สังคมทุกสังคมเมื่อมีการสะสมพลังของการเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดหนึ่งย่อมต้องปลดปล่อยพลังออกมา การต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมนั้น เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา
ปัญหารากฐานเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขถึงต้นรากของปัญหา หากไม่มี "การอภิวัฒน์" การอภิวัฒน์ เป็นสิ่งที่แตกต่าง จากการปฏิวัติรัฐประหาร อย่างสิ้นเชิง เพราะการอภิวัฒน์เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นการทำให้สังคม เศรษฐกิจ การเมืองดีขึ้นเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ต่างจากการปฏิรูป เพราะ การอภิวัฒน์ มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่าการเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์" ใกล้จะเสร็จแล้ว คาดว่า ภายในปลายเดือนมีนาคมน่าจะปิดต้นฉบับได้ ทางสำนักพิมพ์ BIZBOOK เครือเนชั่นจะจัดพิมพ์ให้ ใครสนใจเชิญติดตามได้ น่าจะวางแผงได้ช่วงต้นเดือนเมษายน ส่วนตอนนี้ก็มีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง คือ พลวัตประเทศไทย วางแผงตามร้านหนังสือทั่วไป รวบรวมข้อเขียนของผมเอาไว้ ใครสนใจซื้อหาได้ รายได้ส่วนหนึ่งของผู้เขียนจะเอาทำบุญช่วยเหลือเด็กกำพร้า ครับ
ในยุคก่อนการอภิวัฒน์ 2475 นั้น กระแสความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีใครกระทำการจนสำเร็จ แม้นจะมีความกล้าหาญและเสียสละมากเพียงใดก็ตาม มีความพยายามแต่ก็ล้มเหลว เช่น เหตุการณ์ ร.ศ. 130
ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ แกนนำของคณะทหารหนุ่มผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "หมอเหล็งรำลึก" โดย ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า
"สาเหตุส่วนสำคัญยิ่งของความคิดปฏิวัติอยู่ที่ความรักชาติยิ่งกว่าชีวิต และมีความปรารถนาอย่างมุ่งมั่น ที่จะให้ชาติของตนเข้าถึงสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน จึงจำต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยเท่านั้น ที่จะคิดชำระสะสางความเสื่อมสลายของสังคมชาติ ผดุงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของปวงชนชาวไทย .........
เรื่องเศรษฐกิจของชาติยังหาได้ดำเนินไปเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลายไม่ อย่างน้อยก็เยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเคยเดินคู่กันมาแท้ๆ กับประเทศไทยสมัยที่ปิดเมืองท่า แต่ครั้นญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบราชาธิปไตยภายใต้กฎหมายแล้ว มิช้ามินานเท่าใดนัก ความเจริญก้าวหน้าก็วิ่งเข้าหาประชาชาติของเขาอย่างรวดเร็ว จนเกินหน้าประเทศไทยอย่างไกลลิบ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเขาปลุกพลเมืองของเขาให้รักชาติฉลาดหลักแหลมและมั่นคงในวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยโครงการการศึกษาอันแน่นอนตามเงื่อนเวลา มาเป็นกำลังการปกครองและแก้เศรษฐกิจแห่งชาติ ..........."
