วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551

การเมืองในสมัย ร. 5 คือการทำให้อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์


ก่อนอื่นต้องยอมรับกันก่อนว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันไปจนถีงประวัติศาสตร์ในยุคล้นเกล้ารัชกาลที่ 5– 6–7 ซึ่งการเมืองสมัยใหม่ได้เริ่มเข้ามาสู่เมืองไทย ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ก็เกือบจะมีการรัฐประหารโดยคนตระกูลหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลสูงมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งราชวงค์จักรี (ไม่ต้องถามผมนะครับว่าตระกูลใหน ผมไม่อยากถูกฟ้อง มีคนถูกฟ้องไปหลายรายแล้ว) ทำให้พระองค์ต้องป้องกันการกระทำในลักษณะนี้ โดยการกำหนดกฏเกณฑ์การสืบสันติวงศ์เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เงื่อนไขในลักษณะเดิมมาทำรัฐประหารอีก ตรงนี้เองที่นักวิชาการคนหนึ่ง ก็พูดถึงเอาไว้ว่า

การเมืองในสมัย ร. 5 คือการทำให้อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์

การไม่มีฐานของอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมนี้เปลี่ยนเพราะอะไรบ้าง? ผมคิดว่ามันเปลี่ยนเมื่อเกิดสภาพแวดล้อมใหม่ที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการเกิดภาวะ Modernity หรือภาวะสมัยใหม่ อันนำไปสู่กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ควบคู่ไปกับการสร้างการเมืองแบบที่อำนาจการเมือง ‘รวมศูนย์’ อยู่ที่พระราชา

ในการทำให้กษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจได้สมบูรณ์แบบนั้น ภารกิจที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้ขุนนางหรือผู้นำทางการทหารมีโอกาสตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ได้ต่อไป คำอธิบายว่ากษัตริย์ได้แก่คนผู้มีสถานะพิเศษบางอย่างจึงเกิดขึ้นบนเงื่อนไขนี้ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของความพยายามอธิบายว่า อะไรคือฐานของอำนาจการเมืองที่ชอบธรรม

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 คือการพยายามที่จะสถาปนาหลักการว่า ใครคือคนที่มีสิทธิจะเป็นกษัตริย์ ซึ่งในอดีตไม่มีหลักการที่ชัดเจนขนาดนี้ แต่ในสมัยรัชกาลที่5 เป็นครั้งแรกที่มีความชัดเจนว่า Ground ของความชอบธรรมทางการเมืองคืออะไร ซึ่งหนึ่งในหลักการนี้ก็คือคนที่เป็นสายเลือดของกษัตริย์โดยตรง หรือพูดอีกอย่างก็คือคนที่เป็นประมุขของชนชั้นสูงทั้งหมดในสังคมไทย

ต่อมาในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ตอนนั้นเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 สถานการณ์ทั่วโลกต่างก็วุ่นวาย ในเมืองไทยของเราก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เนื่องจากมีปัญหาการสืบสันติวงศ์เข้ามาแทรกซ้อน ซึ่งก็มีการพยายามกระทำการรัฐประหารขึ้นมาอีก ในยุคสมัยนั้นพูดได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ อ่อนแอลงสืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ และกระแสการรับรู้ข่าวสารของยุคใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา

ในที่สุดเมื่อเข้ามาในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 การแตกหักระหว่างเจ้า และไพร่ ก็มาถึง ประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงนี้ซับซ้อนมาก มีการถกเถียงกันมาจนถึงทุกวันนี้ในแวดวงนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการบิดเบือนกันหลายประเด็น จากหลายฝ่ายทั้งฝ่ายคณะราษฎร์ ทั้งฝ่ายเชื้อพระวงศ์ ทั้งฝ่ายเป็นกลาง ทั้งฝ่ายผู้จงรักษ์ภักดี (ที่ถูกเรียกว่าพวกนิยมเจ้า) ต่างฝ่าย ต่างก็อ้างความถูกต้องของข้อมูลฝ่ายตน จึงทำให้ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ยังคงคลุมเคลืออยู่

ในความคิดเห็นของผม (ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้นะครับ) ยุคสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้น ต้องพูดว่าเศรษฐกิจของไทย ล่มสลาย เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนนั้นมีการตัดทอนค่าใช้จ่ายของแผ่นดินลงมากมาย เรียกได้ว่ามีคนเสียผลประโยชน์กันเยอะ (พวกตัวใหญ่ ๆ นั่นแหละ) อีกทั้งเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงไปทั่ว มีพวกเจ้าขุนมูลนาย หลายต่อหลายคน ได้แอบทำการคอร์รัปชั่น โดยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ไม่สามารถจัดการอะไรได้มากนักอันสืบเนื่องมาจากการอ่อนแอลงของพระราชอำนาจที่เป็นต่อเนื่องกันมาในสองรัชกาลก่อน คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร์” จึงอาศัยเงื่อนไขนี้สร้างความชอบธรรมในการกระทำรัฐประหาร ทั้งนี้โดยเนื้อแท้แล้ว หากเราอ่านประวัติของบุคคลที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นคณะราษฎร์ ก็จะพบว่าคณะราษฎร์ ประกอบไปด้วยคนที่สูญเสียอำนาจ คนที่สูญเสียประโยชน์ พวกหัวก้าวหน้าที่หลงไหลไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในยุคนั้น นักวิชาการที่หวังดีกับประเทศชาติ ฯลฯ มั่วกันไปหมดทุกคนสงวนจุดต่าง และแสวงจุดร่วม โดยมีเงื่อนไขแอบแฝงกันทั้งนั้น

ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนี้ ในช่วงแรก ประชาธิปไตยของไทย ไม่ได้หน้าตาเหมือนกับประชาธิปไตยในวันนี้ ยุคนั้นต้องเรียกได้ว่ายุคสมัยของการล้มล้างระบอบกษัตริย์ เลยทีเดียว พระมหากษัตริย์ ไม่มีอำนาจใด ๆ เหลืออยู่ พวกเชื้อพระวงศ์แตกซ่านกระเซ็นไปคนละที่คนละทาง อำนาจอยู่ในมือของคนที่ถือรัฐธรรมนูญ จะทำอะไรก็อ้างรัฐธรรมนูญไปซะหมด แต่เนื่องจากในสมัยนั้นการสื่อสารยังไม่ดีมากนัก ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลและข่าวสารได้ง่ายดายเหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นคณะราษฎร์ จึงต้องคงสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาไว้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ประชาชนจะไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ปกครอง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงจงรักษ์ภักดี ตามความเชื่อที่มีกันมาแต่ครั้งโบราณ ตอนนั้นถ้าไม่ติดขัดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
ป่านนี้ประเทศไทยมีประธานาธิบดี ไปแล้วครับ

หลังจากนั้นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็เริ่มขึ้นล้มลุกคลุกคลานกันไปแบบสะบักสะบอม จนมาถึงยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงมีการฟื้นฟูเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งผมคิดว่า เป็นเงื่อนไขเพื่อสร้างความชอบธรรมของการเข้ามามีอำนาจ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงจากการเป็นแค่ตรายาง มาเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างในปัจจุบัน


ปล. ที่ผมได้นำเสนอนี้ เป็นบทความทางวิชาการ ซึ่งเขียนโดยความเขลาของผมเอง โดยได้ข้อมูลมาจากถุงกล้วยแขก ดังนั้นจึงขอสงวนสิทธิ ไม่ให้นำไปใช้อ้างอิงใด ๆ และขอความกรุณาอย่าฟ้องร้องผม


คนในวงการ

ที่มา : propaganda.forumotion.com

2 ความคิดเห็น:

ชาญณรงค์ กล่าวว่า...

การศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงรัชกาลที่ ๗ ย้อนหลังไปนั้น หากใช้มาตรฐานหรือสายตาของคนในยุคปัจจุบันนั้น จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปได้มาก เพราะกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นทรงเกี่ยวข้องกับอำนาจและการเมืองโดยตรง เพราะต้องเป็นทั้งประมุขและผู้บริหาร การกระทำใดๆเพื่อปกป้องอำนาจของพระองค์นั้นควรเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ อย่างไรก็ดี ผมก็เห็นความดีของคณะราษฎรอยู่ ตรงที่ทำให้ประเทศสยามได้เริ่มนับหนึ่งกับระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ก็เป็นการเปลี่ยนจากการมีเจ้าองค์เดียวเป็นมีเจ้าหลายองค์เหมือนอย่างที่รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชปรารภ ขอให้คุณคิดให้มากๆว่าการเมืองช่วง ๒๔๗๕ ถึง ๒๕๐๑ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่

สิ่งที่ผมอยากให้ระวังคือการปลุกระดมของคนที่ต้องการเป็นเจ้าองค์ต่อไป (อาจมีคนหลายคนหลายกลุ่มที่ต้องการเป็นเจ้าองค์ต่อไป ในความหมายทีว่าต้องการเป็นผู้กุมอำนาจไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด) ว่าประชาธิปไตยคือสูตรสำเร็จของทุกเรื่อง และอะไรที่มาขัดขวางการได้เป็นเจ้าองค์ต่อไปจะต้องถูกใส่ร้ายป้ายให้ถึงที่สุดนั้น สุดท้ายแล้ว เราจะตกเป็นแค่เบี้ยตัวเล็กๆที่ถูกใช้ค้ำชูอำนาจเขาเท่านั้นเอง

ชาญณรงค์ กล่าวว่า...

ขออภัยที่โพสต์ซ้ำ