วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551

เสรีภาพทางวิชาการ


มติชนรายวัน
วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9697


นิตยสารศิลปวัฒนธรรมร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานทำบุญให้เจ้าฟ้าเหม็น เพื่อฉลองวังท่าพระซึ่งเคยเป็นตำหนักเดิมของท่านมาก่อน ในรายการเดิม กำหนดว่าจะมีการอภิปรายของนักวิชาการเกี่ยวกับเจ้าฟ้าเหม็นด้วย

มีชายลึกลับคนหนึ่ง อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สันติบาล ได้แจ้งแก่คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในทำนองว่าทางสันติบาลไม่เห็นด้วยกับการจัดอภิปราย ส่วนจะใช้คำพูดอย่างไรแน่นั้นผมไม่ทราบ อาจเป็นได้ตั้งแต่ทำนองปรึกษาหารือไปจนถึงออกคำสั่ง

สิ่งที่ท่านคณบดีน่าจะทำแต่ไม่ได้ทำก็คือ บอกให้ชายผู้นั้นทำหนังสือจากสันติบาลมาเป็นทางการ ในขณะเดียวกันทางคณะสถาปัตยกรรมก็ไม่สามารถให้สัญญาได้ว่า ถึงมีหนังสือมาแล้วจะทำตาม ต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสันติบาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งใครให้ทำหรือไม่ทำอะไรได้ แม้แต่การวินิจฉัยว่าการทำอะไรน่าจะผิดกฎหมาย ก็มีอำนาจเท่ากับเพื่อนผู้หวังดีคนหนึ่งคือเตือนเท่านั้น หาได้มีอำนาจระงับยับยั้งได้แต่อย่างใดไม่

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อคณบดีไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ จึงต้องทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ได้แก่ยกเลิกรายการอภิปรายทางวิชาการไปเสีย

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตากสิน ซึ่งเกิดจากเจ้าจอมฉิมใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทำให้เจ้าฟ้าเหม็นเป็นทั้งพระราชโอรสและพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์ถึงสองพระองค์ ในต้นรัชกาลที่สอง(เมื่อ ร.1 เสด็จสวรรคตได้เพียง 3 วัน) มีอีกาคาบหนังสือ(บัตรสนเท่ห์) มาทิ้ง กล่าวโทษว่าเจ้าฟ้าเหม็นและขุนนางอีกจำนวนหนึ่งคิดกบฏจะแย่งชิงราชสมบัติ ร.2 โปรดให้พระราชโอรสองค์ใหญ่คือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และขุนนาง(ซึ่งในภายหลังจะเป็นสมุหนายกใน ร.3) เป็นแม่กองสอบสวน ได้ความเป็นสัตย์ จึงต้องพระราชอาชญาประหารชีวิต พร้อมกับขุนนางที่ร่วมก่อการกบฏ และเจ้านายเชื้อสายพระเจ้าตากอีกจำนวนหนึ่ง

ถ้าเรื่องมันง่ายอย่างที่พระราชพงศาวดารแย้มเอาไว้แค่นี้ คงไม่มีอะไรที่จะต้องอภิปรายกันทางวิชาการ

แต่นักเรียนประวัติศาสตร์ทุกคนอ่านพระราชพงศาวดารตรงนี้แล้ว ก็จับได้ทันทีว่า เรื่องมันต้องซับซ้อนกว่านี้อีกแยะ เพราะอีกาที่ไหนจะสัปดนไปคาบหนังสือหรือบัตรสนเท่ห์มาทิ้งในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งขุนนางที่ร่วมกบฏก็เป็นข้าหลวงเดิมของ ร.1 เกือบทั้งนั้น บางคนเคยมีส่วนช่วยในการชิงราชสมบัติจากพระเจ้าตากด้วย

ผมคิดว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเรื่องสืบราชสมบัติในปลาย ร.1 (หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์แรกสวรรคตแล้ว) ไม่ใช่เรื่องราบเรียบเงียบง่ายอย่างที่เข้าใจกัน