ความสำคัญของ "คณะ ร.ศ. 130" มิใช่อยู่ที่ว่าสมาคมนี้กระทำการสำเร็จหรือล้มเหลว แต่เหตุการณ์ ร.ศ. 130 นี้เป็นปรากฏการณ์สะท้อนภาพความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ให้เป็นประชาธิปไตยของกลุ่มทหารหนุ่ม และข้าราชการรุ่นใหม่
แม้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถูกปราบปรามในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2454 หรือ ร.ศ. 130 ก็ตาม แต่ความไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมือง และความล้าหลังทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ในหมู่ชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่ และปัญญาชนทั้งหลาย
ความคิดอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นกับ ท่านปรีดี พนมยงค์ มาก่อนที่จะไปเรียนฝรั่งเศสทั้งจากเหตุการณ์ในประเทศอย่าง เหตุการณ์ ร.ศ. 130 แรงบันดาลใจจากข้อเขียนของ เทียนวรรณ และ กศร กุหลาบ และเหตุการณ์การปฏิวัติในจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูโดย ดร. ซุน ยัด เซ็น
ท่านเทียนวรรณ หรือ วรรณาโภ ได้ออกนิตยสารชื่อว่า "ตุลวิภาคพจนกิจ" เรียกร้องให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบรัฐสภาแบบนานาอารยประเทศ
ก่อนที่นิตยสารตุลวิภาคพจนกิจถูกสั่งปิด นิตยสารเล่ม 7 วันที่ 8 กันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450) ได้ทำหน้าที่กระบอกเสียง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างสมภาคภูมิหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน มีข้อความดังนี้
"ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังไม่ทำ จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย"
พอมาเรียนฝรั่งเศส ท่านปรีดี จึงไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนนักเรียนทั่วไป ได้ดำเนินการเคลื่อนไหว เพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2466-2467 ท่านปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นในยุโรปจัดตั้งสมาคม สามัคยานุเคราะห์ หรือ มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า S.I.A.M
คณะราษฎรได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ผู้ก่อตั้งเป็นนักเรียนและข้าราชการในสายทหาร และพลเรือน กำลังศึกษาอยู่ทั้งในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายที่เข้มแข็งของ "นักเรียนนอก" เหล่านี้
การประชุมครั้งแรกของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ ค.ศ. 1926 (ตรงกับปฏิทินไทยขณะนั้น คือ ปี พ.ศ. 2469 ปฏิทินไทยปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2470) ประชุมทางการครั้งแรกที่หอพัก RUE DU SOMMERARD ซึ่งกลุ่มนักเรียนผู้ก่อการได้เช่าห้องใหญ่ไว้สำหรับการประชุมโดยเฉพาะ มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์ นักศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ข้าราชการและนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรม ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ รัชกาลที่ 6
ร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุนเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าฝรั่งเศส นายตั้ว พลานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส
ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ท่านปรีดีเป็นประธาน และเป็นหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสม เป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป การประชุมเพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ได้ดำเนินการเป็นเวลา 5 วัน
หลังจากประชุมติดต่อกันยาวนาน 5 วัน วัตถุประสงค์ของคณะราษฎรคือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศสอังกฤษ REVOLUTION ดังนั้นทางคณะก่อการจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า "เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย" และมุ่งหมายให้สยามบรรลุเป้าหมายหลัก 6 ประการ
อันเป็นหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ หนึ่ง รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
สอง รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
สาม บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
สี่ ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ห้า ให้ราษฎรมีเสรีภาพมีความเป็นอิสระ หก ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์ (2)
ท่านปรีดีได้ทำการบันทึกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า
"โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหาร เข้ายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่า วิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี Coup D'etat หรือ การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า รัฐประหาร เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Fait Accompli คือ พฤติกรรมที่สำเร็จรูปแล้ว"
ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนเล่าเรื่องราวอย่างละเอียดถึงการก่อร่างสร้างขบวนการอภิวัฒน์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
"ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน กรรมการแต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสาย ที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจารณาตัวบุคคล แล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ........ ในชั้นแรกให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ 2 คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป"
ท่านปรีดียังเล่าต่อในบันทึกถึงคุณสมบัติของผู้มาเข้าร่วมว่า
"การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง ความกล้าหาญ ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้นจึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนระบบปกครองดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ
ดี 1 ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่า ผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจฯ
ดี 2 ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้
ดี 3 ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ
นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ท่านปรีดีเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก 6 ประการ ซึ่งตัวท่านเองเป็นผู้เสนอ รวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงการเศรษฐกิจและได้มอบให้ข้าพเจ้าเตรียมร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป
ปรีดี พนมยงค์ บันทึกเหตุการณ์ก่อตัวของคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ไว้ว่า "เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้น แล้วเพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไป อีกประมาณ 2-3 เดือน เพื่อนที่ยังอยู่ปารีสได้ชวน นายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาเกษตร และนายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีสซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลามในไทย ที่รู้จักกันในนามว่า "ครูฟา" ต่อมานายแช่มเปลี่ยนนามสกุลว่า "พรหมยงค์" คล้ายๆ นามสกุลข้าพเจ้า)
ต่อมาได้ชวน ร.ต. สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์กที่เยือนปารีส ต่อมาพระยาทรงสุรเดช ได้มาดูงานในฝรั่งเศส เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสจึงลองทาบทามว่ามีความรู้สึกอย่างไร ต่อระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ได้ความว่าไม่พอใจระบบนั้น แต่ยังมิได้ถูกชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร ต่อจากนั้นเพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีส ก็ทยอยกันกลับสยาม ค่อย ๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนากันเพียงคร่าว ๆ มิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น
ฉะนั้นต่อมาในสยาม จึงได้ชวน ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ นายสพรั่ง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ และเพื่อนทหารบก ทหารเรือ พลเรือนคนอื่น ๆ ในสยาม ในปลาย พ.ศ. 2474 จึงได้ชวนพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเณย์ และมอบให้พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร"
หลังจากเป็นกำลังสำคัญและมันสมองในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านปรีดีก็ได้มีบทบาทในการบริหารประเทศ ในรัฐบาลหลายชุด เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย
แม้นคุณูปการที่มีต่อแผ่นดินเกิดและประชาชนมากมาย ก็ยังไม่วายถูกใส่ร้ายป้ายสี และจำต้องยุติธรรมบทบาททางการเมือง จากการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน และ ประเทศฝรั่งเศส ใช้เวลาลี้ภัยการเมืองในต่างแดนมากกว่า 30 ปี
เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์ (จบ)
ท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณผู้รับใช้ใกล้ชิด ท่านเจ้าคุณนอแห่งวัดเทพศิรินทราวาส ได้พูดถึงท่านปรีดีในระหว่างที่ไปเยี่ยมท่านที่บ้านพักกรุงปารีสว่า
"ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อาตมาได้พบเห็นตัวจริง ท่านปรีดี เมื่อพวกอาตมาพบท่านนั้น เห็นว่าท่านมีความปีติยินดีมากถึงกับน้ำตาคลอทีเดียว ...... ท่านแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน ความบริสุทธิ์และความมั่งคงแห่งจิตใจท่าน ......"
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้เขียนบทกลอนด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมของรัฐบุรุษผู้ลี้ภัยการเมืองร่วม 36 ปี
คนดีไยมิด้อม ดูดี กันพ่อ
ดีแต่คอยจับที ท่าร้าย
ร้ายน้อยกลับทอยทวี ถวิลเพิ่ม มากนา
หรือมิผิดคิดป้าย โปะร้อน ซ้อนสุม
ดีชุมเช่นนี้ขาด คุณงาม
ดีแต่ก่อชั่วลาม เลอะเปื้อน
ดีจริงส่งเสริมความ ดีทั่ว กันแฮ
ดีท่านดีตนเอื้อน ออกอ้าง สร้างดี
ท่านปรีดีแม้นโชคดีไม่ถูกจับกักขังเช่นเดียวกับรัฐบุรุษสำคัญของโลกทั้งหลายที่ได้ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ก็ตกเป็นเหยื่อแห่งการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองในกรณีสวรรคต จนต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอน
เฉินซัน ได้ประพันธ์บทกวีอันไพเราะเพื่อรำลึกถึงท่านปรีดี ในวันที่ท่านถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ณ. บ้านพักกรุงปารีส ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ความว่า
คือวิญญาณเสรี ชื่อ ปรีดี พนมยงค์
คือดาวที่ดำรง อยู่คู่ฟ้าสถาวร
คือเทียนที่ลาร้าง แต่ส่องทางไว้สุนทร
คือเกียรติที่กำจร และจารใจผู้ใฝ่ธรรม
คือแสงธรรมที่นำฉาย คือความหมายที่เลิศล้ำ
คือผู้ประศาสน์คำ "ธรรมศาสตร์และการเมือง"
ผู้พลิกประวัติศาสตร์ ประชาราษฎร์ให้โลกเลื่อง
คือเสรีรองเรือง ระยับอยู่คู่ฟ้าดิน
อาลัยท่านอำลา จากประชาทั่วธานินทร์
แต่เจตนาจินต์ จักสืบล่วงเป็นพลัง
คือหรีดและมาลัย จากดวงใจชนรุ่นหลัง
สายใยไม่หยุดยั้ง แต่ยังอยู่อย่างยืนยง
แม่โดมจักผงาด ธรรมศาสตร์จักดำรง
ปรีดี พนมยงค์ ประดับไว้ในใจชน
ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นผู้นำไทยที่มีวิสัยทัศน์ครอบคลุมในหลากหลายด้าน ทางด้านประชาธิปไตยก็เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย มีการวางรากฐานประชาธิปไตยเริ่มต้นที่ชุมชน เสนอกฎหมายให้มีเทศบาลทุกตำบล จำลองแบบมาจากระดับชาติ เจตนารมณ์ก็เพื่อให้ราษฎรได้ศึกษาด้วยการปฏิบัติเข้าใจหลักการปกครองตนเอง แนวคิดนี้หากมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง เมืองไทยคงจะมีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่านี้ และที่สำคัญการซื้อสิทธิขายเสียง ถอนทุนทุจริตคอร์รัปชันคงไม่เป็นปัญหาเกาะกินสังคมไทยมากขณะนี้ ครับ
ผลงานการอภิวัฒน์ด้านเศรษฐกิจมีมากมายหลายประการ ทั้งการยกเลิกภาษีรัชชุปการและมาใช้ประมวลรัษฎากรแทน ซึ่งให้ความเป็นธรรมกับประชาราษฎรมากขึ้น ใครมีรายได้มาก ก็เสียมาก ใครมีรายได้น้อย ก็เสียน้อย นอกจากนี้ท่านยังจัดตั้งธนาคารชาติและหน่วยสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ ในกระทรวงการคลัง เสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติงบประมาณ บริหารจัดการทุนสำรองได้อย่างเหมาะสมในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดำเนินการปฏิรูปที่ดินและเสนอให้ยกเลิกอากรค่านา จัดตั้งพัฒนาระบบสหกรณ์
เสียดายที่เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดีไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ ทั้งที่เป็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจไปข้างหน้า 20-30 ปีและหากเดินตามแนวทางนั้น เราจะมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในสังคมมากทีเดียว
เวลานั้น ท่านปรีดีไม่สามารถฝ่ากระแสต้านทานจากพลังอนุรักษนิยมในสังคมไทยได้ เค้าโครงเศรษฐกิจจึงไม่สามารถพลักดันให้นำมาปฏิบัติได้ทั้งหมดและเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองครั้งแรก
นอกจากบทบาททางเศรษฐกิจแล้ว ท่านปรีดียังได้มีบทบาทในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ระบบกฎหมาย และบทบาทเพื่อสันติภาพ รวมทั้งบทบาทในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย
แม้นรัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ผู้นี้ถึงแก่อสัญกรรมโดยสงบไปแล้ว ผลงานการอภิวัฒน์ยังคงจะถูกเล่าขานต่อไป และขบวนการอภิวัฒน์จะยังไม่จบสิ้น จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าเราจะก้าวถึงสังคมแห่งอุดมคติและดีงาม
ในช่วงต้นปีของปีแห่งการอภิวัฒน์ มีข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีผู้สังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวลือที่แพร่ออกไปนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ น่าจะมีกระบวนการในการสร้างข่าวลือ
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 ไม่ทราบมาก่อนว่า "ท่านปรีดี" มีส่วนในการอภิวัฒน์ครั้งสำคัญนี้ แสดงว่า คณะราษฎรได้ดำเนินการก่อการอย่างปิดลับ ไม่แพร่งพรายความลับออกมาแม้นกระทั่งคนในครอบครัว
ก่อนหน้าวันที่ 24 มิถุนายน ปรีดีได้บอกกับภริยาและครอบครัวว่า จะไปอยุธยาและบอกกับ ท่านผู้หญิงพูนศุข ว่า จะไปบวชสัก 4 เดือน
หลังออกจากบ้านไปตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ปรีดี ก็ไม่ได้กลับบ้านจนกระทั่งราวต้นเดือนกรกฎาคม มีจดหมายจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ลงวันที่ 3 กรกฎาคม เป็น จดหมายของปรีดี ถึง พูนศุข
จดหมายของ ท่านรัฐบุรุษปรีดี เริ่มต้นด้วยการขอโทษท่านผู้หญิงพูนศุข ว่าต้องพูดปดว่าจะไปอยุธยานั้นมีความจำเป็น เกรงว่าเมื่อพูดความจริงก็จะไม่สามารถจากบ้านมาก่อการได้ โดยมีข้อความในตอนหนึ่งของจดหมายกล่าวถึงเหตุการณ์ในการเป็นแกนนำในการก่อการครั้งนี้ว่า
"การที่ทำอะไรไปทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเป็นส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก"
นั่นคือ รายละเอียดบางส่วนในหนังสือ "รัฐบุรุษอภิวัฒน์" ที่จะวางแผงในเร็วๆ นี้ ครับ
อนุสรณ์ ธรรมใจ
หมายเหตุ
ข้อเขียนนี้แบ่งลงพิมพ์เป็น 3 ตอนใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ดังนี้
- เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์ (1)
พลวัตเศรษฐกิจ : อนุสรณ์ ธรรมใจ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
- เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์ (2)
พลวัตเศรษฐกิจ : อนุสรณ์ ธรรมใจ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
- เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์ (จบ)
พลวัตเศรษฐกิจ : อนุสรณ์ ธรรมใจ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
ที่มา : nidambe11.net : เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์
ปล.
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ
วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551
เรื่องของการก่อการอภิวัฒน์
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 6:24 ก่อนเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น