วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551

ยี อี เยรินี กับ ก.ศ.ร. กุหลาบ และ “วงวิชาการ” ของสยามในปลายศตวรรษที่ ๑๙


วัตถุประสงค์ของบทความขนาดเล็กเรื่องนี้ คือการนำเสนอสำเนาจดหมายสองฉบับ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่มีไปยัง ยี อี เยรินี ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ เกี่ยวกับ “งาน” ที่เยรินีมอบหมายให้นายกุหลาบรับไปดำเนินการ อย่างไรก็ดี การพิจารณาจดหมายทั้งสองฉบับในที่นี้ คงกระทำได้อย่างจำกัด เนื่องด้วยไม่ปรากฏหลักฐานอื่นเป็นบริบทแวดล้อมนัก แต่กระนั้น ก็อาจช่วยให้เราเห็นภาพบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และฉายให้เห็นภาพกว้างของ “วงวิชาการ” ในสยามยุคปลายศตวรรษที่ ๑๙ ได้พอสมควร


ก.ศ.ร.กุหลาบ และ ยี อี เยรินี

ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือนายกุหลาบ ตฤษณานนท์ (พ.ศ.๒๓๗๗ – ๒๔๖๔) เป็นบุตรคนที่ ๑๓ ของนายเสง และนางตรุศ เกิดที่บางพรหม ธนบุรี เมื่อยังเล็ก บิดามารดาแยกทางกัน มารดานำตัวไปถวายพระองค์เจ้าหญิงกินรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ (ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกันในทางใดทางหนึ่ง เช่นเป็นญาติ ?) ให้เป็นผู้ทรงอุปการะ นายกุหลาบจึงเติบโตขึ้นมาในพระราชฐานชั้นใน จนเมื่อมีอายุมากเกินกว่าจะอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ พระองค์เจ้าหญิงกินรีจึงโปรดฯ ให้ไปอยู่วัดพระเชตุพน เรียนหนังสือไทย ขอม แล้วบรรพชาเป็นสามเณรในสำนักกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้รับฉายาว่าสามเณรเกศะโร (แปลว่ากุหลาบ)

ต่อมาในวัยหนุ่ม นายกุหลาบไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาภาษาต่างประเทศ เช่นอังกฤษ และฝรั่งเศส กับพระสังฆราชปาเลอกัว ชาวฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็ได้ใช้ความรู้ด้านนี้ทำงานเป็นเสมียนตามห้างฝรั่งต่างๆ อยู่ถึง ๒๘ ปี จนคนพากันเรียกว่า “เสมียนกุหลาบ” ในระหว่างนั้นยังได้เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งกัลกัตตา ปีนัง สิงคโปร์ สุมาตรา ชวา มาเก๊า ฮ่องกง ไซ่ง่อน กวางตุ้ง และเซี่ยงไฮ้ (1)

ด้วยความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวตะวันตก นายกุหลาบจึงนำอักษรย่อจากฉายาที่ได้รับในระหว่างบรรพชา มาใช้นำหน้าชื่อตัวแบบชื่อย่อของฝรั่ง เป็น ก.ศ.ร. กุหลาบ (2)

ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๒๗ – ๒๔๓๔ นายกุหลาบได้เข้ารับราชการเป็นตำรวจน้ำ ในตำแหน่ง “แอศยุแตนท์” (adjutant) หรือ “นายเวร” ของพระยานรรัตน์ราชมานิต (โต) มียศเทียบเท่านายร้อยเอก ทำหน้าที่ด้านธุรการ จนยุบกรมโปลิศท้องน้ำไป นายกุหลาบจึงออกจากราชการ แต่คนก็คงนิยมเรียกกันติดปากว่า “แอศยุแตนท์กุหลาบ” (ดูจดหมายพราหมณ์สังต่อไปข้างหน้า)

ส่วน เจอโรลาโม อีมิลิโอ เจรินี (Gerolamo Emilio Gerini พ.ศ.๒๔๐๓ - ๒๔๕๖/ค.ศ.๑๘๖๐ - ๑๙๑๓) หรือที่เรียกกันในเอกสารภาษาไทยว่า ยี อี เยรินี เป็นบุตรชายคนโตของ ดร.คาร์โล เกิดที่เมืองอัลเบงกา ทางภาคเหนือของอิตาลี หลังจบการศึกษาชั้นต้น เมื่ออายุ ๑๖ ปี เยรินีสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนนายร้อยที่เมืองโมเดนา เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๒๒/ค.ศ.๑๘๗๙ เขาเข้ารับราชการเป็นนายร้อยตรีประจำกองพันทหารราบที่ ๑๓ ณ เมืองเปรูเจีย ต่อมาเมื่ออายุ ๒๑ ปี จึงขอลาออกเพื่อไปแสวงโชคด้วยการรับราชการทหารในต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔/ ค.ศ.๑๘๘๑

เยรินีออกเดินทางมายังอินเดีย พม่า และเข้ามาถึงประเทศสยามในปีเดียวกันนั้น เขาเข้ารับราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาโอนไปสังกัดกรมทหารหน้า แล้วไปเป็นครูในโรงเรียนวิชาทหาร พระราชวังสราญรมย์ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๒๗ จึงลาออกจากราชการทหารไปเป็นล่ามในกรมมหาดไทยระยะหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๙ จึงได้กลับเข้ามารับราชการทหารอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้เป็นครูในโรงเรียนนายร้อยทหารบก และในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๓๕ ก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายร้อยเอก (3)

หากจะนับโดยอายุ นายกุหลาบก็มีอาวุโสสูงกว่าเยรินีมากถึงขนาดพอจะเป็นคนรุ่นพ่อได้ ดูๆ ไปแล้ว ชายสองคนนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย หากแต่ยังมีบางอย่างที่ทั้งสองคนมีเหมือนกัน ทั้งสองมีอารมณ์ขันในแบบฉบับของตัวเอง ชอบหนังสือ รักการค้นคว้า และใฝ่ใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ทั้งสองรู้จักกันได้อย่างไร ? เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐาน หากแต่ก็อาจคาดคะเนได้ว่า สังคมของ “ชาวเมือง” กรุงเทพฯ ยุคนั้นมิได้กว้างขวางอะไรนัก และยิ่งหากมีความสนใจใฝ่รู้ในทางเดียวกันด้วยแล้ว ก็คงหลีกกันไม่พ้น ก.ศ.ร. กุหลาบเองก็มีชื่อเสียงว่าชอบคบหากับชาวต่างประเทศอยู่แล้ว (4)

ความสนใจร่วมกันอย่างสำคัญของทั้งสองคนก็คือเรื่องหนังสือ นายกุหลาบถือเป็น “นักเลงหนังสือ” ผู้หนึ่ง เขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงสมาคมชนชั้นสูงของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่อนำต้นฉบับเอกสารตัวเขียนและสิ่งพิมพ์รุ่นแรกของสยามในความครอบครองจำนวน ๑๕๐ เรื่อง ออกแสดงนิทรรศการให้สาธารณชนได้ชมในระหว่าง “การนาแชนแนลเอกซฮิบิเช่อน” (National Exhibition) - พระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี ณ ท้องสนามหลวง (5) หลังจากนั้น นายกุหลาบได้เริ่มจัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์จากต้นฉบับที่อยู่ในความครอบครองของตนออกวางจำหน่ายในท้องตลาด เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด (พ.ศ.๒๔๒๖)

ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งมีอายุเกือบหกสิบปี ออกจากราชการแล้ว และเข้าทำงานเป็น “เอดิเตอร์” (บรรณาธิการ) หนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ ของพระยาอรรถการประสิทธิ (6) พร้อมกันนั้นก็ยังเริ่มออกวารสาร สยามประเภท ของตนเองด้วย (7)