จนถึง ร.1 ประเพณีการสืบราชสมบัติก็ยังไม่ได้มีแบบแผนตายตัวแต่อย่างใด วังหน้าใดซึ่งคุมกำลังผู้คนไว้มาก ย่อมสามารถสืบราชสมบัติได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นไปได้ทางประเพณีและทางปฏิบัติ แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว ก็มิได้ทรงตั้งผู้ใดขึ้นเป็นวังหน้าอีกเลย ทรงรอจนกระทั่งมีขุนนางที่ฝักใฝ่กับพระราชโอรสจำนวนหนึ่งได้ทูลขอให้ทรงตั้งกรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นเป็นวังหน้า จึงได้ทรงอำนวยตาม แต่ช่วงนั้นเป็นสามปีสุดท้ายในรัชกาล ซึ่งการศึกสงครามสงบลงแล้ว วังหน้าพระองค์ใหม่จึงไม่จำเป็นต้องคุมทัพและกำลังผู้คนมากมายอย่างแต่ก่อนอีก

ในขณะเดียวกัน ยังมีเชื้อสายของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งมีเหตุผลที่จะคิดได้ว่าสมควรจะรับสิทธิสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ซึ่งได้เป็นกำลังสำคัญทางการเมืองของพระเชษฐาธิราชมาตลอด ร.1
เจ้าฟ้าเหม็นในฐานะพระราชโอรสพระเจ้าตาก และพระราชนัดดาที่โปรดปรานยิ่งของ ร.1 ก็น่าจะเป็นเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่มีสิทธิธรรมทางการเมืองสูง

สภาพคลุมเครือทางการเมืองอย่างนี้แหละที่ตลอดประวัติศาสตร์ไทยภาคกลาง ก่อให้เกิดการเกาะกลุ่มกันของขุนนางเป็นค่าย เพื่อสนับสนุนเจ้านายที่ตนคิดว่าจะตัวจะได้ประโยชน์ที่สุด ให้ได้ขึ้นครองราชสมบัติ

ฉะนั้นกรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็นจึงไม่ใช่เรื่องเพียงแค่พระราชโอรสพระเจ้าตากถูกพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรีประหาร แต่สะท้อนถึงความซับซ้อนทางการเมืองเบื้องหลังในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงหนึ่งได้อย่างดี และนี่เป็นประเด็นทางวิชาการซึ่งมีคุณค่าและมีประโยชน์ที่จะจัดอภิปรายกันขึ้น เพื่อทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้ากันต่อไปในภายหน้า

ผมไม่ทราบหรอกว่า ชายลึกลับที่โทรศัพท์ไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น เป็นสันติบาลจริงหรือปลอม และว่าที่จริงผมก็ไม่สนใจด้วยว่าปลอมหรือจริง

ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญที่ประกันเสรีภาพในทางวิชาการให้แก่คนไทย แม้จะมีเงื่อนไขว่า "เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ก็ตาม เพราะการละเมิดเสรีภาพในมาตรานี้ต้องชี้การกระทำอย่างชัดแจ้งได้ว่าตรงกับเงื่อนไขอย่างไร(เช่น โชว์การร่วมเพศอย่างเปิดเผย เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้พบเห็น หรือศึกษาวิจัยหาวิธีเลี่ยงการเสียภาษีให้แนบเนียนที่สุด)

น่าสนใจนะครับที่รัฐธรรมนูญใช้คำว่าเสรีภาพทางวิชาการ เพราะคำนี้เป็นคำที่ชาวมหาวิทยาลัยใช้กันจนติดปากมาก่อน และใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นเคยให้คำรับรองมาก่อนเลย แสดงว่าความพยายามของชาวมหาวิทยาลัยที่จะทำเสรีภาพด้านนี้ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ประสบความสำเร็จในที่สุด

แต่ศักดิ์สิทธิ์เพื่ออะไร? สังคมจะได้อะไรจากเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งในความจริงคนที่ต้องการความปกป้องของรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เสรีภาพข้อนี้คงมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็คือเหล่านักวิชาการและสื่อมวลชนเท่านั้น และหากเสรีภาพนี้ถูกใช้เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนของคนไม่กี่จำพวกนี้ คุณค่าของเสรีภาพนี้ก็คงมีไม่มากนัก

ฉะนั้น แทนที่มหาวิทยาลัย(ศิลปากร) จะลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพนี้อย่างแข็งขัน มหาวิทยาลัยจึงได้สมยอมกับการละเมิดรัฐธรรมนูญของอำนาจรัฐอย่างง่ายดายเช่นนั้น(ถ้าชายลึกลับนั้นเป็นสันติบาลตัวจริง) หรือยอมให้ใครก็ไม่ทราบสั่งการมหาวิทยาลัยตามแต่ใจอันหยาบช้าของตัวจะบันดาลให้เป็นไป(ถ้าชายลึกลับนั้นเป็นสันติบาลตัวปลอม)

ผมอยากรู้จริงๆ ว่า ถ้ามีใครอ้างว่าเป็นสันติบาลสั่งให้อธิการบดี หรือคณบดีลาออกไปเสีย เขาจะสู้หรือถอย ผมเชื่อว่าสู้ เพราะนั่นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้ แล้วคงจะพลิกและอ้างรัฐธรรมนูญกันจ้าละหวั่น รวมทั้งมาตรา 42 นี้ด้วย

เพราะเหตุที่ "เสรีภาพทางวิชาการ" ไร้คุณค่า แม้ในหมู่นักวิชาการเองเช่นนี้ ผมจึงรู้สึกห่วงไยต่อการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดมากขึ้นในปัจจุบัน และมีทีท่าว่าจะเกิดมากขึ้นในอนาคต เมื่อมหาวิทยาลัยซึ่งกำลังจะออกนอกระบบพากันคิดว่าภารกิจหลักของตัวกลายเป็นเรื่องการหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง

การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการจากรัฐดังเช่นกรณีสันติบาล(จริงหรือปลอม) ในกรณีนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ที่ถ้านักวิชาการหน้าไม่ซีดเกินไป ก็น่าจะสามารถต้านทานได้ไม่ยาก แต่การคุกคามที่น่ากลัวกว่าคือการคุกคามจากทุน ซึ่งกำลังเป็นลูกค้ารายใหญ่ขึ้นตามลำดับในการกำหนดสองสิ่งที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย
หนึ่งคือการสร้างความรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการศึกษาวิจัยประเด็นที่นักวิชาการเห็นว่ามีคุณค่าต่อความรู้ หรือต่อสังคม และสองคือการเผยแพร่ความรู้ผ่านหลักสูตรและโครงการผลิตบัณฑิตต่างๆ

ถ้าการวิจัยเป็นสินค้าสำหรับซื้อขายกันระหว่างผู้มีทุนจะซื้อและผู้ขาย ใครจะเป็นผู้สร้างความรู้ให้แก่คนที่ไม่มีเงินจะซื้อ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงคนจนเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่มีเงินจะซื้อ แต่รวมถึงองค์รวมนามธรรมอื่นๆ อีกมาก เช่น สังคม(เว้นแต่คุณเชื่อตามคำกล่าวของเทพีแห่งเสรีนิยมใหม่ นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ที่ว่า "ที่เรียกว่าสังคมนั้นไม่มีหรอก"), ครอบครัว, พ่อแม่, เด็ก, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ จะมีใครทำวิจัยเกี่ยวกับมิติที่เอาไปค้ากำไรไม่ได้ของมิติเหล่านี้

ในกรณีเช่นนั้น "เสรีภาพทางวิชาการ" ของรัฐธรรมนูญ จะมิกลับกลายเป็นเครื่องมือสำหรับทุนในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นไปหรือ?

ในแง่เผยแพร่ความรู้ ถ้ามหาวิทยาลัยเล็งผลตอบแทนด้านการเงินของตัวเป็นหลักมากขึ้น มหาวิทยาลัยย่อมมุ่งจะเผยแพร่ความรู้ที่มีตลาดจะซื้อเป็นสำคัญ(โครงการพิเศษต่างๆ ของทุกมหาวิทยาลัยก็กำลังทำและขยายตัวอยู่เวลานี้) มหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงโรงเรียนฝึกแรงงานให้แก่ตลาดงานจ้างเท่านั้น

ในกรณีเช่นนั้น เสรีภาพทางวิชาการดูจะไม่มีประโยชน์อะไรแก่มหาวิทยาลัยอีกแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรกับเสรีภาพในด้านนี้เลย

สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้นให้แก่ชาวไทยนั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าชาวไทยเห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าไม่เห็นคุณค่า รัฐธรรมนูญก็เป็นแผ่นกระดาษเหมือนกระดาษแผ่นอื่นๆ แต่ถ้าเห็นคุณค่า รัฐธรรมนูญจะพ้นจากความเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งได้ เราทุกคนต้องลุกขึ้นมายืนหยัดปกป้องสิทธิเสรีภาพที่เราเห็นคุณค่านั้นด้วยตัวเอง


นิธิ เอียวศรีวงศ์


ที่มา : nidambe11.net : เสรีภาพทางวิชาการ

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: