"โฉมหน้าศักดิ์นาไทย" เป็นผลงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ได้ถ่ายทอดเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปกครองในระบบศักดินา อันเป็นระบบทางสังคมโบราณ ที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ความไม่เป็นธรรมและความถูกเอารัดเอาเปรียบ จากชนชั้นเจ้านาย ที่มีศักดินาผู้ครอบครองที่ดินและมากด้วยกำลังไพร่ ทาส ที่สามารถใช้งานได้ตามต้องการในลักษณะการกดขี่จนไม่สามารถเป็นอิสระได้เลย เป็นความทุกข์ยากแสนสาหัส อย่างไร้ความยุติธรรม
ศักดินา หมายถึง สิทธิในการครอบครองที่นา หรือที่ดิน ของผู้มีศักดิ์ อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการผลิตทางการเกษตร ซึ่งก็คือการปลูกข้าว ที่ถือเป็นรายได้สำคัญ ที่สามารถเรียกใช้ไพร่ ซึ่งเป็นชนชั้นล่างของสังคม มารับใช้ทำนาด้วยความลำบากโดยมิได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ส่วนหนึ่งจะถูกส่งให้กับรัฐบาลกษัตริย์ ผู้มีฐานะเป็นเจ้าชีวิตมีสิทธิเหนือประชาชนทั้งปวง ซึ่งเป็นระบบการปกครองมาแต่โบราณ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
ผู้มีศักดิ์ก็หมายถึงเหล่าเจ้านายและขุนนาง ซึ่งถูกเรียกว่า “มูลนาย” ที่รับใช้พระมหากษัตริย์ จนได้รับพระราชทานตำแหน่ง ยศ และบรรดาศักดิ์ ซึ่งทำให้มีความสามารถในการครอบครองที่ดิน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของผืนดินทั้งหมดของอาณาจักรได้แบ่งพระราชทานให้ ตามคุณความชอบที่ระบุไว้เป็นกฏเกณฑ์อันมีมาแต่สมัยอยุธยา รวมถึงสมัยสุโขทัย
ผู้ที่มีศักดิ์สูงๆ จะมีที่นามาก ตามลำดับยศ ตั้งแต่ระดับพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าฟ้า พระอนุชา พระเจ้าหลานเธอ หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ มีศักดินาตั้งแต่ หนึ่งแสนไร่จนถึงห้าร้อยไร่ตามลำดับที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย ถ้าเป็นข้าราชการชั้นสูง เช่นเจ้าพระยา พระยา ต่างๆ ก็มีที่นา หมื่นไร่ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยลำดับต่อมา ก็จะมีสิทธิในการครอบครองที่นาจำนวนลดหลั่นลงไป ตามตำแหน่งราชการ ไม่เพียงเท่านั้น เหล่านางใน พระสนมเอก แม่เจ้า นางสนม นางกำนัล ในพระราชวัง ก็มีศักดินา ตั้งแต่ หนึ่งพันไร่ลงไปถึง หนึ่งร้อยไร่ โดยที่ได้สิทธิในการครอบครองนาทั้งๆที่ไม่ได้มีโอกาสในการใช้สอยประโยชน์จากนาที่มีเลย ดังนั้นศักดิ์นาจึงมีความหมายอีกนัยหนึ่งคือเป็นเพียงตำแหน่งติดตัวไปเพียงเท่านั้น
ในส่วนของพระสงฆ์ ก็มีสิทธิในการมีที่นา ในระดับต่างๆกันไป ตั้งแต่ สิทธิเสมือนมีนา สองพันสี่ร้อยไร่ ลงมาถึง หนึ่งร้อยไร่ และแม้แต่กลุ่มไพร่ ทาส ยาจก ก็มีศักดินาเช่นเดียวกัน แต่น้อยเกินกว่าจะมีกำลังในการทำนาเลี้ยงชีพได้ เพราะการถูกกดขี่สารพัดจากผู้มีศักดินาสูงกว่า ในที่สุดพวกไพร่ก็ต้องเข้ามารับใช้ผู้มีศักดินาที่จะให้ความคุ้มครองแก่ชีวิต อันเป็นระบบที่พวกไพร่ไม่สามารถจะก้าวหน้าหรือพัฒนาตนเองเป็นใหญ่เป็นโตได้เลย จึงเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมจากชนชั้นที่สูงกว่า
ลักษณะทางการเมืองของระบบศักดินา
โดยทั่วไปมักมีความพยายามต่อสู้ของชาวนา เพื่อให้ได้อิสรภาพ แต่ในที่สุด ก็ไม่มีทางจะเอาชนะผู้ขูดรีดได้เพราะว่า มีกษัตริย์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของระบบศักดินานี้ มีเพียงชนชั้นข้าหลวง ที่กล้าขัดขืน ท้าทายอำนาจของกษัตริย์ เนื่องจากการเสียผลประโยชน์ แต่ในที่สุดก็มักจะถูกรวบอำนาจคืนสู่กษัตริย์ดังเดิม แล้วพระราชทานศักดินาให้แก่ผู้ที่ไว้วางใจ สำหรับในต่างประเทศ ความพยายามในการโค่นอำนาจของกษัตริย์ โดยกลุ่มชนชั้นกลางนั้นเป็นผลสำเร็จ อันเนื่องมาจากการรวมกลุ่มและต่อต้านการถูกอำนาจกดขี่
ลักษณะทางวัฒนธรรมของระบบศักดินาระบบศักดินา
จะเห็นความแตกต่างทางชนชั้นอย่างชัดเจน คือจะมีชนชั้นสูง หรือชนชั้นศักดินา ซึ่งได้รับสืบสายสันติวงศ์ เป็นตระกูลที่ได้รับความยกย่องนับถือมา ซึ่งจะคอยจ้องหาผลประโยชน์ต่างๆนานาจากผู้ที่มีฐานะเป็นไพร่ และทาส ที่ถูกเหยียดหยามต้อยต่ำ
ในส่วนของศิลปะและวรรณคดีของพวกชนชั้นศักดินาจะได้รับการยอมรับนับถือและได้รับการศึกษาที่ดีกว่า โดยถูกปลูกฝังให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จำต้องรับใช้ราชการ ในทางศาสนาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ครอบงำสำนึกของประชาชนทั้งหลาย ให้มีความสำนึกถึงพระกรุณาของกษัตริย์ที่ทำนุบำรุงพระศาสนาอีกด้วย ซึ่งระบบศักดินานั้นถือเอาอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด เพื่อความมั่นคงอันดีของบ้านเมือง
ระดับศักดินาในประเทศไทย
เนื่องจากระบบศักดินาถูกใช้เป็นกลไกลในการปกครองของพระมหากษัตริย์ เป็นวิธีการให้พระราชอาณาจักรดำเนินไปอย่างมั่นคง จึงจำเป็นต้องดึงอำนาจจากทุกชีวิตมาเป็นอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์เอง แล้วค่อยแจกจ่ายไปตามสมควรแก่ผู้มีสิทธิอันชอบ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ จึงดำรงฐานะเป็นเทวะราชา ที่จะอยู่เหนือคนทั้งปวง และมีอำนาจเหนือทุกคน ที่จะสั่งเอาชีวิตของผู้ใดก็ได้ ตามที่ทรงปรารถนา
พระมหากษัตริย์ไทย ถือคติที่ว่า ทรงเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินทั้งหมด ในอาณาจักร แล้วแบ่งสรรเจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย ที่มีส่วนช่วยเหลือราชการ ให้แผ่นดินขยายกว้างขวางออกไปนั้น เพื่อเป็นรางวัลให้มีรายได้ทำกิน คือการปลูกข้าว และเพื่อป้องกันขุนนางทั้งหลายที่รับใช้ ไม่ให้ก่อการประท้วงวุ่นวาย ตามแต่ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ได้รับ หรือ “ศักดินา” เพื่อกำหนดขอบเขตของความสามารถในการครอบครองนา
ดังนั้นแล้วเจ้าขุนมูลนาย ก็เร่งทำนาบนพื้นที่ที่ได้รับพระราชทาน ได้รับมาก ก็ทำนาได้มาก ดังนั้น กลุ่มคนชั้นไพร่ที่อยู่ในสังกัดจึงต้องลงแรงรับใช้ทำนา ด้วยความลำบาก ไม่ได้รับความสุขเสรีภาพ อันควรพึงได้อย่างประชาชนในปัจจุบัน
แม้ว่าพวกไพร่อันเป็นชนชั้นแรงงาน อยู่เบื้องหลังความมั่นคงของชาติ จะได้รับศักดินาอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอ ที่จะทำนาเลี้ยงตัวได้ อีกทั้งที่นาที่มีอยู่ ก็มักอยู่ในที่ทางของผู้มีศักดินาใหญ่ ดังนั้นจึงต้องไปทำงานให้กับผู้ที่ศักดินาใหญ่อยู่เช่นนั้นเรื่อยมา ไม่มีหนทางที่จะทำนาเองได้ อัตราในการเช่าที่ก็สูงมาก ไม่คุ้มต่อการลงทุน และเสี่ยงมากที่จะล้มละลายจนกลายเป็นทาสในที่สุด
ภาษีอากร
นอกจากนั้นยังมีระบบการเก็บภาษีอากรที่ถูกทางราชการ เก็บละเอียดอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไพร่ชนชั้นล่างทั้งหลายต่างก็เดือดร้อนที่สุด ซึ่งการเก็บภาษีอากรของทางราชการมีมากมายหลายประเภท เช่น
ส่วย เป็นการเรียกเก็บโดยไม่มีสาเหตุอันใด เสมือนเป็นการเก็บค่าตอบแทนแก่ชีวิต ที่เกิดมาอาศัยอยู่ในร่มพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ ส่วยถูกเก็บในรูปแบบต่างๆ เช่น
- เครื่องราชบรรณาการคือการนำของที่มีเฉพาะในเมืองที่เป็นเมืองขึ้นนั้นมาถวาย
- พัธยา คือการยึดทรัพย์ ของผู้ตาย หรือผู้ถูกประหารด้วยความผิดมิชอบ
- เกณฑ์เฉลี่ย การเกณฑ์ทรัพย์สิน วัตถุดิบ หรือแรงงาน เข้าช่วยเหลือราชการ
- ส่วยแทนแรง การเรียกเก็บเงินแทนแรงงานในการเข้าเวรของไพร่
ฤชา เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบในราชการ เช่น ค่าธรรมเนียมการศาล ค่าธรรมเนียมค่านา ฯลฯ ซึ่งเป็นการเรียกเก็บที่ละเอียดยิบย่อย จนคนชั้นล่างได้รับความเดือดร้อนอีกเช่นเดียวกัน
จังกอบ เป็นการเรียกเก็บ อันได้ผลประโยชน์มาจากการค้าขาย
อากร เป็นการเก็บจากผลประโยชน์ของราษฎรต่างๆ เช่นอากรค่านา อากรค่าข้าวเปลือก อากรสวน อากรค่าน้ำ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกเรียกเก็บอย่างละเอียดเช่นกัน หากราษฏรไม่มีโฉนดที่หลวงออกให้หลังจากการเรียกเก็บอากรแล้ว จะมีโทษหนักหนา
ดังจะสรุปได้ว่า ระบบศักดิ์นาทั้งหลาย โดยเฉพาะศักดิ์นาของไทยนั้น เป็นระบบที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค เกิดความไม่ทัดเทียมของชนชั้น ด้วยวิธีอันเป็นกฏหมายโดยชอบธรรมเพื่อวิถีทางในการหาผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย ที่เอาผลประโยชน์จากไพร่-ทาส ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นล่างที่มีความยากไร้ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่มีสิทธิในการเรียกร้องอะไรได้เลย
มูลนาย
ที่มา : propaganda.forumotion.com
วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2551
ศักดิ์นา ตามความหมายของ จิตร ภูมิศักดิ์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 11:33 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
เอาเรื่องนี้มาเขียนทำไม เราเรียนมาแล้วรู้แล้ว ธรรมดาไม่แปลก สงสัยจุดประสงค์ที่เอามาเขียนมากกว่า เขียนเพื่อปลุกเร้าใจอะไรเหรอ ใครเชื่อก็อย่าไปวัดนะ อย่าไปถวายอาหาร กฐินผ้าป่าพระสงฆ์ นะ คนพุทธทำได้ไหม เช่นกันไม่ต่างเราศรัทธาของเรา อย่ามาหลอกให้เราคิดอะไรผิดๆเลย เรารักกษัตริย์ จะอย่างไรเราก็รัก.......รักพระเทพที่สุดเลย...
แสดงความคิดเห็น