ส่วนเยรินีนั้น นับตั้งแต่เข้ามาทำงานเมืองไทยไม่นานก็ได้เพียรพยายามเรียนภาษาไทยและภาษาบาลีจนแตกฉาน เป็นที่ยอมรับแม้ในหมู่คนไทย ขณะเดียวกัน เขายังมีความสามารถในการเขียนด้วย ในช่วงที่เยรินีลาออกจากราชการทหารระยะหนึ่งนั้น ได้ไปทำงานหนังสือพิมพ์เป็นผู้ช่วยของหมอสมิธ (Samuel J. Smith) มิชชันนารีชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกด้านการพิมพ์คนหนึ่งของสยาม ข้อเขียนของเขา “…ใช้ภาษาและคำพูดซึ่งเหน็บแนมก้าวร้าวโดยเฉียบแหลม....” (8) ทั้งในช่วงต่อมา เยรินียังมีข้อเขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยามอยู่เสมอ ทั้ง สยามฟรีเปรส และ บางกอกไตมส์ (9)

ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ นั้น หนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกของเยรินีเพิ่งตีพิมพ์ออกมา คือเรื่อง A Retrospective View and Account of the Origin of Thet Maha Chat Ceremony (ประเพณีเทศน์มหาชาติ) และเขากำลังอยู่ระหว่างการค้นคว้าเรียบเรียงหนังสือเล่มที่สองของเขาว่าด้วยเรื่องประเพณีโกนจุกของชาวสยามอยู่

ในระยะนั้น ก.ศ.ร. กุหลาบคงถือเป็นมิตรสนิทชาวไทยคนสำคัญของเยรินีทีเดียว เพราะปรากฏลายมือชื่อนายกุหลาบลงนามเป็นพยานในหนังสือสัญญาที่เยรินีทำกับนายบุตร ว่าด้วยการเข้าหุ้นลงทุนล่องแพซุงลงมาขายที่กรุงเทพฯ (10) ดังนั้น เมื่อเยรินีกำลังค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพิธีโกนจุกของสยาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ จะรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยรวบรวมเอกสารฝ่ายไทย ซึ่งยังปรากฏจดหมายติดต่อระหว่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ กับเยรินีในช่วงนี้อยู่สองฉบับ ดังได้คัดลอกมาลงไว้ต่อไปนี้ โดยคงตัวสะกดตามต้นฉบับ


จดหมายลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕) (11)

คำนับมายังท่านอาจาริย์เยรินีได้ทราบ

วันที่ ๑๓ มีนาคม ร,ศ, ๑๑๑ เวลาเช้าสามโมงเสศ ฃ้าพเจ้าได้ลงเรือกลไฟเมล์ชื่อ “สินธุพิลาศ” ออกจากกรุงเทพฯ (12) ขึ้นไปถึงเมืองนนทบุรี ก็ได้แวะที่บางตะนาวสี หาท่านหลวงเทพาจาริย์คนชะรา ก็ได้ภบปะตามความประสงค์ทุกประการ ได้ทำปฏิสันฐานตอนรับโดยสมควรแก่ทางไมตรีเสร็จแล้ว ก็หยิบเงินสามตำลึงออกส่งให้ท่านหลวงเทพาจาริย์แล้ว แจ้งความว่าเงินสามตำลึงนี้เปนฃองท่านอาจาริย์โรงเรียนหลวงชื่อมะณี คนไท ฝากมาทำคำนับท่านหลวงเทพาจาริย์ เพื่อเปนการแสดงความขอบใจในท่านที่ได้อนุเคราะห์ส่งเรื่องพิธีต่างๆ ในการโกนจุกนั้น ขอท่านหลวงเทพาจาริย์ผู้มีพระเดชพระคุณใหญ่ยิ่งจงรับเงินสามตำลึงไว้เปนที่ระฦกด้วยเถิศ ฝ่ายท่านหลวงเทพาจาริย์ก็มีความยินดีรับเอาเงินสามตำลึงไว้โดยเต็มใจยินดีที่สุดแล้ว แล้วออกปากว่าจะรีบจ้างบุตรหลานให้รีบค้นคัตเขียนเรื่องพิธีต่างต่างในการที่เกี่ยวข้องกับการจุฬากันตะมงคลฤๅพิธีที่ไว้จุกแลไรฤๅหมวยผม แลโกนผมไฟ แลไว้หมวยต่างๆ แลเปลี่ยนทำเนียมหมวยในประเทศชมภูทวีปทุกชาติทุกภาษาทุกครั้งตลอดการประจุบันนี้ด้วย ทั้งเรื่องกลอนโคลงพากย์ฉันท์ฤๅร้อยแก้ว ก็จะคิตค้นคัดลอกส่งมาให้ข้าพเจ้าผู้เปนคนสนิจของเขาทุกเรื่องทุกฉบับตามตำหรับแบบโบราณนั้น ๏ ครั้นพูดกันตกลงแล้ว ข้าพเจ้าจวนจะกลับมาบ้านข้าพเจ้าๆ จึ่งบอกกับหลวงเทพาจาริย์ตามคำท่านครูเยรินีสั่งไปนั้นทุกประการ คือว่า ท่านหลวงเทพาจาริย์ได้รับเงินสามตำลึงเปนรางวันแล้ว ขอให้ทำใบเสรจใบรับเซลชื่อตอบมาให้ท่านอาจาริย์มะณี ครูไทในโรงเรียนหลวง ผู้เปนเจ้าของเงินด้วย ตามทำเนียมที่ฃ้าพเจ้าเปนผู้รับฝากเงินมาให้ท่านหลวงเทพาจาริย์ด้วย ในทันใดวันเดียวนั้น ฤๅในเดี๋ยวนั้น ท่านหลวงเทพาจาริย์ก็แสดงความเสียใจที่สุดให้ปรากฏจำเภาะน่าฃ้าพเจ้าในที่นั่นโดยแฃงแรง เปนการกลับกลายไปเปนฃ้าพเจ้าดูถูกดูหมิ่นแก่เฃาเหลือเกินเต็มอำนาจความสบประมาทฃองฃ้าพเจ้า คือฃ้อที่ฃ้าพเจ้าขอต่อเฃาให้เซลชื่อรับเงินสามตำลึงรางวัน ให้ทำใบเสร็จกลับมาให้ครูนั้น (คือริสิต) ทำเนียมไทโบราณเหนเปนการดูถูกมากไปว่าให้ลงชื่อสัง (13) ดุจดังสารกรมธรรมนั้น คล้ายกันผิดแต่ (_ _) ใด เพราะฉะนั้นทันใดนั้น ท่านหลวงเทพาจาริย์จึงคืนเงินสามตำลึงที่ท่านครูให้รางวันนั้นเสียไม่รับไว้ แล้วไม่ตอบประการใดหมด คืนเงินให้ในมือฃ้าพเจ้าแล้ว หลวงเทพาจาริย์ก็ลงเรือเล็กหนีหน้าข้าพเจ้าไปเสียจากบ้านเขา ฝ่ายฃ้าพเจ้าเหนว่าเจ้าฃองบ้านเขาไม่อยู่รับรองพูดจาด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ผลักเงินนั้นให้ไว้แก่หลานท่านหลวงเทพาจาริย์ หลานสาวเล็กๆ เขาก็ไม่รับไว้ ฃ้าพเจ้าก็ต้องจำเปนจำใจกลับมากรุงเทพ การของเราฃ้างน่าก็เปนอันเสียหมด เพราะเหตุด้วยกล่าวคำบังคับให้เซลชื่อรับ ท่านหลวงเทพาจาริย์ พราหมณ์แก่ชะรา มีชนมายุถึง ๗๗ ปีแล้ว ใจน้อยแลเปนคนบูราณด้วย จึงโกรธมากแลน้อยใจเสียใจด้วยฃอให้ทำ (รีสิตนั้น) เปนการเหนว่าไม่ใช่การรางวัลจริง เปนการค่าจ้างไป เพราะพวกพราหมณ์ถือว่าเอาตำรามาฃายกินไม่ได้ บาปแลเปนคนเลวไป ๏ การที่เปนไปทั้งนี้ก็เพราะฃ้าพเจ้าได้รับคำสั่งของท่านครูเยรินีผู้เปนเจ้าของเงินสามตำลึงสั่งให้ทำรีสิตนั้น ฃ้าพเจ้าก็ต้องทำตามคำสั่งของท่านด้วย ครั้นเมื่อไม่ได้รีสิตมาก็ดูเหมือนฃ้าพเจ้าเปน (ฃะโมย) เอาเงินฃองท่านเสียกลางทาง หาให้ถึงหลวงเทพาจาริย์ไม่ จึ่งไม่ได้รีสิตมา การเปนเช่นนี้ท่านจะว่ากะไร สุดแล้วแต่น้ำใจท่าน ฃ้าพเจ้าฃึ้นๆ ล่อง (_) เมืองนนธบุรีหลายเที่ยวแล้ว บัตนี้ก็ไม่สู้จะสบาย ให้ตัวร้อนเหมือนจะจับไฃ้ จึ่งยังไม่ได้เอาเงินสามตำลึงไปคืนให้ท่านครู รอภอค่อยสบายจะเอาเงินลงไปให้ท่านครูตามเดิม ๚ะ

กุหลาบ


จดหมายลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕)

คำนับมายังท่านอาจาริย์เยรินีที่รักนับถือของฃ้าพเจ้าได้ทราบ

ฃ้อ ๑ อาการป่วยไฃ้ฃองฃ้าพเจ้าก็ยังกำลังเปนไฃ้จับสันอยู่เสมอทุกวัน รัปะทานอาหารก็ไม่ใคร่จะได้เปนปรกติ เต็มว่ามากก็มื้อละสามสี่ช้อน ยังไม่มีกำลังที่จะไปบ้านพราหมณ์สังข์คนหนุ่มได้ เปนจนใจด้วยโรคไภย์มาฃัตฃวางหนทางธุระของท่านครูเสียดังนี้ ฃ้าพเจ้าเสียใจนัก ฃ้าพเจ้าหมายใจว่าจะอุสาหะช่วยธุระท่านในการโกนจุกนี้ให้เต็มกำลังก็มาป่วย

ฃ้อ ๒, พราหมณ์สังก็มีหนังสือทิ้งไปรสนียะมาตักเตือนว่าเรื่องพิธีจุฬากันตะมงคลที่หาได้ใหม่แต่พิธีพิศดารกว่าฃองเราที่เคยมีนั้นจะเอาฤๅไม่เอา พราหมณ์สังเตือนว่าถามมาทางไปรสนีย์ถึงสองครั้งแล้วก็ไม่เหนตอบ ฃ้าพเจ้าตอบพราหมณ์สังข์ว่า ฃ้าพเจ้าขอบใจท่านพราหมณ์อย่างยิ่ง ทั้งอยากได้ จึ่งอ้อนวอนให้ท่านช่วยติดตามสืบเสาะแสวงหาให้ ท่านก็อุษาหะหามาได้ตามใจฃ้าพเจ้าสั่งดั่งนั้นแล้วแต่ก่อนมานั้น เมื่อท่านพราหมณ์สังได้รู้ตำแหน่งตำราจุฬากันตะมงคลแล้ว ทำไมฃ้าพเจ้าจะไม่เอานั้นไม่มีแล้ว แต่บัดนี้ฃ้าพเจ้าป่วยเปนไข้จับมีอาการมากอยู่สักน่อย เพราะฉนั้นจึ่งไปบ้านท่านพราหมณ์สังข์ยังไม่ได้ แต่ฃ้าพเจ้าจะใช้ให้นายชายบุตรฃ้าพเจ้าไปหาท่าน ฃอท่านโปรดช่วยอานุเคราะห์ภานายชายไปคัดลอกที่บ้านเจ้าของตำราจุฬากันตะมงคลด้วยเถิศ การบำเหน็จรางวัลกับเจ้าฃองตำราก็ดี ฤๅรางวันส่วนไนตัวท่านพราหมณ์สังช่วยเปนธุระก็ดี ข้าพเจ้าจะคิดสมนาคุณทั้งสองรายตามสมควรอย่างกลางๆ

ฃ้อ ๓ หลวงเทพาจาริย์ก็ใช้ให้หลานชายลงมาแวะหาฃ้าพเจ้าเอามะปรางผลใหญ่ฝากมาให้ฃ้าพเจ้าร้อยผล แล้วหลานแจ้งความกับฃ้าพเจ้าว่า คุณตาใช้ให้เฃาค้นตำราต่างๆ ที่เกี่ยวฃ้องกับการโกนจุกอยู่เสมอ จะให้ใต้เท้าทุกเรื่อง เดี๋ยวนี้ยังกำลังค้นหาอยู่เสมอ เว้นแต่ว่าหลานลงมาค้าฃายผลไม้ที่ตลาดท่าเตียนวันใดก็ไม่ได้ค้น ค้นภบบ้างหลายเรื่องแล้ว จะจ้างคนคัดลอกเขียนแล้วจะฝากเรือหลานที่มาค้าขายผลไม้เมื่อวันพระน่าขึ้นแปดค่ำนี้

ฃ้อ ๔ ฃ้าพเจ้าได้มีหนังสือฝากหลานหลวงเทพาจาริย์ขึ้นไปฉบับหนึ่ง เปนการแสดงที่ได้รับผลมะปรางหวานผลใหญ่ร้อยผล ซึ่งฝากมาเปนฃองกำนันแก่ฃ้าพเจ้าๆ ก็ได้จัดสิ่งของอันสมควรตอบแทนฝากขึ้นไปให้บ้าง แล้วแจ้งความแสดงใจยินดีที่จะได้รับตำราต่างๆ ในการโกนจุกนั้นในวันพระน่า คืรวัน ๘ ๕ ค่ำ (14) แล้วในท้ายหนังสือตอบว่า ฃ้าพเจ้ามีใจยินดีที่จะฝากเงิน ๓+ ของท่านครูมะณีที่จะฝากกลับขึ้นไปให้ท่านหลวงเทพาจาริย์อีกนั้น แต่วันนีฝากไม่ทันเพราะเงิน ๓+ อยู่บ้านครูมะณี หนทางห่างไกลกับบ้านฃ้าพเจ้า ต่อวันพระน่าคือวัน ๘ ๕ ค่ำ หลานท่านหลวงจะลงมาอีกจะแวะที่ฃ้าพเจ้าๆ จะฝากเงินสามตำลึงกลับไปให้เปนแน่ ๚ะ (ซึ่งฃ้าพเจ้ากล่าวไปดั่งนี้นั้น เพราะยังไม่ได้ปฤกษาท่านครู แลยังไม่ได้รับคำสั่งท่านจึงไม่กล้าส่งฝากไป เกรงจะเปนนอกละเมิดคำสั่งของท่านครูเยรินี)

ฃ้อ ๕, การที่จะไปคัดลอกตำราโกนจุกที่พราหมณ์สังจะภาไปคัดลอกนั้น คนอื่นข้าพเจ้าก็ไม่สู้จะไว้ใจกลัวจะไปเชือนแชเที่ยวเล่นเสีย เพราะเปนทางไกลตาฃ้าพเจ้า ทั้งหาจ้างคนปลีกก็หายาก เพราะเสมียนเฃาก็มีงารทำเสียมากกว่าอยู่เปล่า เพราะฉนั้นจะให้นายชายไปคัดลอก เพราะนายชายเปนลูกกลัวพ่อ ไม่กล้าเชือนแชได้ แต่บัตนี้นายชายไปเที่ยว (กรุต) ที่บ้านอาฃองนายชาย คือน้องสาวฃองฉัน ซึ่งไปทำนาอยู่ที่ในคลอง (กำปะนี) คือคลองพระองค์เจ้าสายขุดนั้น (15) หนทางห่างกับบ้านฃ้าพเจ้าวันกับคืน คือ ๓๖ ชั่วโมง แต่ได้ทิ้งไปรสนีย์ไปเร่งนายชายให้กลับมาถึงบ้านฃ้าพเจ้าในวันสองวันให้จงได้ เพราะสิ้นระดูกรุดหมดแล้ว ที่นาระดูนี้ก็มีปลาชุมอย่างเอก กำลังวิดบ่อจับปลา เหนจะเปนเหตุนีเพิมเติมกรุดฃองนายชายเฃ้าด้วยจึ่งช้าเกินกรุดมาถึงวันนี้ แต่ได้กำชับขึ้นไปแฃงแรงว่า ให้รีบลงมาโดยเร็วในวันสองวันนี้ให้จงได้ เพราะมีธุระร้อนหนัก

ฃ้อ ๖ เหตุที่นายชายยังไม่กลับลงมานี้จึ่งยังไม่ได้ลอกตำราที่พราหมณ์สังอย่าง ๑ จึ่งยังไม่ได้เอาสมุดสยามประเภทสองสามเล่มลงไปให้ท่านครูอย่าง ๑ จึงยังไม่ได้เอาเงินสามตำลึงลงไปส่งท่านครูอย่าง ๑ เพราะไม่มีคนไว้ใจใช้ มีแต่เบ่า ไว้ใจไม่ได้เปนแน่เพราะเคยถูกมาแล้ว ราคาบาทก็เอา แต่ข้าพเจ้าขาตขะเนว่านายชายคงจะลงมาใน ๒ วันนี้เปนแน่

ฃ้อ ๗ พระมหาภูก็ไม่อยู่ที่วัดราชาธิวาศแล้ว ขึ้นไปบ้านโยมซึ่งอยู่ที่กรุงเก่า ไปโดยเหตุโกนจุกน้องสาวพระมหาภูในแรมเดือนสี่ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้กลับลงมายังวัดราชาธิวาศกรุงเทพ เหนจะกลับมาในกลางเดือนห้านี้เปนแน่ เมื่อท่านพระมหาภูไปนั้น ฃ้าพเจ้าก็ไม่ทราบ พึ่งทราบเมื่อไปแล้ว ถ้าทราบแต่ก่อนว่าท่านมหาภูจะไปโกนจุกน้องสาวที่บ้านกรุงเก่า ฃ้าพเจ้าก็จะจัดหาสิ่งของช่วยในการโกนจุกบ้าง เมื่อทราบแล้วนั้นท่านมหาภูก็ไปเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็เปนที่เสียใจเพราะคนชอบกันไม่ได้แสดงใจรักกันบ้างไม่ควร

K.S.R. Kularb ก,ศ,ร, กุหลาบ


จดหมายฉบับนี้ ยังแนบมากับจดหมายของพราหมณ์สังที่ส่งมาถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ (ตามความในข้อ ๒) ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ ความว่า


หนังสือฃ้าพเจ้าพราหมณ์สัง
คำนับมายังท่านแอศยุแตนกุหลาบทราบ

ด้วยฃ้าพเจ้าได้รับหนังสือฃองท่นทิ้งซ้ำมาทางไปรสนีย์อีกฉบับหนึ่ง เปนการที่ท่านเตือนเร่งด้วยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพิธีการจุฬากันตะมงคลทุกอย่างนั้น ท่านจะต้องการทุกชนิดโดยเร็ว นั้นข้าพเจ้าได้ทราบความตามประสงค์ของท่านทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ฃ้าพเจ้าก็เอาใจใส่อยู่เสมอ แต่จนใจที่ไม่ใช่ของในตัวฃ้าพเจ้าเอง เปนของผู้อื่นที่เฃาหวงแหนด้วย ฃ้าพเจ้าต้องตั้งความเพียรเกลี้ยกล่อมปลอบโยนอ้อนวอนเฃาให้เปนที่ชอบใจเฃาแล้ว เฃาจึงจะขยายให้ได้สมความปราถนาของเรา การเปนเช่นนี้ยากที่จะได้เร็วตามความประสงค์ท่านให้ทันการในวันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้ เพราะเจ้าฃองเปนพราหมผู้ดีผู้ใหญ่ เกลี้ยกล่อมแถะโลมยาก ไม่ใคร่จะขยายให้ใคร ด้วยเปนวิชาหากินของเฃาอยู่เสมอ บัดนี้ฃ้าพเจ้าจะฃออธิบายชี้แจงให้ท่านทราบว่า เรื่องที่ท่านจะต้องการทุกสิ่งนั้น แต่ล้วนเปนข้อความในสาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น กับเปนการที่สำหรับพราหมณ์ทำบัตพลีโกนจุก แลทำพิธีโกนจุกทำขวันจุก เล่านี้ก็เปนเครื่องมีผลประโยชน์ของพราหมณ์ทั้งสิ้น เพราะดั่งนี้ พราหมณ์จึงหวงแหนไม่ใคร่จะให้ใคร กลัวจะเสื่อมเสียสาสนาแลผลประโยชน์ของพราหมณ์ๆ จึงไม่ใคร่จะขยายให้กับผู้อื่น นอกจากพราหมณ์ด้วยกัน แต่พวกพราหมณ์ด้วยกันจะมาร่ำเรียนวิชาทั้งนี้ ก็ต้องเสียวัตถุต่างๆ เปนเครื่องบูชาครูบาอาจาริย์เสียก่อนจึงจะบอกให้เรียนรู้วิชาอันนี้ คือสานุสิศจะมาเรียนวิชาทำพิธีบัตพลีจุฬากันตะมงคลนั้น เรียนบทหนึ่งต้องมีเครื่องบูชาสำรับหนึ่ง คืรบายศรี ๑ สีสะสุกร ๑ ขันล้างหน้าทองเหลืองสำรับ ๑ ผ้าขาวนุ่งห่มสำหรับหนึ่ง เงินติดเทียนไชย์ที่บายศรีหกบาท ดังนี้เรียกว่ายกครูฤๅบูชาครูบท ๑ ก่อน จึงจะบอกวิธีให้บท ๑ เรียนอีกบท ๑ ก็ต้องมีเครื่องบูชาครูยกครูดังว่ามาแล้วนั้นสำรับหนึ่งทุกบทไป เหมือนหนึ่งครูจะบอกบทประชุมเทวดาก็ต้องมีเงินหกบาทและเครื่องยกครูให้พร้อม บอกบทเทพมะหิศรก็ต้องมีเงินหกบาทเครื่องบูชาครูพร้อม บอกบทบูชาฤกษ์เย็นพระเกตุก็ต้องมีเงินหกบาทเครื่องบูชาครูพร้อม ครูจะบอกบทไหนสิศก็ต้องเสียเงินหกบาทเครื่องบูชาครูพร้อมทุกบทไป ทุกๆ บทตามวิธีครูจะสอนสิศดั่งนั้น การเปนเช่นนี้ จึงว่าวิธีที่จะเอาเรื่องจุฬากันตะมงคลมาให้ท่านโดยเร็วไม่ได้ ๚ะ๛



วงวิชาการในสยาม

จนถึงทศวรรษ ๒๔๓๐ ที่กล่าวถึงนี้ การพิมพ์สมัยใหม่เกิดขึ้นแล้วในสยามมาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน ทว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือพิมพ์ และจดหมายข่าวของทางราชการ เช่น ราชกิจจานุเบกษา ไม่เช่นนั้นก็เป็นจำพวกวรรณคดี และบทละคร ส่วนวารสารสำคัญได้แก่ วชิรญาน ตีพิมพ์โดยหอพระสมุดวชิรญาน อันเป็นห้องสมุดเฉพาะสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางข้าราชการ นายกุหลาบเอง ขณะรับราชการในกรมโปลิศท้องน้ำ ก็เคยได้เข้าเป็นสมาชิก แต่ต่อมาเมื่อออกจากหน้าที่ จึงต้องพ้นจากสมาชิกภาพไปด้วย (16)

เอกสารของทางราชการ ตั้งแต่พระราชพงศาวดาร กฎหมาย จดหมายเหตุต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของหลวงที่ปกปิดหวงห้าม หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นสมบัติส่วนพระองค์หรือส่วนบุคคล เอกสารประวัติศาสตร์สยามที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาแล้วยังมีเพียงพระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ หรือที่เรียกกันว่า “ฉบับพิมพ์สองเล่ม” ที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ออกมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๗ ดังนั้น วิธีการสำคัญในการแสวงหาความรู้จากเอกสารจึงมีเพียงสองวิธี คือถ้าไม่รวบรวมสะสมไว้ด้วยตัวเอง ก็ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว เพื่อ “เข้าถึง” แหล่งความรู้เหล่านี้

และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ก็ใช้ทั้งสองวิธี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเป็นเชิงตำหนิ ถึงวิธีการหาความรู้ของนายกุหลาบไว้ว่า ในคราวงานนิทรรศการฉลองพระนคร ๑๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕ นั้น


“...ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯ (กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ต้นราชสกุลสิงหรา กำกับราชการกรมพระอาลักษณ์ – ศรัณย์) ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ รับอาสาแสดงหนังสือไทย สมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯ ด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน...นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดี ได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่นหมายประกาศที่เป็นใบปลิวและหนังสือเรื่องต่างๆ ที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น...นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวัน เพราะห้องอยู่ติดกัน เมื่อได้เห็นหนังสือหอหลวง มีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจ อยากได้สำเนาไปไว้เป็นตำราเรียน จึงตั้งหน้าตั้งตาประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวง จนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้าม มิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจจึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวงก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างพวกทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือ เตรียมไว้สองสามคน...พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง เอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม...นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องโบราณคดี...” (17)


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้ต้นฉบับหนังสือโบราณในหอหลวงไปด้วยวิธีการนี้เป็นจำนวนมาก และแล้วต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๖ จึงได้เริ่มตีพิมพ์หนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ออกจำหน่าย โดยการนำต้นฉบับที่ลักลอบคัดลอกมานั้น ไปแปลงสำนวนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก บาญชีหนังสือไทยต่างๆ ๑๕๐ เรื่อง ซึ่งเป็นรายการหนังสือที่นายกุหลาบนำมาจัดแสดงในงานฉลองพระนคร ๑๐๐ ปีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า อย่างน้อยที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๕ ก่อนหน้างานดังกล่าว นายกุหลาบก็มีสำเนาของ “คำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่โรงธรรมกรุงเก่า” อยู่แล้ว ดังนั้น นายกุหลาบจึงอาจมีโอกาสใกล้ชิดกับกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณมาก่อน(18) หรือไม่เช่นนั้นก็คงมีช่องทางบางอย่างในการ “เข้าถึง” เอกสารหอหลวง ทั้งโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือการลักลอบซื้อหาใน “ตลาดมืด”(19)


สหาย ? นายจ้าง ?

ก.ศ.ร. กุหลาบ นับเป็นคนกว้างขวางในวงสังคมกรุงเทพฯ รู้จักคนมาก ตั้งแต่สมาชิกในพระราชวงศ์ ขุนนางข้าราชการ พ่อค้า จนถึงชาวต่างชาติ เขาเองก็ได้อาศัยสายสัมพันธ์เหล่านี้ทำมาหากินด้วยทางหนึ่ง โดยรับเป็นนายหน้าหรือเป็น “เอเย่นต์” ในการติดต่อซื้อขายระหว่างชาวต่างประเทศกับชาวสยามด้วย ดังมีตัวอย่างว่าในปี พ.ศ.๒๔๓๓ นายกุหลาบได้เป็นตัวแทนของ “ซิเอชญูย์” จัดงานออกร้าน ขายเครื่องกระเบื้องลายครามให้กับ “ท่านผู้มีบัญดาศักดิ์” มาแล้ว(20)

เมื่อพิจารณาในบริบทนี้ ย่อมหมายความว่า เยรินีเองก็เป็น “ลูกค้า” รายหนึ่งที่ใช้บริการของ ก.ศ.ร. กุหลาบ โดยอาศัยเครือข่ายแวดวงของเขา เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารที่ชาวต่างประเทศหรือ “คนนอก” ไม่มีทางจะเข้าถึงได้ เช่นบรรดาคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับการโกนจุก ซึ่งเป็นตำราศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ (พึงสังเกตว่า ในการติดต่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ ต้องอ้างอิงถึง “ครูมะณี ครูไทในโรงเรียนหลวง” เสมอ)

ก.ศ.ร.กุหลาบ ใช้ความคุ้นเคยส่วนตัวนี้ (ร่วมกับทุนทรัพย์ที่ได้รับมาจากเยรินี) ทาบทามให้หลวงเทพาจาริย์และพราหมณ์สังข์ (อาจรวมถึงพระมหาภู วัดราชาธิวาส ซึ่งนายกุหลาบกล่าวถึงอย่างคนคุ้นเคย) ค้นคว้าหาตำรับตำราที่เยรินีต้องการมาให้ ทั้งยังได้อาศัยคนเหล่านั้น เชื่อมต่อไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อีกทอดหนึ่งด้วย

สิ่งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบหาให้แก่เยรินีนั้น ก็คือความรู้ตามขนบแบบประเพณีของสยาม เป็นต้นฉบับที่ล้วนแต่ที่ต้องคัดลอกทำสำเนาด้วยมือ (ซึ่งนับเป็นภาระของนายกุหลาบไม่ใช่น้อย) ซึ่งในโลกตะวันออก ต้นฉบับเหล่านี้มีส่วนของความเป็นของแท้ดั้งเดิม และความศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่มาของอำนาจด้วย เช่นหนังสือหอหลวงที่ถือเป็นของสูง สงวนไว้เฉพาะสำหรับชนชั้นเจ้าเท่านั้น ไพร่ที่บังอาจมี “พระราชพงศาวดาร” ไว้ในครอบครองถือเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ที่มีโทษถึงตาย(21) หรือในกรณีของหลวงเทพาจาริย์ และพราหมณ์สัง เห็นได้ชัดเจนว่าตำราเหล่านั้น เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึงหวงแหน และไม่บังอาจนำมาขายเป็นสินค้าแก่ “คนนอก” ได้


จากจดหมายสองฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ (และจดหมายแนบของพราหมณ์สังอีกหนึ่งฉบับ) นี้ อาจแลเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่เยรินีต้องการ และนายกุหลาบจัดการสนองให้นั้น คืออะไร ทว่า ในทางกลับกัน ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า นายกุหลาบได้อะไรเป็นการตอบแทนบ้างหรือไม่


เป็นไปได้ว่านายกุหลาบเองอาจได้รับเงินค่าจ้างจากเยรินีสำหรับการเป็นเอเยนต์ทำนองนี้

แต่น่าสังเกตว่า ทั้งที่ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ นั้น เยรินีเพิ่งอายุเพียงสามสิบเศษ ส่วน ก.ศ.ร. กุหลาบมีอายุเกือบหกสิบปีแล้ว แต่ในจดหมายสองฉบับ ก.ศ.ร. กุหลาบ จะออกชื่อเยรินีไว้ว่า “ท่านอาจาริย์เยรินี” บ้าง หรือ “ท่านครู” บ้าง สำนวนที่เขียนก็เต็มไปด้วยความนอบน้อม


นายกุหลาบถือว่าเยรินีเป็นลูกค้า และ
“ลูกค้าคือพระเจ้า” อย่างนั้นหรือ ?


หรือในอีกทางหนึ่ง การยกย่องในลักษณะนี้ อาจหมายความว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ นับถือ “ความรู้” ของเยรินี จึงยกย่องให้เป็นอาจารย์ รวมทั้งนายกุหลาบอาจได้รับส่วนแบ่งของ “ความรู้” นี้ด้วยก็เป็นได้เช่นกัน

แม้จะยังไม่มีหลักฐาน ผู้เขียนขอตั้งประเด็นไว้ว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ อาจได้อาศัยเยรินีเป็นช่องทางในการสอบสวน หรือรวบรวมความรู้จากแหล่งที่เขาเองก็เข้าถึงได้ยาก (ในทำนองเดียวกับที่เยรินีได้อาศัยเขา)

มักปรากฏว่า ก.ศ.ร. กุหลาบจะตีพิมพ์โฆษณาว่ามีหนังสือภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับเมืองไทยในสมัยอยุธยาอยู่ในความครอบครองหลายเล่ม เช่นจดหมายเหตุของบาทหลวงตาชารด์ ของเชอวาลิเอร์เดอโชมองต์ และของลาลูแบร์(22) ในบางแห่ง ก.ศ.ร. กุหลาบอ้างว่า เขาได้รับหนังสือบางเล่มจากพระสังฆราชปาลเลอกัวซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาต่างประเทศให้(23) ทว่า ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอข้อสันนิษฐานว่าคนที่จัดหาหนังสือเหล่านั้นให้ ก.ศ.ร. กุหลาบ อาจเป็นเยรินี ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวาง โดยเฉพาะกับร้านหนังสือหายากในโลกตะวันตก(24)

สิ่งที่เยรินีหาให้ ก.ศ.ร. กุหลาบ จึงเป็นความรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ผลิตออกมาได้ไม่จำกัดจำนวนด้วยระบบอุตสาหกรรมโดยอาศัยเทคโนโลยีการพิมพ์ สามารถจะกระจายข้อมูลความรู้และความคิดใดๆ ไปได้อย่างกว้างขวาง

และที่สำคัญก็คือ ความรู้นั้นมีฐานะเป็น “สินค้า”


มิตรผู้ล่องหน

ก.ศ.ร.กุหลาบเอง ซึ่งผ่านชีวิตที่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมตะวันตกมาหลายสิบปี คงตระหนักถึงพลานุภาพแห่งการพิมพ์ ได้เป็นอย่างดี ทั้งในง่ที่เป็นเครื่องมือเผยแผ่ความรู้ความคิดที่มีประสิทธิภาพ และในฐานะสินค้าซึ่งเป็นที่นิยมของท้องตลาด เขาจึงริเริ่มพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์ออกวางจำหน่ายแก่สาธารณชน ทั้งในรูปของหนังสือเล่ม (เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด) และวารสาร (สยามประเภท)

ด้วยชื่อเสียงจากผลงานเหล่านี้ทำให้ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้รับความยกย่องนับถือไม่น้อย ในหมู่ทายาทยังเล่าสืบกันมาว่ามีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์โปรดที่จะมาประทับสนทนากับนายกุหลาบที่โรงพิมพ์จนดึกดื่น หรือให้มหาดเล็กถือลายพระหัตถ์มาสอบถามความรู้(25) นอกจากนั้นแล้ว วิทยาทานสถาน “สถานสโมสรสันนิบาตสามัญชน” อันเป็นห้องสมุดสำหรับสามัญชนแห่งแรกของสยาม ในความอุปถัมภ์ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ยังเคยเชิญ ก.ศ.ร.กุหลาบ ให้ไปแสดงปาฐกถาอีกหลายครั้ง(26)

แต่ในอีกด้านหนึ่ง จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ทั้งสิ่งที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ เลือกมานำเสนอ (คือเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับหลวง) และวิธีการที่เขาใช้ (การตีพิมพ์) ล้วนเป็นการแย่งชิง “เวที” หรือ “พื้นที่” ที่ชนชั้นเจ้านายเคยครอบครองมาแต่เดิม แม้แต่การออก สยามประเภท ก็ถูกพิจารณาว่าเป็นการเลียนแบบ (และประชันขันแข่งกับ) วชิรญาน ของหอพระสมุดวชิรญาน(27)

แม้ว่าความสนใจของเยรินีกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ จะใกล้เคียงกัน ทว่า “เวที” และ “วิธี” ของเยรินีนั้น จะแตกต่างออกไป เยรินีเลือกเสนองานของเขาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้จะออกตัวว่าไม่ถนัดนัก(28) หากแต่เหตุที่เขาเลือกเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษก็เพราะมันคือภาษาของโลกวิชาการสากล แต่ขณะเดียวกัน ก่อนตีพิมพ์เผยแพร่ เยรินีจะนำต้นฉบับของเขาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ทรงพิจารณาก่อน เช่นในเล่ม A Retrospective View and Account of the Origin of Thet Maha Chat Ceremony (ประเพณีเทศน์มหาชาติ) นั้น ถึงกับมีภาคผนวกที่เป็นพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขเพิ่มเติมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อท้ายด้วย

ดังนั้น สำหรับชนชั้นนำของสยาม งานเขียนของเยรินีจึงเป็นสื่อแสดง “อารยธรรม” ของสยามให้ปรากฏแก่สายตาของชาวโลก ในแบบที่ชนชั้นสูงต้องการหรือยอมรับได้ มิพักจะต้องกล่าวว่าในฐานะข้าราชการสยามที่เป็นชาวยุโรป เยรินีย่อมได้รับความนับหน้าถือตาในหมู่ชาวสยามอยู่แล้ว

จากจดหมายสองฉบับในปี พ.ศ.๒๔๓๕ การที่นายกุหลาบไม่อาจกล่าวอ้างถึงนายร้อยเอกเยรินี ฝรั่งชาติอิตาลี ครูโรงเรียนนายร้อยได้ ทว่า กลับต้องไปอุปโลกน์ “ครูมะณี ครูไทในโรงเรียนหลวง” ขึ้นมานั้น ทำให้ดูเหมือนว่า ในบางแวดวงของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เยรินีก็ไม่อาจมีตัวตนอยู่ เช่นเดียวกับที่วงสังคมชั้นสูงทั้งในราชสำนักและวงวิชาการต่างประเทศของเยรินีก็ดูเหมือนจะไม่มีที่อยู่สำหรับนายกุหลาบ

หนังสือ Chulakantamangala or the Tonsure Ceremony as Performed in Siam ของเยรินี ตีพิมพ์เสร็จสมบูรณ์ออกมาในปี ค.ศ.๑๘๙๕ / พ.ศ.๒๔๓๘ ในหนังสือเล่มนี้ มีคำอุทิศแด๋สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในคำนำประกอบด้วยการสรรเสริญพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ของสยาม และมีคำขอบคุณสำหรับมิตรสหายชาวยุโรปที่เอื้อเฟื้อความช่วยเหลือในการจัดพิมพ์ น่าสังเกตว่าเขาไม่ได้กล่าวถึง หลวงเทพาจาริย์ พราหมณ์สังข์ นายชาย หรือแม้แต่นายกุหลาบไว้ในหนังสือเรื่องนี้เลยแม้แต่คำเดียว หากจะมีส่วนที่ใกล้เคียงที่สุดกับคำขอบคุณ ก.ศ.ร.กุหลาบ มีเพียงคำปรารภที่ว่าการค้นวิชาในสยามนั้น กระทำได้ยากเข็ญยิ่ง(29)

เยรินีเห็นว่านายกุหลาบเป็นเพียงเอเยนต์ เป็นเพียงลูกจ้างของตน จึงไม่ต้องกล่าวถึงหรือ ?

หรือนายกุหลาบเป็นเพียงสามัญชน ที่ไม่อาจเอ่ยอ้างนามร่วมหน้ากระดาษกับพระบรมวงศ์และชาวต่างชาติได้้

หากเป็นในแง่นี้ ทั้งเยรินี และ นายกุหลาบ จึงเป็น “คนนอก” ของกันและกัน คือจะมีตัวตนได้เฉพาะในบางกาละและเทศะ หากแต่ในบางที่บางแห่ง มิตรสนิทก็ต้องกลับกลายเป็น “มนุษย์ล่องหน” ไป

ซ้ำร้ายในช่วงต่อมา ก.ศ.ร. กุหลาบ ยิ่งถูกกดดันด้วยวิถีทางต่างๆ มากขึ้น ทั้ง สยามประเภท และหนังสือของเขาถูกราชสำนักประณามซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีการตั้งกรรมการไต่สวนหลายครั้ง บางครั้งนายกุหลาบถูกจับส่งไปขังในโรงพยาบาลบ้าด้วยซ้ำ(30) จนทำให้คำว่า “กุ” (ที่ย่อจาก “กุหลาบ”) มีความหมายว่าการปั้นแต่งเรื่องเท็จ แม้แต่นาม ก.ศ.ร. (กุหลาบ) ก็ถูกเยาะว่าย่อมาจาก “โกหกสดๆ ร้อนๆ” เจ้านายบางพระองค์ถึงแก่ลงทุนจัดพิมพ์หนังสือ สยามประภืท ขึ้นเย้ยหยัน สยามประเภท โดยเฉพาะ

ในสถานการณ์เช่นนี้นั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ กับ ยี.อี. เยรินี จะเปลี่ยนแปรไปหรือไม่ อย่างใด เพราะเยรินีนั้น นอกจากจะก้าวหน้าในราชการมาโดยลำดับ จนดำรงตำแหน่งเป็นนายพันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ เจ้ากรมยุทธศึกษา แล้ว ยังมีสถานะโดดเด่นในวงวิชาการ เป็นนักค้นคว้าผู้เขียนหนังสือมากมายทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เป็นภาคีสมาชิกของสมาคมวิชาการนานาชาติ(31) ซ้ำในปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) ยังเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ก่อตั้งสยามสมาคม อันมีบาทคาถาประจำสมาคมว่า “วิชชายังให้เกิดมิตร” อีกด้วย

ส่วน ก.ศ.ร. กุหลาบนั้น จนถึงบั้นปลายของชีวิต ก็ยังคงดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือของตนเรื่อยมาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และยังคงติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างประเทศที่สนใจประวัติศาสตร์สยาม เช่นภราดา ฟ. ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ อยู่เป็นนิจ(32)

ขอขอบคุณ คุณลูชาโน เยรินี (Dott. Luciano Gerini) ที่เอิ้อเฟื้อสำเนาเอกสารส่วนบุคคลของนายพันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ (ยี.อี. เยรินี) ในความครอบครองของตระกูล Gerini ณ เมืองชิซาโนซุลเนวา (Cisano sul Neva) ประเทศอิตาลี และ ผศ. กนกวรรณ ฤทธิไพโรจน์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอขอบคุณ ห้องสมุดศูนย์ข้อมูล เมืองโบราณ และหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เอื้อเฟื้อหนังสือบางรายการสำหรับการค้นคว้า และ ขอขอบคุณ คุณเอนก นาวิกมูล แห่งบ้านพิพิธภัณฑ์ สำหรับการค้นคว้ามากมายที่เบิกทางให้แก่บทความนี้ รวมทั้งอาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับข้อเสนอแนะและความเห็นที่น่าสนใจหลายประการ

ศรัณย์ ทองปาน

เชิงอรรถถ

(1) ประวัติชีวิตและผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ มีผู้ค้นคว้ารวบรวมไว้หลายสำนวน เช่น Craig J. Reynolds, The Case of K.S.R. Kulab: A Challenge to Royal Historical Writing in Late Nineteenth Century Thailand, Journal of the Siam Society Vol.61 pt.2 (July 1973): 63 – 90.; ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ชีวิตและงานของเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ (กท. : ธีรนันท์, ๒๕๒๒) และ มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ (กรุงเทพมหานคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๕) แต่ในที่นี้ อ้างอิงตามอัตชีวประวัติของนายกุหลาบ ที่เอนก นาวิกมูล เก็บความจาก ประวัติลำดับวงศ์ตระกูล ก.ศ.ร. กุหลาบ กล่าวข้อความพิศดาร ซึ่งเป็นหนังสืองานศพที่นายกุหลาบจัดพิมพ์ขึ้นล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๔ ดู เอนก นาวิกมูล, เรื่องประหลาดเมืองไทย (กทม.: แสงแดด, ๒๕๓๖), หน้า ๕๐ – ๗๐. และ เจาะลึกเรื่องเก่า (กรุงเทพฯ: สายธาร, ๒๕๔๗), หน้า ๙๙ – ๑๒๕. ส่วนการประเมินบทบาทของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ในการผลิดงานเขียนทางประวัติศาสตร์ ดูใน Craig J. Reynolds 1973; นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ก.ศ.ร.กุหลาบ กับหนังสือ อายะติวัฒน์ เพื่อบำรุงปัญญาประชาชน ใน ก.ศ.ร. กุหลาบ, อายะติวัฒน์ (กรุงเทพฯ: สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น – ไทย, ๒๕๓๘) และ วิทวัส มีแสงนิล, อานามสยามยุทธ: ประวัติศาสตร์นิพนธ์ประชาชน ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บรรณาธิการ) โคลนไม่ติดล้อ คนไม่ติดกรอบ จัดพิมพ์ในวาระเกษียณอายุราชการ รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา (กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๕), หน้า ๗ – ๔๔.

(2) ดูตัวอย่างเรื่องเล่าในครอบครัวเกี่ยวกับวิถีชีวิต และแวดวงสมาคม “แบบตะวันตก” ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ใน มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, หน้า ๑๐ - ๑๑

(3) ประวัติของ ยี อี เยรินี ในที่นี้ อ้างอิงตามที่ลงพิมพ์ใน ยุทธโกษ ซึ่งน่าจะเป็นอัตชีวประวัติที่เขาเขียนขึ้นเอง ดู “ที่ ๒๕ ปวัติครูสอนวิชาโรงเรียนนายร้อยทหารบก” ใน ยุทธโกษ เล่ม ๒ แผ่นที่ ๑๔ วันพุฒที่ ๒๗ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๒ น่า ๑๑๒; เล่ม ๒ แผ่นที่ ๑๕ วันพุฒที่ ๓ มกราคม ร.ศ.๑๑๒ น่า ๑๒๐; เล่ม ๒ แผ่นที่ ๑๖ วันพุฒที่ ๑๐ มกราคม ร.ศ.๑๑๒ น่า ๑๒๘.

(4) นอกเหนือจากการไปฝากตัวเป็นศิษย์ของสังฆราชปาลเลกัวแล้ว ก.ศ.ร. กุหลาบใช้ ชีวิตในวัยหนุ่มส่วนใหญ่ด้วยการทำงานกับห้างฝรั่ง ทั้งของชาวอเมริกันและเยอรมัน ทั้งยังมีความสนิทสนมกับครอบครัวของนายนอกซ์ (Thomas George Knox) กงสุลใหญ่ของอังกฤษ ดู มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, หน้า ๑๑. ดังเช่นในงานบวชนายชาย บุตรชายคนเดียวของนายกุหลาบ (ก.ห. ชาย เกิดราวปี พ.ศ.๒๔๑๙) ซึ่งมีแขกฝรั่งจีนมาร่วมงานมากมาย นายกุหลาบได้จัดล่ามบรรยายลำดับขั้นตอนการบวชเป็นภาษาฝรั่งให้แขกเหล่านั้นได้ทราบด้วย ดู เอนก นาวิกมูล, เจาะลึกเรื่องเก่า, หน้า ๑๒๓.

(5) ดูรายการหนังสือที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ นำมาแสดงนิทรรศการครั้งนั้น ใน งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย ในงานพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ.๒๕๒๕ (กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓)

(6) ดู มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, หน้า ๒๕.

(7) โดยทั่วไป มักอ้างกันว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ เริ่มต้นออกวารสาร สยามประเภท ในปี ร.ศ.๑๑๖ / พ.ศ.๒๔๔๐ อย่างไรก็ดี ในตอนท้ายจดหมายฉบับวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ แสดงความตั้งใจว่าจะฝาก สมุดสยามประเภท สองสามเล่มลงไปให้เยรินี ซึ่งต้องหมายความว่าในขณะนั้น สยามประเภท ตีพิมพ์ออกมาวางจำหน่ายแล้ว นอกจากนั้น ผู้เขียนยังพบว่า ในหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มี สยามประเภท ปีที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๖ อยู่ด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานทางอ้อมว่า สยามประเภท เริ่มตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๕

(8) ดู เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี, ประวัติการจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔), หน้า ๒๑๕.

(9) ดู Enrico Zunino, Luciano Gerolamo Gerini and Elena Tamagno, The Life and Works of Col. G.E. Gerini and E.G. Gollo ใน พันเอก ยี อี เยรินี และวิศวกร กอลโล : ข้าราชการไทย (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร, เมืองชิซาโน ซุล เนวา ประเทศอิตาลี และสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย, ๒๕๔๓), หน้า ๘.

(10) “หนังสือบริคลสัญญาการค้าขายเข้าหุ้นส่วนด้วยไม้ขรศัก” ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕) ต้นฉบับเป็นเอกสารส่วนบุคคลของตระกูล Gerini

(11) หากนับตามปฏิทินสากล หรือปฏิทินที่ใช้กันในปัจจุบัน จะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๓๖ แต่เนื่องจากขณะนั้น ยังนับปีใหม่ในเดือนเมษายน ดังนั้น เดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนสุดท้ายของปี

(12) เข้าใจว่าคงออกเดินทางจากบ้านของนายกุหลาบที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)

(13) สัง/สาง หมายถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อนึ่ง เนื่องจากในสมัยนั้น คนไทยยังไม่มีนามสกุล การระบุนามบุคคลในเอกสารนิติกรรมหรือเอกสารทางราชการ จะต้องระบุสังกัด (ตามระบบไพร่) และนามบิดากำกับไว้ด้วย ดังนั้น หลวงเทพาจารย์จึงไม่พอใจที่ต้องออกนาม “สัง” บิดาที่ล่วงลับไปแล้ว ราวกับทำ “กรมธรรม” คือสัญญาขายตัวลงเป็นทาส

(14) คือวันขึ้นแปดค่ำ เดือนห้า

(15) “คลองคำปะนี หรือคลองพระองค์เจ้าสายขุด” หมายถึงคลองซึ่งขุดโดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด ซึ่งมีพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นหุ้นส่วนใหญ่ ต่อมา คลองนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “คลองรังสิต” ดูรายละเอียดประวัติคลองรังสิตใน สุนทรี อาสะไวย์, ประวัติคลองรังสิต การพัฒนาที่ดินและผลกระทบต่อสังคม พ.ศ.๒๔๓๑ – ๒๔๕๗ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๐)

(16) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องหนังสือหอหลวง ใน นิทานโบราณคดี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีถวัลย์ ศรีเพ็ญ (กรุงเทพฯ: เกษมการพิมพ์, ๒๕๓๓), หน้า ๗๖.

(17) ดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องหนังสือหอหลวง ใน นิทานโบราณคดี, หน้า ๗๑ - ๗๒.

(18) ดู รายการที่ ๙๕ ของ “บาญชีหนังสือไทยต่างๆ ๑๕๐ เรื่อง ตั้งในการนาเชนแนลเอกซฮิบิเช่อน ณ ท้องสนามหลวงในการเฉลิมพระนคร ตั้งแต่สร้างกรุงเทพมหานครบรรจบครบร้อยปี” ใน งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย ในงานพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ.๒๔๒๕ (กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓): ๑๑. (เลขหน้าไม่เรียงลำดับ) อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ด้วยว่าหลังจากนายกุหลาบคัดลอกไปแล้ว (จะด้วยวิธีการใดก็ตาม) ต้นฉบับหนังสือเรื่องดังกล่าวในหอหลวงนั้นก็หายสาบสูญไปหลายสิบปี เพิ่งค้นพบกันอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๘๒ และนำมาตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ใน แถลงงาน ประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ด้วยชื่อ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๒ – ๒๕๑๔ แล้วภายหลังจึงมีการจัดพิมพ์รวมเป็นเล่มในปี พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

(19) เช่นมีกรณีที่มหาดเล็กหรือบ่าวไพร่ของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ซึ่งทรงกำกับการกรมพระอาลักษณ์ แอบยักยอกหนังสือหอหลวงเอาไว้ แล้วนำออกลักลอบขายให้แก่ผู้สนใจสะสม ซึ่งนอกจากนายกุหลาบแล้ว ในยุคเดียวกันนั้น ก็ยังมีทั้งเจ้านายบางพระองค์ ตลอดจนมีนายหน้าซื้อไปขายต่อให้แก่หอสมุดในยุโรปด้วย ดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องหนังสือหอหลวง ใน นิทานโบราณคดี, หน้า ๗๙ – ๘๐, ๘๕ – ๘๗.

(20) ในกลุ่มเอกสารส่วนบุคคลของตระกูล Gerini ยังมีใบปลิวโฆษณาของนายกุหลาบ “ฃอแจ้งความลายครามลายผักชี” เชิญชวนให้ไปเลือกซื้อเครื่องกระเบื้องลายผักชีของเก่าที่บ้านนายกุหลาบ “ใต้วัดราชาธิวาศ ฤๅวัดสมอราย” เป็นใบปลิวพิมพ์หน้าเดียว ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “ซี เอช ญูย์” (C. H. U. ?) นี้ อาจเป็นชาวต่างประเทศ หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจเป็น “ผู้ดี” ชาวสยามที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ก็เป็นได้

(21) อ้างอิงจาก วิทวัส มีแสงนิล, อานามสยามยุทธ: ประวัติศาสตร์นิพนธ์ประชาชน ใน โคลนไม่ติดล้อ คนไม่ติดกรอบ, หน้า ๑๒.

(22) ดูตัวอย่างใน ก.ศ.ร. กุหลาบ, อายะติวัฒน์, หน้า ญ. และในบางแห่ง ก.ศ.ร. กุหลาบ อ้างว่าตนเองมี “ตำรา ภาษาละติน ฝรั่งเศสโบราณ อายุประมาณ ๘๐๐ ปี ๕๐๐ ปี ๒๐๐ ปี มี ๑๖ เล่ม” ดู มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, หน้า ๑๑๒.

(23) เช่น มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, หน้า ๑๑๒. และดูข้อสันนิษฐานเรื่องนี้ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ชีวิตและงานของเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ, หน้า ๒๗๘.

(24) ดูในบทความ ของลูชาโน เยรินี ใน วารสารเมืองโบราณ ฉบับเดียวกันนี้ ข้อสันนิษฐานนี้จะสมเหตุสมผลมากขึ้น เมื่อพิจารณาว่า (หากพระสังฆราชปาเลอกัวมีหนังสือโบราณจริง) นายกุหลาบไปเรียนหนังสือกับท่านตั้งแต่ยังเป็นเด็กรุ่นหนุ่ม (อายุไม่น่าเกิน ๒๐ ปี) ซึ่งไม่น่าจะได้รับความเมตตาหรือความไว้เนื้อเชื่อใจจนมอบเอกสารโบราณที่มีอายุหลายร้อยปีให้ได้.

(25) ดู มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, เชิงอรรถที่ ๔๗ หน้า ๗๙ – ๘๐.

(26) อ้างอิงจาก ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ชีวิตและงานของเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ, หน้า ๒๗๑. อนึ่ง เอนก นาวิกมูล ค้นพบในหนังสือพิมพ์ สยามไมตรี ว่า วิทยาทานสถานนี้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีบัญชาให้ตั้งขึ้นที่ตึกหลวง ใกล้สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง มีห้องอ่านหนังสือไทยและหนังสือต่างประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เปิดตั้งแต่ ๒ โมงเช้า ถึง ๒ ยาม ทุกวัน และจะมีการปาฐกถาหรือแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๘ ในวันเปิดมีแขกผู้มีเกียรติมากมายไปร่วมพิธี (รวมทั้งเยรินีด้วย) แต่หลังจากตั้งมาได้เพียงสองสามปีก็เลิกรากันไป ดู เอนก นาวิกมูล, วิทยาทานสถาน ใน ถนนสายอดีต ๒ (กรุงเทพฯ: สายธาร, ๒๕๔๗), หน้า ๙๕ - ๑๐๗.

(27) ดู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องหนังสือหอหลวง ใน นิทานโบราณคดี, หน้า ๗๖.

(28) ดังที่เขาเขียนไว้ว่า “I do this in view of several disadvantages under which I have had to labour, amongst which comes that conspicuous one of having to write in a language which is not my mother-tongue.” ดู G.E. Gerini, A Retrospective View and Account of the Origin of Thet Maha Chat Ceremony (Bangkok: Sathirakoses – Nagapradipa Foundation, 1976), p. 15.

(29) “…not to mention the difficulties of research which in Siam are serious and almost insurmountable drawbacks to literary labours.” ดู G. E. Gerini, Chulakantamangala or the Tonsure Ceremony as Performed in Siam (Bangkok: The Siam Society, 1976), Preface.

(30) ดูเรื่องคดีความของนายกุหลาบเกี่ยวกับเอกสารประวัติศาสตร์ใน มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, ภาคผนวก.; สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เรื่องหนังสือหอหลวง ใน นิทานโบราณคดี, หน้า ๗๕ – ๗๙. อนึ่ง โดยทั่วไปจะอ้างว่า นายกุหลาบถูกจับไปขังโรงพยาบาลบ้าเพียง ๗ วัน แต่เอนก นาวิกมูล ค้นพบในเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ว่านายกุหลาบถูกขังอยู่ถึงเดือนกว่า ดู เอนก นาวิกมูล, เรื่องประหลาดเมืองไทย, หน้า ๕๒.

(31) ดู Enrico Zunino, Luciano Gerolamo Gerini and Elena Tamagno, The Life and Works of Col. G.E. Gerini and E.G. Gollo ใน พันเอก ยี อี เยรินี และวิศวกร กอลโล : ข้าราชการไทย, หน้า ๗.

(32) ดูสำเนาจดหมายโต้ตอบระหว่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ กับ ฟ. ฮีแลร์ ใน มนันยา ธนะภูมิ, ก.ส.ร. กุหลาบ, ภาคผนวก ๒.

ที่มา : วารสารเมืองโบราณ : บทความ : ยี อี เยรินี กับ ก.ศ.ร. กุหลาบ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น: