วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

คณะ ร.ศ. ๑๓๐ กับคณะราษฎร : ก่อนและหลังการปฏิวัติ เดือนมิถุนายน ๒๔๗๕


ตอนหนึ่งจากบันทึกของ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในนาม "กบฏ ร.ศ. ๑๓๐" หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๐๓ ในงานศพของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ผู้เป็นหัวหน้าคณะฯ, โดยใช้ชื่อว่า หมอเหล็งรำลึก : ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. ๑๓๐

คณะสมาชิก ร.ศ. ๑๓๐ ที่ถูกจับทั้งหมดได้รับการปลดปล่อยตัวในวันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ภายหลังจากที่ถูกคุมขังมากว่า ๑๐ ปี (ศาลตัดสินในปี พ.ศ. ๒๔๕๕-โดยก่อนหน้านั้นก็ได้ถูกจับตัวมาคุมขังอยู่แล้ว)

พันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ) ที่เอ่ยชื่อถึงในที่นี้ คือบุคคลที่ได้สมัครเข้ามาร่วมกับคณะก่อการ แล้วนำความลับไปแจ้งแก่ทางราชการ จนแผนการครั้งนั้นล้มเหลว


เมื่อพวกเราเป็นอิสรชนแล้ว ก็หาอาชีพประกอบกิจการตามความถนัด แต่ในชั้นต้นๆ นั้น สมัครทำงานหนังสือพิมพ์กันหลายคน เพราะเคยติดต่อกับพวกหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว วันหนึ่งพวกเราได้รับเชิญจากพระนรเศรษฐ์เสวี (หลุย จุลกะ) ให้ไปรับประทานอาหารที่บ้านของท่าน ณ ถนนพลับพลาชัย พร้อมด้วยพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (เพื่อนรักของพระนรเศรษฐ์ฯ เมื่อยังเป็นที่โปรดปรานของพระมงกุฎเกล้าฯ ในราชสำนัก) พระยานนทิเสนฯ ได้เคยเล่าให้พวกเราฟังขณะที่อยู่พร้อมหน้ากันกับพระนรเศรษฐ์ฯ และข้าราชสำนักผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ว่ามีผู้ทูลขอพระราชทานยศนายพลให้พระยากำแพงราม (ยุทธ) แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหารพร้อมด้วยพระยานนทิเสนฯ ได้กราบทูลคัดค้านว่ายศนายพลนั้นเป็นเกียรติยศอย่างชั้นสูงของฝ่ายทหาร

การที่จะพระราชทานแก่พระยากำแพงรามนั้น ไม่เป็นการสมควร จะทำให้ฝ่ายทหารเห็นว่ายศนายพลเป็นเกียรติยศที่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด องค์พระประมุขทรงเห็นด้วยตามข้อคัดค้าน จึงทรงระงับเสีย พวกเราก็เลยปลงใจตกว่า คนเยี่ยงนั้นควรแก่การถูกบังด้วยฉากแห่งการอโหสิกรรมเสีย เพื่อจะได้ห่างเหินจากใจอาฆาตใดๆ ทั้งสิ้น แต่มักจะได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ ว่า พระยากำแพงรามกลัวพวกเราอย่างที่สุด จะไปไหนก็มักจะสอดส่ายสายตาระวังตัวกลัวจะพบกับพวกเราอยู่เสมอ

แต่ไม่ช้า พระยากำแพงรามก็พบกับพวกเราเข้าโดยบังเอิญจริงๆ คือวันหนึ่งบ๋วยกับถัด หลังจากเลิกงานหนังสือพิมพ์แล้ว ราวเวลา ๑๗ น. เศษ ขณะที่กำลังนั่งหย่อนอารมณ์อยู่ตอนหน้าร้านบิลเลียดชื่อกีตง หัวมุมสี่ก๊กเสาชิงช้า มิได้เข้าไปในห้องบิลเลียดซึ่งอยู่หลังร้าน ครั้นเวลาจวนค่ำซึ่งในร้านได้เปิดไฟแล้ว ได้มีคนๆ หนึ่งในเครื่องแบบทหาร เปิดบังตาประตูห้องบิลเลียดโผล่ออกมาทางหน้าร้าน พอมองเห็นบ๋วยกับถัด ก็ทำท่าจะหลบ แต่ทันใดนั้นบ๋วยก็แลไปเห็นพอดี จึงลุกขึ้นทักและเชิญให้มาร่วมโต๊ะสุราอาหารด้วย

พระยากำแพงรามแสดงอาการสั่นเทิ้ม สีหน้าซีดเซียวอย่างหมดศักดิ์ศรีของนักเลงนักรบลงทันที ถัดคนตรงและจริง พอได้ยินชื่อก็ลุกขึ้นจะตรงเข้าไป แต่มิทันจะได้วิสาสะอะไร พระยากำแพงรามก็รีบเข้าหาโต๊ะเสียก่อน บ๋วยจึงกล่าวว่า "พวกผมทราบมานานแล้วว่า เจ้าคุณไม่อยากพบปะพวกผม เพราะเกรงว่าพวกผมจะยังอาฆาตอยู่ แต่พวกผมเป็นลูกผู้ชายพอ อะไรที่มันแล้วไปก็ให้แล้วกันไปตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งพวกเราก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาเป็นลำดับ ควรหรือจะทำอะไรแก่เจ้าคุณผู้ที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ และการชุบเลี้ยงของพระองค์" แล้วบ๋วยกับถัดก็ตรงเข้าจับมือเขย่าเยี่ยงผู้ให้อภัยต่อกันด้วยดวงจิตอันบริสุทธิ์ ถัดเลยพูดอะไรไม่ออก หรือจะทำอะไรก็ไม่ได้ แม้จะได้มีอะไรอยู่ในความจริงและคนตรงก็ตาม ซึ่งถัดไม่ยอมแสดงความในใจขณะนั้นแก่ใครอีกเลย

ต่อแต่นั้นมาเมื่อบ๋วยและถัดพบปะพวกเราก็สาธยายเรื่องราวให้พวกเราฟัง เพื่อจะได้รับรู้เรื่องอโหสิกรรมกันไว้โดยทั่วหน้า ต่อมาการพบปะระหว่างเรากับพระยากำแพงราม ก็ไม่สู้จะมีบ่อยนัก เห็นจะเป็นด้วยฝ่ายเขายังไม่แน่ใจว่าพวกเราจะเป็นคนพูดความจริง แต่ฝ่ายเราไม่มีใครติดใจที่จะคิดผูกพยาบาทอาฆาต (ผู้เคยหักหลังเรา) อีกต่อไป นอกจากจะได้เล่าเรื่องราวของเขา ซึ่งยังเป็นเรื่องที่น่ารู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ชีวิตของอนุชนอีกบ้าง เพราะเป็นเรื่องจริงกว่าเรื่องนิทานภาษิต

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงงานปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ (โดยคณะราษฎร) เสียก่อน เรื่องอุทาหรณ์ของ "ผู้หักหลัง" จึงจะตามมา เราเข้าใจว่าวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น คงจะยังมีผู้ระลึกกันได้ว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง คือวันเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า อันเนื่องแต่พระบรมราชวงศ์จักรีปกครองประเทศมาได้ครบ ๑๕๐ ปีพอดี ก่อนวันงานนั้นมีข่าวลือกันว่า จะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในโอกาสเดียวกันกับวันพระราชพิธีเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์นั้นด้วย ซึ่งขณะนั้นข่าวปฏิวัติออกจะเซ็งแซ่ไปทั่วราชอาณาจักร เพราะมีหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลบางฉบับ เช่นหนังสือพิมพ์ไทย เป็นต้น

ได้ก่อกรรมทำชนวนให้ลุกลามไปในทางแยกพรรคพวกเป็นฝักเป็นฝ่ายขึ้น เมื่อพิมพ์ไทยถูกโจมตีทีไรก็เท่ากับรัฐบาลของพระเจ้าแผ่นดินถูกโจมตีด้วย และบางครั้งก็ร้อนอาสน์ถึงองค์พระประมุข ซึ่งเวลานั้นพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แทนเป็นรัชกาลที่ ๗ พวกเราในโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีสมองปฏิวัติอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเห็นเขาเต้นเขารำก็อดไม่ได้ มิหนำซ้ำมีบางคนได้ตกปากตกคำกับสายสื่อของคณะปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นทางลับไว้ด้วยว่า จะขออนุญาตเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุงเป็นปากเสียงของคณะ ๒๔๗๕ (คณะราษฎร) ก็เผอิญนายมานิต วสุวัต เจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งมีนิสัยใจคอใคร่เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทันยุคทันสมัยอยู่แล้ว ได้อนุญาตอย่างลูกผู้ชาย นับตั้งแต่นั้นมา ศรีกรุงก็เริ่มโจมตีรัฐบาลและราชบัลลังก์

