ่มชั้นผู้น้อย อย่าง ร.ต.เหรียญ สีจันทร์ ร.ต.เมธ ปุญวิวัฒน์ ร.ต.หลวย บุณยรัตพันธ์ ก็ร่วมมือกันทำปฏิวัติ ถือว่าเป็นการทำปฏิวัติครั้งแรก คือมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กษัตริย์มาอยู่ใต้กฏหมาย แต่ว่าทำไม่สำเร็จถูกจับขังคุกตลอดชีวิต

จาก ร.ศ. 130 เมื่อปฏิวัติไม่สำเร็จเขาก็เรียกว่าเป็น ‘กบฎ’ ชื่อทั่วไปก็คือ ‘กบฎเจ๊กเหม็ง’ ก็ถือว่าเป็นแบบครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมสยามนั้นเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แล้วสิ่งนี้ผมคิดว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งการเริ่มต้นของ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เป็นบทบาทที่เห็นชัด และถ้าหากนึกย้อนกลับไปแล้ว ก็ไม่แน่ว่า ถ้าไม่มีวันที่ 24 มิถุนายน เราจะได้สิ่งที่เรียกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลายในรูปแบบไหน

ด้วยเหตุผลอันนี้ สิ่งที่เรียกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้น ยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย โดยผ่านการปฏิวัติรัฐประหารหลายรูปแบบหลายครั้งหลายครา ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพหลายอย่างของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็เห็นว่า ทุกๆ 14-15 ปี ทหารจะเข้ามามีบทบาทในการใช้กำลังยึดอำนาจ มีคนประมาณดูแล้วพบว่า อยู่ในช่วง 14-15 ปี จะเป็นวงจรที่ทหารเข้ามามีความสัมพันธ์กับการเมืองไทยในลักษณะของการยึดอำนาจ

ผมอยากจะพูดถึงประเด็นเรื่องทหารกับการเมืองไทย ในบริบทเกี่ยวข้องมาถึงจุดสำคัญ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะบริบทของสังคมไทยนั้น แน่นอนที่สุดเราต้องมองถึงบริบทความสัมพันธ์ของทหารกับราษฎร แล้วหลังจากนั้นคงต้องมองไปถึงส่วนอื่นๆ ด้วย ในแง่วิชาการเราก็จะพบว่า คำว่าทหารนั้นมักจะถูกตีความเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากคำว่า ‘รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ มาจนถึงคำว่า ‘ทหารของพระราชา’ ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของสังคมไทย คือเรายังมีคนเป็นราชา ยิ่งกว่าพระราชา นี่ก็เป็นมาตั้งแต่หลังปี 2475 แล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะราษฎรจึงล้มไป คือไม่มีชื่อปรากฏในตำราประวัติศาสตร์ หรือไม่ได้รับการยกย่อง หรือแม้แต่ขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นคณะกู้ชาติไทย ก็ไม่ได้รับการยกย่อง เพิ่งจะมาได้รับการเชิดชูยกย่องมาเมื่อไม่นานนี้เอง รวมตลอดทั้งประวัติชีวิตและงานของนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย ก็เพิ่งได้รับการยกย่องเมื่อไม่นานมานี้เอง

สภาพของสังคมไทย เป็นสภาพสังคมที่ถ้ามองในแง่ของประวัตศาสตร์ที่มันควรจะต้องเดินไปอย่างมีข้อเท็จจริงรอบด้าน จะเห็นชัดเจนว่า สภาพประวัติศาสตร์ของไทยมักจะถูกตัดตอนโดยบุคคลผู้มีอำนาจ การตัดต่อตัดตอนความทรงจำของคนในสังคมไทยนั้นมีผลต่อความรับรู้และก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อย่างกรณีเรื่องของเหตุการณ์สวรรคต หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ในช่วง 6 ตุลาคม คือราษฎรไทยควรจะได้รับรู้เหตุการณ์จริง ความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างบิดเบือน

เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมเกรงว่า ต่อไปในอนาคต ถ้าสังคมไทยเป็นลักษณะนี้ คือยังเป็นลักษณะของความคลุมเครือมันก็จะส่งผลต่อจิตวิทยามวลชน ในแง่ของความเข้าใจผิดได้ และความเข้าใจผิดนั้นจะนำไปสู่การนองเลือด เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากลักษณะตรงนี้ แล้วตรงนี้ผมคิดว่า เราต้องรู้เท่าทัน ในฐานะของคนที่พยายามเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ของประวัติศาสตร์ ก็พยายามหาจิ๊กซอว์ต่างๆ ที่ขาดหายไปมาต่อให้เต็ม และต้องทำความเข้าใจ เมื่อพูดถึงคำว่าอภิวัฒน์ไทย 2475 มันเริ่มต้นมาจากตรงไหน มันเริ่มต้นมาเมื่อปิระมิดได้กลับหัวลง อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฏรทั้งหลาย เพราะเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญ หรือว่ามีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือว่าไม่มีอะไรก็ตามแต่ มันก็จะควรจะต้องสนใจ เพราะมันเป็นหลักการ

..........................
อ่านเพิ่มเติม
ประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ 1
บทความ ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศไทย


ที่มา : http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8397&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai