คนไทยมีความเกรงและกลัวต่อข้าราชการมาแต่ไหนแต่ไร ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ว่า “ข้าราชการ” มีกำเนิดมาจากไหนและหมายความว่าอย่างไร
คำไทยเรียกข้าราชการ ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข และเรียกข้ารัฐการในประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข หรือปกครองแบบสาธารณรัฐ แต่จะเรียกอย่างไรความหมายของมันก็ตรงกันอยู่นั่นเอง
ข้าราชการ เกิดขึ้นครั้งแรกไม่ใช่ในรูปแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ หากในรูปแบบของผู้คุมทาส คือ จากการที่นายทาสมีทาสเป็นสมบัติเป็นจำนวนมากมาย จนไม่สามารถจะควบคุมดูแลให้ทั่วถึงได้โดยตนเองจึงได้จัดให้มีผู้คุมทาสขึ้น ผู้คุมทาสนี้อาจจะจ้างมาจากอิสรชนหรือพวกทาสที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว และการจัดให้มีผู้คุมทาสทำงานและดูแลผลประโยชน์นี้แหละ เป็นสถาบันสำคัญประการแรกของรัฐ และด้วยการที่ทาสถูกถือเสมือนหนึ่งสัตว์เลี้ยง ดังนั้นจึงเป็นการไม่แปลกที่พวกทาสจะถูกกดขี่ ทารุณ ขู่เข็ญบังคับจากบริวารของนายทาส และนี่เป็นการกดขี่ทารุณครั้งแรกที่อุบัติขึ้นระหว่างชนชั้นปกครอง (บริวารนายทาส)กับชนชั้นผู้ถูกปกครอง (พวกทาส) และในระยะเวลาอันยาวนานต่อมาสังคมก็ได้วิวัฒนาการมาถึงยุคที่มีรัฐ และพร้อมกันนั้นพวกผู้คุมทาสและนายทาสส่วนหนึ่งก็ด้วิวัฒนาการมาในรูปแบบของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร
และนี่..เป็นครั้งแรกที่ปรากฏในรูปแบบของชนชั้นปกครองอย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นที่ยอมรับและรับรู้ของสังคม และจากการที่นครรัฐได้ขยายตัวกว้างขวาวออกไปจนกลายมาเป็นประเทศดังที่รู้จักกันในทุกวันนี้ ได้ทำให้ชนชั้นปกครองซึ่งรวมข้าราชการหรือข้ารัฐการ ได้ลงหลักปักมั่นในสังคม จนกลายเป็นสถาบันอันจำเป็นซึ่งจะขาดเสียมิได้ของสังคม และก็กลายเป็นอาชีพชนิดหนึ่งไป คืออาชีพปกครอง และก็โดยอาชีพปกครอง ไม่มีการผลิต ดังนั้นเพื่อที่จะให้ผู้มีอาชีพชนิดนี้ดำรงอยู่ได้ จึงได้เกิดการเก็บภาษีอากรขึ้น
และจากการที่ถือกันในยุคก่อนๆว่า ประชาชนอยู่ได้เพราะบารมีของหัวหน้าชนชั้นปกครอง คือพระราชาธิบดี ดังนั้น ข้าราชการหรือชนชั้นปกครองจึงถือตัวว่าเป็นนายของประชาชน และจากการที่ถือว่าเป็นนาย จึงได้กดขี่ข่มเหงรังแกประชาชน เช่นเดียวกับที่บริวารของนายทาสปฏิบัติต่อพวกทาสในสมัยก่อนโน้น มันเป็นเรื่องตลกสิ้นดีที่ผู้เลี้ยงกลายเป็นขี้ข้าและผู้ถูกเขาเลี้ยงกลายเป็นนาย
มันก็เป็นเช่นเดียวกับที่มนุษย์สร้าง ”เทวดา” ขึ้นมาแล้วก็หมอบกราบคาบแก้วอยู่แทบเท้า “เทวดา”
แต่ความเท็จก็ย่อมจะหลีกหนีไปเมื่อความจริงมาปรากฏตัวขึ้น เช่นเดียวกับที่ความมืดสลายไปเมื่อความสว่างเข้ามาแทนที่ ในทำนองเดียวกันเมื่อการคลี่คลายขยายตัวทางประชาธิปไตย ได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง ได้เป็นผลทำให้ประชาชนมีความตระหนักในความจริงที่ว่า ชนชั้นปกครองต่างหากที่อยู่ได้เพราะประชาชน ไมใช่ประชาชนอยู่ได้เพราะชนชั้นปกครอง และด้วยเหตุดังนี้ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาธิปไตยได้ฝังรากลึกลงไปในจิตใจของประชาชน ความเข้าใจว่าประชาชนเป็นขี้ข้า ความเข้าใจว่าข้าราชการหรือข้ารัฐการเป็นนายประชาชนจึงไม่มี และในทางตรงกันข้าม ชนชั้นปกครองหรือข้าราชการหรือข้ารัฐการกลับสำนึกในความจริงว่า ตูข้านี้เป็นลูกจ้างของประชาชนหรือเป็นผู้รับใช้ประชาชน
ด้วยความสำนึกเช่นนี้ การปฏิบัติต่อประชาชนของพวกท่านข้าราชการหรือชนชั้นปกครองเหล่านั้นจึงเป็นไปด้วยความลมุนลม่อม เป็นไปด้วยความมีอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม ซึ่งจะหาไม่พบในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย และเพื่อให้สมกับที่ประชาชนเป็นผู้เลี้ยงข้าราชการหรือชนชั้นปกครอง (โดยการเสียภาษี หรือให้สมกับฐานะที่ประชาชนเป็นนายจ้าง)
ดังนั้น ในประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ จึงให้สิทธิแก่ประชาชนในการที่จะถอดถอนข้าราชการหรือข้ารัฐการ บางตำแหน่งที่ประชาชนไม่พอใจได้ เช่น นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ ผู้พิพากษา เป็นต้น ก็ทำไมเขาจะไม่ให้สิทธิเช่นนี้เล่า ในเมื่อคณะผู้บริหารงานหรือรัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยเหล่านั้นไปจากประชาชน จึงย่อมที่จะเห็นใจและเข้าใจประชาชนดี และไม่กล้าที่จะดื้อด้านต่อความต้องการอันชอบธรรมของประชาชนอย่างเด็ดขาด
ข้าราชการหรือข้ารัฐการ ซึ่งหมายความถึงข้าราชการประจำและการเมืองและกินเงินเดือนของประชาชน (จากภาษีอากร) ดังนั้น ข้าราชการตั้งแต่หัวหน้าแถวจนถึงหางแถวจึงเป็นลูกจ้างของประชาชน ข้าราชการไม่ใช่นายประชาชน ข้าราชการคนใดคณะใดกดขี่ข่มเหงประชาชนหรือดื้อด้านต่อความต้องการอันชอบธรรมของประชาชนแล้ว ก็ถือว่าเป็นการทรยศต่อประชาชนอย่างไม่ควรได้รับอภัยทีเดียว !!!
และเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาดในประเทศประชาธิปไตยเลย แต่ตรงข้ามในประเทศเผด็จการที่ล้าหลังต่อความเจริญ ไม่ว่าจะโดยคณะบุคคลหรือ “คนเดียว” เรามักจะพบกับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เสมอ.
แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕
September 6, 2007
ที่มา : dedicate for the Revolution 2475 : บทความที่ ๒๖๔. ข้าราชการ
วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551
ข้าราชการ ?
ผู้จัดเก็บบทความ เจ้าน้อย ณ สยาม ที่ 10:34 หลังเที่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น