แต่ในมิช้าก็ต้องถูกปิดโรงพิมพ์ ฐานยุยงส่งเสริมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องโดยไม่มีกำหนด ครั้นปิดได้ ๗ วัน เมื่อเจ้าของโรงพิมพ์และพวกเราช่วยกันวิ่งเต้นจึงเปิดได้ดังเดิม พอใกล้จะเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า พวกเราก็ถูกสะกดรอยจากพวกตำรวจสันติบาลอย่างเข้มงวด แต่เวลากาลแห่งระบอบประชาธิปไตยของโลกมันถึงคราวรุนแรงและแก่งอมเต็มที พอถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาเช้าตรู่ก่อนสว่าง คณะปฏิวัติก็อุบัติขึ้น และได้ประกอบกิจกรรมเพื่อประเทศชาติสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยอย่างเกินคาด

เหตุการณ์ในเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นอุดมฤกษ์ของ "คณะราษฎร" นั้น หัวหน้าคณะท่านได้เล่าให้ฟังอย่างฐานกันเองว่า ความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่งในส่วนตัวท่านได้พลันบังเกิดขึ้น ซึ่งเกือบจะกระทำให้คณะของท่านพลอยเสียความนิยมไปด้วย ความรู้สึกอันนั้นก็คือขณะที่ท่านได้นำกองทหารทุกเหล่ามาจากสะพานแดงบางซื่อ มีพันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ) ผู้หักหลังคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ได้ถูกนำตัวมาด้วย ด้วยหัวใจอันเร้าแรงในขณะชั่วแล่นของเหล่านักรบที่กำลังจะมุ่งไปทำงานเพื่อเสี่ยงต่อความเป็นความตาย ท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ออกคำสั่งให้กองทหารทุกเหล่าหยุดลง ณ ที่นั้น

ตั้งใจจะทำพิธียิงเป้าพันเอก พระยากำแพงรามผู้หักหลังเพื่อนร่วมตายคณะ ร.ศ. ๑๓๐ เพื่อเซ่นธงชัยเฉลิมพล เป็นการเตือนใจเพื่อนร่วมตายทุกคนในคณะของท่านซึ่งได้กระทำสัตย์สาบานกันไว้ แต่ชะตาของพระยากำแพงรามยังไม่ถึงฆาต พันเอก พระยาทรงสุรเดช รองหัวหน้าคณะได้ขอร้องให้ยับยั้งไว้ โดยยกเหตุผลว่า จะกระทำให้บุคคลส่วนใหญ่คิดเห็นไปว่า กิจกรรมของคณะ ๒๔๗๕ กลายเป็นทำเพื่อแก้แค้นแทนคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ไป หาได้เป็นกิจกรรมปฏิวัติเพื่อประเทศชาติไม่ เพียงเท่านั้นท่านเจ้าคุณพหลฯ ก็กลับใจทันที โดยเห็นพ้องด้วย เลยงดอารมณ์อันรุนแรงนั้นเสีย มุ่งหน้านำกองทหารปฏิวัติดำเนินการยึดครองอำนาจการปกครองแผ่นดินจนเป็นผลสัมฤทธิ์ด้วยดีในวันนั้นเอง

ในวาระต่อมา พระยากำแพงรามได้หลบหน้าหายไปจากราชการ ซึ่งคงจะมีความในใจผุดขึ้นในสันดานเยี่ยงเคย แล้วได้ทราบในภายหลังว่าได้ไปแอบซุ่มอยู่ทางภาคอีสาน พอ พ.ศ. ๒๔๗๖ ในเดือนตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดชกุมกำลังทหารยกมาจากภาคอีสานเพื่อยึดอำนาจการปกครองประชาธิปไตยตามที่ท่านทั้งหลายได้เคยทราบกันอยู่แล้ว และก็ในขบวนที่จะล้มรัฐบาลของประชาชนนั่นเอง ได้มีพระยากำแพงรามร่วมใจอยู่ด้วยผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้ไปแล้ว พระยากำแพงรามก็ถูกจับ และถูกส่งตัวไปฝากขังไว้ในเรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสมัครพรรคพวก เพื่อรอการไต่สวนต่อไป

ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้นเอง รัฐบาลก็ได้จัดการฌาปนกิจศพทหารผู้ประสบภัยวายชีพในการสู้รบได้ชัยชนะต่อพระองค์เจ้าบวรเดช ณ เมรุท้องสนามหลวง กระทรวงกลาโหมได้เชิญคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ทุกคนไปร่วมเป็นเจ้าภาพกับรัฐบาล เพื่อเป็นการแสดงความรักอาลัยแด่เพื่อนทหาร ซึ่งพวกเราได้มีส่วนเสียร่วมในงานศพนั้นด้วย โดยที่พวกเราอาสาสมัครเป็นหน่วยกำลังคุมเหตุการณ์ ซึ่งอาจจะเกิดวุ่นวายขึ้นภายในพระนคร

ณ เช้าวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ศกนั้น เมื่อพวกเราในเครื่องแบบทหารได้ไปพร้อมกันที่ปะรำสงฆ์ในท้องสนามหลวงแล้ว ท่านเชษฐบุรุษพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญพวกเราไปแจ้งให้ทราบว่า "เมื่อเวลาย่ำรุ่งเศษวันนี้ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้รายงานว่า พันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ) ได้ผูกคอตายเสียแล้วที่ในห้องส้วมเรือนจำบางขวาง ขอให้พวกเรา (หมายถึงคณะปฏิวัติทั้งสอง) เข้าร่วมกันถวายของไทยทานแด่สงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระยากำแพงรามพร้อมๆ กันด้วย" เป็นอันว่าชีวิตของ "ผู้หักหลัง" ได้สิ้นสุดลงด้วยพฤติการณ์ที่น่าอเนจอนาถใจเสียเหลือเกิน และพวกเราพร้อมด้วยท่านนายกฯ หัวหน้าคณะ ก็ได้ร่วมกันทำบุญแผ่ส่วนกุศลไปให้ "ผู้หักหลัง" เพื่อขอแสดงอโหสิกรรมต่อกันเป็นวาระสุดท้าย ที่เขาได้หนีเข้าหาสภาวธรรม คือความตายเป็นสรณะไปแล้ว

เนื่องจากความสำเร็จแห่งการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ พวกเราบางคนมี จรูญ ณ บางช้าง ได้ถูกขอร้องให้ช่วยงานของคณะปฏิวัติอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม จนกระทั่งได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และในวันที่ ๒๘ นั้นเอง สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมรัฐสภา ประกอบด้วยสมาชิกสมัยที่ ๑ มีจำนวน ๗๐ คน ซึ่งมีนายมานิต วสุวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง นายเนตร พูนวิวัฒน์ และนายจรูญ ณ บางช้าง ทั้ง ๓ คนได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๑ นั้นด้วย

ครั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรประกาศออกใช้แล้วเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระราชบัญญัติลบล้างมลทินโทษคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ก็อุบัติตามมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พร้อมด้วยการคืนยศถาบรรดาศักดิ์ให้ตามเดิม และในนามของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ร้อยตรีเนตรได้กล่าวอภิปรายต้อนรับการที่ได้ลบล้างมลทินโทษและการได้ยศถาบรรดาศักดิ์คืน พร้อมด้วยความขอบคุณคณะ ๒๔๗๕ (คณะราษฎร) ไว้ในที่ประชุมสภาในวันที่ลงมติให้ใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยความชื่นชมโสมนัส ดั่งมีปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้น

จึงนับได้ว่าเสมือนกับคณะราษฎรเป็นเจ้าภาพขุดศพของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ขึ้นจากหลุมฝังศพ


จากคอลัม : เล่าไว้ในวันก่อน

ศิลปวัฒนธรรม
มิถุนายน พ.ศ. 2548
ปีที่ 26 ฉบับที่ 08

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือน มิถุนายน 2548

หมายเหตุ
การเน้นข้อความทำไปตามความเห็นของผู้จัดเก็บบทความ

ไม่มีความคิดเห็น: